คุยกับทีม ‘โพธิเธียเตอร์’ ผู้ตีความบทสวดพาหุงฯ มายิงฉายล้ำๆ ในพระอุโบสถ

Highlights

  • ‘BODHI THEATER: Buddhist Prayer RE-TOLD’ คือโปรเจกต์งานศิลปะของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันแบบเฉพาะกิจ เนรมิตพระอุโบสถวัดสุทธิวรารามให้เป็นเธียเตอร์ขนาดย่อมฉายงานศิลปะในรูปแบบ ‘Projection Mapping’ หรือเทคนิคที่ใช้โปรเจกเตอร์ฉายแอนิเมชั่นและกราฟิกต่างๆ จนเกิดเป็นแสง สี บนพื้นผิว ประกอบซาวนด์น่าตื่นตาตื่นใจ
  • ไอเดียตั้งต้นของโปรเจกต์คือการทำให้ศาสนาเข้ามาใกล้ชิดกับชีวิตคนมากขึ้น และทำให้พุทธศาสนาเป็นเรื่องสนุกและจับต้องได้ โดยยังไม่ทิ้งแก่นสารและคำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนา
  • เนื้อเรื่องที่ฉายในพระอุโบสถตีความมาจากบทสวด 'คาถาชยมงคล' หรือ 'พาหุงมหากา' เนื้อหาว่าด้วยชัยชนะของพระพุทธเจ้าเหนือมาร แบ่งออกเป็น 8 ตอน ซึ่งแม้จะดูมีความแฟนตาซี แต่เมื่อทำความเข้าใจเนื้อหาของบทสวดให้ลึกลงไปกว่าเดิม พวกเขาก็พบว่าหัวใจของบทสวดพาหุงฯ คือการบอกว่า ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการเอาชนะใจของตัวเอง

คุณเข้าวัดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?

สำหรับหลายคน การเข้าวัดครั้งสุดท้ายวนเวียนอยู่แค่ไม่กี่วาระ อย่างการติดสอยห้อยตามญาติผู้ใหญ่ไปทำบุญ ไปงานศพ หรือไปสะเดาะเคราะห์

ในภาพจำของหลายๆ คน วัดยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ขรึมขลัง และไม่น่าเฉียดกรายเข้าใกล้ การจะนึกให้วัดเป็นพื้นที่สำหรับงานสร้างสรรค์ หรือสถานที่แฮงก์เอาต์ในช่วงวันหยุด ยิ่งดูเป็นไปไม่ได้ใหญ่

แต่ใครจะไปนึกว่าเดี๋ยวนี้ ในวัดก็มีนิทรรศการศิลปะสามมิติแบบล้ำๆ ก่อนอื่นเราขอให้ลืมภาพมหรสพแบบเดิมๆ ที่จัดในวัดไปได้เลย ที่สำคัญคือไม่ใช่พุทธศิลป์แบบขนบที่ต้องลงรักปิดทอง ใส่ลายกระหนก หรือสวมชฎาอลังการ  แต่เป็นศิลปะแนวใหม่ในพระอุโบสถวัด ที่มีทั้งแอนิเมชั่นสามมิติ แสงเลเซอร์ และซาวนด์เอฟเฟกต์จังหวะตื๊ดๆ หนักๆ ซึ่งตีความจากบทสวด ‘ชัยมงคลคาถา’ หรือบทสวดพาหุงฯ ที่คนไทยคุ้นเคย  แต่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจ ยังไม่ซาบซึ้งถึงความหมาย และแก่นสารที่ซ่อนภายใน

โปรเจกต์งานศิลปะในวัดที่ว่านี้คือ ‘BODHI THEATER: Buddhist Prayer RE-TOLD’ ของกลุ่มศิลปะรุ่นใหม่ที่รวมตัวเฉพาะกิจ เนรมิตพระอุโบสถวัดสุทธิวรารามให้เป็นเธียเตอร์ขนาดย่อม เพื่อเป็นพื้นที่ฉายงานศิลปะในรูปแบบ ‘Projection Mapping’ หรือเทคนิคที่ใช้โปรเจกเตอร์มาฉายแอนิเมชั่นและกราฟิกต่างๆ จนเกิดเป็นแสง สี เสียงบนพื้นผิว

ซึ่งในที่นี้ ศิลปะแมปปิ้งจะนำไปฉายอยู่บนผนังด้านข้างของอุโบสถ และด้านหน้าพระประธาน ซึ่งเป็นการแปลงโฉมให้วัดเป็นเหมือนโรงละครที่มีมิติความกว้างลึก และลดหลั่นจนดูเป็นภาพฉายสามมิติ ที่คนดูจะเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในเรื่องราวด้วย เพราะมีการฉายแสง สี และซาวนด์เอฟเฟกต์น่าตื่นตาตื่นใจโอบล้อมทุกทิศทาง

การทำให้วัดดูเป็นมิตรสำหรับคนรุ่นใหม่ จึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องเพ้อเจ้อเพ้อฝันอีกต่อไป

เราขออาสาพาไปทำความรู้จักทีมศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์โพธิเธียเตอร์ ที่จะมากะเทาะเปลือกให้เห็นถึงแก่นความคิด และเปลือยให้เห็นเสื้อผ้าที่เปลี่ยนไปในการห่อหุ้มธรรมะ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่เริ่มโปรเจกต์ ทั้งแนวคิด การตีความบทสวด การสร้างคาแร็กเตอร์ตัวละครในเรื่อ งการดีไซน์ดนตรีประกอบ และการติดต่อวัดเพื่อเข้าไปติดตั้งการแสดง

เมื่อคำสอนเดิม ผนวกกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนเกิดเป็นงานศิลปะสุดล้ำ ที่จะทำให้การไปวัดของคุณไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…

รวมตัวเฉพาะกิจ เนรมิตวัดให้เป็นเธียเตอร์

โปรเจกต์ ‘BODHI THEATER: Buddhist Prayer RE-TOLD’ เกิดจากการรวมตัวกันของศิลปินรุ่นใหม่ที่เคยร่วมงานกันในทำงานนิทรรศการ ‘กลับตาลปัตร’ ได้แก่ อู๋–ธวัชชัย แสงธรรมชัย แห่งเอเจนซี่ WHY NOT Social Enterprise รับอาสาดูแลกระบวนการผลิตในฐานะ Project Manager, สองศิลปินจาก Another Day Another Render แก่น–สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์ Animator ผู้ออกแบบงานภาพเคลื่อนไหว และ ป้อง–ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์ ผู้ดูภาพรวมงานดีไซน์, ฮ่องเต้–กนต์ธร เตโชฬาร Character Designer และ จั้ม–ก่อเกียรติ ชาติประเสริฐ Sound Designer

แกนไอเดียของโปรเจกต์ ‘BODHI THEATER: Buddhist Prayer RE-TOLD’ หรือ ‘โพธิเธียเตอร์’ คือการพยายามทำให้ศาสนาเข้ามาใกล้ชิดกับชีวิตคนมากขึ้น ให้พุทธศาสนาเป็นสิ่งจับต้องได้ และไม่จำเป็นต้องปีนขึ้นไปบูชาบนหิ้งเพียงอย่างเดียว แต่สามารถดึงลงมาให้อยู่ในศิลปะ อยู่ในชีวิตของผู้คน และอยู่ในบทสนทนาได้ไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ

อู๋เกริ่นให้ฟังถึงแนวคิดตั้งต้นของการทำโปรเจกต์ ‘โพธิเธียเตอร์’ ว่า “เรามีคำถามตลอดว่า ที่คนไม่เข้าวัด มันต้องแก้ที่คนหรือต้องแก้ที่วัดกันแน่ เรารู้สึกว่าต้องแก้ที่วัด ว่าวัดจะปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ได้ยังไง มีบางคนถามเหมือนกันว่าถ้าอยากให้วัยรุ่นดู ทำไมไม่ไปจัดที่สยามหรือในห้าง การชวนเด็กมาวัดยากมากเลยนะ แต่สิ่งที่เราอยากทำคือการ optimize พื้นที่วัด ปกติคนมาทำบุญช่วงเช้า มาวัดอีกทีคืองานศพช่วงค่ำ อย่างตอนบ่ายๆ ไม่มีคนเข้าวัดเลย เราจะทำยังไงให้คนมาในช่วงบ่ายได้ด้วย”

แนวคิดเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่อีกชั้นคือการชวนคนเข้าวัด พื้นที่วัดน่าจะไปได้ไกลมากกว่าแค่สถานที่ประกอบศาสนพิธี อู๋ถึงมีความตั้งใจว่า “เราอยากทำให้วัดเป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์ได้ด้วย ในขณะที่เราชวนเพื่อนไปร้านกาแฟ ไปห้าง หรือไปพิพิธภัณฑ์ ทำไมวัดถึงไม่เป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์แบบนั้น เราน่าจะมาเที่ยววัด ดูศิลปะได้ และได้คำสอนกลับบ้านไปด้วย”

อู๋เสริมว่าศาสนามีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปทุกยุคสมัย เช่น พระไตรปิฎกจากใบลานสู่ออนไลน์ และรูปลักษณ์ของพระพุทธรูปที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่นเดียวกันกับพุทธศิลป์ที่สามารถเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย

ทั้งโปรเจกต์ ‘กลับตาลปัตร’ และ ‘โพธิเธียเตอร์’ จึงเริ่มมาด้วยความเชื่อชุดเดียวกันคือ เสื้อผ้าของธรรมะไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดิม ถ้าแก่นสารเดิมยังอยู่ แต่เราเข้าถึงด้วยวิธีใหม่ได้

“ในวันที่คำสอนทางศาสนายังไม่เปลี่ยนไปและยังมีคุณค่าแบบเดิม แต่เสื้อผ้าแบบเดิมที่คลุมอยู่ ทำให้คนเข้าใจถึงสาระ และเข้าถึงธรรมะจริงๆ หรือเปล่า หรือเข้าถึงแค่เสื้อผ้าแบบเดิมที่ธรรมะได้สวมใส่อยู่

“ศาสนามัน evolve ตัวเองตามยุคสมัยมาเสมอ ยุคนี้เราไม่ต้องเอาพู่กันไปวาดผนังวัดพระแก้วแล้วล่ะ แต่เราจะทำศิลปะอะไรให้คนเข้าถึงหลักธรรมเดิมที่อยู่เหนือกาลเวลาได้บ้าง เราเลยคิดทำศิลปะแบบ Projection Mapping ที่เคยทำในโปรเจกต์กลับตาลปัตรมาแล้ว แต่คราวนี้นำโปรเจกเตอร์มาฉายในพระอุโบสถเป็นเหมือนเธียเตอร์เลย”

เดินหน้าหาวัด

อู๋เล่าหลักเกณฑ์การเลือกวัดที่จะจัดแสดงโชว์นี้ว่า แท้จริงแล้วมีเงื่อนไขอยู่ข้อเดียว คือเจ้าอาวาสต้องยินยอมให้ทำได้

“ต้องให้เครดิตเจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม (พระสุธีรัตนบัณฑิต หรือท่านเจ้าคุณสุทิตย์) ที่ยอมให้เราทำในอุโบสถได้เพราะหลักการเราชัดว่าเราไม่ได้จะมาบิดเบือนคำสอนนะ แก่นยังเหมือนเดิม แต่เปลือกใหม่ สิ่งที่เราทำคือเปลือกเท่านั้น เพราะเปลือกมันเปลี่ยนได้ มันคือศิลปะที่ทำให้เราเข้าใจแก่นข้างในต่างหาก เราทำความเข้าใจคำสอนของศาสนา แต่เปลี่ยนเสื้อผ้าให้น่าดูน่าชม ซึ่งเจ้าอาวาสเห็นสิ่งนี้และไฟเขียวให้เราทำ พอเราเอางานดีไซน์ไปให้เจ้าอาวาสดู ท่านถามเราคนเดียวว่าคนดูเข้าใจพาหุงฯ ใช่ไหม ว่าชัยชนะเหนือพรหมคืออะไร เราพยายามทำให้แก่นสารยังเหมือนเดิม แต่ดีไซน์เป็นหน้าที่ของศิลปิน”

แต่กว่าจะลงตัวที่อุโบสถชั้นสอง ทีมได้ลองใช้ชั้นล่างในการเป็นพื้นที่ติดตั้งการแสดงมาก่อน แต่ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด ด้วยติดปัญหาทางด้านพื้นที่และทางเทคนิค จึงเปลี่ยนมาใช้พื้นที่ชั้นสองของพระอุโบสถแทน

“ตอนแรกเราก็จะใช้อุโบสถชั้นล่าง แต่เพดานเตี้ยเลยมีพื้นที่ฉายน้อย และมีรูปลงรักปิดทองที่หลังคา ทำให้เวลาฉายแล้วสะท้อนทำให้แสงยิงกันมั่วไปหมด เราเลยขอเจ้าอาวาสย้ายมาข้างบน เพราะชั้นสองเพดานสูงถึง 8 เมตร”

หากใครที่เป็นกังวลว่าแสงจากโปรเจกเตอร์จะไปรบกวนหรือทำลายงานจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ฮ่องเต้ได้เตรียมคำตอบไว้สำหรับคำถามและแรงเสียดทานที่จะเกิดขึ้นว่า

“แมปปิ้งเป็นเทคนิคที่ไม่ได้รบกวนสถาปัตยกรรมที่มีอยู่เดิมมากนัก คือแค่เอาโปรเจกเตอร์มาตั้งฉาย สาดแสงลงไปบนพื้นผิว โชคดีที่พระอุโบสถวัดสุทธิวรารามไม่ได้มีภาพจิตรกรรมโบราณแบบที่เมื่อก่อนใช้เปลือกไข่ผสมสีมาวาด แต่ที่นี่เป็นผนังหินอ่อนและภาพเขียนรุ่นใหม่ ฉะนั้นการฉายแสงลงไป ถ้ากลัวว่าจะไปกระทบจิตรกรรมฝาผนัง สำหรับที่นี่น่าจะเป็นปัญหาเล็กกว่าที่อื่นๆ หลักๆ คือแสงจะไปโดนภาพที่วาดขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบอะไรมาก”

เอาบทสวดพาหุงฯ มาปรุงและตีความใหม่

ธรรมะในพระพุทธศาสนามีมากมายในพระไตรปิฎก สอดแทรกอยู่ในพุทธประวัติ นิทานชาดก และบทสวดมนต์ต่างๆ แต่สาเหตุที่ทีมเลือกบทพาหุงฯ หรือชัยมงคลคาถา มาตีความและเล่าเรื่องใหม่ เป็นเพราะ ‘ความแมส’ ของบทนี้ เพราะไม่ว่าจะงานบุญ งานบวช งานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานมงคลต่างๆ ก็ล้วนนิยมสวดบทนี้ แม้แต่ในโรงเรียนพุทธหลายแห่งก็มีการสอนบทสวดมนต์นี้แก่นักเรียนด้วย แต่น้อยคนนักที่จะรู้เนื้อหาสาระของคำบาลีที่พร่ำออกมา

อู๋สรุปให้ฟังถึงเนื้อหาของบทพาหุงฯ หรือชัยมงคลคาถาว่า “เนื้อหาว่าด้วยชัยชนะของพระพุทธเจ้าเหนือมารซึ่งมี 8 ตอน เช่น พระแม่ธรณีบีบมวยผม องคุลีมาล พญามาร งูยักษ์ ช้าง พกาพรหมผู้มีฤทธิ์ ฯลฯ เรื่องชัยชนะ ถ้ามองลึกลงไปเราจะเห็นว่าองคุลีมาลเป็นตัวแทนของอะไร แล้วพระพุทธเจ้าชนะด้วยธรรมอะไร จริงๆ แล้วคือชัยชนะเหนือตนเอง ซึ่งธรรมะเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในปี 2019 และตลอดไป

ทีมจึงนำบทแปลพาหุงฯ ฉบับภาษาไทยที่เคยมีคนแปลและถอดความไว้แล้ว ออกมาคลี่ดูเรื่องราว ดูตัวละคร ดูหลักธรรมในเรื่อง วางโครงเรื่องคร่าวๆ ว่าจะมีฉากอะไรบ้าง และสามารถแปลงเป็นภาพแบบไหนได้บ้าง

“พอจะทำบทสวดมาเป็นโชว์ก็น่าจะเห็นภาพที่ตื่นตาตื่นใจ เนื้อหาพาหุงฯ ก็เอื้อ เพราะเรื่องราวมีความแฟนตาซีหน่อยๆ มีทั้งกองทัพช้างบุก มีช้างตกมัน มีน้ำท่วม มีเทพทรงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ จึงเป็นเหตุผลให้เลือกบทพาหุงฯ ทั้งด้านธรรมะและด้านการดีไซน์โชว์”

ฮ่องเต้เล่าว่า บทชัยมงคลคาถาเป็นราวเรื่องที่อยู่ในพระไตรปิฎกอยู่แล้ว เนื้อเรื่องคร่าวๆ คนอาจจะเข้าใจกันมาบ้างแล้ว สิ่งที่โชว์นี้จะทำจึงไปไกลกว่าการเล่าเรื่องย่อตอนต่อตอน แต่คือการนำบทสวดมาตีความและเล่าเรื่องใหม่ “สิ่งที่จะได้เห็นคือมู้ดและจินตนาการของพวกเราที่ฉายออกมาเป็นภาพ ครบรสด้วยแสง สี เสียง มากกว่าที่จะทำเพื่อเล่าเรื่องแบบสรุปเหตุการณ์”

ช่องว่างในตัวบทจึงเป็นเหมือนการเปิดพื้นที่สำหรับจินตนาการอย่างเต็มที่สำหรับศิลปิน

“เพราะมันไม่ได้มีบอกไว้ในบทสวดว่าช้างหน้าตายังไง แล้วสัตว์สมัยโบราณกับสัตว์สมัยนี้ก็หน้าตาไม่เหมือนกัน ปาฏิหาริย์ในพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่เป็นเชิงสัญลักษณ์เพื่อขยายธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง อย่างตอนที่เล่าว่าพญามารมีอิทธิฤทธิ์มาก ขี่ช้างใหญ่เท่าภูเขา เอาพายุและสายฟ้าเป็นอาวุธ ฟังดูแล้วเหมือนเทพ เรามองว่าดีเทลเหล่านี้ไม่ใช่แก่นสารสำคัญ เราสามารถตีและดีไซน์เพิ่มเติมได้ เช่นเดียวกับคนที่วาดจิตรกรรมฝาผนังที่ไม่มีใครเคยเห็นพรหม แต่เขาก็วาดได้ เพราะเกิดจากจินตนาการร่วมสมัยในยุคยุคหนึ่ง ซึ่งจินตนาการในยุคนี้ก็อาจจะเป็นแบบนี้ได้” ฮ่องเต้เสริม

ออกแบบตัวละครจากบทพาหุงฯ

ป้อง ศิลปินผู้ดูแลเรื่องดีไซน์ตัวละครเล่าให้ฟังว่า ความท้าทายของงานนี้เหมือนการคิดสัญลักษณ์ใหม่ๆ ในทางพุทธศาสนา “มันน่าสนุกมากที่เราจะได้รีดีไซน์หมดเลย มีช่องว่างให้เล่นได้เยอะ คือทีแรกความหนักใจของการดีไซน์ เราไม่แน่ใจว่าต้อง traditional ไหม การดีไซน์ของเราจะไปทำให้ใครขุ่นเคืองหรือเปล่า ทั้งในกรอบความเชื่อและสถานที่ที่อยู่ในวัด เราพัฒนาดีไซน์ให้มีส่วนคล้ายกับของที่เป็นขนบ และเป็นแบบ experimental ไปเลย เราจะรีดีไซน์ใหม่ไปเลย เช่น ยักษ์ หรือพรหม โดยเฉพาะพรหมที่ให้ความรู้สึกเป็น cosmic being เหมือนทานอส เพราะตัวละครเหล่านี้ไม่เคยมีใครเห็นในชีวิตจริง เราจับแค่แก่นสารของมันว่า ออกแบบมาแล้วต้องดูว่าเป็นตัวละครนั้นๆ”

ส่วนที่เป็นศิลปะไทยแบบขนบ ฮ่องเต้จะเข้ามาช่วยดูแลและให้คำปรึกษา เช่น ต้องมีแกนหรือโครงร่างบางอย่างของงานดีไซน์ที่คนดูแล้วรู้ทันทีว่าคือตัวอะไร เช่น เหตุการณ์มารวิชัย ที่จะเห็นเป็นพญามารเข้ามาจากสองข้าง

ในฐานะที่ฮ่องเต้คลุกคลีกับศิลปะไทยและพุทธศิลป์มาอย่างช่ำชอง เขาให้ความเห็นว่า “ศิลปะในพระพุทธศาสนามีการรีดีไซน์มาเรื่อยๆ อยู่ที่การตีความของศิลปิน มีรับมาจากของเดิมบ้าง และนำมาใช้แบบที่คนเห็นแล้วคุ้นเคย งานนี้ก็เป็นการตีความในยุคนี้ที่เราจะถ่ายทอดพาหุงฯในแบบของเรา ฉากพญามารขี่ช้างก็ยังไม่เปลี่ยน แต่มีการปรับดีไซน์ เราจะถ่ายทอดพุทธศิลป์ในแบบของเรา”

ส่วนด้านภาพเคลื่อนไหว แก่นเล่าให้เราฟังว่าได้ตีความหลุดกรอบจากแบบเดิม โดยโยงให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบันมากขึ้น “มีดราฟต์หนึ่งที่ตีความคนนินทา ว่าเป็นเพื่อนในออฟฟิศนินทากันเลย อยากจับเข้ากับยุคสมัยใหม่ เพราะคนยังมีภาพจำบางอย่างที่เวลาพูดถึงบทนี้จะต้องเห็นช้าง เราก็พยายามประนีประนอมระหว่างของเก่ากับของใหม่ แต่สุดท้ายแล้วคนจะได้เห็นอะไรที่ใหม่อยู่ดี”

แก่นเล่าการตีความจากพาหุงฯ ที่หลุดกรอบจากของเก่าไปเลย เช่น ฉากที่มีปากอ้าอยู่แล้วมีเด็กทารกไหลออกมา หรือฉากยักษ์ปัดพระเศียรพระพุทธรูป เพราะตามเรื่องจริงๆ เป็นฉากที่พระพุทธเจ้าไปนั่งทับที่ยักษ์ แล้วยักษ์จะมาเอาที่คืน พอดีไซน์เป็นโชว์แมปปิ้งจึงตีความว่าพระพุทธเจ้าย้ายที่ได้ ยักษ์โผล่ไปซ้ายขวาได้ เพราะไม่ได้ไปบิดเบือนแก่นเดิม แต่คือการดีไซน์ช่องว่างในตัวบทที่เปิดพื้นที่ให้ตีความได้

ไม้สุดท้ายของกระบวนการคือการออกแบบซาวนด์เอฟเฟกต์และดนตรีประกอบ

จั้ม ศิลปินผู้ออกแบบซาวนด์และดนตรีประกอบแชร์ให้เราฟังถึงกระบวนการทำงานว่า “ตอนเริ่มทำโปรเจกต์นี้ เราพยายามหาบทสวดพาหุงฯ ที่สมบูรณ์ที่สุด ก็ไปหาฟังในยูทูบแล้วพบว่ามีหลายเวอร์ชั่นมากๆ ความยาวก็ต่างกัน สุดท้ายก็ต้องนิมนต์หลวงพี่จากวัดสุทธิวรารามมาอัดเสียงสวดให้ เพราะคิดว่าเวอร์ชั่นนี้น่าจะเป็นกลางที่สุด เราตั้งไมโครโฟนอัดเสียงสวดเพื่อใช้ประกอบกับเพลงที่จะใช้ในโชว์”

เสียงประกอบคือไม้สุดท้ายของการทำงานในกระบวนการออกแบบทั้งหมด จั้มเล่าว่าทุกครั้งที่มีการอัพเดตงาน จะมีเรื่องให้เซอร์ไพรส์ตลอด ทั้งตัวละครและเสียงประกอบที่ต้องปรับใหม่ให้สอดคล้องกับเรื่องราว

“การทำซาวนด์จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายเลย ตอนแรกๆ เราจะแอบดีไซน์เสียงไว้ในหัวว่ายักษ์เสียงแบบนี้ พญานาคเสียงแบบนี้ แต่พอผ่านการตีความของคนในทีม เราก็เฮ้ย ยักษ์มันเป็นแบบนี้เหรอเนี่ย หรืออีกสัปดาห์ถัดมา อ้าว ยักษ์ไม่ได้เป็นแบบนี้เหรอ (หัวเราะ) บางทีเราก็ขอว่ามันเป็นเพลงแบบนี้ แก้ภาพตามได้ไหม แต่สุดท้ายก็ต้องมาตีความใหม่ร่วมกัน มันเลยทำให้เราอยู่กับเรื่องราวจริงๆ และต้องโฟกัสว่าสุดท้ายคนดูจะได้มู้ดและอารมณ์แบบไหนในฉากนี้

“เสียงจะไปตามภาพ ถ้าภาพกำลังเคลื่อนไหวอยู่ทางซ้าย เสียงก็จะอยู่ทางซ้าย พยายามให้เห็นเสียงที่เคลื่อนไปกับภาพซ้ายขวา เราตั้งใจให้เป็นมากกว่าซาวนด์ดีไซน์ แต่อยากให้เป็นเพลงประกอบด้วย ก็ต้องประนีประนอมระหว่างองค์ประกอบที่ไม่ให้เสียความเป็นเพลง เช่น จะออกแบบเสียงยังไงให้ฟังดูเป็นกองทัพแต่ก็ยังฟังเป็นเพลงอยู่ เราเคยกลับมาแก้ซาวนด์ใหม่หมดเลย เพราะอยากให้ภาพและเสียงเวลาอยู่ด้วยกันแล้วมีเหตุผลของมัน สอดคล้องกันเป็นเรื่องราว และนี่เป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ได้มาเปิดเพลงบีทหนักๆ แบบนี้ในพระอุโบสถวัด (หัวเราะ)”

จากสองมิติบนหน้าจอสู่สามมิติในพระอุโบสถ

เนื่องจากเป็นโปรเจกต์ที่ต้องใช้จินตนาการเยอะ เพราะต้องทำทุกอย่างในคอมพิวเตอร์ก่อนนำไปฉายจริง เพราะเทคนิคการฉายแมปปิ้งบนพื้นผิวปกติที่เซตไว้โดยเฉพาะ จะทำงานได้ง่ายกว่าสำหรับงานดีไซน์ แต่นี่คือพระอุโบสถที่ผนังเป็นลายหินอ่อน ไม่เรียบ บานหน้าต่างที่มีภาพลงรักปิดทอง จึงไม่แปลกที่มีเหตุขัดข้องทางเทคนิคมากพอสมควร ทีมจึงต้องนำงานมาทดลองฉายในพระอุโบสถเป็นระยะๆ

ป้องเล่าให้ฟังว่าการออกแบบตัวละครและฉากต่างๆ จากดราฟต์แรก มีการปรับเปลี่ยนระหว่างทางมาเรื่อยๆ เพราะมีเรื่องทางเทคนิคมาเกี่ยวข้อง

“ตอนเราที่หาเรฟ เราร่างไอเดียบนกระดาษ ยังไม่ได้ลองเข้ามาฉายจริง บางไอเดียอยู่บนกระดาษหรืออยู่บนหน้าจอแล้วดูดีมาก แต่พอมาฉายจริงแล้วดูไม่รู้เรื่องเลยก็มี ตัวอย่างเช่น งูที่ออกแบบให้มีเกล็ด แต่ด้วยความที่งูอยู่ในถ้ำ ปรากฏว่าถ้ำก็มืด งูก็มืด พอมาฉายแล้วไม่รู้เรื่อง บางอย่างสวยอยู่บนจอคอม แต่พอฉายจริงดูไม่รู้เรื่อง เราก็ต้องมาดีไซน์ใหม่ หรือตอนแรกเรากะจะฉายแสงลงบนองค์พระประธานที่เป็นสีทองเลย พอมาฉายจริง แสงกระจายหมดเลย แล้วกลายเป็นอีกสีไป เลยต้องวางแผนใหม่”

ในส่วนของการทำภาพเคลื่อนไหวก็มีอุปสรรคในด้านความชัดเจนของภาพ เพราะข้อจำกัดของพระอุโบสถที่ค่อนข้างมืด แก่นเล่าถึงกระบวนการปรับแก้ภาพเคลื่อนไหวในภาพรวมว่า “ดีไซน์ส่วนใหญ่จะเป็นอะไรที่เรืองแสงหน่อย เป็นเลเซอร์ เลยต้องปรับพื้นหลังให้มืด ปรับตัวละครให้สว่าง ด้วยความที่พระอุโบสถก็มีข้อจำกัดที่ว่าผนังมีลาย ไม่ได้เรียบสนิท เลยต้องปรับคอนทราสต์ให้เยอะมากๆ เพื่อให้คนดูมองเห็นชัด”

จากภาพสองมิติบนหน้าจอ มาโลดแล่นบนเธียเตอร์สามมิติในพระอุโบสถ จะมีการเล่นเรื่องมิติหน้าหลัง ส่วนที่ฉายตรงองค์พระประธานจะเป็นเหตุการณ์หลัก ส่วนด้านข้างจะเป็นเหตุการณ์ที่กำลังเคลื่อนเข้ามา หรือเป็นบรรยากาศข้างๆ เพื่อไม่ให้แย่งซีนกัน และเพื่อเป็นบรรยากาศที่ทำให้คนดูรู้สึกว่ากลมกลืนไปกับเรื่องด้วย เช่น กำลังเห็นช้างอยู่ทางขวา วิ่งไปด้านข้าง งูรัดจากด้านข้างแล้วค่อยๆ เคลื่อนมา เธียเตอร์ในพระอุโบสถจึงถูกดีไซน์เป็นผืนผ้าใบเดียวกัน แต่เว้นจังหวะให้ลดหลั่น และไฮไลต์เหตุการณ์สำคัญให้อยู่ตรงกลาง และสร้างบรรยากาศด้านข้างให้คนดูรู้สึกร่วมไปด้วย

“เราอยากให้คนดูโชว์นี้จบเกิดคำถามในใจว่า องคุลีมาลที่เราเคยเรียนตอนเด็กๆ จริงๆ แล้วสอนอะไรเรา ดูเสร็จแล้วลองคุยกับคนที่มาดูด้วยกัน กลับไปคุยกับคนที่บ้าน อยากให้กลับไปคุยเกี่ยวกับเนื้อหา เก็บผลึกจากบทพาหุงฯ ไปทบทวนว่าดูแล้วรู้สึกอะไร บทสวดที่เคยรู้จักมาทั้งชีวิต ตอนนี้เข้าใจว่าอะไร สุดท้ายแล้วคนเข้าวัด เข้าวัดด้วยจุดประสงค์อะไร การมาดูโชว์แล้วเกิดบทสนทนาระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นฟางเส้นแรกที่ติดไฟ แล้วทำให้ไฟลุกขึ้นมายาวๆ” อู๋ทิ้งท้าย


ขอชวนญาติโยมมาสัมผัสประสบการณ์การชมนิทรรศการศิลปะแบบดิจิทัล ณ พระอุโบสถ วัดสุทธิวราราม (ถนนเจริญกรุง) ที่สำคัญคือเปิดให้เข้าชมฟรี! ในระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม – 9 มิถุนายน 2562 เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ มีการแสดง 7 รอบต่อวัน ตั้งแต่ 14:00-18:00 น. จองบัตรได้ที่ go.eventpop.me/BodhiTheater หรืออ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ bodhitheater.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ

Video Creator

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว