HAUS OF EVERYTHING ป๊อปอัพสตูดิโอของ DUCTSTORE ที่บอกว่าสิ่งพิมพ์ที่ใช่ไม่มีวันตาย

Highlights

  • DUCTSTORE The Design Guru คือบริษัทออกแบบของ หมู–นนทวัฒน์ เจริญชาศรี นักออกแบบที่ทำงานดีไซน์ครบเครื่องครอบจักรวาลมาตลอดระยะเวลา 20 ปี
  • นอกจากงานออกแบบ หมูยังรักสิ่งพิมพ์และเชื่อมั่นว่ามันไม่มีวันตาย ในปี 2018 เขาจึงก่อตั้ง EVERYTHING สิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ที่พูดเรื่องดีไซน์ ไลฟ์สไตล์ และวัฒนธรรม โดยเวอร์ชั่นสิ่งพิมพ์แต่ละฉบับไม่มีขาย แต่ส่งให้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น
  • ในงาน Bangkok Design Week 2020 พวกเขายกทีมมาเปิดสตูดิโอชั่วคราวในโกดังบ้านเลขที่ 1 เจริญกรุง เพื่อให้ผู้ชมได้ทำสิ่งพิมพ์ EVERYTHING ฉบับของตัวเอง รวมถึงโชว์เคสโปสเตอร์ 101 ฉบับจากนักออกแบบทั่วเมืองไทย เพื่อยืนยันว่า 'สิ่งพิมพ์ยังไม่ตาย'

เรามักได้ยินคนเปรียบเปรยเรื่องง่ายๆ ว่าเป็น ‘เรื่องหมูๆ’ แต่ถ้าคุณได้เห็นงานครีเอทีฟทั้งหมดของ หมู–นนทวัฒน์ เจริญชาศรี แห่ง DUCTSTORE The Design Guru และบริษัทอื่นๆ ในเครือ ความหมายของ ‘เรื่องหมูๆ’ อาจเป็นเรื่องราวของชายหนุ่มนักออกแบบชื่อหมูวัย 46 ปี ที่ทำงานดีไซน์ครบเครื่องครอบจักรวาลและสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์น่าประทับใจชนิดหาตัวจับยากตลอดระยะเวลา 20 ปีที่เขาอยู่ในวงการออกแบบของเมืองไทย

วันที่เราพบกันเขาสวมใส่เครื่องแต่งกายสีดำสนิทตั้งแต่หัวจรดเท้า ไล่เรียงตั้งแต่แว่นดำที่ใส่จนเป็นซิกเนเจอร์ ไปจนถึงรองเท้าหนังดำขลับ เขากำลังก้าวว่องไวจากลานจอดรถมายังทางเข้าโกดังเก่าแก่ของบ้านเลขที่ 1 แห่งเจริญกรุง ที่ตอนนี้รับบทเป็นสตูดิโอชั่วคราว HAUS OF EVERYTHING ฐานทัพของทีมเกือบทั้งออฟฟิศเพื่อร่วมทำกิจกรรมในงาน Bangkok Design Week 2020 เป็นเวลาทั้งหมด 9 วัน

haus of everything

ทีมงานที่เราพูดถึงกำลังทำ EVERYTHING คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่สร้างสรรค์โดยนักออกแบบมืออาชีพเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมร่วมสมัยที่โคตรเท่และสดใหม่ในประเด็น ‘Design / Style / Culture’ เผยแพร่ผ่าน iameverything.co และที่ฮือฮามากเป็นพิเศษคือมันถูกผลิตออกมาเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีจำนวนจำกัด แถมสวยงาม ฉูดฉาด น่าสะสม และน่าตื่นเต้นเมื่อได้สัมผัส เพราะคนอ่านอย่างเราคาดเดาทิศทางการวางเลย์เอาต์และการเลือกใช้วัสดุการพิมพ์แทบไม่ได้จนรู้สึกเซอร์ไพรส์ไปเสียทุกเล่ม

