C’est Ma Vie

Highlights

  • Brassac คือซิงเกิลใหม่ของนักร้องสาว วี–วิโอเลต วอเทียร์ และยังเป็นซิงเกิลนำโปรโมตอัลบั้มเต็มครั้งแรกของเธอที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
  • วีเล่าให้เราฟังว่าเพลงและอัลบั้มที่จะมาถึงนี้ เธอตื่นเต้นอยู่เหมือนกันกับฟีดแบ็กที่จะเกิดขึ้น แต่เหนืออื่นใดเธอคิดว่าตัวเองชอบงานเหล่านี้แล้ว เพราะนี่คือเกณฑ์ขั้นต้นเวลาวีผลิตงานอะไรออกมาก็ตามแต่
  • กว่าจะมีความคิดความอ่านกับงานแบบนี้ วีต้องผ่านการเติบโตและการเรียนรู้มาตลอด 6 ปีในวงการ จนสุดท้ายเธอเชื่อว่าการทำงานที่ตัวเองชอบนั้นเป็นเรื่องสำคัญเพราะทำให้เรายืดอกภูมิใจกับมันได้อย่างเต็มที่

อาจเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้ แต่แสงแดดยามบ่ายในวันที่ผมพบกับ วี วิโอเลต วอเทียร์ ทำให้นึกถึงบรรยากาศใน Brassac เพลงใหม่ของเธอที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อไม่กี่วันก่อนพอดี 

และเพลงนี้เองคือเหตุผลที่พาเรามาเจอกัน

ในแง่ดนตรี จากคำบอกเล่าของวี Brassac คือเพลงที่มีฉากหลังเป็นเมืองทางตอนใต้ของฝรั่งเศสในช่วงเวลาซัมเมอร์ เธอเขียนเพลงนี้ขึ้นจากประสบการณ์ของตัวเอง ผสมกับความรู้สึก สำนวนภาษา และแนวทางดนตรีที่อยากนำเสนอ

แต่ในแง่ของวาระ Brassac เป็นเพลงนำในการโปรโมตอัลบั้มเต็มอัลบั้มแรกของวีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ดังนั้นก่อนวันที่เจอกันวีได้เล่าถึงความรู้สึกของตัวเองผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่าเธอตื่นเต้นมาก นี่เป็นอีกหนึ่งก้าวในชีวิตที่เธอรอมานาน และเธอกำลังลุ้นฟีดแบ็กของแต่ละเพลงอย่างใจจดใจจ่อ 

“สุดท้ายเราอยากให้คนชอบแหละ แต่อย่างน้อยที่สุดในตอนนี้เราชอบแล้ว” หลังจากทักทายกันและถามเกริ่นถึงการงานที่กำลังเกิดขึ้น นี่คือคำที่วีบอกผม 

และผมไม่แปลกใจเท่าใดนัก

เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่วีแจ้งเกิดและเป็นที่รู้จักจากรายการ The Voice Thailand หลังจากวันนั้นแม้มีผลงานในวงการบันเทิงรูปแบบอื่นอยู่บ้าง แต่สุดท้ายดนตรีคือสิ่งที่วียึดมั่นมาโดยตลอด เธอค่อยๆ สร้างตัวตนจนกลายเป็นนักร้องที่มีลายเซ็นเด่นชัด การทำเพลงภาษาอังกฤษและการเขียนเนื้อร้องจากตัวตนล้วนเป็นความตั้งใจที่อยากสื่อสารความเป็นตัวเองออกไปอย่างซื่อสัตย์ ประกอบกับประสบการณ์ที่มีแต่มากขึ้น การถ่ายทอดความเป็นวีจึงยิ่งหลักแหลมขึ้นไปตามกาลเวลา

และเรื่องงานทั้งหมดนี้เองคือสิ่งที่ผมตั้งใจชวนเธอคุย

กับ 6 ปีที่ผ่านพ้น ซิงเกิลใหม่อย่าง Brassac และอัลบั้มที่กำลังมาถึง ในแง่งานและตัวตนอะไรที่ยังมั่นคงอยู่ในตัววีบ้าง อะไรที่เปลี่ยนแปลงไป และอะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ วี วิโอเลต เลือกทำแบบที่ทำอยู่ทุกวันนี้

ผมหอบความสงสัยนี้ไปถามวีในสตูดิโอวันนั้น

วันที่แสงแดดจ้าส่องลอดซี่หน้าต่างมากระทบคู่สนทนาที่อยู่ตรงหน้า

และเมื่อเธอพูด ความชัดเจนก็ปรากฏ

วี วิโอเลต

เข้าสู่ช่วงปล่อยเพลงใหม่ที่ต้องโปรโมตและเจอสื่อเยอะๆ อีกครั้ง กับครั้งนี้คุณเป็นไงบ้าง

วันนี้ก็ตั้งแต่ 10 โมง – 5 โมงเย็นเลยค่ะ แต่เราชินแล้ว มันก็เป็นช่วงๆ ไปเนอะ 

 

พักก่อนสักแป๊บแล้วค่อยเริ่มสัมภาษณ์ก็ได้นะ

ไม่เป็นไรค่ะ ลุยเลยๆ (ยิ้ม)

 

เริ่มต้นด้วย Brassac กันก่อน มีอะไรที่พิเศษจากการทำงานเพลงนี้ไหม

การทำเพลงที่ผ่านมาจะมีความซีเรียสนิดหนึ่งอยู่ในดนตรี มันจะมีความดาร์ก ความหนัก และความแน่นอะไรบางอย่าง ดังนั้นพอถึงจุดหนึ่งเราคิดว่าตัวเองขาดเพลงที่ได้หายใจบ้าง ถ้าทั้งโชว์ซีเรียสและดาร์กไปหมด คนฟังอาจจะรู้สึกว่าแน่นเกินไป เราต้องสร้างเพลงผ่อนๆ ขึ้นมา  

นี่เป็นเหมือนชาเลนจ์ตั้งต้นสำหรับเราในการทำเพลงนี้ เพราะที่ผ่านมาเราเขียนเพลงที่มีจังหวะไม่ค่อยเป็น เขียนแต่เพลงช้ามาตลอด ตอนแรก Brassac ก็ออกมาเป็นเพลงช้าด้วยซ้ำนะ แต่พอลองปรับ ลองใส่จังหวะเข้าไป มันก็ออกมาได้และสนุกด้วย ดังนั้นสิ่งที่เพลงนี้ให้เรามากที่สุดคงเป็นประสบการณ์ที่เราได้ถ่างเรนจ์ของตัวเองออก ต่อไปนี้นี่ถือเป็นแนวเราแล้ว เหมือนเราเจอวิธีสื่อสารในบริเวณนี้ที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นตัวเองได้

 

เหมือนมีแนวทางให้เดินมากขึ้น

ใช่ๆ อย่างเมื่อก่อนเราเป็นคนแอนตี้การใช้สองภาษาในเพลง ทำไมไม่ใช้ภาษาเดียวไปเลย เราคิดแบบนี้จนกระทั่งไปเจอศิลปินคนหนึ่งชื่อ Christine and the Queens เขาเป็นคนฝรั่งเศสและร้องผสมภาษาฝรั่งเศส-อังกฤษ เรารู้สึกว่าเพลงของเขาเพราะ เราถึงได้มามองตัวเองว่าที่ผ่านมาเราจะแอนตี้สิ่งนี้ไปทำไม ที่สำคัญคือเราเป็นคนพูดหลายภาษาด้วยซ้ำ เราควรใช้มันเป็นจุดเด่นสิ ดังนั้นพอเพลงนี้พูดถึงเรื่องในประเทศฝรั่งเศส ทำไมเราไม่ใส่ภาษาฝรั่งเศสลงไปล่ะ ก็เลยออกมาเป็นแบบที่ได้ยินกันค่ะ 

วี วิโอเลต

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนปล่อยเพลง คุณบอกในเฟซบุ๊กไลฟ์ว่าตื่นเต้นมากๆ กับการปล่อยเพลงครั้งนี้ มันเป็นความตื่นเต้นแบบไหน ต่างยังไงกับเพลงก่อนหน้า

(นิ่งคิด) มันเป็นความรู้สึกว่าไม่รู้คนจะคิดกับเพลงเรายังไง ถามว่าคาดหวังไหม เราไม่ได้ใช้คำว่าคาดหวัง มันเป็นความรู้สึกประมาณว่า ‘หวังว่าจะชอบนะ’ มากกว่า แต่การที่เพลงนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของอัลบั้มมันทำให้เราตื่นเต้นกว่าเดิม เพราะเราไม่เคยรู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นยังไง ที่ผ่านมาพอปล่อยเพลงแยกเป็นซิงเกิลเรารู้แหละว่าแต่ละชิ้นน่ะดี แต่สำหรับอัลบั้มมันมีเรื่องว่าพอบางชิ้นมาผสมกัน บางทีมันอาจไม่ได้อร่อยขนาดนั้นก็ได้ ดังนั้นเราถึงตื่นเต้นมาก อยากให้คนได้ฟังมากๆ Oh, my god. (หัวเราะ)

