สบายตา กว้างขวาง เขียวขจี และน่าทำงาน คือคำนิยามสั้นๆ ของเราเมื่อได้มาเยี่ยมชมสตูดิโอออกแบบแห่งนี้
ประตูบานใหญ่ที่รั้วข้างๆ แน่นขนัดไปด้วยต้นไม้สีเขียวเป็นจุดแรกที่ทำให้เรารู้ว่ามาถึงออฟฟิศบริษัทภูมิสถาปนิกอายุ 13 ปีของ 3 ผู้ร่วมก่อตั้ง ได้แก่ ยศ–ยศพล บุญสม, อู๊ด–นำชัย แสนสุภา และ ใหม่–ประพันธ์ นภาวงศ์ดี พวกเขาคร่ำหวอดในวงการนี้มาอย่างยาวนานจนมีรางวัลการันตีคุณภาพมากมาย ทั้งยังรับทำงานออกแบบให้กับพื้นที่ในหลายประเทศทั่วโลก ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย เป็นต้น
ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ทั้งสามคนจบการศึกษาจากภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในยุคฟองสบู่แตก จึงพากันย้ายไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์พร้อมๆ กับเรียนรู้ตัวอย่างที่ดีของงานภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมประมาณ 5-7 ปี ก่อนกลับมาร่วมมือกันเปิดบริษัทร่วมกันที่ประเทศบ้านเกิด
จากปีแรกจนถึงตอนนี้ ฉมาที่แปลว่าผืนดินเติบโตขยายกว้างใหญ่กว่าเดิมทั้งในแง่ผลงาน องค์ความรู้ บุคลากร และสถานที่ทำงาน เห็นได้จากการมีบริษัทน้องที่รับงานพื้นที่สาธารณะและงานจากภาคสังคมชื่อ ฉมาโซเอ็น เกิดขึ้น จำนวนคนทำงานที่เพิ่มจากหลักหน่วยเป็นหลัก 70 และพื้นที่ทำงานเล็กๆ หนึ่งชั้นแปรสภาพมาเป็นบ้านสองหลังกับสวนหย่อมที่ไม่ว่าใครมาปุ๊บก็รู้เลยว่าบริษัทนี้ทำงานเกี่ยวกับอะไร
สำหรับเรา สิ่งที่น่าสนใจกว่าสตูดิโอสีขาวสะอาดตากับสีเขียวหลายเฉดของต้นไม้น้อยใหญ่ที่ร่มรื่นน่าอยู่ไม่เหมือนที่ทำงาน ก็คือแนวคิดที่ผู้บริหารทั้งสามเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความคิดเห็นเสนอสิ่งที่ต้องการร่วมกัน กระทั่งออกแบบพื้นที่ทำงานตั้งแต่โต๊ะตัวเองไปจนถึงระดับโครงสร้างใหญ่ๆ
แน่นอนว่าความสวยงามเป็นสิ่งที่ใครๆ ต่างมองเห็นและตัดสินได้ทันที ทว่าเมื่อต้องใช้เวลาอยู่กับสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพื้นที่นั้นต่างหากที่ทำให้เกิดความรักและผูกพันจนอยากอยู่ต่อไปนานๆ
แปลงบ้านเก่าเป็นออฟฟิศ
ยศ ใหม่ และอู๊ดพาเราเดินเข้าไปในห้องประชุมบริเวณทางเข้าที่สร้างแยกจากตัวสตูดิโอ ที่นี่มักใช้ประชุมกับบุคคลภายนอก แตกต่างจากอีกสองห้องประชุมที่ใช้คุยกันภายในบริษัท ด้วยความที่โครงสร้างห้องเป็นแบบโปร่งใส รอบข้างด้านนอกมีแต่ต้นไม้ใบหญ้า ฉันจึงไม่รู้สึกอึดอัดสักนิด
“เนื่องจากเราทำงานเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติและความคิดสร้างสรรค์ เราอยากได้สถานที่ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจและมีความสงบ แต่ขณะเดียวกันเราก็อยากคอนเนกต์กับเมืองด้วย ค้นพบว่าย่านนี้มีเสน่ห์บางอย่าง และการอยู่บ้านที่มีสวนรายล้อมน่าจะสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานด้านนี้” ยศเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง
“เราก็หาหลายที่ในกรุงเทพฯ จนมาเจอที่นี่ ซึ่งมีความน่าสนใจของย่านเอกมัย-ทองหล่อที่โดดเด่นเรื่องดีไซน์และการมีอะไรซ่อนอยู่ในพื้นที่ข้างเคียง บ้านหลังนี้เป็นบ้านเก่าสะท้อนคาแร็กเตอร์ของสุขุมวิท พวกบ้านยุค 80s-90s ที่เป็นยุคโมเดิร์น มีสวน มีต้นไม้ใหญ่ มีความสงบด้วย เลยคิดว่าที่นี่เหมาะกับการปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นโฮมออฟฟิศ และค่อยๆ ต่อเติมปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงานมากขึ้น”
กลุ่มเพื่อนภูมิสถาปนิกกลุ่มนี้ย้ายมาตั้งสตูดิโอที่เอกมัย ซอย 3 ช่วงปลายปี 2007 โดยเช่าแค่พื้นที่ชั้นบนของบ้านร่วมกับอีกสตูดิโอหนึ่งที่เช่าชั้นล่าง เพราะตอนนั้นฉมายังมีพนักงานแค่ 5-6 คน บวกกับยังไม่ค่อยมีเงินทุนมากนัก
หลังจากนั้นไม่นาน สตูดิโอชั้นล่างก็ขยายตัวและย้ายออกไป บริษัทที่กำลังไปได้ดีของพวกเขาจึงสามารถขยายพื้นที่เป็นบ้านทั้งหลังได้ “เราค่อยๆ ทำมา ไม่ได้ทำทีเดียว อย่างพอมีความต้องการใช้ห้องประชุมก็ปรับพื้นที่ตรงระเบียงชั้นหนึ่งเอา ต่อเติมเพิ่มให้มีแอร์”
“ด้วยความที่เป็นบ้าน ตอนแรกก็ยังมีแบ่งเป็นห้องๆ แบบห้องนอนห้องน้ำอยู่ เราก็ทลายพวกผนังเบาที่รื้อได้ออกให้หมด แต่อย่างตรงผนังห้องครัว เจ้าของบ้านยังไม่ให้ทุบ เพราะมีความหวังว่าจะเทิร์นกลับมาเป็นบ้านได้” อู๊ดอธิบายเสริม ซึ่งใหม่กับยศก็หัวเราะชอบใจทั้งยังต่อท้ายว่ายากแน่ๆ เพราะพวกเขาตั้งใจอยู่ยาว ไม่ย้ายไปไหนง่ายๆ หรอก
ขยายพื้นที่เพื่อเพิ่มเนื้อที่สร้างสรรค์และการมีส่วนร่วม
การได้บ้านทั้งหลังครั้งนั้นทำให้ฉมามีพื้นที่ทำงานและรองรับทีมงานเพิ่มขึ้น ทว่าจุดที่ทำให้ที่นี่กว้างขวางแบบที่เราเห็นในปัจจุบันคือการได้บ้านหลังที่สองเมื่อไม่กี่ปีก่อน ซึ่งยศ ใหม่ และอู๊ดเห็นตรงกันในการเปลี่ยนมาเรียกที่นี่ว่า ‘แคมปัส’ เพราะมีส่วนประกอบหลายอย่างตั้งแต่สตูดิโอสามแห่งในบ้านสองหลัง สนามหญ้า พื้นที่ส่วนกลาง และเหล่าสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น
“มันเป็นจังหวะที่เรามีโอกาสเรื่องงานมากขึ้น มีการแตกออกเป็นฉมาโซเอ็นซึ่งเมื่อก่อนอยู่อีกที่หนึ่ง พอมีโอกาสขยายพื้นที่เราก็นำมารวมอยู่ในที่เดียวกัน อีกเหตุผลหนึ่งคือพอเราได้ขยายไปอีกฝั่งหนึ่งแล้ว มันก็มีพื้นที่ส่วนกลางให้พนักงานพักผ่อน มีโรงอาหาร ห้องประชุม ห้องสมุด และสนามหญ้าให้ทำกิจกรรมมากขึ้น สามารถใช้เป็นที่ออกกำลังกายหรือที่ทดลองปลูกต้นไม้ได้ บวกกับช่วงหลังเราทำงานกับคนหลายฝ่ายมากขึ้น บางทีเราอยากจัดกิจกรรมก็ใช้พื้นที่ตรงนี้ได้เลย ถือเป็นจังหวะดีในการคอมพลีตให้อยู่ในที่เดียวกัน” ยศเล่าถึงเหตุผลการขอเช่าบ้านด้านหลังและรีโนเวตใหม่โดยต่อเติมชั้นสองเพิ่มเติม
