คุยกับผู้จัด Bangkok Illustration Fair เทศกาลนักวาดไทยที่ไม่อยากให้นักวาดคนไหนเดียวดาย

Highlights

  • Bangkok Illustration Fair 2021 (BKKIF) คือเทศกาลที่รวมนักวาดภาพประกอบไทยกว่าร้อยชีวิต จัดขึ้นในเว็บไซต์ bangkokillustrationfair.com ในเดือนมีนาคม 2021
  • เว็บไซต์นี้เป็นพื้นที่โชว์เคสงานของศิลปินนักวาดชาวไทยเพื่อให้นักวาดถูกมองเห็นมากขึ้น มีงานทอล์กที่พูดถึงจุดเริ่มต้นของนักวาดชื่อดัง และทีม BKKIF ยังเชิญผู้เชี่ยวชาญจากวงการศิลปะด้านต่างๆ ทั้งไทยและเทศมาเป็น ‘รีวิวเวอร์’ ให้คอมเมนต์นักวาดที่เข้าตา หรือจะชวนไปร่วมงานและทำนิทรรศการก็ได้
  • ความตั้งใจของ BKKIF คือการเปิดพื้นที่ให้นักวาดแต่ละคนได้เฉิดฉายมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็อยากสร้างคอมมิวนิตี้ของนักวาดให้ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้และเติบโตอย่างไม่โดดเดี่ยว ส่วนฝันที่ใหญ่กว่านั้นคือการพานักวาดที่มีความสามารถเหล่านี้ไปเติบโตในระดับสากล

Bangkok Illustration Fair

หลายคนคงจะเคยตั้งตารอพร้อมกับตั้งคำถามอยู่ในใจยามได้เห็นประเทศต่างๆ จัดงาน illustration fair กันอย่างยิ่งใหญ่อลังการว่าเมื่อไหร่กันนะ ประเทศไทยจะมีงานที่รวบรวมนักวาดสเกลใหญ่ยักษ์แบบนั้นเกิดขึ้นบ้าง

ตอนนี้ฝันของทุกคนกำลังจะเป็นจริงแล้วกับ Bangkok Illustration Fair!

Bangkok Illustration Fair หรือ BKKIF จะจัดขึ้นเป็นเทศกาลใหญ่โต มีทั้งงานออกบูทให้นักวาดไทยกว่า 150 ชีวิตได้มาพบปะ สร้างคอมมิวนิตี้ พบปะแฟนๆ และได้ขายของไปในตัว แถมยังมีงานทอล์กที่ชวน 10 นักวาดชั้นนำของไทยอย่าง ป่าน juli baker and summer, สะอาด หรือยูน ปัณพัท มาแชร์ประสบการณ์และการเริ่มต้นวันแรกของพวกเขา

เท่านั้นคงยังเล็กไป BKKIF เลยชวนผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะทั้งในไทยและจากต่างประเทศมาเป็น ‘รีวิวเวอร์’ ให้ฟีดแบ็กและทำหน้าที่เป็น ‘แมวมอง’ หากผลงานไปเข้าตามาสเตอร์คนไหนเข้าล่ะก็ ไม่แน่ว่างานของศิลปินไทยอาจได้ไปฉายแสงในนิทรรศการเดี่ยวที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ได้ (รางวัลของ Jeon Woo-chi บรรณาธิการบริหารจาก Eloquence Magazine), มีบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์ VisionTrack, เป็นตัวแทนศิลปินภาพประกอบในญี่ปุ่นเพื่อปูทางสู่การทำงานในแดนอาทิตย์อุทัย (รางวัลของ Hiroaki Shono ซีอีโอของ VisionTrack และ ubies ประเทศญี่ปุ่น) หรือได้รับโอกาสดีๆ อีกมากมาย

แต่อย่างที่โควิด-19 เปลี่ยนแผนของใครหลายคน BKKIF ก็ต้องปรับรูปแบบเช่นเดียวกัน โดยทั้งหมดที่เราว่ามาจะกลายเป็นเทศกาลรูปแบบออนไลน์ในเดือนมีนาคมนี้บนหน้าเว็บไซต์ bangkokillustrationfair.com ให้แฟนๆ ได้พบปะศิลปินและช้อปปิ้งงานผ่านช่องทางนี้แทน รวมถึงไปเพิ่มกิจกรรมบนเฟซบุ๊กของ Bangkok Illustration Fair ทั้งไลฟ์สตรีมมิงหรือป๊อปปูลาร์โหวต เพื่อให้วงการยังคึกคักให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในวันที่วงการนักวาดไทยกำลังจะเดินหน้าไปอีกหนึ่งก้าวใหญ่ๆ (แม้จะโดนโควิด-19 พยายามสกัดแข้งขาก็ตาม) เราเลยชวน 3 เบื้องหลังทีม BKKIF จาก 3 วงการอย่าง วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการสื่อศิลปะ happening, โบว์–ชลธิชา หอมกลิ่นแก้ว senior project manager จากบริษัท What If และ เบล–กนกนุช ศิลปวิศวกุล ศิลปินและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Practical Design Studio มาพูดคุยถึงงานที่กำลังจะเกิดขึ้น แวดวงนักวาดภาพประกอบไทยในตอนนี้ และหน้าตาของวงการนักวาดที่พวกเขาใฝ่ฝันถึง

 

เล่าให้ฟังหน่อยว่าคุณ 3 คนมารวมตัวกันได้ยังไง

โบว์ : เราทำบริษัทอีเวนต์ออร์แกไนเซอร์ เคยจัดงานมาหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นงานเกี่ยวกับประเด็นสังคมสนุกๆ เช่น Bodhi Theater และจัดงาน Toy Expo มาหลายปี จนพอเริ่มเห็นความเป็นไปได้ในงานภาพประกอบก็ได้มาเจอพี่วิภว์กับพี่เบลพอดี

วิภว์ : ด้าน happening เราทำสื่อ ทำอีเวนต์ และมีช็อปขายผลงานของศิลปินอยู่สองที่ เวลาอยู่ที่ร้านเราจะเจอน้องๆ ศิลปินเอาของมาฝากขาย บางคนฝีมือดีมากแต่เราก็เห็นเขาทำแค่โปสต์การ์ด สติ๊กเกอร์ไปเรื่อยๆ พอทำหมดก็ทำลายใหม่ หรือบางคนเลิกทำไปเลยก็มี พอเห็นงานประเภทนี้เยอะๆ เราก็เริ่มคิดว่ามันน่าจะไปต่อได้มากกว่านี้นะ 

เบล : ส่วนเราทำสตูดิโอออกแบบ Practical Design Studio มา 16 ปีแล้ว เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยมา 14 ปี เคยจัดแสดงงานในไทยและต่างประเทศ เป็นคิวเรเตอร์และเป็นกรรมการตัดสินงานศิลปะด้วย เราอยู่ในแวดวงนี้มานาน ได้เจอศิลปินทั้งไทยและต่างชาติ เราเห็นว่าคนไทยมีศักยภาพ แต่งานในประเทศที่ศิลปินจะได้มารวมกันหรือมาแลกเปลี่ยนกันยังไม่ค่อยมี ยิ่งไปร่วมงานกับต่างประเทศยิ่งน้อย จนได้ลองมาคุยกับสองคนนี้เราก็เริ่มเห็นความเป็นไปได้ของงานนี้

วิภว์ : เบลมีเครือข่าย เคยทำงานกับต่างประเทศ เราเองก็มีเครือข่ายในไทย ได้ทำงานร่วมกับศิลปินไทยอยู่บ่อยๆ ส่วนโบว์เป็นออร์แกไนเซอร์ เคยทำงานใหญ่ๆ มาเยอะ พอได้มาลองคุยกันอย่างจริงจังเลยคิดว่านี่แหละคือจิ๊กซอว์ที่ลงตัวสำหรับการจัดงานนี้จริงๆ

 

BKKIF เป็นเทศกาลภาพประกอบแบบที่ไม่มีมาก่อนในไทย คุณทำการบ้านก่อนจัดงานนี้ยังไงบ้าง

เบล : เราไม่ได้มองว่านี่เป็นแค่งานในประเทศแต่คิดว่ามันคืองานระดับสากล ก่อนหน้านี้เราเลยไปดูว่าประเทศไหนจัดงานแฟร์แบบนี้บ้าง ก็ไปเจอที่ไทเป โซล ลอนดอน เราใช้วิธีการศึกษาว่าพวกเขาทำยังไง อย่างที่โซลเขาจะเน้นไปที่ฐานแฟนคลับ เน้นงานใหญ่และนักวาดเยอะ ที่ลอนดอนจะเป็นสาย fine art ส่วนเราก็มีรูปแบบของเรา 

ที่บอกว่า BKKIF มีรูปแบบของตัวเอง มันคืออะไร

วิภว์ : สถานการณ์โควิด-19 ทำให้งานของเราต้องปรับมาเป็นออนไลน์แทบทั้งหมด หนึ่งคือเรามีเว็บไซต์ที่ให้ศิลปินสมัครเข้ามาโชว์งานแบบไม่มีข้อจำกัดเลย จะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติก็ได้ ล่าสุดก็มีศิลปินไต้หวันสมัครเข้ามาเหมือนกัน 

สิ่งที่เขาต้องทำคือส่งผลงาน 10 ชิ้นเข้ามาในระบบของเรา มีค่าสมัคร 300 บาท ถ้าไม่มีอะไรผิดกติกาเขาจะได้อยู่ในหน้าเว็บไซต์ของเราไปตลอด​ หลังจากนั้นเราจะคัดเลือกมา 150 คน โดยดูจากทักษะ เอกลักษณ์ แล้วก็คอนเทนต์ ศิลปิน 150 คนนี้จะได้พื้นที่จัดแสดงงานเป็นเพจเฉพาะเพิ่มในเว็บไซต์ และได้ทำกิจกรรมร่วมกันต่อไป

อีกอย่างคือเราจะเชิญรีวิวเวอร์ที่ตอนนี้มีคร่าวๆ 30 คนจากหลากหลายสาขามาดูงานของศิลปินเหล่านี้ มี portfolio review day วันที่ 7 มีนาคม ให้รีวิวเวอร์และแขกส่วนหนึ่งของเราเลือกศิลปินที่ถูกใจ 3-5 คนมาพบปะพูดคุยกันโดยตรง ขั้นตอนนี้รีวิวเวอร์จะแนะนำ คอมเมนต์ หรือดีลงานกันเลยก็ได้

 

ฟังดูแล้วรีวิวเวอร์คือส่วนที่พิเศษมากๆ ของงานนี้ ทำไมถึงมีไอเดียนี้ขึ้นมา

วิภว์ : เวลาเราไปต่างประเทศจะพบว่าเขาจัดการวงการศิลปะกันดีมาก แต่พอมองกลับมาที่ไทยโครงสร้างในวงการนี้ยังไม่ค่อยแข็งแรง เด็กบางคนฝีมือดีมาก แต่ถ้าอยากขายคอนเทนต์บางทีก็ต้องเริ่มจากการทำแฟนอาร์ตก่อนถึงจะเริ่มสร้างคาแร็กเตอร์ได้ แล้วยังไงต่อล่ะ จะทำโปรดักต์ไหม ถ้าทำก็อาจจะเป็นแค่สติ๊กเกอร์หรือโปสต์การ์ด แล้วจะขยับไปเป็นงานนิทรรศการของตัวเองได้ไหม กว่าจะไปถึงระดับที่มีคนรู้จักเยอะๆ ระดับที่มีลูกค้ามาจ้างงาน เส้นทางมันยาวไกลมากเลยนะ แต่เราก็อยากทำให้ศิลปินเห็นว่ามันเป็นไปได้

ดังนั้นงานนี้เราจึงไม่ได้โฟกัสไปที่การขายของ เราอยากให้เขาก้าวผ่านเรื่องการขายของไปสู่การสร้างงานใหม่ๆ การร่วมงานกับคนอื่นๆ การได้แสดงนิทรรศการ รวมทั้งการจ้างงานกันต่อไปด้วย

 

ยกตัวอย่างรีวิวเวอร์ในงานได้ไหม

เบล : งานนี้เหมือนทางลัดที่ช่วยให้ศิลปินและคนที่มาร่วมงานเห็นว่างานศิลปะจะต่อยอดไปเป็นอะไรได้อีก เราเลยพยายามคิดกันเยอะมากว่าจะเชิญรีวิวเวอร์มายังไงให้ครอบคลุม ตอนนี้เลยมีทั้งคนทำมิวสิกวิดีโอ คนออกแบบปกหนังสือ คนเขียนการ์ตูน นี่ก็เพิ่งไปทาบทามหมอมา (หัวเราะ)

วิภว์ : คร่าวๆ ตอนนี้มี Rats Records ที่จะเลือกศิลปินหนึ่งคนมาทำแอนิเมชั่นกับเขา สำนักพิมพ์ Fullstop จะให้หนังสือของสำนักพิมพ์กับศิลปินที่เขาชื่นชอบไปอ่านตลอดชีวิต แล้วก็มีเอเจนซีภาพประกอบชื่อ VisionTrack จากญี่ปุ่นจะมาเลือกงานของศิลปินหนึ่งคนไปแสดงที่หน้าเว็บไซต์ของเขาเพื่อเปิดโอกาสการทำงานในตลาดญี่ปุ่น

เบล : ขอโฆษณาหน่อย (หัวเราะ) PRACTICAL School of Design ของเราจะมีคอร์ส Check Shift Change โดยเลือกคนที่ถูกใจมาหนึ่งคนเพื่อเทรนโดยเฉพาะ และนอกจากญี่ปุ่นแล้วเราก็ดีลรีวิวเวอร์จากประเทศอื่นๆ มาด้วย ที่คอนเฟิร์มมาตอนนี้มีเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และจีน เขาจะมาคัดเลือกศิลปินที่ถูกใจไปจัดนิทรรศการในประเทศเขา

วิภว์ : ในกรณีที่ศิลปินไม่มีใครเลือกเลย อย่างน้อยๆ เขาจะได้รู้จักกับเราและรีวิวเวอร์ การรู้จักกันสำคัญมากนะเพราะมันจะทำให้เกิดการจำกันได้ วันนี้อาจจะยังไม่มีโอกาสที่เหมาะสม แต่ต่อไปมันจะมีทางของคุณแน่นอน

กับศิลปินทั้ง 150 คนเราจะให้คอลเลกชั่นบุ๊กซึ่งเป็นหนังสือที่ขายในงาน หนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสือรุ่นของพวกเขา คนที่เข้ามาดูงานแล้วถูกใจศิลปินทุกคน หรือเอเจนซีไหนที่ไม่รู้จะเลือกนักวาดภาพประกอบคนไหนไปทำงานก็สามารถซื้อหนังสือเล่มนี้ไปเปิดเลือกได้เลย

 

ศิลปินได้มาเจอรีวิวเวอร์แล้วคนทั่วไปที่มาร่วมงานจะได้เจออะไรบ้าง

วิภว์ : เนื่องจากตอนนี้เราไม่สามารถให้ศิลปินไปออกบูทได้แล้ว (ตอนแรกเทศกาลจะจัดที่หอศิลปกรุงเทพฯ) ดังนั้นหน้าเพจของศิลปินทั้ง 150 คนในเว็บไซต์ BKKIF จึงเป็นเหมือนบ้านของเขา ทุกคนสามารถเข้าไปชมผลงานหรือติดต่อกับพวกเขาโดยตรงได้เลย ในวันที่ 2-7 มีนาคมซึ่งเป็นวันงานเราจะมีกิจกรรมให้ทุกคนเข้าไปร่วมโหวตป๊อปปูลาร์โหวตด้วย ศิลปินที่ได้คะแนนโหวตสูงสุดจะได้รับรางวัลไป ส่วนคนโหวตก็จะได้ร่วมลุ้นรับคอลเลกชั่นบุ๊กและผลงานจากนักวาดในงานนี้

นอกจากนี้เรายังมีงานออฟไลน์หนึ่งวัน ในวันที่ 6 มีนาคมที่หอศิลปฯ เป็นงานทอล์กในธีม ‘BEGINS’ เราได้เชิญศิลปินมาประมาณ 10 คน เช่น ป่าน julie baker and summer, นัดดาว, จิรณรงค์ และสะอาด การที่เรานำศิลปินเหล่านี้มารวมกันได้ก็เหมือนการได้เห็นยอดฝีมือมารวมกัน ซึ่งเราว่ามันดีมากเลยนะ แต่ที่เราตื่นเต้นกว่าคือมันมีคนที่เราไม่รู้จักอีกเยอะมากแล้วฝีมือเขาก็ดีมากๆ เลย

juli baker and summer

ปัณพัท เตชเมธากุล

Nut.Dao

งานนี้เรียกว่าออกแบบมาสำหรับคนที่สนใจภาพประกอบโดยเฉพาะเลยไหม

วิภว์ : ไม่นะ สำหรับคนในสายงานอื่นๆ ถ้าเข้ามาดูงาน BKKIF จะได้เห็นความเป็นไปได้ว่างานศิลปะพวกนี้สามารถต่อยอดไปเป็นอะไรที่มีประโยชน์ได้อีก แล้วเขาจะให้โอกาสศิลปินเหล่านี้ยังไงได้บ้าง เช่น ถ้าเขาทำร้านอาหาร ลองชวนศิลปินไปวาดเมนูไหม และที่สำคัญคนไทยจะได้เห็นงานจากศิลปินต่างประเทศแล้วจะได้กลับมามองดูว่าศิลปินไทยสู้ได้แค่ไหน ซึ่งเราว่าพวกเขาสู้ได้เลยล่ะ (ยิ้ม) 

โบว์ : เราคิดว่ามันควรจะเกิดการต่อยอด ไม่ใช่แค่ในแง่ธุรกิจ แต่คนที่มาดูอาจจุดประกายอยากกลับไปทำอะไรบางอย่าง หรือคนที่มีความรู้เป็นศูนย์บังเอิญมาเจองานนี้อาจจะอยากลองกลับไปทำความเข้าใจวงการศิลปะสักหน่อยก็คุ้มแล้ว ความที่งานนี้เพิ่งจัดเป็นปีแรก เราคงตอบไม่ได้หรอกว่าคนไทยจะให้คุณค่ากับสิ่งนี้ในแบบไหน แต่สมมติปีนี้เราเป็นศิลปินมือใหม่ที่ยังไม่ถูกคัดเลือก เราก็อยากให้งานนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากลองใหม่ในปีหน้า

 

แล้วสำหรับพวกคุณเอง เห็นปัญหาอะไรในแวดวงนักวาดและคาดหวังอะไรจากงานนี้

โบว์ : ตอนเราไปคุยกับครูโตเพื่อทำงานนี้ ท่านพูดประโยคหนึ่งขึ้นมาว่า “ประเทศไทยไม่ค่อยมีพื้นที่ให้คนได้แสดงงานศิลปะเลย ถึงมีคนก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญ ไม่เหมือนเมืองนอกเลยเนอะ” เราเลยคิดว่าการที่เรากำลังพยายามสร้างสังคมตรงนี้จะทำให้เกิดแรงผลักดันกับศิลปินตัวเล็กตัวน้อยแน่นอน

วิภว์ : สิ่งที่เราคาดหวังจากงานนี้คือมิตรภาพและความสัมพันธ์ แค่ศิลปินได้มารู้จักกัน ได้มาเห็นงานของกันและกันมันก็เกิดมิตรภาพที่ดีแล้ว วันหนึ่งเขาอาจจะได้เจอกับจิ๊กซอว์ที่พอดีกับเขา แล้วชวนกันไปต่อยอดทำงานอื่นๆ ด้วยกันก็ได้ นี่จะเป็นแรงผลักดันให้ศิลปินในวงการสู้ต่อไปอย่างไม่โดดเดี่ยว

ความโดดเดี่ยวของศิลปินหมายถึงอะไร 

เบล : คนไทยศักยภาพสูงมากแต่นักวาดหลายคนไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาวาดมันสำคัญกับโลกนี้ยังไง หรือภาพของเขาจะไปทำอะไรต่อได้อีก ที่สำคัญเขาไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกมากพอ แต่ถ้าเราให้พื้นที่ตรงนี้ ช่วยสาดแสงให้เขาได้เฉิดฉายขึ้นมา มันน่าจะเป็นประโยชน์มากๆ

โบว์ : พี่เบลเคยพูดว่าในไทยมีงานศิลปะเล็กๆ เยอะมาก ซึ่งเรามองว่างานเหล่านี้เป็นงานที่จุดประกายให้คนได้เยอะมาก อย่างงานขายสติ๊กเกอร์เด็กๆ ก็ทำได้ดีมากแล้ว เราจะไม่ไปรบกวนตรงนั้นเลย แต่ตอนนี้แต่ละกลุ่มแยกกันเติบโตโดยไม่ได้มีความรู้จากกลุ่มอื่นๆ มาเสริมกัน เช่น จากสติ๊กเกอร์ 50 บาทจะสามารถพัฒนาเป็นงาน 5,000 บาทได้ไหม เราอยากช่วยทำให้ตลาดตรงนี้ใหญ่ขึ้น

เบล : เราคิดว่าจะทำงานนี้ต่อไปทุกปี เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาศิลปินเหล่านี้ ถ้าในอนาคตกลุ่มศิลปินเล็กๆ เหล่านี้อยากมาทำงานร่วมกันเราก็ยินดีนะ เพราะเราเชื่อว่ามันจะเป็นการสร้างเครือข่ายที่ดีเลย

โบว์ : ใช่ เหมือนงานทอล์กเราก็เชิญ Caracasan มา (กลุ่มศิลปินที่เคยจัดตลาดนัดภาพประกอบมาแล้ว) เพราะเราก็อยากรู้กระบวนการคิดของพวกเขาเหมือนกัน เราก็แก่แล้วเนอะ (หัวเราะ) ก็อยากรู้ว่านอกจากแฟนอาร์ตแล้วเด็กๆ เขาทำอะไรกันอีก

เบล : นอกจากเราเรียนรู้จากเขาแล้ว เขาก็จะได้เรียนรู้จากเราด้วย เราอยากให้ทุกคนในวงการนี้พัฒนาไปด้วยกัน

 

ทีมงานแต่ละคนเกี่ยวข้องกับวงการศิลปะไทยในคนละด้าน แต่ละคนคิดว่าวงการศิลปะไทยในตอนนี้เป็นยังไง

วิภว์ : ถ้าเทียบกับเมื่อสิบปีก่อน เราคิดว่าตอนนี้วงการศิลปะไทยเรียกว่าแมสได้แล้ว แต่หลายภาคส่วนก็ยังไม่เข้าใจ ภาครัฐเองก็มีส่วนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ ภาคเอกชนหลายส่วนก็ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ  

เราเคยไปดูงานที่ญี่ปุ่น ประเทศนี้เขาใช้ศิลปะในการโปรโมตเมืองอย่างสุดขั้วจนเป็นจุดขายไปแล้ว ซึ่งเขาใช้เวลาพัฒนาตรงนี้เกือบ 30 ปี แต่เมืองไทยตอนนี้หอศิลป์ยังลำบากอยู่ ต่างจังหวัดก็ยังไม่มีหอศิลป์เลย กลับกันนักวาดมีมากขึ้นเรื่อยๆ ดูแล้วไม่ตอบโจทย์กันเท่าไหร่ แต่ถ้าเราไปด้วยความมุ่งมั่นอย่างที่เป็นทุกวันนี้ เราคิดว่าวงการนี้จะเติบโตแน่นอน

โบว์ : ในมุมที่เราไม่ใช่ครีเอเตอร์แต่ก็ทำงานด้านนี้มาหลายปี เราไม่ได้มองว่าวงการนี้มีปัญหานะ เราว่ามันแค่ขาดความคิดของคนรุ่นใหม่ที่จะมาช่วยเติมให้วงการนี้แข็งแรงมากขึ้น อย่างเราอยู่มา 30 ปีไม่เคยคิดเลยว่าต่างจังหวัดก็ควรมีหอศิลป์ พอได้ยินเด็กๆ พูดแบบนี้แล้วรู้สึกว่ามันเจ๋งมากเลย เราคิดว่าตอนนี้เรากำลังรอเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ พวกนี้เติบโตขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนวงการศิลปะ

วิภว์ : เสริมจากโบว์ว่า แล้วคนวัยกลางๆ อย่างเราจะทำอะไรได้บ้าง เราคิดว่าเราสามารถช่วยเชื่อมเด็กเหล่านี้กับคนในแวดวงอื่นๆ หรือกับเพื่อนๆ เราได้ เราเชื่อว่าเพื่อนๆ ของเราจะมีโอกาสส่งต่อประสบการณ์หรือความรู้ให้พวกเขาได้

ฟังดูมีหวัง เหมือนวงการนี้กำลังเติบโต

เบล : เราคิดว่าตอนนี้ทุกคนกำลังแยกกันโต คือต่างฝ่ายต่างทำอะไรบางอย่างอยู่ แต่ถ้าเราไปช่วยรวบรวมฝ่ายต่างๆ เข้าด้วยกัน ไปทำความรู้จักเขา ไปช่วยใส่ปุ๋ย เปลี่ยนแสง กางร่มให้ พวกเขาก็น่าจะเติบโตได้ดีขึ้น เหมือนกับเรากำลังทำฟาร์ม 

 

คนนอกวงการให้ความสำคัญกับงานศิลปะมากขึ้นไหม

วิภว์ : เราว่าศิลปะแมสขึ้นอย่างที่บอก เมื่อก่อนคำว่าอาร์ตฟังดูไกลตัวมาก แต่ตอนนี้เราว่ามันใกล้ตัวเราขึ้นเยอะ สังเกตง่ายๆ เดี๋ยวนี้คนที่มาซื้อของใน happening shop ก็ไม่ได้มีแค่คนในวงการอาร์ตแล้ว

โบว์ : อย่างช่วงการเมืองที่ผ่านมา ภาพสามารถเล่าเรื่องได้ดีกว่าข้อความมาก อาจเป็นเพราะเด็กรุ่นนี้มีความสามารถ เขาเลยทำโลโก้ ทำอินโฟกราฟิก ทำข้อมูลเป็นภาพกันเต็มไปหมด มันโชว์ให้เราเห็นชัดเลยว่าบางครั้งภาพอาจจะตอบโจทย์มากกว่าข้อความจริงๆ แล้วคนก็สนใจภาพพวกนี้มากๆ ด้วยเช่นกัน

วิภว์ : ใช่ นอกจากด้านสุนทรียะงานศิลปะกำลังตอบโจทย์มิติทางสังคมมากขึ้น นักวาดไปทำงานกับ สสส.หรือกรีนพีซก็ได้ หลังจากปิดรับสมัครงานนี้เรายังคิดว่าจะเอาผลงานของศิลปินทั้งเว็บไซต์ไปส่งให้ สสส.คัดเลือกเลย

สะอาด

 

nutthapon.au

เมื่องานอาร์ตใกล้ตัวและแมสขึ้น วงการศิลปะตอนนี้มีการแข่งขันที่สูงขึ้นไหม

วิภว์ : ตอบยากนะ (นิ่งคิด) ตอบหลายๆ แบบแล้วกัน ถ้าเป็นงานอาร์ตในหอศิลป์มันก็มีมูลค่า มีการแข่งขันสูงอยู่แล้วล่ะ เพราะมันอยู่ในขนบแบบนั้น แต่ถ้าลบคำว่าขนบออกไปแล้วพูดถึงงานอาร์ตที่เราบอกว่าแมสขึ้น เราว่าแต่ละคนก็มีช่องทางทำกินมากขึ้นนะ ลองดูในอินสตาแกรมสิ มีแอ็กเคานต์งานอาร์ตเยอะมากเลย หรือเดี๋ยวนี้อีเวนต์เกี่ยวกับศิลปะก็เยอะ อย่างภาครัฐก็มีงาน Biennale ของตัวเอง

เราคิดว่าช่องทางการแสดงออกมันเยอะขึ้นแต่ในทางกลับกันศิลปินรุ่นใหม่ก็เยอะขึ้นมากเหมือนกัน เพราะเดี๋ยวนี้คำว่าศิลปินมันเบลอ คนที่แต่งเพลงลงยูทูบก็เป็นศิลปินได้ คนที่วาดรูปด้วยไอแพดก็เป็นศิลปินได้ ดังนั้นทะเลของศิลปินจึงกว้างขึ้นจนทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นตามไปด้วย

ความเบลอตรงนี้เป็นเรื่องดีไหม

วิภว์ : เราไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดีเพราะมันก็เหมือนการ disrupt อย่างหนึ่ง มันอาจจะทำให้ขนบศิลปะเดิมสั่นสะเทือน แต่เราว่าวงการศิลปะทั้งวงการจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้มากขึ้นเช่นกัน เพราะมีโอกาสให้คนพรีเซนต์ตัวเองเยอะขึ้น วิธีการก็สนุกและหลากหลายขึ้นด้วย

เบล : เราคิดว่าวงการนี้มีคนเยอะและหลากหลายอยู่แล้ว แต่บางคนพอทำอะไรที่โดดเด่นขึ้นมาสักชิ้นเขาก็จะถูกให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ทีนี้ศิลปินคนอื่นเลยไม่ถูกพูดถึง สมมติลูกค้าอยากทำงานชุดหนึ่ง แล้วมีศิลปินที่ทำงานนี้ได้ 5 คน ลูกค้าจะรู้จักแค่คนที่ดังๆ 2 คนเท่านั้น คนเหล่านี้จึงถูกใช้งานซ้ำไปซ้ำมา ดังนั้นถ้าเราเปิดให้สังคมได้เห็นว่าทั้ง 5 คน แตกต่างกันแบบไหน สไตล์เป็นยังไง ศิลปินและคนนอกวงการก็จะมีตัวเลือกมากขึ้น

วิภว์ : อีกด้านศิลปินก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วย ใช่ว่าแสงมันจะสาดมาหาเขาตรงๆ เท่านั้น เขาก็ต้องวิ่งไปหาแสงเหมือนกัน หรือถ้าเขาโดนแสงนั้นสาดแล้วเขาจะเติบโตเป็นมืออาชีพที่ดีได้ไหม ศิลปินที่ไม่ผ่านตรงนี้ก็มีไม่น้อยนะ

เบล : ดังนั้นหลังจากงานนี้เราเลยคิดว่าจะทำการคิวเรตคอนเทนต์ลงเว็บไซต์ต่อไปเพื่อจะได้ส่งต่อความรู้และเรื่องราวของคนในแวดวงศิลปะออกไป นี่ก็เป็นเหมือนการช่วยสาดแสงให้เครือข่ายของเราขยายไปได้กว้างขึ้น

 

สุดท้ายแล้วอยากให้ BKKIF สร้างอะไรให้วงการนักวาดไทย

เบล : เฉิดฉายในวงการโลกเลย (ตอบทันที) ตอนนี้เราเริ่มสร้างเครือข่ายในเอเชียได้แล้ว แต่เราก็อยากพาพวกเขาไปยุโรปหรืออเมริกาบ้าง ตอนนี้เราได้ร่วมงานกับไทเปและโซลแล้วใช่ไหม ต่อไปเราก็อยากไปลอนดอนให้ได้เลย เราอยากพาทุกคนไปในระดับนั้น

วิภว์ : เหมือนกันครับ (หัวเราะ) จริงๆ ศิลปินไทยโกอินเตอร์ด้วยตัวเองได้อยู่แล้วนะ เช่น แสตมป์ไปออกอัลบั้มที่ญี่ปุ่น พี่เจ้ยไปเมืองคานส์ แต่นั่นเป็นส่วนน้อยมาก ในภาพรวมยังมีคนอีกเยอะที่มีฝีมือแต่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้งอกงาม ไม่ว่าจะงอกในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม เราเลยคาดหวังว่างานนี้จะเป็นดินเป็นปุ๋ยให้เขาเติบโตต่อไป

เบล : เราจะเป็นคนช่วยผลักดันให้ศิลปินไทยได้รู้ว่าเขาไม่ได้สู้เพียงลำพัง โดดเดี่ยว อ้างว้าง เคว้งคว้าง และเขาจะเติบโตได้ เพราะความสามารถศิลปินประเทศเราไม่แพ้ใคร

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone