ตายก่อนตาย : วิธีคิดงานศพที่ให้นิ้วกลมซ้อมตายเป็นเวลา 3 วัน

Highlights

  • ตายก่อนตาย คือโปรเจกต์ที่นิ้วกลม ร่วมกับเอเจนซี ชูใจ กะ กัลยาณมิตร กลุ่ม Peaceful Death มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา และกลุ่มอื่นๆ จัดงานศพนิ้วกลมขึ้นวันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2561 ที่วัดธาตุทอง
  • งานศพครั้งนี้มีเป้าหมายคือการกระตุ้นให้คนพูดคุยเรื่องความตายกันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการคุยกับคนใกล้ชิดถึงความต้องการก่อนตายและการจัดการหลังตายไป เพื่อให้การตายของคุณเป็นการตายที่สบายใจต่อตัวเองและผู้อื่น
  • ภายในงานมีส่วนที่คล้ายคลึงกับงานศพทั่วไป เพราะนิ้วกลมมองว่าพิธีกรรมเก่าแก่นี้ยังมีแง่งามให้ชื่นชมอยู่มาก หากแต่รายละเอียดในบางส่วนก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการของเขา เช่น การเปลี่ยนดอกไม้พวงหรีดเป็นหนังสือเพื่อนำไปบริจาค หรือการให้แขกในงานได้ทำกิจกรรมซ้อมตายเพื่อใคร่ครวญเรื่องความตายอย่างจริงจัง

เมื่อเร็วๆ นี้ฉันไปงานศพของนิ้วกลมมา

มันจัดขึ้นในวัดธาตุทอง และเช่นเดียวกับงานศพของชาวพุทธทั่วไป โลงศพของเขาตั้งอยู่ตรงนั้น เคียงข้างกับภาพนิ้วกลมยิ้มแฉ่งต้อนรับแขกในชุดสีดำอย่างอารมณ์ดี

แต่คุณไม่ต้องกราบเคารพศพ ไม่ต้องจุดธูป ไม่ต้องวางพวงหรีดดอกไม้ ไม่ต้องนั่งฟังบทสวดมนต์ยืดยาวที่คุณไม่เข้าใจความหมาย ขอแค่ใคร่ครวญถึงความตายให้มาก ฟังเพลง ช่วงที่ดีที่สุด ที่ลอยอยู่ในอากาศ ได้ฟังทอล์กเกี่ยวกับความตายจากสปีกเกอร์ที่เขาคัดสรรมา และลองซ้อมตายในโลงที่เขาจัดไว้ให้ นั่นแหละ งานศพของนิ้วกลม

ก่อนใครจะตกใจว่านิ้วกลมจบชีวิตลงเมื่อไหร่ ฉันคงต้องบอกคุณว่านี่ไม่ใช่งานศพจริงๆ และ เอ๋–สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือนิ้วกลม ก็ยังมีชีวิตอยู่ดีมีความสุข ส่วนงานศพนี้แท้จริงมีชื่อโปรเจกต์ว่า ‘ตายก่อนตาย’ ที่นักเขียนชื่อดัง มาลองซ้อมตายในวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีเอเจนซี ชูใจ กะ กัลยาณมิตร กลุ่ม Peaceful Death มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา และกลุ่มอื่นๆ พร้อมใจกันมาร่วมสร้างความตายครั้งนี้

และก่อนใครจะก่นด่าว่าทำไมคนกลุ่มนี้ถึงเอาความตายมาเล่นแผลงๆ ฉันอยากชวนคุณมาทำความเข้าใจโปรเจกต์นี้กับนิ้วกลม และ เม้ง–ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ Creative Director จากชูใจด้วยกันก่อน

ไม่แน่ อ่านบทความนี้จบแล้วคุณอาจจะอยากลองซ้อมตายเหมือนนิ้วกลมก็ได้

 

ความตายไม่ใช่ของเรา (คนเดียว)

เทียบกับคนรุ่นก่อนที่ความตายเป็นของอัปมงคลที่ไม่มีใครหยิบมาพูดถึงถ้าไม่จำเป็น ความตายดูจะเป็นหัวข้อที่เฟรนด์ลี่กับคนรุ่นใหม่ไม่น้อย หลายคนบอกเพื่อนฝูงไว้ว่าถ้าพวกเขาตาย พวกเขาอยากได้งานศพแบบไหน แขกต้องใส่ชุดสีอะไร บางคนถึงขั้นออกแบบเพลย์ลิสต์เพลงงานศพเอาไว้ด้วยซ้ำ

แต่นั่นก็อาจจะยังไม่เพียงพอ

“ถามว่าคนสนใจเรื่องความตายเยอะไหม ก็เยอะนะ แต่พอเราเริ่มสนใจมันก็จะช้าไปทุกที คนจะสนใจเมื่อมีปัญหาต่อหน้า คือไม่เราป่วย ก็พ่อแม่ป่วย ถึงตอนนั้นก็จะแก้ปัญหาได้ลำบากแล้ว สำหรับเราเรื่องนี้มันควรจะคุยกันตั้งแต่ตอนนี้ เหมือนที่เรานั่งคุยกัน หรือเหมือนคุยกับเพื่อน” เม้งอธิบาย

“คนรุ่นใหม่มักจะพูดกันว่าความตายไม่น่ากลัว เพราะตายไปก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พระไพศาลกล่าวไว้ว่าความตายก็ยังไม่น่ากลัวเท่าความกลัวตายนะ ช่วงโมเมนต์ก่อนจะตายนี่แหละที่มันน่ากลัว นี่คือสิ่งที่เราต้องเตรียมกายและเตรียมใจ

“การเตรียมใจเป็นเรื่องของเราส่วนใหญ่ แต่เตรียมกายเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยรู้ มันเป็นเรื่องที่ต้องคุยกับญาติ แต่คนไม่ค่อยได้คุยเพราะเราคิดว่าความตายคือเรื่องของเราคนเดียวก็เลยเป็นปัญหา เช่น ตอนที่เราจะตาย ถ้าคนข้างๆ ไม่เข้าใจว่าเราต้องการอะไรเขาอาจจะจัดการให้เราผิด ณ ตอนนั้นทุกคนมีแต่ความปรารถนาดี แต่ความปรารถนาดีนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราสบายหรือเปล่า

“ยิ่งไปกว่านั้น คนที่ดูแลอาจจะรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต ปัญหาที่เจอเยอะที่สุดในคนที่ดูแลผู้ป่วยคือความรู้สึกว่าไม่น่าทำแบบนี้เลย รู้อย่างนี้ตอนนั้นไม่น่าสอดท่อเลย ไม่น่าไปปั๊มหัวใจเลย แต่ตอนนั้นก็ต้องทำ หรือตอนนั้นจะไม่ทำแต่ญาติอีกคนบอกให้ทำ พอไม่ได้เตรียมการไว้ก่อนมันก็เลยโกลาหลอย่างนี้

“สังเกตสิ ทำไมงานศพมันถึงเหมือนกันหมด เพราะเราไม่เคยเตรียมตัว สัปเหร่อก็จัดการทำตามที่เคยทำกันมา ทั้งที่ถ้าเราจัดการความตายไว้ก่อนเราก็คงสั่งได้ว่าอยากให้งานเป็นแบบไหน”

 

งานศพที่ออกแบบได้

ก่อนจะเป็น ‘ตายก่อนตาย’ ชูใจและกลุ่ม Peaceful Death เคยจับมือกันถ่ายทอดเรื่องความตายมาแล้ว ตั้งแต่การโปรโมตสมุดเบาใจ พินัยกรรมสำเร็จรูปที่ให้คุณติ๊กและกรอกความต้องการก่อนและหลังตายอย่างสะดวกสุดๆ หรือ Happy Death Day อีเวนต์ใหญ่ที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวตายมาไว้ในที่เดียว

และในงาน Happy Death Day นี่เองที่พวกเขาทำคลิปสัมภาษณ์ อุ๋ย Buddha Bless เรื่องความตายในอุดมคติ ก่อนไอเดียง่ายๆ ครั้งนั้นจะพัฒนามาเป็นการชวนนิ้วกลมมาจัดงานศพในครั้งนี้เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น ขณะเดียวกัน นักเขียนหนุ่มก็ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากพอจะพูดถึงความตายได้อย่างลึกซึ้ง

“งานศพมันเป็นแค่ประโยคเปิดทำให้คนสนใจเฉยๆ เพราะดีเทลของงานมันมีมากกว่าแค่งานศพ มันเป็นเรื่องการเตรียมตัวตาย เรื่องสมุดเบาใจ เรื่องการจัดการความตายของตัวเอง”

เมื่อความตายคือเรื่องที่เราต้องจัดการเอง หน้าที่ออกแบบงานศพของนิ้วกลมจึงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเจ้าตัว ถึงอย่างนั้น ฉันก็ยังสงสัยว่าเมื่อมีโอกาสทั้งที ทำไมวัดจึงยังเป็นจุดหมายของความตายของนิ้วกลม

“ผมยังเลือกจัดงานศพในวัดอยู่เพราะสำหรับคนที่เป็นชาวพุทธ ผมก็ยังคิดว่าการตายแล้วมีพระสวดมันเป็นพิธีกรรมที่มันจบ ครบถ้วน และ ณ ตอนนั้น ญาติเราก็อาจจะต้องการที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจบางอย่าง สิ่งที่พระท่านสวด ท่านก็พูดสัจธรรม คือความตายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหลีกพ้น แต่พอพูดออกจากบทสวด มันก็มีความศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง มีอารมณ์บางอย่างที่จะช่วยโอบอุ้มญาติมิตรไว้

“เราคิดว่าพิธีกรรมมันผ่านกาลเวลามา เป็นมรดกทางปัญญาของคนในรุ่นก่อนเรา นั่นหมายความว่าเขาต้องตกผลึกอะไรบางอย่างแล้วแหละเขาถึงเลือกที่จะทำสิ่งนี้ เราคิดว่าเราไม่น่าจะปฏิเสธพิธีกรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ควรจะเอาพิธีกรรมทั้งหมดมาวางแผ่ดูว่าอะไรที่คุณคิดว่ามันไม่เหมาะแล้วกับยุคสมัยนี้ อะไรที่ไม่เหมาะกับตัวคุณเอง แล้วเราก็ค่อยๆ ตัดออกก็ได้”

เพราะเลือกข้าวของได้เองตามใจ เอ๋จึงใส่ใจว่างานจะต้องเรียบง่าย และทำให้คนได้ใคร่ครวญความตายมากที่สุด โลงศพในงานที่ฉันเห็นจึงเป็นโลงสีขาว เรียบ สะอาดตา ใครที่จะให้พวงหรีด เขาขอเปลี่ยนเป็นหนังสือเล่มที่ชอบเพื่อนำไปบริจาคทีหลัง จัดแสดงสมุดเบาใจของเขาหน้าศาลาสวดศพเพื่อให้คนได้ดูเป็นตัวอย่าง ลดระยะเวลาสวดมนต์และสวดเป็นบทแปลไทยเพื่อให้คนได้เข้าใจบทสวดมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญแต่ละรอบของงานจะมีสปีกเกอร์แวะเวียนมาแลกเปลี่ยนมุมมองต่อความตายด้วยอย่าง อังคณา นีละไพจิตร, วิจักขณ์ พานิช และวุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ฯลฯ

และที่ไม่เหมือนงานศพไหนๆ ที่ฉันเคยไปมา คือเขาอนุญาตให้แขกในงานอย่างฉันได้ซ้อมตายไปด้วยกัน

 

ตายก่อนตาย

ก่อนจะเป็น ‘ตายก่อนตาย’ เอ๋เล่าย้อนกลับไปให้ฉันฟังว่าความตายคือหัวข้อที่เขาสนใจมานานแล้ว หากแต่เป็นความสนใจในเชิงการศึกษามากกว่าจะทำความเข้าใจในแง่ความรู้สึก เหมือนคนที่สนใจดวงดาว เขาว่าอย่างนั้น กระทั่งคนใกล้ตัวเริ่มแก่ตัวลง ความตายก็มีผลต่อจิตใจของเขามากขึ้น และเริ่มศึกษาการเตรียมตัวตายมากขึ้น

“เราเคยอ่านหนังสือเรื่องการเตรียมตัวตาย และหนังสือเกี่ยวกับความตายซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของอาจารย์ทางทิเบต มันก็ทำให้เรามีความสนใจเรื่องนี้ บังเอิญรายการ พื้นที่ชีวิต มาทำตอนเตรียมตัวตายพอดีก็เลยทำให้เรามีโอกาสได้ไปเข้าคอร์สของเครือข่ายพุทธิกา โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ มันทำให้เราได้ผ่านประสบการณ์ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน คือเรารู้สึกราวกับว่าจะตายไปจริงๆ แล้วในจังหวะที่พี่กระบวนกรให้สัญญาณว่าให้ลืมตาขึ้นมาอีกครั้ง มันก็มีความรู้สึกเหมือนเราถูกยมบาลให้โอกาสครั้งที่สอง คือคุณกลับมาได้ แล้วคุณจะใช้ชีวิตยังไง

