Pssyppl. ศิลปินที่วาดความโกรธบ้านเมืองเป็นงานศิลปะที่ไม่ยั่วให้โกรธ แต่ยุให้สงสัย

Highlights

  • ม่อน หรือ Pssyppl. คือศิลปินนักวาดภาพประกอบที่แปลงความโกรธและแรงแค้นมาเป็นงานศิลปะการเมืองสีจัดจ้าน อัดแน่นไปด้วยสารที่สื่อถึงความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมและการต่อสู้ของผู้อยู่ใต้อำนาจกับผู้มีอำนาจ
  • แม้จุดเริ่มต้นในการทำงานศิลปะเชิงการเมืองของม่อนจะไม่ได้กำเนิดมาจากความสนใจด้านประวัติศาสตร์การเมืองเป็นหลัก แต่เหตุการณ์ความไม่เป็นธรรมที่ผ่านมาของประเทศบ้านเกิดก็รุนแรงพอที่จะสั่นสะเทือนอารมณ์ของเขา จนเมื่อได้ศึกษาหาความรู้ด้านนี้มากขึ้นก็ยิ่งเกิดความรู้สึกโกรธและอยากสื่อสารมันออกมาผ่านภาพวาด
  • แม้จะได้รับฟีดแบ็กทั้งด้านบวกและด้านลบ และยังมีความเสี่ยงจนต้องปิดบังตัวตน แต่ Pssyppl. ก็ยังคงทำงานต่อไป เพื่อทำหน้าที่เป็นช่องทางระบายความโกรธที่มีต่อบ้านเมืองนี้ และเปิดพื้นที่ในการถกเถียงกันของคนในสังคม

หากรักใครต้องพูดบอกแสดงออกให้เขาเห็นฉันใด

หากโกรธใครที่ไม่แฟร์กับเราก็ต้องแสดงออกให้เขาเห็นฉันนั้น

สำหรับ ม่อน หรือ Pssyppl. งานศิลปะไม่ได้มีหน้าที่แค่เติมความรื่นรมย์จรรโลงใจให้ชีวิตเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อกลางที่พูดถึงประเด็นหนักๆ อย่างความอยุติธรรม การคัดง้างระหว่างผู้มีอำนาจและผู้อยู่ใต้อำนาจ สิทธิเสรีภาพ รวมไปถึงความคับข้องใจต่อประเด็นต่างๆ อย่างที่เห็นได้ชัดเจนในผลงานศิลปะแนวเซอร์เรียลสีสันสดใสของเขา

Pssyppl

ขาเก้าอี้ของผู้มีอำนาจที่สร้างจากตัวคนกำลังล้มครืนลงมา ตึกที่ผู้อยู่อาศัยแต่ละชั้นมีสถานะความเป็นอยู่ตามอำนาจที่ตนมี คนตัวเล็กตัวน้อยที่โดนรองเท้าขนาดใหญ่เหยียบ ฯลฯ

เหล่านี้คือตัวอย่างผลงานเขาที่คุณอาจเคยเห็นผ่านตาตามโซเชียลมีเดียมาบ้าง ด้วยสีสันจัดจ้าน องค์ประกอบที่เป็นสัญลักษณ์ และเทคนิคการเล่าเรื่องแบบปลายเปิด ทำให้งานของเขาเป็นเอกลักษณ์ จดจำง่าย ชวนให้ขบคิดและถกเถียงกับตัวเองรวมถึงคนรอบข้างได้ต่อ จึงไม่น่าแปลกใจที่งานของเขาจะมียอดไลก์ยอดแชร์สูงแตะหลักพันแทบทุกชิ้น

ในวันที่สถานการณ์การเมืองไทยกำลังเดือดพล่านและการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนหนักหน่วงกว่าที่เคย เราจึงต่อสายตรงคุยกับศิลปินหนุ่มที่วาดมวลความโกรธขึ้งนี้ออกมาแทนใจใครหลายคน

 

ระบายความโกรธให้เป็นงานศิลปะ

ก่อนหน้านี้ ม่อนมีประสบการณ์ทำเพจที่เผยแพร่งานศิลปะของตัวเองมาก่อน เพจหนึ่งว่าด้วยความรักความสัมพันธ์​ ซึ่งแม้ผลตอบรับจะค่อนข้างดี แต่เขาไม่เอ็นจอยเท่าไหร่นักเพราะต้องวาดตามความคาดหวังของผู้ที่มาดูงานเป็นหลัก ส่วนอีกเพจคือ Pssyppl. นี่แหละ เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนนั้น เขาใช้เพจนี้โพสต์ภาพวาดที่เสียดสีมุมมองเรื่องเพศในสังคมไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานทีสิสสมัยปริญญาตรี

จนวันหนึ่ง ม่อนผู้กำลังเรียนปริญญาโทด้านไฟน์อาร์ตอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ค้นพบว่าตัวเองสนใจและรู้สึกกับเหตุบ้านการเมืองและสถานการณ์ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ยิ่งเมื่อได้ศึกษาหาความรู้ด้านนี้เพิ่มเติมก็ยิ่งรู้สึกโกรธและไม่พอใจ แรงสั่นสะเทือนนี้ผลักให้ชายหนุ่มเปลี่ยนเพจ Pssyppl. ให้เป็นเพจงานศิลปะการเมืองอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

“พักหลังสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกมากที่สุด ไม่ว่าจะรู้สึกโกรธ เสียใจ ดีใจ หรืออะไรก็แล้วแต่มันไปผูกกับการเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมมองว่าตัวเองไม่ใช่นักพูดหรือนักเขียนที่สามารถเรียบเรียงตัวอักษรให้ออกมาสวยงามได้ แต่ผมสามารถใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการระบายเรื่องที่ไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาเป็นคำพูดได้ และเมื่อได้สื่อสารออกมาแล้ว มันเหมือนเป็น art therapy สำหรับผมด้วย คือได้ปล่อยความรู้สึกไม่ดีไปในงาน ทำให้มูฟออนไปทำงานชิ้นต่อๆ ไปได้”

 

ซ่อนสัญลักษณ์และเปิดกว้างให้ความเห็นที่แตกต่าง

ในช่วงแรกที่เริ่มวาดภาพเชิงการเมือง ม่อนเลือกวิธีการสื่อสารที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา อย่างภาพบัตรเลือกตั้งกับข้อความ DEMOCRACY WINS ที่กำลังโดนทำลายผ่านกล่องนับคะแนน ก่อนจะค่อยๆ พัฒนารูปทรง สี สัญลักษณ์ รวมถึงสารที่ต้องการสื่อให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อที่คนดูดูแล้วจะได้เกิดความสงสัยและตีความได้หลากหลายกว่าเดิม ซึ่งการเติบโตนี้เป็นผลจากการทำงานดิจิทัลเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียและทำงานไฟน์อาร์ตในชั้นเรียนควบคู่กันไป

ม่อนเล่าว่า สิ่งที่จุดประกายให้เขาอยากเลือกใช้สัญลักษณ์ในงานศิลปะแทนการพูดถึงตรงๆ คืองานเพนต์ติ้งชื่อ The Ambassadors ที่เขาได้เห็นในชั้นเรียนปริญญาโท ดูเผินๆ อาจเป็นแค่รูปวาดทั่วไป แต่หากดูลึกในรายละเอียดจะเห็นสัญลักษณ์อย่างลูกโลกและเครื่องดนตรี ที่ศิลปินเลือกใช้เพื่อสื่อสารเมสเซจที่ต้องการ

“ภาพนั้นทำให้ผมเห็นว่าเราสามารถเลือกใช้สัญลักษณ์เพื่อบันทึกเหตุการณ์ที่เห็นหรือผ่านตาไว้ในรูปได้ เวลาทำงานช่วงหลังผมจึงเริ่มซ่อนดีเทลเอาไว้ ให้คนมาเห็นแล้วเกิดความสงสัยว่าทำไมเป็นรูปและสีแบบนี้ ผมเลยเริ่มคิดเยอะขึ้นกับการใส่อะไรลงไปในแต่ละรูป เพราะอยากให้คนชินเป็นนิสัยว่าเวลาดูงานศิลปะไม่ใช่ให้ดูแค่ผ่านตาว่าสวย แต่ดูแล้วได้สะท้อนกับตัวเองหรือได้สงสัยว่าสิ่งนี้บ่งบอกถึงอะไรในยุคสมัยที่งานถูกสร้างขึ้น”

Hans Holbein the Younger, ‘The Ambassadors’ Courtesy of The National Gallery, London

ช่วงหลังมานี้จึงมีหลายครั้งไม่น้อยที่คนขอให้ม่อนอธิบายแนวคิดของผลงานให้ฟัง แต่เขาก็เลือกปฏิเสธไป เพราะต้องการเปิดพื้นที่ให้คนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้พูดคุยถกเถียงกัน

“ผมเชื่อว่างานศิลปะไม่มีขอบเขต แต่มันมีผลพวงของมัน ดังนั้นเวลาเลือกประเด็นผมเลยไม่เคยคิดถึงกรอบ แต่จะคิดถึงผลกระทบที่อาจตามมา จะต้องรีเสิร์ชข้อมูลก่อน เช่น มีรูปหนึ่งที่วาดอิงกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ก่อนวาดผมก็ต้องรีเสิร์ชว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสมันดีจริงไหม มันนำเสนอการต่อต้าน การปฏิวัติ หรือความรุนแรง เราต้องดูผลกระทบหลายๆ ด้านด้วย แล้วค่อยเลือกสัญลักษณ์ที่อยากดึงมาใช้ ซึ่งพอเราวาดภาพเหตุการณ์ปัจจุบันแล้วศึกษาอดีตไปด้วย มันจะเกิดจุดเชื่อมระหว่างสองเรื่องราว ก่อให้เกิดรูปใหม่บนฐานของข้อมูลเก่า และต่อยอดไปเรื่อยๆ อีกได้”

Pssyppl

 

นำด้วยความโกรธ ตามด้วยใจความสำคัญ

อย่างที่บอกว่างานของม่อนมีความโกรธขึ้งเป็นแรงขับเคลื่อน องค์ประกอบที่ใช้สื่อสารภายในภาพจึงแสดงออกถึงความรุนแรง เช่น สีแดงของผิว กริยาท่าทางหน้าตาของตัวคน ขนาดของตัวคนที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วเพื่อบ่งบอกถึงอำนาจ หรือกระทั่งชนชั้นของตัวคนที่แสดงออกผ่านชั้นของสิ่งก่อสร้าง

แม้จะใช้ความโกรธเป็นตัวนำ แต่กว่าจะจัดวางทุกองค์ประกอบออกมาเป็นภาพให้เราเห็นนั้น ม่อนคิดไตร่ตรองมาแล้วเป็นอย่างดี

“ผมเคยทำงานด้วยความโกรธเพียวๆ คือใช้อารมณ์แล้ววาดเลย สุดท้ายงานออกมาไม่ดี เลยต้องเก็บความรู้สึกนั้นเอาไว้ก่อน พยายามอยู่กับความรู้สึกนั้นตอนวาดแล้วเปลี่ยนมันมาเป็นเครื่องมือของเรา มากกว่าที่จะเอาความรู้สึกนั้นใส่ไปในงานเพียวๆ ตอนนี้บางทีความโกรธก็หายไปก่อนจะเริ่มวาดด้วยซ้ำ เพราะสุดท้ายแล้วมันขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการให้คนเห็นหรือรู้สึกอะไรกับงานเรา ไม่ใช่แค่อยากให้เขาเห็นว่าเราโกรธก็เลยวาดแบบนี้”

 

งานที่นำเสนอจุดยืน ย่อมมีคนชอบและมีคนเกลียด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อทำงานศิลปะการเมือง ฟีดแบ็กที่ได้รับมักจะมีความสุดโต่งกว่าแค่สวยหรือไม่สวย ชอบหรือไม่ชอบ เพราะสุดท้ายต่อให้ไม่ได้พูดหรือแสดงตัวเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ซีนที่ศิลปินเลือกมานำเสนอก็สามารถบ่งบอกถึงจุดยืนทางความคิดอยู่แล้วไม่มากก็น้อย

“ผมตกใจที่เห็นคนชอบงานเราเยอะกว่าที่คิด คนเกลียดก็มีบ้าง ที่จริงผมชอบกระแสลบๆ นะ มันทำให้เรารู้อะไรเยอะขึ้น ฟีดแบ็กที่ดีมันดีต่อใจอยู่แล้ว แต่ฟีดแบ็กที่ไม่ดีทำให้รู้ว่าสัญลักษณ์ที่เราเลือกใช้มันไม่สามารถสื่อได้กับคนทุกคน ต้องปรับปรุงเรื่อยๆ ผมเลยไม่มายด์มากกับฟีดแบ็กด้านบวกหรือด้านลบ เพราะสุดท้ายเวลาเราแสดงความรู้สึกออกไปในรูปแล้ว เหมือนกราฟความรู้สึกเรามันนิ่งแล้ว ทำให้สามารถรับข้อมูลหรือฟีดแบ็กกลับมาได้เต็มที่เพื่อนำมาปรับปรุงในชิ้นต่อๆ ไปได้”

“ส่วนเรื่องความเห็นไม่ตรงกันมันมีแน่ๆ อย่างล่าสุดมีบางเพจแชร์งานเราไปและมีความเห็นไม่ตรงกับเรามากนัก ทัวร์ก็มาลง ซึ่งปกติผมก็นั่งไล่อ่านคอมเมนต์บ้าง แต่อันไหนที่เป็น hate speech ก็ปล่อยผ่าน ไม่ได้มีประโยชน์เท่าไหร่ อย่างเมื่อก่อนมีคนเอาข้อมูลมากาง บอกว่าคุณวาดแบบนี้แต่ข้อมูลจริงๆ เป็นแบบนี้นะ หรือเขาตีความรูปของเราไปในอีกทางหนึ่งแล้วบอกว่าเราสื่อสารแบบนี้ไม่ถูกว่ะ ผมรู้สึกว่าฟีดแบ็กแแบบนี้มันดี ทำให้เกิดการโต้เถียงในสังคม คุยกันได้ และเห็นมุมมองของอีกฝั่งมากขึ้น ส่วนใหญ่คนมักจะคอมเมนต์ถึงสัญลักษณ์ที่เราใช้ว่าไม่ตรงกับจริต หรือข้อมูลที่แปลออกมาแล้วไม่ตรงกับเขามากกว่า แต่บางคนที่มาด่าแบบใช้ hate speech อย่างเดียวก็น่าเศร้าเหมือนกัน”

Pssyppl

 

เสรีภาพในการแสดงออกคือสิทธิที่ศิลปิน (และทุกคน) พึงมี

ในฐานะศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับการเมือง ม่อนผู้ยังต้องปิดบังข้อมูลส่วนตัวอยู่มองว่า นี่คือหนึ่งในความผิดปกติของสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด

“มันไม่ค่อยเมคเซนส์ที่เราทำงานศิลปะที่บางครั้งถูกคัดกรองมาแล้วด้วยซ้ำว่าถ้าใช้สัญลักษณ์แบบนี้จะปลอดภัย แต่สุดท้ายก็ยังรู้สึกกลัวอยู่ดี วงการศิลปะไม่ควรมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องของการแสดงออก เป็นการนำเสนอวิชวลให้คนเข้ามาชมแล้วถกเถียงกัน อย่างที่ผมบอกว่าศิลปะไม่มีลิมิตแต่มันมีผลที่ตามมา ถ้าบางทีเราใช้สัญลักษณ์ที่ไป offend ใครก็ต้องยอมรับในผลของมันด้วย”

แล้วถ้าวันหนึ่ง #การเมืองดี มันเกิดขึ้นได้จริงๆ คิดว่าผลงานของคุณจะออกมาเป็นยังไง–เราตั้งคำถามฝันใหญ่ ทั้งที่รู้ข้างในว่าวันหนึ่งที่ว่านั้นจะเกิดขึ้นวันไหนก็ไม่รู้

“ผมว่าตอนนั้นบริบทของงานน่าจะยังอยู่ นั่นคือการเสียดสีสังคม ต่อให้เราก้าวข้ามเรื่องการเมืองไปได้แล้ว แต่หลายเรื่องในประเทศไทยหรือแค่กรุงเทพฯ ก็มีเรื่องให้วาดเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการจราจรหรืออะไรที่เป็นเรื่องยิบย่อยต่อยอดจากการเมือง คิดว่าถ้าทำต่อไปก็มีเรื่องให้วาดเรื่อยๆ นั่นแหละ”

หลังจากคุยจบ ไม่กี่วันหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมบริเวณรัฐสภา ในหน้าฟีดเฟซบุ๊ก เราเห็น Pssyppl. โพสต์ภาพวาดพลทหารยืนถือสายยางฉีดน้ำสีม่วงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมตัวเล็กจ้อย ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเขารู้สึกยังไง

นิ้วมือเลื่อนกดอีโมจิโกรธแบบไม่ต้องคิด

ฝันใหญ่ที่เราเคยตั้งคำถามกับม่อนไปเมื่อไม่นานนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันนะ  

Pssyppl

AUTHOR