‘ไม่ว่าเพศไหนก็ควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน’ รวมผู้คนกับความหวังที่อยากเห็นดอกไม้เรื่องเพศเบ่งบาน

‘ไม่ว่าเพศไหนก็ควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน’ รวมผู้คนกับความหวังที่อยากเห็นดอกไม้เรื่องเพศเบ่งบาน

‘ไม่ว่าเพศไหนก็ควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน’ รวมผู้คนกับความหวังที่อยากเห็นดอกไม้เรื่องเพศเบ่งบาน

แม้ประเทศไทยจะมีภาพจำว่าเป็นสังคมที่เปิดกว้างเรื่องเพศ ทว่าเมื่อลองโฟกัสลงไปลึกๆ แต่ละองคาพยพจะพบว่า ดินแดนที่ดูเป็นสรวงสวรรค์ของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศยังมีปัญหาเรื่องการยอมรับ การให้พื้นที่ รวมถึงการให้สิทธิเสียงของคนกลุ่มนี้อยู่อย่างมากทีเดียว

การบูลลี่ล้อเลียน การเหมารวม การกีดกั้นโอกาสการทำงาน หรือกระทั่งการตรา พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้งหมดที่กล่าวมาคือตัวอย่างปัญหาที่สะท้อนความลักลั่นของสังคมไทย แม้สถานการณ์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศของเราจะดีขึ้นตามลำดับ แต่หลายครั้งก็ยังติดหล่มกับอุปสรรคระดับโครงสร้างของสังคมที่ทำให้คนในแวดวงนี้ขับเคลื่อนต่อไปไม่ได้อย่างเต็มที่

เนื่องในโอกาสที่เดือนนี้เป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ (pride month) เราจึงอยากชวนทุกคนมาสำรวจ ‘ความหวัง’ ของคนทำงานและเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ รวมถึงชมเซตภาพดอกไม้จากฝีมือ ‘บอล–นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์’ ศิลปินที่นำดอกไม้มาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะ ว่าท่ามกลางความสวยงามที่ผู้คนมองเห็น พวกเขาอยากเห็นอะไร เพื่อที่ ‘ความเท่าเทียม’ ที่ควรมีมาตั้งแต่แรกจะเกิดขึ้นจริง

“เราหวังให้มี พ.ร.บ.คู่ชีวิตรองรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน แต่เข้าใจว่าเรื่องนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป ในหลายเมืองทั่วโลกที่ให้คนเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตได้เขาก็ค่อยๆ เปลี่ยน เติบโตไปตามกระแสสังคมทั้งนั้น จะให้ก้าวกระโดดจนได้สิทธิครบถ้วนเหมือนคู่ชาย-หญิงเลยอาจจะยาก เพราะกฎหมายไม่ได้เปลี่ยนแค่กระทรวงเดียว มันต้องเปลี่ยนกันไปเป็นลูกโซ่ ที่สำคัญคณะกรรมการร่างกฎหมายบางคนอาจยังไม่เข้าใจความคิดความรู้สึกของ LGBT ฉะนั้นเราอาจจะต้องให้เวลาพวกเขา

“และก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เราคาดหวังให้คนในกลุ่ม LGBT ด้วยกันเปลี่ยนพฤติกรรมก่อน ทั้งๆ ที่เราเรียกร้องสิทธิมากมาย เรียกร้องให้คนไม่เหยียดคุณ แต่คุณยังเหยียดหยามคนในกลุ่มเดียวกัน ตุ๊ดคนนี้มาจากชนบทมีศักดิ์ต่ำกว่า พระเอกคนนั้นเป็นเกย์แน่ๆ ถ้าเรายังเหยียดกันตลอดเวลาแบบนี้ การเรียกร้องก็คงไม่สมบูรณ์”

จักร์กริช วัฒนวีร์ และ ปริญญ์ วัฒนวีร์
อายุ 44 ปี และ 39 ปี
คู่รักที่อยากใช้คำว่าครอบครัวเดียวกัน ครอบครัวของปริญญ์จึงรับจักร์กริชเป็นบุตรบุญธรรม

“เราหวังให้มีประเด็น LGBT ในนิยายวาย เพราะสำหรับเราตัวละครในนิยายวายคือ LGBT อยู่แล้ว แต่เหนือสิ่งอื่นใดในฐานะนักอ่านเราก็คาดหวังความบันเทิง นิยายวายสามารถใส่ประเด็น LGBT ได้ แต่ไม่อยากให้ยัดลงไปจนรู้สึกเหมือนโดนบังคับอ่าน เรายังอยากให้มันสนุก มีสถานการณ์ที่ไม่เครียดเกินไป เพราะถึงยังไงการอ่านนิยายก็คือวิธีผ่อนคลายที่เราใช้เพื่อหลบออกจากโลกความเป็นจริง”

นัยนา เกริกเกียรติสิริ
อายุ 35 ปี
นักอ่านผู้ติดตามนิยายแนวชายรักชาย (วาย) มากว่า 15 ปี

“เราหวังให้คนไทยเคารพความแตกต่าง สังคมพูดว่าเปิดกว้างแต่ในทางปฏิบัติมันไม่ใช่อย่างนั้น วันนี้ผู้หญิงข้ามเพศยังถูกกีดกันในหลายสายอาชีพ แค่เพราะเขามีคำว่านายนำหน้าชื่อ เพราะผู้บริหารไม่ยอมรับและกฎหมายประเทศไทยไม่ยอมให้เปลี่ยนคำนำหน้า แต่ความสามารถในการทำงานและการขับเคลื่อนให้พัฒนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นเพศอะไร 

“เราอยากเห็น role model ผู้หญิงข้ามเพศที่ทำอาชีพอื่นนอกจากช่างแต่งหน้าทำผมหรือนางโชว์ แต่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้มันต้องเริ่มจากการไม่กีดกันในสายงานอื่นๆ เสียก่อน ถ้าคุณไม่เลือกปฏิบัติเพราะอัตลักษณ์ทางเพศของเขา คำว่าสังคมเปิดกว้างก็คงเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ”

นิรนาม
อายุ 27 ปี
พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งผู้นิยามตัวเองว่าเป็น transgender เคยผ่านการคัดเลือกเข้าทำงานแต่โดนปฏิเสธก่อนเริ่มงาน เพราะผ่าตัดหน้าอกและแปลงเพศแล้วแต่ใช้คำนำหน้าชื่อว่านาย

“หนูหวังให้คนรุ่นเก่าทุกคนยอมรับ LGBT ได้ค่ะ ถ้าทุกคนเปิดใจยอมรับแบบที่พ่อแม่ของหนูยอมรับ หนูว่าสังคมจะดีขึ้นมากๆ เลยนะคะ หากทุกคนในสังคมแสดงออกทางเพศได้อย่างเสรี บรรยากาศในชุมชนนั้นจะดีแน่ๆ เพราะทุกคนจะไม่ตัดสินกันแค่ภายนอก อย่างชุมชนของหนู เวลามีงานอะไรก็ตาม คุณป้าคุณน้าหลายๆ คนชอบมาให้ช่วยแต่งหน้าเพราะรู้ว่าเรามีความสามารถด้านนี้ มันเหมือนว่าพวกเขายอมรับเรา มองเห็นเราที่ความสามารถมากกว่าสิ่งที่เราเป็น”

นิพิฐพงศ์ รักตน (เนสตี้ สไปร์ทซี่) 
อายุ 14 ปี
เจ้าของเพจเฟซบุ๊กเนสตี้ สไปร์ทซี่

 

“เราหวังให้ทุกคนมองว่าชาว LGBTQI คือมนุษย์ โดยที่ไม่ต้องเอาเรื่องเพศมาเป็นกรอบหรือเกณฑ์ในการบอกว่าใครมีสิทธิหรือหน้าที่ยังไง เราทุกคนควรจะต้องมีสิทธิและเสรีภาพอย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าในแง่กฎหมายหรือมุมมองของสังคม ซึ่งเราพยายามผลักดัน 2 เรื่องพื้นฐานที่สำคัญ คือการสมรสกับเพศเดียวกันและสิทธิในกำหนดเพศของตัวเอง ซึ่งหากสังคมสามารถผ่าน 2 ข้อใหญ่นี้ไปได้ สิทธิและเสรีภาพในเรื่องอื่นๆ ของ LGBTQI ก็จะตามมา”

กิตตินันท์ ธรมธัช
อายุ 55 ปี
ทนายความและนายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยที่ผลักดันความเสมอภาคและเท่าเทียมในสิทธิและเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQI

“เราหวังให้คนในสังคมเข้าใจสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลไทยทำหน้าที่ในการปกป้อง ส่งเสริม และเติมเต็ม สิทธิมนุษยชนของผู้หญิง รวมถึงผู้หญิงที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนเผชิญกับการถูกคุกคาม กีดกัน ระหว่างการทำงานเยอะมาก ทั้งจากรัฐหรือภาคธุรกิจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้กระทั่งในสถาบันครอบครัวที่ยึดในกรอบชาย-หญิง (gender role) ก็ไม่ได้สนับสนุนการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะยังเชื่อว่าไม่ใช่บทบาทและหน้าที่ของผู้หญิงที่ควรจะต้องอยู่ที่บ้านมากกว่า ในมุมมองของสังคมผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังเผชิญกับวาทกรรมว่าการเรียกร้องเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา เพียงเพราะเราต่อสู้ให้เกิดการตรวจสอบโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน ดังนั้นถ้าหากรัฐบาล ภาคธุรกิจ และคนในสังคม เข้าใจสิทธิมนุษยชน ก็จะเกิดความเคารพในสิ่งที่ผู้หญิงนักสิทธิฯ อย่างเราทำ”​

