#365ohmanawat โปรเจกต์ถ่ายภาพอาหารที่ไม่ต้องน่ากินก็ได้เป็นเวลา 1 ปีโดย อนวัช เพชรอุดมสินสุข

พอร์ตโฟลิโอของ อนวัช เพชรอุดมสินสุข

จบการศึกษาจาก สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ชื่อผลงาน #365ohmanawat 

เราอาจจะเคยได้ยินว่าการเริ่มทำอะไรติดต่อกัน 21 วัน สิ่งนั้นจะกลายเป็นนิสัย

แล้วถ้าทำครบ 365 วัน ตัวเราจะกลายเป็นอย่างไร

โอม-อนวัช เพชรอุดมสินสุข คือช่างภาพอาหารฟรีแลนซ์ จากอดีตนักศึกษาสถาปัตย์ ที่เลือกเส้นทางอาชีพช่างถ่ายภาพภายหลังที่เรียนจบ เนื่องจากรู้ว่าตัวเองชอบการจัดวางสิ่งของและแสงไฟมากกว่าการจัดวางแปลนอาคาร และการเป็นช่างภาพอาหารก็ทำให้เขาได้ท้าทายตัวเองมากขึ้นในทุกๆ วัน

หลายคนคงเคยเห็นฝีมือการถ่ายภาพของโอมที่เคยเป็นไวรัล ในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา ด้วยการเล่าปัญหาเมืองเช่น  ฝาท่อไม่เรียบ ทางเท้าขรุขระ สายไฟฟ้ายุ่งเหยิง หรือจักรยานยนต์ที่วิ่งบนทางเท้า โดยทุกภาพจะมีอาหารเข้ามาเล่าเรื่องในมุมมองที่ไม่ปกติด้วยเสมอ ผ่านอัลบั้มภาพ ‘BKK StreetxFood’ บนเฟซบุ๊กที่ถูกแชร์กว่า 10,000 ครั้ง และถูกกดไลก์มากกว่า 7,000 ไลก์ โดยโปรเจกต์นี้เกิดขึ้นระหว่างการทำชาเลนจ์ถ่ายภาพติดต่อกัน 1 ปีที่เขากำลังทำอยู่นั่นเอง

ภาพถ่ายจากโปรเจกต์ BKK StreetxFood
ภาพถ่ายจากโปรเจกต์ BKK StreetxFood

 #365ohmanawat คือโปรเจกต์ถ่ายภาพวันละ 1 ภาพ เป็นเวลา 365 วัน เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าครั้งหนึ่งเขาสามารถทำสิ่งหนึ่งให้สำเร็จได้โดยไม่ล้มเลิกไปเสียก่อน ระหว่างทางโปรเจกต์นี้ทิ้งอะไรไว้ให้เขามากมาย ทั้งการเป็นที่รู้จักในฐานะช่างภาพอาหารเซอร์เรียล (surrealism) หรือการถ่ายอาหารแนวเหนือจริงที่เสียดสีสังคม การได้ทดลองถ่ายภาพแบบที่เขาต้องการโดยไม่มีบรีฟ รวมถึงการค้นหาที่ทางของเขาในการเป็นช่างภาพในประเทศไทย

เรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม 2021 

วันที่ลั่นชัตเตอร์ของโปรเจกต์นี้ครั้งแรก

DAY 1: ท้าทายตัวเองด้วยการถ่ายภาพทุกวัน

“เรารู้สึกว่าเราไม่เคยทำอะไรสำเร็จเลย ตั้งแต่เกิดมา” คือความรู้สึกของโอมช่วงเริ่มต้นของโปรเจกต์ #365ohmanawat ที่เกิดขึ้นช่วงโควิด-19 ทำให้เขาไร้งานและเงิน เขาจึงตัดสินใจลุกขึ้นมาชาเลนจ์ตัวเองด้วยการถ่ายภาพในโปรเจกต์ส่วนตัวโดยที่ไม่มีบรีฟจากลูกค้า ไม่มีคอนเซปต์ และไม่มีข้อกำหนดทางเทคนิคใดๆ ความท้าทายง่ายๆ ไม่ซับซ้อน คือการถ่ายทุกวันแบบไม่ซ้ำกัน โดยมีแรงบันดาลใจจาก ‘จงหลิน (Zhong Lin)’ ช่างภาพแฟชั่นชาวจีน-มาเลเซียที่มีชื่อเสียงในการถ่ายภาพให้กับนิตยสารระดับโลก

“โปรเจกต์ 365 มันเกิดจากว่าเรารู้สึกว่าเราไม่เคยทำอะไรสำเร็จด้วยความพยายามเลย ตั้งแต่เกิดมาเลยนะ เรารู้สึกว่าอยากลองทำอะไรสักอย่างที่ต่อเนื่อง แล้วก็เราไปเห็นชาเลนจ์ของนักวาด วาด 30 วัน ก็เลยรู้สึกว่าอยากลองทำตามดูบ้าง แต่เราวาดรูปไม่ค่อยเก่งอยู่แล้ว เราถ่ายรูปดีกว่า 

“ช่วงนั้นก็ไปเห็นงานช่างภาพคนนึงพอดี เขาชื่อจงหลิน ถ่ายรูป 365 วันเหมือนกัน เขาถ่ายรูปสวยมากๆ มันเป็นอีกแรงบันดาลใจนึงว่าถึงเขาจะระดับโลกงานเยอะจนไม่มีเวลา แต่เขาก็ทำได้นะ เราก็ทำระดับของเราบ้างดีกว่า ก็เลยอยากลองดู ตอนที่ลงรูปแรก ผมไม่บอกใครเลยว่าผมจะทำ 365 วัน เพราะไม่มั่นใจจริงว่าจะทำครบจริงหรือเปล่า ก็เลยลองทำไปเรื่อยๆ ดู” โอมเล่าในวันที่การถ่ายภาพเดินทางมาถึงวันที่เหลืออีกเพียงประมาณ 20 วันจะจบโปรเจกต์

ภาพถ่ายวันที่ 1 จาก #365ohmanawat

ความยากของชาเลนจ์นี้โอมบอกว่าคือการต้องผลิตไอเดียออกมา เพื่อถ่ายภาพอย่างต่อเนื่องในทุกๆ วัน ขณะเดียวกันการถ่ายภาพให้ออกสมบูรณ์ด้วยตัวคนเดียวยังไม่ใช่เรื่องง่าย

“ตอนแรกก็คิดว่ามันน่าจะยากมาก มันยากหลายแบบ มันทั้งแบบเราต้องมานั่งคิดว่าจะถ่ายอะไรดี อาจจะต้องคิดเตรียมการมาก่อนก็ได้ แต่อย่างน้อยเราจะต้องมีวันละไอเดีย ซึ่งมันจะมีบางรูปที่แบบดูออกอะว่าวันนี้มึงคิดไม่ออก ความยากที่ 2 คือความต่อเนื่อง ว่าง่ายๆ คือห้ามหยุด ช่วงแรกก็ทำได้แหละ แต่ก็หลังๆ มันเริ่มมีงานเยอะขึ้น มันเหนื่อยมากกับการต้องกลับบ้านมาแล้วถ่ายอะไรอีก 

มันก็จะมีคนถามว่ายังงี้ไปเที่ยวต่างจังหวัดทำยังไง ผมก็จะถ่ายสต็อกไว้เลย คือบางคนก็บอกว่าขี้โกงนี่หว่า แต่ผมมองว่ามันก็มีความยากอีกแบบ กลายเป็นว่า 1 วัน ผมต้องถ่าย 4 รูป แล้วประเด็นคือเราทำคนเดียว ไอ้โปรดักชั่นประมาณนี้ ถ้าให้ออกมาดีจริงๆ ต้องมีผู้ช่วยช่างภาพ สไตลิสต์ ผู้ช่วยสไตลิสต์ ครีเอทีฟ เต็มไปหมด แต่เราเป็น one man show มันยากมาก” โอมเล่า

ภาพถ่ายวันที่ 285 จาก #365ohmanawat
ภาพถ่ายวันที่ 230 จาก #365ohmanawat

DAY 2: โปรเจกต์ที่ถ่ายเล่นๆ อย่างจริงจัง

โอมบอกว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่อยากทำโปรเจกต์ #365ohmanawat ขึ้นมา คือการเก็บผลงานสำหรับตัวเอง และได้ลองทำสิ่งที่อยู่ในหัวตัวเองมาตลอด นั่นคือการท้าทายความปกติในการถ่ายภาพเชิงโฆษณา ภาพถ่ายของเขาแต่ละภาพจึงเต็มไปด้วยความแปลก จนถึงขั้นเสียดสีให้พอแสบๆ คันๆ

คอนเซปต์ของภาพถ่ายชุดนี้คือไม่มีคอนเซปต์ โอมบอกกับเราว่าด้วยข้อจำกัดการถ่าย #365ohmanawat คือการถ่ายทุกวัน จึงบังคับให้นำสิ่งของรอบตัวมาดัดแปลงให้ได้มากที่สุด และสามารถเล่าเรื่องราวได้ทุกวันจนถึงวันที่ 365

“เรื่องที่อยากสื่อสารคือแล้วแต่วันเลย ถ้าจะเอาชัดหน่อยคือการเมือง บางวันก็พูดถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา จะเห็นว่าสภาพแวดล้อมที่ผมอยู่มันบ้านมาก ข้างล่างก็เป็นร้านขายของชำ ผมชอบไปหยิบของจากร้านขายของชำนี่แหละ หรือของที่ใช้ในชีวิตประจำวันเอามาถ่ายบ้าง มันจะไม่ได้หนีจากความเป็นผมเท่าไหร่ ซึ่งคือความกวนตีน ลองเอาอันนู้นอันนี้มาถ่ายดูมั้ยอะไรแบบนี้”

ภาพถ่ายวันที่ 93 จาก #365ohmanawat
ภาพถ่ายวันที่ 241 จาก #365ohmanawat

ขณะเดียวกัน แม้จะเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวที่ต้องถ่ายให้ได้ทุกวัน แต่ทุกภาพของเขาก็ทำอย่างตั้งใจ เพื่อเก็บเป็นผลงานและทำให้คนรู้จักตัวตนของเขามากขึ้น

 “มีรุ่นพี่ที่เขาแนะนำมาว่าถ้าคุณคิดว่าคุณทำได้มากกว่าที่ลูกค้าจ้างคุณอยู่ คุณก็ต้องทำผลงานนั้นให้ลูกค้าเห็นก่อน แต่ถ้าไม่มีผลงานนั้นลูกค้าจะไม่จ้างคุณหรอก เพราะเขาจะไปรู้ได้ไงว่าคุณทำได้ ถูกไหม ถ้าภาษาในวงการช่างภาพคือ test shoot คือคุณอยาก test อะไร คุณก็ถ่ายออกไปเลย แล้วมันก็เป็นพอร์ตฟอลิโอให้ลูกค้าเห็นว่าทำได้

ผมพยายาม push ตัวเอง เพราะไม่อย่างนั้นผมเอาอะไรมาถ่ายโง่ๆ ก็ได้แล้วเหรอ ไม่ ผมรู้สึกว่าอย่างน้อยที่ตรงนี้มันสามารถสร้างผลงานได้ เราต้องทำออกมาให้อย่างน้อยต้องโชว์ชาวบ้านได้ เพราะมันคือชาเลนจ์นึง โปรเจกต์นี้ทำให้ผมได้ฝึกหลายอย่าง อย่างแรกเลย ผมได้ฝึกจัดไฟ ที่ผมไม่เคยจัดมาก่อน หรือเราไม่เคยถ่ายงานเครื่องสำอางมาก่อน ผมก็ลองดูบ้าง มันก็จะมีอะไรที่ไม่เคยถ่ายก็มาลอง แล้วก็พยายามทำให้มันดีที่สุด หรืออย่างน้อย push limited ของเราให้ได้อีกนิดนึงก็คือโอเคแล้วในแต่ละวัน” โอมอธิบาย

ภาพถ่ายวันที่ 264 จาก #365ohmanawat

ขั้นตอนการทำงานของโอมเริ่มต้นตั้งแต่การคิดว่าวันนี้จะถ่ายอะไร ในวันที่คิดออกเขาจะวางแผนหาอุปกรณ์ที่ต้องนำมาถ่าย ซึ่งมักเป็นสิ่งของที่หาได้ในระแวกบ้าน หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ ก่อนนำมาประกอบร่าง จัดไฟ ถ่ายรูป และรีทัช ภายในห้องสี่เหลี่ยม ที่ถูกแบ่งออกเป็นสตูดิโอถ่ายภาพและห้องนอนในพื้นที่เดียวกัน 

ส่วนวันที่คิดไม่ออก เขาเลือกเข้าไปหาสิ่งที่น่าสนใจใน pinterest เช่นเทคนิคที่ไม่เคยใช้ แล้วนำมาดัดแปลงให้เข้ากับสิ่งของที่มีอยู่ หากทำทุกอย่างแล้วไอเดียยังไม่โผล่เข้ามาในหัว ทางเลือกสุดท้ายคือการถ่ายตามแบบที่มีมาก่อน

“365 ไม่ใช่อะไรที่ออริจินอลขนาดนั้น มันเป็นแค่เหมือนเราพยายามทำอะไรสักอย่าง เราไม่ได้ต้องการความอลังการเหมือนคุณจงหลิน เราทำได้ระดับหนึ่ง แต่เราก็ต้องพยายามให้มันไปได้มากกว่านี้” โอมยอมรับ

ภาพถ่ายวันที่ 49 จาก #365ohmanawat
ภาพถ่ายวันที่ 31 จาก #365ohmanawat

DAY 289: cursed images and surrealism food

“ตอนแรกผมไม่รู้จักคำว่าเซอร์เรียลเลยด้วยซ้ำ” โอมบอก

แม้หลายคนจะนิยามภาพถ่ายของเขาว่าเป็นภาพเซอร์เรียล (surrealism) หรือภาพถ่ายเหนือจริง ที่หยิบเอาของที่ไม่เกี่ยวข้องกันบังเอิญมาอยู่ในภาพเดียวกันจนเกิดเป็นความหมายใหม่ แต่ภาพถ่ายของโอมกลับมีจุดเริ่มต้นที่เรียบง่ายกว่านั้นคือความชอบเทคนิคการถ่ายแบบไร้เงาบนพื้น คล้ายลอยอยู่บนอากาศ บวกกับการหยิบจับสิ่งของรอบๆ ตัวที่ไม่เข้ากันมาเป็นวัตถุหลักในการเล่าเรื่อง จึงทำให้ภาพเกิดความหมายใหม่ที่แปลกและแตกต่างจากโลกความจริงไปพอสมควร

“โปรเจกต์ 365 มันมีความเป็นตัวผมอยู่มาก ผมชอบรูป cursed image มันเป็นมีมรูปแบบนึง ที่มันน่าขยะแขยง กับการเอาอาหารมาทำอะไรที่มัน.. ถ้าพูดให้ชัดคือเหมือนเปิดถุงดำมาแล้วถ่ายขยะเปียกในนั้นออกมา ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าคนมันชอบกับอะไรแบบนี้ได้ยังไงวะ แต่ผมก็ไปดูบ้างนะ สร้างแรงบันดาลใจบ้าง ว่านี่มนุษย์โลกวิวัฒนาการเพื่อมาทำอะไรแบบนี้เหรอ (หัวเราะ)

“เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าเราจะถ่ายอะไรที่ดูเซอร์เรียล แค่ถ่ายไปเรื่อยๆ แล้วมันก็ออกมาทรงนี้เอง ความเซอร์เรียลที่ผมสัมผัสได้จริงๆ คือผมชอบถ่ายรูปโดยที่ของยังลอยอยู่บนอากาศ ผมไม่แน่ใจนะ แต่ผมตีความไปว่านี่คือหนึ่งในความเซอร์เรียลที่เขาพูดถึง ผมไม่ชอบเงาบนพื้น ชอบให้ของทุกอย่างมันลอยอยู่ ซึ่งของทุกอย่างมันไม่ได้ลอยอยู่เองหรอก มันมีไม้เสียบอยู่แล้วผมไปรีทัชออก ทำแล้วผมรู้สึกว่างานมันจบกว่า 

“นอกจากผมไม่ชอบเงาบนพื้นแล้ว ผมยังไม่ชอบสโลปของฉาก ที่มีแสงไปกระทบ มันจะไล่เป็น gradient ผมไม่ชอบ ผมชอบให้ฉากเป็นสีล้วนแบบเท่าๆ กันไปเลย และด้วยความชอบมีมประเภท cursed image มันทำให้ภาพดูเป็นแบบคนปกติเขาไม่ทำกัน ไอ้เซอร์เรียลของผมจึงเป็นเซอร์เรียลแบบที่คนปกติไม่ทำกันในชีวิตประจำวัน” โอมอธิบาย

ภาพถ่ายวันที่ 75 จาก #365ohmanawat

น่าสนใจว่าทั้งวิธีการทำงานและจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ไม่ได้หวือหวาแตกต่างจากผลงานที่ออกมาอย่างมาก เราขอให้โอมเลือกภาพถ่ายในโปรเจกต์ที่เขาชอบมากที่สุด เขานึกอยู่นาน ก่อนตอบว่าเป็นภาพในวันที่ 289 ชื่อภาพ Granny loves you. ด้วยเหตุผลที่เรียบง่ายเป็นตัวเขาเช่นเดิม

“ถ้าเอาชอบ เป็นรูปคนกางกระเป๋าออกมาแล้วเป็นแบงก์กงเต็ก รูปนั้นผมไปยืมกระเป๋าตังค์พ่อ โดยไม่รู้ว่าในกระเป๋าตังค์พ่อมีอะไรบ้าง เราแค่อยากได้กระเป๋าสีดำใบนึง เอามาแหกโชว์แบงก์กงเต็ก แต่พอใช้ปุ๊บเราเปิดมันออกมาถึงรู้ว่าพ่อมีรูปครอบครัวอยู่ในกระเป๋าตังค์ แล้วมันดัน link กับสิ่งที่ผมตั้งใจจะสื่อพอดี ผมตั้งใจจะสื่อประมาณว่า อาม่าส่งเงินมาให้ใช้นะ แต่เงินดันเป็นแบงก์กงเต็กหมดเลย พอมันดันมีรูปครอบครัวอยู่ด้วย เราก็เห็นว่ามันสามารถสื่อความหมายได้หลายแบบ แล้วอีกอย่างมันเป็นรูปที่ผมรู้สึกว่ามันมีความรักอยู่ในรูปของครอบครัว หรือบรรพบุรุษที่รักลูกหลาน ถึงแม้ว่าเงินที่ส่งมามันเงินกงเต็กนะม่า ผมชอบรูปนี้” โอมตอบ

ภาพถ่ายวันที่ 289 จาก #365ohmanawat

DAY 344: ศิลปะหรือคอมเมอร์เชียล ทางเลือกของการถ่ายภาพ

แม้โอมจะเป็นอดีตนักศึกษาสถาปัตย์ แต่การเปลี่ยนมาสู่อาชีพช่างภาพกลับไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา เพราะโอมรู้ตัวดีว่าไม่ได้ชอบสายที่เรียนเท่าไหร่ เขาบอกกับเราว่าเพราะสิ่งที่สำคัญกว่าในการถ่ายภาพนอกจากเทคนิค คือเรื่องแนวคิด ซึ่งของวิชาสถาปัตย์ก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานถ่ายภาพได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามแม้เขาจะสอบผ่านเรื่องสกิลช่างภาพที่จำเป็นแล้ว อาชีพช่างภาพในไทยก็ยังเป็นอาชีพที่ต้องการการพิสูจน์ฝีมือและการแข่งขันสูงไม่ต่างจากอาชีพในแวดวงศิลปะแขนงอื่นๆ 

“ผมว่าด้วยความที่ประเทศไทยเขาไม่ค่อยให้คุณค่ากับงานศิลปะสักเท่าไหร่ ไม่ว่าเราจะทำงานตรงไหนของศิลปะก็ตาม แล้วถ้าคุณเพิ่งเริ่มใหม่ในวงการนี้ คุณก็จะยิ่งได้ค่าจ้างน้อยลงไปอีกและคุณยังต้องไปแข่งกับคนอื่นๆ ด้วยเรื่องราคาอีก เพราะประสบการณ์และฝีมือคุณยังไม่มากพอ มันยากมากกับการที่จะอยู่รอดในช่วงต้นได้

“มันเป็นอีกเหตุผลนึงด้วยซ้ำว่าทำไมผมถึงทำโปรเจกต์ 365 เพราะมันต้องสร้างความแตกต่างของตัวคุณให้ได้ ผมไม่อยากแข่งเรื่องราคาอีกต่อไปแล้ว ผมอยากเป็นคนที่ลูกค้าเลือกเพราะว่างานไม่เหมือนใคร ถูกเลือกเพราะเป็นโอม อนวัช”

ภาพถ่ายวันที่ 297 จาก #365ohmanawat
ภาพถ่ายวันที่ 344 จาก #365ohmanawat

ในโปรเจกต์ #365ohmanawat จึงเป็นการนำเสนอตัวตนของโอม อนวัช บนทางแยกระหว่างภาพถ่ายคอมเมอร์เชียลและภาพถ่าย cursed images ในแบบของเขาเอง 

“ปกติถ้าเป็นงานลูกค้ามันแทบไม่คิดมากเรื่องเนื้อหาอยู่แล้ว เพราะมันถูกคิดมาแล้วโดยหลายๆ ฝ่าย ไม่ต้องมานั่งแอบแฝงอะไรทั้งนั้น เน้นขายของเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นงานส่วนตัวตอนนี้ ผมรู้สึกว่ายังติดงานคอมเมอร์เชียลมากไป ในโปรเจกต์ 365 หลายๆ อันดูแล้วเข้าใจความหมายเลย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผิดนะ ในอนาคตผมอยากเอาความคอมเมอร์เชียลมาใช้แค่เทคนิคพอ เรื่องจัดแสง ฉาก ส่วนเนื้อหาอยากทำให้ยากขึ้นกว่านั้น ในความหมายของประเด็นในภาพที่เข้มข้นขึ้น 

“จริงๆ ผมอยากให้ลูกค้าส่งเรฟฯ เป็นภาพ cursed image มาให้บ้างเหมือนกันนะ แต่ยังไม่มี มันย้อนกลับไปที่ถ่าย 365 หรือ BKKstreetxfood มันไม่ต้องน่ากินก็ได้ แต่ถ่ายให้ลูกค้ามันต้องน่ากิน ไอ้ความแปลกๆ นี้ มันยังเอาไปมิกซ์กับความต้องการของลูกค้าไม่ได้ ผมก็ยังหาตลาดของตัวเองไม่เจอ มันเลยยังเป็นแค่ personal project อยู่” โอมเล่า

ในวันที่โปรเจกต์ใกล้สำเร็จ โอมบอกกับเราว่าการทำโปรเจกต์นี้ทำให้เวลาหนึ่งปีของเขาผ่านไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เปลี่ยนไปมากที่สุดคือการทำให้คนอื่นๆ ได้รู้จักตัวตนของเขามากขึ้น 

“ผมรู้สึกว่าเวลาเป็นทั้งอุปสรรคและตัวช่วย อุปสรรคคือความต่อเนื่อง ตัวช่วยคือเวลาผ่านไปเร็วมาก ผมยังรู้สึกว่ารูปแรกที่ผมถ่ายเพิ่งถ่ายไปไม่นานนี้เอง ผมว่ามันเป็นตัวช่วยนึง อย่างน้อยก็รู้สึกขอบคุณตัวเอง ที่เริ่มทำ 365 นี้นะ ส่วนตัวผมไม่ได้เปลี่ยนไปขนาดนั้น ยังเป็นคนที่มีความเศร้าอยู่เหมือนเดิม แต่อย่างน้อยเราได้ทำสำเร็จในแต่ละวัน มันช่วยเยียวยาจิตใจได้นิดนึง แต่โปรเจกต์นี้มันเริ่มเปลี่ยนมุมมองของคนอื่นที่มองตัวเอง และมันยังไปได้มากกว่านี้อีก หยุดแค่นี้ไม่ได้” โอมกล่าวทิ้งท้าย

เหลืออีกเพียงไม่กี่วันที่การเดินทางของโปรเจกต์ถ่ายภาพ 365 วันของโอมจะสิ้นสุดลง แต่เส้นทางบนสายการถ่ายภาพของเขายังต้องดำเนินไปต่อ หลังจากที่เขาได้ฝึกฝนทักษะใหม่ๆ แล้ว เรายังคงคาดหวังว่าเขาจะกลับมา เพื่อเริ่มต้นโปรเจกต์ครั้งใหม่ในวันที่ 1 อีกครั้ง

ติดตามโปรเจกต์ #365ohmanawat ได้ที่: https://www.instagram.com/ohm.anawat/
เว็บไซต์: www.ohm-anawat.com

AUTHOR