นอกจากงานสิ่งพิมพ์ของพวกเขาจะสนุกและแหวกแนวเป็นบ้า การที่เราได้มาเห็นเขาและทีมทำงานจริงอย่างแข็งขันและเมามันในป๊อปอัพสตูดิโอก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีต่อใจ จนน่าบอกต่อให้คนอื่นได้รับรู้ไปพร้อมๆ กัน

haus of everything

เปลี่ยนบรรยากาศทำงานด้วยป๊อปอัพสตูดิโอแปลกใหม่

“ป๊อปอัพสตูดิโอครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่เราออกมาทำงานกันข้างนอก ก่อนหน้านี้คือเมื่อตอนน้ำท่วมปี 2554 ตอนนั้นทีมเราครึ่งหนึ่งย้ายไปทำงานกันที่บางแสน จังหวัดชลบุรี เป็นเวลา 3 เดือน เพราะบ้านผมอยู่ที่นั่น ในตอนนั้นน้ำท่วมกรุงเทพฯ จนเกือบหมด เรารอไม่ได้อีกแล้วเลยตัดสินใจย้ายกันไปทำงานที่นั่นก่อน” 

เขาเริ่มเกริ่นให้เราฟังถึงจุดตั้งต้นของไอเดียการทำงานนอกสถานที่ครั้งแรกของออฟฟิศ เพราะโดยปกติแล้วฐานที่มั่นของเขาและทีมกว่า 40 ชีวิตตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 49 มาเกือบ 20 ปี

haus of everything

การโยกย้ายชั่วคราว 3 เดือนเมื่อเกือบ 8 ปีที่แล้วเป็นเครื่องยืนยันอย่างสำคัญว่า สตูดิโอของเขาสามารถตั้งอยู่ที่ไหนก็ได้ ขอเพียงมีใจรักจะทำงานสร้างสรรค์ เหมือนที่เขาบอกกับเราว่า

“พวกเราอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ สถานที่ก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นวิธีคิด ระบบการทำงาน และคนในทีม มากกว่า เพราะแนวทางหรือจิตวิญญาณการทำงานของทีมจะไปอยู่ที่ไหนก็เหมือนเดิม พอเปลี่ยนสถานที่ก็ยิ่งทำให้ทีมแอ็กทีฟมากกว่าเดิม เพราะเราจะได้เจอบรรยากาศใหม่ๆ ซึ่งทำให้รีเฟรชตัวเองได้ ช่วยเปลี่ยนพลังงานและความรู้สึกให้ตื่นเต้นและมีพลังอยากทำงานต่อมากขึ้น”

สตูดิโอชั่วคราวที่ผลิตนิตยสารเล่มต่อเล่มแบบจริงจัง 

เมื่อมีการย้ายสถานที่ทำงานชั่วคราวครั้งแรกก็ย่อมมีครั้งที่ 2 คราวนี้หมูตัดสินใจยกทีมทำนิตยสารสุดเท่ EVERYTHING มาทำงานจริงไปพร้อมๆ กับการต้อนรับคนจากภายนอกเข้ามาในพื้นที่ชื่อว่า HAUS OF EVERYTHING ย่านเจริญกรุง ซึ่งจัดขึ้นในอีเวนต์ประจำปีของวงการออกแบบไทยอย่าง Bangkok Design Week 2020 

“เราจัด HAUS OF EVERYTHING ที่นี่เพราะอยากแสดงให้เห็นว่า Print is not dead. ในขณะที่ทุกคนคิดว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย เรากลับไม่คิดแบบนั้นเลยแม้แต่น้อย เราคิดว่าสิ่งพิมพ์มีคุณค่ามาก มันยังมีทางไปได้อยู่และไปต่อได้อีกเยอะด้วยแต่ต้องสื่อสารกับคนที่ใช่จริงๆ และคอนเทนต์หรือสิ่งที่อยู่ในกระดาษก็ต้องมีคุณภาพมากๆ ถึงจะทำให้กระดาษมีคุณค่า ถ้าเราไม่ใส่ใจกระบวนการทำสื่อมันก็จะเป็นกระดาษห่วยๆ ธรรมดา ถ้าเป็นแบบนั้นสิ่งพิมพ์มันตายอยู่แล้ว

“เราลองคิดย้อน คิดสวนทางกับคนอื่น ก็คิดว่าพื้นที่นี้ต้องประกอบไปด้วยเนื้อหาสำคัญๆ เราต้องแสดงให้เห็นถึงคุณค่า ความสำคัญ ของสื่อ EVERYTHING ของเราก่อนว่าทำไมมันถึงแตกต่างจากสิ่งพิมพ์แบบอื่นๆ 

haus of everything

“ที่นี่เราบรรจุคอนเทนต์ไว้หลายอย่าง ประกอบไปด้วยส่วนหลักๆ คือ EVERYTHING Custom Edition ให้ทุกคนที่เข้ามาได้มีโอกาส custom สิ่งพิมพ์ EVERYTHING ให้เป็นแบบเฉพาะของแต่ละคนได้ โดยผู้ชมสามารถเลือกคอนเทนต์ ปก และเนื้อหา ให้เป็นแบบที่ตัวเองชอบได้เต็มที่เลย เปลี่ยนโจทย์ของสิ่งพิมพ์จากที่เคยเป็นการสื่อสารทางเดียว ผลิตออกมายังไงคนอ่านก็ต้องเสพแบบนั้น กลายเป็นให้คนอ่านเลือกได้ว่าอยากจะได้สิ่งพิมพ์แบบไหน อยากให้มีอะไรอยู่ในเล่ม โดยที่เราใช้กระบวนการและขั้นตอนในการทำเหมือนนิตยสารปกติ คือพิมพ์ออกมา แต่เข้าเล่มตามเนื้อหาที่เรามีให้เขาเลือก ซึ่งเราคิดว่ามันทำให้ปรินต์ของเราพิเศษขึ้นมา”

ด้วยความที่ EVERYTHING มีช่องทางการสื่อสารกับผู้อ่าน 2 แพลตฟอร์ม ส่วนหนึ่งสามารถเสพได้ใน iameverything.co อีกส่วนเป็นสิ่งพิมพ์ที่ไม่ได้วางขายทั่วไปแต่ส่งให้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น ทำให้พื้นที่กึ่งสตูดิโอกึ่งออฟฟิศและโชว์เคสนอกสถานที่แห่งนี้เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เป็นเจ้าของสื่อกระดาษหายากหัวนี้อย่างทั่วถึง แถมแต่ละเล่มไม่มีทางซ้ำกันเลยซะด้วย

“Custom Edition ใช้เนื้อหาของ EVERYTHING ที่มีอยู่แล้ว เราเตรียมคอนเทนต์ที่มีคนพูดถึง คนไลก์ในเพจเยอะ หรือบทความในเล่มที่ผ่านๆ มา เอามารีปรินต์และจัดเตรียมให้คนเลือกแบบที่เขาชอบ เช่น ปกมีทั้งหมด 4 แบบ ปกเล็กก็มี 4 แบบเหมือนกัน ส่วนที่พิเศษคือถ้าใครอยากขึ้นปกเราจะถ่ายรูปให้เขา พิมพ์ออกมาเดี๋ยวนั้น แล้วรอรับกลับบ้านได้เลย ตอนถ่ายรูปคุณจะแลบลิ้น จะทำอะไรก็ได้ให้สนุก แถมเราเอารูปไปลงในเพจ IAMEVERYTHING.co ด้วย เพราะเราคิดว่ามันน่ารักดี

“ขั้นตอนทั้งหมดทำให้เราต้องย้ายออฟฟิศมานั่งทำงานกันที่นี่ ใช้กองบรรณาธิการและดีไซเนอร์ของทีม EVERYTHING ที่เป็นมืออาชีพและเป็นตัวจริงมาทำงานตรงนี้ เรียกว่ากองฯ มาตามเวลาออฟฟิศจริง คือเปิด 11 โมง และปิด 3 ทุ่มเลย คนก็จะเห็นกระบวนการด้วย”

101 ผลงาน 101 ดีไซเนอร์

นอกจากจะยกกองบรรณาธิการมาทำงานจริงกันที่โกดังดิบเท่แล้ว หมูยังชวนเพื่อนพี่น้องในวงการดีไซน์ไทยมาจัดแสดงผลงานในพื้นที่โกดังแบบจัดเต็ม ไม่ว่าจะเป็น Ogilvy, Wrongdesign, be>our>friend, นักรบ มูลมานัส, โลเล, แมรี่ ภาคินี และศิลปินคนอื่นๆ มาทำชิ้นงานสนุกๆ คนละชิ้น แล้วตีพิมพ์บนกระดาษโปสเตอร์ไซส์ A2 เพื่อจัดแสดง ซึ่งสวยและไอเดียดีจนเราอยากเก็บสะสมแทบทั้งหมด

“การทำให้คนเห็นคุณค่าของสิ่งพิมพ์ในแบบอื่นต้องมีเรื่องของโชว์เคส เราจึงชวนนักออกแบบมาทำสิ่งพิมพ์เพื่อให้คนเห็นว่าตัวกระดาษสามารถทำอะไรต่อไปได้บ้าง เราตัดสินใจชวนดีไซเนอร์ 101 คน โดยหลักๆ เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ช่างภาพ และนักเขียน มาทำงานใหม่ลงบนกระดาษ และปรินต์เพื่อแสดงให้คนเห็นว่ากระดาษยังมีศักยภาพอยู่ถ้าคอนเทนต์น่าสนใจจริง

“เราพยายามรวบรวมศิลปินทุกรุ่นที่รวบรวมได้ เช่น พี่สาธิต กาลวันตวานิช, พี่ทอม–วรุฒม์ ปันยารชุน ที่ทำปกอัลบั้มให้ค่าย Bakery Music, พี่เคลวิน หว่อง propaganda, Pink Blue Black & Orange พูดง่ายๆ คือเราแทบจะรวมบริษัทออกแบบทั่วฟ้าเมืองไทยมาไว้ที่นี่หมดแล้ว และยังมีศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นศิลปินสตรีทหรือนักวาดภาพประกอบชื่อดัง อย่างพะยูน หรือปอม ชาน จัดแสดงงานอยู่ในนี้หมด ถ้าเทียบกับสมัยก่อนนี่คงเป็นการลงแขกเกี่ยวข้าว ใครมีงานอะไรทุกคนก็มาช่วยกันทำ เพราะทุกคนที่มาก็เป็นเพื่อนเราหมด

haus of everything

“เราว่าโชว์เคส Print is not dead. ครั้งนี้น่าจะเป็นหนึ่งในงานที่รวมคนที่ทำงานด้านนี้มาได้เยอะที่สุด ตอนแรกว่าจะรวมเพิ่มอีกแต่พื้นที่ไม่พอ เมื่อรวมกับงานของสตูดิโอเราทั้งหมดเลยมีจำนวน 110 ผลงาน จัดแสดงกันเต็มพื้นที่เลย

“งานของศิลปิน 101 คน ผู้ชมสามารถจับต้องได้ง่าย คุณจะเห็นได้เลยว่าเราไม่มีการเอากระจกมาแบ่งหรือกั้นขวางระหว่างงานปรินต์กับคนดู จะจับชิ้นงานก็จับไปเลย เราทรีตมันเป็นอาร์ตเวิร์กไม่ใช่ art piece ถ้าพังหรือขาดก็แค่ปรินต์ใหม่ แต่ด้วยวัฒนธรรมของคนที่มาชมงานเขาก็ช่วยกันรักษาอยู่แล้ว”

ถ้าหากการเลือกทำนิตยสารในแบบฉบับของตัวเอง หรือการแวะมาเยี่ยมเยียนกองบรรณาธิการ และการเดินชมผลงานทั้ง 110 ชิ้นยังไม่เต็มอิ่ม ในโกดังบ้านเลขที่ 1 ยังมีการจัดทอล์กและเวิร์กช็อป เช่น การพูดคุยถึงเบื้องหลังการทำงานของช่างภาพอย่างตาล–ธนพล แก้วพริ้ง ช่างภาพฝีมือดีประจำ EVERYTHING Print Edition หรือการพูดคุยกับแชมป์–ฐกร วรรณวงษ์ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ TAKARA WONG ด้วย

เพราะสิ่งพิมพ์คือพระเอก

“เราตั้งใจเลือกโกดังของบ้านเลขที่ 1 ถ้าไม่ได้พื้นที่ตรงนี้เราก็ไม่อยากจัด เรารู้สึกว่าที่นี่เหมาะสมกับคอนเซปต์ Print is not dead. ของเราเพราะคอนโทรลการทำงานได้ง่าย เป็นโกดังที่เข้า-ออกทางเดียว ข้อต่อมาคือสถานที่นี้ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างการเดินไปยังจุดอื่นๆ ยังไงคนก็จะต้องมาที่นี่ บ้านเลขที่ 1 ตรงใจเราทั้งเรื่องสภาพแวดล้อมและบริบทที่เข้ากับโจทย์ที่เราอยากทำ เราชอบอะไรที่ดิบๆ และชอบให้มีความคอนทราสต์ระหว่างความเก่าของตึกกับความใหม่ของงาน

“ในการออกแบบพื้นที่เราดูคอนเทนต์ที่จะแสดงก่อนว่าอะไรคือเนื้อหาหรือใจความสำคัญที่อยากนำเสนอ นั่นคือกระดาษ ฉะนั้นโครงสร้างเป็นเรื่องรอง มีหน้าที่ซัพพอร์ตเนื้อหาหลัก เราเลยไม่ได้ลงทุนกับตัวโครงสร้างแบบวิลิศมาหรา เราเลือกปล่อยความดิบไว้ เราใช้ของราคาถูกทั้งหมดเลย ทั้งเหล็กฉากรัดตัวโครงสร้างที่ทำขึ้นมาติดตั้งต่างหาก ตัวหนีบโปสเตอร์ก็ใช้คลิปธรรมดาที่หาซื้อได้ในร้านเครื่องเขียน เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีราคาสูงมากในงานของเราคือไอเดีย”

ต้อนรับผู้คนไปพร้อมกับการทำงานนอกสถานที่

ลักษณะการทำงานของหมูคือการขยายพรมแดนการทำงานออกไปเรื่อยๆ เขาออกแบบตั้งแต่สิ่งพิมพ์ยันอาคารสิ่งก่อสร้าง และยังทำ EVERYTHING สื่อของตัวเองอย่างเต็มรูปแบบมาตั้งแต่ปี 2018 จนเรียกได้ว่าเป็นการทำงานครีเอทีฟตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นการทำงานนอกพื้นที่ครั้งนี้ยังทำให้คนทำงานได้มีบทสนทนากับผู้ชม ขับเน้นให้งานสิ่งพิมพ์เป็นพระเอกของโชว์เคสที่สื่อสารกับผู้คนได้อย่างไม่มีวันตาย

“พ่อของศิลปินคนหนึ่งมาดูงานแล้วบอกว่าคุณทำต่อไปนะ มันต้องทำแบบนี้แหละ สิ่งพิมพ์จะไม่ตาย นี่คือคนอายุ 60 กว่าพูดกับเรา หรือป้าคนหนึ่งที่เข้ามาดูเขาบอกว่าคนอาจไหลไปตามกระแส แต่จริงๆ สิ่งพิมพ์ยังต้องอยู่ การที่ทุกอย่างไหลไปกับดิจิทัล ทุกอย่างมันไวไปหมด มันไหลไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะไม่เหลืออะไรให้จำ สิ่งพิมพ์จะยังอยู่แต่ต้องอยู่ถูกที่ ต้องสื่อสารและเชื่อมกับวัยรุ่น ซึ่งเรามองว่าสิ่งพิมพ์มีแนวโน้มที่จะกลับมาอีกครั้ง สังเกตไหมสิ่งพิมพ์ที่อยู่ได้เพราะเขาเชื่อมโยงกับคนรุ่นต่อไปเรื่อยๆ

“เรารักสิ่งพิมพ์เพราะมันไม่มีข้อจำกัด ในสิ่งพิมพ์ของเราอะไรที่ชาวบ้านไม่ทำเดี๋ยวกูทำเอง เราทำให้คนคาดเดาไม่ได้ว่าฟอร์แมตแต่ละเล่มจะเป็นยังไง หน้าปกจะเป็นแบบไหนบ้าง จะใช้กระดาษอะไร หรือจะจัดวางฟอนต์อยู่ตรงไหน ทลายข้อจำกัดทั้งหมดของสิ่งพิมพ์ที่มีในท้องตลาด เช่น หัวหนังสือต้องอยู่ที่เดิมเท่านั้น เราก็ทำให้ไม่อยู่ที่เดิมแม่ง ฟอนต์เปลี่ยนแม่งทุกเล่ม เลย์เอาต์ก็ทำให้สนุกได้ไม่มีฟอร์แมตมาจำกัดกรอบเลย ไปลองจับ EVERYTHING ที่เราโชว์ดูสิ แต่ละเล่มไม่เหมือนกันเลยนะ เพราะแต่ละเล่มมีสไตล์ของตัวเอง ในตัวเล่มแต่ละฉบับก็มีกระดาษหลายชนิดในเล่มเดียว”

ถึงแม้ครั้งนี้จะเป็นการทำงานนอกสถานที่ของทีม DUCTSTORE แต่สิ่งที่เขาย้ำกับเราคือเรื่องของจิตวิญญาณและแพสชั่นของคนทำงานสร้างสรรค์ ที่บรรเลงไอเดียด้านการออกแบบตั้งแต่การวางแผนจนเสร็จสิ้นเป็นผลงานด้วยความอินระดับลึก

“ไม่ว่าพวกเราจะย้ายไปไหนแต่จิตวิญญาณจะยังอยู่ สิ่งที่ขาดไม่ได้ในที่ทำงานของเราคือคน คนร่วมงานที่มีคาแร็กเตอร์ มีความชอบ และมีความสนใจเหมือนๆ กัน”

นอกเหนือไปจากผู้คนที่ทำให้ทุกออฟฟิศหรือทุกสตูดิโอของหมูสมบูรณ์ คือวิธีคิดของเขาที่ชอบสร้างและทดลองทำอะไรนอกกรอบอยู่เสมอ ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลสำคัญว่าการโฟกัสที่สตูดิโออาจไม่ได้สำคัญไปกว่าแก่นของไอเดียความเป็น the design guru เหมือนที่เขาบอกกับเราก่อนจากกันว่า

“เราอยากทำอะไรที่คนคาดเดาไม่ได้ เรารู้ว่าเรากำลังสื่อสารกับคน แล้วทำสิ่งที่เป็นเรื่องน่าเซอร์ไพรส์ สิ่งที่เขาไม่ทำกันกูจะทำ แต่ทั้งหมดต้องวางแผนมาดีแล้ว เราจะไม่ทำเพื่อดูคนเดียวแน่ๆ” เขาหัวเราะทิ้งท้าย


ใครสนใจ HAUS OF EVERYTHING ดูโปรแกรมของพวกเขาได้ที่ bangkokdesignweek.com/program/9483

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย