ละทิ้งสไตล์เก่าๆ เพื่อเข้าใจตัวเอง และสังคม ภาพประกอบในแบบของ Nut Dao

Highlights

  • นัด–ณัฐพงศ์ ดาววิจิตร หรือ Nut Dao คือนักวาดภาพประกอบหนุ่มผู้มีผลงานหลากหลายแนว เราเคยเห็นนัดจัดนิทรรศการเดี่ยวที่มีทั้งงานเพนต์และงานปั้น มีโปรเจกต์พิเศษที่ไปคอลแลปกับแบรนด์ต่างๆ รวมถึงงานคอมมิชชันที่ส่งมาจากเอเจนซีในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทุกวันนี้นัดก็ยังคงสนุกกับการทดลองอะไรใหม่ๆ ทั้งในแง่รูปแบบ เทคนิค และไอเดียเบื้องหลังผลงานแต่ละชิ้น
  • “ส่วนตัวเราจะเบื่อถ้าเราทำแค่แบบเดียวไปเรื่อยๆ ดังนั้นเวลาที่ได้ทำโปรเจกต์ส่วนตัวเราเลยทดลองอะไรใหม่ๆ แล้วพอเราโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย มันก็ทำให้คนก็จะรู้ว่าเราทำแบบนี้ได้เหมือนกัน ไม่อย่างนั้นเขาก็จะไม่รู้ว่าเราทำแบบไหนได้บ้าง”
  • ล่าสุดนัดยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับเมนเทอร์ชาวเกาหลี ในครีเอทีฟทัวร์นาเมนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Ubisum ซึ่งมีกระบวนการที่ทั้งสนุกและแปลกใหม่ เพื่อสร้างโอกาสในการร่วมงานกันของนักสร้างสรรค์ทั่วเอเชีย

“ช่วงนี้ทำแต่งานในคอมฯ หมดเลย แต่ถ้าช่วงไหนทำงานเพนต์ก็จะต้องจัดห้องใหม่”​ นัด–ณัฐพงศ์ ดาววิจิตร หรือ Nut Dao นักวาดภาพประกอบหนุ่มเจ้าของลายเส้นเรียบง่ายเกริ่นให้เราฟัง พลางทิ้งตัวลงบนเก้าอี้ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ บนโต๊ะมีสารพัดอุปกรณ์สำหรับการทำงานกราฟิก ส่วนพู่กันและสีอะคริลิกนั้นถูกจัดเก็บเข้ามุมห้องฝั่งตรงข้าม ริมผนังห้องมีกรอบรูปและเฟรมผลงานเก่าๆ วางเรียงราย 

แต่ไหนแต่ไร เราเคยเห็นนัดจัดนิทรรศการเดี่ยวที่มีทั้งงานเพนต์และงานปั้น มีโปรเจกต์พิเศษที่ไปคอลแลบกับแบรนด์ต่างๆ รวมถึงงานคอมมิสชั่นที่ส่งมาจากเอเจนซีในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทุกวันนี้นัดก็ยังคงสนุกกับการทดลองอะไรใหม่ๆ ทั้งในแง่รูปแบบ เทคนิค และไอเดียเบื้องหลังผลงานแต่ละชิ้น 

Nut Dao

ในปี 2020 ที่หลายคนบ่นว่ายังไม่ทันได้ลงมือทำอะไรก็จะสิ้นปีเสียแล้ว นัดบอกเราว่าเขาทำงานจนแทบไม่ได้หยุดพัก หนึ่งในนั้นคือการเข้าร่วม Ubisum ทัวร์นาเมนต์ออนไลน์ของคนทำงานสายครีเอทีฟที่จัดโดยทีมงาน Ubies ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนัดก็เป็น 1 ใน 8 ศิลปินรอบไฟนอล

ส่วนผลงานชิ้นที่พาให้เรามาเยี่ยมโฮมสตูดิโอของเขาในวันนี้ คือภาพวาดในโปรเจกต์ VOGUE HOPE ที่นิตยสาร VOGUE ประเทศไทยได้ชวนบรรดาช่างภาพและนักวาดภาพประกอบมาสร้างปกนิตยสารในธีม ‘ความหวัง’ นัดเลือกใช้เทคนิคการวาดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในงานก่อนๆ ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับที่เราได้เห็นในงานชุด Slow Reverse จากการประกวด Ubisum

จากภาพคนตัวจิ๋วกับรายละเอียดยิบย่อยที่เป็นเอกลักษณ์ของนัดในอดีต ค่อยๆ พัฒนามาสู่ผลงานในช่วงปัจจุบัน รายละเอียดบางอย่างถูกตัดทอนออกไป ในขณะที่น้ำหนัก มิติ และมวล คือสิ่งที่ถูกเติมเข้ามา เช่นกันกับประสบการณ์และมุมมองในฐานะศิลปินของเขาที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นไปพร้อมกัน

นักวาดภาพประกอบ ไม่ได้ทำแค่วาดภาพประกอบ

ย้อนกลับไปช่วงมัธยมปลาย เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องมหาวิทยาลัย นัดตั้งต้นจากการมองหาสิ่งที่ตัวเองจะสามารถอยู่กับมันได้ยาวๆ หลังจากที่ลองอะไรหลายอย่าง คำตอบของเขาคือภาควิชานิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิยาลัยศิลปากร

ถึงอย่างนั้นสิ่งที่สำคัญและมีผลต่อชีวิตของนัดที่สุดในช่วงมหาวิทยาลัยกลับไม่ใช่วิชาเรียน

“สมัยเรียนมหา’ลัยมีการจัดอีเวนต์ของแต่ละรุ่น ทำให้เราได้ลองทำคีย์วิชวล เป็นครั้งแรกที่คนได้มี interaction กับงานของเราจริงๆ มันทำให้เราเริ่มเห็นศักยภาพของวิชวลที่เราสร้างขึ้นมา ว่ามันสามารถดึงดูดให้คนมาสนใจ และสื่อสารอะไรบางอย่างที่เท็กซ์ทำไม่ได้”

หลังเรียนจบ เขาทำงานเป็นพนักงานประจำที่ Practical Design Studio อยู่หลายปี พร้อมกับรับงานส่วนตัวผ่านพจเฟซบุ๊ก โลกของมืออาชีพทำให้นัดได้รู้ว่า การประกอบอาชีพนักวาดภาพประกอบนั้นแตกต่างจากการทำงานในวัยเรียนลิบลับ

“พอทำงานจริงมันมีบริบทอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่เรื่องวาดรูปแล้ว อย่างเรื่องความคาดหวัง ว่าลูกค้าเขามองเห็นอะไรในตัวเรา ทำไมเขาถึงเลือกใช้เรา หรือเรื่องบัดเจ็ต หรือสัญญา มันจึงต้องประมวลอะไรหลายๆ อย่างมากกว่าแค่วาดรูปแล้วส่งให้เขาดูว่าชอบหรือไม่ชอบ

“แต่ถ้าทำงานส่วนตัว เราอยากทำอะไรก็สามารถทดลองได้เลย ซึ่งความยากก็คือเราต้องตัดสินใจด้วยตัวเองทั้งหมด เราต้องเข้าใจตัวเองว่าอยากได้อะไร ประมาณไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร หรือบางทีก็ทดลองไปเรื่อยๆ เพื่อหาสิ่งนั้น” นัดเล่าด้วยท่าทีสบายๆ แต่เรารู้ดีว่าเบื้องหลังนั้นคือประสบการณ์การทำงานอันโชกโชน

 

นักวาดไทยในทัวร์นาเมนต์ญี่ปุ่นกับเมนเทอร์ชาวเกาหลี

อีกหนึ่งประสบการณ์ที่เราอยากชวนนัดพูดคุยก็คือ โอกาสล่าสุดที่ร่วมงานกับเมนเทอร์ชาวเกาหลีในครีเอทีฟทัวร์นาเมนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Ubisum ซึ่งตั้งใจสร้างโอกาสในการร่วมงานกันของนักสร้างสรรค์ทั่วเอเชีย

“งานนี้มีหลายรอบมาก จากรอบแรกมีผู้สมัยหกร้อยกว่าคนส่งผลงานเข้าไป คัดเลือกจนเหลือร้อยคน เป็นรอบที่ศิลปินจะได้จับคู่กับเมนเทอร์ ซึ่งก็มาจากหลายประเทศกันมากๆ อย่างคู่ของผมคือคุณ Youngeun Heo เมนเทอร์ชาวเกาหลี เราก็แลกเปลี่ยนมุมมองกันและพัฒนาผลงาน พอเข้ารอบสุดท้ายก็จะต้องพัฒนาผลงานชุดที่สองเข้าไป เพื่อให้ผู้ชมเข้ามาโหวตและเขียนคอมเมนต์” นัดเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการประกวดที่กินระยะเวลาราว 2 เดือน 

Self Distorted และ Slow Reverse คือชื่อผลงานทั้งสองชุดของนัดในการประกวด

“ชุดแรกนี่เราพัฒนามาจากงานเดิมที่เคยทำไว้ เป็นภาพของคนที่กำลังผลักสเปซหรืออะไรบางอย่างที่ไม่มีอยู่จริง เปรียบเทียบกับสภาวะที่เราเครียดกับเรื่องหนึ่งมากๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่หนักหนาอะไรถ้าเราถอยออกมาดู ในรอบนี้ผมตั้งใจใช้การ Distort เพื่อจะลองเพิ่มเรื่องความรู้สึกให้ดูสับสนยิ่งขึ้น เป็นเหมือนการงัดกันของสภาวะอารมณ์

“ส่วนชุดที่สอง เราใช้การสังเกตชีวิตรอบๆ คืออาม่าที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกับเรา เราสังเกตเห็นว่าเมื่ออายุมากขึ้น เขาก็เริ่มสูญเสียตัวตนไปเรื่อยๆ ภาพที่ออกมาจึงเป็นคนที่บางทีตัวเขาอาจจะอยู่ตรงนี้ แต่หัวลอยขึ้นไป หรือหล่นออกมาจากตัว มันเป็นความรู้สึกเวลาที่เราอยู่กับเขา แต่เหมือนกับว่าบางจังหวะเขาไม่ได้อยู่ตรงนี้

“หรืออีกรูปที่เป็น transition ระหว่างคนที่นอนอยู่กับภาพภูเขา ตรงนี้ก็พูดถึงกระบวนการที่กำลังย้อนกลับไปสู่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทุกชีวิต เวลาที่ความทรงจำของคนมันค่อยๆ หายไป และร่างกายเราก็ค่อยๆ เสื่อมไป เรามองว่ามันเป็นกระบวนการธรรมชาติที่ค่อยๆ ลดตัวตนของเราจนหายไปในที่สุด” นัดอธิบายถึงวิธีคิดที่ซ่อนอยู่หลังภาพวาดทั้งสองชุด

เมื่อได้เห็นผลงานที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนและพูดคุยในระยะเวลาสั้นๆ เพียงสองเดือน เราอดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสังเกตถึงลายเส้นและเทคนิคที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนจนแทบไม่เห็นจุดร่วม แต่ในขณะเดียวกันไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงานของนัดก็ดูเหมือนจะวนเวียนอยู่กับเรื่องสภาวะอารมณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ

 

ลายเส้นที่ต้องลบออกไปเมื่อตัวตนเราเติบโต

ผลงานชุด Slow Reverse และการออกแบบปกในโปรเจกต์ VOGUE HOPE คือผลงานที่ใช้เทคนิคเดียวกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่เรามองเห็นคือภาพวาดสีอ่อน แต่แฝงไว้ด้วยมิติของแสงเงา ซึ่งแตกต่างจากผลงานชิ้นก่อนๆ ของนัดโดยสิ้นเชิง

เรามองไปที่ผลงานเก่าของนัดภาพหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนพื้นห้อง และตั้งคำถามถึงสไตล์งานที่พัฒนามาไกลลิบ ชนิดที่ว่าใครที่เพิ่งรู้จักนัดตอนนี้คงคาดไม่ถึงว่าเขาคือเจ้าของผลงานชิ้นนั้น และนัดเองก็ยอมรับ

“มันเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ตอนแรกจากที่เราวาดภาพคนตัวเล็กๆ เราก็ค่อยๆ เจาะเข้าไปดูว่าคนคนนี้เขาทำอะไรอยู่ สักพักคนจึงเริ่มตัวใหญ่ขึ้น สักพักถูกตัดทอนจากที่มีหน้าตาครบก็เหลือแค่ตากับจมูก เอาออกไปจนช่วงหลังนี่ไม่เหลือหน้าตาแล้ว 

Nut Dao

“ส่วนเรื่องมวลนี่เราก็ค่อยๆ ใส่เพิ่มขึ้นมา อาจจะเป็นเพราะนิทรรศการครั้งแรกสุดของเราที่มีงานปั้นด้วย พอได้ปั้นมันออกมาเลยรู้สึกว่าจากภาพแบนๆ กลายเป็นมวลกลมๆ ก็ได้อีกฟีลหนึ่ง เลยเริ่มพยายามใส่กลับเข้าไปอยู่ในภาพวาด” นัดเท้าความถึง Dilemma นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาเมื่อปี 2018 ที่ดูเหมือนจะมีอิทธิพลมาสู่ผลงานในยุคปัจจุบันด้วย

“นักวาดหลายคนมักยึดลายเส้นหรือสไตล์ภาพที่ค่อนข้างชัดเจน เพื่อสร้างลายเซ็นที่ชัดเจนในการทำงาน แต่ดูเหมือนว่าคุณไม่ค่อยซีเรียสเรื่องนั้น” เราตั้งข้อสังเกต

“ส่วนตัวเราจะเบื่อถ้าเราทำแค่แบบเดียวไปเรื่อยๆ ดังนั้นเวลาที่ได้ทำโปรเจกต์ส่วนตัวเราเลยพยายามทดลองทำอะไรที่ไม่เคยทำดูบ้าง แล้วพอเราพรีเซนต์ออกไป มันก็จะทำให้คนรู้ว่าเราทำแบบนี้ได้เหมือนกัน ไม่อย่างนั้นเขาก็จะเห็นเราแค่มุมเดียว เราก็จะได้ทำแต่แบบเดิมๆ

“แต่จริงๆ ก็มีปัญหาเหมือนกันนะกับการมีสไตล์ที่หลากหลาย เพราะบางทีลูกค้าไปเจองานเก่าๆ มาและอยากให้เราทำให้ แต่เราเองก็หลุดจากตรงนั้นมาไกลแล้ว ช่วงหลังๆ ก็เลยพยายามลบงานเก่าออกจากเว็บไปเลย ไม่ได้ใช้เว็บเป็นที่เก็บ archive แล้ว แต่เหมือนเราใช้เว็บเพื่อพรีเซนต์งานในช่วงเวลานี้ ว่าตอนนี้เราทำแบบนี้ได้มากกว่า” นัดเล่าถึงจุดที่ทำให้เขาต้องตัดใจลบภาพสไตล์เก่าๆ บางชิ้นออกไปในวันที่ตัวเองเริ่มเติบโตขึ้น

Nut Dao

ในกระบวนการเติบโตของนัด ทั้งในแง่ลายเส้น มุมมอง และชีวิต เราอดสงสัยไม่ได้ว่า นัดดาวนิยามบทบาทของตัวเองเปลี่ยนไปไหมจากวันแรกที่เริ่มทำงาน ทุกวันนี้เขาคิดว่าตัวเองคือนักออกแบบ นักวาดภาพประกอบ หรือศิลปิน

“มีช่วงหนึ่งผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า เราต้องเลือกไหม ต้องโฟกัสแค่สิ่งเดียวไหม แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่า จริงๆ เราแค่ต้องให้น้ำหนัก และต้องรู้ว่าจริงๆ เรากำลังทำอะไรในบทบาทไหนอยู่ 

“เพราะเวลาคนอยากทำอะไรมันก็มีหลายด้าน ถ้าอยากทำงานศิลปะ อยากแสดงงาน เราก็จะไม่ได้ใช้วิธีคิดแบบเดียวกับเวลาที่เราทำงานคอมเมอร์เชียล หรืองานภาพประกอบ เพราะในตัวเราก็มีหลายๆ ด้าน แค่เราต้องรู้ว่ากำลังจะทำอะไรในบริบทไหน เพื่อจะได้เลือกหยิบสิ่งนั้นออกมาพรีเซนต์ให้เหมาะสม” 

 

อารมณ์ สังคม และการเมือง ล้วนไม่แยกขาดจากกัน

“หลายครั้งเราใช้งานส่วนตัวเพื่อทำความเข้าใจตัวเอง” นัดเกริ่นเมื่อเราชวนเขาคุยถึงคุณค่าของจากการทำงาน สิ่งหนึ่งที่นัดต้องทำความเข้าใจกับตัวเองอยู่เสมอก็คือ ความรู้สึกกระอักกระอ่วนที่เกิดขึ้นในจิตใจ เหมือนกับไอเดียที่เป็นคอนเซปต์ของ Dilemma นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของนัด

“มันคือเซนส์ของความกระอักกระอ่วนเวลาเราเจอความจริงหลายๆ ชุดเข้ามาปะทะ แล้วกลายเป็นความรู้สึกที่ไม่รู้จะวางตัวเองไว้ตรงไหน หรือว่าเราควรทำอะไรดี สมมติเราเห็นข่าวการเมืองสักข่าว เช่น แอคชันการสาดสีใส่ตำรวจ เราก็ต้องกลับมาค่อยๆ นั่งดูว่ามันเอฟเฟกต์อะไรกับจิตใจเรา เราไม่สามารถพูดได้ทันทีว่าอะไรผิดอะไรถูก เราจะรู้สึกกับมันยังไงดี จะเทคแอคชันกับมันยังไงดี” 

เบื้องหลังมวลอารมณ์ที่เขาเลือกหยิบมาเป็นคอนเซปต์ในผลงานแต่ละชิ้น หลายครั้งก็มีปัญหาสังคมและการเมืองซ่อนอยู่ ซึ่งงานชิ้นหนึ่งที่เล่าเรื่องนี้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาที่สุดคงหนีไม่พ้น Under the Rug นิทรรศการของเขาที่จัดแสดงช่วงต้นปีที่ผ่านมา

“งานนั้นเราตั้งใจพูดถึงการเมืองมากขึ้น โดยหยิบฟุตเทจจากเหตุการณ์ 14 ตุลามาใช้ประกอบด้วย ซึ่งมันทั้งระบายความรู้สึกของการถูกระบบกดทับของเราเองและคนอื่นๆ ในสังคม

“จริงๆ พวกสภาวะอารมณ์หรือความกระอักกระอ่วนในงานก่อนๆ มันก็มีผลมาจากสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน เวลาที่พบเจอสถานการณ์ที่มันไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม หรือเราอยากพูดเรื่องหนึ่งที่บ้าน แต่มันพูดไม่ได้ จนสุดท้ายต้องถูกกดไว้ เก็บไว้

“การเมืองกับความรู้สึกภายในตัวเรามันเชื่อมต่อกันอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้เราแค่ไม่ได้ยกขึ้นมาพูดให้มันชัด แต่เราจะถอยออกมานิดหนึ่งและพูดถึงสภาวะข้างใน พูดถึงอารมณ์ของเราที่สะท้อนต่อเรื่องนั้นมากกว่า” นัดเล่าถึงประเด็นสังคมและการเมืองที่ถูกซ่อนเอาไว้เบื้องหลังผลงานของเขามาโดยตลอด

Nut Dao

แล้วอะไรทำให้นัดตัดสินใจหยิบยกเรื่องนี้มานำเสนอสู่สายตาผู้ชมเป็นครั้งแรก 

“ในงาน Under the Rug ที่เราตัดสินใจเอาการเมืองมาพูดตรงๆ ตัวแปรหนึ่งก็คือ เราอยากสื่อว่าสิ่งที่เราเห็นคืออะไร คนที่เขาโดนกระทำหรือโดนกดทับอยู่เป็นยังไง เขาก็รู้สึกถึงการกดทับแบบนี้อยู่เหมือนกัน นั่นคือสิ่งที่เราอยากแสดงออกมาให้คนเห็นมากขึ้น เพราะมันเป็นอะไรที่ไม่ถูกพูดถึง บางทีมันถูกเก็บไว้ 

“เราอยากใช้ศักยภาพของภาพประกอบในการพูดประเด็นสังคม ให้มันส่งผลได้เยอะที่สุด เพราะเรารู้ว่างานพวกนี้มันมีศัยภาพในการพูด ดังนั้นเราจึงอยากลองว่ามันจะไปได้แค่ไหน” 

แม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ Under the Rug จัดแสดงในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาด ความตั้งใจของนัดที่อยากใช้ผลงานสื่อสารเรื่องราวในสังคมจึงยังไม่มีโอกาสเข้าถึงกลุ่มผู้ชมมากเท่าที่คิด แต่เขาก็ไม่นึกย่อท้อหรือล้มเลิกความตั้งใจง่ายๆ 

“เสียดายเหมือนกัน แต่เดี๋ยวค่อยทำชุดใหม่” นัดตอบพร้อมหัวเราะเบาๆ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!