 

อย่างตอนที่ปล่อย Brassac (เวลา 00:01 น. ของวันที่ 6 มีนาคม) ตอนนั้นคุณเป็นยังไงบ้าง

เฝ้าหน้าจอ คืนนั้นนอนไม่หลับด้วย ตื่นมาตอนเช้าก็หยิบมาเปิดดู มันมีหลายอารมณ์มากนะ กลัวก็กลัว ตื่นเต้นก็ตื่นเต้น โล่งก็โล่ง บอกไม่ถูกว่าเป็นความรู้สึกอะไรกันแน่

 

อ่านคอมเมนต์ไหม

อ่านค่ะ อย่างช่วงแรกๆ นี่อ่านตลอด รีเฟรชตลอด แต่ก็เทคบ้าง ไม่เทคบ้าง

คำพูดของคนอื่นส่งผลต่อคุณขนาดไหน มีผลต่อการทำงานเลยหรือเปล่า

ถึงจะลุ้นและอ่าน แต่เอาจริงก็ไม่เท่าไหร่นะ ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เราจะฟัง แต่ถ้าเป็นเรื่องโครงสร้างเพลงเราจะไม่ฟัง เพราะก่อนหน้าที่จะปล่อยเพลงออกมาเราต้องรู้สึกว่ามันดีแล้ว สุดท้ายถ้าคนไม่ชอบเราจะทำใจไว้ว่า It is what it is. มากกว่า สิ่งนี้เป็นเหมือนเกณฑ์แรกในงานของเราเสมอ คือต้องชอบงานของตัวเองก่อน ดังนั้นสำหรับเราถ้าว่ากันตามตรงไม่มีใครเปลี่ยนความคิดเราได้ คนที่เปลี่ยนได้น่าจะมีแค่พี่โหน่ง (วิชญ วัฒนศัพท์ โปรดิวเซอร์) เพราะเขาเป็นคนที่เราเชื่อ

 

เป็นแบบนี้มาตั้งแต่แรก

เราว่าตั้งแต่แรกเลย แต่มันก็ผ่านการเรียนรู้มาในเวลาเดียวกันนะ เหมือนเราเป็นคนที่ดื้อด้านและมั่นใจอะไรบางอย่างในตัวเองสูง ดังนั้นที่ผ่านมาเราจึงได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง เรียนรู้จากอะไรต่างๆ นานา พัฒนามาเรื่อยๆ เรียนรู้มาเรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็เป็นแบบนี้แหละ 

 

เป็นวี

อื้ม แต่ก็เป็นวีที่โตขึ้น 

วี วิโอเลต

ยังไงบ้าง

อย่างเรื่องในเพลงก็เป็นไปตามวัย ดนตรีก็เปลี่ยนแปลงไป จากเมื่อก่อนที่อะคูสติกน้อยๆ และโฟล์กมากๆ ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นป๊อป-อิเล็กทรอนิก เพราะเราได้เรียนรู้หลายๆ เรื่อง ได้ทดลองหลายๆ แบบ และอีกอย่างที่เราคิดกับตัวเองเสมอคือเราต้องไม่ย่ำอยู่กับที่

เราชอบลองอะไรใหม่ๆ ถ้าอันไหนไม่เวิร์กก็แค่ไม่ทำต่อ ถ้าอันไหนเวิร์กแล้วชอบเราก็ทำต่อ และต่อให้เราเจอทางของเราแล้วมันก็ไม่ได้แปลว่าเราจะทำซ้ำ ถ้าอยากทำซ้ำเราฟังเพลงเดิมดีกว่า มันไม่ควรเป็นดนตรีเดิมแต่เปลี่ยนเนื้อร้องไปเรื่อยๆ ดังนั้นเราเลยทดลองสิ่งใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าทั้งหมดที่พูดนี้ยังอยู่ในกลุ่มก้อนของคอนเซปต์ความเป็นเรา แต่เราจะไม่ทำออกมาแล้วเหมือนฟังเพลงเดียวกันทั้งอัลบั้ม ทางแบบนี้อาจจะยากกว่าการอยู่ในเซฟโซน แต่มันเป็นรสนิยมส่วนตัวและเราอยากไปทางนั้น

ตอนที่เป็นศิลปินอิสระแรกๆ (เพลง Drive) คุณเคยบอกว่าการตัดสินใจอะไรหลายอย่างด้วยตัวเองเป็นเรื่องยากมาก ตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

เรารู้สึกว่าตัดสินใจได้ชาญฉลาดมากขึ้นนะ บางเรื่องพอต้องตัดสินใจจนชินแล้ว พอเจออีกเราจะรู้สึกว่า ได้ เข้ามาได้เลย ต่างกับเมื่อก่อนที่ต้องคิดนาน ตอนนี้ง่ายขึ้นเยอะ 

 

มีหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจแต่ละอย่างไหม

เหมือนการทำเพลงนั่นแหละ คือเลือกตัดสินใจจากสิ่งที่เราชอบ เราต้องแฮปปี้และสบายใจกับทุกสิ่งที่เราทำ ถึงมีข้อเสียเกิดขึ้นเราจะรู้สึกว่ามันนิดเดียว เรารับได้ มีวิธีจัดการและหลีกเลี่ยงข้อเสียนั้นอยู่ เอาจริงเหมือนเราเพิ่งเจอจุดตรงกลางแบบนี้ในการทำงานเมื่อไม่นานนี้เอง ก่อนหน้านี้ก็พยายามเรียนรู้เรื่องนี้มาตลอด

 

จุดเปลี่ยนคืออะไร

ไม่ได้เปลี่ยนขนาดนั้น แต่มันเป็นความรู้สึกเหมือนเจอจังหวะที่โอเคกับตัวเอง เป็นจังหวะที่ทำให้รู้สึกว่าทำงานนี้ได้อีกเรื่อยๆ เพราะงานเองก็ยังมีเรื่องให้เรียนรู้ใหม่เสมอ มันยังมีชาเลนจ์ให้เราได้ลอง ซึ่งไม่ใช่ยอดวิวหรืออะไรเลย ถ้าเรื่องเพลงชาเลนจ์ของเราคือการแข่งกับตัวเองเท่านั้น เราแฮปปี้ที่จะทำแบบนี้

 

เริ่ม ‘อยู่มือ’ 

ยังๆ เราว่าเราหลุดมาแล้วนะ การอยู่มือของเราคือก่อนหน้านี้

วี วิโอเลต

ตอนไหน

เราอาจจะแปลกกว่าคนอื่นนะ คนอื่นเขาต้องปล่อยอัลบั้มแรกก่อน หลังจากนั้นทำไปเรื่อยๆ ถึงเริ่มอยู่มือ แต่เราดันเข้ามาอยู่ในวงการและดังก่อนมีอัลบั้มแรก เลยกลายเป็นว่าความคาดหวังที่มีต่อเรามันสูงขึ้น กลายเป็นความกดดันบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าเราคิดมากไปในบางที เรากดดันตัวเองเกินไป ดังนั้นก่อนหน้านี้ต้องคอยวางมือและบอกกับตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่าเธอทำสิ่งนี้เพราะอะไร เธอทำเพราะเธอชอบ แค่นั้นเลย หยุดคิดเรื่องอื่น เราต้องพยายามตัดอะไรแบบนี้อยู่เรื่อยๆ จนเจอจุดที่เริ่มโอเค

อย่างอัลบั้มนี้เราบอกตัวเองว่าพอแล้ว เท่านี้แหละ เรากลั้นหายใจมากกว่านี้ไม่ได้ ต้องปล่อยออกมาแล้ว ถ้ามัวแต่รอเพอร์เฟกต์คงไม่ได้ปล่อยสักที เราต้องไปต่อ ถึงสุดท้ายล้มจริงๆ แต่อย่างน้อยเราชอบมันแล้ว เรายังลุกขึ้นมาใหม่ได้เรื่อยๆ ตราบใดที่เรายังไม่ตาย นี่คือสิ่งที่เราเริ่มคิดได้ในปัจจุบัน

 

มันสำคัญยังไงกับการที่สุดท้ายต้องทำสิ่งที่ตัวเองชอบก่อน

มันทำให้เราภูมิใจกับสิ่งที่ทำและพูดได้เต็มปาก ยกตัวอย่างเช่นการขึ้นไปร้องเพลงที่คนอื่นแต่งให้กับร้องเพลงที่เราแต่งเอง มันคนละความรู้สึกกันเลยนะ สำหรับเรามันออกมาให้เห็นผ่านทุกอย่าง แววตา เอเนอร์จี้ ความรู้สึก ทุกอย่างจะชัดเจนมากว่าเราภูมิใจกับเพลงของตัวเองขนาดไหน ดังนั้นสิ่งนี้จึงสำคัญสำหรับเรา

วี วิโอเลต

แล้วทำไมงานเพลงถึงตอบโจทย์คุณได้ตลอดจนถึงตอนนี้

เราเคยถามตัวเองว่าทำไมทำมาได้ขนาดนี้ โอเค งานเพลงคือสิ่งที่เราชอบมากๆ เป็นสิ่งที่เราภูมิใจและมีความสุขที่ได้ทำ เวลาขึ้นคอนเสิร์ตแล้วคนมาเพื่อดูเราและร้องเพลงไปกับเรามันดีมาก เวลาคนตะโกนคำของเราได้มันก็ดีมาก (นิ่งคิด) แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องดีอีกอย่างที่หลายคนไม่รู้คือตอนเขียนเพลง มันดีกับเราเช่นกัน

ปกติเวลาเขียนเพลงเราจะเขียนได้ตอนที่ชีวิตโดยรวมดี แม้จะเสียใจแต่เรายังมองเห็นสิ่งดีได้ ต่างกับตอนที่เราใช้ชีวิตโดยที่ไม่เห็นความสวยงาม ตอนนั้นเราไม่สามารถเขียนอะไรได้เลย ดังนั้นพอการทำเพลงบังคับให้เราต้องเขียน มันก็บังคับให้เราต้องมองเห็นความสวยงามในชีวิตประจำวัน สิ่งนี้โคตรดีสำหรับเรา อาจมีช่วงที่ทำไม่ได้อยู่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยมันทำให้เราพยายามและทำเป็น

อย่างตอนนี้เราชอบมากเลยที่แดดสาดเข้ามาโดนหน้าต่างที่เป็นระแนง เราว่าถ่ายรูปตรงนี้น่าจะสวยนะ (หัวเราะ) มันเป็นการทำให้ชีวิตโรแมนติกขึ้นและทำให้เรามีความสุขมากขึ้น

 

ดูส่งผลกับเรื่องอื่นในชีวิตด้วย

ใช่ เราว่าชีวิตตัวเองเรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงานเพลงมากๆ เลยนะ เวลาทำงานเพลงสิ่งที่ได้เรียนรู้มักย้อนกลับมาที่ชีวิตส่วนตัว ไลฟ์สไตล์ และสภาพจิตใจเราทั้งหมด 

ถ้าดูจากที่ผ่านมาทั้งหมด คุณคิดว่าตัวเองเดินมาเส้นทางสายนี้ได้โอเคไหม

โอเคนะ เราผ่านทั้งจุดบ้าบอ จุดที่นิสัยไม่ดี จุดที่นิสัยดีเกินไป ผ่านมาหลายจุดมาก ค่อยๆ โตไป เรียนรู้ตัวเองไป เรียนรู้งานไป โตไปตามทางของตัวเอง โตขึ้นตามสิ่งที่เจอ คงเหมือนกับทุกๆ อาชีพที่ก็ต้องโตไปและเรียนรู้ตัวเองไป เราไม่ได้มองว่าตัวเองก้าวนำใคร ถึงอยู่ในวงการและมีแสงไฟส่องเราก็มองตัวเองเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เท่ากับทุกๆ ตำแหน่ง

 

สุดท้าย เท่าที่ฟังมาแสดงว่าคุณยังเห็นตัวเองอยู่ในวงการ…

อย่างแฮปปี้ (ตอบทันที) และถ้าถามเราในอีก 5 ปีข้างหน้า ไม่ว่าตอนนั้นเราทำอะไร เราคิดว่าตัวเองก็ยังตอบแบบเดิม เราคงกำลังทำสิ่งที่แฮปปี้ไปเรื่อยๆ แต่สำหรับตอนนี้ให้ไปอยู่ที่ไหนคงไม่ไป เพราะเราแฮปปี้กับที่นี่ คงไม่หนีไปจากตรงนี้

เพราะเรารู้สึกว่านี่แหละบ้าน นี่แหละสิ่งที่เราชอบ (ยิ้ม)

วี วิโอเลต


ขอบคุณสถานที่ SIRI HOUSE ซอยสมคิด

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว