ฉลาดเกมส์โกง : เหตุผลที่ศีลธรรมเราล่มสลาย

Director: นัฐวุฒิ พูนพิริยะ
Region: ไทย
Genre: Thriller

คำอุทานหยาบคายที่ผุดขึ้นมากมายในหัว ความเครียด กดดัน และลุ้นระทึก ระดับต้องนั่งชิดหลังติดที่นั่ง คือปฏิริยาที่เรามีตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงกว่าขณะชมภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง ผลงานล่าสุดของค่ายหนังไทย GDH ที่ทำให้การวางแผนโกงข้อสอบกันอย่างเอาเป็นเอาตายของเด็กมัธยมกลุ่มหนึ่งกลายเป็นเรื่องราวสุดตื่นเต้นที่ทำเราหายใจไม่ถนัด และต้องยอมปรบมือดังๆ ให้ผลงานคุณภาพที่ดีทั้งงานบท การแสดง การกำกับ และงานโปรดักชัน ที่น่าจับตามองมากในวงการหนังไทย

นอกจากเรื่องย่อที่หลายคนรู้อยู่แล้วว่าหนังเล่าถึงการวางแผนโกงข้อสอบ STIC ที่จัดสอบพร้อมกันทั่วโลก โดยอาศัยความต่างของเวลาเป็นช่องโหว่สำคัญ แต่รายละเอียดของสถานการณ์ที่ตัวละครต้องค่อยๆ เผชิญนั้น เราขอยังไม่เล่าถึงเพราะอยากให้ทุกคนไปดูได้อย่างเต็มอรรถรส บทความนี้เลยขอเน้นอารมณ์ร่วมที่เรามีต่อหนัง และประเด็นสำคัญที่หนังอยากสื่อสารกับคนดูมากกว่า

เรายกความดีความชอบเรื่องความสนุกของการดู ฉลาดเกมส์โกง ให้กับงานโปรดักชันทั้งภาพ มุมกล้องแปลกตาสร้างความหมาย และการถ่ายช็อตแสนละเอียดระดับวินาทีต่อวินาทีที่เมื่อบวกกับการตัดต่อที่รวดเร็วฉุบฉับเหมือนเข็มวินาทีที่กระดิกในห้องสอบ ทุกซีนยิ่งเพิ่มดีกรีความลุ้นและปลุกปั่นอารมณ์คนดูให้ไม่อยู่นิ่งได้ตลอดทั้งเรื่อง เราชอบที่หนังพาคนดูเข้าเรื่องอย่างรวดเร็วพร้อมกับใส่วิธีการแนะนำตัวละครหลักทั้ง 4 คนได้อย่างมีเสน่ห์เหลือร้าย และทำให้เราเห็นมิติของตัวละครแต่ละคนได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่ต้องซูฮกให้อีกอย่างคือความฉลาดล้ำของการโกงข้อสอบที่ ลิน (รับบทโดย ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) ใช้ ซึ่งเริ่มต้นจากระดับเบสิกมากๆ ไปจนถึงอึ้งว่าคิดแบบนี้กันได้เลยเหรอเนี่ย? สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการทำการบ้านอย่างหนักของทีมเขียนบทและผู้กำกับที่ร่วมกันหาวิธีทำให้แทคติกต่างๆ ปรากฏเป็นงานภาพที่สนุกเอาตาย ซึ่งทั้งหมดอาศัยความร่วมมืออย่างเป็นแผนการระดับชาติของลิน เกรซ พัฒน์ และแบงค์ ที่ถูกออกแบบมาให้มีเงื่อนไขชีวิตแตกต่างกันไป และเราบอกได้เต็มปากเต็มคำว่าทุกคนนั้นล้วนฉลาด!

ฉลาดเกมส์โกง ชี้ให้เห็นว่าเมื่อคนฉลาดมากๆ ใช้ความเก่งของตัวเองเพื่อรับใช้ความคิดผิดๆ บางอย่าง ผลลัพธ์ที่ออกมาจะกระทบต่อตัวเองและคนอื่นในระดับที่เขาคาดไม่ถึงอย่างไร จุดสำคัญอยู่ที่หนังปูปมปัญหา สร้างสถานการณ์และปัจจัยรายล้อมที่ค่อยๆ บีบให้ตัวละครเลือกตัดสินใจทำสิ่งผิดนั้นได้แบบที่เราคนดูไม่เบือนหน้าหนี ถึงจะไม่เชียร์ แต่เราก็เชื่อว่าทำไมลินและแบงค์ (รับบทโดย นน-ชานน สันตินธรกุล) ถึงร่วมมือกันโกงข้อสอบให้เพื่อน หรือแม้แต่ตัวละครอีกคู่อย่างเกรซ (รับบทโดย อุ้ม-อิษยา ฮอสุวรรณ) และพัฒน์ (รับบทโดย เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธ์ภิญโญ) ก็มีสิ่งแวดล้อมอีกแบบที่สร้างปัญหาให้พวกเขาจำเป็นต้องสอบ STIC ให้ได้เช่นกัน

บาส นัฐวุฒิ ยังคงเก่งกับการเล่นประเด็นศีลธรรมเหมือนที่เขาคุ้นมือใน เคาท์ดาวน์ (2555) แต่ครั้งนี้เขาทำออกมาได้อย่างกลมกล่อมรอบด้านมากขึ้น หนังไม่เพียงใช้การโกงข้อสอบเป็นตัวอย่างเล่าถึงปัญหาการทุจริตที่เรื้อรังมานาน แต่ยังแวะไปวิพากษ์ช่องโหว่ที่เรารู้กันดีของระบบการศึกษาไทยทั้งเรื่องยิบย่อยตั้งแต่การคุมข้อสอบที่แสนไม่จริงจัง การยัดเงินใต้โต๊ะเข้าโรงเรียนดีๆ ไปจนถึงปัญหาระดับชาติอย่างทุนนิยมที่กำลังครอบงำความคิดวัยรุ่นไทยอยู่ในตอนนี้

สิ่งหนึ่งที่เรากล้าการันตีคือ ฉลาดเกมส์โกง คือหนังที่ดูสนุกมากๆ เพราะมันถูกออกแบบมาแล้วด้วยภาษาภาพยนตร์ทั้งงานภาพ เสียง การตัดต่อ ที่ขยายให้การโกงข้อสอบนี้เลยเถิดลามปามไปกันใหญ่ แต่แน่นอนว่ามันก็มีรูรั่วบางประการเช่นกันที่จะทำให้คนดูมองเห็นความไม่สมเหตุสมผลของหนัง ตั้งแต่กลโกงบางอย่างที่ออกจะล้ำเกินไป การร่วมมือทำภารกิจสุดท้าทายภายในเวลาน้อยนิดจนเหลือเชื่อ แต่ส่วนตัวเราเข้าใจว่าหนังต้องการดึงให้มันสุดทาง หรือแม้แต่ถ้าลองคิดดูว่าถ้าตัวละครเป็นอัจฉริยะมากขนาดนี้ ก็คงมีวิธีจัดการให้ภารกิจนี้สำเร็จได้แบบเอาตายอยู่ดี

ถึงอย่างนั้น ที่เรายังไม่เข้าใจมากนักคือจุดเปลี่ยนการกระทำของลินและแบงค์ในช่วงท้ายเรื่อง ถ้าไม่ใช่ความผิดเราเองที่มัวแต่ลุ้นระทึกกับหนังมากเกินไป เรายังเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้ตัวละครตัดสินใจเลือกทางเดินต่อของตัวเองยังไม่ชัดพอ แน่นอนว่าสถานการณ์ที่โยนให้ลินและแบงค์เผชิญนั้นโคตรยาก และกดดันมากพอที่จะทำให้พวกเขา ‘ทำอะไรก็ได้’ เหมือนกัน แต่เหมือนหนังให้เวลากับการอธิบายส่วนนี้น้อยไปหน่อยจนเราเองยังแอบไม่เชื่อเลยว่าตัวละครจะเลือกสิ่งนั้น

อีกส่วนสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการแสดงเหนือชั้นของทุกคน โดยเฉพาะ ออกแบบ ชุติมณฑน์ ที่ต้องรับบทหนักมากในเรื่อง ทั้งฉากให้ลอกข้อสอบที่ต้องอาศัยความร่วมมือของร่างกาย การควบคุมสีหน้า หรือแม้แต่ฉากดราม่าเรียกน้ำตาที่เธอทำออกมาได้อย่างงดงาม, นน ชานน ที่สวมบทเด็กเก่งแสนซื่อสัตย์ให้ไม่น่าหมั่นไส้ แถมยังใช้การสื่อสารทางสายตาระดับเซียน (ไม่เฉพาะในฉากไคลแมกซ์เท่านั้น แต่เราสังเกตว่า แบงค์ คือตัวละครที่สื่อสารด้วยสายตาเยอะมากๆ) หรือแม้แต่เจมส์ ธีรดนย์ ที่เราอาจเห็นเขารับบทเด็กไฮโซจนชินแล้ว แต่ในซีนปะทะอารมณ์กับนนนั้น เจมส์ใช้เทคนิคแพรวพราวส่วนตัวที่ทำให้เราเกลียดตัวละครนี้ไม่ลงเหมือนกัน

ปฏิกิริยาหนึ่งที่เราสนใจมากขณะดูหนัง (แต่เพิ่งมาคิดได้ตอนออกจากโรงภาพยนตร์แล้ว) คือเรากลับลุ้นระทึกและเอาใจช่วยให้ลินกับแบงค์ทำภารกิจการโกงข้อสอบนี้ได้สำเร็จ ทั้งที่ก็รู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นผิดอย่างร้ายแรง นี่เองทำให้เราได้กลับมาตรวจสอบระบบศีลธรรมของตัวเองอีกครั้ง และยอมรับแต่โดยดีว่าบางครั้ง เราก็ยอมหักลบศีลธรรมและให้ความผิดบางอย่างมาครอบงำเราอยู่ เพราะเรารู้ดีว่าเหตุผลลึกๆ ที่ขับให้เราเลือกสิ่งนั้นอยู่คืออะไร

เราชอบประโยคที่ลินบอกกับแบงค์ว่า “ต่อให้แกไม่โกงใคร ชีวิตก็โกงแกอยู่ดี”

มนุษย์เราก็เป็นอย่างนี้ หลายครั้งเราพบว่าต่อให้พยายามทำสิ่งที่ถูกควรไปมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์มันก็ดูไม่สวยงามน่าฝันเท่าการมองหาทางลัดให้ตัวเองไปถึงได้เร็วกว่าอยู่ดี และเหตุผลที่เรายกขึ้นมาบอกตัวเองในตอนนั้น มันพร้อมจะทำให้ศีลธรรมทั้งหลายสลายหายไป

อย่าปฏิเสธเลยว่าที่ผ่านมา คุณไม่เคยโกง

AUTHOR