‘คุณคิดว่าฉันเป็นสีอะไร’ Palette Me เว็บไซต์ที่ให้เรารู้จักตัวเองผ่านสีสันที่เพื่อนเลือกให้

เคยคิดเล่นๆ กันมั้ยว่าถ้าต้องแทนตัวเองเป็นสี คุณจะเป็นสีอะไร?

โอเค คุณอาจจะไม่เคย (ฉันเข้าใจว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ดีๆ คนเราจะมานั่งคิดน่ะนะ) แต่สำหรับฉันที่ชอบเรื่องสีสันเป็นพิเศษ ฉันคิดมาตลอดว่าถ้าต้องแทนค่าตัวเองด้วยสีใดสีหนึ่ง ฉันคงมีคุณสมบัติคล้ายสีเหลืองซึ่งจะสว่างสดใสก็ได้ หรือจะกลายเป็นสีตุ่นๆ เมื่อหดหู่ได้เหมือนกัน

แต่ทันทีที่ได้รู้จักเว็บไซต์ Paletteme.com ฉันก็พบว่าฉันอาจมองตัวเองเป็นสีเหลืองก็จริง แต่ในสายตาของเพื่อนคนอื่นๆ ฉันยังเป็นสีชมพูอ่อน แดงสด หรือส้มแซลมอนได้ด้วย!

หลักการง่ายๆ ของ Paletteme.com คือเมื่อล็อกอินเข้าเว็บไซต์ด้วยเฟซบุ๊กของเราปุ๊บ เราจะได้ palette เปล่าๆ มาหนึ่งอัน โดยในขั้นตอนแรก เราจะต้องเลือก 1 สีที่คิดว่าเป็นตัวเองจาก 56 สีที่เว็บไซต์มีให้เลือก จากนั้นก็รอให้เพื่อนๆ มาเติม palette ของเราให้เต็ม เพื่อดูว่าจริงๆ แล้วเราเป็นคนที่มีสีสันแบบไหนได้เลย

หลังจากสนุกกับการดูสีที่เพิ่มขึ้นมาใน palette ของตัวเองและได้ครุ่นคิดว่าเพื่อนแต่ละคนเป็นสีอะไร (ซึ่งฉันจริงจังมากอย่างกับกำลังทำข้อสอบ) ฉันก็สงสัยขึ้นมาว่าคนเราจะรู้จักสีของตัวเองไปทำไมกัน นั่นทำให้ฉันเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าเว็บไซต์นี้เพิ่มเติม ก่อนจะรู้ว่านี่คือธีสิสจบของ เมย์-ปวิตรา พลธนะวสิทธิ์ นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายแค่อยากให้เราได้สนุกกับการเลือกสี แต่ยังอยากให้คนได้รู้จักตัวตนของตัวเองเพิ่มขึ้นเช่นกัน

SELF = I + ME

“เราคิดว่าทุกคนน่าจะมีคำถามอยู่ในใจว่าคนอื่นคิดว่าเราเป็นคนยังไง ซึ่งเราก็อยากจะบอกว่าโปรเจกต์นี้สามารถตอบคำถามให้กับทุกคนได้นะ”

ทันที่เจอกัน เมย์ก็เริ่มเล่าให้ฉันฟังถึงจุดตั้งต้นของธีสิสที่ใช้เวลาพัฒนามาเกือบหนึ่งปีว่าเริ่มจากทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of need) ที่บอกว่ามนุษย์เรามีความต้องการสูงสุดที่เรียกว่า Self-Actualization หรือความต้องการจะรู้ว่าศักยภาพของตัวเองคืออะไรและนำไปพัฒนาได้อย่างเต็มที่ บวกกับแนวคิดของนักสังคมวิทยาและนักจิตวิทยา George Herbert Mead ซึ่งกล่าวว่าคนเราจะรู้จัก Self ได้ด้วยส่วนประกอบสองส่วนคือ I (สิ่งที่เราคิดว่าเราเป็น) และ Me (เราในมุมมองของคนรอบตัว)

ด้วยส่วนผสมของแนวคิดทั้งสอง เธอจึงหยิบเอาเรื่องสีซึ่งสนใจอยู่แล้วมาใช้อธิบาย I และ Me ของแต่ละคน โดยสีที่เราเลือกให้ตัวเองก็คือตัวตนแบบ I ส่วนสีที่เพื่อนเลือกให้ก็คือ Me นั่นเอง

COLOR A + COLOR B = PERSONALITY

“เรื่องสีอยู่กับเราทุกที่ทุกเวลา สีมีผลต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และบอกตัวตนของแต่ละคนได้ เราเลยเห็นเป็นโอกาสที่จะได้ทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาโดยใช้สีมาเชื่อมโยงกับ personality ของเรา” เมย์เล่าให้ฟังต่อ

“คนเราไม่ได้โชว์ให้ทุกคนเห็นว่าเราเป็นคนยังไงไปซะหมด มันเกี่ยวกับจังหวะชีวิตว่าเขารู้จักเราในช่วงไหนด้วย การจะบอกว่าคนๆ นี้เป็นสีเดียวมันเลยยากมากๆ ตอนนั้นเราเลยได้ไอเดียว่าคนๆ หนึ่งน่าจะมีหลายสีที่คนอื่นมองเห็นรวมกัน ถ้าให้คนรู้จักลองมาบอกว่าเราเป็นสีอะไร ตัว Palette นี้ก็จะเป็นส่วนผสมที่เป็นตัวเรามากที่สุด”

นอกจากสีที่ให้เพื่อนเลือก 1 คน 1 สีแล้ว ในเว็บไซต์เรายังสามารถกรอกข้อความอธิบายที่มาที่ไปของสีนั้น และติดแฮชแท็กบอกบุคลิกของเพื่อนได้อีกด้วย

พอได้แนวคิดตั้งต้น เมย์จึงลองสร้างอัลบั้มที่มีแพนโทนสีต่างๆ พร้อมแฮชแท็ก #IfIWereAPantone ให้คนแชร์และให้เพื่อนๆ มาคอมเมนต์ว่าคนๆ นั้นเป็นสีอะไร อัลบั้มนี้ถูกแชร์ไปกว่าห้าพันครั้ง และทำให้เธอเริ่มมั่นใจว่าถ้าจับหัวข้อเรื่องสีและตัวตนมาพัฒนา ก็น่าจะเป็นที่สนใจของคนกลุ่มใหญ่แน่ๆ

ขั้นตอนต่อมาเมย์ลองให้เพื่อนๆ ช่วยกันสร้าง palette ขึ้นมา และทำแบบสอบถามเพื่อทดสอบว่าเมื่อคนไม่รู้จักได้เห็น palette ต่างๆ แล้วจะสามารถบอกได้มั้ยว่าเจ้าของ palette แต่ละอันเป็นคนยังไง ซึ่งเมย์บอกว่าผลที่ออกมาน่าสนใจกว่าที่เธอคาดไว้มาก

“ยกตัวอย่าง palette หนึ่งที่เพื่อนเราเป็นเจ้าของ เพื่อนเราเห็นผลลัพธ์ที่เราทำแบบสอบถามว่าแล้วเขาก็บอกว่าตรง อย่างคีย์เวิร์ดที่คนบอกว่าเจ้าของ palette เป็นคนอ่อนหวาน สดใส มีความเป็นผู้หญิง หรือคีย์เวิร์ดหนึ่งที่เราช็อกมากเลย คือเขาตอบว่าเพื่อนเราเป็นเด็กโรงเรียนหญิงล้วน ซึ่งเรากับเพื่อนเรียนโรงเรียนหญิงล้วนมาจริงๆ เรางงมากว่าเขารู้ได้ยังไง ส่วนแบบทดสอบอื่นๆ ก็ตรงเกือบ 80% ถ้าเทียบกับการแทนคนเป็นสีๆ เดียว เราว่าเราจะไม่ได้เห็นคำตอบแบบนี้”

เมื่อมั่นใจแล้วว่าการสร้าง palette สีขึ้นมาน่าจะเป็นหนทางที่ช่วยอธิบายตัวตนของคนได้จริงๆ เมย์จึงเริ่มสร้างเป็นเว็บไซต์ Palette Me ที่เราเห็นกันทุกวันนี้

30 SHADES OF ME

หากลองเข้าไปเล่นเว็บไซต์ Palette Me คุณจะเห็นว่าเมื่อเลือกสีให้ตัวเองเสร็จแล้ว บน palette ของเราจะเขียนว่า 29 fills to go! หรือเหลืออีก 29 ช่องที่จะให้เพื่อนมาเติมสีได้นะ! ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็นเลข 30 นั้น เมย์บอกว่ามันคือจำนวนความคิดเห็น (และสี) จากเพื่อนที่เธอคิดว่าเพียงพอสำหรับการเริ่มต้นรู้จักตัวเอง

“เราคิดว่าถ้ามีเพื่อนมาเติมสีแค่ 10 คนเราจะยังมองไม่เห็นความถี่ แต่ถ้าเป็นจำนวน 30 คน เราจะเริ่มเห็นความถี่ของสีและตัวตนที่คนมองเห็นเรา ทำให้เราเห็นได้ชัดขึ้นว่าตัวเองเป็นคนยังไง”

และเพราะ palette ของฉันยังมีสีสันไม่ครบ 30 ช่อง ฉันเลยแอบถามเมย์ซะเลยว่าถ้า palette ของฉันถูกเติมจนเต็มแล้วอะไรจะเกิดขึ้น

“ถ้ามีคนเล่นครบ 30 คนเมื่อไหร่ เราจะมองเห็นได้ว่าสีและแฮชแท็กที่ถูกเลือกเยอะที่สุดคืออะไร รวมๆ แล้วคือคุณมีบุคลิกแบบไหนนั่นแหละ แล้วเราก็ออกแบบให้ดูได้ด้วยว่าเรามีบุคลิกคล้ายกับใคร ผ่าน palette ของคนที่มีสีใกล้เคียงกัน”

ถึงอย่างนั้น 30 ก็เป็นเพียงจำนวนน้อยที่สุดสำหรับการดูผลเท่านั้นเพราะเพื่อนของเราสามารถเข้ามาเติมสีได้เรื่อยๆ เลย เมย์บอกแล้วเปิดหน้าตา palette ของเธอที่มีเพื่อนมาเติมแล้วถึง 82 ให้เราดู จนเราอิจฉาเพราะของ palette ของฉันตอนนี้ยังเหลือที่ให้เติมอีกเยอะเหลือเกิน

I + ME = MASTERPIECE

อีกสิ่งที่เรากรี๊ดหนักเมื่อลองเล่นเว็บไซต์ Palette Me ครั้งแรกคือหน้าตา palette ทรงสี่เหลี่ยมที่ถอดแบบมาจากสี่เหลี่ยมสัดส่วนทองคำ สัดส่วนที่ได้รับการยอมรับว่าสวยงามที่สุดในโลก นั่นทำให้เมื่อแต่ละสีถูกเติมลงไปใน palette มันจะถูกจัดวางในสัดส่วนเล็กใหญ่ กลายเป็น palette ที่ดูน่ารักลงตัวสุดๆ

“ตอนแรกเราทดลองทำ palette ในสัดส่วนต่างๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าสัดส่วนทองคำซึ่งนักคณิตศาสตร์คิดมาแล้วสวยที่สุดตั้งแต่สองพันกว่าปีที่แล้วมันสวยจริงๆ เราเองก็อยากจะสื่อสารว่าตัวเราก็เป็น masterpiece ได้เหมือนกัน”

“บางคนเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองมีจุดเด่นอะไร การได้เห็น palette ของตัวเองอาจจะทำให้เขาได้เห็นคุณค่าในตัวเองว่าเขาไม่เหมือนใครนะ ยิ่งเราเห็นเป็นสีมันจะเห็นภาพชัดมาก ตอนนี้ระบบอุตสาหกรรมทำให้เราไม่ได้เป็นตัวเอง เราจะถูกแทนที่ด้วย AI เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่การที่เรามีอัตลักษณ์ชัดเจนมันจะยกระดับคนได้มากขึ้น เพราะสิ่งที่คนต่างจากหุ่นยนต์ก็คือความเป็นตัวเอง”

THE FUTURE OF (PALETTE) ME

แม้ Palette Me จะเป็นโปรเจกต์ธีสิสก็จริงแต่เมย์ก็ไม่ได้หวังจะให้มันจบลงพร้อมกับวันจบการศึกษา อย่างตอนนี้ ถ้าใครชอบใจ palette ของตัวเองมาก เมย์ก็เริ่มเอาสีสันเหล่านั้นมาทำเป็นเคสโทรศัพท์ให้เราซื้อกันได้ แถมเธอยังมีแผนว่าจะต่อยอดสิ่งนี้ไปยาวๆ เลยแหละ

“ตอนนี้เรากำลังดำเนินการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ ส่วนในอนาคต ถ้าเรามีผู้ใช้มากขึ้นเราก็อยากจะต่อยอดเว็บไซต์ของเราไปอีกด้วย ข้อมูลในเว็บเราจะเห็นว่าคนมองเห็นสีต่างๆ เป็นแบบไหน ซึ่งเราสามารถเอาไปใช้กับเรื่องการทำมาร์เกตติ้งได้ นอกจากนี้ เราคิดว่าเราอยากจะทำโปรเจกต์ร่วมกับแบรนด์สินค้าต่างๆ ให้ผู้ใช้เว็บของเราได้ซื้อสินค้าที่แสดงออกถึงความเป็นตัวเองจริงๆ จะต่อยอดเป็นของที่ทำจากสีใน palette เฉพาะตัวหรือเป็นไอเดียเวลาเขาไปเลือกสีเสื้อผ้าก็ได้”

พูดถึงอนาคตแล้ว เราแอบถามเมย์ส่งท้ายว่ามองย้อนกลับไป เธอรู้สึกยังไงที่ธีสิสของเธอมาได้ไกลจนเป็นที่พูดถึงขนาดนี้

“เราดีใจที่จากไอเดียเล็กๆ มันมาถึงจุดนี้ได้ เพราะจริงๆ แล้วเป้าหมายเราไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย เราแค่อยากให้ทุกคนได้สนุกไปกับมัน ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นแค่นั้นเอง”

ฉันผู้ซึ่งตื่นเต้นกับโปรเจกต์นี้มากๆ ฟังแล้วก็พยักหน้าหงึกหงัก พลางคิดว่าคืนนี้จะแชร์ palette ของตัวเองให้เพื่อนมาเติมอีกหน่อย ฉันจะได้เห็นตัวเองในเวอร์ชั่น palette สีที่สมบูรณ์เสียที

ภาพ ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์

ช่างภาพฝึกงานสายฮาผู้ชื่นชอบเพลง EDM