50 Best of Creativity 2022

ปี 2022 ทั้งวุ่นวายและคึกคัก โดยเฉพาะในโลกของงานความคิดสร้างสรรค์

หลังจากโรคระบาดเริ่มคลี่คลายลง ศิลปิน นักออกแบบ และแบรนด์ต่างใช้โอกาสนี้สร้างสรรค์งานใหม่ๆ เราได้เห็นงานน่าเชียร์ในหลายแวดวง เป้าหมายของคนทำงานก็เปลี่ยนไป ไม่เพียงทำให้แตกต่างเรียกความสนใจ ยังพยายามทำให้งานตอบโจทย์โลกและพฤติกรรมผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่หวนคืน 

ช่วงส่งท้ายปีนี้ เราคัดสรรผลงานสร้างสรรค์ที่คิดว่าน่าสนใจทั้ง 50 ชิ้นจากหลากหลายวงการมาแนะนำทุกคน มีทั้งงานไทยที่โดดเด่นและแคมเปญต่างประเทศที่ได้รางวัลในเทศกาลความคิดสร้างสรรค์ชั้นนำของโลก

การได้ย้อนดูงานเหล่านี้ นอกจากจะชวนคิดถึงเหตุการณ์ในปีที่ผ่านมา ยังพอทำให้เห็นลางๆ ว่าวงการสร้างสรรค์กำลังจะไปในทิศทางไหนในอนาคต

สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่าน ขอให้ 2023 เป็นปีที่ดีและสร้างสรรค์ครับ

Pastel Pocket Inhaler

บริษัท มัลติพลาย บาย เอท (X8) บริษัทในเครือ คิง เพาเวอร์

ยาดมอาจเคยเป็นอาวุธประจำกายของคนสูงวัย ทั้งดีไซน์ที่ออกแบบมาแบบไม่คูลเมื่อใช้สองมือสำหรับเปิดฝาและสูดดม และสรรพคุณแก้วิงเวียนทำให้ใครต่างเข้าใจว่าถึงวัยที่เลือดลมไม่ดี กลายเป็นภาพลักษณ์ที่ถูกจดจำว่าเป็นของโบราณจึงทำให้ยาดมไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นเท่าไหร่

หนาม-รวิ อิทธิระวิวงศ์ นักออกแบบและ CEO ของ บริษัท มัลติพลาย บาย เอท จึงออกแบบยาดมด้วยโจทย์ที่ว่า อยากให้คนได้กลิ่นที่สดชื่นจากยาดมได้ง่ายๆ แม้ใช้เพียงมือเดียว จึงกลายเป็นยาดม Pastel Pocket Inhaler ที่หยิบใช้เท่ๆ ด้วยมือเดียว ฝาไม่หาย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ทั้งวัยเรียนและวัยทำงาน

เบื้องหลังกว่าจะมาเป็นยาดมดีไซน์ใหม่ ต้องใช้ทีมนักออกแบบร่างสเกตช์ออกมาถึง 300 แบบ ทั้งยังศึกษา customer insight อย่างละเอียด Pastel Creative จึงเป็นไม่กี่แบรนด์ที่หยิบ Design และ User Experience เข้ามาทำแบรนด์สินค้าใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของยาดมที่หลายคนคุ้นชินได้อย่างดี

อ่านบทความเพิ่มเติม: https://adaymagazine.com/founder-pastel/

อัลบั้ม แบบ เบิ้ม เบิ้ม (BABB BUM BUM)

MILLI ค่าย YUPP

ในวงการเพลงไทย มีศิลปินแร็ปเปอร์หลายคนที่โดดเด่นแตกต่างกันไป แต่เราคิดว่า มิลลิ (MILLI) หรือ มินนี่-ดนุภา คณาธีรกุล เป็นแร็ปเปอร์หญิงหนึ่งในไม่กี่คนที่โดดเด่นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเขียนเพลง แร็ป ร้อง หรือเต้น เธอก็ทำออกมาได้ดีเสมอ

จากหญิงสาวที่ขึ้นมายืนบนเวที The Rapper 2 ในวันนั้น เธอใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในปีนี้ที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินไทยที่ได้ไปอยู่บนเวที Coachella กินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์จนกลายเป็น soft power เมื่อช่วงต้นปี จนกระทั่งล่าสุด BBC ประกาศว่าเธอได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ผู้หญิงผู้สร้างแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลจากทั่วโลกประจำปี 2022 อีกด้วย

แบบ เบิ้ม เบิ้ม’ (BABB BUM BUM) คืออัลบั้มเต็มชุดแรกในชีวิตของมิลลิ ที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการเพลงไทย สิ่งที่เราชอบที่สุดคือการเลือกสไตล์การเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และแสดงตัวตนของเธอลงไป บวกกับเสียงร้องและโฟลว์การแร็ปที่วาไรตี้มากๆ ในอัลบั้มนี้มีโปรดิวเซอร์มากฝีมืออย่าง SpatChies และศิลปินหลากหลายคาแรกเตอร์มาร่วมฟีเจอริ่งด้วย เมื่อหยิบจับมาผสมผสานกับเพลงแร็ปตามแบบฉบับของมิลลิทำให้ทุกเพลงติดหูทันทีตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง

เรายกให้อัลบั้มชุดนี้เป็นที่สุดของความครีเอทีฟแห่งปี เป็นอัลบั้มที่ครบเครื่อง ทั้งจังหวะ เมโลดี้ มู้ดเพลง หรือเนื้อหาเพลงที่ให้กำลังใจตัวเองและคนรุ่นใหม่ผ่านมุมมองของมิลลิเองด้วย รวมถึงได้สะท้อนแง่มุมต่างๆ ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น ‘Welcome’ ที่พูดถึงความพยายามของตัวเอง, ‘Homework’ เพลงที่ระบายความเครียดชีวิตในวัยเรียน, ‘สาธุ’ เพลงที่จิกกัดความเชื่อแบบไทยๆ หรือ ‘Not Yet!’ เพลงที่ให้ตระหนักถึง consent ในความสัมพันธ์คู่รักวัยรุ่น และอีกหลายๆ เพลงที่ยกระดับเพลงไทยไปไกลมากๆ สุดท้ายสิ่งที่อยากพูดถึงคือความครีเอตของคอสตูมและการดีไซน์ปกอัลบั้มที่สวยเก๋สะดุดตา ยิ่งทำให้ผลงานอัลบั้มชุดนี้ควรค่าแก่การเก็บสะสมมากขึ้นไปอีก

#365ohmanawat

โอม-อนวัช เพชรอุดมสินสุข

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครสักคนจะลุกขึ้นมาทำงานสร้างสรรค์ตลอด 365 วันติดต่อกัน แถมยังเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวที่ทำด้วยใจล้วนๆ

#365ohmanawat คือโปรเจกต์ถ่ายภาพวันละ 1 ภาพลงบนอินสตาแกรม เป็นเวลา 365 วัน ของโอม-อนวัช เพชรอุดมสินสุข ช่างภาพฟรีแลนซ์ที่ลุกขึ้นมาทำโปรเจกต์ถ่ายภาพส่วนตัวในช่วงโควิด ความยากคือการต้องผลิตงานออกมาให้ได้วันละชิ้น แม้จะเป็นวันที่ยุ่งมากแค่ไหน หรือวันที่ไอเดียไม่แล่นก็ตาม งานส่วนใหญ่ของเขาเป็นภาพเสียดสี จัดองค์ประกอบแบบเรียลิซึ่ม โดยเลือกเล่าเรื่องผ่านอาหารแม้จะดูไม่น่าทานก็ตาม

หลังจบโปรเจกต์ไม่เพียงเปลี่ยนมุมมองของโอมไปเท่านั้น แต่งานนี้ยังถูกต่อยอดไปสู่การจัดแสดงนิทรรศการศิลปะภาพถ่าย ‘นักตีความ (Interpreter)’ โดย MOCA BANGKOK ร่วมกับกลุ่มศิลปินภาพถ่ายอีก 70 คน เพื่อเชิญชวนให้ผู้ชมได้เข้ามา ‘ตีความ’ ภาพถ่ายของศิลปินเหล่านี้ แม้จุดเริ่มต้นจะเป็นเพียงงานส่วนตัวที่ท้าทายความสามารถของตัวเองใน 1 ปี แต่ปลายทางงานนี้กลับสร้างอิมแพ็กต์ไปไกลกว่านั้น อย่างการเดินทางออกไปสู่สายตาของผู้ชมให้รู้จักโอมมากขึ้นเมื่อเขาไม่ล้มเลิกมันไปก่อน

อ่านบทความเพิ่มเติม: https://adaymagazine.com/365ohmanawat/

Pattani Decoded 2022: Deep Salt เทศกาลถอดรหัส (เกลือหวาน) ปัตตานี

มลายูลิฟวิ่ง

Pattani Decoded คือ เทศกาลที่นำเสนอวัฒนธรรมปัตตานีและสามจังหวัดชายแดนใต้ ให้เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้นผ่านงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น งานฝีมือและหัตถกรรม ศิลปะการแสดง ดนตรี

จากความสำเร็จในงาน Pattani Decoded โดยกลุ่มมลายูลิฟวิ่ง เมื่อปี 2019 ปีนี้พวกเขากลับมาอีกครั้ง และยังคงเป็นการนำเสนอวัฒนธรรมของชาวปัตตานีเช่นเคย แต่เป็นการเล่าเรื่องผ่านเกลือหวาน ผลผลิตของชาวนาเกลือนับร้อยปีที่กำลังเข้าสู่วิกฤต จากสภาพเศรษฐกิจและความนิยมที่ลดน้อยลง จากเดิมที่เคยเก็บผลผลิตได้ 500 – 600 กระสอบในระยะเวลาครึ่งปี ตอนนี้เหลือเพียง 10 กระสอบเท่านั้น

งานนี้มีทั้งนักออกแบบและนักสร้างสรรค์กว่า 30 คน เข้ามาร่วมกันตีความเกลือหวานด้วยแนวคิดใหม่ จนได้ 5 กิจกรรมหลัก คือ 1) นิทรรศการและการแสดงแถบย่านเมืองเก่าและนาเกลือบานา (แหลมนก) รวมถึงการจัดเวิร์กช็อปการย้อมผ้า การทำบล็อกไม้ ฯลฯ 2) กิจกรรมวันเดย์ทริป ชวนผู้คนมาสัมผัสชุมชนนาเกลือ ที่ไม่ได้มีแค่เกลืออย่างที่หลายคนเข้าใจ 3) การนำเมนูท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นเมนูพิเศษผ่าน Chef’s Table 4) การจัดเวทีเสวนาประวัติศาสตร์มาแลกเปลี่ยนความทรงจำของเกลือหวาน และ 5) Salt Market หรือตลาดเกลือที่เชิญชวนผู้คนนำสินค้ามาวางขายโดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ง่ายขึ้น

โจทย์ที่ท้าทายของงานนี้คือการนำวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้มาทำให้ผู้คนเข้าใจถึงความสำคัญ งานนี้ไม่ได้ใช้วิธีการอนุรักษ์เพียงแค่การเชิดชู และเก็บไว้เพื่อจัดแสดงเท่านั้น หากแต่เป็นการเปิดกว้างให้หลายๆ คนเข้ามามีส่วนร่วม สัมผัสประสบการณ์ และยอมรับการตีความใหม่ๆ เช่นเดียวกับเทศกาลนี้ที่ทำให้เกลือหวานกลายเป็นเรื่องน่าสนใจ และชวนให้คนเข้าไปสนุกโดยไม่รู้ตัวผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกลือหวานซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานียังอยู่ในความทรงจำของใครอีกหลายคน

อ่านบทความเพิ่มเติม: https://adaymagazine.com/pattani-decoded-deep-salt-2022/

SCG Green Choice – HUMAN

SCG / ชูใจ กะ กัลยาณมิตร

ความจริงปีนี้มีหนังโฆษณาไทยเด่นๆ หลายตัว เราเลือกตัวนี้ด้วยความกล้าในการเล่นท่าใหม่ๆ แตกต่างและน่าตื่นเต้นแบบที่ไม่ได้รู้สึกมานาน

SCG อยากโปรโมตเรื่อง SCG Green Choice ฉลากสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานของ SCG สินค้าที่แปะฉลากนี้มีคุณสมบัติประหยัดพลังงาน

อายุการใช้งานนาน และทำเพื่อส่งเสริมสุขอนามัยที่ดี โจทย์นี้ทีมชูใจตีออกมาว่า ถ้าเราจะเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมให้อิมแพ็กต์ งานนี้ก็ต้องการภาพที่กระแทกใจคน

ประเด็นหนึ่งที่พูดถึงกันเยอะในช่วงหลังคือ ประชากรโลกที่มากเกินไป ส่งผลให้การบริโภคเพิ่มตามไปด้วย ทีมจึงทำประเด็นนี้ให้เป็นภาพ ใช้นักแสดงจำนวนมากเพื่อเล่าว่าการบริโภคแบบมหาศาลในครั้งเดียวมันน่ากลัวอย่างไร

ผลคือได้หนังโฆษณาที่มีความเป็น Fine Art มีความเหนือจริง และเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน แม้งานจะยังไม่ได้รางวัลมากมาย แต่เป็นงานที่เราจดจำได้ถึงวันนี้

หนังสือ มนุษย์/ต่าง/ด้าว : เรามาอย่างสันติ

ออกแบบปกและรูปเล่มโดย Shake & Bake Studio

มนุษย์/ต่าง/ด้าว : เรามาอย่างสันติเป็นหนังสือรวมบทความบันทึกการเดินทางของชีวิต เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อดีตนักการทูต ปัจจุบันเป็นนักวิชาการที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ผู้ซึ่งหลังรัฐประหารปี 2557 ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง และพำนักอาศัยอยู่ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เรื่อยมานับตั้งแต่นั้น

หนังสือเล่มนี้พิมพ์โดยสำนักพิมพ์น้องใหม่มาแรง Avocado Books และเป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ต่อเนื่องมาจนถึงวางแผงตามร้าน ทำให้ต้องพิมพ์ครั้งที่ 2 อย่างรวดเร็ว

แต่นอกเหนือไปจากด้านเนื้อหาแล้ว สิ่งที่โดดเด่นอย่างย่ิงและทำให้เราเลือกหนังสือเล่มนี้มาอยู่ในลิสต์ก็คือ อาร์ตเวิร์กที่ส่วนใหญ่เป็นภาพ collage มันๆ จัดจ้าน และดูสนุก ซึ่งหากใครรู้จักคาแรกเตอร์ของ ‘อาจารย์ปวิน’ ในโลกโซเชียล จะรู้สึกว่า ภาพประกอบเหล่านี้สะท้อนความเฟียร์ซ ปากจัด และจิกกัด ของผู้เขียนออกมาได้อย่างดี

ทั้งหมดคือผลงานการออกแบบของ Shake & Bake Studio สตูดิโอออกแบบที่มีผลงานน่าสนใจมากมาย ซึ่งร่วมงานกับอะโวคาโด บุ๊กส์ มาตั้งแต่ตอนออกแบบโลโก้และคาแรกเตอร์ของสำนักพิมพ์ นั่นคือตัว ‘น้อนโด้’ สิ่งมีชีวิตไฮบริดระหว่างอะโวคาโดกับสัตว์ชนิดหนึ่ง จนได้รับรางวัลทั้ง DEmark ของไทย และ G-Mark ของญี่ปุ่น

สิ่งที่ทำให้งานออกแบบของหนังสือเล่มนี้ไปได้สุด น่าจะเป็นบรีฟที่ทางสำนักพิมพ์เปิดกว้างทางความคิดให้กับสตูดิโอ ซึ่งวิธีการที่ทางสตูดิโอเลือกใช้สำหรับภาพประกอบก็คือ คอลลาจ ทั้งแบบดิจิทัลและแฮนด์เมด ใช้ทั้งพวกภาพคุณภาพต่ำและภาพคุณภาพสูง ภาพ public domain มาสร้างให้เกิดเนื้อหาแบบที่ทีมต้องการ

วิธีคิดแต่ละภาพก็คือ การเอาภาพตัวอาจารย์ปวินที่โพสต์ท่าต่างกรรมต่างวาระจับมาคอลลาจลงบนภาพอื่นที่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ไม่ว่าจะเป็นมีม ภาพกากๆ มังงะของนาโอกิ อุราซาวะ หรือเคซูเกะ อิตางากิ สไตล์แมกกาซีนยุค 2000 อย่าง THE FACE งานออกแบบของ M/M Paris และหน้าปกโมเดิร์นด็อกชุดแรก โดยให้เนื้อหาของภาพไปด้วยกันกับเนื้อหาของผู้เขียน และถ่ายทอดความ ‘แซ่บ’ แบบปวินออกมาให้ได้

ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาสมความตั้งใจของทีมออกแบบที่บอกว่า อยากให้คนที่แม้ไม่ได้เป็นแฟนคลับคนเขียน แต่เห็นแค่ตัวดีไซน์ หรือเห็นข้างใน แล้วอยากจะซื้อเก็บไว้เพราะมันเป็นหนังสือที่น่าจับต้อง

Traffy Fondue

กรุงเทพมหานคร และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

หลายครั้งปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขเพียงเพราะว่าเรื่องเหล่านี้ไม่เคยไปถึงผู้ที่แก้ไขปัญหานั้นได้

Traffy Fondue แอปพลิเคชั่นชื่อแปลกแต่น่ารักคือแอปที่กรุงเทพมหานครนำมาใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางสื่อสารกับประชาชนของผู้ว่าฯ คนใหม่ Traffy Fondue กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อประชาชนซึ่งเป็นผู้เจอปัญหาต่างๆ ใน กทม. ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าดับ ถนนชำรุด ขยะหมักหมม และอื่นๆ แจ้งกับเจ้าหน้าที่โดยตรงผ่านแอปพลิเคชั่นนี้ เพื่อลดขั้นตอน และยังสามารถติดตามความคืบหน้าของการจัดการปัญหาได้อย่างสะดวก

แอปพลิเคชั่นนี้ไม่เพียงแต่เป็นช่องทางการสื่อสารกับประชาชนเท่านั้น แต่ยังแก้ pain point การแจ้งเรื่องร้องเรียนที่ก่อนหน้านี้เป็นเรื่องยุ่งยากและใช้เวลานานให้เป็นเรื่องง่ายขึ้น หรือแม้แต่การแบ่งหมวดหมู่ประเภทปัญหา การแสดงความคืบหน้าการทำงานของเจ้าหน้าที่ ยิ่งทำให้ประชาชนเห็นถึงความโปร่งใสของการทำงานและความจริงใจในการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันความสะดวกของเทคโนโลยียังช่วยให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นเรื่องง่ายขึ้น สามารถนำสถิติเรื่องร้องเรียนไปออกแบบการแก้ปัญหาในอนาคตด้วย แอปพลิเคชั่นนี้จึงกลายเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เชื่อมโยงประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

อ่านบทความเพิ่มเติม: https://adaymagazine.com/traffy-fondue/

มิวสิกวิดีโอ ‘ริบบิ้นเลิฟคัลเลอร์แบล็ค’

PALMY ค่าย Genierock

เมื่อมิวสิกวิดีโอเพลงใหม่ ริบบิ้นเลิฟคัลเลอร์แบล็คของปาล์มมี่ที่ได้ร่วมฟีเจอริ่งกับสิงโตนำโชค ถูกปล่อยออกมาก็เป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก เพราะเพลงนี้ได้ผู้กำกับหนังอย่าง ‘พชร์ อานนท์’ มากำกับงานให้ศิลปินแกรมมี่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในฐานะผู้กำกับมิวสิกวิดีโอเพลงของเขา งานนี้จึงเต็มไปด้วยทีมนักแสดงตัวละครจากภาพยนตร์ตลกอย่าง หอแต๋วแตก และการครีเอตคอสตูมแฟนตาซีแบบจัดเต็ม รวมถึงมุมกล้องที่ยังคงลายเส้นเอกลักษณ์ของพชร์ อานนท์ เข้ามาสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับเพลงนี้ กลายเป็นเพลงเศร้าที่เฮฮามากๆ

ความน่าสนใจอีกอย่างคือเพลงนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเพลง โบว์รักสีดำ ที่ปาล์มมี่ฝังใจมาตั้งแต่สมัยอัลบั้มแรก โดยได้ Tilly Birds มาโปรดิวต์ให้ ซึ่งมีการหยิบเอาความเป็นลูกทุ่งอีสานมาผสมอินเตอร์ในทำนองเพลง และท้ายมิวสิกวิดีโอยังมี ‘นาง-ศิริพร อำไพพงษ์’ เจ้าของเพลงที่ได้มาร่วมฉากแสดงกับปาล์มมี่อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการส่งต่อเพลง โบว์รักสีดำ ในเวอร์ชั่น 2022 ได้อย่างสมบูรณ์

แคมเปญ ดูเดี่ยว 13 ได้ตามสะดวกที่ Netflix เท่านั้น

โดย Netflix

เดี่ยว 13 ของ โน้ต-อุดม แต้พานิช ถูกเลื่อนมาหลายรอบเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด แต่สุดท้ายก็ได้จัดเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในเวลานั้นหลายคนอาจรู้สึกเหมือนกันว่า ไม่ค่อยได้ข่าวคราวอะไรที่เป็นกระแสเกี่ยวกับเดี่ยวคราวนี้เท่าไหร่

แต่พลันเมื่อเดี่ยว 13 มีสตรีมให้ได้ชมทาง Netflix ตอนเดือนตุลาคม โชว์นี้ก็กลายเป็นไวรัลระดับชาติขึ้นมาทันที โดยเฉพาะ topic เรื่องการเมืองในครึ่งชั่วโมงสุดท้าย และตัวโชว์เองก็ได้รับคำชมมากมายถึงความสนุกและความนิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของอุดมเอง

อย่างไรก็ตาม เครดิตส่วนหนึ่งที่ทำให้เดี่ยว 13 เปรี้ยงปร้างขึ้นมานั้นคงต้องยกให้กับแคมเปญโปรโมตของทาง Netflix ประเทศไทย ที่ทำได้อย่างน่าสนุก ภายใต้ชื่อ ‘ดูเดี่ยว 13 ได้ตามสะดวก ที่ Netflix เท่านั้น’ โดยคอนเซปต์คือให้ โน้ต อุดม โผล่เซอร์ไพรส์กระจายความสนุกทุกพื้นที่ สร้างรอยยิ้มและเรียกเสียงหัวเราะ ให้ทุกคนไปสนุกกันต่อกับ เดี่ยว 13 ได้ทุกหน้าจอทาง Netflix

โดยปกติเราก็คงจะคุ้นกับแคมเปญโปรโมตต่างๆ ของเน็ตฟลิกซ์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะบนบิลบอร์ดหรือพวก installation แต่คราวนี้เราคิดว่ามันน่าสนุกและเหนือความคาดหมายมากๆ ที่ได้เห็นการโปรโมตเดี่ยว 13 บนสิ่งต่างๆ ที่เราอาจไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะใช้เป็นสื่อได้ เช่น กระดาษห่อข้าวมันไก่, รถเข็นขายปลาหมึกย่าง, ผ้าปูโต๊ะร้านขนมจีนน้ำเงี้ยว, ถ้วยกระดาษร้านทับทิมกรอบ, บังโคลนรวมถึงรอบๆ รถสิบล้อ, ร้านเช่าห่วงยางที่บางแสน, ป้ายเมนูร้านโรตีมะตะบะ, ตุ๊กตาเป่าลมที่ประตูท่าแพ สมกับคอนเซปต์ ‘กระจายความสนุก’ พร้อมทั้งสะท้อนคาแรกเตอร์และคอนเทนต์ของอุดม แต้พานิช ได้เป็นอย่างดี

แคมเปญการตลาดของเน็ตฟลิกซ์นั้น กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียล ถูกเขียนถึงในบทความวิเคราะห์กลยุทธ์การตลาด หรือได้รับรางวัลจากเวทีโฆษณาอยู่เป็นประจำ หัวใจสำคัญในการเลือกทำแคมเปญการตลาดของเน็ตฟลิกซ์คือ ต้องเป็นแคมเปญที่มีศักยภาพในการสร้าง conversation โดยโทนของการทำการตลาดของเน็ตฟลิกซ์จะให้ความรู้สึก ‘surprise and delight’ หรือสนุกและเหนือความคาดหมาย เพราะเน็ตฟลิกซ์ทำธุรกิจบันเทิง ฉะนั้น ในการเรียกร้องความสนใจเพื่อหยุดคนให้สนุกกับสิ่งที่นำเสนอแล้วนำไปพูดต่อ ตัวแคมเปญการตลาดก็ต้องเป็นคอนเทนต์ที่มีความบันเทิงในตัวเองด้วย

ในเชิงครีเอทีฟ การยืนอยู่บนพื้นฐานดังกล่าวข้างต้น ไม่เคยมีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะเมื่อคอนเทนต์บนเซอร์วิสเปลี่ยน โจทย์ก็เปลี่ยน ทาร์เก็ตเปลี่ยน วิธีการเปลี่ยน คอนเทนต์ใหม่อยู่ตลอดเวลา วิธีการสื่อสารก็ต้องให้ความตื่นเต้นกับผู้คนเช่นกัน ขืนทำแบบเดิมตลอด คนก็ไม่เซอร์ไพรส์ ฉะนั้น ต้องสร้างสรรค์ไอเดียที่สดใหม่อยู่ตลอดเวลา ให้คนรู้สึกว่า ‘เฮ้ย ทำแบบนี้ก็ได้ว่ะ’ ซึ่งคือสิ่งที่เราได้เห็นอีกครั้งในแคมเปญโปรโมตเดี่ยว 13 นี้

นี่คือสิ่งที่ท้าทายทั้งทีมการตลาดของเน็ตฟลิกซ์และทางฝั่งเอเจนซีที่ทำงานร่วมกับเน็ตฟลิกซ์อยู่เสมอ 

แคมเปญหาเสียงชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ

ทีมชัชชาติ

ในช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา เราได้เห็นกลยุทธ์การหาเสียงที่หลุดออกจากกรอบเดิมๆ ไปมาก โดยเฉพาะปรากฏการณ์แคมเปญหาเสียงสุดครีเอทีฟของทีมผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็กลายเป็นกระแสไวรัล มีมีมใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

เรื่องที่คนจำได้มากที่สุดคือสโลแกนที่สะท้อนความเป็นตัวตนของชัชชาติ อย่าง ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ซึ่งคิดค้นโดยครีเอทีฟโฆษณามากฝีมืออย่าง แมว-ประกิต กอบกิจวัฒนา, การสร้างตัวตนในยุคสื่อใหม่โดยใช้แอ็กเคานต์ ‘เพื่อนชัชชาติ’ ลดความเป็นทางการเพื่อเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น รวมถึงการเล่นกับ Key Emotion ผ่านการสื่อสารรูปแบบการ์ตูนให้ดูเฟรนด์ลี่ เข้าใจง่าย และบางครั้งก็สามารถใช้ตอบคำถามการเมืองหรือประเด็นต่างๆ ที่เซนซิทีฟได้อีกด้วย

หากจะพูดว่าแคมเปญหาเสียงทีมชัชชาติได้ยกระดับการหาเสียงในไทยก็คงไม่เกินจริงนัก เพราะการจะทำคอนเทนต์หรือสื่อสารอะไรสักอย่างให้กับคนทั่วไป ทีมชัชชาติจะมองจาก pain point จากนั้นจึงค่อยคิดวิธีนำเสนอแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ ซึ่งจุดนี้จะทำให้ข้อมูลสามารถเข้าถึงทุกกลุ่มคนได้อย่างตรงจุดและสามารถแก้ปัญหาได้จริง

วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ

มูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับ บริษัท OTTERI (ร้านสะดวกซัก)

เราอาจเคยรับรู้ว่าคนไร้บ้านต้องเผชิญกับปัญหาสิทธิและการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ในภาพใหญ่ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าในแต่ละวันพวกเขาจัดการสุขอนามัยของตัวเองอย่างไร อย่างการอาบน้ำและซักผ้า

หากพูดถึงคนไร้บ้านหลายคนคงนึกถึงบุคคลที่เนื้อตัวสกปรก สวมเสื้อผ้าไม่สะอาด ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากความตั้งใจหากแต่เป็นเพราะพวกเขาไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการด้านความสะอาด จากข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงาบอกว่า คนไร้บ้านส่วนมากซักผ้าตัวเอง 2 วันต่อสัปดาห์ อาบน้ำวันละ 2 ครั้ง ที่ปั๊มน้ำมันและห้องน้ำสาธารณะ สะท้อนให้เห็นว่าคนไร้บ้านก็ต้องการสุขอนามัยที่ดีเช่นกัน แต่ความยากลำบากคือการไม่มีห้องน้ำสาธารณะเพียงพอ หรือแม้แต่การไม่มีที่ตากเสื้อทำให้ต้องสวมใส่ทั้งๆ ที่ยังเปียกอยู่

มูลนิธิกระจกเงาและบริษัท OTTERI จึงนำรถซักผ้าอบผ้าที่มีห้องอาบน้ำจอดให้บริการคนไร้บ้าน พร้อมรถสุขาให้บริการ 4 ห้องจาก กทม. นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชนอีกหลายแห่งเข้ามาร่วมกิจกรรมนี้ด้วย ทั้งยังประกาศให้วันพุธที่ 8 มิถุนายน เป็น ‘วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ’ โดยใช้พื้นที่สาธารณะ เพื่อคืนคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตที่ดีแก่คนไร้บ้านตามสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะได้รับ

กิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จและได้รับความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงานให้หันกลับมาให้ความสำคัญกลุ่มคนที่มักถูกหลงลืมไป ด้วยการหยิบอินไซต์ของคนไร้บ้านที่หลายคนไม่เคยรู้ แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน อย่างการทำความสะอาดร่างกาย ซึ่งแม้จะเป็นปัญหาเล็กๆ แต่ก็ควรได้รับการแก้ไขไปพร้อมๆ กับอีกหลายๆ ปัญหาในภาพใหญ่ อย่างสิทธิการรักษาพยาบาล หรือสวัสดิการของผู้สูงอายุและคนพิการ

Unfolding Bangkok: Hidden Temple

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ Urban Ally และศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมกับ มิตรเมือง และภาคีเครือข่ายในพื้นที่

Unfolding Bangkok เป็นกิจกรรมเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมด้วยวิธีการที่ใหม่ให้สนุกขึ้น โดยใช้งานศิลปะร่วมสมัยเข้ามาจับประเด็น ธีมแรกของงานชื่อ Hidden Temple งานนี้เป็นส่วนหนึ่งภายใต้เทศกาล Colorful Bangkok เทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ แสงสี และดนตรี ของกรุงเทพฯ ที่ต้องการพลิกฟื้นเมืองให้น่าอยู่

ในปัจจุบันที่ผู้คนเริ่มห่างไกลจากวัดมากขึ้นเรื่อยๆ มีวัดจำนวนมากถูกทิ้งร้างในกรุงเทพฯ แต่ยังเต็มไปด้วยความเป็นมาของประวัติศาสตร์และความทรงจำที่มีคุณค่าต่อชุมชน งานนี้ Unfolding Bangkok จึงหยิบเอาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและการตกแต่งสถาปัตยกรรมมาเล่าในมุมมองใหม่ด้วย Interactive Lighting และ Projection Mapping เปลี่ยนวัดร้างและชุมชนต่างๆ ย่านฝั่งธนฯ ให้กลายเป็นพื้นที่ในการเล่าเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจผ่านแสงสีเสียง ดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวและตอบโจทย์คนรุ่นใหม่เพื่อเชิญชวนให้กลับมาเข้าวัดกันมากขึ้น

ความสำเร็จนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เพียงนักสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยการเปิดใจและความร่วมมือกันจากวัดและคนในพื้นที่ด้วย กิจกรรมนี้นอกจากจะช่วยให้วัดร้างและชุมชนได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ยังช่วยจุดประกายให้ผู้คนหันมาสร้างสรรค์ต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้วในชุมชนของตัวเองอีกด้วย

Faces of Anne (แอน)

คงเดช จาตุรันต์รัศมี, ราสิเกติ์ สุขกาล

หากใครที่ได้ดูตัวอย่างหนังครั้งแรก อาจจะคิดว่า Faces of Anne เป็นหนังแนวจิตวิทยาแนวระทึกขวัญทั่วไป แต่ความจริงแล้วหนังเรื่องนี้มีเส้นเรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก ไม่แปลกใจที่ใครหลายคนต่างก็ลงคะแนนเสียงว่าเป็นหนึ่งในหนังไทยที่น่าดูที่สุดอีกเรื่องของปีนี้

Faces of Anne (แอน) คือภาพยนตร์ไทยที่สร้างปรากฏการณ์ตั้งแต่ครั้งแรกที่โปสเตอร์โปรโมตหนังถูกปล่อย ด้วยการรวบรวมศิลปินและนักแสดงหญิงรุ่นใหม่กว่า 20 คน ทั้งยังเป็นผลงานกำกับร่วมกันของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ผู้กำกับที่แฟนหนังอินดี้รู้จักกันดี และ ราสิเกติ์ สุขกาล ผู้ออกแบบงานสร้างมากฝีมือ

นอกจากโปรดักชั่นดีไซน์ที่มีคอนเซปต์และความหมายแฝงชวนคนดูตีความผ่านมุมมองประสบการณ์ที่ต่างกันของแต่ละคนแล้ว บทหนังก็ยังหลอกล่อคนดูได้เหนือชั้น มีทั้งโครงสร้างที่เต็มไปด้วยมิติเชิงซ้อนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเสียดสีสังคมและการเมือง, การค้นหาตัวตนของชีวิตวัยรุ่น, ปัญหาครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ รวมไปถึงโรคทางจิตเวชที่ผู้กำกับใช้วิธีการเล่าเรื่องเป็นภาพของโลกภายในจิตใต้สำนึกของตัวละคร ทำให้บางส่วนของหนังอาจจะต้องใช้ความรู้เฉพาะทางในการตีความและทำความเข้าใจ ซึ่งไม่บ่อยนักที่จะเห็นหนังไทยทำได้ละเอียดขนาดนี้

เวทีราชดำเนินยุคใหม่

บริษัท GSV

มวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยมาช้านาน แต่การนำเสนอของวงการมวยไทยในบ้านเราอาจจะยังดูเข้าถึงยากสำหรับคนทั่วไป ต่างจาก Sports Entertainment อื่นๆ ของต่างประเทศที่ดูมีความป๊อปมากกว่า ไม่ว่าเป็นมวย UFC, บาสเกตบอล NBA หรือฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

แต่ปัจจุบัน หลังจากที่บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด หรือ GSV ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Plan B ผู้นำด้านสื่อนอกบ้านและผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจกีฬา ได้เข้ามาถือหุ้นและได้สิทธิ์ในการบริหารเวทีราชดำเนิน นำทีมโดยซีอีโอหนุ่มผู้มีกีฬามวยอยู่ในสายเลือด แบงค์-เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ก็ได้เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในหลายๆ ด้าน เพื่อยกระดับวงการมวยไทยให้เป็นสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์ระดับโลก และพลิกโฉมเวทีราชดำเนินยุคใหม่ให้เป็น destination ของมวยไทยโลก ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก รวมถึงคนไทยทุกคน

การทำกีฬามวยไทยให้โมเดิร์นขึ้น โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เวทีมวยเก่าแก่อย่างราชดำเนินนั้น คือสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเรามากๆ โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สิ่งที่บริษัท GSV ได้ทำไปแล้วก็มีทั้ง รวบรวมโปรโมเตอร์และสายมวยหลักของประเทศไทยมาอยู่ที่ราชดำเนิน สร้างให้ราชดำเนินเป็นฮับหลักของมวยไทย

รีโนเวตเวทีราชดำเนิน ทั้งในแง่รูปลักษณ์ภายนอก ให้รูปลักษณ์มีความโมเดิร์นแต่คลาสสิก โดยได้อินสไปร์มาจากโรงละครบรอดเวย์ในนิวยอร์ก รวมทั้งปรับปรุงระบบแสงสีเสียงเวิลด์คลาสภายใน

ทำรายการราชดำเนินเวิลด์ซีรีส์ ในชื่อ RWS ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายอยากจะให้รายการนี้เป็นรายการมวยระดับโลก เทียบเท่า UFC ของมวยไทย มีการเปลี่ยนกฎกติกาหลายๆ อย่าง ที่จะทำให้มวยไทยดูง่ายและสนุกขึ้น

นอกจากนี้ ก็ยังมีการจัดรายการพิเศษอย่างที่ได้เห็นกันไป เช่น ไฟต์ระหว่างบัวขาว บัญชาเมฆ กับ โคตะ มิอุระ ที่ก็กลายเป็นไวรัล รวมทั้งเริ่มมีการแข่งขันมวยหญิงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเวทีมวยราชดำเนิน

ถือว่ามีเป้าหมายและการดำเนินการที่น่าสนใจ ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าจะสร้างผลลัพธ์ที่ดีระดับไหนในอนาคต

ราษฎรดำเนิน

Urban Ally x คิดอย่าง

ทีม Urban Ally ร่วมกับ คิดอย่าง พาไปสำรวจมรดกสถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎรบนถนนราชดำเนิน ทั้งที่ไม่เหลืออยู่แล้ว ทั้งถูกจงใจให้หลงลืมหรือเหลืออยู่อย่างเลือนราง ผ่านโปรเจกต์ ‘ราษฎรดำเนิน’

อาคารและเหตุการณ์ที่ Urban Ally นำกลับมาโลดแล่นในปัจจุบันอีกครั้งด้วยเทคโนโลยี AR มีตั้งแต่ที่เราพอจะคุ้นชื่อกันบ้างอย่าง ศาลาเฉลิมไทย (ปัจจุบันลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์) ปั๊มน้ำมันสามทหาร บริเวณหัวมุมสนามหลวง ไปจนถึงอาคารกลุ่มที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเคยมีด้วยอย่าง โรงละครเฉลิมชาติ (ถูกรื้อถอนไปในปี พ.ศ. 2490) หรืออาคารชั่วคราวบนท้องสนามหลวง ไม่ว่าจะเป็น งานฉลองรัฐธรรมนูญท้องสนามหลวง หรือ เมรุปราบกบฏบวรเดช อันเป็นเมรุสามัญชนแรกบนท้องสนามหลวง

คุณูปการของโปรเจกต์ ราษฎรดำเนิน ไม่ได้มีเพียงแค่ทำให้เรารับรู้ว่า “อ้อ บนถนนราชดำเนิน มีอาคารพวกนี้ด้วย” แต่ช่วยจุดประกายความใคร่รู้ใคร่ศึกษาประวัติศาสตร์ในหมู่คนรุ่นใหม่ การกลับมาของ 8 อาคารมรดกคณะราษฎรบนสองฝั่งถนนราชดำเนินนอก ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน มาพร้อมกับประวัติศาสตร์ชุดอื่นๆ ที่แวดล้อมอาคารเหล่านั้นอยู่ มากไปกว่าสถาปัตยกรรม แต่รวมถึงสังคม และการเมืองไทย

นโยบาย 12 เทศกาล 12 เดือน

ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

12 เทศกาล 12 เดือน คือ 1 ใน 200 นโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ที่เป็นกระแสมากที่สุดทางโซเชียลมีเดีย เพราะเป็นนโยบายที่ทำให้คนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นๆ ได้พบกับเทศกาลที่เพิ่มสีสันความน่าสนใจตลอดปี และเปิดโอกาสในการประกอบธุรกิจใหม่ๆ ให้กับคนกรุงเทพฯ เพื่อเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจโดยใช้ตัวเทศกาลเป็นเครื่องมือผลักดันความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง

การที่ทาง กทม. จัดเทศกาลแบบนี้ขึ้นมาทำให้รู้สึกว่าการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป เพราะเหมือนมีอีเวนต์สนุกๆ ให้เฝ้ารอทุกเดือนที่แตกต่างกัน เราเชื่อว่าในเดือนที่ผ่านๆ มาหลายคนก็น่าจะได้สัมผัสบรรยากาศของงานเทศกาลกันไปบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนังกลางแปลงหรือดนตรีในสวนที่จัดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการทำให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตมากขึ้น เกิดปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนในเมือง

ถึงแม้ว่าหลายๆ คนอาจจะเห็นว่าบางงานเอกชนก็จัดขึ้นอยู่แล้วในหลายๆ ปีที่ผ่านมา แต่ความพิเศษครั้งนี้คือการที่ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนในเชิงนโนบาย พยายามสร้างความร่วมมือจากพันธมิตรหลายภาคส่วน คิดคอนเซปต์ ครีเอตธีมต่างๆ มาครอบใหม่เพื่อให้ดูน่าสนใจมากขึ้น และท้ายที่สุดคือใช้สื่อของ กทม. ในการโปรโมต จุดเด่นของทีมงานชุดนี้ที่เห็นได้ชัดคือการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาสร้างสรรค์เพิ่มคุณค่าให้เกิดประโยชน์ ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น

#ทางกระต่าย

กลุ่ม Rabbit Crossing ทางกระต่าย

ช่วงต้นปีปลายเดือนมกราคม ข่าวการสูญเสียของ หมอกระต่าย-พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ที่ถูกตำรวจขี่บิ๊กไบค์ชนขณะเดินข้ามทางม้าลาย สร้างความสะเทือนใจสำหรับคนไทยอย่างมาก ไม่เพียงแต่เพราะหมอกระต่ายคือหมอในสาขาวิชาหายาก แต่เพราะเราหลายคนต่างรู้ว่าเรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้บนสภาพถนนและการจราจรในเมืองไทย

ทางม้าลาย สัญลักษณ์ที่บอกให้ผู้ขับขี่รถยนต์ระมัดระวังคนที่กำลังข้ามถนน แต่ทุกวันนี้ทางม้าลายในไทยเป็นเพียงเครื่องหมายหนึ่งบนถนนที่ทุกคนไม่ได้ให้ความเคารพ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมบนท้องถนนครั้งแล้วครั้งเล่า จากความสูญเสียเพื่อน ทำให้เพื่อนๆ ของหมอกระต่าย ตั้งกลุ่ม Rabbit Crossing ทางกระต่ายเพื่อหวังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ความปลอดภัยบนท้องถนนเกิดขึ้นได้จริง

ภายในกลุ่มจัดตั้งขึ้นมาเพื่อหวังสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ด้าน คือหนึ่ง การผลักดันกฎหมายทางข้าม สอง ปรับปรุงทางม้าลาย และสาม สร้างวินัยขับขี่ปลอดภัย ที่ผ่านมานอกจากผลักดันแก้กฎหมายผ่านกลไกรัฐสภาแล้ว กลุ่มยังอัพเดตข่าวสารผ่านเพจ Rabbit Crossing ทางกระต่าย เพื่อรณรงค์และให้ความรู้ด้านความปลอดภัยบนท้องถนนด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่นการเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการ การจัดกิจกรรมร่วมสนุกเพื่อแจกจ่ายป้ายติดรถ Rabbit Crossing ‘หยุดรถให้คนข้าม’ และ ‘ชะลอ หยุด ไม่แซง ที่ทางม้าลาย’ เพื่อเตือนใจคนขับขี่

ที่ผ่านมาแม้หลายๆ หน่วยงานเริ่มหันมาตื่นตัวและลงมือจัดการทางม้าลายกันมากขึ้น ทั้งการเติมสีให้ชัดเจน การรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัย หากแต่สิ่งที่สำคัญนอกเหนือไปจากความร่วมมือของทุกคนแล้ว คือการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายการขับขี่ให้ทุกคนเคารพกฎจราจรอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับที่กลุ่ม Rabbit Crossing ทางกระต่าย กำลังทำงาน เพื่อส่งเสียงว่าอุบัติเหตุทางม้าลายไม่ควรสร้างความสูญเสียกับใครอีก

แคมเปญ #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา

Netflix และ หอภาพยนตร์

#ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา คือแคมเปญที่ Netflix ไทยร่วมมือกับหอภาพยนตร์​ (องค์การมหาชน) คัดเลือกหนังไทยชื่อดังในอดีต 19 เรื่องมาฉายทางเน็ตฟลิกซ์ เพื่อต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเริ่มฉายมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565

รายชื่อหนังไทยทั้ง 19 เรื่อง ได้แก่ ลุงบุญมีระลึกชาติ, เรื่องตลก 69, MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY, กระเบนราหู, มหาลัย เหมืองแร่, สันติวีณา, แพรดำ, ฟ้าทะลายโจร, มนต์รักทรานซิสเตอร์, ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น, ผีเสื้อและดอกไม้, กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้, ทวิภพ, ข้างหลังภาพ, องค์บาก, รักแห่งสยาม, นางนาก, สตรีเหล็ก, บางระจัน

นี่คือความเคลื่อนไหวที่เราได้เห็นกันชัดๆ เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ สิน-ยงยุทธ ทองกองทุน อดีตผู้กำกับหนังและโปรดิวเซอร์ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทยมากว่า 20 ปี เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ ประจำประเทศไทย ของเน็ตฟลิกซ์ เขามีหน้าที่รับผิดชอบงานทั้งในด้านการคัดเลือกคอนเทนต์ไทยเพื่อเผยแพร่บนเน็ตฟลิกซ์ และดูแลการสร้างภาพยนตร์และซีรีส์ไทยของเน็ตฟลิกซ์

เน็ตฟลิกซ์ประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2021 แต่ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้การทำงานและผลงานออกยังไม่ค่อยเต็มที่ ซึ่งเน็ตฟลิกซ์เองเห็นศักยภาพในคอนเทนต์ไทยมาโดยตลอด และมั่นใจว่าเป็นโลคัลคอนเทนต์ที่สามารถผงาดในระดับโลกได้ เมื่อมีออฟฟิศที่ไทย มีทีมงานไทยที่มาคอยดูแลคอนเทนต์ไทยมากขึ้น ก็จะเริ่มมาโฟกัสกับการสร้างคอนเทนต์ไทยเต็มที่มากขึ้น ซึ่งเริ่มจากใช้วิธีสื่อสารผ่านแคมเปญนี้

สิ่งที่เราชอบมากๆ ก็คือ หนังในล็อตนี้ เห็นแล้วต้องบอกว่าเป็นหนังไทย Greatest Hits จากยุคต่างๆ อย่างแท้จริง และหลายๆ เรื่องก็เป็นหนังที่หาดูได้ยาก การที่เน็ตฟลิกซ์นำหนังเหล่านี้กลับมาฉายผ่านสตรีมมิ่ง ก็เพื่อที่จะตอบ pain point สำหรับคอนเทนต์ไทยที่มักจะได้ยินว่า หนังสมัยนี้ไม่ค่อยหลากหลาย ว่าจริงๆ ในอดีตเรามีหนังไทยที่หลากหลาย แบบหนังไทยในคอลเลกชั่นนี้นี่แหละ เพียงแต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน รสนิยมคนดูเปลี่ยน ก็อาจจะถูกมองข้ามไปบ้าง ซึ่งเน็ตฟลิกซ์เองจะขอมาเป็นส่วนหนึ่งในการนำความหลากหลายแบบนี้กลับมา ผ่านผลงาน original ของเน็ตฟลิกซ์ในสเต็ปต่อๆ ไป

ถือเป็นการสื่อสารความคิดผ่านตัวแคมเปญได้อย่างชัดเจนและตรงจุด หนังน่าดู วิธีการโปรโมตแคมเปญที่ขายความ nostalgia ก็ทำได้น่าสนใจ เช่น การขึ้นบิลบอร์ดตามโรงหนังสแตนด์อโลนเก่าๆ หลายจุดทั่วประเทศ การขึ้นรถแห่โฆษณาหนังแบบสมัยก่อน ทำโปสเตอร์แบบหนังยุคเก่า และลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

เพียงแต่สิ่งที่เราคิดว่าเป็นจุดอ่อนก็คือ เมื่ออยู่บนแพลตฟอร์ม หนังเหล่านี้ก็กระจายๆ กันไป ไม่ได้ถูกจับมามัดรวมและบอกว่ามีแคมเปญนี้อยู่ อาจจะเนื่องด้วยข้อจำกัดทางเทคทิค จึงทำให้ไม่สามารถสร้างการรับรู้ให้กับคนดูกลุ่มที่ไม่รู้จักแคมเปญนี้มาก่อนได้

โปรเจกต์ช้างดาว x ห่านคู่

บริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด และ บริษัท โรงงานไทยแลนด์นิตติ้ง จำกัด

ตั้งแต่หลังโควิด หรือช่วงต้นปีที่ผ่านมาเรามักจะเห็นเทรนด์หนึ่งที่มาแรงจากฝั่งธุรกิจนั่นคือการตลาดบนความร่วมมือ (Collaboration Marketing) หรือการที่สองแบรนด์ร่วมมือกันออกโปรดักต์ใหม่ และสองแบรนด์ในตำนานที่จับมือกันจนเป็นที่พูดถึงในปีนี้คงหนีไม่พ้น ช้างดาว x ห่านคู่

ทั้ง 2 แบรนด์นี้แม้จะมีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน แต่จริงๆ แล้วกลับมีจุดร่วมที่น่าสนใจอยู่ เช่น การเริ่มต้นธุรกิจในปี 2496 พร้อมกัน กลุ่มลูกค้าหลักตั้งแต่เด็กจนถึงวัย 80 คล้ายกัน แถมยังเป็นสินค้าคลาสสิก อย่างรองเท้าแตะและเสื้อยืดคอกลมสีขาว และมีเป้าหมายเติบโตไปให้ถึง 100 ปีเหมือนกันด้วย

จุดร่วมที่มีอะไรเหมือนๆ กัน ทำให้การร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ข้อดีของกลยุทธ์นี้ยังช่วยทำให้แบรนด์แข็งแกร่งขึ้น ลดต้นทุนทางการตลาด ทั้งยังไปถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้มากขึ้น อย่างที่เราเห็นว่านับตั้งแต่มีการร่วมมือกันก็เป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก

ผลิตภัณฑ์ Legendary Edition จึงเกิดขึ้นมาเพื่อฉลองครบรอบ 69 ปีพร้อมกัน ด้วยสินค้ารุ่นพิเศษจำนวนจำกัด 10,000 ชุด ที่ใช้จุดเด่นของทั้งคู่มาออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ รองเท้าแตะช้างดาวรุ่นห่านคู่ และเสื้อยืดห่านคู่รุ่นช้างดาว พร้อมกระเป๋าย่าม ที่ผ้าด้านนอกใช้ผ้าที่ผลิตรองเท้าผ้าใบนันยาง และผ้าด้านในจากห่านคู่ มีช่องเก็บรองเท้าแตะและเสื้อโดยเฉพาะ

สินค้าที่ว่านอกจากจะมีความพิเศษจากการคอลแลบกันระหว่างสองแบรนด์แล้ว ด้วยความที่ทั้งคู่เป็นตำนานอยู่คู่กับคนไทยมาหลายยุคหลายสมัยยังทำให้เกิดความคลาสสิก หรือเป็นกลยุทธ์ ‘Nostalgia Marketing’ ชวนให้ผู้คนนึกถึงความทรงจำเก่าๆ ซึ่งเข้ากับตัวแบรนด์ช้างดาวและห่านคู่ได้อย่างดี

ความร่วมมือกันครั้งนี้นับว่าสร้างความแปลกใหม่ และจุดกระแสความธรรมดาที่ไม่ธรรมดาได้ไม่น้อย ในยุคที่หลายคนพยายามหาความพิเศษให้กับตัวเอง น่าสนใจว่าในอนาคตทั้ง 2 แบรนด์จะกลับมาทำอะไรร่วมกันอีกหรือไม่ในวันครบรอบ 100 ปีข้างหน้า

อ่านบทความเพิ่มเติม: https://adaymagazine.com/nanyang/

แคมเปญ #ห่านคู่ธรรมดาที่ทำมาดี

Glow Story

อีกหนึ่งแคมเปญไวรัลของปีนี้ที่ทุกคนน่าจะยังจำกันได้ดี กับรูปแบบที่เรียบง่ายอย่างจดหมาย และคำขึ้นต้นที่ทรงพลังว่า ‘ถึงคุณ…คนธรรมดา’

#ห่านคู่ธรรมดาที่ทำมาดี ของแบรนด์เสื้อยืดรุ่นเก๋าที่อยู่คู่คนไทยมาเกือบ 70 ปีอย่างห่านคู่ คือแคมเปญต้นทางของไวรัลนี้ โดยเป็นผลงานของทางเอเจนซี Glow Story ที่คว้า 3 รางวัลจาก Adman Awards 2022 ไปครอง

แน่นอนว่านี่ก็คือการขายของ แต่เนื้อหาในจดหมายนั้น ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางว่า มันช่างเป็นการฮีลจิตใจดีเหลือเกิน ในยุคที่ทุกคนต่างถูกผลักให้พยายามเป็นคนพิเศษตลอดเวลา เหนื่อยล้ากับความคาดหวังของคนอื่น และต้องใช้ชีวิตให้ productive มากที่สุดจนทำร้ายตัวเอง เมสเสจที่บอกว่า อย่ารู้สึกผิดกับการเป็นคนธรรมดา ความธรรมดาของคุณก็ทำมาดีในแบบของตัวเองนั้น ให้กำลังใจคนไปพร้อมๆ สะท้อนจุดเด่นของแบรนด์ออกมาได้อย่างเหมาะเจาะ ว่าห่านคู่คือเสื้อยืดธรรมดาที่ทำมาดี

สิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับแคมเปญนี้คือ การใช้รูปแบบของจดหมาย ซึ่งธรรมดา เรียบง่าย และให้อารมณ์ nostalgia สะท้อนตัวแบรนด์ห่านคู่ ที่ก็เป็นเสื้อยืดธรรมดาๆ และเรียบง่าย อยู่คู่คนไทยมานาน กับอีกอย่างหนึ่งคือ นี่เป็นพลังของการสื่อสารด้วยถ้อยคำล้วนๆ ไม่ต้องมีลูกเล่นหรือเทคนิคพิเศษอะไรเลย ซึ่งก็สามารถสร้างอิมแพ็กต์ได้อย่างสูง เมื่อแคมเปญถูกพูดถึง และมากไปกว่านั้นคือกลายเป็นไวรัล

คงจำกันได้ว่าในเวลาต่อมา แบรนด์ต่างๆ ก็พากันกระโดดมาร่วมขบวน ด้วยการสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบเดียวกันเป็นจดหมายโต้ตอบ อย่างที่บอกว่านี่เป็นรูปแบบที่ทำง่ายๆ ใช้แค่ถ้อยคำ เมื่อเป็นไวรัลฮิตขนาดนี้ใครจะไม่อยากร่วมด้วย แต่เราก็จะเห็นว่า หลายแบรนด์ทำแล้วไม่เวิร์กไม่ปัง เพราะคาแรกเตอร์ของแบรนด์อาจจะไม่ใช่ และรู้สึกว่ามันคือการเกาะกระแส และมีความอยากขายของมากกว่า

ความสำเร็จของแคมเปญ #ห่านคู่ธรรมดาที่ทำมาดี ทำให้ต่อมาห่านคู่ผลิตคลิปวิดีโอเนื้อหาเดียวกันตามออกมาอีกหนึ่งตัว แต่ก็ไม่ปังเท่าเวอร์ชั่นจดหมาย

SCG Green Choice – HUMAN

SCG / ชูใจ กะ กัลยาณมิตร

ความจริงปีนี้มีหนังโฆษณาไทยเด่นๆ หลายตัว เราเลือกตัวนี้ด้วยความกล้าในการเล่นท่าใหม่ๆ แตกต่างและน่าตื่นเต้นแบบที่ไม่ได้รู้สึกมานาน

SCG อยากโปรโมตเรื่อง SCG Green Choice ฉลากสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานของ SCG สินค้าที่แปะฉลากนี้มีคุณสมบัติประหยัดพลังงาน

อายุการใช้งานนาน และทำเพื่อส่งเสริมสุขอนามัยที่ดี โจทย์นี้ทีมชูใจตีออกมาว่า ถ้าเราจะเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมให้อิมแพ็กต์ งานนี้ก็ต้องการภาพที่กระแทกใจคน

ประเด็นหนึ่งที่พูดถึงกันเยอะในช่วงหลังคือ ประชากรโลกที่มากเกินไป ส่งผลให้การบริโภคเพิ่มตามไปด้วย ทีมจึงทำประเด็นนี้ให้เป็นภาพ ใช้นักแสดงจำนวนมากเพื่อเล่าว่าการบริโภคแบบมหาศาลในครั้งเดียวมันน่ากลัวอย่างไร

ผลคือได้หนังโฆษณาที่มีความเป็น Fine Art มีความเหนือจริง และเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน แม้งานจะยังไม่ได้รางวัลมากมาย แต่เป็นงานที่เราจดจำได้ถึงวันนี้

The Elections Edition

An-Nahar Newspaper / Impact BBDO Mumbai

ปี 2022 เลบานอนกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่ แต่รัฐบาลเตะถ่วงพยายามเลื่อนการเลือกตั้ง โดยอ้างผ่านสื่อว่าการเลือกตั้งไม่เกิดเพราะขาดกระดาษและหมึกในการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง เป็นเหตุผลแถๆ ที่สังคมรับไม่ได้ในช่วงนั้น

หนังสือพิมพ์ An-Nahar ของเลบานอนเลยทำแคมเปญหยุดพิมพ์หนังสือพิมพ์หนึ่งวัน เพื่อให้นำกระดาษและหมึกที่ปกติต้องใช้ในการพิมพ์ต่อวันจำนวนมหาศาล ไปให้องค์กรที่เกี่ยวข้องใช้พิมพ์บัตรเลือกตั้งตามที่รัฐบาลอ้างไว้

การที่บริษัทหนังสือพิมพ์หยุดพิมพ์เป็นเรื่องใหญ่มาก สะเทือนทั้งในเชิงแบรนด์และธุรกิจ ทริกของแคมเปญนี้คือ An-Nahar ไม่ได้หยุดพิมพ์เฉยๆ แต่ใช้การกระทำนี้เพื่อสร้างกระแส ถ้าคนอ่านไปที่แผงหนังสือจะเจอกระดาษหนึ่งแผ่นพร้อม QR Code เชิญชวนให้สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียผ่านแฮชแท็ก ทำให้เรื่องนี้เป็นกระแสซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการเลือกตั้งในที่สุด

The Unfiltered History Tour

Vice Media / Dentsu Creative Bengaluru

ในยุคล่าอาณานิคม ประเทศจากฝั่งตะวันตกออกล่าดินแดน นำวัตถุโบราณจากชาติต่างๆ มาสะสม พูดตรงๆ คือขโมยจากชาติอื่นมา ปัจจุบันของหลายชิ้นยังอยู่ในพิพิธภัณฑ์พร้อมมีคำบรรยายที่ค่อนข้างเข้าข้างประเทศฝั่งตะวันตกและไม่ตรงกับความจริง

Vice คือสื่อที่พูดถึงความจริงในด้านที่คนอาจไม่เคยรู้ แคมเปญนี้เล่าเรื่องแบรนด์อย่างตรงจุดด้วยการรวมเนื้อหาที่ถูกต้องของวัตถุโบราณในพิพิธภัณฑ์มาเล่าอย่างตรงไปตรงมา วิธีการคือสร้างระบบผ่าน Instagram AR เมื่อเอามือถือไปสแกนจะได้ฟังเสียงเล่าเรื่องราวความจริงของวัตถุดังกล่าว แท้จริงแล้วมันถูกขโมยมาจากชาติไหน เล่าหมดแบบไม่กรอง ข้อดีของการใช้เสียงเล่าเรื่องผ่านมือถือคือเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์แทบไม่รู้ว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ดูเผินๆ เหมือนผู้เข้าชมกำลังถ่ายรูปคำบรรยายวัตถุธรรมดา

The Unfiltered History Tour เป็นแคมเปญที่โชว์การเล่าเรื่องในโลกยุคใหม่ ทั้งในแง่การใช้ภาพ เสียง และ AR ทำให้ผู้ชมได้เขาถึงความเป็น Vice ด้วยประสบการณ์ใหม่ ตอบโจทย์คนยุคใหม่ที่สนใจประวัติศาสตร์อีกด้านได้จริงๆ

Backup Ukraine

Polycam x Unesco / Virtue Worldwide New York

ช่วงที่ยูเครนโดนระเบิดหนักๆ อนุสาวรีย์ รูปปั้น และอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ในเมืองทยอยถูกทำลาย แคมเปญนี้พยายามเก็บข้อมูลสิ่งที่กำลังจะสูญหาย ด้วยการทำแพลตฟอร์มชวนคนยูเครนทั้งประเทศถ่ายคลิปวิดีโอด้วยมือถือ เพื่อแปลงเป็นข้อมูล 3D Mode เก็บไว้ใน Cloud เมื่อสงครามสงบประเทศจะมีข้อมูลของสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ไว้ใช้ในการก่อสร้างใหม่ได้ 

แคมเปญนี้เจ๋งตรงที่ชวนคนยูเครนทั้งประเทศมาระดมทำเนื้อหาร่วมกัน (หรือที่ศัพท์การตลาดเรียกว่า User Generated Content) วิธีการทำก็ง่ายมาก แค่ถ่ายวิดีโอด้วยมือถือ ยิ่งทำเยอะยิ่งมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการฟื้นฟูสมบัติของชาติเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

NikeSync

Nike / R/GA London

เมื่อไนกี้อยากพูดเรื่องประจำเดือนของนักกีฬาหญิง ออกมากลายเป็นแคมเปญนี้

เท้าความก่อนว่าไนกี้มีแอปพลิเคชั่นตัวหนึ่งชื่อว่า Nike Training Club เป็นแอปแนะนำการออกกำลังกาย แต่วิธีการแนะนำของไนกี้ใช้ความรู้ด้านสรีระของผู้ชายเป็นหลัก แอปนี้ผู้หญิงใช้เยอะมาก แต่ตัวแอปไม่ได้อิงเรื่องสรีระของผู้หญิงมาก โดยเฉพาะเรื่องประจำเดือนซึ่งมีผลกับกำลังกายและจิตใจ การพูดถึงประจำเดือนในวงการกีฬาก็ยังน้อยมากอย่างน่าตกใจ

ไนกี้สร้างโปรแกรมฝึกตัวใหม่ชื่อว่า NikeSync ในแอป Nike Training Club นำเรื่องวงรอบประจำเดือนมาใช้คำนวณแนะนำการออกกำลังกายโดยเฉพาะ เวลาแนะนำโปรแกรมการฝึกแอปจะคำนึงถึงเรื่องฮอร์โมน กำหนดวันหยุดพักหรือความเข้มข้นให้เหมาะสม (ก่อนหน้านี้เวลาผู้หญิงใช้แอป NTC จะใช้วิธีข้ามการฝึกในวันที่มีประจำเดือน) เรื่องน่าเสียดายคือโปรแกรมนี้ยังใช้เฉพาะในอเมริกา คงจะดีถ้ามีองค์กรในบ้านเราเอาเรื่องนี้มาทำอย่างจริงจัง

One House to Save Many

Suncorp Group / Leo Burnett Sydney

Suncorp คือบริษัทประกันภัยในออสเตรเลีย ประเทศนี้เผชิญภัยพิบัติบ่อยมาก บ้านเรือนถูกทำลายนับไม่ถ้วนทั้งจากไฟป่า พายุไซโคลน น้ำท่วม แม้บริษัทประกันจะมีลูกค้า แต่การต้องซ่อมบ้านให้ใหม่และต้องพังลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า (ส่วนหนึ่งเพราะปัญหา Climate Change) ก็ทำให้ตั้งคำถามว่านี่คือการแก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือเปล่า

แคมเปญนี้เป็นการร่วมมือระหว่างบริษัทประกันภัย มหาวิทยาลัย องค์กรที่เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ ออกแบบและสร้างบ้านขึ้นมาหนึ่งหลัง โดยมีโจทย์ว่าบ้านหลังนี้ต้องทนทานจากภัยพิบัติทุกชนิดในตอนนี้ได้ จากนั้นก็พยายามโปรโมตและผลักดันให้บ้านหลังนี้เป็นมาตรฐาน (Construction Code) ที่บริษัทสร้างบ้านทุกแห่งในออสเตรเลียต้องทำตาม ปลายทางคือการช่วยชีวิตคนมากขึ้น

แคมเปญนี้ทำตั้งแต่ปี 2019 โชว์ให้เห็นพลังของการร่วมมือจากองค์กรที่แตกต่าง เป็นอีกหนึ่งงานที่ได้รางวัลจากเทศกาลไม่น้อยทีเดียว

The Breakaway: The First eCycling Team for Prisoners

Decathlon / BBDO Belgium

Decathlon ขายสินค้ากีฬาหลากหลายมาก ราคาย่อมเยา แบรนด์เชื่อว่าอยากให้กีฬาเข้าถึงทุกคน เพื่อสื่อสารเรื่องนี้แบรนด์เลยเลือกทำกับกลุ่มคนที่เข้าถึงกีฬายากที่สุด คือนักโทษในเรือนจำ

แคมเปญนี้ชวนนักโทษ 6 คนรวมเป็นทีมจักรยานแข่งใน Zwift แพลตฟอร์มที่ให้เราสามารถปั่นจักรยานแข่งกับคนทั่วโลก อารมณ์เหมือนเล่นเกมที่ใช้แรงตัวเองจริงๆ แคมเปญนี้โปรโมตว่าเชิญทีมนักโทษมาปั่นตามเวลาต่างๆ นักปั่นคนอื่นมาร่วมปั่นด้วยกันได้

The Breakaway เด่นเรื่องการวางกลยุทธ์ทำให้คนรู้สึกว่า Decathlon เป็นที่หนึ่งในแง่การเข้าถึงได้ และเชื่อเรื่องการให้โอกาสคนด้วยกีฬาจริงๆ นอกจากนี้ยังมีการทำกิจกรรม PR ที่น่าสนใจ หนึ่งคือการสัมภาษณ์นักโทษเกี่ยวกับเบื้องหลังแคมเปญ ซึ่งใช้วิธีสัมภาษณ์ระหว่างปั่นใน Zwift เลย สองคือการชวนทนาย ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ในกระทรวงยุติธรรมมาตั้งทีมชื่อว่า Team Justice แล้วมาแข่งใน Zwift กับทีมของนักโทษ ไลฟ์ทาง Facebook ของ Decathlon

Escape from the Office

Apple / Apple, Sunnyvale / Smuggler USA

Apple ทำหนังโฆษณาชุดที่ชื่อว่า The Underdogs มาแล้วสองตัว เน้นพูดถึงการใช้สินค้าแอปเปิ้ลในการทำงาน ปีนี้หนังชุดที่สามชื่อว่า Escape from the Office ก็ยังสนุกและขายสินค้าได้ดีเช่นเคย

จุดที่เด่นของหนังชุดนี้มีสามส่วน หนึ่งคือการคัดเลือกนักแสดงที่เคมีเข้ากันมาก สองคือการใช้บรรยากาศออฟฟิศแบบเรียลๆ มาเล่าเรื่องแบบไม่กลัวไม่เท่ ทำให้แบรนด์เข้าถึงคนมากขึ้น สุดท้ายคือการ Tie in ขายของที่เนียนมาก ปกติเรามักจะอี๋งานที่สอดแทรกสินค้าเข้าไปแบบทื่อๆ หนังชุดนี้โชว์ให้เห็นว่าหนังโฆษณาขายของที่ดี สนุก เขาทำกันยังไงในวิดีโอเบื้องหลังทีมงานเล่าว่านักแสดงใช้สินค้าแอปเปิ้ลจริงๆ ตอนแสดง ไม่มีการ mock up แม้แต่ช็อตเดียว

ดูหนังได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=GC5Gmkn92Bg&t=166s

Super. Human.

Channel 4 / 4Creative

Channel 4 เคยใช้ชื่อ Superhuman มาแล้วในหนังโฆษณาโปรโมตการถ่ายทอดสด Paralympic Games (การแข่งขันโอลิมปิกของผู้พิการ) ปี 2016

หนังโฆษณาโปรโมตงานที่โตเกียวพวกเขากลับมาใช้คำนี้อีกครั้ง และเล่าเรื่องคล้ายกับรอบที่แล้ว เป็นหนังเพลงเหมือนกัน นำอุปสรรคในการใช้ชีวิตของผู้พิการมาเล่าเช่นเคย แต่ทำให้ติดดินมากขึ้น ไม่อลังการแต่ได้เห็นชีวิตอันยากลำบากของนักกีฬา โดยยังดูสนุกเหมือนเดิม

ดูหนังได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=OjIP9EFbcWY&t=2s

Portuguese Re(constitution)

Penguin Books / FCB Lisbon

ในอดีตประเทศโปรตุเกสปกครองด้วยระบอบเผด็จการ มีการเซ็นเซอร์สื่อหลายรูปแบบ หนังสืออันตรายในสมัยนั้นจะถูกขีดฆ่าหรือทำสัญลักษณ์ด้วยปากกาสีน้ำเงิน

ปี 2022 สำนักพิมพ์ Penguin Books อยากทำโปรเจกต์ที่พูดกับนักอ่านชาวโปรตุเกสมากขึ้น พวกเขาเชิญนักวาดภาพประกอบ 11 คนมาทำงานศิลปะที่เรียกว่า the black-out poetry เอาปากกาสีน้ำเงินมาขีดฆ่าคำต่างๆ ในหนังสือประวัติศาสตร์ เลือกเฉพาะคำที่สื่อความหมายถึงอิสรภาพ วาดภาพประกอบลงไป พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ 2,500 เล่มวางขายตามร้านในวันที่ 25 เมษายน ตรงกับเหตุการณ์ปฏิวัติคาร์เนชั่น (Carnation Revolution) ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นสัญลักษณ์ของการโค่นล้มระบอบเผด็จการในโปรตุเกส

หลังจบโปรเจกต์หนังสือถูกนำไปใช้เป็นสื่อการสอนในโรงเรียน เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ผ่านงานศิลปะ ถูกนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ ต่อยอดไปสู่วงการการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลัง

The Wish

Penny / Serviceplan Germany

The Wish เป็นหนังที่โปรโมตซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อว่า Penny ในช่วงโควิดที่เยอรมนีออกกฎห้ามการเดินทาง และจำกัดการซื้อของ เพนนีเป็นร้านค้าไม่กี่แห่งที่ขายสินค้าในช่วงล็อกดาวน์ ในช่วงคริสต์มาสพวกเขาอยากบอกลูกค้ากลุ่มอายุ 16-24 ปีว่าเพนนีไม่อยากเด่นแค่เรื่องขายสินค้าอย่างเดียว พวกเขาใส่ใจความรู้สึกของวัยรุ่นซึ่งถูกพรากชีวิตวัยเยาว์ไปเพราะการปิดเมือง

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ The Wish ดูไม่เหมือนหนังโปรโมตซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เน้นเล่าเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว เนื้อหาพูดถึงแม่ลูกคู่หนึ่งที่พูดถึงของขวัญที่อยากได้ในวันคริสต์มาส พูดถึงชีวิตวัยรุ่นที่สูญหายไปกับนโยบายล็อกดาวน์ The Wish เป็นงานที่ประเด็นช้ำมาก (โควิดและชีวิตที่สูญหาย) แต่เล่าเรื่องได้ดีและชัดเจนว่าอยากสื่อสารเรื่องอะไร

ดูหนังได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=92Aa9dTNc5A

Long Live the Prince

Kiyan Prince Foundation, EA Sports, QPR, Match Attax / Engine London

ปี 2006 Kiyan Prince เป็นนักกีฬาดาวรุ่งชาวอังกฤษ อยู่ในทีมเยาวชนของ Queens Park Rangers มีการคาดการณ์ว่าฝีเท้าของเขาดีถึงขั้นน่าจะเป็นดาวรุ่งความหวังใหม่ของวงการฟุตบอลอังกฤษ แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝันเมื่อคิยานโดนทำร้ายบริเวณโรงเรียนจนเสียชีวิต เป็นข่าวเศร้าไปทั่วประเทศ หลังจากนั้นครอบครัวของคิยานก่อตั้งมูลนิธิเพื่อรณรงค์เรื่องต่อต้านการทำร้ายด้วยมีดซึ่งเป็นสาเหตุให้คิยานเสียชีวิต

ปี 2022 ถ้าคิยานยังมีชีวิตอยู่ เขาจะมีอายุ 30 ปี ถือเป็นช่วงอายุที่สมรรถภาพร่างกายถึงจุดพีกในการเป็นนักกีฬาฟุตบอล มูลนิธิของคิยานยังทำงานรณรงค์อยู่แต่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจเหมือนก่อน พวกเขาจึงทำแคมเปญใหม่โดยคืนชีวิตให้คิยานไปเป็นนักกีฬาในเกม FIFA 21 โดยมีอดีตเพื่อนร่วมทีมและโค้ชคอยให้คำแนะนำว่าควรจะออกแบบหน้าตาและความสามารถของคิยานในเกมอย่างไร เนื่องจากคิยานมีสถานะเป็นเหมือน Local Hero ในชุมชน ชื่อเสียงของเขาจึงทำให้แคมเปญได้ผล มีการต่อยอดเป็นกิจกรรมอีกหลายอย่างเพื่อต่อต้านความรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นใกล้ตัวเด็กได้

Long Live the Prince สะท้อนเทรนด์หนึ่งในวงการความคิดสร้างสรรค์ คือเราจะได้เห็นการร่วมมือข้ามสายอุตสาหกรรมมากขึ้น แคมเปญนี้ต้องประสานหาความร่วมมือกับองค์กรที่แตกต่างเยอะมาก ความคิดสร้างสรรค์ที่ทรงพลังในอนาคตจะไม่ได้อยู่แค่ในเอเจนซี แต่ต้องขยายวงออกไปเพื่อสื่อสารอย่างมีพลังยิ่งขึ้น

Real Tone

Google / Google Mountain View

คนผิวดำถ่ายรูปด้วยมือถือแล้วภาพจะออกมาไม่สวย สีผิวไม่ตรงความเป็นจริง ที่มาของปัญหานี้เกิดจากตั้งแต่ยุคที่มนุษย์สร้างกล้องถ่ายรูป คนที่ประดิษฐ์เป็นคนผิวขาว สังคมยุคนั้นคนผิวดำยังไม่ถูกให้ความสำคัญมาก กลไกการปรับสีของกล้องจะยึดสีผิวของคนผิวขาวเป็นหลัก

ปัญหานี้ไม่เคยถูกแก้เลย จนกระทั่ง Google จะพัฒนามือถือใหม่ Pixel 6 ทีมงานเลยหันมาปรับเรื่องสีของภาพในกล้องมือถือแบบรื้อใหม่ทั้งหมด ชวนผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามาช่วยให้การปรับสีตรงกับความเป็นจริงที่สุด ใช้ระบบของ Google Photo เข้ามาช่วย ทำให้เทคโนโลยีกล้องมือถือพัฒนาไปมากกว่าแค่การเพิ่มพิกเซล แต่สะท้อนตัวตนที่แท้จริงของคนที่ถูกถ่ายรูป แก้ปัญหาความหลากหลายและการเหมารวม (Stereotype) ที่ซ่อนอยู่ในนวัตกรรมมาเนิ่นนาน

Data Tienda

WeCapital / DDB Mexico

ผู้หญิงที่มีรายได้น้อยในเม็กซิโกไม่สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารได้เพราะมีประวัติทางการเงินไม่เพียงพอ แท้จริงแล้วคนกลุ่มนี้ซื้อขายกับร้านขายของชำในท้องถิ่นเป็นหลัก มีประวัติที่เจ้าของร้านจดใส่สมุดไว้ครบถ้วน แคมเปญนี้นำข้อมูลเหล่านั้นมาแปรเป็นดิจิทัลผ่านเว็บไซต์ Datatienda.mx ลูกค้าแค่ใส่ชื่อร้านค้า 5 แห่งที่เคยมีเครดิต จากนั้นระบบจะแปลงข้อมูลมาตรฐานเพื่อนำไปใช้ยื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร มีการใช้ Bot ใน WhatsApp ช่วยเพื่อให้ลูกค้าและร้านค้ากรอกข้อมูลได้ง่ายขึ้น

แคมเปญนี้ชนะในหมวด Creative Data จากหลายเทศกาล โจทย์ยากที่แคมเปญนี้ทำได้คือการแปรข้อมูลด้วยวิธีที่เข้าใจง่าย นำข้อมูลเข้าระบบปกติ เพิ่มโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นี่เป็นแคมเปญที่เอาดาต้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมในระยะยาวด้วย

Jersey Pay

Corona / VMLY&R COMMERCE MEXICO

สนามฟุตบอลในเม็กซิโกขึ้นชื่อเรื่องขโมยชุม กระเป๋าสตางค์และมือถือโดนฉกกันเป็นว่าเล่น เรื่องนี้มีส่วนทำให้ยอดขายเบียร์ Corona ในสนามลดลง เพราะแฟนบอลส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่เอากระเป๋าสตางค์และมือถือเข้าไปด้วย พกเงินไปน้อยๆ เลี่ยงการโดนขโมย

ของมีค่าชิ้นเดียวที่แฟนบอลเอาเข้าไปในสนาม คือเสื้อทีมบอลแสนรักที่ใส่เข้าไปทุกครั้ง Corona เลยคิดค้นระบบการจ่ายเงินที่ใช้แค่เสื้อทีม แฟนบอลแค่เอาเสื้อของตัวเองไปที่ร้านค้าของสโมสรที่มีโลโก้ Corona Jersey Pay ติดอุปกรณ์ RFID หลังตราสโมสรบนเสื้อซึ่งเชื่อมต่อกับระบบซื้อขายออนไลน์ของทีม เติมเงินเข้าไป เท่านี้เราก็สามารถใช้เสื้อซื้อเบียร์ได้ (คนขายจะเอาเครื่องสแกนที่ตราสโมสร) โดยไม่ต้องพกเงินสดเข้าสนาม แถมมีส่วนลดพิเศษมากกว่าปกติด้วย

Detectives

Apple / O POSITIVE, SANTA MONICA

แอปเปิ้ลอยากทำหนังเพื่อโชว์ขิงฟีเจอร์ Cinematic mode ของ iPhone 13 Pro มันเป็นโหมดที่จำลองการทำงานของกล้องถ่ายหนังมาใช้กับกล้องมือถือ

หนังโฆษณาเล่าเรื่องตัวละครตำรวจสองคนที่กำลังสืบคดีอยู่ กล้องจับโฟกัสที่ตัวละครสำคัญด้านหน้า เบลอหน้าคนที่ไม่ค่อยสำคัญข้างหลัง เมื่อเรื่องเผยความจริงกล้องถึงเริ่มทำงานไปตามเนื้อหาที่เปลี่ยนไป เป็นการเล่าคุณสมบัติของกล้องได้ฉลาดและกระชับมาก

ดูหนังได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=lOz9j3CuNCw

When Harry Met Santa

POSTEN – THE NORWEGIAN POSTAL SERVICE / POL Oslo

นอร์เวย์เป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นมิตรกับเพศหลากหลายสูงที่สุด Posten ก็เป็นบริการไปรษณีย์ของนอร์เวย์ที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมาก แต่พวกเขารู้ดีว่ากลุ่มเป้าหมายใหญ่ของแบรนด์ (คนเมืองอายุ 18-39 ปี) ยังไม่เชื่อเรื่องนี้ Posten เลยทำหนังโฆษณาเพื่อโปรโมตความเชื่อของแบรนด์ในช่วงคริสต์มาส ด้วยวิธีที่สุ่มเสี่ยงแต่ได้ผลมาก

เราไม่อยากเล่าเนื้อหาของหนังมากนัก แนะนำให้ดูด้วยตัวเอง หนังชุดนี้โด่งดังไวรัลมากทั้งในยุโรปและอีกหลายประเทศทั่วโลก

ดูหนังได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=pCNnX7ahix8

Better with Pepsi

Pepsi / PEPSICO, PURCHASE

ในอเมริกา เบอร์เกอร์ไม่เคยขายคู่กับ Pepsi มา 30 ปี ด้วยดีลพิเศษที่ร้านฟาสต์ฟู้ดเจ้าใหญ่ทำกับ Coke เป๊ปซี่พยายามหลายครั้งเพื่อบอกทุกคนว่ากินเบอร์เกอร์กับเป๊ปซี่อร่อยกว่า และลูกค้าก็เชื่อเช่นเดียวกัน

โปสเตอร์ชื่อว่า #Betterwithpepsi เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สื่อสารผ่านภาพ บอกว่าแม้คุณจะไม่เจอเป๊ปซี่ในเมนูของร้านฟาสต์ฟู้ด 3 เจ้าใหญ่ แต่มันซ่อนอยู่ในภาพของแบรนด์เสมอ เป็นงานที่ทั้งกระตุ้นตลาดเครื่องดื่มโคล่าในอเมริกาให้มีสีสัน และกึ่งๆ ล็อบบี้แบรนด์ว่าถึงเวลาที่ต้องพิจารณาดีลให้โอกาสเครื่องดื่มอื่นๆ บ้าง

Wilmore Funeral Home

STARMED HEALTHCARE / STARMED HEALTHCARE, CHARLOTTE

ช่วงโควิดมีหลายแคมเปญที่น่าสนใจ น่าเก็บตก ชิ้นนี้เป็นหนึ่งในนั้น

Wilmore Funeral Home เป็นบริการจัดงานศพที่ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นชื่อหลอกๆ ที่ STARMED HEALTHCARE คิดขึ้นมาในช่วงที่อัตราการฉีดวัคซีนในรัฐ North Carolina ต่ำมาก ยอดติดและตายสูงขึ้น ทีมงานทำบิลบอร์ดติดรถและขับวนในเมือง มีข้อความเขียนว่า เจอกันเร็วๆ นี้ถ้าคุณยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ผลลัพธ์คือคนสนใจทั้งในรัฐและโซเชียลมีเดีย ถ้าคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ของวิลมอร์ก็จะเจอกับหน้าเว็บสำหรับนัดการฉีดวัคซีนทันที

The Trash Collection

IKEA / TRY, OSLO

สองปีมานี้หลายแบรนด์ใหญ่ๆ เริ่มออกมาประกาศภารกิจการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในอนาคตอันใกล้ แคมเปญตับนี้เราจะเล่างานชิ้นที่เราชอบ และน่าจะเหมาะกับบริบทในบ้านเรา

ความยากของอิเกียในนอร์เวย์คือ ราคาเฟอร์นิเจอร์ที่นี่ไม่แพง คนนอร์เวย์ซึ่งมีค่าครองชีพสูงจึงมองสินค้าอิเกียว่าเป็นของใช้แล้วทิ้งได้ ไม่เสียดาย ปีหนึ่งมีคนทิ้งเฟอร์นิเจอร์ถึง 3 ล้านชิ้น ถ้าเทียบกับประชากรของนอร์เวย์ 5 ล้านกว่าคน จำนวนนี้ถือว่าเยอะมาก

วิธีของอิเกียคือ พูดความจริงไปตรงๆ พวกเขานำสินค้าตัวเองที่ถูกทิ้งในกองขยะมาซ่อม ล้าง และขายเป็นคอลเลกชั่นใหม่ในราคาที่ถูกกว่าเดิมมาก วิธีการโปรโมตทำเหมือนการปล่อยคอลเลกชั่นใหม่แต่ใช้ภาพที่ขัดแย้ง ความจริงใจนี้ทำให้แคมเปญดังไกลกว่านอร์เวย์ เป็นเคสที่แบรนด์เริ่มคิดตามและอยากเอาไปต่อยอดบ้าง

The Bigger Crash

HYUNDAI GLOBAL / JUNG VON MATT AG, HAMBURG

Hyundai อยากโปรโมตเรื่องการเป็นบริษัทที่ปล่อยคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Neutral) ด้วยวิธีที่แตกต่างและอิมแพ็กต์ แบรนด์ย้อนกลับไปมองว่า เรื่องที่เกี่ยวกับสภาพอากาศแปรปรวนที่ช็อกคนที่สุดคือเรื่องอะไร คำตอบคือภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นทุกวัน หนึ่งในภาพจำของคนคือ บ้านเมืองที่เสียหายจากพลังพายุพัดผ่าน

ในฉากเหล่านั้น รถยนต์หลายคันที่พลิกคว่ำเป็นภาพที่เราเห็นจนชินตา ฮุนไดเอาภาพนี้มาเล่นโดยการส่งช่างภาพมืออาชีพไปยังเมืองที่เพิ่งประสบภัย ถ่ายรูปรถยนต์พังๆ ของจริงเอามาทำเป็นบิลบอร์ดโฆษณา เห็นแวบแรกจะนึกว่าเป็นงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนถนน เพราะมีตัวเลขความเร็วกำกับอยู่ แท้จริงแล้วนั่นคือความเร็วลมของพายุที่ผ่านเมืองนั้นจริงๆ องค์ประกอบภาพไม่มีการจัดฉาก เมสเสจคือบอกว่าเราจะเจอหายนะมากกว่านี้จากภัยพิบัติหากเราไม่คิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม โปรโมตความเชื่อของแบรนด์ด้วยภาพที่อิมแพ็กต์มาก

Para Expansion Pack

CANADIAN PARALYMPIC COMMITTEE / BBDO, TORONTO

โจทย์ของแคมเปญนี้คือ โปรโมตมหกรรมกีฬาคนพิการ Paralympic Games ใน Pop culture แบบแมสๆ ของแคนาดา แถมงานนี้ไม่ได้มีเงินมากนัก (ประมาณ 26,000 ดอลลาร์ ถือว่าน้อยสำหรับแคมเปญทั้งประเทศ) ทีมงานรู้ว่าเอางบนี้ไปซื้อสื่อไม่ได้ ต้องทำให้งานถูกพูดถึงเพื่อจะได้ Free media ในภายหลัง

แคมเปญเลือกเล่าผ่านของเล่น เพราะรู้ว่าการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมคนนั้นใช้เวลา ถ้าเล่าผ่านผู้ใหญ่จะมาเร็ว ไปเร็ว ถ้าเล่าผ่านสิ่งของที่เด็กใช้ แทรกซึมอยู่ในครอบครัวจะดีกว่าในระยะยาว ทีมงานจึงทำชุดขยายกับของเล่นที่ได้รับความนิยมในแคนาดา เน้นกับแบรนด์อย่าง Lego เป็นหลัก ชุดเหล่านี้ทำให้เราได้ Minifigure ที่เปลี่ยนหุ่นปกติเป็นหุ่นคนพิการ มีอุปกรณ์ของนักกีฬาพาราลิมปิกแถมในชุด เผยแพร่ต้นแบบให้ลูกค้าโหลดไปแก้ไขและพิมพ์ของเล่น 3 มิติด้วยตัวเอง งานนี้จบสวยด้วยการมียอดดาวน์โหลดหลักหมื่น งานดังในหลายประเทศ ที่สำคัญคือการสร้างกระแสให้ยืนหยัดในระยะยาว

The Virtual Heineken Silver

Heineken / PUBLICIS ITALY, MILAN

ช่วงที่ Metaverse เฟื่องฟู แบรนด์ไหนอยากดังต้องไปเปิดตัวในโลกเสมือน ไฮเนเก้นอยากทำบ้าง พวกเขาเปิดตัวเบียร์ Heineken Silver ในแพลตฟอร์ม Decentraland เป็นเบียร์ที่ไม่มีเบียร์ สร้างโรงเบียร์แบบ Virtual ทำข่าว PR และเชิญ Influencer เหมือนงานเปิดตัวปกติในโลกเสมือน ก่อนจะมาเฉลยตอนหลังว่าเบียร์ในโลกเสมือนเป็นแค่กราฟิกกระป๋องเปล่าๆ เมสเสจจริงๆ คืออยากบอกว่า Metaverse อาจจะเหมาะกับบางสินค้า แต่ไม่ใช่กับเบียร์ วิธีรู้จักเบียร์ที่ดีที่สุดคือมากินในโลกจริงดีกว่า

เบื้องหลังของงานนี้คือ ไฮเนเก้นอยากทำแคมเปญให้คนรุ่น Gen Z โดยที่พยายามรักษา Tone of voice ของแบรนด์ในทุกแคมเปญด้วย ซึ่งคือคำว่า Twist เป็นเหมือนความกวนตีน เดาไม่ได้ คาดไม่ถึง เลยออกมาเป็นอย่างที่เห็น ไอเดียนี้เหมือนตบหน้าความเป็น Metaverse ว่ามันดูว่างเปล่าเหมือนกระป๋องเบียร์ที่ไม่มีเบียร์อย่างไรอย่างนั้น

The Lost Class

Change The Ref Inc. / LEO BURNETT, CHICAGO

เหตุผลหนึ่งที่ปัญหาการใช้ปืนในอเมริกายังไม่ถูกแก้ เพราะความพยายามแก้ไขกฎหมายครอบครองปืนถูกตีตกโดยองค์กรที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หนึ่งในนั้นคือ National Rifle Association หรือ NRA องค์กรที่มีอิทธิพลมากกับรัฐบาลเกี่ยวกับประเด็นนี้

ปี 2021 มีนักเรียน 3,044 คนที่ไม่ได้เข้าร่วมพิธีจบการศึกษาเพราะถูกฆาตกรรมจากการกราดยิง องค์กรที่ต่อสู้เรื่องการครอบครองปืนอย่าง Change The Ref Inc. ทำแคมเปญขึ้นมาตัวนึง เชิญ David Keene อดีตประธาน NRA และ John Lott, JR. นักเขียนเจ้าของหนังสือ More Guns, Less Crime มาพูดปัจฉิมนิเทศให้นักศึกษาฟัง

ทีมงานคิดชื่อโรงเรียนหลอกๆ แห่งหนึ่งว่า James Madison Academy เชิญเดวิดและจอห์นมาพูด โดยบอกว่าจะเป็นการซ้อมกับเก้าอี้เปล่าก่อนวันจริง มีการถ่ายวิดีโอเอาไว้ หลังจากนั้นทีมงานก็นำฟุตเทจนั้นมาทำเป็นหนังเผยแพร่ทางออนไลน์ ใช้ชื่อว่า The Lost Class สะท้อนถึงชีวิตของนักเรียนที่ถูกพรากไปเพราะกฎหมายครอบครองปืนที่ไม่เข้มงวดมากพอ ดูจบก็เปิดให้ผู้ชมลงชื่อรณรงค์ให้เกิดการแก้ปัญหา

งานนี้ได้ impressions ในโซเชียลมีเดียไป 1.2 พันล้าน มีคนลงชื่อ 40,000 คน มีการฟ้องร้องจากฝั่งเดวิดและจอห์นตามมา อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องปืนในอเมริกายังหนักหนาอยู่ แต่องค์กรอย่าง Change The Ref Inc. มองว่าทุกแคมเปญที่ทำคือการก้าวไปทีละขั้นอย่างมีความหมาย (ใช้คำว่า Meaningful Progress) ปัญหานี้แก้ยาก ใช้เวลา แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆ ความหวังก็ยังมีอยู่เสมอ

Find Your Own Way

Otsuka / DENTSU INC., TOKYO
.
Otsuka คือชื่อบริษัทผลิตน้ำดื่ม Pocari Sweat แบรนด์ญี่ปุ่นที่มีมาตรฐานหนังโฆษณาสูงมาก Find Your Own Way คือการสร้างโลกแฟนตาซีของหญิงสาวในวัยมัธยมศึกษา หนังดูเหมือนใช้ CG แต่มันคือการสร้างฉากจริงความยาว 85 เมตรในสตูดิโอ ทางที่เห็นเป็นคลื่นคือกลไกที่ทำจากไม้และเคลื่อนไหวด้วยแรงคนล้วนๆ (เทคนิคคล้ายหนังเรื่อง Welcome Home ของ Apple โดย Spike Jonze) ทั้งหมดนี้ทำให้งานภาพของหนังมีเสน่ห์และน่าจดจำ

ดูหนังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=gn5lk6isyGc 

เบื้องหลัง https://www.youtube.com/watch?v=tzSGgGm7kjY

Greeting Milk

MAEIL DAIRIES CO., LTD / INNORED, SEOUL

ปัญหาผู้สูงวัยถูกทิ้งจนเสียชีวิตตามลำพัง เป็นเรื่องใหญ่มากในเกาหลีใต้ Maeil Dairies บริษัทผลิตนมอยากแก้ปัญหานี้ด้วยเครื่องมือที่ตัวเองมี คนสูงวัยในเกาหลีนิยมรับนมดื่มทุกวัน มีกระเป๋าใส่นมแขวนไว้หน้าบ้าน บริษัทเลยปรับกระเป๋าส่งนมให้เป็นเครื่องมือในการเตือนภัย

เริ่มจากร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เมืองโซลรวบรวมข้อมูลบ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียว บริษัทจะส่งนมให้ฟรีผ่านกระเป๋าที่แขวนหน้าบ้าน คนส่งนมจะสังเกตจำนวนกล่องนมในกระเป๋า ถ้ากล่องหายไปแสดงว่าปลอดภัย ถ้ากล่องยังอยู่ 1-2 วันจะรีบแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาตรวจสอบ ยิ่งมีกล่องนมเหลือเยอะยิ่งอันตราย (2 กล่องคือจำนวนมากสุด ถือว่าอันตรายสูงสุด) เคสนี้สำเร็จดีในโซล และเริ่มมีการขยายความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหานี้ในเมืองอื่นทั่วประเทศ

Hack Market

Back Market / MARCEL, PARIS

Refurbished คือประเภทสินค้ามีตำหนิที่นำมาซ่อมและขายอีกครั้งในราคาที่ถูกกว่าเดิมหลายเท่า Back Market คือเว็บไซต์ที่ขายเครื่องใช้ไฟฟ้ามีตำหนิที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป เน้นไปที่โทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นสินค้าที่คนเปลี่ยนบ่อยมากเพื่อไม่ให้ตกรุ่น

Back Market พูดมาตลอดว่าสินค้าของเขาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า มี Carbon footprint ต่ำกว่ามือถือปกติถึง 92% แต่ดูเหมือนวิธีโปรโมตแบบคนดีดูจะไม่ได้ผล ในวัน Earth Day พวกเขาเลยเลือกทำแคมเปญวิธีร้ายๆ ด้วยการแฝงตัวไปใน Apple Store ประจำเมืองปารีส ลอนดอน เบอร์ลิน แล้วยิงสัญญาณคลิปโฆษณาผ่าน Airdrop เข้าสินค้าทดลองในร้านทุกเครื่อง ตัวคลิปจะเล่าข้อดีของการซื้อมือถือแบบมีตำหนิพร้อมลิงก์เข้าเว็บ Back Market ส่วนตัวส่งสัญญาณจะซ่อนอยู่ในกระเป๋าเป้ทีมงานที่อยู่ไม่ไกลจากร้าน

แคมเปญนี้ทำได้สั้นๆ แต่ถือว่าคุ้มเพราะทำให้ลูกค้าที่เดินเข้าร้านเพื่อซื้อของใหม่เปลี่ยนใจและรู้จักข้อดีของสินค้ามีตำหนิในด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเยอะ

Favorite Food Soy Sauce

DENTO DESIGN KOBO INC. / HAKUHODO INC., TOKYO

ซอสถั่วเหลืองไม่ได้มีแบบเดียว โชคร้ายที่คนไม่ได้คิดแบบนั้น คิดว่าซื้อแบบไหนก็เหมือนกัน ผู้ผลิตซอสท้องถิ่นรายย่อยเลยขายไม่ดี แบรนด์ซอสถั่วเหลือง Shokunin-Shoyu อยากแก้ปัญหานี้ เลยผลิตฉลากแบบใหม่เป็นรูปอาหารที่คนญี่ปุ่นนิยมมากที่สุด เอามาแปะบนขวดซอสแต่ละแบบ เพื่อให้คนเลือกซอสถั่วเหลืองที่เหมาะกับอาหารที่เขาอยากกิน อารมณ์เหมือนเลือกไวน์จับคู่กับอาหารที่ใช่ กินแล้วอร่อย ตัวฉลากทำเป็นกระดาษภาพอาหารหุ้มฉลากเดิม เมื่อคนแกะกระดาษแผ่นนี้ออกจะได้จำได้ว่าควรซื้อซอสถั่วเหลืองแบบไหนคู่กับอาหารจานโปรดประจำบ้าน

เราชอบไอเดียตรงที่เขาไม่ได้รื้อดีไซน์ฉลากเดิม แค่ทำกระดาษหุ้มเฉยๆ แถมภาพอาหารที่ใช้ยังหลากหลายมากถึง 24 เมนู สะท้อนความหลากหลายของซอสถั่วเหลือง ส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่นไปในตัวด้วย

Breakchains with Blockchain

CHILDREN OF FEMALE PRISONERS’ ASSOCIATION / HORIZON FCB, DUBAI

เสียดายที่กระแส NFT ซาเร็วไปหน่อย มีหลายแคมเปญด้านนี้ที่เราชอบ ชิ้นนี้เป็นหนึ่งในนั้นครับ
.
ในอียิปต์มีกฎหมายหนึ่งที่ทำให้ลูกหนี้ถูกจับถ้าผิดนัดชำระหนี้ แม้ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินไม่กี่ดอลลาร์ กฎนี้ทำให้ผู้หญิงอียิปต์ที่ฐานะไม่ดีจำนวนมากถูกจับ แม้จะผิดนัดโดยไม่ตั้งใจเพราะต้องกู้ยืมมาใช้เลี้ยงชีพ ยังไม่นับเรื่องเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง หลอกให้เซ็นเอกสารโดยไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง

NGO ที่ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงจึงทำงาน NFT Art คอลเลกชั่นหนึ่งขึ้นมาในวันแม่ของอียิปต์ เป็นภาพวาดพร้อมเรื่องราวนักโทษหญิงที่ถูกจับจากการผิดนัดชำระหนี้ และตั้งราคาตามเงินที่พวกเธอติดหนี้ไว้ ถ้าใครซื้อภาพก็เท่ากับเป็นการให้เงินเพื่อประกันตัวนักโทษให้ได้รับอิสรภาพ

สัปดาห์แรกที่ปล่อยคอลเลกชั่น นักโทษ 17 คนได้รับการประกันตัว เกิดการเสนอในสภาฯ เพื่อแก้กฎหมายนี้อย่างจริงจัง ถือเป็นงาน NFT ที่แก้ปัญหาสังคมได้จริงๆ

Volvo Street Configurator

VOLVO CAR BELUX / FAMOUSGREY, BRUSSELS

Motor Show ในหลายประเทศถูกยกเลิกในช่วงโควิด แบรนด์รถยนต์จึงเริ่มคิดทางออกใหม่ๆ ในการเปิดตัวและขายรถยนต์ที่ยั่งยืนกว่าการจัดอีเวนต์

ความท้าทายของ Volvo ในเบลเยี่ยมมีสองข้อ หนึ่งคือแบรนด์ต้องหาทางออกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สองคือการซื้อขายรถแบบออนไลน์ยุ่งยากกับคนทั่วไปมาก แถมรถเป็นของใหญ่ คนยังอยากเห็นรถของจริงก่อนตัดสินใจ จะกด F ของเหมือนการซื้อออนไลน์ปกติก็ไม่ได้

วอลโว่ทำแอปพลิเคชั่นตัวหนึ่งขึ้นมาชื่อ Volvo Street Configurator ถ้าเอาแอปนี้ ‘ส่อง’ รถ Volvo ที่เราเห็นตามท้องถนน แอปจะโชว์ว่านี่คือรถรุ่นอะไร ราคาเท่าไหร่ มีลิงก์ให้กดจองพร้อมจ่ายเงินได้ทันที นอกจากนี้ยังทำแคมเปญโปรโมตโดยใช้สโลแกนเท่ๆ ว่า The street is our showroom เราจึงสามารถส่องรถ Volvo ที่เราเห็นและชอบได้เลย ไม่ต้องเข้าโชว์รูมหรืออีเวนต์ใดๆ

แอปนี้เริ่มใช้แล้วในเบลเยี่ยม ได้ผลดี ความจริงคอนเซปต์นี้คล้ายตอนที่ Tesla เปิดตัวในบ้านเราพร้อมจ่ายเงินซื้อรถในมือถือได้ง่ายมาก อนาคตวิธีนี้น่าจะถูกใช้กับทุกแบรนด์รถยนต์ทั่วโลก

National Magazine Awards

NATIONAL MAGAZINE AWARDS FOUNDATION / RETHINK, TORONTO

The National Magazine Awards ไม่ได้ให้รางวัลแค่คนทำนิตยสาร แต่ยังเชิดชูสื่อ นักข่าว และนักออกแบบผลงานโดดเด่นในแคนาดามา 45 ปี ในการจัดงานรอบล่าสุด ทีมงานคิด Key Visual ที่กล้าหาญมาก โดยนำองค์ประกอบอย่างสันปกหนังสือมาใช้

แม้สันปกจะเป็นแค่เส้นเล็กๆ แต่งานชิ้นนี้คิดรายละเอียดมาหลายชั้น เช่น การใช้สีแดงเป็นตัวแทนของคนแคนาดา สีขาวและทองแสดงถึงรางวัลและความยอดเยี่ยมของผลงาน ใช้ฟอนต์ชื่อว่า Lausanne 300 เพราะสะท้อนความเป็น Canada Modern ได้ดี มีการใช้ภาพและโมชั่นเล่นกับสันปกล้อกับพฤติกรรมการอ่านของคน เป็นงานออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือซึ่งหาดูได้ยากในยุคออนไลน์เช่นนี้

AUTHOR