หากให้นึกถึงนักออกแบบปกหนังสือเก่งๆ ในเมืองไทย ชื่อของ Wrongdesign คงผุดขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ในความคิดของใครหลายคน
ไม่ว่าคุณจะได้ยินชื่อของเขามาก่อนหรือไม่ แต่เราเชื่อว่าอย่างน้อยก็ต้องมีสักปกหนึ่งแหละที่น่าจะผ่านตาคุณมาก่อน เพราะเป็นเวลากว่า 19 ปีแล้วที่ เบิ้ม–กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล เข้ามาโลดแล่นในวงการหนังสือในฐานะนักออกแบบที่ทำปกมากว่า 500 ปก ตั้งแต่หนังสือแฉดารา ไล่มาจนถึงน็อนฟิกชั่น และไลต์โนเวลสำหรับเด็ก
เบิ้มเข้าสู่วงการออกแบบเมื่อทำงานให้กับนิตยสาร open และสำนักพิมพ์ openbooks เขาเล่าให้เราฟังว่า เส้นทางการเป็นนักออกแบบในช่วงแรกเริ่มนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องจากความรู้ด้านการดีไซน์เพียงน้อยนิดที่ได้มาจากคอร์สเรียนคอมพิวเตอร์ระยะสั้น งานแรกๆ เขาจึงใช้ element เป็นรูปทรงพื้นฐาน และเขาเกือบต้องลาออกจากงานเพราะใช้ Mac ไม่เป็น
ตัดภาพมาในขวบปีที่ 19 เบิ้มกำลังจะได้ออกหนังสือชื่อ WRONGDESIGN: A SELECTION OF COVER DESIGNS 2002-2020 รวมผลงานปกคัดสรรหลายร้อยปก พร้อมเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการทำงานที่ยังจำได้ทุกรายละเอียด
ณ จุดนี้ คงไม่เกินจริงนักหากจะเรียกเขาว่า นักออกแบบปกที่เก่งขนาดหาตัวจับยากที่สุดคนหนึ่งของวงการ ถึงอย่างนั้นก็ตาม เบิ้มบอกเราว่าทุกครั้งที่ต้องเริ่มออกแบบปกใหม่ๆ เขาก็ยังรู้สึกท้าทายเหมือนครั้งแรกเสมอ
วันนี้เบิ้มพาเรามาทัวร์โรงพิมพ์เพื่อเช็กความเรียบร้อยของหนังสือเล่มใหม่ ท่ามกลางกลิ่นกระดาษและหมึกพิมพ์ เขาเล่าเรื่องราวเบื้องหลังนับตั้งแต่ปีแรกของการออกแบบที่เจอทั้งสุขและทุกข์ ผ่านการโดนปฏิเสธ การกดราคา มาจนถึงทุกวันนี้ที่เขาหาสมดุลของการทำงานได้ในที่สุด
แต่หากมองย้อนกลับไป เบิ้มรู้สึกดีใจที่เขาได้ประสบสิ่งเหล่านั้น และเรียนรู้อะไรบางอย่างจากมัน
และนี่คือ 19 เรื่องราวเบื้องหลังที่เบิ้มได้เรียนรู้มาตลอด 19 ปีในเส้นทางการเป็นนักออกแบบปกหนังสือ
1. I’m not a book person.
“เรามักจะพูดอยู่เสมอว่าเราไม่ได้เป็น book person ไม่ได้หมกมุ่นกับการอ่านขนาดนั้น เราไม่ได้สนใจเรื่องปกหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้จบด้านดีไซน์แต่จบโฆษณา แต่โดยพื้นฐานแล้วเราผูกพันกับบรรยากาศที่มีหนังสืออยู่รายล้อม เพราะตอนเด็กๆ ที่บ้านของปู่กับย่าที่เลี้ยงเรามามีห้องสมุด ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าการมีห้องสมุดในบ้านมันหรูหราแค่ไหน แต่มันทำให้เราคุ้นเคยกับหนังสือ เวลาเดินทางไปต่างประเทศ เราชอบหาร้านหนังสือก่อนเป็นอย่างแรก ไม่ว่าประเทศไหน ร้านหนังสือมีเคมีบางอย่างคล้ายกัน บรรยากาศจะอบอุ่น เป็นมิตร คิดว่ามันอาจเป็นผลจากการที่เติบโตมาในบ้านที่มีห้องสมุด”
2. นึกว่าชีวิตเป็นของเรา แต่ความจริงมันไม่ใช่ไง
“เราเคยเรียนพื้นฐานศิลปะตอน ม.ปลาย อยู่บ้าง ตอนมหา’ลัยก็เอนท์ติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ แต่เข้าไปเรียนแล้วไม่ชอบ หลังจากนั้นก็ทิ้งไปเลย เพราะศิลปะที่เราเรียนตอนนั้นคือเรื่องดรอว์อิ้ง ซึ่งจะโฟกัสที่การวาดรูปสวย แล้วเรารู้สึกว่ามันไม่เห็นสนุกอย่างที่คิด ต้องพยายามวาดให้เหมือนคนอื่น ทักษะก็สู้คนอื่นไม่ได้
“จากนั้นก็ไปเรียนโฆษณา พอเรียนจบก็ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ จนถึงจุดหนึ่งที่คิดว่าน่าจะถึงเวลาตั้งหลักอะไรสักอย่างได้แล้ว ตอนเด็กเรามีทางเลือก ไม่ชอบก็ไม่ทำ ไม่ใช่ก็ปฏิเสธ เหมือนวัยรุ่นส่วนใหญ่ทั่วไป คิดว่าเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ ความจริงมันไม่ใช่ไง โชคดีที่ตอนนั้นจับพลัดจับผลูมีเพื่อนทำงานเป็นเลขากองฯ อยู่ที่ open เขาเห็นว่าเราไปลงเรียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็เลยชวนมาสมัครดู ก็ลองไปสมัคร หลังจากนั้นก็ทำกันมายาว”
3. อย่าหลงทางกับคำว่าอิสระ
“เรามักจะบอกเด็กรุ่นใหม่เสมอว่า ให้เริ่มต้นชีวิตการทำงานในปีแรกๆ ด้วยงานประจำเสมอถ้าเลือกได้ อย่าไปหลงทางกับคำว่าอิสระ เพราะถ้าคุณเลือกการเป็นฟรีแลนซ์ คุณต้องทำทุกอย่างเลย ตั้งแต่วางบิล ออกไปหาลูกค้า ซึ่งพวกนี้มันเป็นกับดัก มันจะเอาเวลาของคุณไป แต่ถ้าคุณทำงานประจำ คุณยังพอเห็นเวลาเข้างาน-เลิกงาน สิ้นเดือนมีเงินประจำเข้า และคุณก็แบ่งชีวิตในการโฟกัสกับการเรียนรู้งานได้จริง
“ตอนเราทำงานกับ open เดือนแรกเราได้ 7,000 บาท เดือนถัดไปได้ 8,000 บาท ทั้งๆ ที่เรตเงินเดือนสตาร์ทตอนนั้นราวๆ 12,000-15,000 บาท แต่เราเลือกทำที่นั่นเพราะเราได้เรียนรู้ การเรียนรู้มันมีมูลค่ามหาศาล เวลาเด็กรุ่นใหม่มาถาม เราก็บอกเสมอว่าอย่าหลงทางกับคำว่าอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ให้โฟกัสที่ความรู้ เราไม่เคยเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการดีไซน์เลย แต่เราใช้วิธีตั้งหลักในการทำงานปีแรกๆ เพื่อหาความรู้ให้ตัวเอง”
4. ถ้ามันเป็นทางรอด เราก็ต้องทำให้ได้
“ช่วงใกล้จบ เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงจากเพื่อนๆ ที่เคยเรียนมาด้วยกัน พวกเขามีความฝันชัดเจนขึ้น เริ่มมีแผน ในขณะที่เรายังตอบตัวเองไม่ได้เลยว่าเรียนจบแล้วเราอยากทำอะไรต่อ พอปี 4 ก็เลยตั้งใจเปลี่ยนตัวเอง ไปทำละครเวที พาตัวเองไปลองทุกอย่างที่ไม่เคยคิดจะทำมาก่อน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เปลี่ยนมายด์เซตตัวเองชัดมาก เป็นตอนที่ได้เรียนรู้ว่าเมื่อเจอปัญหาเราต้องไม่หนี ต้องลองแก้ไขและตั้งใจกับมันดู สิ่งนี้มันต่อยอดไปจนถึงตอนทำที่ open เราทำงานไม่ได้เพราะใช้ Mac ไม่เป็น ตอนนั้นพี่ภิญโญ (ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา) ก็ช่วยเหลือเต็มที่ แนะนำว่าให้เอางานไปทำที่บ้านไหม แต่เราบอกว่าถ้าปัญหาอยู่ที่นี่ก็จะลองแก้ดู ถ้าลองดูแล้วเดือนหนึ่งทำไม่ได้ก็จะพิจารณาตัวเองออก สุดท้ายก็ผ่านมาได้”
5. ชีวิตที่หลุดออกจากเส้นเรื่องเดิม
“ตอนเรียนปริญญาตรี เราเข้าใจว่าทุกคนต้องทำงานในบริษัทเอเจนซีหมด แต่พอเรามาทำงานที่ open ได้ทำเลย์เอาต์ เลือกรูป เห็นสตอรี่ของคนอีกแบบที่เราไม่เคยรู้มาก่อน มันมีคนที่ใช้ชีวิตอีกเส้นเรื่องหนึ่งอยู่นะ มีคนที่เปิดร้านหนังสือ ทำเกษตรทางเลือก ทำบ้านดิน ทำงานศิลปะ เดินทาง ทำหนัง เรารู้สึกว่าเป็นต้นทุนทางความคิดที่ดีมากสำหรับเรา และมันจำเป็นมากๆ เพราะคนที่ใช้ชีวิตในระบบใหญ่จะไม่เห็นทางเลือกอื่นมากนัก เรียนจบ ทำงาน ซื้อรถ มีครอบครัว มันจะเป็นเส้นเรื่องอยู่แบบนี้ แต่พอพ้นมาจากกรอบคิดแบบนั้นแล้ว ทำให้เรารู้สึกว่า 4 ปีที่เรียนมาไม่เท่าปีแรกที่อยู่ open เลย ตอนนั้นได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะมาก”
6. Wrongdesign หมายถึงออกแบบผิด
“ตอนทำงานที่ open เราต้องทำงาน 2 ยูนิตคือ open magazine กับ openbooks พอเริ่มคล่องกับการทำงานแม็กกาซีนแล้ว ก็มาเริ่มทำพ็อกเก็ตบุ๊กควบคู่กันไป ตอนนั้นการทำพ็อกเก็ตบุ๊กก็เป็นเรื่องใหม่อีกสำหรับเรา เพราะการทำแม็กกาซีนมันมีเฟรมของมันแบบหนึ่ง มีอาร์ตไดเรกชั่นที่เซตไว้ เรายังเอาตัวรอดได้ด้วยการทำตามของเดิม แต่พอเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กก็ต้องเรียนรู้ใหม่หมด
“ส่วนงานออกแบบปกหนังสือที่ใช้ชื่อการออกแบบว่า Wrongdesign เริ่มจากการร่วมงานกับสำนักพิมพ์มติชน สมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย บรรณาธิการเขาใช้วิธีไปเดินร้านหนังสือ ถ้าชอบฝีมือการออกแบบปกของคนไหน เขาจะพลิกมาดูชื่อคนทำงานแล้วโทรติดต่อ ตอนนั้นมติชนก็ติดต่อเรามา
“ตอนทำเล่มนั้นให้มติชนก็เอาไม่อยู่ หลุดหมดเลย ไม่เหมือนกับ open ที่ใกล้ชิด บ.ก. มีปัญหาอะไรเดินเข้าไปหาได้ แต่พอทำกับมติชนคือต้องนั่งทำดีไซน์เสร็จ ปรินต์ แล้วเอาไปให้เขาดู เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาเห็นคือภาพที่เราเอาไปเสนอเขา ไม่เห็นโพรเซสการทำงาน เพราะฉะนั้นจะมีโอกาสง่ายมากที่เขาจะไม่ได้เห็นเท่าเราตั้งแต่แรก ก็ถูกแก้ไป 7 แบบ แต่สุดท้ายพี่เขาก็เลือกแบบแรกของเรา
“เขาก็บอกให้คิดชื่อนามปากกามาหน่อย ไม่อยากใช้ชื่อจริงเพราะเดี๋ยวที่ open จะรู้ เราก็เด็ก ไม่ชอบที่ถูกแก้ 7 ครั้ง ก็เลยใช้คำว่า Wrongdesign เพื่อประชดเขา เหมือนว่าออกแบบผิดนะเล่มนี้ ซึ่งเป็นนิสัยที่แย่มากเลย (ยิ้มอาย) แล้วเราก็คิดว่าเขาคงไม่จ้างเราอีกแล้ว ปรากฏว่าอีก 2 อาทิตย์พี่เขาก็โทรมาอีก ตั้งแต่นั้นก็เริ่มทำงานในชื่อ Wrongdesign เรื่อยมา
7. สไตล์คือสายตา
“ทุกครั้งที่มีคนถามว่าสไตล์งานของเราเป็นแบบไหน เราจะตอบไม่ได้ แม้แต่ตอนนี้ก็ตอบไม่ได้อยู่ดี เราคิดว่าคนทำงานออกแบบส่วนใหญ่มักมองตัวเองจากงานที่ทำ แต่เรื่องสไตล์ ลายเส้นคือสิ่งที่คนภายนอกมองเข้ามา เวลาทำงานทุกชิ้นเราไม่เคยตั้งเฟรมว่า ต้องทำเพื่อให้เป็น Wrongdesign แค่คิดว่าเราเห็นอะไรจากมัน สนใจอะไรจากมัน อยากทำอะไรจากมัน สิ่งที่พอบอกได้และเข้าใจง่ายหน่อยคือว่า มันเป็นเรื่องของสายตา เรามักจะหลีกเลี่ยงการใช้คำว่ารสนิยมหรือสไตล์ เพราะรู้สึกว่าพวกนั้นมันคือกรอบความคิดที่ใช้อธิบายเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่กับการทำงาน เราตอบไม่ได้หรอกว่าเราเป็นหมวดหมู่ไหน สไตล์ไหน แต่เราบอกได้ว่าเห็นอะไรจากงานนั้นๆ
“มันคือสายตาในการมองเห็นงาน แล้วมันใช้ได้กับทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะงานเขียน งานภาพ หรืองานสร้างสรรค์ เวลาเราไปคุยกับคนคนนี้ เรามองเห็นเขาแบบไหน เราอยากถ่ายทอดมันแบบไหน กับงานออกแบบปกหนังสือ สิ่งที่เราทำคือมองหนังสือเล่มนั้น แล้วก็เปลี่ยนสิ่งที่เห็นมาเป็นภาพภาพหนึ่งในการออกแบบ”
8. ชำนาญน้อย ใช้ความคิดเยอะ
“ตอนออกแบบปกช่วงแรก เราทำงานด้วยคอมพิวเตอร์เป็นหลักเพราะไม่มีทักษะการวาดภาพ ถ้าใครย้อนไปดูงานเราช่วงแรกๆ จะเห็นว่า element มันซ้ำๆ วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม เพราะมันเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ใช้ในโปรแกรมออกแบบได้ เราเรียนคอร์สคอมพิวเตอร์มาแค่เดือนครึ่งเอง เพราะฉะนั้นเทคนิคที่ใช้ใน Photoshop, Illustrator เราจะรู้แค่พื้นฐานมากๆ แล้วตอนรุ่นเรามันไม่ได้มีอินเทอร์เน็ตที่ดีแบบนี้ เวลาสงสัยหรือไม่เข้าใจอะไร มันเสิร์ชกูเกิลไม่ได้ ต้องแก้ปัญหาหน้างานตลอด
“แต่ข้อดีของมันคือเป็นการบีบให้เราเอาตัวรอดในงานเชิงความคิดสูง เพราะพอทำงานเชิงเทคนิคไม่ได้ เราก็ต้องไปบีบคั้นเรื่องไอเดีย เรื่องความคิดให้มาก ต้องอ่านหนังสือให้เยอะ คิดให้มากกว่าคนอื่น แล้วเปลี่ยนมันเป็นงานออกแบบ เราใช้วิธีนี้ในการแก้ปัญหาการออกแบบช่วงแรก”
9. ตั้งแต่ต้นจนจบ
“สิ่งที่นักออกแบบปกหนังสือทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการอ่าน ไม่ว่าจะอ่านมากหรืออ่านน้อย ยังไงคุณก็ต้องอ่าน ข้อดีของเราคือเราผ่านงานแม็กกาซีนมาก่อน ทำให้เราได้ฝึกการอ่านแข่งเวลา จับประเด็นให้ได้ เห็นภาพให้ไว ตอนทำพ็อกเก็ตบุ๊กเลยมีสกิลนี้ติดตัวมา เราจะไม่ค่อยหลงทางว่าจะสื่อสารเรื่องอะไร รู้ค่อนข้างไวว่าตัวเองจะเล่าแบบไหน
“หลังจากนั้นเป็นช่วงเวลาที่เราอยู่กับงาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราชอบที่สุด เพราะจะได้พิจารณางานในหลายๆ แง่มุม เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างสงบ ได้โฟกัสกับงานอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นค่อยปรึกษากับ บ.ก.ว่าเห็นภาพตรงกันไหม นี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราหลงใหลการออกแบบปก เพราะมันเกี่ยวข้องกับคนจำนวนน้อย”
10. เรียนดีไซน์ รู้มนุษย์
“ถ้าถามว่าแต่ละงานเรากำหนดไหมว่าจะออกแบบกี่ดราฟต์ เราตอบได้ไม่ชัดเจนนัก บางปกที่เห็นภาพชัดมากก็มีภาพเดียว บางปกที่ไม่แน่ใจก็มี 5-7 แบบ ส่วนมากปกที่มีแบบเดียวมักจะเป็นคนทำงานกลุ่มเดิมที่เราค่อนข้างรู้ความต้องการอยู่แล้ว แต่หนังสือบางประเภท เราทำหลายดราฟต์มากเพราะอยากสื่อสารว่า บ.ก. หรือคนเขียนเขาคิดยังไง งานที่เราทำมันไม่ใช่แค่เรียนรู้หนังสือ เราเรียนรู้คนที่ทำงานด้วยว่าเขามีเคมีแบบไหน ลักษณะแบบไหน ในแง่หนึ่งคือการชวนเขาพูดคุย อยากฟังว่าเขาเห็นยังไง พยายามสำรวจความเป็นไปได้ในการออกแบบ ในภาพที่เราเสนอให้ดูเขาเห็นมุมไหนบ้าง ถ้าเขาเห็นต่าง จะต่างในทางไหน เพราะถึงที่สุดแล้ว งานที่นักออกแบบรับผิดชอบมันจะพ้นเมื่อหนังสือพิมพ์เสร็จ ดีไซเนอร์ทำจบก็จบงาน แต่นักเขียนหรือ บ.ก.ต้องพาหนังสือไปขาย ไปเล่าต่อ เพราะฉะนั้นไม่มากก็น้อย เขาควรมีส่วนตัดสินใจหนังสือเล่มนั้นเสมอ
“การนำเสนอทางเลือกยังช่วยทำให้เราจบงานได้ง่ายขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าธรรมชาติของมนุษย์ต้องการตัดสินใจ การมีตัวเลือกเป็นผลดีกับทั้งคนออกแบบและคนทำงานร่วม ทำให้เขาได้พื้นที่ร่วมในการทำงานกับเรา”
11. หนังสือรวมหน้าปกหนังสือ
“แรกเริ่มเดิมที พี่บิ๊ก (ภูมิชาย บุญสินสุข) บ.ก. สำนักพิมพ์ a book คนเก่าเป็นคนชวนเรามาทำ เพราะเราเคยออกแบบปกหนังสือ สิ่งมีชีวิตในโรงแรม ของ วิชัย ให้เขา แล้วก็ประทับใจการทำงานระหว่างกัน หลังจากนั้นไม่นานพี่บิ๊กก็ติดต่อมาว่า อยากทำหนังสือรวมงานปกหนังสือของ Wrongdesign สนใจจะทำไหม เราก็สนใจ ก็เริ่มโปรเจกต์มาพร้อมกัน แต่หลังจากนั้นก็เกิดการเปลี่ยนผ่านและทีมคนทำงานใน daypoets เราก็เลยลืมโปรเจกต์นี้ไป ไม่ได้นึกถึงต่ออีกเลย
“แล้วเมื่อต้นปี เราก็ได้ทำงานกับกาย (ปฏิกาล ภาคกาย) บ.ก. สำนักพิมพ์ Salmon คือหนังสือ รู รัง เรือน พิมพ์ครั้งใหม่ พอทำต้นฉบับจบ กายก็ถามเราว่าเรามีต้นฉบับที่อยากทำไหม เพราะกายเขาติดตามสเตตัสเราที่เขียนเรื่องเบื้องหลังหนังสือ มุมมองของเราต่อการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ในเฟซบุ๊กอยู่ตลอด พอกายถาม เราก็บอกว่าจริงๆ มีต้นฉบับหนังสือรวมปกคัดสรรของ Wrongdesign อยู่ ถ้าสนใจเราจะไปคุยกับพี่บิ๊กให้ ขอเอาหนังสือเล่มนั้นมาพิมพ์กับ Salmon แล้วกายก็สนใจ เราจึงเริ่มต้นกลับมารวบรวมเนื้อหาใหม่ ไปคุยกับพี่บิ๊ก พี่บิ๊กก็ยินดี”
12. ปกหนังสือของหนังสือรวมหน้าปก
“ตอนเริ่มต้นทำก็ไม่ง่าย เพราะว่าเราเคยทำปกหนังสือไปประมาณ 500 กว่าปก ที่ยังมีอยู่กับตัวประมาณ 300 กว่าปก ที่ไม่ได้เก็บก็หายไปเลย พอเอามานั่งแบบนพื้นก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทุกปกที่จะรวมเป็นงานออกแบบได้เสมอไป เพราะบางปกก็ทำเพื่อตอบโจทย์ในช่วงเวลาหนึ่ง มันสื่อสารสำนักพิมพ์หรือ บ.ก.คนนั้นๆ แต่ข้อดีของการเอาหนังสือมารวบรวมมันทำให้เห็นว่าเราเดินทางมาไกลมากเลยจากวันแรก จากวันที่ไม่มีความรู้ จากการที่มีเวลาช่วงสั้นๆ ในการปรับตัวทำงานที่ใหม่
“พอมันเป็นหนังสือที่ต้องเล่าเรื่องแบบสรุปสิ่งที่เราทำ 19 ปี เรากลับไปนั่งดูตั้งแต่หนังสือเล่มแรกถึงปัจจุบันว่าที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ดึงปกที่เคยชอบมากๆ และทุกวันนี้ก็ยังชอบอยู่ออกมา ก็มองหาจุดร่วมของมัน แล้วค้นพบว่าปกที่เราชอบมากที่สุดคือปกที่มันเรียบง่ายที่สุด แบบที่เราเลือกคือแบบที่ลดทอนทุกอย่าง ใส่สิ่งที่ต้องการจะบอกแค่ชื่อหนังสือ โปรยปก แล้วก็ภาพคีย์วิชวล เพราะเราคิดว่าเมื่อผ่านไป 10 ปี เราจะยังชอบมันอยู่ เหมือนที่เราชอบมันวันนี้”
13. อย่าเป็นคนทั่วไปในการทำงาน
“ตอนนั่งไล่ดู เราจำได้หมดเลยนะว่าแต่ละปกเราทำงานกับใครบ้าง อาจเป็นสกิลอย่างหนึ่งที่เราได้จากงานออกแบบคือการเป็นคนช่างสังเกต บ.ก.ที่เราเคยทำงานด้วยคนหนึ่งบอกเราว่า ถ้าคุณไม่มีทักษะบางอย่างที่ได้เรียนรู้จากงานแล้วสร้างขึ้นมาได้เอง เราจะเป็นคนทำงานแบบคนทั่วไป เพราะฉะนั้นแปลว่า เขาจะจ้างใครก็ได้ที่ไม่ใช่ Wrongdesign ถ้าเราอยากโดดเด่น ลำพังแค่งานดีไซน์อย่างเดียวไม่พอ เราจึงค่อยๆ เริ่มหัดสังเกต มองดีเทลเล็กๆ น้อยๆ จากงานออกแบบปกหนังสือที่ต้องทำอย่างละเอียด มันไม่ได้ให้รีเทิร์นในเชิงการออกแบบอะไรหรอก แต่พอเราทำแบบนี้เยอะๆ มันจะฝึกเราขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นสกิลติดตัว มันช่วยเชปไอเดียการทำงานและความคิดเราไปเรื่อยๆ เราทำหนังสือเล่มไหน ก็จะจำได้ว่ากระดาษเล่มนี้เป็นยังไง จำความผิดพลาดของหนังสือเล่มนี้ได้ จำได้ว่ากระดาษปก ภาพที่ใช้บนปกมาจากไหน บ.ก.คนไหนเอามาให้ สิ่งนี้มันช่วยได้มากในการเลือกเรื่องราวที่จะเล่าไปในเนื้อหาของเล่มนี้”
14. ปกที่ดีคือปกของหนังสือเยิน
“ปกที่ดีสำหรับเราคือปกที่ถูกใช้งาน หนังสือที่ซื้อไปแล้วโดนดองเก็บไว้ เราว่ามันต้องมีปัญหาอะไรสักอย่าง แต่ถ้าหนังสือเล่มที่ยับเยิน มีรอยเปิด ส่งต่อ เพื่อนยืม เปิดไปแล้วมีพับมุมหน้าไว้ หรือใช้จนเหลือง อันนี้มันคือปกที่ดีมากๆ สำหรับเรา เราชอบทุกครั้งเวลาไปร้านหนังสือแล้วมีคนหยิบหนังสือเรามาดู แสดงว่ามันสื่อสารกับเขาบางอย่าง จะแฮปปี้มากพอเขาซื้อกลับไปแล้วเอาไปเล่าต่อว่าหนังสือเล่มนี้ดียังไงโดยมองข้ามเรื่องดีไซน์เราไป มันแปลว่าเขามองข้ามสิ่งที่ห่อหุ้มไปสู่เนื้อหาข้างใน เพราะนั่นคือหน้าที่ที่เราพยายามทำ
“ตอนทำงานปีแรกๆ เราก็หมกมุ่นเหมือนคนทำงานหนังสือทั่วไป สนใจเรื่องลีลาท่าทาง อยากทำงานที่เลิศหรูอลังการ ปกที่เทคนิคแพรวพราว แต่เรารู้สึกว่าพอเริ่มเติบโต มันไม่ใช่ไอเดียหลักในการทำงาน สิ่งที่เราทำคือการสะท้อนไอเดียที่มันอยู่ในหนังสือเล่มนั้นๆ ส่วนที่สวยและไม่สวย รู้สึกว่าห้ามไม่ได้เลย เพราะโลกการอ่านมันกว้างมาก นักอ่านมีหลายกลุ่มและเขามองความสวยงามไม่เหมือนกัน”
15. ปกรูปธรรมจากเรื่องนามธรรม
“ปกหนังสือที่เราคิดว่าท้าทายที่สุดในการออกแบบคือ ปกหนังสือประเภทวรรณกรรม เพราะวรรณกรรมมันกว้าง เป็นเรื่องของความรู้สึก ตอบไม่ได้เลยว่าคนอ่านเขาจะไปเจออะไรที่มันกระทบใจเขา สิ่งเหล่านี้ทำให้การทำงานมันยาก เพราะบางทีประสบการณ์ส่วนตัวของคนออกแบบ คนอ่าน กับคนเขียน มันคนละชุด
“ตอนออกแบบปกวรรณกรรม เราจะไม่สรุปภาพโดยชัดเจน โดยเฉพาะภาพตัวละคร งานของเรามักให้พื้นที่ที่คนอ่านจะได้จินตนาการ เราไม่รู้เลยว่าเขาเห็นอะไร เพราะฉะนั้นเรามักตีความออกมาเป็นภาพบรรยากาศโดยรวมของเรื่องมากกว่า แล้วก็ปล่อยให้คนอ่านได้จินตนาการถึงองค์ประกอบอื่น ให้เขาใช้เวลากับตัวหนังสือเขา”
16. จงเว้นวรรค
“สิ่งที่คนทำงานสร้างสรรค์ทุกคนจะต้องเจอคือ ช่วงที่คิดงานไม่ออก เวลาเราคิดงานไม่ออก เราทิ้งมันไว้เลย ไม่จำเป็นต้องไปหมกมุ่น ทำไม่ออกก็เว้นวรรค ถอยออกมา ความพิเศษอีกข้อของงานออกแบบหนังสือคือ ถ้าคิดไม่ออกก็กลับไปอ่านใหม่ เราเชื่อว่าหนังสือทุกเล่มแค่เปลี่ยนเวลาอ่าน ทำความเข้าใจใหม่ มันจะเจอบริบทหรือภาพบางอย่างที่เรามองข้ามไป”
17. จงใจกว้าง
“วิธีหาแรงบันดาลใจและทำให้งานสดใหม่เสมอคือ การออกไปเจอความหลากหลาย พยายามออกไปเจอโลกกว้าง ทำงานออกแบบไม่ควรหมกมุ่นแต่เรื่องออกแบบ ออกไปเจอคน เดินทาง ออกไปเสี่ยง และสนใจความรู้ที่ทำให้คุณกลมขึ้น เรื่องพวกนี้มันตอบไม่ได้หรอกว่าเราจะเอามาใช้เมื่อไหร่ แต่เชื่อเถอะว่าถึงที่สุดแล้ว ณ วันหนึ่ง ถ้าเราติดขัด เรื่องพวกนี้มันจะช่วยเราได้มาก
“เราคิดว่ายิ่งเจอความหลากหลายมาก พื้นที่ในหัวจะกว้างมากขึ้น อย่างเราเจอคนอ่านหลากหลายกลุ่ม ทำให้เราเห็นความแตกต่างของคนทุกแบบ ถ้าเข้าใจเรื่องพวกนี้ คุณจะไม่ตัดสินใจอะไรผิด-ถูก ไม่มีขาวหรือดำ มันคล้ายๆ รสนิยมเรื่องหนัง ถ้าคุณชอบหนังฮอลลีวูดไม่ได้แปลว่าคุณแย่ คนบางคนมีชีวิตรอดเพราะหนังบล็อกบัสเตอร์ วันที่เลวร้ายมากมานั่งดูหนังเรื่องนี้ แม่งช่วยได้มาก เช่นเดียวกับดีไซน์ปกหนังสือ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะฉลาดเพราะอ่านน็อนฟิกชั่น คุณอ่านอนิเมะก็ได้ คุณอ่านแจ่มใสคุณก็มีโลกของคุณ ถ้าคุณเห็นโลกพวกนี้แล้วเรียนรู้ว่าโลกมันกว้าง พอโลกมันกว้างก็จงใจกว้างซะ พอใจกว้าง คุณจะออกแบบอะไรก็ได้”
18. เก็บเกี่ยวให้มาก
“เคยมีน้องคนหนึ่งมาถามเราว่า ทำไมศิลปะหรือการทำงานสร้างสรรค์บ้านเรามันไม่เติบโตไปกว่านี้ ทำไมแกลเลอรีของประเทศเรามีมากไม่เท่าประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว เราตอบเขาตามความรู้ไปว่า ไม่มีใครไปแกลเลอรีถ้าหิวข้าว หมายถึงเราจะไปเสพงานพวกนั้นก็ต่อเมื่อเราได้กินข้าวแล้ว มีที่พัก มีเงินในบัญชีเพียงพอ ตื่นมาแล้วได้กินข้าวอย่างอิ่มเอม เมื่อนั้นแหละที่คุณจะใช้ชีวิตไปเสพงานศิลปะหรือความรุ่มรวยด้านอื่นๆ เพราะฉะนั้นถ้ามองไปยังโครงสร้างของประเทศนี้ สิ่งแรกที่คุณจะต้องทำคือปากกัดตีนถีบ ยังต้องหาเช้ากินค่ำ งานศิลปะจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่คนในประเทศนี้โฟกัสและสนใจ
“เราทำงานที่ open 5 ปี ไปเรียนต่อที่อังกฤษ 3 ปี กลับมาค่าออกแบบปกจาก 8,000 บาทลดเหลือแค่ 2,000 บาท สิ่งนี้มันทำให้เรารู้เลยว่า การทำงานสร้างสรรค์ตรงนี้มันอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่สามารถหาโครงสร้างที่จะซัพพอร์ตการทำงานเป็นอาชีพได้จริง หลังจากนั้นเราจึงมองหาวิธีใหม่ที่ให้เราทำงานได้อย่างสมดุลและยืนยาว จนสุดท้ายก็มาลงตัวที่การเป็นพาร์ตเนอร์อาร์ตไดเรกเตอร์ คือการทำงานดูแลภาพรวมปกของทั้งสำนักพิมพ์ แปลว่าเราดูแลตั้งแต่อาร์ตไดเรกชั่น ปกหนังสือมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของสำนักพิมพ์นั้นๆ ที่ในแต่ละปีเราจะเห็นปริมาณงานที่ค่อนข้างพอดี
“ถ้าเราชัดเจนในโครงสร้างการทำงานเชิงวิชาชีพแล้ว มันจะส่งผลให้เราทำงานเชิงสร้างสรรค์ ทำให้ใช้เวลากับงานบางประเภทที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างแบบทั่วๆ ไปเลยนะ สมมติเรตแบบเด็กจูเนียร์ต้องทำงาน 5-6 ปกต่อเดือนถึงจะอยู่ได้ แต่ถ้าใช้โครงสร้างนี้ เราขอแค่ 2-3 ปกก็เพียงพอที่จะทำได้อย่างอย่างแข็งแรงและมั่นคง เพราะฉะนั้น เราจึงพยายามอธิบายนักออกแบบรุ่นใหม่ว่า ช่วงเริ่มต้นพยายามเก็บเกี่ยวตักตวงการทำงานสร้างสรรค์ให้มาก เพื่อที่ว่าวันหนึ่งเมื่อตัดสินใจทำงานวิชาชีพหรือออกมาสร้างพื้นที่ให้ตัวเองแล้ว พาร์ตนั้นมันจะซัพพอร์ตและแข็งแรงเพียงพอสำหรับคุณ”
19. มันก็เป็นแบบนี้เอง
“เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้คนเห็นเราอยู่เรื่อยๆ ตลอด 19 ปีที่ผ่านมา เพราะเราอาจเป็นคนหนึ่งในสังคมที่มีความต่อเนื่องในการทำงานสูง เราเป็นนักออกแบบปกที่ยืนหยัดทำงานด้านปกหนังสือตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ช่วงที่ล้มเหลว มีช่วงดราม่าขั้นรุนแรง เจออินบอกซ์มาด่า เราเคยเจออุปสรรคแบบนี้เยอะมากๆ แต่เราก็มูฟออน ทำต่อไป เรารู้สึกว่า เออ นี่เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้มาตลอด ไม่มีอะไร ทำงานต่อไป มันก็เป็นแบบนี้เอง
“เราอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนทำงานที่เติบโต เรียนรู้จากความผิดพลาด และเอาตัวรอดจากระบบการศึกษาที่ไม่ดีนักของประเทศนี้ เราโตมากับคำคมแบบที่ว่า จงมองหางานที่คุณรัก เราเองก็ไม่ได้สนใจหนังสือขนาดนั้นแต่ก็ยังทำงานออกแบบปกหนังสือ เพราะมองงานที่ทำคือการศึกษาเรียนรู้ในโลกภายนอก ในโลกปัจจุบันที่มีช่องทางความรู้หลากหลายกว่ารุ่นเราเยอะ คนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้จากความรู้นอกระบบเหล่านั้น จากคนทำงาน เพื่อไว้ใช้ค้นหาตัวเองหรือที่มั่น ซึ่งมันจำเป็น เพราะไม่ช้าก็เร็วเรื่องนี้จะมาเคาะประตูที่หน้าบ้าน”