“หวังว่าจะไม่ต้องหวาดกลัวอนาคตมากเกินไป” สะอาด นักวาดผู้อยากเปลี่ยนสังคมด้วยการ์ตูน

Highlights

  • สะอาด หรือ ภูมิ–ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์คือนักเขียนการ์ตูนผู้มีผลงานอย่างชายที่ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง, ครอบครัวเจ๋งเป้ง และล่าสุดคือการศึกษาของกระป๋องมีฝัน
  • งานของสะอาดโดดเด่นที่การสอดแทรกประเด็นทางสังคมไว้ระหว่างช่องการ์ตูน โดยไม่ลืมที่จะใส่ความหวังไว้ให้คนอ่านด้วย
  • ความหวังของสะอาดในตอนนี้ คือความหวังว่ารัฐจะสร้างความปลอดภัยด้านชีวิตและเศรษฐกิจให้กับทุกคน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวาดการ์ตูนของเขา คนทำงานสร้างสรรค์ และประชากรทุกคน

สะอาด แรกเริ่มเดิมที เรารู้จัก ‘สะอาด’ หรือ ภูมิ–ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ ในฐานะนักวาดการ์ตูน

ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง,​ ครอบครัวเจ๋งเป้ง, บทกวีชั่วชีวิต, การศึกษาของกระป๋องมีฝัน และคอลัมน์การ์ตูนในเว็บไซต์ The Momentum เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานที่ผ่านมาของเขา

แต่ยิ่งอ่านงานของภูมิมากขึ้น ภายใต้ตัวการ์ตูนตลกหน้าตาย ลายเส้นไม่เนี้ยบ และแก๊กตลกร้าย เรายิ่งรู้จักภูมิในฐานะที่ต่างออกไป

นักเคลื่อนไหว–เรานิยามเขาอย่างนั้น เพราะมากกว่าความสนุกที่เขาย้ำว่าการ์ตูนควรจะมี การ์ตูนของสะอาดยังสอดแทรกประเด็นทางสังคมใกล้ตัวไว้ระหว่างช่อง ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพ การเมือง การศึกษา ไปจนถึงเรื่องคนไร้บ้าน และไม่ลืมหย่อนความหวังไว้ให้คนอ่านด้วย

สะอาด

“ความหวังของเรามีหลายเลเยอร์” ภูมิออกตัวเมื่อเราถามถึงความหวังในโมงยามนี้

“เราเคยฝันว่าประเทศจะมีรัฐสวัสดิการ หวังว่าเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับที่เราไม่ต้องมากังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เวลาพ่อแม่ป่วยไม่ต้องกังวลว่าเราจะเป็นหนี้เพราะค่ารักษาพยาบาล ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเก็บเงินไว้หนึ่งก้อนเผื่อจะเกิดอุบัติเหตุในชีวิต คล้ายๆ กับความหวังของป๋วย อึ๊งภากรณ์ คือเราไม่ได้ต้องการไต่เต้าไปถึงจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ ไม่ต้องรวย ไม่ต้องบินไปถึงดาวอังคาร เราแค่หวังว่าตั้งแต่เกิดจนตายเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่ต้องหวาดกลัวอนาคตมากเกินไป พูดง่ายๆ คือเราหวังว่ารัฐจะสร้างความปลอดภัยด้านชีวิตหรือเศรษฐกิจให้เรา”

และต่อจากนี้คือความหวังของสะอาด นักวาดผู้หวังอยากใช้การ์ตูนสร้างสังคมที่มีอิสระและเท่าเทียม

สะอาด

 

ความหวังและความสร้างสรรค์

“ความหวังอย่างแรกของเราคือความปลอดภัยในด้านสิทธิเสรีภาพในการตีความประวัติศาสตร์และอิสระในการแสดงออกทางการเมืองซึ่งสำคัญมากต่อการมีความคิดสร้างสรรค์

“ทุกวันนี้เราเชื่อว่าศิลปินหลายคนมีความกลัวดราม่าและความไม่ปลอดภัยจากการพูดเรื่องการเมือง ถึงแม้ตัวเขาไม่กลัว เพื่อนๆ หรือสำนักพิมพ์ของเขาก็อาจจะกลัวแทน โดยภาพรวมเราอยู่ในสังคมที่การแสดงออกทางศิลปะมีความกลัวปกคลุมอยู่ค่อนข้างสูง ฉะนั้นงานที่แสดงออกเรื่องการเมืองเลยมีสองแบบหลักๆ ถ้าไม่เซนเซอร์ตัวเองไปเลยก็เป็นงานที่แสดงถึงการต่อต้านอย่างรุนแรง เช่น อยากจะเล่าเรื่องความไม่เท่าเทียม เซนส์ในการเล่ามักจะเป็นความโกรธและความอัดอั้นตันใจ

สะอาด

“เราเคยพูดว่าการ์ตูนแบบ One Piece ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยเพราะมันเป็นการ์ตูนที่แฝงเรื่องการเมืองไว้สูงมากแต่เล่าแบบเนียนๆ เป็นธรรมชาติในเรื่องโจรสลัดตามล่าสมบัติ แต่ในบ้านเรายังไม่ค่อยมีงานเชิงการเมืองที่ซอฟต์หรือเป็นธรรมชาติทางการสื่อสารแบบนี้ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรนะ เราเองก็ชอบเพียงแต่มันน่าเสียดายที่บริบทในการสร้างสรรค์ไม่หลากหลาย

“ด้านความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ เราอยากมีรัฐที่มี safety net รองรับ เผื่อว่าวันหนึ่งเมื่องานของเราไม่ตอบสนองกับตลาดเราจะยังมีรัฐที่ซัพพอร์ตรายจ่ายของเรา เช่น มีค่าขนส่งสาธารณะที่ถูกกว่านี้หรือมีน้ำก๊อกสะอาดกิน แต่ถ้าให้เขียนการ์ตูนโดยที่ยังกลัวว่าเราจะตกกระป๋องเมื่อไหร่หรือกลัวว่าเราจะสามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ไหม มันก็ทำให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ยากมากเพราะมัวแต่กังวลและกลัวเรื่องคุณภาพชีวิตอยู่”

สะอาด

 

ขับเคลื่อนด้วยความหวัง

“ความหวังเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองขับเคลื่อนเราในหลายมิติ เบื้องต้นเวลาเราเขียนงานหนึ่งชิ้น งานนั้นจะพยายามถ่ายทอดว่าสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ มิติที่สองคือเราพยายามสื่อสารเพื่อผลักดัน norm ในการแสดงออกของสังคม เพราะตั้งแต่การรัฐประหารครั้งล่าสุดบรรทัดฐานในการแสดงออกทางการเมืองในสังคมถูกกดต่ำมาก ช่วงหนึ่งใครพูดเรื่องการเมืองจะโดนคอมเมนต์ว่า ‘เอาผัดกระเพรามั้ย’ แต่ช่วงนี้มันแทบหายไปแล้วเพราะบรรทัดฐานในการแสดงออกถูกขยับให้สูงขึ้น

“ในแง่คนทำงานสื่อสารเราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันว่าการวิจารณ์รัฐบาลเป็นไปได้และสำคัญ สิ่งนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่วิจารณ์แต่เป็นเรื่องเพดานในการวิจารณ์และความกลัวโดยรวมในสังคม ตอนนี้เพดานมันเลยเรื่องมุกเข้าคุกไปแล้วแต่เรายังต้องหาวิธีผลักเพดานไปมากกว่านี้อีกด้วยการใช้เซนส์ต่างๆ อย่างอารมณ์ขัน

“มีอยู่ช่วงหนึ่งเรารู้สึกว่าทุกคนเน้นวิจารณ์บุคคล วิจารณ์นายกฯ​ จนไม่ว่าเอาไปใส่ในแก๊กไหนคนก็จะแห่ไปกดไลก์ สำหรับเราการสื่อสารแบบนี้ไม่ค่อยก้าวไปไหนในแง่เพดานของเสรีภาพ มีเรื่องอีกมากที่จำเป็นต้องวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าความไร้ประสิทธิภาพของบุคคล​ เช่น เรื่องเชิงโครงสร้าง เราพยายามออกแบบงานให้สามารถสื่อสารในเพดานที่สูงขึ้นได้โดยที่ยังรู้สึกปลอดภัยและไม่ต้องกลัวจะโดนอำนาจมืดเล่นงาน

“เวลาพูดถึงบรรทัดฐานทางสังคมมันไม่ใช่เรื่องกฎหมาย เพราะในแง่กฎหมายตอนนี้รัฐบาลมีอำนาจสูงมากในการควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรามีโอกาสที่จะตกอยู่ใต้อำนาจของ พรก.ฉุกเฉินหรือ พรบ.คอมพิวเตอร์ตลอดเวลา แต่การสร้างบรรทัดฐานคือการสร้างวัฒนธรรมของสังคมที่เราจะต้องผลักไปให้ไกลกว่ากฎหมายที่ล้าหลัง 

“มิติที่สามคือตัวเราเองที่ต้องหาวิธีสลายความกลัวส่วนตัวออกไปทีละเล็กทีละน้อย หาวิธีทำให้การเขียนการ์ตูนวิจารณ์รัฐบาลไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้าเป็นแต่ก่อนเราจะกลัว ใจเต้นตึกๆๆๆ เหมือนกำลังจะทำเรื่องยิ่งใหญ่ กลัวกระทั่งว่าคนจะเกลียดที่เรามีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างแต่ตอนนี้เราไม่กลัวเลยสักนิด เหมือนเวลาเราสื่อสารออกไปสู่คนภายนอกเราก็ได้สื่อสารกับภายในของตัวเองไปด้วยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกลัวว่ะ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เราไม่ได้ให้ข้อมูลที่ผิด ไม่ได้หมิ่นประมาทใครและพูดบนพื้นฐานสิทธิเสรีภาพที่สากลยอมรับ ดังนั้นก็ไม่มีอะไรต้องกลัว”

 

เพราะสิ้นหวังจึงมีหวัง

“เราคิดว่ายุคสมัยนี้เป็นยุคที่คนสิ้นหวังได้ง่าย เหตุผลหลักคือคนมีความรู้เยอะซึ่งพอถึงจุดหนึ่ง ความรู้นั้นทำให้เราเกิดการเปรียบเทียบและทำให้เรารู้สึกสิ้นหวัง เช่น สมมติเกิดสงครามทำให้เราและเพื่อนๆ ต้องหลบอยู่ในหลุมหลบภัยตลอดสองเดือน หากไม่รู้เรื่องโลกภายนอกเราอาจจะไม่ได้รู้สึกแย่นักเพราะมีเพื่อนลำบากไปด้วยกัน แต่ลองคิดภาพว่าถ้าเราอยู่ในหลุมหลบภัยโดยมีมือถือและอินเทอร์เน็ต เราจึงเห็นว่าในขณะที่เราเผชิญสงคราม คนอื่นๆ กำลังมีชีวิตดีๆ ได้ไปเที่ยวอย่างมีความสุข ความรู้นี้มันจึงทำให้เราสิ้นหวังเพราะเราพบแล้วว่าโลกภายนอกวงโคจรของเรายังมีอะไรที่ดีกว่าสิ่งที่เราต้องเผชิญ

“นอกจากนี้เรายังพบว่าความรู้ของยุคสมัยทำให้แม้เราจะพอใจกับอาหารมื้อล่าสุดเราก็ยังสามารถสิ้นหวังตอนที่เห็นผลงานของรัฐบาลได้ สมมติรัฐบาลทำสิ่งที่ดีหนึ่งอย่างเราก็สามารถสิ้นหวังกับทิศทางของโลกที่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้ สมมติสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มดีขึ้นเราก็มีสิทธิที่จะสิ้นหวังกับอนาคตที่ปัญญาประดิษฐ์อาจครองโลกอยู่ดี เราพบว่ากับดักแห่งความสิ้นหวังมันไม่สิ้นสุดเสียจนสุดท้ายเรากลับมามีความหวังกับชีวิตดีกว่า (หัวเราะ)

“ทุกวันนี้เราจึงขอทำงานสร้างสรรค์เพื่อเก็บเกี่ยวความหวังไปทีละขั้น ลำดับแรกที่เราให้ความสำคัญคือเราหวังว่าเราจะชอบงานที่ทำและเราจะเติบโตจากมัน ลำดับสองคือเราหวังว่าจะมีคนที่ชอบงานของเราบ้างและเข้าใจมากขึ้นว่าเขาเป็นพลเมืองที่มีอำนาจที่จะต่อรองกับรัฐ เขามีพลังที่จะเปลี่ยนแปลง ส่วนในระยะยาวเราหวังให้งานของเราส่งผลกระทบต่อสังคม และเพราะมันเป็นความหวังที่ใหญ่มากเราจึงขอให้ความสำคัญเป็นลำดับที่สามเพื่อขับเคลื่อนชีวิตต่อไปอย่างไม่สิ้นหวัง”


อ่านความหวังของสะอาดและผู้คนหลากหลายได้ใน a day 238 ฉบับ Wish สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ godaypoets.com/product/a-day-238-wish

“เราเคยพูดว่าการ์ตูนแบบ One Piece ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยเพราะมันเป็นการ์ตูนที่แฝงเรื่องการเมืองไว้สูงมากแต่เล่าแบบเนียนๆ เป็นธรรมชาติในเรื่องโจรสลัดตามล่าสมบัติ แต่ในบ้านเรายังไม่ค่อยมีงานเชิงการเมืองที่ซอฟต์หรือเป็นธรรมชาติทางการสื่อสารแบบนี้ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรนะ เราเองก็ชอบเพียงแต่มันน่าเสียดายที่บริบทในการสร้างสรรค์ไม่หลากหลาย
“ด้านความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ เราอยากมีรัฐที่มี safety net รองรับ เผื่อว่าวันหนึ่งเมื่องานของเราไม่ตอบสนองกับตลาดเราจะยังมีรัฐที่ซัพพอร์ตรายจ่ายของเรา เช่น มีค่าขนส่งสาธารณะที่ถูกกว่านี้หรือมีน้ำก๊อกสะอาดกิน แต่ถ้าให้เขียนการ์ตูนโดยที่ยังกลัวว่าเราจะตกกระป๋องเมื่อไหร่หรือกลัวว่าเราจะสามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ไหม มันก็ทำให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ยากมากเพราะมัวแต่กังวลและกลัวเรื่องคุณภาพชีวิตอยู่”
“ความหวังเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองขับเคลื่อนเราในหลายมิติ เบื้องต้นเวลาเราเขียนงานหนึ่งชิ้น งานนั้นจะพยายามถ่ายทอดว่าสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ มิติที่สองคือเราพยายามสื่อสารเพื่อผลักดัน norm ในการแสดงออกของสังคม เพราะตั้งแต่การรัฐประหารครั้งล่าสุดบรรทัดฐานในการแสดงออกทางการเมืองในสังคมถูกกดต่ำมาก ช่วงหนึ่งใครพูดเรื่องการเมืองจะโดนคอมเมนต์ว่า ‘เอาผัดกระเพรามั้ย’ แต่ช่วงนี้มันแทบหายไปแล้วเพราะบรรทัดฐานในการแสดงออกถูกขยับให้สูงขึ้น
“ในแง่คนทำงานสื่อสารเราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันว่าการวิจารณ์รัฐบาลเป็นไปได้และสำคัญ สิ่งนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่วิจารณ์แต่เป็นเรื่องเพดานในการวิจารณ์และความกลัวโดยรวมในสังคม ตอนนี้เพดานมันเลยเรื่องมุกเข้าคุกไปแล้วแต่เรายังต้องหาวิธีผลักเพดานไปมากกว่านี้อีกด้วยการใช้เซนส์ต่างๆ อย่างอารมณ์ขัน
“มีอยู่ช่วงหนึ่งเรารู้สึกว่าทุกคนเน้นวิจารณ์บุคคล วิจารณ์นายกฯ จนไม่ว่าเอาไปใส่ในแก๊กไหนคนก็จะแห่ไปกดไลก์ สำหรับเราการสื่อสารแบบนี้ไม่ค่อยก้าวไปไหนในแง่เพดานของเสรีภาพ มีเรื่องอีกมากที่จำเป็นต้องวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าความไร้ประสิทธิภาพของบุคคล เช่น เรื่องเชิงโครงสร้าง เราพยายามออกแบบงานให้สามารถสื่อสารในเพดานที่สูงขึ้นได้โดยที่ยังรู้สึกปลอดภัยและไม่ต้องกลัวจะโดนอำนาจมืดเล่นงาน
“เวลาพูดถึงบรรทัดฐานทางสังคมมันไม่ใช่เรื่องกฎหมาย เพราะในแง่กฎหมายตอนนี้รัฐบาลมีอำนาจสูงมากในการควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรามีโอกาสที่จะตกอยู่ใต้อำนาจของ พรก.ฉุกเฉินหรือ พรบ.คอมพิวเตอร์ตลอดเวลา แต่การสร้างบรรทัดฐานคือการสร้างวัฒนธรรมของสังคมที่เราจะต้องผลักไปให้ไกลกว่ากฎหมายที่ล้าหลัง
“มิติที่สามคือตัวเราเองที่ต้องหาวิธีสลายความกลัวส่วนตัวออกไปทีละเล็กทีละน้อย หาวิธีทำให้การเขียนการ์ตูนวิจารณ์รัฐบาลไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้าเป็นแต่ก่อนเราจะกลัว ใจเต้นตึกๆๆๆ เหมือนกำลังจะทำเรื่องยิ่งใหญ่ กลัวกระทั่งว่าคนจะเกลียดที่เรามีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างแต่ตอนนี้เราไม่กลัวเลยสักนิด เหมือนเวลาเราสื่อสารออกไปสู่คนภายนอกเราก็ได้สื่อสารกับภายในของตัวเองไปด้วยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกลัวว่ะ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เราไม่ได้ให้ข้อมูลที่ผิด ไม่ได้หมิ่นประมาทใครและพูดบนพื้นฐานสิทธิเสรีภาพที่สากลยอมรับ ดังนั้นก็ไม่มีอะไรต้องกลัว”
“เราคิดว่ายุคสมัยนี้เป็นยุคที่คนสิ้นหวังได้ง่าย เหตุผลหลักคือคนมีความรู้เยอะซึ่งพอถึงจุดหนึ่ง ความรู้นั้นทำให้เราเกิดการเปรียบเทียบและทำให้เรารู้สึกสิ้นหวัง เช่น สมมติเกิดสงครามทำให้เราและเพื่อนๆ ต้องหลบอยู่ในหลุมหลบภัยตลอดสองเดือน หากไม่รู้เรื่องโลกภายนอกเราอาจจะไม่ได้รู้สึกแย่นักเพราะมีเพื่อนลำบากไปด้วยกัน แต่ลองคิดภาพว่าถ้าเราอยู่ในหลุมหลบภัยโดยมีมือถือและอินเทอร์เน็ต เราจึงเห็นว่าในขณะที่เราเผชิญสงคราม คนอื่นๆ กำลังมีชีวิตดีๆ ได้ไปเที่ยวอย่างมีความสุข ความรู้นี้มันจึงทำให้เราสิ้นหวังเพราะเราพบแล้วว่าโลกภายนอกวงโคจรของเรายังมีอะไรที่ดีกว่าสิ่งที่เราต้องเผชิญ
“นอกจากนี้เรายังพบว่าความรู้ของยุคสมัยทำให้แม้เราจะพอใจกับอาหารมื้อล่าสุดเราก็ยังสามารถสิ้นหวังตอนที่เห็นผลงานของรัฐบาลได้ สมมติรัฐบาลทำสิ่งที่ดีหนึ่งอย่างเราก็สามารถสิ้นหวังกับทิศทางของโลกที่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้ สมมติสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มดีขึ้นเราก็มีสิทธิที่จะสิ้นหวังกับอนาคตที่ปัญญาประดิษฐ์อาจครองโลกอยู่ดี เราพบว่ากับดักแห่งความสิ้นหวังมันไม่สิ้นสุดเสียจนสุดท้ายเรากลับมามีความหวังกับชีวิตดีกว่า (หัวเราะ)
“ทุกวันนี้เราจึงขอทำงานสร้างสรรค์เพื่อเก็บเกี่ยวความหวังไปทีละขั้น ลำดับแรกที่เราให้ความสำคัญคือเราหวังว่าเราจะชอบงานที่ทำและเราจะเติบโตจากมัน ลำดับสองคือเราหวังว่าจะมีคนที่ชอบงานของเราบ้างและเข้าใจมากขึ้นว่าเขาเป็นพลเมืองที่มีอำนาจที่จะต่อรองกับรัฐ เขามีพลังที่จะเปลี่ยนแปลง ส่วนในระยะยาวเราหวังให้งานของเราส่งผลกระทบต่อสังคม และเพราะมันเป็นความหวังที่ใหญ่มากเราจึงขอให้ความสำคัญเป็นลำดับที่สามเพื่อขับเคลื่อนชีวิตต่อไปอย่างไม่สิ้นหวัง”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน