best of a day online : Idea

ถึงเราจะเปลี่ยนหน้าเว็บไซต์และจัดหมวดหมู่ใหม่กันมาสักพัก แต่ก็ยังมีคำถามว่าหมวดไอเดียของเราเล่าเรื่องอะไรบ้างอยู่ดี เพราะอย่างนี้ เราจึงรวบรวมงานไอเดียดี 5 ชิ้นเด่นจากปี 2561 มาให้ดู เพื่อบอกคุณว่า หมวดไอเดียของเราคือความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด ขอเพียงมีความคิดเบื้องหลังน่าสนใจ และให้อะไรบางอย่างกับเราก็เพียงพอ


1. ตายก่อนตาย : วิธีคิดงานศพที่ให้นิ้วกลมซ้อมตายเป็นเวลา 3 วัน

เรื่อง น้ำปาย ไชยฤทธิ์
ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ต้นเดือนธันวาคม 2561 อยู่ๆ เราก็ต้องใจหายวาบเมื่อเห็นป้ายงานศพนิ้วกลม หรือ เอ๋–สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ โผล่ขึ้นมาบน news feed ก่อนจะรู้ทีหลังว่านั่นคือโปสเตอร์งาน ‘ตายก่อนตาย’ โปรเจกต์ที่นิ้วกลม ครีเอทีฟเอเจนซี ชูใจ กะ กัลยาณมิตร กลุ่ม Peaceful Death มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา และกลุ่มอื่นๆ ร่วมกันจัดงานศพของนักเขียนหนุ่มขึ้นเป็นเวลาสามวันที่วัดธาตุทอง เพื่อสื่่อสารให้คนทั่วไปเตรียมตัวตายตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะการฝากความต้องการก่อนและหลังตายไว้กับคนใกล้ตัว ทำให้เมื่อวันนั้นมาถึง เราจะได้ตายดีกันทุกคน


2. Thai DIY : งานออกแบบจากสิ่งของใกล้ตัวโดยไม่ตั้งใจ แต่ใช้งานดีจริงๆ

เรื่อง Trawell

ใครว่างาน DIY จะมีแต่ของไกลตัวจากเมืองนอก เพราะคนไทยเราก็ชอบหยิบจับ ขยับเอาของใกล้ตัวมาดัดแปลงให้มีฟังก์ชั่นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เหมือนกัน อย่างขวดนมที่ถูกเอามาดัดแปลงเป็นกล่องไปรษณีย์ ผืนผ้าใบที่กลายร่างเป็นถุงใส่ของ (แถมยังตัดเย็บอย่างดี) หรือพัดลมตั้งพื้นที่ถูกเอามากลับหัวเป็นพัดลมเพดานเสียอย่างนั้น! เมื่อไล่เรียงดูทั้งหมด เราพบว่าบางอย่างนั้นก็เป็นของใกล้ตัวที่เรามักมองข้ามไป แต่บางอย่างก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เราคาดไม่ถึงเหมือนกัน


3. Limited Education แก้ปัญหาการศึกษาด้วยสินค้าสะกดผิด

เรื่อง กันตพร สวนศิลป์พงศ์
ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

นอกจากคากิโกริหรือโทสต์ชุ่มฉ่ำเนย ปีที่ผ่านมา After You ยังออกสินค้าแปลกๆ ชื่อ ‘ขนมปังเนยโสด’ ที่ทำเอาคนที่ผ่านมาเห็นอมยิ้มทุกคน สินค้าชื่อน่ารักน่าหยิกนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญชื่อ Limited Education ที่อยากบอกเล่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยที่ทำให้เด็กหลายคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ นอกจาก After You พวกเขายังชักชวนแบรนด์ดังอีกมากมายมาออกสินค้าสะกดผิดกัน โดยคนซื้อจะได้ช่วยสมทบทุนให้เครือข่ายร้อยพลังการศึกษาไปพร้อมๆ กับได้ตระหนักถึงปัญหาที่เราต้องช่วยกันแก้ต่อไป


4. echo : เสียงสะท้อนจากเพื่อนเชี่ยที่เล่าเรื่องไม่เชี่ยได้กวนโคตร

เรื่อง ฆฤณ ถนอมกิตติ
ภาพ เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ในบรรดาเพจเฟซบุ๊กทั้งหมด จะมีเพจไหนเชี่ยไปกว่าเพจ echo อีก เพราะแม้พวกเขาจะเน้นทำวิดีโอคอนเทนต์ในประเด็นหนักๆ อย่างเรื่องการเมือง ปัญหาปากท้อง หรือเรื่องสุขภาพ แต่ลีลาการเล่าเรื่องแบบแสบๆ คันๆ นั้นทำให้เราต้องอุทานว่า “เชี่ยยยยยยยย” อยู่หลายครั้ง ด้วยความติดใจในรสชาติ เราจึงขอไปนั่งคุยกับ แชมป์–ฤทธิกร มหาคชาภรณ์ manager และ co-founder ของ echo ว่าด้วยแนวคิดในการทำงานของพวกเขาที่ทำให้เรารู้สึกว่า ถึงพวกเขาจะเชี่ยเหลือเกิน แต่มันก็เป็นความเชี่ยที่ดีและมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมซ่อนอยู่


5. ‘คุณคิดว่าฉันเป็นสีอะไร’ Palette Me เว็บไซต์ที่ให้เรารู้จักตัวเองผ่านสีสันที่เพื่อนเลือกให้

เรื่อง น้ำปาย ไชยฤทธิ์
ภาพ
ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์

นี่คือธีสิสที่สนุกสุดๆ ของ เมย์–ปวิตรา พลธนะวสิทธิ์ บัณฑิตภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากแนวคิดว่าสีสันสามารถบ่งบอกตัวตนของคนเราได้ เธอจึงลงมือออกแบบเว็บไซต์ paletteme.com ขึ้นมา เริ่มต้นเราจะได้ palette เปล่าๆ มาหนึ่งอัน เพื่อให้เพื่อนแต่ละคน (รวมทั้งเราเอง) เลือกสีหนึ่งสีที่พวกเขาคิดว่าบอกตัวตนของเราให้ ในตอนท้ายเราจึงจะได้ palette สีสดใสหนึ่งอันที่แทนตัวเรา โดยเมย์ยังคิดต่อยอดโปรเจกต์นี้เป็นการทำเคสมือถือแบบเฉพาะของแต่ละคน และใช้ data ที่ได้จาก user คำนวณความเชื่อมโยงของสีและบุคลิก เพื่อนำไปเป็นข้อมูลทางการตลาดด้วย

AUTHOR