ตรงหน้าเราตอนนี้คือ บาส–นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับภาพยนตร์และโฆษณามากฝีมือ
ส่วนด้านหลังเขาคือรางวัลสุพรรณหงส์ 3 รางวัลจากผลงานภาพยนตร์ 2 เรื่องแรกของเขาอย่าง เคาท์ดาวน์ (2012) และ ฉลาดเกมส์โกง (2017) ใครก็ตามที่ได้มาเห็นภาพบาสในขณะนี้ ต่อให้ไม่ได้คลุกคลีในแวดวงภาพยนตร์ไทยสักเท่าไหร่ก็คงพอจะคาดคะเนทั้งฝีมือและคุณภาพผลงานของเขาได้ไม่ยาก
ยังไม่นับกระแสชื่นชมถล่มทลาย รายได้ และรางวัลอีกมากมายที่ ฉลาดเกมส์โกง ไปกวาดมาจากเทศกาลภาพยนตร์นานาประเทศทั่วโลก
ไม่แปลกเลยที่ทุกคนจะจับตามองผลงานเรื่องต่อไปของบาสด้วยความคาดหวังสูงลิบ
ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2019 คอหนังทั่วโลกได้รับรู้ข่าวคราวเกี่ยวกับโปรเจกต์หนังเรื่องใหม่ของบาสเป็นครั้งแรก และนั่นก็ทำให้ทุกคนต่างตื่นเต้นกันถ้วนหน้า เมื่อได้รู้ว่าผู้กำกับระดับตำนานอย่างหว่อง การ์-ไว อาสารับหน้าที่โปรดิวเซอร์ให้กับ One for the Road (2021) ภาพยนตร์ลำดับที่สามของบาส
และที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้กันก็คือรายชื่อทีมเขียนบทคุณภาพอย่าง ไก่–ณฐพล บุญประกอบ, โรส–พวงสร้อย อักษรสว่าง, อู๊ด–นพรัตน์ วัฒนวราภรณ์ และณัฏฐ์ษา จิตรชัยธีร์กุล รวมถึงเหล่านักแสดงแนวหน้าทั้ง ต่อ–ธนภพ ลีรัตนขจร, ไอซ์ซึ–ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์, วี–วิโอเลต วอเทียร์, พลอย หอวัง, นุ่น–ศิรพันธ์ วัฒนจินดา และ ออกแบบ–ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง
ทุกชื่อที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้ใครๆ ต่างก็นับถอยหลังรอวันที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายในโรง
แต่เมื่อโควิด-19 มาเยือน โรงหนังทั่วโลกจึงต้องหยุดให้บริการ เช่นกันกับกองถ่าย One for the Road ที่ต้องหยุดพักกะทันหันแม้ว่าขณะนั้นจะถ่ายทำไปแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
ตัดภาพกลับมาที่ปลายปี 2020 ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เราได้รับทราบข่าวคราวของโปรเจกต์นี้อีกครั้ง นั่นคือการถูกรับเลือกให้ฉายที่เทศกาล Sundance Film Festival 2021 ในวันที่ 28 มกราคม 2021 ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดตัวภาพยนตร์ครั้งแรกแล้ว One for the Road ยังได้เข้าชิงรางวัลถึง 3 สาขาคือ Grand Jury Prize, Director Award และ Special Jury Award
“เราคิดว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปีนี้เหมือนพระเจ้าเป็นคนเขียนบทเลย เพราะมันมีการปูคอนฟลิกต์มาตั้งแต่ต้น แล้วไล่ซีเควนซ์มาจนถึงตอนนี้ที่กำลังเป็นไคลแมกซ์ หลังจากนี้พอเข้าปีหน้าก็คือองก์ที่สามของหนังแล้ว ยังไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะจบลงด้วยโน้ตแบบไหน แต่เราคิดว่ามันคือหนังที่ทำให้คนดูได้คิดกับตัวเอง”
สำหรับบาสแล้ว ปี 2020 ทำให้เขาได้คิดอะไรกับตัวเอง ไปฟังคำตอบของเขาได้ในบทสนทนาต่อไปนี้
ในปีที่การงานไม่เป็นไปตามแผน คุณรับมือกับสถานการณ์รอบตัวยังไง
ก็แค่ต้องปรับตัว แล้วก็ใช้เวลาในช่วงนี้ทำอย่างอื่นที่พอทำได้แหละ สำหรับงานของเรา ถ้าไม่มีโควิด-19 One for the Road คงออกมาเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่ง เพราะด้วยเวลาการถ่ายทำและการตัดต่อเท่าที่มีมันก็จะดำเนินไปเหมือนกับหนังเรื่องก่อนๆ
แต่เมื่อเรามีเวลาเยอะขึ้นและได้อยู่กับมันมากขึ้น ทั้งช่วงที่อยู่แล้วทำไปด้วย แล้วก็อยู่ไปแบบไม่ทำด้วย เวลาตรงนั้นทำให้เรารู้ว่าการปล่อยมือจากบางอย่างและมองมันจากที่ไกลๆ ก็ดีเหมือนกัน
ที่คุณบอกว่ามันคงออกมาเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่ง หมายความว่ายังไง
มันคือเรื่องการถอยออกมามอง ซึ่งในฐานะผู้กำกับเราก็ตอบไม่ได้นะว่ามันดีหรือไม่ดี มันไม่มีใครบอกได้เลย เราไม่รู้เลยว่าในจักรวาลคู่ขนาน หนังเรื่องนี้ในเวอร์ชั่นที่ทำเสร็จในเดือนมิถุนายนมันจะเป็นยังไง มันอาจจะดีกว่าเวอร์ชั่นปัจจุบันนี้ก็ได้ แต่สำหรับเราในตอนนี้ ขอใช้คำว่าน่าสนใจก็แล้วกัน
ย้อนกลับไปตอนแรกสุด หนังเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นได้ยังไง
หลังจากจบ ฉลาดเกมส์โกง ไปไม่นาน วันหนึ่งเราก็ได้รับการติดต่อมาว่า “พี่หว่องได้ดู ฉลาดเกมส์โกง แล้วชอบ อยากชวนไปร่วมงานกัน” ซึ่งใครจะปฏิเสธวะ เราก็ต้องไปสิ
ยังจำความรู้สึกตอนที่ได้รับการติดต่อมาได้ไหม
ขนลุก ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดเราน่าจะนั่งกินข้าวอยู่มั้ง มันเป็นวันธรรมดาวันหนึ่ง แล้วอยู่ๆ ก็มีไลน์เข้ามา ทำให้เราได้ไปเจอกับพี่หว่อง แต่วันที่ขนลุกยิ่งกว่าคือวันที่ได้เจอเขาตัวเป็นๆ ครั้งแรกที่ฮ่องกง ตอนนั้นทำให้รู้สึกว่า “เชี่ย มันเกิดขึ้นจริงว่ะ เขาไม่ได้หลอกกูว่ะ” มันเป็นความรู้สึกที่เซอร์เรียลมากๆ ว่ากูมาอยู่ตรงจุดนี้ได้ยังไงวะ และในขณะเดียวกันก็ overwhelm มากด้วย แต่หลังจากนั้นความรู้สึก overwhelm มันก็ค่อยๆ แปรสภาพกลายเป็นความกดดันในเวลาต่อมา
กดดันยังไง
เราว่าที่หนักที่สุดคือความรู้สึกกดดันตัวเองว่ามึงอย่า fuck up กับสิ่งนี้ กับโอกาสนี้ที่ได้รับมา
เทียบกับความรู้สึกตอนที่ทำหนังสองเรื่องก่อนหน้า ระดับความกดดันนั้นต่างกันไหม
ต่างกันเยอะมากเลย (นิ่งคิด) ตอนทำหนังเรื่องแรกมันรู้สึกเหมือนหมาที่ถูกปล่อยออกจากกรงเป็นครั้งแรก แล้วเจ้าของบอกมันว่าเอาเลย! วิ่งเลย! จะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องแคร์ใคร แต่พอเรื่องที่สองเราได้รู้ว่าอิสระแบบนั้นมันล้นไปว่ะ มันยังไม่ค่อยพอดี เราจึงพยายามมีสติขึ้นและไม่คาดหวังมากเกิน
ความคาดหวังอย่างเดียวของเราตอนทำ ฉลาดเกมส์โกง คือทำยังไงก็ได้ให้หนังไม่เจ๊งเหมือน เคาท์ดาวน์ ซึ่งตรงนี้มันต้องแยกเป็นสองส่วน อย่างแรกคือทำไงก็ได้ให้บทหนังในมือเรามันออกมาดีที่สุด อย่างที่สองคืออย่าไปตั้งเป้าว่าหนังเรื่องนี้จะทำเงินได้ทะลุร้อยล้านเพราะเรารู้ดีว่ามันคาดหวังไม่ได้ ดังนั้นคุณแค่ต้องรับผิดชอบเรื่องบทก่อน ที่เหลือก็แค่ปล่อยวางมันไป ความรู้สึกของเรามันเลยเบาลง เริ่มเป็นหมาแก่ที่แก่ขึ้นกว่าเดิม
แต่สำหรับเรื่องที่สามนี่กดดันมาก เราคิดว่าความโชคดีและความสำเร็จจาก ฉลาดเกมส์โกง มันเป็นดาบสองคม หนังเปิดประตูและมอบโอกาสให้เราเยอะมาก ขณะเดียวกันก็ทำให้คนมีความคาดหวังกับงานชิ้นต่อไป สำหรับ One for the Road เราก็เลยไม่ซีเรียสกับเรื่องความสำเร็จในเชิงรายได้ แต่สิ่งที่แคร์มากกว่าก็คือเราจะทำยังไงให้หนังเรื่องนี้มันอยู่ในมาตรฐานเดียวกันกับที่คนอื่นคาดหวัง ตรงนี้คือส่วนที่ยากมาก
คุณรับมือกับความกดดันทั้งหมดที่ผ่านมายังไงโดยไม่สติแตกไปเสียก่อน
ทำไม่ได้ เราสติแตกบ่อยมาก อยากให้สัมภาษณ์แฟนเรามากเลย เขาน่าจะเป็นคนเดียวที่ได้เห็นความพ่ายแพ้และอ่อนแอของเราอย่างรุนแรงในระหว่างการทำงาน ซึ่งมันต่างจากเวลาที่เราอยู่ต่อหน้าทีมงาน ทันทีที่เปิดประตูเข้าบ้านมา มันมีหลายโมเมนต์ที่รู้สึกว่าไม่ไหวแล้วว่ะ อยากถอนตัวว่ะ
ในแง่การรับมือเราคิดว่าตัวเองทำได้ไม่ดีเท่าไหร่เลยด้วยซ้ำ เรารับโปรเจกต์นี้มาตั้งแต่ต้นปี 2018 แล้วก็พัฒนาบทมาเรื่อยๆ ซึ่งหนทางแม่งไม่ราบรื่นเลย จุดที่ร้ายแรงที่สุดคือเราก็ทำงานกับพล็อตเรื่องหนึ่งมาเป็นเวลาเกือบปี แต่อยู่มาวันหนึ่งพี่หว่องก็คว่ำกระดานทั้งหมด ทำให้เราต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ เวลา 8-9 เดือนของเรามันหายไปกับการทำโปรเจกต์ที่ไม่เกิดขึ้นจริง
ตอนนั้นโกรธไหม
ถ้าบอกว่าไม่โกรธเลยก็อาจจะโรแมนติไซส์ไปหน่อย มันอาจจะมีความ upset อยู่ แต่พอมองย้อนกลับไปเราก็รู้สึกซึ้งใจนะ เพราะพี่หว่องเหมือนอาจารย์ฝ่ายปกครองที่มีทั้งความดุ ความเขี้ยว และที่สำคัญคือเขาฉลาดมาก นี่คือสิ่งที่เราไม่สามารถต่อสู้กับเขาได้เลย คือเขาสามารถมองลึกเข้ามาในตาเราที่เป็นผู้สร้างงาน และบอกเราว่า “มึงไม่ได้เชื่อในสิ่งนี้ มึงห้ามทำ”
ซึ่งที่ผ่านมาเราหลอกคนอื่นได้ตลอด ต่อให้เราไม่ได้เชื่อในไอเดีย แต่เราสามารถหลอกตัวเองได้ หรือหาวิธีคอนเนกต์กับเรื่องราวนั้น และทำให้มันออกมาเป็นคอนเทนต์ชิ้นหนึ่งที่อาจจะอาศัยความหวือหวาในการเล่าเรื่องหรือใดๆ ก็ตามแต่ ทำให้มันรอดต่อไปจนจบได้ แต่กับพี่หว่องเราทำแบบนั้นไม่ได้ว่ะ มันก็เลยนำไปสู่การลงแส้ของเขาว่า “ไม่ต้องทำ ถ้ายูไม่เชื่อ ไอก็ไม่เชื่อ” จบ
พล็อตที่สองที่เราทำอยู่ตอนนี้จึงกลายเป็นโจทย์ที่ส่วนตัวมากขึ้น เพราะพี่หว่องพยายามผลักดันให้เราเอาองค์ประกอบที่เป็นตัวเองออกมา ดังนั้นถ้าพูดถึงความกดดันในการทำโปรเจกต์สักชิ้น จากปกติที่แม่งก็มากอยู่แล้ว มันเทียบไม่ได้เลยกับการทำโปรเจกต์ที่เป็นเรื่องของตัวเอง ความกดดันมันทวีคูณไปมหาศาล
แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้เราได้เอาชนะตัวเองเพื่อที่จะกล้าโป๊และหยิบเอาชีวิตจริงของตัวเองออกมาเล่า จากที่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยกล้าใช้ประสบการณ์จริงมาเป็นวัตถุดิบหลักในการทำหนังมาก่อน
ทำไมคุณถึงไม่เคยทำภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องตัวเองมาก่อน
ก่อนหน้านี้เรารู้สึกมาตลอดว่าชีวิตเรามันไม่ได้น่าสนใจขนาดนั้น ในโลกนี้มีคนที่ชีวิตน่าสนใจกว่าเรา ลำบากกว่าเราอีกตั้งเยอะแยะ แต่พอเราโดนบังคับให้ต้องทำ มันกลายเป็นเหมือนการบำบัดตัวเราเองในวัย 40 ปีในแง่หนึ่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเราก็ไม่รู้หรอกนะว่าการทำหนังแบบนี้มันจะออกมาเวิร์กหรือเปล่า
จนถึงตอนนี้ที่หนังชีวิตของคุณใกล้ฉายเต็มที คิดว่าชีวิตตัวเองน่าสนใจมากขึ้นหรือยัง
โปรเจกต์นี้ทำให้เราเข้าใจประโยคของฝรั่งที่บอกว่า “เราต่างเป็นพระเอกนางเอกในหนังชีวิตของตัวเอง” ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ แต่พอมาทำ One for the Road กลายเป็นว่ามันมอบโอกาสให้เราทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือการวิเคราะห์และสำรวจตัวเองอย่างจริงจังในฐานะมนุษย์
เรื่องนี้มันให้ความรู้สึกเหมือนเปิดกล่องแพนดอร่าเหมือนกัน บางพล็อตในหนังที่เขียนบทเสร็จไปแล้ว แต่พอมันเกิดเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตจริงที่ทำให้เรามองความสัมพันธ์เปลี่ยนไป หรือมองตัวละครบางตัวเปลี่ยนไป เราก็ตัดสินใจเปลี่ยนบทเลย และมันก็เปลี่ยนมู้ดของหนังไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ซึ่งพี่หว่องก็ถามนะว่าจะเอาอย่างนี้จริงๆ เหรอ เพราะตอนแรกเขาก็ยังไม่เชื่อเรา แต่เราก็ต้องง้างเขาไปด้วยเหตุผลที่ว่า “ก็ยูบอกให้ไอเป็นตัวเองไง นี่ไง นี่คือตัวตนของไอ” เขาจึงตอบกลับมาว่า “Okay, fine.”
การทำหนังที่ตั้งอยู่บนอารมณ์ความรู้สึกมากขนาดนี้สร้างความเสี่ยงให้กับงานไหม
มันอาจจะเสี่ยงในแง่ที่ว่า สิ่งนี้มันอาจจะเวิร์กสำหรับเราคนเดียวก็ได้ สมมติเราถ่ายซีนหนึ่งออกมาแล้วร้องไห้ รู้สึกว่ามันดีจังเลยวะ แต่เราก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคนอื่นเขาจะรู้สึกเหมือนเราหรือเปล่า เพราะพอเรื่องนี้มันเป็นอะไรที่ส่วนตัวมากๆ เราก็เลยไม่ค่อยแน่ใจ
ช่วงกักตัวน่าจะทำให้คุณได้มีเวลาครุ่นคิดเกี่ยวกับงานมากขึ้น มันทำให้คุณมองหนังเรื่องนี้เปลี่ยนไปไหม
ก่อนหน้านี้มันเหมือนเราถือก้อนอะไรบางอย่างไว้ในมือแล้วมองมันแค่ใกล้ๆ มันจึงรู้สึกว่าลูกของเรามันช่างสวยงามไปซะทุกมุมเลย แต่พอได้ถอยออกมาดูถึงเห็นว่า เฮ้ย ก้อนกลมๆ ก้อนนี้มันมีเหลี่ยมอยู่จุดหนึ่งนี่หว่า เราตัดมันออกไปก็ได้
เหล่านี้มันคือสิ่งที่ทำให้ดราฟต์แรกของหนังยาว 3 ชั่วโมงครึ่ง นั่นคือการตัดทุกอย่างตามบทหนังเลยนะ พอตัดออกมายาวขนาดนั้นเราก็รู้ว่าฉิบหายแล้ว มันจะฉายยังไง ขณะเดียวกันทางฮ่องกงเขาก็ยื่นคำขาดมาว่าหนังต้องยาวสองชั่วโมงเท่านั้น แต่เราก็คิดมาตลอดว่าไม่มีทาง ไม่อย่างนั้นก็ต้องแยกเป็นสองภาคเหมือน Kill Bill (หัวเราะ) จนช่วงล็อกดาวน์ที่เราได้อยู่กับมันบ่อยๆ ในกระบวนการตัดต่อ ทำให้รู้ว่าบางจุดเราตัดออกไปก็ได้ หนังจึงค่อยๆ ได้รูปทรงมากขึ้น
ดราฟต์ล่าสุดยาวแค่ไหน
เป็นหนังมากขึ้นแล้ว (หัวเราะ) แต่ก็ยังเกินสองชั่วโมงที่เขากำหนดมาอยู่ เพราะมันก็มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ตัดไม่ได้จริงๆ
เมื่อมีหลายฉากที่ถูกตัดออก ทำให้คุณทำงานยากกว่าเดิมไหม
งานที่เพิ่มมาจริงๆ คือการดีลกับคน ดีลกับความรู้สึกของนักแสดง ว่าความทุ่มเท ความเหนื่อยยากของเขาที่ผ่านมามันอาจไม่ปรากฏใน final product นะ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกผิดมากที่สุด เพราะเราเอาความเหนื่อย ความตั้งใจของคนอื่นมาใช้อย่างไม่คุ้มค่า และจนถึงตอนนี้ก็ยังรู้สึกผิดอยู่
เคยมีคนบอกว่าอาชีพผู้กำกับเป็นตำแหน่งที่ต้องเอาแต่ใจมากๆ คุณเห็นด้วยไหม
ถ้ามองจากมุมเราและความเป็นเรา เราเห็นด้วย แต่ในเวลาเดียวกันเราก็เชื่อว่านี่ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุด เราเคยเห็นผู้กำกับหลายคนที่เขาสามารถบาลานซ์ความเอาแต่ใจของตนเองกับ input ของทีมงานหรือเคมีทุกอย่างในกอง และทำให้ทุกอย่างมันแฮปปี้ได้
คุณนิยามตัวเองว่าเป็น workaholic ไหม
ใช่ เราคิดว่าเวลา 90 เปอร์เซ็นต์ของชีวิตเราคืองาน
ไม่เสียดายเวลาเหรอ
ไม่เสียดาย ด้วยความที่เรายังไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูกด้วยมั้ง เราเลือกที่จะไม่มีสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้เวลากับสิ่งที่เราอยากทำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าถามเราตอนนี้สิ่งที่อยากทำก็คืองานนั่นแหละ ดังนั้นมันก็ตรงตามโจทย์ในการใช้ชีวิตของเรานะ ก็เลยไม่เสียดาย
การทำหนังคือส่วนสำคัญในชีวิตคุณทุกวันนี้
ย้อนกลับไปสิบปีก่อนหน้านี้คำตอบของเราคือ ใช่ มันคือการทำหนัง แต่ถ้าถาม ณ ตอนนี้ เราว่ามันคือการทำงานว่ะ เพราะตอนนี้มันไม่ใช่แค่การทำหนัง แต่เรายังต้องบาลานซ์สิ่งอื่นในชีวิตกับคนรอบข้างที่เขาสำคัญกับเรา เราคิดว่าสิ่งพวกนี้สำคัญกว่า
เราคิดว่านี่คือสิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้ ย้อนกลับไป 2-3 ปีที่แล้วเราคิดว่าตัวเองค่อนข้างมองโลกแบบ naive พอสมควรเลย ตอนนั้นเราอยากชวนผู้คนรอบตัวมาทำอะไรบางอย่างร่วมกัน เดินไปด้วยกัน บนจุดประสงค์เดียวกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็ได้รู้ว่าคนบางคนเป็นได้แค่เพื่อน เป็นเพื่อนที่อาจจะคุยกันเรื่องความฝัน ไปเที่ยวด้วยกัน เฮฮาด้วยกัน แต่เขาไม่ใช่พาร์ตเนอร์
คำว่าเพื่อนกับพาร์ตเนอร์มันต่างกันนะ ส่วนสำคัญที่จะพิสูจน์ความสัมพันธ์นั้นมันคือเรื่องอุปสรรค ซึ่งเอาจริงแล้วเราคิดว่าบางทีอุปสรรคเหล่านั้นอาจมาจากตัวเราเอง เพราะพอเป็นเรื่องงาน ถ้าเราเชื่ออะไร อยากได้สิ่งไหน หรือมีวิชวลที่ชัดเจนแล้ว เราคิดว่ามันก็ควรจะเป็นแบบนั้น
ยิ่งเราเป็น workaholic มากๆ เราก็ยิ่งคาดหวังว่าทุกคนจะให้เวลากับสิ่งนี้ จะทำสิ่งนี้ไปแบบ no questions asked เหมือนกัน แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามันก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าบางคนเขาอาจจะไม่สามารถให้เวลากับสิ่งนี้ได้เหมือนกับเรา สุดท้ายจึงเหลือแค่ไม่กี่คนที่เราเรียกได้ว่าเขาคือพาร์ตเนอร์
นี่คือสาเหตุที่คุณบอกว่าคุณคือผู้กำกับที่เอาแต่ใจถูกไหม
