คู่สีฉูดฉาดและลายเส้นไม่เนี้ยบแบบเด็กๆ ในภาพวาดของ juli baker and summer

กำแพงสีเหลืองมัสตาร์ดที่ปะติดภาพวาดขนาดเล็กใหญ่ไม่เป็นระเบียบอยู่จนเต็ม เก้าอี้ยางสีเหลืองสดใสลาย Yellow Submarine ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจาก The Beatles Museum ลอนดอน รวมไปถึงตุ๊กตาปลาแซลมอนตัวเบิ้มแขวนลอยไปลอยมาจากเพดานที่ได้มาจากตลาดนัดรถไฟ

ข้าวของมากมายสไตล์เฉพาะตัวในห้องทำงานของนักวาดภาพประกอบสาวร่างเล็ก ป่าน-ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ juli baker and summer คนนี้ คงพออธิบายผลงานภาพวาดลายเส้นยึกยือสีสันสดใสที่เราเห็นผ่านตากันจากหน้าปกอัลบั้ม Stay at Home ของสองพี่น้อง Plastic Plastic และหน้าปกนิตยสาร Cheeze ฉบับครบรอบ 12 ปีมาบ้าง

การเติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นแฟนตัวยงของวงดนตรี The Beatles ผู้ชอบสะสมแผ่นเสียงเพลงเก่าๆ และข้าวของวินเทจในยุคฮิปปี้ปี 70 ทำให้ป่านถูกแวดล้อมด้วยบรรยากาศของศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ รวมไปถึงได้สายตาไม่ธรรมดาที่หลุดจากกรอบเกณฑ์อย่างการระบายสีเส้นผมผู้หญิงเป็นสีชมพูแปร๋นจนคุณครูคิดว่ามีปัญหา แต่นั่นทำให้คุณแม่ตัดสินใจส่งป่านไปจับพู่กันและนั่งเรียนศิลปะตั้งแต่อนุบาล 3

ป่านเพิ่งเรียนจบจากสาขาวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เจ้าตัวเลือกเรียนเพราะชอบสเกตช์แบบเสื้อผ้าผู้หญิงสวยๆ แต่ก็ได้รู้ว่าแฟชั่นไม่ได้มีแค่นั้น แต่ยังรวมถึงการไปเดินเลือกผ้า คุยกับช่างตัดเย็บและวางแผนการตลาด ซึ่งไม่ค่อยสนุกนักในสายตาของป่าน แต่นั่นก็ทำให้สาวนักวาดภาพประกอบคนนี้ชัดเจนกับตัวเองมากขึ้นว่า การวาดภาพคือสิ่งที่ชอบและทำได้ดีที่สุดจริงๆ

ถึงไม่มีคำจำกัดความชัดเจน แต่ป่านบอกเราว่างานของเธอเป็นแนวกึ่งๆ Naive Art เหมือนภาพที่เราวาดกันตอนเด็ก คือไม่ต้องเหมือน ไม่สมบูรณ์แบบ แค่ลากเส้นไปโดยไม่คิดมาก และจับคู่สีโดยใช้เซนส์ส่วนตัวว่าน่าจะเข้ากันได้มาละเลงโดยมองข้ามทฤษฎีสีที่เรียนมา (“หรือบางทีในจานสีเหลือสีอะไรก็ใช้สีนั้น” ป่านบอกแล้วโชว์ให้เราดูจานสีที่มีแผ่นสีอะคริลิกแห้งๆ ติดอยู่จนเป็นงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่งได้เลย)

รายละเอียดเล็กน้อยในชีวิตที่ป่านสังเกตจากผู้คนอย่างการแต่งกาย สิ่งที่ได้จากภาพยนตร์ เสียงเพลง รวมถึงการเดินทางอย่างตอนที่ไปฝึกงานด้านแฟชั่นไกลถึงเบอร์ลิน ล้วนถูกถ่ายทอดผ่านฝีแปรงและสีอะคริลิกสุดดิบเห็นรอยแปรงที่ลากผ่านการลงสีทับซ้ำๆ และการผสมกันของสีที่แยกชั้นกันจนแข็งตัว รวมไปถึงสัมผัสนูนๆ ที่สีชนิดอื่นก็ให้ไม่ได้ นักวาดภาพประกอบสาวในกรอบแว่นกลมบอกเราว่านี่เป็นแนวทางที่วาดแล้วสบายใจ และพบว่าก็มีศิลปินที่วาดภาพโดยไม่สนใจความเหมือนหรือถูกต้องเยอะไป อย่างเดวิด ฮอคนีย์, วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ รวมไปถึงตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร

juli baker and summer

juli baker and summer

juli baker and summer

juli baker and summer

juli baker and summer

juli baker and summer

juli baker and summer

juli baker and summer

juli baker and summer

juli baker and summer

juli baker and summer

“แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้อยากหยุดอยู่แค่สไตล์นี้ อยากเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเหมือนเดิมมันก็คงน่าเบื่อ ปีหน้าเราวางแผนว่าจะไปเรียนต่อปริญญาโทด้านศิลปะ เพราะอยากกลับมาเปิดโรงเรียนสอนศิลปะเด็ก ฟังดูน่าสนุกดี อยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์บ้างเพราะอาชีพเราปกติก็ไม่ได้ช่วยอะไรใครมาก เราทำส่วนของเราให้ดีที่สุด ทำเท่าที่ความสามารถเราทำได้ ซึ่งเราว่าศิลปะจำเป็นกับเด็กนะ” ป่านบอกเราถึงแผนการในเส้นทางสายศิลปะที่วางไว้ และเราก็เชื่อว่าน่าจะได้เห็นงานสีสันแปลกๆ ในแบบ juli baker and summer ไปปรากฏอยู่ในสื่อหลากหลายประเภทขึ้นแน่นอนล่ะ

juli baker and summer

facebook | juli baker and summer

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ช่อไพลิน ไพรบึง

ช่างภาพฝึกหัดแห่ง a team junior 12