Thai DIY : งานออกแบบจากสิ่งของใกล้ตัวโดยไม่ตั้งใจ แต่ใช้งานดีจริงๆ

การเดินสำรวจห้างร้านบ้านเรือนของผู้คนเป็นกิจวัตรประจำวันของชาวทราเวล หนึ่งในความสนุกที่ไม่มีในไกด์บุ๊กที่เราอยากชวนให้ทุกคนมองหาก็คือ งาน DIY สไตล์ไทยๆ ที่หยิบจับสิ่งของใกล้ตัวมาสรรค์สร้างเป็นอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างคาดไม่ถึง

unconscious design เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการออกแบบที่มุ่งไปยังการใช้งานจริงเป็นหลัก เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยที่ผู้ออกแบบเองก็อาจไม่ทันรู้ตัว แค่หยิบจับข้าวของในชีวิตประจำวันหรือสิ่งของเหลือใช้มาปรับแต่ง ผูก มัด ดัด รวมกันจนกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ งานออกแบบที่ไม่ได้ตั้งใจแบบนี้แหละที่ดึงดูดสายตาจนเราต้องเก็บมาคิดทบทวนทั้งคืน วุ่นวายว่ามันแฝงเรื่องราวอะไรไว้บ้าง

นี่คือ 8 สิ่งประดิษฐ์ริมทางในประเทศไทยที่โดราเอมอนยังต้องร้องว้าว


01 เข็นเด็กขนผัก

ข้าวของสำหรับเด็กเล็กเป็นปัญหาสำหรับหลายบ้านที่เมื่อลูกโตแล้วก็ไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน ไม่รู้จะส่งต่อให้ใคร แต่ไม่ใช่กับบ้านนี้ เพราะพวกเขานำลังพลาสติกที่ใส่ผลไม้มาต่อกับล้อเลื่อนรถเข็นเด็กได้อย่างพอเหมาะพอดี ใช้ขนข้าวของเวลาไปจ่ายตลาดหรือขนของต่างๆ เนื่องจากบ้านในย่านชุมชนริมคลองแสนแสบบางส่วนมีทางเข้า-ออกจากทางเดินริมคลองที่กว้างเพียงเมตรกว่าๆ จึงเหมาะแก่การเดินเท้าหรือการขับรถมอเตอร์ไซค์เท่านั้น การมีรถเข็นขนย้ายสิ่งของ ไม่ต้องหอบหิ้วให้พะรุงพะรัง จึงตอบโจทย์วิถีชีวิตชนิดที่ว่าขาดกันไม่ได้เลยทีเดียว


02 เติมร่มในช่องว่าง

ตลาดคลองเตยที่คึกคักคลาคล่ำไปด้วยผู้คนตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางและเริ่มวายเมื่อหลังเคารพธงชาติ ทำให้อุปกรณ์กันแดดกันฝนของตลาดนี้ไม่ตอบโจทย์ในทุกช่วงเวลานัก บางจุดที่แดดส่องยามสาย ฝนรั่วใส่คนที่มาช้อป พ่อค้าแม่ขายก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หยิบร่มคันใหญ่ขึ้นไปครอบปิดช่องว่างระหว่างผ้าใบของแต่ละร้านไว้อย่างพอดี ถ่วงน้ำหนักด้วยถุงใส่มะนาว ถุงพลาสติกใส่น้ำ เป็นวิธีการง่ายๆ ที่ได้ผลสุดๆ นอกจากกันแดดแล้วยังเป็นการดิสเพลย์สินค้าได้เนียนสุดๆ แต่ถ้าใครเดินไม่ระวัง อาจจะถูกถุงเหล่านี้ฟาดหน้าเอาได้เหมือนกัน


03 ขวดไปรษณีย์

เราทุกคนรู้ดีว่าพลาสติกมีอายุยืนยาวหลายชั่วอายุคน ในเมื่อเราต่างพยายามลดละแล้ว แต่ยังเลิกไม่ได้ อะไรที่ใช้แล้วก็จับมาใช้ซ้ำให้คุ้มกับทรัพยากรที่ผลิตมันขึ้นมา ของนอกบ้านที่เสี่ยงต่อการหายอย่างกล่องรับจดหมายจึงเป็นทางออกที่น่าสนใจที่จะนำขวดพลาสติก แกลลอนพลาสติกเก่ามาใช้ ขวดที่ขนาดพอเหมาะก็จับมาตัดปากออกแล้วขลิบริมให้เรียบร้อย ป้องกันขอบคมที่จะเป็นอันตรายยามหยิบฉวย ตัวขวดที่ยังมีพื้นที่เหลือก็เขียนบ้านเลขที่ พร้อมกำกับไว้ชัดๆ ว่า ‘กล่องไปรษณีย์’ หรืออย่างแกลลอนขนาดที่ตรงใจก็ใช้คัตเตอร์กรีดเป็นช่องใส่จดหมายได้แบบไม่ต้องเสียเงินซื้อกล่องไปรษณีย์สีแดงทรงพื้นฐานตามขนบบ้านเรือนทั่วไป


04 ผ้าใบใส่ของ

กระเป๋าผ้าใบสีเขียวขี้ม้าใบนี้เป็นของคุณลุงช่างนักประดิษฐ์คนหนึ่งที่เราบังเอิญได้พบกันย่านศาลเจ้าพ่อเสือ ไม่ไกลจากเสาชิงช้า คุณลุงเป็นคนเย็บกระเป๋าใบนี้ขึ้นเองจากผ้าใบคลุมรถสิบล้อ เลือกขนาดกระเป๋าที่พอเหมาะ เย็บด้วยฝีจักรละเอียดยิบ ร้อยหูจับด้วยสายสลิงโลหะเพื่อความคงทน แล้วหุ้มด้วยสายยางพลาสติกอีกชั้นให้หยิบจับง่ายไม่บาดมือ เราหลงรักในดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ลงตัว ตอบโจทย์การใช้งานของช่างสุดๆ เพราะทั้งทนทาน หยิบของเข้า-ออกได้ง่าย เมื่อจับหูหิ้วพร้อมกันทั้งสองข้างก็รวบปิดปากกระเป๋าได้พอดิบพอดี ความยาวของสายสะพายก็ custom-made กับช่วงไหล่ของคุณลุงเป๊ะๆ ยามเปลี่ยนมาคล้องแขนก็เหมาะเจาะคล่องตัว


05 ไม้ถูพื้นแขวนเสื้อ

ชุมชนเมืองมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ใช้สอยอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไปไม่ว่าข้อจำกัดจะมากแค่ไหนก็ตาม นั่นเป็นเหตุให้แม้ว่าจะไม่มีราวตากผ้า เราก็ยังต้องซักผ้าและผึ่งแดดกันอยู่ดี ไม้ถูพื้นแขวนเสื้อจึงถือกำเนิดขึ้น โดยชาวชุมชนสวนสมเด็จย่า ฝั่งธนบุรี เลือกหยิบเอาด้ามไม้ถูพื้นเก่าๆ มาปักเข้ากับรูเสียบขาตั้งร่มรถเข็น กางองศาออกให้พอดีกัน จากนั้นก็นำไม้แขวนเสื้อมาแขวนเรียงกันตามร่องรูที่ปลายด้ามให้ระยะห่างกันพอดี ไม่ติดเกินไป ไม่ห่างเกินพอดี แบบคิดมาแล้วว่าต่อให้ลมพัดก็ไม่มีปัญหาผ้าเทไปกองรวมอยู่มุมเดียวกันแน่นอน ไม่แน่ หากดีไซเนอร์คนไหนได้แรงบันดาลใจนำไปพัฒนาต่อ นี่อาจเป็นราวตากผ้าแห่งอนาคตก็ได้นะ


06 พัดลมตั้งพื้นติดเพดาน

ใครจะเชื่อว่าเราสามารถรวมสองฟังก์ชั่นความเย็นได้ในหนึ่งเดียว จากพัดลมตั้งพื้นขนาดเหมาะแก่การใช้งานในบ้าน เราก็จับมาห้อยหัว ยึดตัวฐานด้วยโครงเหล็ก ผูกเชือกมัดอย่างหนาแน่นขัดกับโครงหลังคา เพียงเท่านี้เราก็ได้พัดลมเพดานที่ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับเพิงขายอาหารริมทางในซอยอารีย์ซึ่งค่อนข้างเตี้ย หากใช้พัดลมเพดานที่มีใบพัดแบนยาวก็อาจเกิดอันตรายต่อลูกค้าได้ แถมตัวพัดลมตั้งพื้นแบบนี้ยังไม่กินเนื้อที่ เป่าลมตรงจุด ปรับระดับความเย็น และหมุนไปยังองศาที่ต้องการได้อีกต่างหาก


07 พัดลมเก็บขยะ

เมื่อพัดลมชำรุดจนไม่อาจเยียวยา จุดหมายปลายทางต่อไปคงหนีไม่พ้นการนำไปแยกชิ้นส่วนเพื่อรีไซเคิล แต่ส่วนที่เป็นตะแกรงโลหะที่ครอบด้านหน้าด้านหลังนั้นมีหนทางที่จะผจญภัยและสร้างประโยชน์ให้โลกได้มากกว่านั้น เพราะมันยังช่วยทำความสะอาดคลองได้อีกด้วย! เจ้าหน้าที่ของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร นำชิ้นส่วนนีี้มาประกอบเข้ากับแท่งไม้ยาว ผูกให้แน่นหนาด้วยเชือกหรือลวด เพื่อนำไปตักขยะในน้ำ ด้วยความโปร่งของตะแกรงทำให้น้ำไหลออกได้เร็ว แต่ทนทาน แข็งแรงกว่ากระชอนทั่วไป ไม่ว่าขยะจะชิ้นใหญ่แค่ไหนในลำคลองสายเล็กสายน้อยทั่วกรุงเทพฯ ก็ไม่หวาดหวั่น ทำงานอย่างแข็งขันได้ตลอดทั้งวันไม่มีบิดงอ


08 เครื่องตัดเหล็กบ้านบาตร

ลุงบึ้กเป็นช่างทำบาตรมาตั้งแต่ยังหนุ่มๆ เครื่องตัดเหล็กตัวนี้เป็นมรดกตกทอดจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งไม่มีขายที่ไหน เพราะบ้านบาตรเป็นชุมชนเก่าแก่โบราณ สันนิษฐานกันว่าตีบาตรด้วยมือกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานจึงมักมาจากของใกล้ตัวทั้งสิ้น เครื่องตัดเหล็กตัวนี้ก็ทำมาจากแหนบรถยนต์ ให้ช่างเหล็กย่านใกล้เรือนเคียงแถววรจักรช่วยดัดแปลงให้ตามความต้องการ จึงตัดแผ่นเหล็กได้อย่างคมกริบ ลุงบึ้กเล่าว่าเป็นเครื่องมือทำมาหากินที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้จึงเอาผ้าสามสีมาผูกไว้บูชาเสียเลย

AUTHOR