ลื่นไหลในเพศภาวะ Naisu.Chirat นักวาดที่ตั้งคำถามกับเพศและอำนาจผ่านการ์ตูนโป๊

Naisu Chirat

ร่างโป๊ ความเลื่อนไหลของเพศภาวะ (gender fluidity) และความเปราะบางในฐานะมนุษย์ 

เหล่านี้คือถ้อยคำที่ปรากฏขึ้นเมื่อเราได้เห็นผลงานภาพวาดสีน้ำของ Naisu.Chirat หรือ ไนซ์–ปริยนาถ จิรัฐฐิติกาล ที่ยังคงปรากฏร่องรอยเส้นดินสอที่เคยวาดร่าง เมื่อได้สนทนากันเราพบว่าลายเส้นของเธอประกอบด้วยความคิดที่สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งคำถามกับคุณค่าของการ์ตูน อำนาจ และกฎระเบียบต่อเรื่องเพศ

‘การ์ตูนโป๊’ ไนซ์นิยามภาพวาดของตัวเองง่ายๆ เช่นนี้

Naisu Chirat

นักวาดภาพประกอบที่ไม่ได้เรียนด้านภาพประกอบ

แม้ว่าจะเป็นนักวาดภาพประกอบอิสระ แต่ไนซ์ไม่ได้เรียนจบด้านการวาดรูปมาโดยตรง กลับเป็นสาขาภาพยนตร์ต่างหากที่เธอเรียนจบมา “เราชอบหนัง อยากมาเรียนหนัง ชอบอ่านบทความวิเคราะห์หนัง แต่พอได้มาเรียนเรากลับพบว่าเราชอบการคิดเรื่องของมันมากกว่าการทำหนังจริงๆ” 

ไนซ์เล่าว่าในช่วงปีสุดท้ายก่อนจะเรียนจบ นิสิตในภาควิชาภาพยนตร์ทุกคนต้องทำหนังของตัวเองคนละเรื่อง ด้วยความที่ชอบวาดรูปอยู่ก่อนแล้ว แทนที่จะถ่ายหนังผ่านกล้องวิดีโอเหมือนคนอื่นๆ ไนซ์กลับเลือกทำแอนิเมชั่นสั้นๆ ที่ใช้วิธีวาดรูปเป็นหลัก

“เราชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กๆ ชอบวาดการ์ตูนเพราะมีร้านการ์ตูนอยู่หน้าบ้าน สุดท้ายเราพบว่าถึงจะเรียนภาพยนตร์แต่ยังไงเราก็กลับมาสื่อสารด้วยการวาดรูปอยู่ดี เลยเลือกใช้การวาดรูปในการทำงานต่อ อีกอย่างคือพอคนในคณะรู้ว่าเราเป็นนักวาดก็มักมีงานโมชั่นและงานวาดภาพประกอบมาให้ทำ พอเริ่มงานแรกก็มีงานที่สอง สาม สี่ตามมา หลังจากเรียนจบเราเลยทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบอิสระ”

Naisu Chirat

Naisu Chirat

แม้จะชอบวาดการ์ตูนแต่พอรับงานเชิงพาณิชย์มากขึ้นไนซ์กลับได้วาดการ์ตูนน้อยลงทุกที ยิ่งพอทำงานตามใบสั่งไปเรื่อยๆ ไนซ์เริ่มรู้สึกว่ายังมีเรื่องบางอย่างที่อยากจะเล่า แต่ภายใต้สภาวะที่เรียกว่า ‘art block’ เธอจึงยังดึงมันออกมาไม่ได้

“คนที่ทำงานวาดรูปจะมีสภาวะ art block คือวาดรูปไม่ออก ไม่ชอบรูปที่วาด หรือไม่รู้ว่ารูปที่กำลังวาดคืออะไร เรารู้สึกว่า art block คือการที่เราเชื่อมโยงกับงานของตัวเองไม่ได้หรืองานไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรา ทำแล้วเกิดคำถามว่าทำไปทำไม สำหรับเรา การที่คนทำงานสร้างสรรค์สร้างงานไม่ได้ ไม่ใช่เพราะไม่เข้าใจเนื้องานแต่เราไม่เข้าใจตัวเองมากกว่า”

