แดนนี่ ฟ้าสีรุ้ง : นักกฎหมายผู้ต่อสู้ให้วิชาสุขศึกษาสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศ

Highlights

  • แดนนี่–กิตตินันท์ ธรมธัช คือนายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน เขาผันตัวจากนักธุรกิจมาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาว LGBTQ ในประเทศไทย เขาสร้างผลงานไว้มากมายโดยเฉพาะการต่อสู้ในคดีต่างๆ เช่น กรณีใบ สด.๔๓ ซึ่งเปลี่ยนการระบุที่ว่าผู้หญิงข้ามเพศเป็น ‘โรคจิตถาวร’ ให้กลายเป็น ‘เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’
  • ในปี 2562 ผลงานล่าสุดของเขาคือการบรรจุหลักสูตรความหลากหลายทางเพศลงในวิชาสุขศึกษาตั้งแต่ระดับชั้น ป.1-ม.6 ซึ่งเขาทำสำเร็จภายในเวลาไม่กี่เดือน โดยหลักสูตรนี้จะประสานความเข้าใจของสังคมให้เข้าถึงหลักสิทธิขั้นพื้นฐานที่กลุ่ม LGBTQ ควรได้รับ

“เราไม่เคยนิยามตัวเองว่าเป็นฮีโร่” 

แดนนี่–กิตตินันท์ ธรมธัช พูดคำนี้ออกมาเมื่อผมชวนคุยเรื่องผลงานที่เขาเคยทำมาในชีวิต

แดนนี่เป็นนายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิและสุขภาวะของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ 

‘รัก เข้าใจ ศักดิ์ศรี เท่าเทียม’ คือปรัชญาของที่นี่ 

แดนนี่–กิตตินันท์ ธรมธัช ความหลากหลายทางเพศ

ชายคนนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างในหมู่ชาว LGBTQ ยิ่งคนที่รู้จักดีจะเรียกเขาอย่างสนิทสนมว่า ‘คุณแม่’ 

ก่อนจะมาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แดนนี่เคยเป็นนักธุรกิจผู้เริ่มต้นโครงการ ‘เมืองดอกไม้’ ซึ่งเป็นธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรของเกย์แห่งแรกในประเทศไทย แต่โชคร้ายที่ยุคนั้น HIV กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในหมู่เกย์ โครงการนี้จึงถูกแรงต้านจากสังคมอย่างหนักจนต้องยุติโครงการลง  

แดนนี่ผันตัวมาทำธุรกิจบันเทิงมากมายภายใต้แบรนด์ ‘เดอะบีช กรุ๊ป’ มีทั้งซาวน่า ผับ สปา และที่พักอาศัย เขาก้าวสู่เบอร์ต้นๆ ของวงการจนได้ฉายาว่า ‘เจ้าแม่แห่งธุรกิจบันเทิง’ แต่ก็โดนกลั่นแกล้งจนเกิดเป็นคดีใหญ่โตและมีการขึ้นโรงขึ้นศาล หากแต่เขามีความรู้ด้านกฎหมายเป็นอย่างดี แดนนี่จึงชนะคดี ด้วยเหตุนี้สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยจึงชวนให้เขามาเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสมาคม และไม่นานเขาก็ขึ้นมาเป็นนายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย  

จากนักธุรกิจสถานบันเทิง วันนี้เขาผันตัวมาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาว LGBTQ อย่างเต็มตัว

แดนนี่–กิตตินันท์ ธรมธัช ความหลากหลายทางเพศ

ในปี 2549 แดนนี่เป็นแกนนำในการเปลี่ยนคำว่า ‘โรคจิตถาวร’ ในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ (สด.๔๓) ให้เป็นคำว่า ‘เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ เพื่อยุติการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงข้ามเพศ

ในปี 2558 แดนนี่ยังเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 รวมทั้งเป็นอนุกรรมการไต่สวนคดีต่างๆ ของกลุ่ม LGBTQ

แม้จะมีผลงานสำเร็จเป็นรูปธรรมหลายต่อหลายชิ้น ทว่าการต่อสู้ที่ผ่านมานั้นไม่ง่าย และปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่รับรองสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ในหลายมิติ ภาพความยุติธรรมที่อยากเห็นไม่เกิดขึ้นสักที จนแดนนี่สงสัยว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร  

นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งฯ พบว่าคำตอบของการเลือกปฏิบัตินั้นเกิดจากการมองว่ากลุ่ม LGBTQ มีความแตกต่าง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลักสูตรการศึกษาบ้านเราที่ยังให้ความหมายกลุ่ม LGBTQ ว่าเป็นกลุ่มที่เบี่ยงเบนทางเพศ 

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงอยากยกเครื่องการศึกษาใหม่ เพราะการศึกษาเป็นประตูด่านแรกในการปลูกฝังความคิดบางอย่างลงในตัวเยาวชนซึ่งจะกลายเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า 

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตั้งตัวเป็นแกนนำหลักในการเพิ่มหลักสูตรความหลากหลายทางเพศในบทเรียน

และแน่นอน นี่จะเป็นอีกเวทีใหญ่ที่แดนนี่จะได้ต่อสู้เหมือนที่ผ่านมา ทว่าสิ่งที่แตกต่างคือนี่จะเป็นการต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่เขาเคยทำ

แดนนี่ทำสำเร็จได้อย่างไร โปรดนั่งลงและรอ เดี๋ยวคุณแม่จะเล่าให้ฟัง

แดนนี่–กิตตินันท์ ธรมธัช ความหลากหลายทางเพศ

 

1

ตรงหน้าผมคือชายวัยกลางคนรูปร่างสูงโปร่งในชุดสูทสีดำ แววตามุ่งมั่นและจัดเจนบอกว่ามีเรื่องราวชีวิตที่ซ่อนอยู่อีกมาก

“ทำไมถึงเข้ามาทำงานด้านสิทธิมนุษยชน” ผมโยนคำถามแรกให้เขา

คล้ายเรื่องราวของใครหลายคน หนทางสู่การเป็นนักสู้ของแดนนี่เริ่มต้นครั้งยังเป็นเด็กชาย เขาเป็นเด็กตุ้งติ้ง ไม่ค่อยเล่นกีฬา ไม่ชอบความรุนแรง มักถูกเพื่อนๆ ล้อว่าเป็นกะเทย ปัญหาสำคัญคือครูไม่ยอมรับในตัวเขา เด็กชายพยายามทำทุกอย่างให้ครูยอมรับ เรียนก็ต้องให้ได้ที่หนึ่ง เป็นหัวหน้าห้อง ทำกิจกรรมทุกอย่าง จนในที่สุดครูก็ยอมรับ 

“ตอนนั้นเรามีความรู้สึกว่า การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ตัวเองต้องเหนื่อยขนาดนี้เลยเหรอ เหนื่อยกว่าคนธรรมดาหลายเท่า”

จากการต่อสู้ในวันนั้น วันนี้เขาก็ยังต้องสู้ในการเปลี่ยนแปลงความคิดคน 

และครั้งนี้มันใหญ่ถึงขั้นยกเครื่องหลักสูตรการศึกษาไทย 

ในวิชาสุขศึกษาหลักสูตรแกนกลางปี 2551 ระดับชั้น ม.1 เรื่องชีวิตและครอบครัว มีหัวข้อว่าด้วยการเบี่ยงเบนทางเพศ ซึ่งมีเนื้อหาที่รุนแรงและสร้างความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับ LGBTQ ว่าเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง

เนื้อหาบอกว่า ‘การเบี่ยงเบนทางเพศเป็นสภาพจิตใจที่ผิดปกติซึ่งไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ไม่ถูกต้องตามบรรทัดฐานของสังคม อาจส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น เป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมและกฎหมาย’ 

 “บางตำราถึงกับเขียนว่าไม่ให้มีพื้นที่ทางสังคม ห้ามเข้าใกล้เดี๋ยวเสียอนาคต เขียนไว้แบบนี้จริงๆ ไปเขียนตำราที่ดาวอังคารมาหรือยังไง?” แดนนี่เล่าอย่างออกรส

แดนนี่–กิตตินันท์ ธรมธัช ความหลากหลายทางเพศ

เป็นเรื่องแปลกที่กระทรวงเขียนหลักสูตรนี้ขึ้นมา เพราะย้อนกลับไปเมื่อ 45 ปีที่แล้ว วันที่ 8 เมษายน 2517 สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) ได้ออกมาประกาศว่ากลุ่ม LGBTQ เป็นคนปกติ และถัดมาอีก 16 ปี ในปี 2533 องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาประกาศว่ากลุ่ม LGBTQ ไม่ได้ผิดปกติทางจิต ยิ่งกว่านั้นในไทยก็มีรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 30 ซึ่งระบุว่า ชายหญิงรวมไปถึง LGBTQ ห้ามถูกเลือกปฏิบัติ และเมื่อไม่นานมานี้ก็มี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ออกมารับรองอีก 

ประกาศและกฎหมายที่หยิบยกมาต่างแสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศได้อย่างชัดเจน แต่ทางกระทรวงก็ยังระบุว่า LGBTQ ผิดปกติ แดนนี่จึงเริ่มต่อสู้เพื่อผลักดันหลักสูตรความหลากหลายทางเพศ 

ในครั้งแรกที่ไปยื่นคำร้องให้แก้ไขหลักสูตรวิชาสุขศึกษา แดนนี่ถูกปฏิเสธเนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการจะต้องปรับหลักสูตรทุกๆ 10 ปี และถ้าจะแก้ไขเนื้อหาก็ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรีซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยากและซับซ้อน การผลักดันจึงต้องหยุดชะงักไปก่อน

จนกระทั่งวันที่ 20 มีนาคม 2560 แดนนี่ไปร่วมแสดงความเห็นในรายการ นโยบาย By ประชาชน ทางช่องไทยพีบีเอส เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขหลักสูตรดังกล่าว โดยเขาเสนอว่าไม่ควรแก้ไขเนื้อหาแค่ของ ม.1 หากแต่ควรแก้ไขและเพิ่มเติมเนื้อหาทุกระดับชั้นตั้งแต่ ป.1- ม.6 เพื่อความเข้าใจในเนื้อหาอย่างแท้จริง

ในวันที่ 6 กันยายน 2561 กระทรวงศึกษาธิการได้เรียกแดนนี่เข้าพบ โดยเสนอช่องทางที่รวดเร็วและง่ายขึ้น นั่นคือการใช้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 เพราะกฎหมายทั้งคู่มาหลังหลักสูตรแกนกลาง จึงสามารถใช้เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขหลักสูตรได้

ถัดมาในวันที่ 20 ธันวาคม 2561 กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ได้แก่ มูลนิธิเอ็มพลัส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มูลนิธิศักยภาพชุมชน มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง มูลนิธิแพธทูเฮลท์ รวมทั้งนักวิชาการหลายคน ให้เป็นคณะกรรมการเพื่อช่วยกันออกแบบวิชาสุขศึกษาหลักสูตรแกนกลางใหม่ 

คณะกรรมการทำงานร่างหลักสูตรกันอย่างเข้มข้นภายในระยะเวลา 4 เดือน จากนั้นจึงส่งให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจพิจารณา จนสำเร็จเป็นหลักสูตรความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเริ่มใช้สอนจริงตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2562

แม้ไม่ใช่คนออกแบบหลักสูตรโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการผลักดันด้วยกฎหมายของแดนนี่เปรียบดั่งตัวจุดชนวนให้ทุกสิ่ง

“มันไวมาก ไวเหมือนโกหก สู้กันมาเกือบ 10 ปี แต่มาเสร็จภายในเวลาแค่ 4 เดือน” แดนนี่เล่า พร้อมย้ำว่าหลักสูตรนี้จะสำเร็จไม่ได้ถ้าขาด ผศ. ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ที่ช่วยดำเนินการและเห็นถึงปัญหาอย่างแท้จริง 

“การขับเคลื่อนของเรารวดเร็ว เปรียบเหมือนหมอที่ไม่เลี้ยงไข้ ‘ทุกอย่างจบในมือแม่’ หลักสูตรสุขศึกษาก็เช่นกัน” เขาพูดด้วยความภาคภูมิใจ

แดนนี่–กิตตินันท์ ธรมธัช ความหลากหลายทางเพศ

 

2

เมื่อหลักสูตรพร้อมแล้ว ด่านต่อไปที่เราคิดถึงคือ การถ่ายทอดของครูในโรงเรียน 

แล้วครูผู้สอนจะเข้าใจหลักสูตรนี้ไหม และถ้าเขามีอคติจะมีทางแก้อย่างไร ผมสงสัย

แดนนี่เท้าความว่า ตอนใช้หลักสูตรเก่าเขาได้ลงไปทำวิจัยตามโรงเรียน และพบว่ามีครูอยู่ 3 แบบ หนึ่งคือครูที่ไม่สอนบทเรียนเรื่องความเบี่ยงเบนทางเพศ สองคือครูที่สอนตรงกันข้ามกับบทเรียนหรือสอนความจริง และสาม–โชคร้ายหน่อย–คือครูที่สอนไปตามบทเรียนนั้น 

เมื่อเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ กระทรวงได้หาทางออกโดยทำหนังสือชี้แจงครูทั่วประเทศเกี่ยวกับเนื้อหาการสอน และได้เปิดอบรมครูทั่วประเทศเรื่องหลักสูตรใหม่ ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่อง LGBTQ อย่างเดียว แต่ยังมีทั้งเรื่องสุขภาวะทางเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และวิธีการป้องกันที่ถูกวิธี 

“เราเชื่อว่าพอมีหลักสูตรนี้จะช่วยให้ปัญหาเบาลงมากๆ มันคงไม่สำเร็จได้ในวันเดียวแน่นอน แต่ถ้าเรามองย้อนหลัง เรามาไกลแบบก้าวกระโดดสุดๆ” แดนนี่กล่าว

แดนนี่–กิตตินันท์ ธรมธัช ความหลากหลายทางเพศ

“หลักสูตรนี้จะส่งเสริมให้เด็กเป็น LGBTQ หรือเปล่า” ผมสะท้อนสิ่งที่ผู้ไม่เห็นด้วยมักหยิบยกมาเป็นประเด็น เขานิ่งไปสักพักก่อนให้คำตอบ

“มีคำถามนี้เยอะมากจากสังคม เราคิดว่ามันเป็นเรื่องภายในใจที่ไม่สามารถบังคับกันได้ ยกตัวอย่างเราเอง ให้เราไปชอบผู้หญิงก็ไม่ได้ เพราะภายในของเราไม่ได้ชอบ เราโกหกตัวเองไม่ได้ 

“อีกคำถามที่น่าสนใจคือการที่มีครูเป็น LGBTQ จะทำให้เด็กเลียนแบบตามหรือเปล่า แต่คุณไม่คิดกลับกันว่ามีครูที่เป็นชายจริงหญิงแท้ในโรงเรียนเยอะแยะ แต่ทำไมยังมีเด็ก LGBTQ พ่อแม่บางคนถึงขนาดจับลูกไปเรียนโรงเรียนชายล้วน แต่เด็กก็ไม่เลิกเป็น LGBTQ มันเป็นเรื่องภายในที่เขา born to be”

แดนนี่วาดหวังว่าการบรรจุความหลากหลายทางเพศลงในหลักสูตรจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและกำจัดความไม่เข้าใจและการถูกเลือกปฏิบัติให้หมดสิ้น มากไปกว่านั้นคือเมื่อเด็กรุ่นใหม่ได้เรียนหลักสูตรนี้ การเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ในอนาคตจะง่ายขึ้นเพราะสังคมจะเข้าใจอย่างถ่องแท้

“คิดเล่นๆ ถ้าให้โดราเอมอนพาย้อนเวลาไปผลักดันหลักสูตรนี้ตั้งแต่ในอดีต ไม่แน่ว่าวันนี้เราอาจมีกฎหมายคู่ชีวิตก็ได้ ไม่มีเพศ ทุกคนเท่าเทียม ไม่มีนาย นางสาว เพราะทุกคนคือมนุษย์เหมือนกัน” 

แม้ปากจะบอกว่าคิดเล่นๆ แต่นั่นคืออนาคตที่แดนนี่อยากเห็นจากใจจริง 

แดนนี่–กิตตินันท์ ธรมธัช ความหลากหลายทางเพศ

  

3

ในสายตาของนักต่อสู้เรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของชาว LGBTQ มากว่า 20 ปี แดนนี่มองพัฒนาการของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในเมืองไทยได้เป็นภาพกล่อง 3 กล่อง 

กล่องใบที่ 1 ‘กล่องทัศนคติ’ 

ก่อนหน้านี้กลุ่ม LGBTQ เข้าไปอยู่ในกล่องชุดความคิดที่ว่า ‘ผิดปกติทางจิต ผิดธรรมชาติ ผิดเพศ’ จนองค์การอนามัยโลกและสมาคมจิตวิทยาอเมริกันออกมารับรองว่ากลุ่ม LGBTQ ไม่ได้ผิดปกติทางจิต ทั้งยังมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มาสนับสนุน กล่องทัศนคติจึงเริ่มสมบูรณ์และกลายเป็นรากฐานของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม

กล่องใบที่ 2 ‘กล่องสิทธิมนุษยชน

กล่องใบนี้มีความประหลาดอยู่ที่ว่ามันเกิดขึ้นก่อนกล่องใบแรก เพราะหลักสิทธิมนุษยชนมีมานานแล้ว ทั้งปฏิญญาสากล กติการะหว่างประเทศ อนุสัญญา CEDAW และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งประเทศไทยก็ร่วมลงนามทำสัญญาแทบทุกฉบับ ทว่ากลุ่ม LGBTQ ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิใดๆ เพราะต้องรอกล่องที่ 1 ออกมารับรองว่า LGBTQ เป็นคนปกติที่มีสิทธิเสรีภาพเหมือนคนอื่นๆ 

กล่องใบที่ 3 ‘กฎหมายความเท่าเทียม’

ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในกล่องนี้ คือช่วงที่เราเรียกร้องกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายคู่สมรส กฎหมายเพศสภาพ นับว่ามาไกลจากกล่องที่ 1  เมื่อ 30 ปีที่แล้วเหลือเกิน

“เรารู้สึก proud to be LGBTQ มากขึ้นในสังคมไทย กล้าที่จะเปิดตัว มีการยอมรับในสังคม แต่สังคมยังไม่รู้ว่าเราขาดอะไรบ้าง” แดนนี่อธิบาย

และใช่ หลักสูตรความหลากหลายทางเพศก็อยู่ในกล่องใบนี้เช่นกัน

แดนนี่–กิตตินันท์ ธรมธัช ความหลากหลายทางเพศ

 

4

แดนนี่เปรียบว่าการเคลื่อนไหวด้านสิทธิในสมัยก่อนเหมือนโดนหิน 30 ก้อนเขวี้ยงใส่ มีเพียงผ้าผืนเล็กๆ เพื่อป้องกันตัว แต่ทุกวันนี้มีกล่องใบที่ 1 มารองรับความปกติของความหลากหลายทางเพศ และมีกล่องใบที่ 2 มารองรับด้านสิทธิมนุษยชน กล่องทั้ง 2ใบนี้จะช่วยให้เขาต่อสู้เพื่อผลักดันกฎหมายต่อไปในกล่องใบที่ 3  ซึ่งจะกลายเป็นเกราะที่ช่วยให้เขาก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ง่ายขึ้น

“ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจมีนายกรัฐมนตรีเป็น LGBTQ ก็ได้ ไม่ต้องมานั่งวิพากษ์วิจารณ์การแต่งกายเข้าสภากันเหมือนทุกวันนี้ ข้างบนหนวดเฟิ้ม ข้างล่างแต่งหญิงก็ไม่แปลก สิ่งที่เราจะไปให้สุดคือเรื่องพวกนี้ แต่มันจะอยู่ในยุคเราไหม เราไม่สนใจ เราไม่เคยสนใจว่าเราจะทำสำเร็จหรือไม่ แต่เราจะมีความภาคภูมิใจเสมอที่เริ่มต้นทำมัน 

ถ้า ณ วันนี้แบบเรียนไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ถ้าพรุ่งนี้เช้าเราต้องตายก็ภูมิใจแล้วที่ได้เริ่มต้นทำ เริ่มต้นต่อสู้ คนรุ่นใหม่อาจจะไม่เข้าใจว่า LGBTQ รุ่นเก่าต่อสู้กันขนาดไหน ลำบากมาก เรากับทีมทำกันเกือบตาย ทั้งโดนดูถูก ด่าทอว่าเราผิดธรรมชาติ แต่เราก็ยังสู้ ต่อยอดได้แต่ว่าอย่าลืมประวัติศาสตร์ เราต้องเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น”

แดนนี่–กิตตินันท์ ธรมธัช ความหลากหลายทางเพศ

คุณเคยคิดว่าตัวเองเป็นฮีโร่ไหม ผมถาม

“เราไม่เคยนิยามตัวเองว่าเป็นฮีโร่ เราเป็นนักต่อสู้โดยไม่หยุดทำมัน แต่คำว่านักต่อสู้เราไม่ได้ต่อสู้คนเดียว แต่เราต่อสู้แบบแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่ง เราหันไป เราเจอเพื่อน เจอคนที่พร้อมจะต่อสู้ด้วยกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นฮีโร่ ทุกคนต้องเป็นฮีโร่หมด นี่แหละคือเครือข่าย เราไม่สามารถทำอะไรสำเร็จคนเดียวได้

คุณเคยท้อบ้างไหมเวลาต้องต่อสู้แล้วไม่สำเร็จ ผมถาม

“เราไม่ค่อยท้อ ยิ่งเจออุปสรรคเราก็ยิ่งสู้ต่อ เราชอบใช้คำเล่นๆ ว่า ‘เราได้แค่ท้อเทียมแต่เราห้ามท้อแท้’ เพราะฉะนั้นเราท้อได้แค่วันเดียว คืนเดียว หรือชั่วโมงเดียว แต่เราจะไม่ท้อแท้ เพราะถ้าท้อแท้จะเป็นสิ่งที่ถาวร 

“ไม่ว่าเราจะเหนื่อยหรือท้อแค่ไหน เราจะมองไปที่วันแรกที่ได้เริ่มทำ แล้วเราจะมีกำลังในการทำมันต่อ เรามาไกลมากแล้ว แค่เรายังไปไม่ถึง”

จุดหมายของแดนนี่อยู่ไม่ไกล แค่คำว่า ‘เท่าเทียม’

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวุฒิ เตจา

นักเรียนศิลปะการถ่ายภาพผู้นอนเช้าตื่นบ่ายและกำลังจะตายกับหัวข้อทีสิส กำลังหัดกินกาแฟและดูแลต้นไม้ 8 ต้น