Pattani Decoded : Deep Salt 2022 ชวนรู้จัก ‘เกลือหวาน’ ปัตตานี มรดกทางวัฒนธรรมนับร้อยปีที่ตีความใหม่โดยนักออกแบบกว่า 30 คน

Pattani Decoded : Deep Salt 2022 ชวนรู้จัก ‘เกลือหวาน’ ปัตตานี มรดกทางวัฒนธรรมนับร้อยปีที่ตีความใหม่โดยนักออกแบบกว่า 30 คน

เมื่อไม่นานมานี้ ชื่อของ มลายูลิฟวิ่ง (Malayu Living) กลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ใจกลางเมืองปัตตานี ซึ่งมี ราชิต ระเด่นอาหมัด เป็นประธานกลุ่มนั้นเริ่มเป็นที่รู้จักจากงาน Pattani Decoded หรือเทศกาล ถอดรหัสลับปัตตานี เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2019 ในปีนั้นมีกิจกรรมน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ เดิน ล่อง ส่อง ย่าน ที่ชูประวัติศาสตร์ของย่านเมืองเก่าปัตตานีบนถนนอาเนาะรู ถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนฤๅดี (อา-รมย์-ดี) ให้คนภายนอกรู้ได้ว่าปัตตานีหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มไปด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดีและหลากหลายซุกซ่อนอยู่

แท้จริงแล้ว งาน Pattani Decoded ที่จัดขึ้นครั้งแรก ราชิตได้ชวน หมู–นนทวัฒน์ เจริญราศรี ผู้ก่อตั้ง DUCKSTORE Design Agency มาร่วมออกแบบงาน แม้ในตอนแรกหมูมองภาพกว้างและเสนอว่าปัตตานีควรจัด Design Week เหมือนอย่างกรุงเทพฯ แต่ด้านราชิตกังวลว่าคนอาจจะเข้าไม่ถึง เขาจึงเลือกนำหลักเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 12 แขนงมาโปรยทาง เช่น งานฝีมือและหัตถกรรม ศิลปะการแสดง ดนตรี เป็นต้น ที่โดยส่วนมากเชิดชูบุคคลกลุ่มน้อยในสามจังหวัดอย่างนักออกแบบ ศิลปิน ช่างภาพ ซึ่งผลตอบรับออกมาอย่างที่ทราบกันดีว่าถึงขั้นเรียกร้องให้จัดงานขึ้นอีกครั้ง

แล้วเวลาก็ล่วงเลยมาถึงงาน Pattani Decoded 2022: Deep Salt หรือเทศกาลถอดรหัส (เกลือหวาน) ปัตตานี มลายูลิฟวิ่ง ในฐานะเจ้าภาพหลักอย่างราชิต ประธานฝ่ายออกแบบงาน และ ฮาดีย์ หะมิดง ประธานจัดงาน สองหัวเรือหลักเลือกจุดประเด็นด้วยการนำเสนอเกลือหวานปัตตานี หรือ Garam Manis ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นผลผลิตจากเกษตรกรชาวนาเกลือตั้งแต่รุ่นเก๋าที่ทำกันต่อเนื่องยาวนานนับร้อยปี

งานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้วยการเชิญนักออกแบบและนักสร้างสรรค์ทั้งในและนอกพื้นที่มาร่วมตีความเกลือหวานปัตตานีด้วยแนวคิดใหม่ เพราะเกลือหวานปัตตานีกำลังประสบปัญหาด้านราคาและได้รับความนิยมลดน้อยถอยลง ดังนั้น เป้าหมายของงานคือให้ผู้คนได้ตระหนักถึงสถานการณ์และร่วมกันหาทางออก เพื่อไม่ให้เกลือหวานซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานีสูญหายไปตามกาลเวลา

ทำไมถึงเป็น ‘เกลือหวาน’ ปัตตานี

“เอาตรงๆ นะ เกลือไม่พอต่อความต้องการแล้ว”

“ปีนี้ได้เกลือแค่ 10 กระสอบจากที่เคยได้ 500-600 กระสอบในระยะเวลาครึ่งปีเท่ากัน ลองคิดดู…”

–เสียงส่วนหนึ่งของเกษตรกรชาวนาเกลือที่ยึดถืออาชีพนี้มายาวนาน

ฮาดีย์เล่าว่า ด้วยความที่ตัวเขาเองเห็นนาเกลือปัตตานีมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเกลือที่มีเรื่องเล่าในตัวเอง เพราะนอกจากนาเกลือจังหวัดเพชรบุรีหรือสมุทรสาครแล้ว แหล่งผลิตเกลือตามแบบฉบับของจังหวัดปัตตานีเมืองเดียวในคาบสมุทรมลายูนั้นแทบหาไม่ได้เลย

เขาจึงเริ่มคุยกับทีมว่าจะเลือกหยิบประเด็นเรื่อง ‘เกลือหวาน’ ปัตตานี มาเป็นคอนเซปต์ของงานปีนี้ ซึ่งเมื่อลงมือทำจริงจังเขาพบว่ายังไม่รู้อะไรอีกหลายอย่างเกี่ยวกับเกลือ ทั้งที่เกลือปัตตานีเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ปัญหาแรกของการทำนาเกลือที่ฟังจากชาวบ้านคือฤดูกาลเปลี่ยน ความสามารถในการผลิตเกลือก็เปลี่ยนตาม เพราะการผลิตเกลือตามธรรมชาตินั้นจำเป็นต้องอาศัย ‘ดิน-น้ำ-แสงแดด’ เป็นตัวตั้งตัวตี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘แสงแดด’ เพื่อใช้ในการตกผลึกเป็นเม็ดเกลือ อีกทั้งชาวนาเกลือบอกว่าการทำอาชีพนาเกลือเป็นงานหนัก ต้องอดทนสู้แดดจึงอาจทำให้ ‘คนรุ่นใหม่’ ไม่สนใจจะสานต่อการทำนาเกลือต่อไป

สำหรับ ‘เกลือหวานปัตตานี’ เรียกเป็นภาษามลายูท้องถิ่นได้อีกว่า ‘ฆาแฆ ตานิง มานิฮฺ’ (คา-แร-ตา-นิง-มา-นิส) เป็นคำเปรียบเปรยยกย่องเกลือปัตตานีว่าเป็นเกลือที่ให้รสเค็มแตกต่างจากเกลือแหล่งอื่น มักนำไปหมักปลาทำน้ำบูดู ทำปลาแห้ง ดองผักผลไม้ หรือดองสะตอ ให้รสชาติกลมกล่อมและไม่ออกรสเค็มขม หรือกินไปได้ไม่นานความเค็มจะระเหิดไป นอกจากนี้ เกลือหวานปัตตานียังเป็น ‘สินค้าเศรษฐกิจ’ ที่กลุ่มชาวบ้านนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากรูปแบบ อย่างเช่น สบู่เกลือ เกลือบานาสปาขัดผิว เกลือขมิ้นบานา

นาเกลือปัตตานีในปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ริมทะเลเขตตำบลบานา ตันหยงลุโละ และบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี การทำนาเกลือปัตตานีจะเริ่มทำช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนจึงจะเก็บผลผลิตเกลือไปจำหน่ายได้ แต่ช่วงหลังผลผลิตเกลือวูบลงเพราะฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลต่อ ‘รายได้หลัก’ ของเกษตรกรหดหายไปด้วย

เพราะฉะนั้น โจทย์สำคัญของงาน Pattani Decoded 2022: Deep Salt คือการถอดรหัส ‘เกลือหวาน’ ปัตตานีออกมาเป็นงานศิลปะหรืองานออกแบบได้อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้คนรุ่นใหม่เล็งเห็นถึงความสำคัญโดยศิลปินนักออกแบบกว่า 30 คน และชวนมองถึงอนาคตของเกลือหวานไปพร้อมกัน

เกลือหวานที่ถูก ‘ตีความ’ โดยเหล่าศิลปินนักออกแบบ

ฮาดีย์อธิบายในงานแถลงข่าว Pattani Decoded 2022 ว่า การจัดงานจะอยู่ในพื้นที่หลักคือย่านเมืองเก่าปัตตานี บริเวณถนนอาเนาะรู ถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนฤาดี อีกส่วนคือบริเวณนาเกลือบานา (แหลมนก) และนาเกลือบ้านตันหยงลุโละ

ภายในงานประกอบไปด้วย 5 กิจกรรมหลัก อย่างแรกคือ ‘นิทรรศการและงานแสดง’ แถบย่านเมืองเก่าและนาเกลือบานา (แหลมนก) ‘การจัดเวิร์กช็อป’ โดยศิลปิน นักสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเวิร์กช็อปการย้อมผ้า การทำบล็อกไม้ ฯลฯ อย่างที่สองคือการจัด ‘วันเดย์ทริป’ ด้วยการเชิญชวนคนที่สนใจเข้าร่วมสัมผัสชุมชนที่ทำนาเกลือ ซึ่งไม่ได้มีแค่ ‘เกลือ’ อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ยังมีขนมพื้นถิ่นโบราณของชาวมุสลิมที่เต็มไปด้วยสตอรี่แฝงอยู่ด้วย

หรือสาม กิจกรรมชวนท้องร้องอย่าง ‘Chef’s Table’ ด้วยการนำเมนูพื้นถิ่นของปัตตานีมาดัดแปลงเป็นเมนูสุดพิเศษ ตามด้วยกิจกรรมที่สี่คือการจัดเวทีเสวนาอย่างการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์หรือบุคคลสำคัญของจังหวัดปัตตานีมาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำของเกลือ และสุดท้ายคือการจัด ‘Salt Market’ หรือ ‘ตลาดเกลือ’ ที่เชิญชวนให้ผู้คนนำสินค้ามาวางขาย โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นเพื่อดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้เรื่องเกลือหวานปัตตานีด้วย

ทางด้านราชิตอธิบายอย่างรวบรัดว่า สำหรับงานในครั้งต่อไปอาจจัดขึ้นอีกในปี 2024 หรือเป็นการจัดปีเว้นปี ติดตามความเคลื่อนไหวของงาน Pattani Decoded ได้ทางเฟซบุ๊กเพจเช่นเคย

และแน่นอนว่า การเล่าเรื่อง ‘เกลือหวาน’ ก็ต้องเล่าผ่านการตีความไปกับ Exhibition และ Showcase ซึ่งฮาดีย์ลิสต์ชื่องานที่ไม่ควรพลาดมาให้เรียบร้อยแล้ว

Field Work” Land Art Installation โดย ปัว–ศาวินี บูรณศิลปิน / Thingsmatter
จัดแสดงที่ นาเกลือแหลมนก วันที่ 2-4 กันยายน เวลา 09.00-21.00 .

‘ปัว–ศาวินี บูรณศิลปิน’ คือศิลปินจาก Thingsmatter ที่ทำงานเกี่ยวกับ Land Art หรือ Lant เป็นกระแสเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม ที่ศิลปินสร้างผลงานบนพื้นที่หรือภูมิทัศน์ธรรมชาติ ผลงาน ‘Field Work’ ปัวได้แรงบันดาลใจมาจากในอดีตที่พ่อค้าแม่ขายเดินเรือเข้ามาค้าขายในจังหวัดปัตตานี จนเมื่อเรือเทียบเข้าฝั่งก็จะมองเห็นแสงระยิบระยับ เธอจึงสร้างงานศิลปะเพื่อสะท้อนอดีตเหล่านั้นด้วยการนำเสาที่มีกระจกเงาบานกลมเล็กจำนวน 600 ต้นปักลงบนนาเกลือของตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี ขณะผู้ชมเดินชมชิ้นงานจะสัมผัสถึงความระยิบระยับสวยงามของแสงอาทิตย์ที่ทำมุมสะท้อนเข้ากับกระจกเงาในองศาต่างๆ

Le Sel de La Vie เกลือแห่งชีวิต โดย เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา
จัดแสดงที่ มอ.ปัตตานีภิรมย์ วันที่ 2-4 กันยายน เวลา 09.00-21.00 น.

‘เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา’ คือเจ้าของโรงงานเบญจเมธาเซรามิก จังหวัดปัตตานี ที่ทำงานคราฟต์ ปั้นถ้วยชามเซรามิก งานปีนี้ร่วมมือกับเพื่อนต่างพื้นที่ในนาม ‘เกลอเกลือ’ อย่าง กรกต อารมย์ดี, ศุภชัย แกล้วทนงค์ และ วลงค์กร เทียนเพิ่มพูล ซึ่งงาน Le Sel de La Vie หรือเกลือแห่งชีวิตนั้นเอ็มโซเฟียนได้ไปสืบเสาะเรื่องราวของ ‘เกลือ’ แล้วนำเกลือเหล่านั้นเป็นแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์โดยใช้เกลือแปรรูปเป็นสินค้าแขนงต่างๆ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่นวัตกรรมของจังหวัดปัตตานี

Salted Space โดย อ.อนุสรณ์ ติปยานนท์ และ อ.นราวดี โลหะจินดา
จัดแสดงที่ Melayu Living วันที่ 2-4 กันยายน เวลา 09.00-21.00 น.

ทราบกันดีว่า ‘อ.อนุสรณ์ ติปยานนท์’ คือนักเขียน นักแปล อาจารย์ เจ้าของผลงานหนังสือหลายเล่ม บางคราวรับบทเป็นเชฟ เป็นบุคคลที่สนใจเรื่องราวอาหารพื้นถิ่น เรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างข้าวหรือเกลือ เราในฐานะคนที่ติดตามเรื่องราวของอาจารย์อนุสรณ์หรืออาจารย์ต้นอย่างสม่ำเสมอก็มักจะเห็นอาจารย์ต้นแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับเกลืออยู่มากครั้ง

Salted Space หรือพื้นที่แห่งเกลือ จะพาทุกคนไปสัมผัสกับประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเกลือว่ามีที่ไหนบ้าง ใครที่สนใจเรื่องเกลืออยู่แล้วเป็นทุนเดิม มาร่วมตีความหรือแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเกลือผ่านนิทรรศการนี้กันได้

Canal Strollin ร่วมกับ Trash Hero Pattani
จัดแสดงที่ หอประวัติชูเกียรติฯ วันที่ 2-4 กันยายน เวลา 09.00-21.00 น.

กลุ่ม ‘Trash Hero Pattani’ คือกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัตตานี ก่อนหน้านี้พวกเขาจัดกิจกรรมโดยการชวนเด็กๆ เดินเส้นคลอง ส่องแม่น้ำ สำรวจระบบนิเวศให้เห็นจุดเชื่อมต่อของคลองน้ำใสและแม่น้ำปัตตานี ซึ่งตั้งต้นจากคลองลงสู่แม่น้ำ จากแม่น้ำลงสู่ทะเล และจากน้ำทะเลลงสู่นาเกลือ สุดท้ายกลายเป็นผลึกเกลือ จากนั้นกลุ่ม Trash Hero Pattani ก็พาเด็กๆ ไปวาดรูปที่ TK Park Pattani กับหัวข้อ ‘อนาคต เส้นคลอง แม่น้ำ ปัตตานี’ และนำภาพวาดทั้งหมดไปจัดนิทรรศการที่มีชื่อว่า ‘Canal Strollin’ ที่หอประวัติชูเกียรติฯ

อย่างไรก็ตาม ยังมีทริปที่อยากไปลัดเลาะผจญภัยด้วยเลยอย่างSpecial Trip เกลือหวานวันวาน’ โดยจะเริ่มต้นเดินทางที่ ‘บ้านหะยีสุหลง’ หนึ่งในผู้ทำธุรกิจค้าขายเกลือจนเป็นสินค้าที่ถูกส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ต่อด้วย ‘ชุมชนตันหยงลุโละ’ นำเที่ยวโดยเยาวชนตันหยงลุโละด้วยรถโชเล่หรือมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างเดินทางเข้าไปยังชุมชน ลัดเลาะตามตรอกซอกซอย สัมผัสวิถีชุมชนและลิ้มลองขนมโบราณที่ใช้เกลือหวานเป็นส่วนประกอบ แล้วพาล่องเรือสัมผัสเส้นทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศอ่าวปัตตานี พาไปชมผลงาน ‘Field Work’ โดย คุณปัว–ศาวินี บูรณศิลปิน แห่ง Thingsmatter ร่วมกับทีม Subper

‘Special Trip เกลือหวาน…วันวาน’ เปิดจองทริปพร้อมลุยไปด้วยกันในวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน ทางเฟซบุ๊กเพจ Pattani Decoded

หมายเหตุ : หลังจากงาน Pattani Decoded : Deep Salt 2022 จบลงในวันที่ 4 กันยายนนี้ ยังมีนิทรรศการและงานแสดงบางส่วนที่ขยายเวลาจัดแสดง นั่นคือ ‘Le Sel de La Vie เกลือแห่งชีวิต’ จะขยายเวลาจัดแสดงอีกประมาณสองอาทิตย์ และ ‘Field Work’, ‘Salted Space’, ‘Flower of Salt Pavilion’ และ ‘The Old Man and the Sea’ จะขยายเวลาจัดแสดงอีกประมาณหนึ่งเดือน

หรือติดตามรายละเอียดและการสมัครเข้าร่วมเวิร์กช็อปทั้งหมดภายในงานได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ : Pattani Decoded

ภาพ > Pattani Decoded 2022

ขอขอบคุณข้อมูล : คุณก้อย–สมอุษา บัวพันธ์ ทีมประสานงาน Pattani Decoded 2022, คุณราชิต ระเด่นอาหมัด จาก Melayu Living

อ้างอิง : facebook.com/pattanidecoded, https://www.pattanicity.go.th/otop/detail/4/data.html, https://bit.ly/3earKSu, https://www.baanlaesuan.com/165818/arts/pattani-decoded, https://bit.ly/3CLlCu8, https://themomentum.co/land-art, www.facebook.com/trashheropattani

AUTHOR