ใช่ (นิ่งคิด) เราคิดว่าคนทำงานกับเราเหนื่อย ดังนั้นเวลาที่มีคนมาชมหนังให้ฟังเราจะทำตัวไม่ค่อยถูก เพราะลึกๆ แล้วเรารู้ว่าตัวเองไม่ได้เก่ง เราแค่ใช้เวลาในการทำสิ่งต่างๆ เยอะกว่าชาวบ้าน
สิ่งนี้จะไม่เป็นปัญหาถ้าคุณเป็นศิลปิน คุณก็แค่นั่งวาดภาพของคุณต่อไปจนกว่าจะพอใจ แต่นี่คือการทำหนัง ซึ่งแปลว่าความไม่เก่งของเรามันต้องเดือดร้อนทีมงานอีกห้าสิบชีวิต ร้อยชีวิต ที่เขาจะต้องโดนลากไปบนเส้นทางแห่งความไม่แน่ใจของเรา ดังนั้นเราจึงต้องคิดเสมอว่า ถ้าจะต้องทรมานคนทำงานด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ เราจะทำไปให้ทุกคนมั่นใจว่าผลลัพธ์ที่ได้กลับมามันจะต้องดีที่สุดเท่าที่เราจะเค้นออกมาได้
ปี 2020 ของคุณอาจดูน่าสนุกในสายตาคนนอก เอาเข้าจริงแล้วมันเป็นยังไง
เราคิดว่าตัวเองเหมือนนักฟุตบอลธรรมดาที่อยู่ๆ ก็โดนส่งไปแข่งบอลโลก คนที่มองมาจากอัฒจันทร์อาจคิดว่านี่คือโอกาสที่ยิ่งใหญ่มากเลยนะ แต่ในมุมของคนที่วิ่งอยู่กลางสนาม พื้นที่ตรงนั้นมันเป็นเหมือนสเปซว่างๆ โล่งๆ ไม่ได้รู้สึกยิ่งใหญ่อะไร เราก็แค่ต้องเลี้ยงบอลไปถึงโกลให้ได้ท่ามกลางสายตาที่จับจ้องมาเท่านั้นเอง
ตอนนี้ใกล้ถึงโกลหรือยัง
ใกล้แล้ว ถ้าเทียบว่าการไปถึงโกลคือทำหนังเสร็จนะ ก็คือเรากำลังจะยิงประตูแล้ว แต่ยิงออกไปแล้วจะเข้าหรือไม่เข้าประตูอันนี้ก็ตอบไม่ได้จริงๆ เราทำได้แค่เล็งให้แม่นที่สุดเท่านั้นเอง สุดท้ายถ้าไม่เข้าก็ไม่เป็นไร เพราะกระแสตอบรับมันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะทำหนังดีแค่ไหนก็ตาม
ท้ายที่สุดแล้ว 2020 สอนให้คุณรู้ว่า
เอาเข้าจริงตัวเราแม่งเล็กจ้อยเหมือนกันนะ สิ่งที่เราเคยเชื่อว่ายิ่งใหญ่ สุดท้ายมันก็เล็กนิดเดียว ก่อนหน้านี้เราเคยคิดว่าทุกอย่างที่ทำมันยิ่งใหญ่มาก เป็นความรับผิดชอบชนิดคอขาดบาดตาย แต่ปีนี้พอเราเจออุปสรรค เจอหลุมบ่อต่างๆ นานามากมาย แล้วเราได้มองไปรอบๆ จึงได้เห็นว่า หลุมบ่อของบางคนแม่งลึกกว่า หนักกว่ากูอีกว่ะ
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะให้ค่ากับสิ่งรอบตัวน้อยลงนะ เพียงแต่มันสอนให้เรารู้ว่าทุกคนต่างมีจักรวาลของตัวเอง เราแค่ต้องพยายามรับผิดชอบจักรวาลนั้นให้ดีที่สุด ซึ่งสิ่งนี้ก็ทำให้เราผ่อนคลายกับสิ่งที่ทำมากขึ้นด้วย