ฉันเชื่อว่าทุกคนล้วนมีเรื่องในใจที่อยากสื่อสารให้คนทั่วไปได้รับรู้ สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เกี่ยวกับตัวเรา หรือใหญ่โตระดับที่ส่งแรงกระเพื่อมต่อสังคม บางคนเลือกสื่อสารผ่านการพูดคุยกับคนรอบข้าง พิมพ์ลงโซเชียลมีเดีย บอกผ่านงานเขียน หรือเก็บงำไว้คุยกับตัวเองในใจ
แน่นอนว่าข้อความและการอธิบายถือเป็นวิธีการสื่อสารที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุด ทว่าหลายต่อหลายครั้งงานประเภทภาพวาด งานออกแบบ หรือภาพถ่าย ก็สามารถใช้เป็นสื่อที่ส่งสารได้อิมแพกต์ไม่แพ้กัน ทั้งยังเปิดกว้างให้ผู้พบเห็นใช้ประสบการณ์และความรู้ของตนตีความจนเกิดเป็นนัยใหม่ๆ ที่แม้แต่ผู้สร้างสรรค์ชิ้นงานอาจนึกไม่ถึง
ด้วยเหตุนี้ Kinjai Contemporary จึงจัดนิทรรศการ Bangkok Through Poster ขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ก่อตั้งแกลเลอรี โดยมีจุดเริ่มต้นจากวงสนทนา คำบ่น และการวิพากษ์วิจารณ์รายวันเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคม เช่น ชีวิต การศึกษา การงาน การเมือง สังคม ฯลฯ สู่การตั้งคำถามว่าเสียงของทุกคนมีความหมายแค่ไหน แล้วในฐานะของคนทำงานสร้างสรรค์สามารถออกแบบการสื่อสารหรือเป็นกระบอกเสียงให้กับสังคม ชุมชน หรือพื้นที่ได้ยังไงบ้าง ซึ่งนอกจากความตั้งใจในการเป็นพื้นที่สื่อสารความนึกคิดและความในใจของเหล่าศิลปินแล้ว ทีมผู้ก่อตั้งยังมุ่งหวังให้เทศกาลนี้เป็นอีเวนต์ประจำปีที่เก็บ archive ความเป็นไปของผู้คนตามยุคสมัย
พวกเขาเลือกใช้สิ่งพิมพ์อย่าง ‘โปสเตอร์’ เป็นพาหนะในการส่งสาร เนื่องจากสื่อประเภทนี้ทำหน้าที่ประกาศ โฆษณา หรือบอกข่าวสารในที่สาธารณะมาตั้งแต่อดีต แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่จนทุกอย่างไปอยู่บนโลกออนไลน์ แต่โปสเตอร์ก็ยังทำหน้าที่ของมันได้อย่างทรงพลังไม่เปลี่ยน ความพิเศษในงานนี้ที่ทำให้โปสเตอร์ทั้งหมดได้ทำงานมากขึ้นคือ การที่ทีมงานนำชิ้นงานไปแปะตามสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้พบเห็น
สำหรับปีที่ 2 ของนิทรรศการ Bangkok Through Poster เปิดโอกาสให้นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ร่วมกันทำโปสเตอร์ในแบบของตัวเองจากประสบการณ์ของแต่ละคนที่ได้พบเจอมาตลอดปี ภายใต้คอนเซปต์ ‘The Keyword’ ที่ต้องการบอกเล่าหรือสื่อสารแก่สังคม เพื่อกระตุ้นการรับรู้ของคนให้เห็นถึงเหตุการณ์ ความเป็นไป พฤติกรรม รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมและสาธารณะ
ฉันเดินเข้ามาในแกลเลอรีและรับคอนเซปต์บุ๊กที่อธิบายแนวคิดการออกแบบโปสเตอร์แต่ละแผ่นจาก กีตาร์–ญาดา ฤทธิมัต และ ปุ๊กกี้–ผาณิตา ไกรนรา ทีมผู้จัดนิทรรศการครั้งนี้ และออกเดินชมงานไปพร้อมๆ กัน
ส่งสารผ่านการออกแบบ
“ปีนี้เราชวนนักออกแบบทั้งไทยและเทศประมาณ 70 คน แตกต่างจากปีก่อนที่ส่วนใหญ่มีแต่ศิลปินไทย พอมีงานจากต่างประเทศมาด้วยก็มีความหลากหลายขึ้น เช่น เยอรมนี อิตาลี ฮ่องกง ญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เราเห็นความแตกต่างจากคีย์เวิร์ดว่าบ้านเมืองเขาพบเจออะไรอยู่ คีย์เวิร์ดที่เขาเลือกเป็นเรื่องประมาณไหน บางชิ้นก็คล้ายๆ ของบ้านเรา พวกประเด็นเรื่องเศรษฐกิจทั่วไป” ปุ๊กกี้อธิบายถึงภาพรวมงานให้ฉันฟัง
ด้วยโปสเตอร์จำนวน 75 ชิ้นทั้งรอบ Guest และ Open Call ทำให้ต้องใช้พื้นที่จัดแสดงของแกลเลอรีทั้งหมด 4 ชั้น และถึงแม้ผลงานทั้งหมดจะอยู่ในรูปแบบกระดาษขนาด A2 แต่ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะดูซ้ำๆ จนน่าเบื่อ เพราะแต่ละชิ้นงานมีคีย์เวิร์ดที่อยากสื่อสารเป็นของตัวเอง แถมเทคนิคดีไซน์ก็หลากหลายจนไม่มีชิ้นงานที่อยากเดินผ่านเลยไป
แต่ก่อนจะขึ้นไปชมโปสเตอร์ทั้งหมด กีตาร์และปุ๊กกี้แนะนำว่าหากซื้อคอนเซปต์บุ๊กที่บอกตำแหน่งชิ้นงาน รายละเอียดแนวคิดเบื้องหลังการดีไซน์ผลงาน และโลเคชั่นในกรุงเทพฯ ที่ศิลปินอยากติดโปสเตอร์ คุณจะยิ่งสนุกและเข้าใจสารของศิลปินมากขึ้น คล้ายๆ กับการมีไกด์บุ๊กช่วยเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชิ้นงานศิลปะ ทว่าหากคุณอยากเดินชมงานอย่างเดียวพวกเธอก็ไม่ว่ากัน เพราะโปสเตอร์แต่ละแผ่นก็มีความสวยงามและคอนเทนต์ในตัวมันเองอยู่แล้ว
“ตรงนี้เป็นผนังให้ทุกคนมาปลดปล่อยและใช้เป็นพื้นที่สำหรับใครที่อยากเขียนอยากพูดถึงอะไร ผู้เข้าร่วมงานสามารถมาแสดงความเห็น เขียนคีย์เวิร์ดที่ตัวเองอยากสื่อสาร หรือใครอยากเขียนอะไรก็มาเขียนได้” ฉันกวาดตามองข้อความจำนวนหนึ่งบนผนังสีขาวชั้น 1 ที่บอกเล่าความอัดอั้นตันใจและแสดงความคิดเห็นของใครหลายๆ คน บ้างเป็นเรื่องการเมือง บ้างเป็นเรื่องสังคม บ้างเป็นเรื่องส่วนตัว
และด้วยความที่งานนี้มีสตูดิโอ ศิลปินเดี่ยว และนักออกแบบหน้าใหม่ ที่ส่งผลงานเข้าร่วมจัดแสดง วิธีการจัดเรียงชิ้นงานจึงไม่ได้มีหลักเกณฑ์ชัดเจนมากนัก “เราพยายามกระจายผลงานของศิลปินหน้าใหม่และเกสต์ที่เราเชิญมาให้ทั่วๆ กัน ไม่ได้แยกว่าชั้นนี้เฉพาะกลุ่มนี้ๆ ไม่ได้จัดกลุ่มการดีไซน์และชิ้นที่สื่อสารคล้ายกันว่าต้องอยู่ด้วยกัน อาจจะมีดูเรื่องวิชวลบ้างตรงชั้น 3 ที่บางผนังเป็นโทนสีขาว-ดำ และในห้องที่จัดแสดงโปสเตอร์ที่ต้องการการอินเทอแรกต์นิดหน่อย แต่ไม่ได้ถึงขนาดแยกหมวดหมู่”
ออกสำรวจคีย์เวิร์ด
ฉันเดินดูผลงานกับชื่อเจ้าของผลงานแต่ละชิ้นอย่างสนอกสนใจ หลายชื่อเป็นคนในวงการดีไซน์ที่ฉันคุ้นเคย ยกตัวอย่างเช่น Studio Dialogue, Practical Design Studio, Rabbithood, The Archivist นี่ยังไม่นับรวมชื่ออื่นๆ ที่ไม่ได้พูดถึงอีกเป็นสิบชื่อ ซึ่งทีมงานเองก็ดีใจมากที่ปีนี้ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากแวดวงคนทำงานดีไซน์
นอกจากนี้ยังมีผลงานจากกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำงานด้านดีไซน์เป็นหลัก แต่สื่อสารและสร้างคอนเทนต์บนโปสเตอร์ได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น สำนักพิมพ์สมมติ, สยามมนุษย์สตรีท, ทำ มา หา กิน, ELECT ฯลฯ ที่โชว์ลายเซ็นเรื่องเทคนิคดีไซน์ประจำตัวเต็มที่จนอยากแกะไปติดที่บ้าน บวกกับคีย์เวิร์ดที่พวกเขาต้องการสื่อก็ถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่น่านำไปขบคิดต่อ
หลังจากเดินชมไปได้สักพัก จะเห็นได้เลยว่าผลงานโปสเตอร์บางชิ้นใช้เทคนิคที่สื่อสารชัดเจนอย่างข้อความหรือภาพประกอบ แบบที่แทบเดาได้ทันทีว่าคีย์เวิร์ดของศิลปินคืออะไร แต่กับบางชิ้นที่เป็นแนวกราฟิกสุดๆ หรือคอนเซปต์ชวลจนดูแล้วไม่เข้าใจนัยที่ซ่อนอยู่ คอนเซปต์บุ๊กเล่มสีเขียวในมือจะช่วยขยายความให้ฉันเข้าใจและทึ่งไปกับความลับที่ซ่อนอยู่ภายใต้เส้น รูปทรง และตัวเลขทั้งหลายเอง
“อย่างชิ้นนี้ดูไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่ถ้าอ่านเนื้อหามันหนักมากๆ กราฟิกบนโปสเตอร์นี้มาจากเดซิเบลเสียงพูดของมนุษย์และเสียงอาวุธปืนที่เกิดขึ้นในศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ซึ่งพอรู้แบบนี้แล้วผลงานจะอิมแพกต์ขึ้น หรืออย่างชิ้นนี้ที่ดูน่ารัก แต่จริงๆ เป็นการสื่อถึงการประท้วงที่ฮ่องกง” กีตาร์ชี้ชวนให้ฉันดูโปสเตอร์บนชั้นลอยที่แปะเรียงราย
ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของนิทรรศการนี้คือ การได้สำรวจความนึกคิดและสิ่งที่ศิลปินต่างชาติต้องการสื่อถึงคนในประเทศหรือคนในโลก ไม่ว่าจะเรื่องการอพยพ ความวุ่นวาย เทคโนโลยี หรือแม้แต่ความรุนแรงในประเทศของเขา ฉันว่านี่ถือเป็นการเปิดมุมมองของตัวเองให้กว้างขึ้นผ่านมุมมองการคิดและการออกแบบของคนในพื้นที่อื่น คล้ายกับเป็นการยืมแว่นตาของเขามาสวมใส่เพื่อเรียนรู้สถานการณ์ปัญหาของคนนอกบ้าง
“แล้วแบบนี้ไม่กลัวว่าผลงานบางชิ้นจะพูดเรื่องรุนแรงหรืออ่อนไหวมากๆ จนเป็นปัญหาเหรอ” ฉันตั้งคำถามเมื่อได้ฟังว่าทางทีมงานเปิดกว้างเรื่องคอนเทนต์บนโปสเตอร์มากถึงขนาดไม่มีการจำกัดหัวข้อที่ศิลปินอยากพูดถึง
“ค่อนข้างพูดยาก เพราะความจริงมันคือการสื่อสารสิ่งที่สังคมอยากบอก มันคือเรื่องจริงที่คนเขาต้องการสื่ออยู่แล้ว ซึ่งผู้ออกแบบผลงานเหล่านี้ก็ถือเป็นกระบอกเสียงได้ประมาณหนึ่ง จะเห็นเลยว่าเขาต้องการสื่อเรื่องอะไรบ้าง บางคนถ้าไม่อยากพูดเขาเลือกไม่พูดก็ได้ ขึ้นอยู่กับศิลปินคนนั้นๆ มากกว่าว่าต้องการจะสื่ออะไรออกมา ตัวเราเองก็ไม่ได้เซนเซอร์หรือมีข้อห้ามอะไร”
ส่งเสียงและบันทึกเหตุการณ์
สำหรับนิทรรศการชั้นถัดมาเริ่มปรากฏโปสเตอร์ลักษณะที่ผู้ชมงานสามารถมีส่วนร่วมด้วยได้ อย่างชิ้นที่ให้ผู้ชมงานสามารถใช้ปากกาเล่นเกมต่อคำล้อไปกับชื่อเต็มของกรุงเทพฯ ที่ตัวศิลปินขียนเริ่มไว้ให้ประมาณครึ่งหน้า หรือชิ้นที่เกิดจากการคอลแล็บระหว่างนักเขียน (ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย) กับนักออกแบบ (Thomas & Friends) โดยมีคีย์เวิร์ดภาษาอีสานว่า ‘มุ่นอุ้ยปุ้ย’ เพื่ออธิบายถึงเหตุการณ์ที่นักเขียนพบเจอตลอดปี 2562 ผู้ชมสามารถแปะสติกเกอร์ภาพไวรัลเหตุการณ์ดังๆ ในไทยบนโปสเตอร์ให้ดูวุ่นวายยุ่งเหยิงตามความหมายของคีย์เวิร์ด นอกจากนี้ยังมีโปสเตอร์ที่เกิดจากการทำงานแบบนี้อีก 2 ชิ้นในนิทรรศการ ได้แก่ พวงสร้อย อักษรสว่าง x Toms Yard และ วริศ ลิขิตอนุสรณ์ x Fully Raimaturapong เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนนอกแวดวงดีไซน์เข้ามาร่วมส่งเสียง
“คิดว่าถ้าจัดนิทรรศการนี้ไปเรื่อยๆ น่าจะเห็นกราฟความเปลี่ยนแปลงของคนหลายรุ่น เป็นการเก็บข้อมูลความหดหู่แบบหนึ่ง” ทีมผู้จัดงานสรุปความให้ฉันฟังหลังจากชมผลงานครบทั้ง 4 ชั้น ซึ่งฉันได้แต่นิ่งเงียบ ไม่มีอะไรจะโต้แย้ง เพราะผลงานโปสเตอร์ส่วนใหญ่โดยเฉพาะจากศิลปินไทยล้วนสื่อสารในเรื่องที่ฉันเองก็รู้สึกและคิดว่าหลายคนคงรู้สึกไม่ต่างกัน
หลังจากจัดแสดงที่ Kinjai Contemporary แล้ว โปสเตอร์ทั้งหมดในงาน Bangkok Through Poster จะไปจัดแสดงอีกครั้งในงาน Bangkok Design Week 2020 เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และจะนำไปติดตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ตามความตั้งใจของศิลปินและความเหมาะสมตามวิจารณญาณของทีมงาน
แน่นอนว่านั่นถือเป็นการขยายพื้นที่การมองเห็นชิ้นงาน และในขณะเดียวกันถือเป็นความท้าทายสำหรับศิลปิน เพราะการไม่มีคอนเซปต์บุ๊กหรือคนคอยอธิบายคีย์เวิร์ดของชิ้นงานย่อมส่งผลให้ความหมายหรือสารที่ศิลปินต้องการสื่อบิดเบือนไปตามการตีความของผู้พบเห็นแน่นอน
แต่ฉันคิดว่าไม่เป็นไรหรอก อย่างน้อยแค่มีใครสักคนเกิดความรู้สึกอะไรบางอย่างกับโปสเตอร์เหล่านี้ มันก็ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบแล้วล่ะ
นิทรรศการ Bangkok Through Poster จัดแสดงถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ที่ Kinjai Contemporary ตั้งแต่เวลา 10:30-19:00 น.