ตามไปดูความหมายของการวาดเส้นในนิทรรศการของสตูดิโออกแบบสุดเก๋ที่ชื่อ be>our>friend

be>our>friend เป็นสตูดิโอออกแบบอีกแห่งที่เราสนใจและคอยติดตามข่าวคราวอยู่บ่อยๆ เมื่อได้ยินว่าพวกเขาจะจัดนิทรรศการของตัวเองครั้งแรก ในปีที่อายุ 12 ขวบพอดี เราจึงนัดไปพูดคุยกับ มะลิ จุลเกียรติ, ณัฐวุฒิ เลื่อนไธสง และ ปอม จิตรประทักษ์ ผู้ก่อตั้งสตูดิโอพร้อมแอบเดินชมงานก่อนใคร เพื่อเก็บเรื่องราวและบรรยากาศในนิทรรศการที่น่าไปมากๆ งานนี้มาให้ดูกัน

 

ใครทำ: be>our>friend

be>our>friend คือสตูดิโอออกแบบอายุ 12 ขวบที่สนใจเรียนรู้ ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ และตั้งใจจะทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น พวกเขาทำงานเชิงพาณิชย์โดยแปลงงานประเภทนี้ที่คนอาจมองว่าน่าเบื่อสำหรับนักออกแบบให้สนุก สื่อสาร และตอบโจทย์ของลูกค้าด้วย ผลงานของสตูดิโอนี้มีด้วยกันหลากหลายแนว ล่าสุดคือออกแบบอัตลักษณ์องค์กรและใช้งานกราฟิกสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าของร้าน Eathai โฉมใหม่ และที่กำลังจะเปิดตัวคืองานออกแบบนิทรรศการ ‘เครื่องโขน’ ในพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์
พระบรมราชินีนาถ

 

ทำทำไม : แสดงตัวตนของ be>our>frined ให้คนทั่วไปได้รู้จัก

หลังจากเปิดสตููดิโอมายาวนานถึง 12 ปี ชาว be>our>friend ก็อยากทำงานที่สะท้อนถึงวิธีคิดและปรัชญาการทำงานของพวกเขา ในที่สุดจึงเกิดเป็นนิทรรศการที่ผู้ชมจะได้สัมผัสความเป็น be>our>friend อย่างเต็มเปี่ยม ตั้งแต่สิ่งที่ชอบและสนใจ จนถึงวิธีคิดและปรัชญาการทำงานของสตูดิโอออกแบบแห่งนี้

ทำอะไร: Lives & Lines Exhibition

ตอนเริ่มต้นคิดนิทรรศการ ชาว be>our>friend ลงนั่งคุยกันถึงสิ่งที่สนใจ จนได้บทสรุปว่า นักออกแบบที่ทำงานสื่อสารกับผู้คนอย่างพวกเขาสนใจเรื่องของการวาดเส้น ซึ่งถือเป็นพื้นฐานการสื่อสารของมนุษย์ นิทรรศการนี้จึงเกิดขึ้นภายใต้คำถามว่า ‘การวาดเส้นคืออะไร’ ทีมผู้จัดค้นหาคำตอบด้วยการออกไปเจอคนที่เกี่ยวข้องกับการวาดเส้นในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่แบบที่ใช้เส้นอย่างเป็นตรรกะไปจนถึงแบบที่สุดแสนจะนามธรรม เมื่อถึงจุดหนึ่ง พวกเขาก็ค้นพบว่า การวาดเส้นนั้นเชื่อมโยงสัมพันธ์กับชีวิตของคนวาดด้วย
นิทรรศการนี้จึงบอกเล่าเรื่องความหมายของการวาดเส้นไปพร้อมกับชีวิตของผู้คนที่วาดเส้นเหล่านั้น

นิทรรศการนี้จัดแสดงผลงานของบุคคล 13 คน โดยตัวงานเวลาเดินชมจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ ไล่ตามเส้นเรื่องที่ไล่เรียงตั้งแต่การใช้เส้นแบบมีตรรกะจนถึงเชิงนามธรรม

 

1. รับรู้

ในโซนนี้จะพูดถึงการวาดเส้นประเภทที่ตรงไปตรงมาที่สุด นั่นคือการวาดเส้นโดยเรารับข้อมูลทางประสาทสัมผัสของร่างกาย ข้อมูลผ่านไปสู่สมอง แล้วก็ถ่ายทอดออกมาเป็นเส้นที่วาดเลย ตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ในนิทรรศการที่เมื่อเห็นภาพ โปรแกรมคำนวณแล้ว ก็วาดออกมาเลยอย่างตรงไปตรงมา

2. ประมวล

โซนนี้จะพูดถึงสิ่งที่ซับซ้อนขึ้นมาอีกนิด นั่นคือการวาดเส้นที่เกิดจากเรารับข้อมูลใหม่เข้ามา ประมวลผลโดยนำข้อมูลนั้นไปผสมผสานกับสิ่งที่เคยรู้มาก่อน แล้วค่อยวาดเป็นเส้น เพราะฉะนั้นเส้นที่ได้เห็นก็จะไม่เหมือนกับข้อมูลที่รับเข้าไป ตัวอย่างคือ ผลงานรอยสักเท่มากๆ ของนักออกแบบรอยสักคนหนึ่ง ซึ่งใช้วิธีไปฟังเรื่องราวชีวิตของคนที่อยากมาสัก แล้วนำมาประมวล เพื่อออกแบบเป็นลวดลาย (ที่จะเคลื่อนไหวเวลาร่างกายขยับด้วย) เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งชอบปฏิบัติธรรม รอยสักที่นักออกแบบคิดให้จึงเป็นรอยสักที่จะกลายเป็นวงกลมพอดีเมื่อผู้หญิงคนนี้นั่งสมาธิ

3. แสดงออก

ถัดจากการประมวล คือโซนของการแสดงออก พูดถึงการวาดเส้นที่ตัดทอนและผสมผสานความจริงที่ได้มาเข้ากับสิ่งซับซ้อนละเอียดอ่อนอย่างความคิด จินตนาการ และจิตใต้สำนึก จนกลายเป็นเส้นสายที่อาจจะเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิงกับความจริงต้นทาง ตัวอย่างเช่น ภาพวาดเส้นขาวดำของสุธิภา คำแย้ม ศิลปินสาวซึ่งเกิดจากสิ่งที่ได้พบในประเทศแถบสแกนดิเนเวียผสมกับความคิดแนวแฟนตาซีของตัวเอง และเพลงที่ได้ฟังระหว่างนั่งวาดภาพ

4. ตระหนักรู้

โซนสุดท้ายของงานที่พูดถึงการวาดเส้นในแบบที่นามธรรมที่สุด นั่นคือการวาดเส้นที่เรามองแล้วไม่อาจเข้าใจคนวาดได้เลย เพราะคนวาดเส้นเหล่านี้ไม่ได้ใส่ความหมายหรือเรื่องราวลงไปในเส้น แต่ ‘ความหมาย’ นั้นอยู่ที่ตัวเขาในระหว่างวาดนั่นเอง อาจจะฟังดูงงๆ หน่อย ลองดูตัวอย่างจะเข้าใจขึ้น ภาพลายเส้นวงกลมสีดำที่เห็นอยู่นี้ คือผลงานของพระอาจารย์ติช นัท ฮันท์ ที่วาดเส้นเพื่อเป็นการปฏิบัติธรรมแบบพุทธศาสนานิกายเซน เส้นที่เราเห็นจึงไม่มีความหมาย เพราะสิ่งที่สำคัญคือการมีจิตใจจดจ่อในขณะลากเส้นลงบนกระดาษ เมื่อวาดเสร็จ เส้นก็ไม่ได้มีความหมายอะไรอีก

ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่จะได้พบในนิทรรศการของ be>our>friend ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาค้นพบระหว่างหาคำตอบว่า การวาดเส้นคืออะไร ทั้งหมดนี้ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่เป็นสิ่งที่ได้รู้แล้วอยากนำมาแบ่งปันกับผู้ชม “เราไม่ได้คาดหวังว่าคนดูมาดูแล้วจะได้อะไร แต่รู้สึกว่าอยากให้เขาดูแล้วคิดต่อได้ และหวังให้นิทรรศการนี้เป็นประโยชน์กับคนในวงกว้างและในทุกช่วงอายุ” ปอม จิตรประทักษ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอแห่งนี้บอกกับเรา

ผู้ที่มาชมงานนี้จึงเหมือนได้ร่วมเดินทางค้นหาความหมายของการวาดเส้นที่สุดท้ายแล้วไม่มีบทสรุปตายตัว
และแน่นอนว่าจะได้สัมผัส ได้รู้จักตัวตนของสตูดิโอออกแบบที่ชื่อ be>our>friend เช่น สิ่งที่พวกเขาสนอกสนใจ และบุคลิกของสตูดิโอที่ชอบเรียนรู้ ค้นคว้าไปเรื่อยๆ รวมทั้งเปิดกว้างต่อหลากหลายความเป็นไปได้ด้วย

นอกจากมีนิทรรศการให้เดินดู be>our>friend ยังจัดทำหนังสือเล่มพิเศษชื่อ ‘A Trace of Truth’ ที่เป็นบันทึกบทสัมภาษณ์ระหว่างการค้นหาความหมายของการวาดเส้นด้วย ตัวเล่มจริงสวยมาก น่าอ่านมาก ใครสนใจไปดูได้ที่ร้านหนังสือ Candide ไม่ใกล้ไม่ไกลจากนิทรรศการนะ

จัดที่ไหน: The Jam Factory Gallery

เป็นอีกครั้งที่มีนิทรรศการน่าสนใจจัดขึ้นที่แกลเลอรีแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ใน The Jam Factory พื้นที่สร้างสรรค์สุดเก๋ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยครั้งนี้พื้นที่โล่งภายในแกลเลอรี่ถูกจัดแบ่งเป็น 4 โซนหลักตามความตั้งใจของนิทรรศการ แผนผังการเดินที่ถูกต้องคือ เริ่มจากทางขวามือ วนย้อนเข็มนาฬิกาไปจนกลับมาถึงประตูทางเข้าอีกรอบ

 

แนะนำให้ตามไปดู

Lives & Lines Exhibition จัดแสดงให้ชมกันตั้งแต่ 28 กรกฎาคม – 27 สิงหาคม 2559 ที่ The Jam Factory Gallery เราได้ข่าวว่าจะมีการเปิดรอบนำชมนิทรรศการด้วย ต้องติดตามข่าวดูที่ Facebook l Lives & Lines Exhibition : hosted by beourfriend

ภาพ ลักษิกา แซ่เหงี่ยม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ลักษิกา จิระดารากุล

ช่างภาพ a team junior 12 ผู้ถูกชะตากับอาหารที่มีสีส้มเกือบทุกชนิด และรักกะเพราไก่ (ใส่แครอท)