ดูการจัดวาง food styling ที่ไอเดียต้องสนุกและ ‘ตรงปก’ ในสไตล์ pimfun

เริ่มจากเราเกิดสะดุดตาภาพอาหารสวยๆ จากเพจเฟซบุ๊ก pimfun ที่พบเจอโดยบังเอิญ องค์ประกอบต่างๆ และอาหารในภาพถูกจัดวางในสไตล์ที่เรียกว่า still life เป็นเอกลักษณ์ในผลงานของเธอ รวมทั้งผลงานอัพเดตล่าสุดอย่างภาพถ่ายเมนูเครื่องดื่มใน ATM Tea Bar และ BNK48 Cafe ที่น่ารักน่ากินจนเราอดใจคว้าตัวเจ้าของไอเดียมาทำความรู้จักไม่ไหว


พิมฝัน ใจสงเคราะห์
คือหญิงสาวเจ้าของเพจที่ว่า เธอคืออดีต food stylist ประจำนิตยสาร Health & Cuisine ตอนนี้พิมฝันเป็น shop image creative ของ Greyhound Cafe ดูแล presentation ทุกอย่างของคาเฟ่ในเครือเกรย์ฮาวด์ ไม่ว่าจะเป็นของแต่งร้าน ชั้นวางบนผนัง โต๊ะ เก้าอี้ รวมทั้งรายละเอียดบนโต๊ะอย่างจานที่เลือกใช้ นอกเหนือจากงานประจำ หญิงสาวสุดเท่คนนี้ยังมีจ๊อบสองเป็น food stylist และ prop stylist

ไม่แน่ว่าภาพสวยๆ ในเมนูร้านอาหารหรือเครื่องดื่มร้านโปรดของใครหลายๆ คน อาจเป็นไอเดียสร้างสรรค์ของพิมฝันก็เป็นได้

งานที่เริ่มต้นจากศูนย์

“ตอนเด็กๆ เราชอบถ่ายภาพมากๆ เราลงเวิร์กช็อปสอนถ่ายรูปที่หนึ่งแล้วก็ได้รู้จักกับพี่ช่างภาพที่สำนักพิมพ์อมรินทร์ ตอนแรกตั้งใจว่าจะขอเข้าไปฝึกงานผู้ช่วยช่างภาพ แต่ปรากฎว่าตำแหน่งนี้เต็ม (หัวเราะ) เพื่อนเห็นว่าเราชอบของกระจุกกระจิก เลยแนะนำให้ลองฝึกตำแหน่ง food stylist ดู พอลองแล้วก็ชอบ หลังเรียนจบก็สมัครงานที่อมรินทร์ต่อเลย”

พิมฝันจบสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากเด็กที่ไม่รู้เลยว่าการทำ styling เลือกพร็อพต้องทำแบบไหน หรือจัดหน้ากล้องต้องทำอย่างไร พิมฝันตั้งใจเรียนรู้งานทุกอย่างใหม่โดยเริ่มต้นจากศูนย์ อาศัยความขยันของตัวเธอเอง

“การฝึกฝนของเราคือเราต้องพยายามสร้างโจทย์ให้ตัวเองได้คิด สร้างสถานการณ์ให้กับสิ่งที่เราอยากจะถ่าย เราเชื่อว่าแต่ละรูปต้องมีประเด็น จะคิดมาแบบลอยๆ ไม่ได้เลย พี่บรรณาธิการก็ช่วยสอนเราเต็มที่”

หลายปีหลังจากนั้น เธอตัดสินใจเปลี่ยนงานใหม่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสายงานเดิม แต่ในใจลึกๆ หญิงสาวคนนี้ยังรู้สึกชอบการทำ food stylist และไม่คิดจะทิ้งความสุขของการทำสิ่งเหล่านี้

สานฝันจากความสนุก

“ในใจเรามีสไตล์งานที่อยากถ่ายอยู่แล้วแต่ไม่มีใครจ้างสักที มีช่างภาพรุ่นพี่ที่ชอบงานคล้ายๆ กัน ด้วยความที่เราไม่รู้ว่าจะได้ทำงานแบบนั้นเมื่อไหร่ เลยตัดสินใจจ่ายค่าสตูดิโอแล้วถ่ายกันเองสนุกๆ”

“พอเป็นงานที่ทำกันเอง เรารู้สึกว่าเราต้องทำในสิ่งที่เป็นตัวตนเราที่สุด พูดง่ายๆ คือจัดแบบที่ลูกค้าเห็นแล้วต้องจ้างอะ (หัวเราะ) ก็ตั้งโจทย์กันมาว่าอยากจัดสิ่งที่ทุกคนไม่คิดว่ามันจะจัดได้ เรารู้สึกว่ารายละเอียดพวกผ้า 7 สี ของไหว้เจ้าที่ ช้าง ม้า ทุกอย่างมีสีสันที่ป๊อปอยู่ เราเอาสิ่งพวกนี้มาจัดโดยเล่นกับฟอร์มเรขาคณิต เช่น ตัดส้มกลมๆ ให้เป็นส้มทรงสี่เหลี่ยม หรือพยายามเลือกเทียนที่เขาแพ็กมาเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู”

“อีกงานที่ทำกันเองแล้วชอบคอนเซปต์นั้นมากๆ คือโปรเจกต์ Around the Table ของ
PATCHA.workspace เขาเอาความทรงจำเกี่ยวกับอาหารของตัวเองและคนรอบตัวมาเล่า อย่างบ้านของเขาชอบกินอาหารญี่ปุ่นอย่างซูชิและปลาดิบมาก จนคิดมาตลอดว่าแม่ชอบ แต่พอตอนไปถามแม่จริงๆ แม่บอกว่าแม่ไม่ชอบเลย มันลื่นๆ ขยะแขยง แต่ก็ยอมกินเพราะว่าเห็นทุกคนในครอบครัวชอบ” เธอเล่าที่มาของไอเดียที่เธอเลือกหยิบปลาไหลมาโปะบนข้าว เพื่อบอกเล่าความรู้สึกสะอิดสะเอียนนั้น

หลังจากนั้นเทรนด์การจัด styling แนว still life เริ่มเป็นที่รู้จัก พิมฝันจึงได้รับการติดต่อจากคนรู้จักและลูกค้าแบรนด์ต่างๆ เริ่มจากรุ่นพี่ที่ชื่นชอบงานสนุกๆ ของเธออย่าง กร-ธนกร เสถียรวงศ์นุษา เจ้าของร้านธรรมบุญ สังฆภัณฑ์ (ที่เราเคยสัมภาษณ์เขาลงใน a day 208 ฉบับ ‘กลับบ้าน’ ประจำจังหวัดจันทบุรี) ก็จ้างให้เธอไปจัด styling ของสังฆทาน กลายเป็นว่าพิมฝันไม่ได้ทำเพียงแค่ food styling อย่างเดียว เธอรับจัดทั้งสิ่งของ เครื่องสำอาง กระเป๋า เรียกได้ว่าเป็น stylist ที่จัดของได้ทุกอย่าง

จากงานสนุกสู่งาน commercial

หลังจากที่เราดูงานชิ้นแรกๆ ที่เธอและเพื่อนร่วมกันทำเพื่อตอบใจตัวเอง พิมฝันเริ่มพลิกให้เราดูงานที่เป็นงานจ้างจากลูกค้ามากขึ้น แววตาของเธอดูสนุกขึ้นมาทันทีเมื่อเราขอให้เธอเล่าบรรยากาศในการทำงาน

“ส่วนใหญ่ลูกค้าจะมีภาพในหัว มีความชอบของตัวเองมาอยู่แล้ว แต่บางคนเขาอาจจะอธิบายไม่ได้ เราก็ต้องเคาะสิ่งที่เขาต้องการไปเรื่อยๆ เช่น ทำ reference ให้ดู 3 แบบที่ต่างกันไปเลย เราจะได้จับทางถูก บางงานเราได้รับบรีฟจากเอเจนซีหรือลูกค้าที่เขามีอาร์ตไดเรกเตอร์ เราก็อาจจะไม่ต้องคิดงานเอง หน้าที่เราอาจจะมีแค่หาพร็อพ จัดวางองค์ประกอบ ดูมู้ดแอนด์โทนให้ตรงตาม reference สโคปงานของ stylist มันแล้วแต่จ๊อบเหมือนกัน”

“อย่างงานของ ATM Tea Bar บรีฟแรกลูกค้าชัดเจนมากว่าอยากได้ใบไม้ ดอกไม้ เขาอยากสื่อให้มันออกมาน่ารัก หรือเครื่องดื่มช็อกโกแลตกับชาเขียว พอสองอันนี้รวมกันแล้วเขามองว่ามันเป็นลายทหาร เขาเลยอยากเล่นกับตุ๊กตาจาก Toy Story หรือบางเมนูเราก็หยิบชื่อที่เขาคิดไว้มาเล่น อย่างแก้วที่เป็นกาแล็กซี เป็นต้น”

กับบางงาน พิมฝันก็เหมือนเป็นครีเอทีฟไปด้วย ลูกค้าบางคนอาจต้องการเพียงแค่การจัดวางของ จัดวางองค์ประกอบแบบไหนก็ได้ให้ภาพออกมาสวย เพราะฉะนั้นเธอก็ต้องเป็นคนวางไดเรกชั่นอาร์ต คิดถึงภาพทุกช็อต ดูภาพรวมและความเข้ากันของงานทั้งหมด

“สิ่งสำคัญที่สุดคือทุกภาพต้องคำนึงถึงสินค้าด้วย เราต้องหาให้ได้ว่าสินค้าเขามีจุดขายอะไร อย่างเมนูช็อกโกแลตล่าสุดที่เราทำให้ ATM Tea Bar ลูกค้าเขาให้โจทย์มาว่ามันเป็นเครื่องดื่มช็อกโกแลตเข้มข้น ซึ่งงานก่อนๆ มู้ดของเขาจะออกมาน่ารัก เราเลยนึกถึงช็อกโกแลตไมโลที่ทุกคนน่าจะเคยกินกับเพื่อนตอนเด็กๆ”

“หน้าที่เราก็คือต้องสร้างวิชวลออกมาให้ได้ เราเลยคิดต่อว่าถ้าให้นึกถึงตอนเด็กๆ เราจะนึกถึงอะไร เรานึกถึงตอนที่นั่งกินนมช็อกโกแลตกับเพื่อนๆ ที่สนามในโรงเรียน พร็อพที่ใช้ก็ต้องเป็นอะไรที่ทำให้คนนึกถึงสถานที่แห่งนั้น”

ความสนุกที่ต้องออกมาตรงปก

“งาน styling นอกจากเราจะสนุกตอนคิดแล้ว เวลาอยู่หน้างานมันยิ่งสนุก มันท้าทายเราตรงที่มีปัญหาเฉพาะหน้าให้เราแก้ไขไปเรื่อยๆ improvise ไปเรื่อยๆ บางงานก็มีตันเหมือนกันแต่ทุกคนจะช่วยกัน บางงานลูกค้ายังมาช่วยเราคิดหน้างานเลย น่ารักมาก”

“จริงๆ เราเป็นคนใจร้อนมากเลยนะ แต่การทำ stylist เราต้องใช้สมาธิจดจ่อกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ งานตรงนี้ก็ช่วยให้เราเย็นลง ส่วนข้อจำกัดหลักๆ ของการถ่ายภาพอาหารคืออาหารที่เรานำเสนอในรูปต้องเหมือนอาหารจริง นอกจากจะเซ็ตอัพสวยแล้วต้องใช้งานได้จริง พูดง่ายๆ ว่าภาพต้องตรงปก” พิมฝันย้ำกับเราถึงวิธีคิดในการทำ styling ของเธอ

คำถามสำคัญที่เราสงสัยคือ คนที่จะเป็น food stylist ได้ต้องเป็นคนชอบกินอาหารหรือชอบเข้าครัวหรือเปล่า?

“บอกก่อนว่าเราไม่ใช่คนที่ชอบทำอาหาร แต่เราเป็นคนที่สนใจเรื่องวัตถุดิบ คนทั่วไปอาจจะชอบกินอะไรอร่อยๆ แต่เวลาเรากิน เราชอบการที่ได้รู้ว่าสิ่งที่เรากินนั้นคืออะไร อาหารจานนี้กินยังไงมากกว่า เพราะเราชอบ เราถึงอยู่กับมันได้ คุณสมบัติของ food stylist คือต้องชอบอาหาร แค่นี้เลย

“อีกหนึ่งคุณสมบัติที่สำคัญคือต้องช่างสังเกต เช่น เวลาเราไปกินอาหาร เราจะต้องดูว่าเขาจัดจานยังไง ใช้จานแบบไหน ต้องดูงานเยอะๆ และต้องมีความเข้าใจทางด้านอาหารด้วยนิดนึง เช่น ข้าวชนิดนี้เราอัดเป็นก้อนหรือรูปทรงต่างๆ ได้ไหม ขณะเดียวกันเราก็ชอบแฟชั่นด้วยนิดหน่อย เราคิดง่ายๆ ว่า food stylist คือการจับอาหารมาแต่งตัว เราเชื่อลึกๆ ว่างานทุกงานที่เราทำมันสะท้อนความเป็นตัวตนของเราออกมา”

ตอนนี้เรารู้แล้วว่างานของ pimfun เป็นงานหล่อหลอมจิตใจที่สะท้อนตัวตนของผู้หญิงคนนี้ออกมาได้แบบที่ไม่มีใครเหมือน ขณะเดียวกันงานของเธอก็หล่อหลอมความ ‘หิว’ ให้กับเราที่ตั้งใจชมผลงานของเธออย่างไม่รู้ตัว

ตามไปหิว ไม่สิ ตามไปดูผลงาน food styling อื่นๆ ของสาวพิมฝันได้ที่
https://www.flickr.com/photos/pimfun/albums

Facebook | Pimfun


ภาพ
ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์, Pimfun และ ร้านธรรมบุญ สังฆภัณฑ์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์

ช่างภาพฝึกงานสายฮาผู้ชื่นชอบเพลง EDM