มัจฉา พรอินทร์
อายุ 40 ปี
นักสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิสตรี เด็ก ชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

 

“หนูหวังให้สังคมเราเคารพกันมากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่ถูกทำให้เป็นคนชายขอบ หนูอยากให้มีพื้นที่สำหรับเยาวชนที่เป็น LGBTQI และลูกๆ ของ LGBTQI ในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกฎหมาย โดยเฉพาะการเรียกร้องให้มีการใช้กฎหมายเดียวกับคู่รักต่างเพศ เช่น การจดทะเบียนสมรสที่เท่าเทียม หนูคิดว่าจริงๆ แล้วครอบครัวไม่จำเป็นต้องมีพ่อและแม่เท่านั้น เพราะหนูก็อยู่ในครอบครัวที่มีแม่สองคน ซึ่งก็ไม่ได้รู้สึกว่าแปลกหรือบกพร่องอะไรเลย เพราะคำว่าครอบครัวหมายความถึงผู้คนที่เรารู้สึกปลอดภัยด้วยเมื่อได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน”

ศิริวรรณ พรอินทร์
อายุ 17 ปี
นักเรียนและนักกิจกรรมที่ต่อสู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ เจ้าของเพจ Her story_My Daughter ที่บอกเล่าเรื่องราว ‘ครอบครัวหลากหลาย’ ในฐานะผู้ที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีแม่สองคน

“เราหวังว่าเซ็กซ์ทอยจะถูกกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าอาจมีการควบคุมคุณภาพตามมา เช่น กำหนดว่าสินค้าที่นำเข้าต้องมีการรับรอง FDA แต่เราก็รู้ว่ามีคนที่เห็นต่าง เพราะกลัวว่าเมื่อถูกกฎหมายแล้วของเล่นจะแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า นอกจากนี้เราอยากให้ทุกคนเปิดใจยอมรับว่าการใช้ของเล่นคือเรื่องปกติ และอยากให้ทุกคนได้ลองสำรวจร่างกายตัวเอง บางคนลองเล่นกับตัวเองแล้วเพิ่งรู้ว่าการเสร็จเป็นยังไง ทั้งที่ก็เคยมีอะไรกับแฟนมาก่อน หรือบางคู่ได้ลองเล่นด้วยกันก็หันกลับมามองคนข้างๆ อีกครั้ง ข้อนี้สำคัญมากเพราะเราไม่สนับสนุนให้ใครออกไปหาเศษหาเลยนอกบ้าน”

อรนันท์ ตั้งปณิธานนท์
อายุ 38 ปี
เจ้าของร้านอีโรติกช็อป The Hidden Closet

 

“เราหวังว่าคนจะกล้าตั้งคำถามเรื่องเพศ กล้าคุย กล้าถาม กล้าฟังมากขึ้น มีการพูดคุยและวิพากษ์วิจารณ์แนวความคิดด้วยเหตุและผล ตระหนักถึงปัญหาของตัวเองและตั้งคำถามกับตนเอง รวมถึงตระหนักถึงปัญหาสังคมและพูดคุยเพื่อหาแนวทางที่ทำให้สังคมขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงก่อตั้งเพจเฟมินิสต์วันละหน่อยขึ้นในปี 2559 เนื่องจากช่วงนั้นข้อมูลเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศส่วนมากเป็นภาษาอังกฤษ จุดมุ่งหมายของเราคือการทำเนื้อหาด้านนี้เป็นภาษาไทยที่เข้าใจง่าย โดยหวังว่าคนที่เข้ามาอ่านจะได้มุมมองด้านความเท่าเทียมทางเพศบางอย่างกลับไปคิด”

เพจเฟมินิสต์วันละหน่อย
กลุ่มคนที่รวมตัวกันทำสื่อเพื่อรวบรวมบทความและข่าวสารเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศและประเด็นเฟมินิสต์ในบริบทของประเทศไทย

“เราหวังให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน ความเคารพที่หมายถึงไม่ใช่การเดินไปกราบไหว้ แต่คือการเคารพโดยที่เราไม่พยายามใช้อำนาจควบคุมอีกคน หรือใช้อำนาจละเมิด กดขี่อีกฝ่าย ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม หรือประเทศ เมื่อเราเริ่มเคารพสิทธิความเป็นคนแล้ว เราแทบจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมดเลย”

บุษยาภา ศรีสมพงษ์
อายุ 28 ปี
นักกฎหมายรุ่นใหม่ผู้เคยผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงในความสัมพันธ์ ผู้ก่อตั้งเพจ SHero เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องความรุนแรงให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่

AUTHOR