และเมื่อถามถึงการแบ่งแยกส่วนต่างๆ ในแคมปัส พวกเขาก็บอกกับเราว่าแยกได้คร่าวๆ เท่านั้น เนื่องจากตั้งใจให้ที่นี่เป็นโอเพ่นแปลน เพื่อที่ทุกคนจะได้เจอกันง่ายด้วยลักษณะงานที่ต้องร่วมมือกันตลอดอยู่แล้ว
“หลักๆ ก็มีสามสตูดิโอแบ่งเป็นสามก้อนใหญ่ อีกก้อนคือฝั่งมีเดียและรีเสิร์ช และฝั่งทำบัญชีกับแอดมินก็อีกก้อนหนึ่ง ที่เหลือเป็นพื้นที่อำนวยความสะดวกส่วนกลางที่เพิ่งมาปรับตอนมีโอกาสขยายไปอีกบ้าน เพราะความตั้งใจแรกของเราคือไม่อยากให้ที่ทำงานดูเป็นบรรยากาศออฟฟิศมากเกินไป ส่วนตัวรู้สึกว่าการเป็น office building ไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ชีวิต เรารู้ว่าการทำงานสายนี้มันหนัก คนทำงานสร้างสรรค์ต้องการความเป็นอิสระหรือความบาลานซ์ของงานกับเรื่องอื่น”
“เราไม่ได้อยากให้เรียกออฟฟิศของเราว่าออฟฟิศ อยากให้เหมือนสตูดิโอ เป็นบ้าน และสะท้อนวิธีการทำงานที่ไม่มีลำดับขั้นชัดเจน เป็นครอบครัวหนึ่งที่ทำงานด้านสร้างสรรค์ ก็เลยมีส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากโต๊ะทำงาน เพราะผมมองว่าความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นตอนกินข้าว ตอนร่วมคลับวาดรูป หรือตอนออกกำลังกายด้วยกัน ชีวิตระหว่างโต๊ะทำงานคือตัวจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ เราเลยให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่องนี้สูง”
ทีมผู้บริหารทั้งสามคนยังบอกอีกว่าช่วงเปลี่ยนผ่านของที่ทำงานไม่ได้เกิดจากตัวพวกเขา ทว่าเกิดจากการระดมสมองของทีมงานแต่ละคนว่าอยากได้อะไรและไปหาตัวเลือกกันมา พูดง่ายๆ ว่าสตูดิโอฉมาตอนนี้เกิดจากความคิดและการออกแบบของคนที่ทำงานในบ้านสองหลังนี้เกือบทั้งหมด ซึ่งหนึ่งไอเดียที่เราคิดว่าน่ารักมากคือ การที่พวกเขาอนุญาตให้ทีมกราฟิกทำป้ายชื่อเรียกสถานที่ในออฟฟิศล้อไปกับชื่อบริษัทฉมา ยกตัวอย่าง ห้องชุม (ห้องประชุม) ฉนามหญ้า (สนามหญ้า) ห้องฉมุด (ห้องสมุด)
“เพราะพวกเขาเป็นคนส่วนใหญ่ของออฟฟิศ ดังนั้นพวกเขาต้องอยู่ให้สบาย” ใหม่ยิ้มและตอบคำถามเราที่ว่าทำไมถึงยอมให้พนักงานมีส่วนร่วมในทุกการออกแบบขนาดนี้
สร้างความสัมพันธ์ผ่านตารางเมตรที่มากขึ้น
หลังจากพูดคุยกันพอหอมปากหอมคอ ทั้งสามคนก็พาเดินทัวร์ตามมุมต่างๆ ของสตูดิโอ เราสังเกตเห็นหลายมุมที่น่าสนใจ จนหลายครั้งต้องขอฟังแนวคิดเบื้องหลังสิ่งเหล่านี้สักหน่อย ยกตัวอย่างสวนด้านในที่มีที่ให้นั่งเล่นนอนเล่นจนอยากปูเสื่อปิกนิกให้รู้แล้วรู้รอด ยศเล่าว่าตรงนี้เป็นสวนเก่าอยู่แล้ว แต่มาปรับปรุงอีกนิดหน่อยเท่านั้น
นอกจากให้ความร่มรื่น พื้นที่ตรงนี้ยังใช้เป็นแปลงทดลองปลูกพันธุ์ไม้ใหม่ๆ เพื่อดูว่าต้นไหนดูแลง่าย-ยากสำหรับแนะนำในโปรเจกต์ลูกค้า อีกจุดที่ถูกใจทั้งยศ ใหม่ และอู๊ดคือต้นลีลาวดีขนาดใหญ่ เพราะช่วงหน้าแล้งใบของมันจะหลุดร่วงหมดเหลือแต่ดอกสีชมพู กลายเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงฤดูกาลของที่นี่ด้วย
ถัดมาข้างๆ สวนก็เป็นอดีตระเบียงบ้านที่บัดนี้แปลงมาเป็นห้องฉมุดที่ใช้ประชุมและทำเวิร์กช็อปได้
“ปกติเวลาหาโฮมออฟฟิศยากนะ เพราะบ้านไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเป็นสถานที่ทำงาน บางทีห้องเล็กไป บางทีเลย์เอาต์ไม่ค่อยเหมาะ เราดูมาหลายบ้านแต่ก็มาถูกใจที่นี่ เพราะเลย์เอาต์มันโมเดิร์น เปิดโอกาสให้ต่อเติมหรือทำอะไรได้ สัดส่วนสเปซก็มีสวนด้วย ค่อนข้างลงตัว”เราฟังยศอธิบายในมุมมองนักออกแบบ
ตรงส่วนเชื่อมต่อที่เดินจากบ้านหลังแรกไปหลังที่สองด้านหลัง พวกเขาก็เปลี่ยนครัวเป็นโรงอาหารและที่จอดรถกลายเป็นที่นั่งกินข้าวด้วยการนำโต๊ะเก้าอี้กับแคร่ไม้มาวาง สร้างความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านสบายๆ
แต่เดิมแล้วระหว่างบ้านสองหลังนี้มีรั้วกั้นแบ่งเป็นพื้นที่บ้านใครบ้านมัน เมื่อได้บ้านหลังนี้พวกเขาก็รื้อรั้วออกเชื่อมต่อเป็นพื้นที่เดียวกัน และถมสระน้ำเก่าที่เจ้าของบ้านทิ้งร้างไว้ให้เกือบเต็ม เพื่อเว้นช่วงเป็นที่นั่งได้พอดี ทั้งยังใช้เป็นมุมออกกำลังกายและจัดกิจกรรมรื่นเริงได้ด้วย
ส่วนเหตุผลที่สตูดิโอของฉมาทาสีขาวทั้งภายในภายนอกก็เพราะอยากให้ดูสะอาดตา เรียบง่าย และกว้างขวาง ซึ่งเมื่อบวกกับการมีหน้าต่างกระจกใส ยิ่งทำให้ห้องสว่างโปร่งโล่งจากแสงธรรมชาติที่สาดส่องเข้ามา ทั้งยังสะท้อนถึงคาแร็กเตอร์บริษัทที่ไม่ได้เป็นสายดีไซน์จัดๆ เพื่อเปิดโอกาสการต่อยอดความคิดและแบ่งปันความงามกันโดยไม่ยึดโยงโทนสีใดโทนสีหนึ่ง
ทั้งนี้สีเขียวของต้นไม้นานาพันธุ์น้อยใหญ่ที่เรามองเห็นรอบๆ ทั้งตอนอยู่ข้างในออฟฟิศหรือเดินอยู่ข้างนอกนั้นนอกจากเป็นข้อดีด้านวิวทิวทัศน์ของคนทำงานแล้ว พื้นที่ตรงนี้ก็เฟรนด์ลี่ขึ้น เปิดโอกาสให้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้พากันเดินเล่นเข้ามา กลายเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ของชุมชนรอบข้างให้แข็งแรงไปโดยปริยาย
พื้นที่ที่ดีคือพื้นที่ของทุกคน
นอกจากโครงสร้างที่เห็นและจับต้องได้แล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกของที่นี่ก็น่ารักและใส่ใจคนในที่ทำงานไม่แพ้กัน หนึ่งในนั้นคือหลังจากได้รับการเสนอไอเดียจากพนักงานแล้ว โรงอาหารที่ปกติใช้เป็นที่กินข้าวจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นการสั่งอาหารร่วมกันเพื่อลดขยะและรายจ่ายในช่วงวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดีแทน ทั้งยังมีการทำโซนแยกขยะแบบง่ายๆ เองด้วย
“ตอนนี้น้องๆ ก็เริ่มคิดแล้วว่าจะเอาขยะเปียกมาทำปุ๋ยยังไงดี ที่จริงแล้วช่วงเริ่มไม่ใช่น้องทุกคนที่เอนจอยหรอก แต่พอทำไปปีหนึ่งพวกเขาก็เริ่มปรับตัวได้” ใหม่เล่าพลางชี้ชวนฉันให้ดูป้ายอธิบายการแยกขยะอย่างละเอียดจากลายเส้นดินสอ
“พอมีพื้นที่มันก็เอื้อต่อกิจกรรมที่เขาเสนอเพื่อความสอดคล้องไปด้วยกัน เช่น พื้นที่ส่วนกลางที่ทำให้เกิดคลับของแต่ละกลุ่มที่สนใจ อย่างการฝึกสเกตช์ภาพ การทำแปลงทดลอง กลุ่มปลูกต้นไม้ คลับเล่นเกม คลับหนังสือ กลายเป็นว่าสถานที่เอื้อต่อการสร้างความสัมพันธ์ในองค์กรและทำให้คนได้แลกเปลี่ยนความชอบกัน” ยศเสริมและยืนยันว่าการลงทุนเรื่องสถานที่ของพวกเขาคุ้มค่าอย่างที่คิดไว้
เนื่องจากบริษัทมีการประเมินทุกปี ทั้งสามคนจะรู้ว่ามีเรื่องไหนที่น้องในทีมบ่นกันและค่อยๆ ขยับไปทำ จนช่วงหลังเริ่มเห็นผลตอบรับเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังได้รับการเสนอสิ่งใหม่ต่อยอดอย่างเรื่องการมีห้องงีบ ห้องทำโมเดลที่เป็นกิจจะลักษณะ หรือกระทั่งห้องเก็บแมตทีเรียล ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นการต่อยอดในแง่คุณภาพงานและชีวิตของคนในบริษัทที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของบุคลากรจริงๆ
“คิดว่านิยามที่ทำงานที่ดีในยุคสมัยนี้เป็นยังไง” ก่อนจากกัน เราตั้งคำถามทิ้งท้ายถึงกลุ่มเพื่อนผู้เป็นทั้งผู้บริหารและคนทำงานด้านการออกแบบ
“พวกเรามองว่าออฟฟิศที่ดีควรเป็นพื้นที่ของทุกคน เป็นพื้นที่ที่เขาได้ใช้ชีวิตมากกว่าแค่เรื่องทำงาน เพราะเดี๋ยวนี้งานกับการใช้ชีวิตมันเป็นภาษาเดียวกันไปแล้ว งานที่ดีเกิดจากการร่วมมือและใช้ชีวิตร่วมกัน ดังนั้นพื้นที่ทำงานไม่ควรเกิดจากคนอื่นคิดให้ ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการคิดและทำมันขึ้นมา ซึ่งนั่นน่าจะทำให้คนทำงานมีความสุข”
จากนิยามด้านบนของทั้งสามคน เราว่าฉมาคือหนึ่งในออฟฟิศเหล่านั้นแล้ว การันตีได้จากรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และบรรยากาศการทำงานของคนกว่า 70 ชีวิตในบ้านทั้งสองหลังที่เราไปเจอมา
สถานที่ที่เข้าใจคนทำงาน คืออีกคำนิยามที่เราอยากเพิ่มให้กับสตูดิโอแห่งนี้