รวิ อิทธิระวิวงศ์ ซีอีโอผู้หลงรักงานออกแบบและสื่อสารผ่านแบรนด์สินค้าชิ้นเล็กที่สำคัญอย่าง Pastel Creative

คนทำงานสร้างสรรค์มีอยู่ทั่วโลก

สิ่งที่จะทำให้งานของคนคนหนึ่งแตกต่างและโดดเด่นนั้นมีหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ การให้ความสำคัญกับ Design Thinking หรือการออกแบบ

การออกแบบแทรกซึมอยู่ในทุกองค์ประกอบของวิถีชีวิต หลายคนอาจจะมองว่า Design เป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับเขา ถ้าพูดถึง Design ไม่ว่าเรื่องไหนๆ ก็ไม่เล็กเกินไป

หนาม-รวิ อิทธิระวิวงศ์ กับผลงานล่าสุดของเขา สิ่งที่คนมองว่าเป็นของชิ้นเล็กๆ อย่าง ยาดม

สร้างคุณค่าในสิ่งเล็กๆ ด้วยการออกแบบ

ในช่วงโควิดเราได้เห็นแบรนด์ในหลายอุตสาหกรรมปรับตัว ออกสินค้าใหม่ๆ ตอบโจทย์ผู้ใช้ในยุคที่วิถีชีวิตไม่เหมือนเดิม

Pastel Creative เป็นชื่อแบรนด์สินค้าที่สร้างขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน แต่กลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง เป็นสินค้าที่ออกแบบโดยบริษัท Multiply by 8

สินค้าของพาสเทลฯ พูดถึงเรื่องกลิ่นและการใช้งานที่ดี ทีมเชื่อว่ากลิ่นสามารถทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ความท้าทายคือ การแก้ไขปัญหาของคนที่ต้องใส่หน้ากากและใช้ชีวิตข้างนอกตลอดทั้งวัน ทำให้เราได้รับกลิ่นไม่พึงประสงค์เต็มไปหมด จะทำอย่างไรให้ทุกคนได้รับกลิ่นดีๆ ที่ช่วยผ่อนคลายกายและใจ ในวิธีที่เข้ากับวิถีชีวิตอย่างแนบเนียนไม่ต้องพยายามมาก

พาสเทลฯ ตีโจทย์นี้ด้วยการทำสินค้าชื่อว่า Pastel Clever Mask Clip คลิปหอมติดแมสก์ที่จะช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์เวลาใส่หน้ากากทั้งวัน สามารถใช้กับหน้ากากได้ทุกรูปแบบ และสินค้าใหม่ล่าสุดอย่าง Pastel Pocket Inhaler ยาดมดีไซน์ใหม่ ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาฝาหาย เป็นยาดมที่หยิบใช้เท่ๆ ได้ด้วยมือเดียว

การออกแบบยาดมอาจฟังดูเล็กน้อย แต่สำหรับคนรักงานออกแบบ รวิบอกว่านี่คือโจทย์ที่เพอร์เฟกต์ที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

“ผมเคยไปงานแต่งงาน แล้วหยิบยาดมขึ้นมา พ่อของเจ้าบ่าวเห็นก็บอกว่า ยูเป็นคนรุ่นใหม่แต่ทำไมดู old school มันอยู่ในใจผมตลอดว่าจริงเหรอ” เขาเล่าเหตุการณ์เล็กๆ ที่จำถึงวันนี้

“ยาดมสำหรับผมไม่ได้เป็นสิ่งที่ดูแย่ เพียงแต่เราใช้มันโดยที่คนดูแล้วรู้สึกว่ามันเท่ไม่ได้ ท่าทางการใช้มันเยอะไป (ทำท่าหยิบยาดมสองมือ) effort เยอะเกินไปในการต้องการกลิ่นกลิ่นหนึ่งในช่วงวินาทีนั้น เราแค่ต้องการดมอะไรสักอย่างแค่สองวินาที แล้วอยากให้สิ่งนั้นหายไปเลย”

กว่าจะได้ยาดมหน้าตาแบบนี้ ทีมนักออกแบบร่างสเก็ตช์ถึง 300 แบบ คิดทุกกระบวนท่าในการแก้ปัญหา มีการศึกษา customer insight อย่างละเอียดยิบ

“จริงๆ เราไม่ได้พิเศษกว่าคนอื่น แต่เราใช้เวลาแก้โจทย์จากปัญหาของผู้ใช้งานจริงๆ ก่อนออกสินค้านานมาก เราต้องการสื่อสารเรื่อง value ให้กับลูกค้าจริงๆ ผ่านการออกแบบที่ตอบโจทย์ ไม่อย่างนั้นเราจะหลงทางและใช้เงินกับการตลาดเยอะเกินไป” หัวหน้าทีมนักออกแบบเล่า

ความจริงแล้วด้วยโจทย์นี้สามารถออกแบบได้หลายทาง ทำเป็นสินค้าอื่นที่ไม่ใช่ยาดมก็ได้ แต่รวิและทีม Multiply by 8 คิดว่าเราต้องคิดถึงความคุ้นเคยของผู้ใช้ด้วย ผลลัพธ์สุดท้ายจึงยังเป็นยาดม แต่ปรับวิธีการเปิดฝาเพื่อแก้ปัญหาทั้งหมด

“สิ่งแรกที่เราคิดถึงคือ การปรับแต่งหรือการทำงานกับประสบการณ์ อะไรก็แล้วแต่ที่คนชินกันมาเป็นเวลานานแสนนาน เราไม่ต้องการเปลี่ยนตรงนั้น แต่จะมาดูว่าเราสามารถปรับปรุงประสบการณ์การใช้สิ่งที่เขาคุ้นชินได้อย่างไรบ้าง โดยที่ยังเชื่อมโยงกับตัวเขา ทำให้ได้สักจุดจุดนึงก็ยังดี”

ถ้าจับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ไฟแรงมาทำงานนี้ เราอาจจะได้ยาดมหน้าตาล้ำๆ แต่ไม่คุ้นเคยเท่าไหร่ รวิมองว่านักออกแบบรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความคุ้นชิน ความจริงสิ่งนี้ช่วยได้เยอะมากในการแยกแยะว่างานไหนที่จะได้ใจผู้ใช้จริงๆ

“ผมคิดว่าในฐานะดีไซเนอร์ บางทีเราข้ามเรื่องนี้มากไปนิดนึง จริงๆ เราไม่ต้องออกแบบเป็นยาดมก็ได้ แต่ถ้าเขาไม่คุ้นชินก็อาจจะไม่ซื้อก็ได้ หรืออาจจะไม่เข้าใจเพราะซับซ้อนเกินไป ผมว่าการออกแบบสินค้าต้องเป็นพัฒนาการที่เราต้องผ่านมันไป ผมยังคำนึงว่าเราต้องคอนเนกต์กับลูกค้า สำหรับยาดมก็มีลูกค้าที่หลากหลายกลุ่มด้วย”

แววตาของเขาเวลาเล่าเรื่องงานออกแบบ เหมือนเด็กที่กำลังเล่าเรื่องของเล่นโปรด แม้สิ่งนั้นจะเป็นการออกแบบยาดม

แต่สำหรับนักออกแบบ ไม่เคยมีเรื่องไหนเล็กเกินไป

จุดเริ่มต้น

ถ้าเราเอาชื่อของเขาไปค้นหา เราอาจได้เห็นข่าวงานสังคมของเขามากกว่าตัวงานในฐานะ CEO ของบริษัท Multiply by 8 แต่ถ้าคุยกับเขาตัวต่อตัว จะรู้ว่ารวิหลงรักงานออกแบบขนาดไหน

รวิหลงใหลงานออกแบบตั้งแต่เด็ก เขาชอบวาดรูป วันหนึ่งระหว่างกรอกใบสมัครเพื่อลงแข่งขันงานออกแบบระดับมัธยม มีอาจารย์ท่านหนึ่งเดินมาบอกเขาว่า สิ่งที่เขาชอบมันเรียกว่า Product Design

เมื่อรู้เป้าหมาย รวิก็เริ่มเดินทางร่ำเรียนอย่างไม่ลังเล เขาเข้าเรียนด้าน Industrial Design ที่ California State University Long Beach และ ArtCenter College of Design จากนั้นก็เริ่มทำงานในบริษัทระดับโลกอย่าง Belkin, Wilson และ Nike

ตอนอยู่ต่างประเทศ รวิตั้งใจเปลี่ยนงานทุก 2 ปี เพราะเขาเชื่อว่า Product Design ต้องทำงานกับวัสดุที่หลากหลาย ถ้าเราทำงานกับบริษัทหลากหลายอุตสาหกรรม ก็จะได้ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ที่หลากหลายตามมาด้วย

รวิไม่เคยฝันถึงการเป็น CEO แต่วันหนึ่งโชคชะตาก็ทำให้เขามีโอกาสได้เป็น CEO ของบริษัท หัวหน้าทีม Multiply by 8 ภายในเครือ King Power โจทย์นี้ทั้งท้าทายและน่าสนุกสำหรับเขา

“Multiply by 8 เริ่มประมาณกลางปี 2018 โดยคนที่ให้โอกาสนี้กับผมคือคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา และครอบครัว เดิมที X8 เป็นคนดูแลสินค้า house brand ของคิง พาวเวอร์ ขายสินค้าแต่ในคิง พาวเวอร์เท่านั้น แต่ vision แรกที่ผมได้รับจากคุณวิชัยคือ
‘ทำให้ house brand ของเราไปเติบโตข้างนอกให้ได้ ทำให้คนต่างชาติรู้ว่าเมืองไทยมีสินค้าที่ดี มีคุณภาพอยู่’ ผมเองก็เลยมานั่งคิด ว่าบริษัทที่เราต้องการสร้างมันจะเป็นแบบไหน และผมก็คิดถึงอย่างหนึ่งคือเราเชื่อเรื่องการออกแบบ มันเป็นแก่นของบริษัท ถ้าเราใช้ดีไซน์เป็นแกนนำในการทำแบรนด์สินค้าใหม่ มันจะเป็นไปได้มั้ยที่เราจะสร้างแบรนด์หรือสินค้าแล้วเอาออกไปขายข้างนอกคิง พาวเวอร์ได้ด้วย

“เราเชื่อว่าดีไซน์มีพลังบางอย่างที่จะไปสร้างสินค้าใหม่ๆ หมวดหมู่ใหม่ๆ ดีไซน์จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนในบริษัทเชื่อ ทางคิง พาวเวอร์ก็เชื่อแบบนั้น” ซีอีโอนักออกแบบเล่า

ความจริงพาสเทลฯ ไม่ใช่แบรนด์ใหม่ ประมาณปี 2012 พาสเทลฯ เกิดขึ้นครั้งแรกโดยเป็นสินค้าเคสโทรศัพท์มือถือ

เช่นเคย แม้จะเป็นแค่เคส แต่รวิก็ใส่เต็ม พาสเทลฯ เป็นแบรนด์แรกที่ริเริ่มนำศิลปินไทยมาวาดลายบนเคส ทำให้เกิดการคอลแลปรูปแบบใหม่ นำงานของนักวาดภาพประกอบไปสู่ผู้ใช้วงกว้างมากยิ่งขึ้น

เท่านั้นยังไม่พอ เขายังสร้างเรื่องราวหรือ story ลงไปในลวดลาย คิดละเอียดยิบ น่าเสียดายที่ถึงจุดหนึ่งคุณค่าที่เขาและทีมใส่เข้าไปเป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยสังเกต เขาจึงหยุดการผลิตเคสในช่วงปี 2017-2018 และเปลี่ยนทิศทางมาสู่สินค้าแนว Personal Care มากยิ่งขึ้น

ก่อนจะออกแบบอะไร นักออกแบบจะมีแก่นคิดเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเสมอ สำหรับพาสเทลฯ คอนเซปต์หลักที่ใช้คือ body แทนค่าถึงประสบการณ์ของผู้ใช้ mind คือการพัฒนากลิ่นเพื่อให้ใจผ่อนคลาย และ soul คือคอนเทนต์ต่างๆ ที่แบรนด์สื่อสารในโซเชียลมีเดีย การทำพาสเทลฯ จะยึดหลักอยู่ที่สามคำนี้ ทีมจะคิดว่าเราทำอะไรเพื่อลูกค้าได้บ้าง จะต่อยอดไปให้ไกลที่สุดได้อย่างไร

สาเหตุที่พาสเทลฯ หันมาทำสินค้าเกี่ยวกับกลิ่นช่วงโควิด เพราะทีมเห็นปัญหาที่น่าจะเอาแบรนด์เข้าไปจับ พบแล้วว่าสามารถมอบคุณค่าบางอย่างให้กับลูกค้าได้

“เราอยากทำงานกับปัญหาที่เห็นชัดเจน มันเป็นทางของผมและบริษัท เราต้องการสร้างแบรนด์ไปในทิศทางนี้ เพียงแต่ว่าในช่วงนี้ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่ ยังตามหลังต่างประเทศอยู่เยอะ เช่น การแก้ปัญหาด้วย Industrial Design, User Experience และ Design Thinking ผมไม่คิดว่ามันใหม่สำหรับเมืองไทย แต่มันดันถูกพูดกันเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เราต้องทำอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพูดอีก ผมพยายามให้ทีมของเราชินกับเรื่องนี้โดยที่ไม่ต้องไปไฮไลต์อะไรมันมาก เราไปไฮไลต์เรื่องอื่นดีกว่า เช่น เราคอนเนกต์กับลูกค้าได้กี่เลเวลนะภายใต้คอนเซปต์ body mind และ soul”

แบรนด์ไทยที่มีคุณค่าเป็นมาตรฐานโลก

จากสายตานักออกแบบที่เป็นผู้บริหารด้วย เขามองว่าการสร้างแบรนด์ยุคนี้ควรนำงบการตลาดกระจายออกมาพัฒนาส่วนอื่นบ้าง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับบริการของแบรนด์ และการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น สื่อสารกับลูกค้าได้ราบรื่นที่สุด

ในอนาคตรวิอยากทำพาสเทลฯ ให้เป็นแบรนด์ที่เด่นเรื่องการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสินค้าแนว Personal Care และต้องมีความคุ้มค่า ราคาจับต้องได้

สินค้าเด่นดีไซน์ไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป กลับกันเขาคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำราคาให้เข้าถึงได้ เพื่อให้เรื่องดีไซน์อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนทุกระดับง่ายขึ้น

“เราเขียนไว้ในเว็บไซต์และสัญญากับลูกค้าไว้เลยว่าเราจะเน้นเรื่องความยั่งยืนหรือ sustainable มากขึ้น ในอนาคตก็ต้องมีเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ ผมว่าคุณค่าแบบนี้มันสามารถคอนเนกต์ได้กับคนทั่วโลก ผมอยากให้พาสเทลฯ เป็นแบรนด์สัญชาติไทยที่มีคุณค่าต่างๆ เป็นมาตรฐานโลก”

AUTHOR