“เรารู้สึกว่ามันเป็นความรู้สึกที่ดีมากเลย มันเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต คือหลังจากผ่านเหตุการณ์นั้นเราก็ยกหูโทรศัพท์ไปปรับความเข้าใจกับเพื่อนที่ไม่คุยกันมานาน วางแผนเดินทางไกลไปอเมริกาใต้ยาวๆ เรารู้สึกว่าอะไรที่ควรจะต้องทำ เราต้องทำเลย พอเห็นคุณค่าตรงนี้เราก็อยากเป็นหนึ่งในตัวแทนส่งเมสเสจออกไปสู่สังคม เพราะเรารู้สึกว่าพอคนได้ตระหนักถึงวันที่ชีวิตจะต้องสิ้นสุดลงเขาอาจจะใช้ชีวิตเปลี่ยนไป”

การซ้อมตายที่ว่าเกิดขึ้นหลังจากสปีกเกอร์ในงานพูดจบ

ฉันและคนอื่นๆ ที่มาร่วมงานอีกยี่สิบกว่าชีวิตถูกบอกให้ถอดรองเท้าออก และก้าวลงไปในโลงศพข้างๆ ที่นั่งของตัวเอง เอนหลังลง หลับตา และทำใจให้สบาย จากนั้นการซ้อมตายก็เริ่มต้น

“อีกไม่นาน โลกที่เราคุ้นเคยมาตลอดชีวิต
จะหายวับไปอย่างสิ้นเชิง ไม่เหลือแม้แต่น้อย
สิ่งสำคัญก็คือชีวิตของเราทั้งชีวิต
กำลังจะสูญสิ้นไปในอีกไม่กี่ชั่วโมง”

ส่วนหนึ่งของบทซ้อมตายบอกฉันด้วยเสียงนุ่มๆ พลันความกังวลทั้งหลายก็พรั่งพรู เมื่อคิดว่าก่อนตายฉันยังไม่ได้จัดการอะไรต่อมิอะไรมากมายเหลือเกิน

“เวลาเราบอกว่าทุกคนต้องตาย มันเหมือนเราบอกว่าขั้วโลกเหนือมันหนาวมาก แต่เราไม่รู้สึกหรอกว่าที่ว่าหนาวมันหนาวขนาดไหน หนาวยังไง และถ้าคุณอยู่ตรงนั้น คุณจะทำยังไง เพราะฉะนั้นการที่มีโอกาสได้ลงไปนอนในโลงศพและมีการนำภาวนา มีการพูดนำบทที่น้อมใจคน ให้ลองจินตนาการถึงสภาวะตัวเองที่ใกล้ตาย แน่นอน มันยังเป็นแค่จินตนาการ แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็ทำให้เราได้ลองสัมผัสประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราต้องเผชิญก็คือความตาย พอเราได้ผ่านประสบการณ์แบบนี้ เราจะรู้สึก…”

เอ๋เว้นช่วงไปพักหนึ่งก่อนพูดต่อ

“เราจะรู้สึกว่า โห ในภาวะที่เราจะใกล้ตายขนาดนั้นแล้วเราไม่ได้เตรียมตัวอะไรมันมีความกังวลเพียบเลยเนอะ ลูกเราจะอยู่ยังไง พี่น้องเราจะทะเลาะกันหรือเปล่า ศพเราจะถูกตั้งที่ไหน มันเต็มไปด้วยความกังวลที่จะผุดขึ้นมา และนั่นแหละครับจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ใครคนหนึ่งจะเริ่มต้นวางแผนในเชิงรูปธรรมว่าเราควรจะต้องวางแผนยังไงในการที่จะตายดีได้”

 

ความตายคล้ายบทเรียน

เพราะต้องการทำให้งานศพคล้ายคลึงกับงานศพจริงๆ วันสุดท้ายจึงเป็นวันเผาที่มีเพื่อนและครอบครัวมากันพร้อมหน้า และแม้การเผาจะเป็นเพียงการเผาโลงเปล่าๆ แต่ฉันว่า นัยหนึ่งมันก็คือการเผาชีวิตเก่าและเริ่มต้นชีวิตใหม่ ชีวิตที่เราจัดการความตายไว้พร้อมสรรพและพร้อมจะตายได้ทุกเมื่อ

และเอาเข้าจริง ถ้าคุณตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมตัวตายแล้ว คุณก็ไม่ต้องมางานนี้ก็ได้เช่นกัน

“การพูดเรื่องความตายมันไม่ง่ายนะสำหรับคนที่ไม่เคยคุยกัน โดยเฉพาะคนในครอบครัว งานนี้มันเป็นแค่เครื่องมือทำให้หาเรื่องคุยกัน สมุดเบาใจก็เป็นแค่เครื่องมือ จะโยนทิ้งถังขยะก็ได้ถ้าเราคุยกันรู้เรื่อง” เม้งอธิบายหลังจบงาน

“เราว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องมือสำเร็จรูปหรอก อย่างตั้งแต่ปล่อยทีเซอร์งานออกไป คนเขาก็แท็กเพื่อน กล้าคุยกันเรื่องนี้ การเอาความตายโยนเข้าไปในสังคม เป็นการเปิดบทสนทนาทั้งสิ้น การมางาน เขาอาจจะมาถ่ายรูปเซลฟี่ในงานกลับไป มันก็เป็นการเปิดบทสนทนาทั้งสิ้น และแน่นอนว่างานศพก็เป็นตัวอย่างว่าคุณเองก็ทำได้นะ”

 

ชั่วคราว ที่ สวย งาม

“สิ่งที่ได้เข้าใจมากขึ้นจากงานนี้มันไม่ใช่ความตาย แต่มันคือเราจะมีชีวิตอยู่ยังไงมากกว่า” เอ๋เสริมจากมุมมองของคนที่คล้ายเพิ่งฟื้นจากความตาย

“ความตายมันเป็นปริศนามาก ยิ่งกว่าน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนืออีก แต่ว่าการที่มันถูกตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า สารพัดรอบ สามวันติดกัน เราเห็นผู้คน เห็นคำพูดเพื่อน มันทำให้เราตระหนักทันทีเลยว่าเราต้องใช้ชีวิตอีกแบบ คือเรามีโอกาสตายตลอดเวลา ถ้าไม่ใช่เรา ก็เป็นคนอื่น เป็นใครก็ได้ มันทำให้เราตื่นขึ้นมาแล้วก็มองวันนี้เปลี่ยนไป วันนี้คือโอกาสที่เราจะได้คืนดี โอกาสที่เราจะได้ขอบคุณ บอกรัก ขอโทษ หรือแม้กระทั่งโอกาสที่เราจะได้เป็นความทรงจำที่ดีของคนอื่น

“เราเพิ่งไปคุยกับอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ แล้วชวนอาจารย์คุยว่าในอนาคต มนุษย์มีโอกาสที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและการแพทย์ไปจนถึงกระทั่งประคองตัวเองให้กลายเป็นอมตะได้ ถึงตอนนั้นชีวิตมันคืออะไร อาจารย์ท่านตอบว่าชีวิตมันจะเป็นชีวิตก็ต่อเมื่อเราต้องตาย และก็เพราะว่าความตายนี่แหละทำให้ชีวิตมีความหมายและมีคุณค่า

“อาจารย์บอกว่ามันเหมือนเราเตะบอล ถ้ามันไม่จบภายใน 90 นาที เราจะเตะไม่เป็นเลยนะ การที่เราพยายามทุ่มเททุกวิถีทาง ลงไปเล่นให้ดีที่สุดในสนามเพราะเรารู้ว่าเรามีเวลาแค่ 90 นาที ทุกก้าวย่าง ทุกการส่งบอลมันเลยต้องประณีตที่สุด มันก็เหมือนกันพอเรารู้ว่าชีวิตต้องจบลง ทุกวันมันเลยมีความหมาย เพราะฉะนั้นคุณค่าและความงามของชีวิตมันก็เกิดขึ้นเพราะว่ามันมีจุดสิ้นสุด และยิ่งเราตระหนักถึงจุดสิ้นสุดมากเท่าไหร่ วันนี้ก็ยิ่งสวยงามมากขึ้นเท่านั้น”

ภาพ ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ Peaceful Death

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!

Video Creator

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

เป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่, เป็นศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม แต่เป็นคนอุดรธานี, เป็นวิดีโอครีเอเตอร์ ประสบการณ์ 2 ปี, เป็นคนเบื้องหลังงานวิดีโอของ a day และเป็นคนปลุกปั้นสารคดี a doc, เป็นคนนอนไม่เคยพอ, เป็นหนึ่ง คือ เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง คือ ไม่เป็นอะไรเลย, ตอนนี้เป็นหนี้ กยศ. และรับจ้างทั่วไป [email protected]