ปริญญา เทวานฤมิตรกุล : เมื่อนักกฎหมายพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำ

Highlights

  • ระหว่างที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กำลังล่องเรือมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ลำน้ำที่เป็นดั่งเส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทย โดยเริ่มจากปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านทางชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ก่อนไปสิ้นสุดที่สมุทรปราการ ที่ซึ่งเจ้าพระยาไหลรวมกับทะเลอ่าวไทย
  • เขาไม่ได้พายเรือเพื่อความสุนทรี หากแต่เพื่อเก็บขยะมูลฝอย รวมทั้งรณรงค์ให้คนไทยทิ้งขยะให้ถูกที่และลด ละ เลิก การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-used plastic) โดยเน้นการเริ่มต้นลงมือทำจากภาคประชาชน แบบที่ไม่ต้องรอให้รัฐเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดการปัญหาที่เราทุกคนสามารถมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเอง

ขณะที่ผมฟังพระสวดในงานศพพ่อเมื่อสองปีที่แล้วที่วัดท่าเกวียน ซึ่งอยู่ริมคลองท่าลาด ความหลังในวัยเด็กที่เคยว่ายน้ำเล่นในคลองท่าลาดก็ผุดขึ้นมา อยู่ดีๆ ผมก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะฟื้นฟูชีวิตให้กับคลองท่าลาด และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมดนี้ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

นี่คือย่อหน้าแรกจากหนังสือ ผจญภัยคลองท่าลาด (2560) โดยนักวิชาการด้านกฎหมายจากรั้วเหลืองแดงอย่าง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

และเป็นย่อหน้าแรกที่เราได้เข้าใจเจตนาตั้งต้นของชายที่หลายคนเรียกติดปากว่าอาจารย์ หลังจากเราใช้เวลาคุยเรื่องนี้กันไปราว 1 ชั่วโมงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

เพราะเวลาที่น้อยกว่าการสัมภาษณ์ทั่วไปในประเด็นจริงจังเช่นนี้ ยังมีอีกหลายคำถามที่ยังติดอยู่ในใจเรา แต่ก่อนจากกันอาจารย์หยิบหนังสือเล่มที่ว่าใส่มือ เราจึงได้อ่านย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นที่เขาหัดพายเรือคายักเพื่อสำรวจคลองแถวบ้านเกิด เมื่อเห็นกับตาว่าแม่น้ำลำคลองถูกละเลยและถูกเปลี่ยนเป็นที่ทิ้งขยะจากครัวเรือน เขาจึงริเริ่มกิจกรรมพายเรือเก็บขยะในที่ต่างๆ

ในหมู่นักเรียนนิติศาสตร์และคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของการเมืองไทย ชื่อของปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นที่รู้จักในฐานะนักวิชาการตัวเป้งที่มักออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นร้อนในสังคมอยู่เสมอ แต่ในหมู่นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ชื่อของเขาเพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักไม่นานมานี้ ในฐานะคนที่จัดกิจกรรมพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำลำธารหลายสาย และไม่ใช่แค่จัดให้คนอื่นพาย เพราะทุกครั้งเราจะได้เห็นเขาในเสื้อและปลอกแขนเป็นหนึ่งในเรือหัวขบวน

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ระหว่างที่คุณอ่านบทความนี้อยู่ ปริญญากำลังล่องเรือมาตามลำน้ำเจ้าพระยาในกิจกรรมพายเรือเก็บขยะที่ใหญ่และยาวนานที่สุดเท่าที่เขาเคยจัดมา โดยร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมาก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ขบวนเรือออกจากเส้นสตาร์ทที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ อันเป็นจุดที่แม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านมาบรรจบกันแล้วเริ่มต้นสายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่เรารู้จักกัน จากนั้นล่องตามน้ำมาเรื่อยๆ ผ่านจังหวัดชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ก่อนไปสิ้นสุดที่สมุทรปราการ ที่ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาไหลรวมกับทะเลอ่าวไทย

แต่อาจารย์ปริญญาไม่ได้พายเรือเก็บขยะอยู่คนเดียว ในทุกจังหวัดที่ขบวนเรือแล่นผ่าน เขาและทีมงานจะชักชวนคนในพื้นที่มาร่วมกิจกรรมด้วย เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกทาง รวมทั้งลด ละ เลิก การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ซึ่งนักกฎหมายที่ควบอีกกะเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมบอกเราว่าเขาจัดกิจกรรมนี้ด้วยความเชื่อที่ว่า “ถ้าใครลงมาเก็บขยะสักครั้งหนึ่งแล้ว เขาจะเลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำ”

และที่สำคัญ อาจารย์เน้นย้ำว่า ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะพกพากระบอกน้ำ ช้อนส้อม และหลอดส่วนตัว จะไม่มีการสร้างขยะเพิ่มแม้แต่ชิ้นเดียว

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องกิจกรรมดังกล่าว เรางงเหลือเกินว่าทำไมนักวิชาการด้านกฎหมายอย่างปริญญาถึงหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาอธิบายความสำคัญของธรรมชาติ ความสมดุลของระบบนิเวศ และปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน ก่อนจะวกกลับมาตอบในที่สุดว่า เขาสนใจเรื่องนี้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

นอกจากนี้ ใช่ว่าเขาจะไม่คิดถึงประเด็นเรื่องการทิ้งขยะในมุมของนักกฎหมาย

“พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มาตรา 33 ทิ้งสิ่งปฏิกูลมูลฝอย น้ำโสโครก ลงถนนหรือทางน้ำ ปรับสูงสุดถึง 10,000 บาท กฎหมายมีอยู่แล้ว โทษก็หนักด้วย แต่ใครจะเป็นคนคอยไปจับล่ะ ต้องให้เจ้าหน้าที่เทศบาลของ กทม.หรือตำรวจมาคอยเฝ้าทุกบ้านใช่ไหมว่าใครทิ้ง จุดเริ่มต้นคือทุกคนต้องช่วยกันเคารพกฎหมาย เมื่อทุกคนช่วยกันเคารพกฎหมายแล้ว คนละเมิดก็จะน้อย”

กระนั้นเราก็ยังเคลือบแคลงในความยั่งยืนของกิจกรรมนี้ จริงอยู่ที่การลงมือทำอะไรบางอย่างนั้นดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย แต่สำหรับเรา การจัดอีเวนต์เป็นรายครั้งเช่นนี้ชวนให้นึกถึงกิจกรรม CSR ในยุคหนึ่งที่ผู้คนพากันเฮโลขึ้นรถบัสคันใหญ่ไปปลูกป่าชายเลน พอจบวันก็กลับไปใช้ชีวิตที่ทิ้งรอยเท้าคาร์บอนกันตามเดิม

แน่นอนว่าอาจารย์ปริญญาเห็นต่างจากเราโดยสิ้นเชิง

“เราต้องมีอีเวนต์ที่มีพลังและน่าสนใจมากพอ จากประสบการณ์ของผม การสื่อสารพูดคุยกันอย่างเป็นบวกจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ได้ วันที่ผมไปเก็บขยะที่คลองบางบัว มีคุณป้าคนหนึ่งแกมองผม เหมือนสงสัยว่าพวกนี้มันทำอะไร ผมก็ชวนคุณป้า ‘มาช่วยกันเก็บขยะครับ’ คุณป้าบอก ‘ช่วยแล้วๆ ต่อไปจะเลิกทิ้งขยะแล้ว’ ผมเจอเด็กยืนมองเราเป็นกลุ่มใหญ่  ‘มาช่วยเก็บขยะกันไหม’ ผมชวนแล้วก็บอกเขาว่า ‘ต่อไปอย่าทิ้งขยะลงแม่น้ำนะ’ พวกเขาบอก ‘ครับๆ ไม่ทิ้งแล้ว’

“โดยส่วนตัวผมเชื่อมั่นว่าพฤติกรรมคนนั้นเปลี่ยนได้ ผมเชื่อมั่นว่าโดยลึกแล้วคนมีสำนึกในทางบวกและสำนึกในการไม่เห็นแก่ตัวอยู่ แต่ที่ผ่านมาเราไปมุ่งเน้นเรื่องการแข่งขัน ทำให้คนเห็นแก่ตัวมากเกินไป แต่สำนึกโดยลึกๆ แล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคม สัตว์สังคมต้องเกื้อกูลกันอยู่แล้วตามธรรมชาติ ฉะนั้นผมมีความหวัง”

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

เราคิดว่าส่วนหนึ่งความเชื่อและความหวังของอาจารย์คงมาจากความสำเร็จของหลายโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน เขาคือผู้บุกเบิกการเลิกใช้ cap seal หรือพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม

“ธรรมศาสตร์เลิกใช้ cap seal ไปเมื่อเดือนตุลาคมปี 2560 ถามว่าเราเลิกสำเร็จได้อย่างไร ผมไปชวนร้านค้าทุกร้านที่ขายน้ำ บอกว่า ‘ธรรมศาสตร์อยากเลิกครับ มาช่วยกันเลิกได้ไหมครับ’ เขาก็ยินดีมาก แต่บอกว่า ‘อาจารย์ครับ ขอขายของเก่าให้หมดก่อน’ ผมก็โอเค หมดแล้วเลิกเลยนะ นี่คือตัวอย่างของการการร่วมแรงร่วมใจกัน และผมคิดว่าผมอยากทำแบบนี้กับแม่น้ำลำคลอง”

และความเซอร์ไพรส์คือ ที่ประเทศไทยเราเลิกใช้ cap seal ไปเมื่อต้นปี ก็เป็นเพราะอาจารย์ปริญญานี่แหละที่ไปกระตุ้นหน่วยงานภาครัฐให้เร่งดำเนินการ “เดิมกรมควบคุมมลพิษเค้าวางแผนจะเลิกปี 2563 ผมก็ชวนเขา บอกทางกรมว่าอย่ารอเลย เลิกเลยดีกว่า ธรรมศาสตร์เองก็ทำได้แล้ว กรมฯ ก็เลยชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ในการผลิตขวดน้ำพร้อมใจกันเลิกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา”

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

จากทั้งกรณีการพายเรือเก็บขยะและการยกเลิก cap seal ดูเหมือนว่าอาจารย์ปริญญาจะเชื่อในการลงมือทำจากภาคประชาชนมากกว่าภาครัฐ กระนั้นเราก็ยังครุ่นคิดว่า หากเราทิ้งขยะถูกที่ก็แล้ว เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งก็แล้ว แต่ถ้าระบบจัดการขยะมูลฝอยของภาครัฐยังมีปัญหา สิ่งที่เราทำไปก็แทบจะสูญเปล่าเลยน่ะสิ

เพราะข้อมูลจาก รายงานสถานการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2560 จัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ บอกว่า จากขยะมูลฝอยปริมาณ 27.37 ล้านตัน มากถึง 7.17 ล้านตันถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง รวมทั้งมีอีก 5.34 ล้านตันที่ตกค้างจากสำรวจ หมายความว่าขยะจำนวนกว่า 12.15 ล้านตันอาจถูกเทกองไว้เฉยๆ ในบ่อขยะ ถูกเผากลางแจ้งหรือในเตาที่ไม่มีระบบกำจัดมลพิษ หรืออาจจะหลุดรอดลงท่อน้ำซึ่งจะนำไปสู่แม่น้ำและทะเลในที่สุด

ประกอบกับรายงาน Plastic waste inputs from land into the ocean เมื่อปี 2558 บอกว่าประเทศไทยปล่อยขยะที่ถูกจัดการอย่างไม่เหมาะสม (mismanaged waste) สู่ทะเลสูงติดอันดับ 6 ของโลก (ลองไปดูจุดที่ขยะไหลลงทะเลได้ที่ theoceancleanup.com/sources) แสดงว่าเรามีปัญหาที่ระบบการจัดการขยะด้วย ไม่ใช่มีปัญหาที่นิสัยมักง่ายของใครหลายคนเพียงอย่างเดียว

ถ้าสุดท้ายแล้วเราต้องขอให้มนุษย์ตัวเล็กตัวน้อยมาพยายามเก็บขยะกันเอง เราจะมีรัฐบาลที่เก็บภาษีเรา มีระบบจัดการขยะไปทำไม พวกเขาจะไม่ช่วยอะไรเราเลยหรือ เราตั้งคำถาม

“มันต้องทำด้วยกัน ประเด็นผมคืออย่าไปรอรัฐบาล เราต้องทำเองด้วย” ปริญญาตอบก่อนถามเรากลับ “สมมติคุณเดินเข้าห้องน้ำไปเจอก๊อกน้ำเปิดทิ้งไว้ คุณจะแก้ปัญหาอย่างไรดี”

ก็ปิดค่ะ เราตอบ

“ใช่ไง ต้องไปตามรัฐบาลมาแก้ไหม ต้องด่าคนเปิดก๊อกนำ้ทิ้งไว้ไหม ติดป้ายบอกอย่าเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้ไหม ปิดเลยครับ ต้องปิดเอง ต้องปิดก่อนถึงจะบอกคนอื่นได้ว่าต่อไปอย่าเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้นะ ปัญหาทั้งหลายเราต้องลงมือทำ”

ประโยคนั้นของอาจารย์ตอบทุกข้อสงสัยของเรา

แม้จะมีปัจจัยมากมายที่เราควบคุมไม่ได้หรือควบคุมได้ยาก แต่การลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวเองก็ไม่อาจทำให้อะไรๆ แย่ลงกว่าที่เป็นอยู่ ต่อให้แก้ได้เพียงส่วนหนึ่ง ก็ย่อมดีกว่าไม่แก้เลย

ฉะนั้น ปัญหาทั้งหลายเราต้องลงมือทำ

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

 

*ขอบคุณรูปกิจกรรมจากอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย