การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมทางสังคมช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศได้รวดเร็วที่สุด

Highlights

  • ความแตกต่างทางเพศกับความเหลื่อมล้ำทางเพศมีความหมายต่างกัน ความแตกต่างทางเพศมักถูกใช้เป็นเหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมของความเหลื่อมล้ำทางเพศ จนเกิดเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเพศหญิงและเพศทางเลือก ทว่าภายในกลุ่มเองก็ยังมีความย้อนแย้ง
  • ในไทย เกย์ที่เป็นชนชั้นกลางอาศัยในเมืองมีโอกาสแสดงความคิดเห็นมากกว่า เสียงของพวกเขาจึงถูกเหมารวมว่าเป็นความหวังของกลุ่มเพศทางเลือก ทั้งที่ความจริงยังมีความหวังแบบอื่นอีกมากจากเพศทางเลือกชนชั้นอื่นๆ
  • ขณะเดียวกันรัฐไทยที่ขับเคลื่อนด้วยฐานความคิดของผู้ชายกลุ่ม elite และนายทุนก็ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคม เห็นได้จากกฎหมายและการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับระดับโครงสร้างอำนาจทั้งหลาย
  • จากแนวคิดเรื่อง 'หลังเพศนิยม' ทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักรู้และรับเอาความหลากหลายทางเพศมาเป็นส่วนหนึ่งของรสนิยมทั่วไปของชีวิตมากขึ้น ส่งผลต่อมุมมองที่หลากหลายตามไปด้วย แต่การปล่อยให้คนรุ่นใหม่แบกความหวังเรื่องนี้อย่างเดียวคงไม่ดีแน่ พวกเราเองก็ควรปูทางไว้ให้พวกเขาด้วย

ความแตกต่างทางเพศกับความเหลื่อมล้ำทางเพศมีความหมายต่างกัน

ความแตกต่างทางเพศถูกกำหนดด้วยลักษณะทางกายภาพ มีนักวิชาการด้านเพศสภาพพยายามชักจูงว่า ‘จู๋’ กับ ‘จิ๋ม’ คืออวัยวะเพศอย่างเดียวกัน จิ๋มคือสภาวะที่จู๋ผลุบเข้าไปอยู่ด้านในแล้วเจริญเติบโตมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง การอธิบายแบบนี้เกิดขึ้นเพื่อปฏิเสธความแตกต่างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง โต้แย้งการใช้เพศจำแนกคนว่าผิดตั้งแต่เลือกเครื่องมือในการทดสอบสมมติฐาน แต่แนวคิดนี้ไม่ได้รับความนิยมและถูกตีตกไป

ต่อมามีการยอมรับว่าความแตกต่างทางเพศมีอยู่จริง สภาพร่างกายของผู้ชายไม่เหมือนของผู้หญิง แต่ความแตกต่างไม่ได้นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางเพศ ความเหลื่อมล้ำทางเพศเกิดขึ้นจากความคิดที่ผ่านกระบวนการประกอบสร้างทางสังคมซ้ำแล้วซ้ำอีก ตอนเรียนอนุบาลเด็กผู้หญิงที่นุ่งกระโปรงจะถูกตักเตือนให้ลุก-นั่งอย่างระมัดระวัง พอเข้าชั้นมัธยมนักเรียนหญิงก็เจอกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับเสื้อผ้าหน้าผม ในขณะที่เด็กผู้ชายมีอิสระมากกว่า เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยก็สร้างชุดความคิดว่าเป็นผู้ชายดีกว่าผู้หญิง กลายเป็นบ่อเกิดของความเหลื่อมล้ำ

การคิดแบบคู่ขั้วตรงข้ามสร้างปัญหามากขึ้นไปอีกเมื่อมีเพศทางเลือกเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เกย์หรือเลสเบี้ยนที่การแสดงออกเรื่องเพศไม่ตรงกับลักษณะทางกายภาพ อินเทอร์เซ็กซ์ที่มีอวัยวะสืบพันธุ์กำกวม การแต่งตัวข้ามเพศและการผ่าตัดแปลงเพศก็ช่วยลบลักษณะทางกายภาพ สร้างความลื่นไหล ‘กรอบเพศ’ ที่เป็นชุดความคิดเดิมไม่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จากความกลัวไม่เข้าใจ คนก็เริ่มเหยียด จัดอันดับเพศทางเลือกเป็นฐานต่ำสุดของชนชั้นทางเพศ

จะเห็นว่าความแตกต่างทางเพศถูกใช้เป็นเหตุผลสร้างความชอบธรรมของความเหลื่อมล้ำทางเพศ ทีนี้คนที่ถูกกดทับอย่างเพศหญิงและเพศทางเลือกจึงรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองและเรียกร้องความเท่าเทียม แต่การรวมตัวกันของกลุ่มนี้มีความย้อนแย้งบางอย่างอยู่ ในขณะที่ต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำจากภายนอก บางทีคนในกลุ่มเองก็สถาปนาตนกดกันเอง เหยียดในเหยียด มีอภิสิทธิ์ชนที่ได้รับความสนใจมากกว่าและส่งเสียงดังกว่า

อย่างในประเทศไทย เกย์ที่เป็นชนชั้นกลางอาศัยอยู่ในเมืองมีโอกาสแสดงความคิดเห็นมากกว่า เรียกว่าแทบจะเป็นกระบอกเสียงของการเรียกร้อง แล้วสังคมก็เหมารวมว่าข้อเสนอเหล่านี้คือ ‘ความหวัง’ ของกลุ่มเพศทางเลือก ซึ่งแท้จริงแล้วอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เกย์ที่เป็นชนชั้นแรงงานหรืออยู่ในสังคมชนบท เลสเบี้ยน ผู้ชายและผู้หญิงข้ามเพศ ไม่จำเป็นต้องมีความหวังแบบเดียวกันเสมอ ในขณะที่เกย์ชนชั้นกลางต่อสู้เรื่องสิทธิการแต่งกาย เพศทางเลือกที่เป็นชนชั้นแรงงานอาจจะสนใจโอกาสในการทำงานและปัญหาปากท้อง

ก่อนหน้านี้รัฐไทยไม่สนใจเสียงของผู้หญิงและเพศทางเลือก นโยบายการขับเคลื่อนประเทศถูกออกแบบอยู่บนฐานความคิดของผู้ชายกลุ่ม elite และนายทุน ตอนนี้เมื่อความเท่าเทียมทางเพศกลายเป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม รัฐเพิกเฉยต่อไปไม่ได้ จึงเลือกหันไปฟังเสียงของ ‘อภิสิทธิ์ชน’ ไม่ใช่ ‘สามัญชน’ ของกลุ่มผู้หญิงและเพศทางเลือก นโยบายพัฒนาประเทศแสดงการตระหนักรู้เรื่องนี้มากขึ้น แต่อาจไม่ครอบคลุมตอบสนอง ‘ความหวัง’ ในการเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศเสียทั้งหมด

อย่างในด้านกฎหมายจะพบว่าระบบกฎหมายไทยมิได้รองรับสิทธิต่างๆ ของ LGBTQ+ เท่าที่ควร แม้ผ่านการปฏิรูปจากระบบกฎหมายจารีตโบราณสู่ระบบกฎหมายสมัยใหม่ บทบัญญัตินั้นมาจากแนวคิดที่ยังคงอยู่บนพื้นฐานว่า เพศมีเพียง 2 เพศเท่านั้น คือชาย-หญิง ไม่ได้รองรับหรือยอมรับสิทธิของเพศอื่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการหมั้น การสมรส และความสัมพันธ์ในครอบครัว ก็ถูกยกร่างขึ้นมาระหว่างการปฏิรูปนี้เอง โดยการยกร่างมาจากนักกฎหมายชายไทยและที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างประเทศซึ่งล้วนเป็นผู้ชายทั้งสิ้น

นอกจากนี้การฟังความเห็นของรัฐเป็นการฟังอย่างเดียวจริงๆ ตัวแทนผู้หญิงและเพศทางเลือกมีโอกาสพูด แต่ไม่มีอำนาจเกี่ยวข้องในการตัดสินใจริเริ่มและดำเนินการ ภาพที่ปรากฏคือผู้หญิงและเพศทางเลือกสามารถช่วงชิงพื้นที่ในการแสดงออกกว้างขึ้น สร้างวิมานในอากาศว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ แต่สุดท้ายแล้วความหวังก็อาจเป็นความหวังตลอดไปเพราะผู้มีอำนาจตัดสินใจยังคงเป็นผู้ชายกลุ่ม elite และนายทุน

การผลักดันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมทางสังคมเป็นวิธีการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด สิ่งนี้ถือเป็นความหวังสูงสุด หากโครงสร้างแบบนี้ยังคงอยู่ โอกาสที่สังคมไทยจะก้าวไปสู่โลกอุดมคติสำหรับผู้หญิงและเพศทางเลือกก็ริบหรี่ลง ในเมื่อไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กลุ่มคนเพศหลากหลายก็สร้าง ‘ความหวังขั้นทุติยภูมิ’ ที่สำคัญรองลงมา เช่น การยอมรับจากครอบครัว ความอดทนอดกลั้นในการอยู่ร่วมกันในสังคม การเห็นว่าความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งปกติ

ที่บอกว่าการยอมรับจากครอบครัวและความใจกว้างต่อความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่สำคัญรองลงมาและไม่ควรถูกกำหนดเป็นเป้าหมายหลักของการเรียกร้อง เพราะว่าสองอย่างนี้มักถูกใช้เป็นเหยื่อหลอกล่อให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดความพึงพอใจ ครอบครัวยอมรับได้เพื่อนที่ทำงานก็ให้โอกาส สื่อต่างๆ ตอกย้ำวาทกรรมว่าสองสิ่งนี้ประเสริฐสุดแล้ว ยังอยากได้อะไรอีก สร้างเงื่อนไขไม่ให้ LGBTQ+ ออกไปเรียกร้องเพิ่มเติม รัฐผลิตกลไกการควบคุมผ่านการกระตุ้นสำนึกผิดชอบชั่วดี

ความหวังขั้นทุติยภูมิเหล่านี้ไม่ได้ขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศให้หมดไปจากสังคม เพียงแค่ช่วยบรรเทาและทำให้การอยู่กับความเหลื่อมล้ำทรมานน้อยลงแค่นั้นเอง แต่ในระยะยาวเมื่อเยาวชนไทยที่เข้าใจความหวังขั้นทุติยภูมิเหล่านี้เติบโตและไปอยู่ในตำแหน่งที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของโครงสร้าง ถึงเวลานั้นหวังว่าพวกเขาจะใช้โอกาสรื้อสร้างสังคมและปรับโฉมนโยบายที่ยึดโยงการเมืองเรื่องเพศเสียใหม่ ซึ่งถ้าเลือกจะฝากความหวังไว้กับเยาวชน คงต้องใช้เวลารอนานหน่อย

เยาวชนไทยในปัจจุบันแสดงแนวโน้มทางความคิดที่ดีมากเกี่ยวกับเรื่องเพศ คนรุ่นเก่ามักมองโลกโดยแบ่งแยกเพศ และอาจหมายรวมถึงเลือกที่รักมักที่ชังต่อเพศใดเพศหนึ่ง กลุ่มคนเพศทางเลือกเองก็ติดอยู่ในกับดักนี้ เป็นที่มาของการสร้างอักษรย่อ LGBTQ+ ชอบจำแนกคนเข้า ‘กล่องเพศ’ ทุกอย่างต้องมีชื่อเรียกและลักษณะเฉพาะที่อธิบายได้ อย่างแผนภูมิแสดงชื่อเรียกเพศหลากหลายต่างๆ ที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ การเป็น LGBTQ+ ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่าบุคคลหนึ่งจะมีความคิดก้าวหน้าเรื่องเพศวิถีและเพศสภาพ

โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนผ่านทางความคิดเรื่องเพศ เยาวชนทั้งในสังคมไทยและต่างประเทศเริ่มซึมซับปรัชญาแนว ‘หลังเพศนิยม’ (postsexualism) ซึ่ง Michel Foucault นักคิดชาวฝรั่งเศส ได้เสนอไว้นานมาแล้วตั้งแต่ช่วงเกือบปลายศตวรรษที่ 20 แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งระนาบเพิ่งเกิดขึ้นช่วงต้นศตวรรษที่ 21 นี้เอง ถ้าการทำลายโครงสร้างอำนาจเป็นความหวังสูงสุดในเชิงปฏิบัติ ปรัชญาแนวหลังเพศนิยมก็คือความหวังสูงสุดทางความคิดเรื่องเพศ

หลังเพศนิยมเป็นความพยายามไปให้ไกล หลุดพ้นจากขอบเขตของกรอบเพศ ตราบใดที่เรายังต้องมาคุยกันเรื่องนี้ก็หมายความว่าความเหลื่อมล้ำทางเพศยังคงอยู่ เช่น หากเรารณรงค์ให้ผู้หญิงข้ามเพศใช้คำนำหน้าชื่อว่านางสาว ถึงแม้เรียกร้องสำเร็จแต่การแบ่งแยกทางเพศไม่ได้หายไป ผู้หญิงข้ามเพศเพียงแค่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัด ได้รับชัยชนะ หากคิดแบบหลังเพศนิยมเราควรเรียกร้องให้ไม่ต้องมีคำนำหน้าชื่อเลย ทุกคนใช้แค่ชื่อเท่าเทียมกัน รัฐมองประชาชนทุกคนเป็นมนุษย์คนหนึ่งโดยไม่ต้องสนใจตัวบ่งชี้ทางเพศ

เยาวชนรุ่นใหม่มองเรื่องเพศเป็นเหมือนเสื้อผ้า ใส่แล้วก็สามารถถอดออก ถ้าชอบใจก็หยิบมาใส่ซ้ำ ไม่ถูกใจก็โยนทิ้งไป แล้วหาชุดใหม่ที่ตัวเองคิดว่าเหมาะสมกว่า ไม่ยึดติด สังเกตว่าบางทีเขาก็ออกเดตกับเพศตรงข้าม อีกเดี๋ยวก็หันมาสร้างความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน รักใครก็รักเพราะเขาเป็นคนคนนั้น เรื่องเพศหญิง-ชายไม่เกี่ยว

การใช้ชีวิตและมีประสบการณ์แบบนี้ส่งผลทางความคิดแน่นอน พวกเขาจะไม่มองโลกเป็น 2 คู่ขั้วตรงข้าม ขาวกับดำ ดีกับชั่ว หญิงกับชาย อีกต่อไป ทุกอย่างมีมิติหลากหลายขึ้น หวังว่ากระแสความคิดนี้จะกลบชุดความคิดการเมืองเรื่องเพศแบบเก่าไป ในเมื่อไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจได้ ณ เวลานี้ ก็คงต้องฝาก ‘ความหวัง’ ไว้กับเยาวชน แต่ในฐานะคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ที่ยังสนิทสนมกับโลกใบเดิม แต่อยากเห็นประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมที่เข้าใจความหลากหลายทางเพศดีขึ้น คงต้องช่วยกันปูทางไว้เท่าที่จะทำได้ด้วย ไม่ควรปล่อยให้เด็กรุ่นใหม่แบกความหวังไว้เพียงลำพัง

AUTHOR