เพศและอำนาจในการ์ตูนญี่ปุ่น

ถึงที่สุดแล้ว สภาวะที่ไม่อาจเชื่อมโยงกับงานที่ตัวเองทำก็ได้หันไนซ์กลับไปสู่จุดเริ่มต้นของเส้นทางวาดรูปอีกครั้ง ไม่ใช่อะไรอื่น แต่คือการ์ตูนญี่ปุ่นของสำนักพิมพ์บงกชและสำนักพิมพ์หมึกจีนที่เคยซื้อจากร้านการ์ตูนหน้าบ้านและอ่านมาตั้งแต่เด็กๆ เหล่านี้ต่างหาก คืออิทธิพลสำคัญที่ส่งให้ไนซ์หลงใหลการวาดรูป

“ในยุคที่เราเติบโตมา การสอนศิลปะในประเทศไทยมักจะบอกว่าการ์ตูนญี่ปุ่นไม่ดี ต่อให้คุณชอบลายเส้นการ์ตูนญี่ปุ่นเขาก็จะไม่สนับสนุนให้ไปทางนั้น แต่ตอนนี้เรากลับมองว่าวิชวลที่ทำงานและพูดบางอย่างกับเราคือสิ่งที่เราควรตามมันไป และถ้าเราจะได้อิทธิพลการวาดรูปมาจากร้านการ์ตูนญี่ปุ่นหมึกจีนหน้าบ้าน มันก็ไม่ได้มีศักดิ์ศรีน้อยกว่าหรือมากกว่าภาพวาดของแวน โกะห์ ที่เนเธอร์แลนด์

“เราตั้งคำถามพื้นฐานกับตัวเองว่า ‘ทำไมเราต้องวาดการ์ตูน’ หรือ ‘เวลาที่ดูรูปการ์ตูนเราคิดเรื่องอะไรบ้าง’ เราพบว่ามันคือเรื่องเพศ เพราะการ์ตูนญี่ปุ่นมันเกี่ยวกับเพศ มันเล่าเรื่องของวัยรุ่นและการ coming of age เช่น การ์ตูนผู้ชายมักมีตัวละครเด็กมัธยมที่ตื่นเต้นกับกางเกงในเพื่อนผู้หญิง หรือพอเป็นการ์ตูนผู้หญิงนี่ยิ่งชัดเลย อย่างประเด็นการแอบชอบเพื่อนร่วมห้อง การสารภาพความรู้สึกกับ senpai (รุ่นพี่) หรือบางเรื่องก็เล่าความเจ็บปวดในจิตใจ (trauma) เกี่ยวกับเพศ การรับรู้เรื่องเพศครั้งแรกของเราก็มาจากการ์ตูนผู้หญิงนี่แหละ”

Naisu Chirat

Naisu Chirat

ไนซ์อธิบายว่าความพิเศษของการ์ตูนผู้หญิงคือผู้เขียนและผู้อ่านที่มักเป็นผู้หญิงจะมีสถานะเป็น sexual agent นั่นคือประสบการณ์ทางเพศของตัวละครมีผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง ในวัฒนธรรมการ์ตูนผู้หญิง ผู้หญิงจึงมีสิทธิเลือกและมีอำนาจในการควบคุมประสบการณ์ทางเพศของตัวเอง ในแง่นี้ ตัวละครผู้ชายที่ปรากฏในการ์ตูนผู้หญิงจึงมีนิสัย คุณลักษณะ หรือกระทั่งอัตลักษณ์ที่แตกต่างไปจากตัวละครผู้ชายในการ์ตูนผู้ชาย กล่าวคือตัวละครผู้ชายในการ์ตูนผู้หญิงถูกประกอบสร้างขึ้นจากสายตา (gaze) ของผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชายจริงๆ แต่เป็นผู้ชายที่ถูกผู้หญิงเขียนขึ้นมา

“การ์ตูนเป็นวัฒนธรรมที่แมส เด็กๆ เข้าถึงได้ บางคนเขาก็ประกอบสร้างแฟนตาซีเกี่ยวกับเพศตรงข้ามผ่านการ์ตูนนี่แหละ ถึงอย่างนั้น ตอนเด็กๆ จะมีคุณครูที่ห้ามไม่ให้อ่านการ์ตูนด้วยเหตุผลว่าการ์ตูนมันโป๊ เราเข้าใจมุมมองของผู้ใหญ่ที่มองว่าการ์ตูนเป็นแบบนั้นนะ แต่สำหรับเด็กๆ น่ะ เราไม่เข้าใจหรอกว่าความโป๊คือเรื่องที่ดีหรือไม่ดี ยิ่งโตขึ้นเราก็ยิ่งคิดว่าโป๊แล้วไม่ดียังไง และเมื่อสมองเราเชื่อมโยงว่าการ์ตูนคือความโป๊ว่ะ ถ้าเราจะกลับมาวาดการ์ตูน เราลองวาดร่างกายที่ไม่ใส่เสื้อผ้าดีไหม”

ภาพโป๊ที่ไม่ใช่วัตถุทางเพศ

“ทุกคนมีทัศนคติต่อสิ่งที่ตัวเองวาดไม่เหมือนกัน มีทัศนคติต่อสิ่งที่เราวาดไม่เหมือนกัน บางคนวาดดอกไม้เพราะเขาอยู่กับดอกไม้ อยู่กับการเกิด การตาย การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เวลาเขาวาดดอกไม้เลยจะวาดโดยมีทัศนคติกับดอกไม้ เช่นเดียวกับร่างโป๊ที่พอเราวาดแบบมีจุดหมาย มันมีทัศนคติของเราแฝงอยู่แน่นอน”

ไนซ์เล่าว่าตั้งแต่เริ่มต้นวาดร่างโป๊ จุดร่วมหนึ่งในรูปวาดของเธอคือตัวละครในรูปที่ล้วนแล้วแต่รู้ตัวว่าถูกจับจ้องอยู่ พวกเขาไม่ใช่วัตถุทางเพศ (sexual object) ที่ไม่รู้ตัวว่าตนเป็นเพียงเครื่องมือสนองความต้องการทางเพศ แต่มีลักษณะเป็นองค์ประธานทางเพศ (sexual subject) พวกเขารู้ตัวดีว่าร่างกายของตนกำลังเปลือยเปล่าและถูกจ้องมองด้วยสายตาของคนนอกในพื้นที่สาธารณะโดยไม่ได้รู้สึกเขินอายหรือคิดปกปิด ตรงกันข้าม ภาพวาดของไนซ์ตั้งใจจะแสดงร่างกายอันเปล่าเปลือยเพื่อกระแทกสายตาของผู้คนที่กำลังจับมองรูปอยู่ด้วยซ้ำ 

พูดอีกอย่างคือ เมื่อตัวละครในภาพวาดของไนซ์ถูกเขียนขึ้นอย่างรู้ตัวว่าจะถูกจับจ้อง การยืนยันจะเปิดเผยร่างกายอันเปลือยเปล่าต่อไปจึงเป็นการยืนยันอำนาจของภาพวาด ตัวละครในภาพวาด และอำนาจของศิลปิน ที่จะไม่เป็นแค่วัตถุทางเพศ

“เวลาพูดถึงผู้หญิง ภาพที่คนเห็นมักมาพร้อมกับบทบาทและการต่อรองบางอย่าง เพราะคุณไม่สามารถเป็นผู้หญิงโดยไม่ต่อรองได้ หรือต้องแสดงออกบางอย่างเพื่อให้ได้อำนาจมา เช่น การทำตัวอ่อนหวานน่ารักหรือพูดจาในโทนเสียงที่คนอยากฟัง เราเลยตั้งคำถามว่าผู้หญิงไม่ต้องเป็นแบบนั้นได้ไหม ถ้าคุณเป็น subject คุณไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตให้มีความรู้สึกนึกคิดในแบบของตัวเอง แต่คุณจะรู้สึกว่าเสียงของคุณสมควรถูกรับฟังโดยที่ไม่จำเป็นต้องมาต่อรองด้วยการแสดงบทบาทอะไรที่สังคมบอกให้ทำ”

ความน่าสนใจอีกอย่างในงานของไนซ์คือการที่ตัวละครในภาพวาดไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ภายใต้กรอบคิดแบบ binary นั่นคือหลักคิดที่ว่ามนุษย์มีเพียงสองเพศคือชายกับหญิง เพราะภาพวาดของไนซ์ลื่นไหลและไปไกลเกินกว่ากับดักทางความคิดในลักษณะคู่ตรงข้าม นั่นจึงไม่แปลกว่าทำไมในภาพวาดหนึ่ง ร่างกายของผู้หญิงกลับมีอวัยวะเพศของผู้ชาย หรือทำไมร่างกายของผู้ชายจึงดูขัดแย้งกับค่านิยมความเป็นชายในสังคม

“พอเรามองร่างกายมนุษย์ เรามองว่าจู๋หรือนมมันไม่ได้มีแค่ฟังก์ชั่นทางชีววิทยาแต่มาพร้อมกับความหมายและเอกลักษณ์เฉพาะตัว เวลาที่วาดภาพเราเลยพยายามจะเป็นอิสระ รื้อทุกอย่าง หยิบแค่ความหมายของอวัยวะมาประกอบสร้างใหม่ตามใจชอบ เราอยากให้ตัวละครที่เราวาดเป็นอิสระและมีความสุขกับ sexual power ของตัวเอง

“เราไม่ได้จะบอกว่าผู้หญิงมีจู๋ต้องเป็น transgender แต่มองให้บริสุทธิ์ว่านี่คือคนที่มีนมและจู๋ และเขาก็ดูมีความสุขดี พยายามไปให้ไกลเกินกว่าการใช้หลักทางชีววิทยามาบอกว่าใครเป็นอะไร ซึ่งเอาจริงๆ การมองแบบนี้มันก็ง่ายกว่าการบอกว่าการมีนมต้องเป็นผู้หญิงหรือเปล่า หรือการมีจู๋เท่ากับผูกโยงความเป็นผู้ชายให้เขาไหม” ไนซ์อธิบาย

กับเรื่องเพศ เราทุกคนล้วนมีความเปราะบาง

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ไนซ์เล่าว่าเธอมีโอกาสไปแสดงงานเล็กๆ ในเทศกาล Bangkok Design Week 2020 ซึ่งนอกจากจะนำผลงานที่ผ่านๆ มาไปจัดแสดงแล้ว เธอยังทำเพนต์ติ้งชิ้นเล็กๆ ใส่ซองไปวางขายเพิ่มด้วย 

“เราทำงานสเกลเล็กๆ ให้คนสามารถซื้อกลับไปได้มากขึ้น มันทำให้เราสังเกตว่าคนที่มาดูงานจะเป็นผู้หญิงและเพศทางเลือกเป็นส่วนใหญ่ แต่มีอยู่โมเมนต์หนึ่งที่เราวาดรูปผู้ชายสองคนไม่ใส่เสื้อผ้าหันหน้ามองกันด้วยสายตาที่มีความรู้สึกบางอย่าง คนที่มายืนดูและซื้อรูปนั้นไปเป็นน้องผู้ชายมัธยม เขาดูชอบและมีความสุขกับการมองรูปนั้นมาก มาดูแล้วยิ้ม ไม่สนใจเราเลย คืองานมันเสร็จไปแล้ว มันไม่ใช่ของเรา งานเป็นของเขาแล้ว เพียงแต่การได้แอบเห็นเขารับความหมายไปจากงานของเราก็เป็นจังหวะเล็กๆ ที่หล่อเลี้ยงให้เราอยากทำงานต่อไป”  

Naisu Chirat

“การ์ตูนที่เราอ่านหรือตัวการ์ตูนที่เราวาดเหมือนเป็นโลกของเรา เป็นเพื่อนของเรา บางทีมันให้ความเข้าใจบางอย่างที่ปลอดภัยกว่าโลกภายนอก หรือบางทีการ์ตูนโป๊ก็เป็นการทดแทนความอ่อนแอในใจ สมมติเราเป็นผู้หญิงแล้ววาดผู้ชาย เราก็จะรู้สึกว่าผู้ชายที่เราวาดปลอดภัยกับเรา เป็นเพื่อนเรา เราสามารถให้เขาทาลิปสติกหรือมีนมก็ย่อมได้ เพราะเขาคือผู้ชายของเรา

“บางทีความอ่อนแอหรือการสร้างพื้นที่ให้เราแสดงความรู้สึกเหล่านี้มันคือการอนุญาตให้ตัวเราเองเปราะบางได้ ดังนั้นการที่เราทำรูปเสร็จหนึ่งรูปแล้วเอาใส่กรอบไปให้คนดู จึงเป็นการประกาศว่าความเปราะบางมันโอเคและทุกคนต่างก็มีความเปราะบางด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งเมื่อต้องดีลกับเรื่องเพศและความรัก ทุกคนมีความรู้สึกไม่มั่นคงอยู่ในใจ มีความกลัว และไม่มั่นใจในตัวเองว่าควรจะแสดงออกมายังไง

“เราไม่ได้ต้องการจะบอกว่าเพศไหนควรรู้สึกแบบไหน แต่งานของเราพยายามทำให้เห็นว่ามีคนที่พยายามเปิดเผยความเปราะบางอยู่ตรงนี้ นั่นเท่ากับว่าถ้าคุณเป็นอีกคนที่กำลังรู้สึกเปราะบางในเรื่องเพศ คุณไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะอย่างน้อยๆ การเห็นรูปของเราจะช่วยยืนยันว่ายังมีคนคนหนึ่งเบื้องหลังรูปวาดนี้ที่เขากำลังรู้สึกเปราะบางอยู่เหมือนกัน”

ติดตามผลงานของไนซ์ได้ที่อินสตาแกรม naisu.chirat

AUTHOR