ปีนี้สอนให้รู้ว่า “ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นกี่ครั้งก็อย่าผิดหวัง” ศานนท์ หวังสร้างบุญ

Highlights

  • ศานนท์ หวังสร้างบุญ คือผู้ร่วมก่อตั้ง Once Again Hostel และ Luk Hostel นอกจากธุรกิจที่พัก เจ้าตัวยังเป็นพี่ใหญ่อีกคนของ ‘กลุ่มสาธารณะ’ กลุ่มที่รวบรวมคนเมืองหลากความถนัดมาช่วยกันคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาสาธาณะด้วยหมุดหมายสำคัญคือ ทำให้คนมองเห็นว่าเรื่องสาธารณะเป็นเรื่องของเราทุกคนจริงๆ
  • ในปี 2020 ทุกคนรู้ว่าโรคระบาดซ้ำเติมคนทำธุรกิจที่หากินกับการท่องเที่ยวไม่เว้นหน้าใครทั้งนั้น แต่ก็ด้วยโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่ศานนท์และทีมวาดหวังว่ามันจะช่วยสร้างทางรอดให้ธุรกิจ ทำให้พื้นที่ของโฮสเทลทั้งสองแห่งและชุมชนรอบๆ ยังคงมีการเคลื่อนไหวของผู้คนอยู่เสมอ
  • บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ 'ปีนี้สอนให้รู้ว่า' บทความซีรีส์พิเศษส่งท้ายปีจาก a day ว่าด้วยสิ่งที่ผู้คนจากหลากหลายแวดวงเรียนรู้ในปี 2020

สิ่งที่เราเรียนรู้หรือเจอกับตัวไม่นานมานี้ คือการพูดเรื่องทุกข์โดยมีใครสักคนฟังอย่างเปิดใจ ถือเป็นวิธีบรรเทาความเหนื่อยอีกรูปแบบ อย่างน้อยก็ทำให้เรื่องหนักที่แบกมาเกือบทั้งปีเบาลงได้บ้าง

หากโชคดีมากหน่อย ใครคนนั้นอาจแบ่งปันพลังบวกชวนฮึดสู้เป็นของแถมกลับบ้าน

ในฐานะคนทำงานสื่อ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ก่อตั้ง Once Again Hostel และ Luk Hostel คนนี้คือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้วยแนวคิด inclusive business ที่หมายถึงการพาคนรอบตัวในชุมชน อาทิ ลุงป้าน้าอาที่มีบ้าน มีร้านรวงอยู่รอบๆ จับมือเดินไปข้างหน้าด้วยกัน นอกจากธุรกิจที่พัก เจ้าตัวยังเป็นพี่ใหญ่อีกคนของ ‘กลุ่มสาธารณะ’ กลุ่มที่รวบรวมคนเมืองหลากความถนัดมาช่วยกันคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาสาธารณะบางอย่าง และสื่อสารกับคนเมืองกรุงเทพฯ โดยมีหมุดหมายสำคัญคือทำให้คนมองเห็นว่าเรื่องสาธารณะโดยเฉพาะการพัฒนาเมืองเป็นเรื่องของเราทุกคนจริงๆ

และในฐานะคนรุ่นน้อง หนึ่งปีก่อนชายที่นั่งตรงหน้าเราคนนี้เปลี่ยนสถานะจากแค่คนรู้จักเฉยๆ เป็นพี่เขย เขาแต่งงานกับภรรยาสาวชาวภูเรือ จังหวัดเลย เป็นความบังเอิญที่น่ารัก เธอคนนั้นคือนักขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์ที่เรารักเฉกเช่นคนในครอบครัว

ระยะที่ใกล้ชิดมากขึ้นเปิดโอกาสให้เราได้เห็นมิติอื่นในตัวเขา มากกว่าแค่คนทำธุรกิจที่ไฟแรงและแคร์คนรอบตัวมากๆ ศานนท์คือสามีที่ยังชอบทำงานตลอดเวลาที่อยู่บ้านภรรยา ในมิตินั้นทำให้เขากลายเป็นคนที่พยายามเอาเรื่องการกินการอยู่ที่สัมผัสจากชีวิตที่ได้ใช้ในต่างจังหวัดมาเชื่อมโยงกับชีวิตคนในกรุงเทพฯ บ้านเกิดของตัวเองมากขึ้นด้วย

ในปี 2020 ลำพังการพึ่งพาและพยุงตัวเองยังทำเราและอีกหลายคนเหนื่อยหอบ หมดพลัง และอดไม่ได้ที่จะบ่นอิดออด โรคระบาดซ้ำเติมคนทำธุรกิจที่หากินกับการท่องเที่ยวไม่เว้นหน้าใครทั้งนั้น ทว่าพื้นที่ของโฮสเทลทั้งสองแห่งที่ศานนท์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งยังคงมีการเคลื่อนไหวของผู้คนอยู่เสมอ

จากมุมของคนทำงานหนักที่ใกล้ชิดกับผู้คนมากมาย ศานนท์ได้ยิน มองเห็น และเรียนรู้อะไรจากปีที่ไม่ยอมปล่อยให้เราได้หยุดพักอย่างปีนี้บ้าง มาฟังเจ้าตัวเล่าดีกว่า

ทุกคนรู้ว่าโควิด-19 เอฟเฟกต์มากๆ กับคนที่หากินกับนักท่องเที่ยว ผลกระทบกับธุรกิจที่พักเริ่มเห็นภาพชัดเจนจริงๆ ตอนไหน

ถ้าแค่ในวงการโฮสเทล มันเริ่มหนักตั้งแต่ปลายปี 2018 แล้ว ตอนนั้นค่าเงินบาทสูง นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะแบ็กแพ็กเกอร์เลยเลือกไปประเทศอื่นมากกว่า ไม่ก็ระยะเวลาการพักในประเทศไทยสั้นลง ประกอบกับ supply ที่เยอะขึ้น ถ้าสังเกตปีก่อนๆ จะมีช่วงที่ธุรกิจโฮสเทลบูมมาก เราเริ่มเจอผลกระทบมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำ พอมันมาปุ๊บทุกอย่างก็ชัดเจน และไม่ใช่แค่ supply ด้วย ฝั่ง demand ก็กระทบอย่างรุนแรง 

โฮสเทลบางที่ต้องหยุดทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง บางที่เปิดมาแล้วแต่ยังต้องแบกค่าเช่าก็หนักหน่อย ฝั่งที่ปิดกิจการไปเลยก็มีไม่น้อย คนที่ยังสู้ต่อก็มาคุยกันว่าจะปรับตัวยังไงบ้าง ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมามีการประชุมกันเยอะ แล้วพอหลังโควิด-19 ก็ไม่ค่อยได้ catch up กันต่อ เพราะทุกครั้งที่คุยกันมันก็จะวนซ้ำเรื่องเดิมๆ

 

เรื่องเดิมๆ ที่ว่าคืออะไร

ต้องบอกว่า segment ของธุรกิจโฮสเทลค่อนข้างใหม่ในแวดวง hospitality แต่ก่อนเราแบ่งโรงแรมกันตามระดับดาว บางโฮสเทลแต่งเหมือนโรงแรม 3-4 ดาว ไม่แพ้เลยนะ แต่โฮสเทลกลับเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ถูกบันทึกในระบบของราชการหรือกฎหมาย ไม่ได้ถูก identify ว่าเป็นประเภทหนึ่งของการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเจอกันมันจะมีไม่กี่ประเด็นที่คุยกัน เช่น เรื่องกฎหมาย เราจะสามารถทำให้โฮสเทลเป็นหนึ่งในประเภทของที่พักอาศัยเหมือนโรงแรมได้ไหม เพราะช่วงโควิด-19 ชัดเจนเลยว่านโยบายภาครัฐลงมาไม่ถึงเรา ทีนี้เราเลยตั้งทีมขึ้นมาทีมหนึ่งเพื่อผลักดันเรื่องนี้ (หาทางออกในเชิงกฎหมาย) ส่วนอีกเรื่องที่เราคุยกันคือการเยียวยากันเอง คือเราคุยกันว่าใครช่วยหรือแชร์อะไรได้บ้าง เราทำอาหารเหมือนกันถ้าอย่างนั้นก็แลก know-how กัน หรือจ้างแม่บ้านแบบแชร์กัน ก็คิดว่ามันจะเป็นทางออกที่คนในเครือข่ายช่วยกันลดต้นทุน 

 

เหมือนกับว่าวิกฤตมันทำให้เราได้ช่วยกันและกันมากขึ้น

ใช่ เอาตรงๆ เรามีทาร์เก็ตเป็นฝรั่งที่เป็นคนรุ่นใหม่หน่อย เพราะเขาเน้นเที่ยวแบบ experience travel (ท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์) ไม่ได้มองว่าเราเป็นที่พักราคาถูก แต่มองคุณค่าหรือประสบการณ์ที่ได้ที่ต้องไม่เหมือนที่อื่น อย่างที่ Luk ทาร์เก็ตเป็นฝรั่ง 99.5 เปอร์เซ็นต์ คนไทยแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ พอ 99.5 มันหายเราเลยต้องกลับมาทบทวนใหม่ ซึ่งจริงๆ คนไทยเองก็ต้องการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์เหมือนกัน แล้วถ้าลึกลงไปอีก คำว่าประสบการณ์อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบการท่องเที่ยว อาจเป็นรูปแบบการอยู่อาศัยที่เน้นประสบการณ์ก็ได้

ถ้าอย่างนั้นเราจัดเป็นที่พักระยะยาวขึ้นเพื่อรองรับทาร์เก็ตที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 แบบ แบบแรกเรามองว่าแต่ก่อนนักศึกษาหลายคนต้องนอนหอพักอยู่แล้ว แต่หอพักที่เขาอยู่ไม่ได้มีคอมมิวนิตี้ระหว่างคนในหอพัก แต่โฮสเทลสร้างคอมมิวนิตี้ด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว คน 20-50 คนสามารถรู้จักกันได้ผ่าน facility ที่เรียกว่าโฮสเทล ก็เลยเกิดไอเดียใหม่ที่อยากเอาศักยภาพของโฮสเทลทั่วกรุงเทพฯ มาผนึกกันแล้วเปลี่ยนโฮสเทลเป็นหอพักแบบใหม่ที่สามารถสร้างคอมมิวนิตี้ให้กับคนที่อยากไปพักได้ สร้างแพลตฟอร์มชื่อ mutual+ ขึ้นมา mutual คือความต้องการที่คล้ายๆ กัน ส่วนพลัส (+) ก็คือเรื่องของที่นอนที่ดีขึ้น ส่วนกลางที่ใหญ่และหลากหลายขึ้น รวมทั้งได้เจอเพื่อนๆ ที่อาจจะเป็นคนที่คิดเหมือนกัน

แต่นิสัยคนไทยหวงความเป็นส่วนตัวสูงเหมือนกันนะ แพลตฟอร์มนี้จะเวิร์กจริงๆ เหรอ

ก็เป็นอุปสรรค์นี้แหละ แต่ว่าเราก็เห็นเทรนด์บางอย่าง การที่คนจะสามารถมานอนที่เดียวกันได้ในยุคหลังโควิด-19 เราน่าจะต้องเป็นเพื่อนกันก่อน mutual+ เลยพยายามที่จะสร้างกิจกรรมที่ทำให้คนมารู้จักกันก่อน แล้วถ้าคนเหล่านี้รู้จักกัน พอใจที่จะนอนหอพักแบบนี้ เราค่อยนำเสนอให้ ตอนแรกๆ ที่เปิดตัว mutual+ เราเน้นขั้นตอนที่ทำให้คนมาเจอกันก่อน แต่ละโฮสเทลสามารถออกแบบกิจกรรมและคอมมิวนิตี้ที่มีอัตลักษณ์ของตัวเองได้ บางที่เน้นเรื่องชุมชน บางที่เน้นเรื่องอาหารหรือเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างที่ Luk เคยจัด wine testing, กิจกรรม bartender 101 หรือทำ walking tour ล่าสุดก็มี chef table เพราะอยู่ใกล้เยาวราชเราเลยเน้นเรื่องอาหารการกินเป็นหลัก

 

ในมุมคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจเอง พอจะสรุปได้ไหมว่าผลกระทบเรื่องไหนหนักสุด

ถ้าหนักเลยก็เป็นเรื่องธุรกิจ อย่างที่บอกรายได้ 99.5 เปอร์เซ็นต์มาจากฝรั่ง วันที่เราล็อกดาวน์มันก็เหมือนกับปิดก๊อกน่ะ แล้วหลังจากนี้มันก็เป็นเรื่องของการดูแลองค์กรที่เป็นการพูดถึงคน ก๊อกปิดแต่น้ำยังต้องไหลอยู่ ทุกคนยังต้องมีชีวิตที่ดีอยู่ เลยเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องคิดโมเดลธุรกิจใหม่ หาก๊อกใหม่ที่เรายังเปิดมันได้อยู่ พอเราสลับมาทำอาหารเดลิเวอรี กลายเป็นว่าเราต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีคิดอีกแบบ แต่คนทำงานก็ยังเป็นน้องๆ กลุ่มเดิม คือพวกเขาสมัครเข้ามาเพื่อทำโฮสเทล อยากเจอแขก อยากจะให้บริการที่ดี พอต้องเปลี่ยนมาอยู่หลังครัว ไม่เจอใครเลย เราว่าอันนี้เป็นผลกระทบที่ชัดเจนอีกเรื่องที่ไม่ใช่แค่เรื่องเงินแล้ว 

ความท้าทายของเจ้าของธุรกิจคือ ในช่วงที่ล็อกดาวน์ภารกิจขององค์กรเปลี่ยน แต่วิสัยทัศน์หรือเป้าหมายขององค์กรยังต้องมีความชัดเจนเหมือนเดิม ที่สำคัญต้องทำให้คนในทีมเข้าใจได้ด้วย จุดประสงค์ของการเกิดของ Once Again คือการทำให้ย่านหรือพื้นที่ตรงนั้นดี วันนี้เราไม่สามารถทำให้ฝรั่งมาใช้บริการป้าๆ ลุงๆ ได้ แต่เราสามารถทำให้เขาได้ประโยชน์จากอย่างอื่นได้ เราเลยเลือกปิดโฮสเทลเพื่อเซฟต้นทุน แต่เปิดบริการใหม่ที่เอาอัตลักษณ์อย่างอาหารของย่านประตูผีมาหาช่องทางในการขายใหม่ ถ้าเขาขายคนเดียวมันยากนะ เขาต้องมีมอเตอร์ไซค์ มีแบรนด์ โปรโมตนู่นนี่ บางร้านทำกันแค่ 2 คน คนหนึ่งทอดหมูอีกคนล้างจานก็เหนื่อยแล้ว ในฐานะตัวกลางเรามองว่าเราทำได้ 2 อย่าง คือหนึ่ง–เราสามารถสร้างระบบที่ทุกคนสามารถส่งแบบเดลิเวอรีได้ และสอง–เราสามารถโปรโมตร้านร้านหนึ่งให้กลายเป็นตัวแทนของย่าน เช่น บ๊ะจ่างร้านนี้กลายเป็นบ๊ะจ่างของย่าน ถ้าทุกอย่างเป็นของย่านได้เราก็สามารถนำเสนอมันได้ง่ายขึ้น เราทำแพลตฟอร์มชื่อ Locall ขึ้นมาได้ก็เริ่มที่ย่านประตูผีก่อน เหมือนกับว่าบริบทรอบๆ มันเปลี่ยนแต่จุดประสงค์ขององค์กรหรือเสาที่เรายึดมั่นมาตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้วยังตั้งอยู่ที่เดิม วันนี้อาจจะยังไม่มีนักท่องเที่ยว ถ้าอย่างนั้นเราทำอันนี้ก่อนแล้วกัน

ลำพังพยุงตัวเองน่าจะเหนื่อยมากเหมือนกัน ทำไมถึงยังยึดมั่นกับการช่วยคนอื่นมากขนาดนี้

เราคิดว่าการช่วยคนอื่นมันคือการช่วยตัวเอง แต่ว่ามันคือการช่วยตัวเองที่เรามีเพื่อนไปด้วย ถามว่ามันต้องช่วยตัวเองไหม โห ปีที่ผ่านมาเนี่ยเรียกได้ว่ารากเลือด ก่อนที่จะหยุดเงินเดือนใครได้เราต้องหยุดเงินเดือนเราก่อนเพื่อที่จะรักษาทีมให้เดินไปได้ พอนานๆ เข้าก็ต้องหาช่องทางที่มันยั่งยืนกว่านี้โดยที่เราต้องพาทุกคนไปด้วยกัน ที่ใช้วิธีคิดแบบนี้อาจเป็นเพราะเราคิดว่าตัวเองไม่ได้เก่งหรือทำงานทุกอย่างด้วยตัวเองได้ เราเลยต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือ เวลาทำอะไรเราก็จะมองเห็นโอกาสของคนอื่นอยู่เสมอ เหมือนจุดเริ่มต้นของโฮสเทลเกิดขึ้นเพราะเรามองว่าแถวนี้มันดี แล้วถ้าทุกคนในย่านนี้ไม่อยู่หรือมีแค่เราคนเดียวที่รอด เราก็จะรอดแบบแห้งๆ เราเลยมองว่าการรักษาคนอื่นไว้มันคือการรักษาตัวเราเองนี่แหละ เรายังอยากกินก๋วยเตี๋ยวร้านเดิมอยู่ หลังโควิด-19 เราก็อยากเดินไปแล้วป้ายังนั่งอยู่ที่ตรงนี้เหมือนเดิม

 

คุณดูเป็นคนทำธุรกิจที่มองเห็นความหลากหลายของความเป็นมนุษย์มาก ระหว่างการแคร์เรื่องจิตใจคนกับแคร์เรื่องผลกำไรในสถานการณ์แบบนี้ อันไหนรับมือยากกว่ากัน

สำหรับเราถ้าองค์กรเล็ก เราคิดว่าสองเรื่องนี้ไม่ยาก เพราะมันเป็นเรื่องของการสื่อสาร เราต้องสื่อสารว่าทำไมเราถึงทำเรื่องนี้ ถ้าทุกคนเข้าใจทุกคนก็จะช่วยกัน แต่พอองค์กรใหญ่ขึ้น แน่นอนว่ามันก็ต้องมีช่องที่ไม่ได้เกิดการสื่อสารอย่างทั่วถึง ยิ่งปีนี้เราต้องตัดสินใจว่าจะทำโปรเจกต์เพื่อหารายได้เข้ามา บางทีเราก็ต้องทำสิ่งที่ทีมไม่เคยทำ เช่น อาหาร แต่พอต้องทำเพื่อเงิน บางทีเราก็ไม่ได้คิดเรื่องจิตใจกันเยอะ พอมันมีช่องว่างมากขึ้น การสื่อสารก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เราเลยต้องพยายามคุยกันบ่อยๆ อย่างตอนโควิด-19 ทุกสัปดาห์เราจะโชว์รายได้ให้ทุกคนเห็นเลย ทีมนี้ทำรายได้ถึงเท่านี้แล้ว อีกทีมกำลังทำอะไรอยู่ เราทำให้ทุกคนเห็นว่าแต่ละคนคือฟันเฟืองเล็กๆ ที่ทำให้องค์กรเรายังเดินได้อยู่ 

แต่ถึงการสื่อสารจะทำให้คนเข้าใจ สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญคือการดูแลใจกัน เราเชื่อว่าใจเนี่ยถ้ามันแตกไปแล้วมันแตกไปเลยนะ ไม่สามารถซ่อมกันได้อย่างง่ายดาย เพราะอย่างนั้นถ้าให้เลือกบางอย่างในองค์กร เราจะเลือกวิธีการดูแลใจ พยายามทำยังไงก็ได้ให้ทีมเข้าใจสิ่งที่เรากำลังจะลงมือทำไปด้วยกัน หรือถ้าไม่เข้าใจก็ต้องใช้เวลานั้นในการพูดคุยกันแล้วว่าเขามีปัญหาตรงไหน เราในฐานะที่อยู่ในองค์กรเดียวกันจะช่วยยังไงได้บ้าง

 

เราเชื่อว่าโควิด-19 อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิตคุณเรื่องหนึ่งเลย คิดกับมันยังไง

ส่วนตัวเลยนะ เราบอกเลยว่าปีที่แล้วเราวางแผนชีวิตตัวเองไว้แบบหนึ่ง คือเราเพิ่งแต่งงานและวางแผนว่าทุกอย่างที่เราทำที่กรุงเทพฯ มันควรจะมีความมั่นคงประมาณหนึ่ง Once Again อยู่ในจุดที่เดินได้ด้วยตัวเอง ส่วน Luk ที่เพิ่งเปิด เราก็ reach out ได้ถึงจุดที่เราพอใจ ทีมหลังบ้านกำลังเป็นทีมที่สนุกและขยายใหญ่ขึ้นแล้ว เราวางแผนตัวเองไว้ว่าอยากจะลดบทบาทตัวเองลงเพื่อให้น้องๆ ได้เดินต่อ แล้วเราก็อาจจะไปอยู่กับภรรยาที่จังหวัดเลย พอโควิด-19 มาแผนเราก็ถูกรื้อไปหมด ต้องกลับมาช่วยทีมเหมือนเดิม

จากที่เคยรู้สึกว่าเรามุ่งเป้าไปที่การทำยังไงก็ได้ให้ธุรกิจเติบโต แต่วันนี้เราต้องทำให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมๆ กับการสร้างทีมที่เชื่อมั่นในผู้บริหาร และต้องดูแลไม่ให้ burn out กัน มันคือการสร้างธุรกิจกับองค์กรไปพร้อมๆ กัน แล้วก็อีกขาหนึ่งคือเราต้องสร้างครอบครัวตัวเองไปด้วย เพราะตอนนี้เรามีคู่ชีวิตแล้ว เราลุยทุกอย่างเองไม่ได้แล้ว มันเลยกลายเป็นปีที่ได้รีเซตอะไรหลายอย่างในชีวิตพอสมควร บางเรื่องมันก็ไปได้ดี บางเรื่องก็ยังมีปัญหาอยู่ เช่น ธุรกิจ เป็นต้น 

สิ่งที่เราคิดว่ามันสำคัญในปีนี้คือการรักษาระดับของสามก้อนนี้ ธุรกิจต้องไม่ขาดทุน รักษากระแสเงินสดในบริษัทให้อยู่รอด ขณะเดียวกันทีมก็ยังเป็นหัวใจสำคัญ ถ้าทีมยังอยู่เราเชื่อว่าทีมยังมีศักยภาพทำอะไรใหม่ๆ ได้แม้ว่ากระแสเงินสดมันจะหายไป ปัจจุบันเราพยายามเกาะตรงนี้ให้มาก ทำยังไงให้ทุกคนเข้าใจว่าวิกฤตนี้มันเหมือนกับการที่เราว่ายน้ำแล้วเจอคลื่น คือมันยังมีคลื่นอีกหลายลูกแหละ แต่อย่าลืมว่าปลายทางมันยังอยู่ ดังนั้นมือเรายังต้องจับกันอยู่ ส่วนครอบครัวตอนนี้ก็ยังโอเคมาก ภรรยาเข้าใจ (หัวเราะ)

จากคนที่เกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ พอได้ใช้ชีวิตในต่างจังหวัดมากขึ้น มีอะไรที่เปลี่ยนไปไหม

เราว่าคนกรุงเทพฯ น่าสงสาร ทรัพยากรหลายอย่างมันมีเยอะมากเลยที่ต่างจังหวัด กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ทุกคนอยากทำอะไรรวดเร็ว แต่เมื่อไหร่ที่มันเร็วเราจะเห็นทุกคนเป็นเครื่องจักร ในความรวดเร็วมีเบื้องลึกเบื้องหลัง มีความตั้งใจหลายอย่างอยู่ ซึ่งเราเห็นตรงนั้นจากต่างจังหวัด กว่าจะมาเป็นข้าวหนึ่งเมล็ด กาแฟหนึ่งแก้ว หรืออาหารหนึ่งมื้อ แต่พอมันมาอยู่ในเมือง ความตั้งใจเหล่านั้นมันหายไป พอเกิดโควิด-19 เรารู้สึกว่าอยากทำให้กรุงเทพฯ ช้าลงด้วยสิ่งที่เราเจอมาจากต่างจังหวัดนี่แหละ

หลายคนบอกว่าเราต้องวิ่งเพราะถ้าไม่วิ่งเราจะมีข้าวกินน้อยลง แต่มุมหนึ่งเราสามารถวิ่งให้ช้าลงได้และเพิ่มมูลค่าจากความช้านั้นได้เหมือนกัน เราคิดว่าความช้า ความละเมียดที่ได้เรียนรู้จากต่างจังหวัด มันสามารถเอามานำเสนอในกรุงเทพฯ ได้ ขณะเดียวกันเราสามารถทำให้กรุงเทพฯ ยั่งยืนขึ้นได้ เราเคยทำเรื่องชุมชนหรือย่าน เราเห็นว่ามันสามารถยั่งยืนผ่านการช่วยเหลือกันได้ หรืออาหารเองก็เป็นทรัพยากรหลักของประเทศ เราสามารถลิงก์ความยั่งยืนนี้จากต่างจังหวัดมาสู่เมืองได้ เราเห็นชาวนาเป็นคนที่สร้างสิ่งที่อร่อยมากๆ ในจานนี้ให้เรากิน เราก็อยากให้คนอื่นๆ เห็นความตั้งใจผ่านกระบวนการความช้านี้ด้วยเหมือนกัน

 

ทำไมการเข้าใจความตั้งใจของคนต้นน้ำถึงจำเป็นสำหรับคนเมือง

ความตั้งใจมันไม่ใช่แค่เรื่องของการตลาดแต่มันคือการพูดถึงความเท่าเทียม พูดเรื่องการมองความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่เราทำงานกับชุมชน ทุกคนจะชอบบอกว่าคนจนเพราะขี้เกียจ กูทำงานมาทั้งปีกูมีสิทธิที่จะได้เงินเว้ย อะไรแบบนี้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ถูกนะ แต่คำถามคือเราเคยรู้ไหมว่าเพราะเขาจนโอกาส ความเหลื่อมล้ำที่เขาเจอมันไม่สามารถทำให้เขาคิดได้แบบคุณ เกิดมาก็จนแล้วอ่ะ เกิดมาก็แย่แล้ว พอเราเข้าใจเรื่องนี้ เราเข้าใจต้นน้ำของมันจริงๆ มุมมองหรือความคิดเราเปลี่ยนเลย สำหรับเรา เราไม่เคยโทษว่าเขาขี้เกียจ หรือถ้าเขาขี้เกียจจริงเราก็เชื่อว่าถ้าคนคนนี้ไปเกิดที่ฟินแลนด์ สวีเดน หรือเดนมาร์ก เขาจะไม่ใช่คนแบบนี้ สังคมเมืองจะไม่ทำให้เขาเป็นคนแบบนี้

 

ถ้าคนเมืองหลายๆ คนอยากจะเข้าใจคนต้นทางบ้าง คิดว่าเขาควรเริ่มต้นจากตรงไหน

เราว่าตั้งคำถามกับทุกเรื่องทุกอย่างเลยนะ อย่างเสื้อผ้า มือถือ หรือแม่บ้านที่บ้าน พอตั้งคำถามแบบนี้จะทำให้เรามองเห็นคนที่เขาอยู่อีกมุมหนึ่งของสังคม เรารู้ไหมว่าแม่บ้านเราเดินทางมาทำงานยังไง เขามาจากไหน เขาพักที่ไหน หรือเลิกงานแล้วเขาไปที่ไหนกัน ไม่ต้องพูดถึงคนต้นน้ำที่ปลูกข้าวหรอก สำหรับเราต้นน้ำคือสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราทั้งหมด แล้วถ้าเรามองเห็นต้นน้ำเหล่านี้เราจะตั้งคำถามกับเมืองต่อว่านี่คือเมืองที่ดีแล้วจริงเหรอ ซึ่งแน่นอนว่าการตั้งคำถามอาจจะทำให้เราใช้ชีวิตยากขึ้น แต่บางทีมันเป็นการตั้งคำถามเพื่อมองโลกให้มันดีขึ้น พอเรามีชิปนี้อยู่ในหัว เวลาทำอะไรเราจะคิดถึงคนอื่นมากขึ้นเอง เวลาไปร้านอาหารเราจะไม่เรียกพนักงานแบบที่เขาเป็นคนใช้ เราจะรู้สึกว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่มาทำงาน การตั้งคำถามคือสิ่งที่สามารถทำได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องไปมองเรื่องต้นน้ำที่อยู่บนภูเขาหรือในทะเล

การทำให้กรุงเทพฯ ช้าลงอาจเป็นเพียงความคิดไร้เดียงสาเพ้อฝันก็ได้ ทุกวันนี้เรายังไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะทำได้ไหม แต่เราอยากจะเริ่มจากตัวเองก่อนแล้วค่อยชวนคนใกล้ตัว ทำให้เขาเห็นว่ามันมีวิธีการแบบนี้ด้วย หรืออาจจะชวนคนที่คิดเหมือนกันมาสร้างคอมมิวนิตี้แล้วก็ค่อยๆ ขยายผลไป เราอาจจะกระตุ้นสิ่งนี้ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ หรือโครงการที่ทีมสาธารณะได้ทำงานกับภาครัฐ และสักวันเราอาจจะชวน policy makers ทำอะไรที่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ตั้งแต่ทำงานเพื่อคนอื่นมา เคยมีคนบอกไหมว่าคุณโลกสวยมากไป

หลังๆ ก็ไม่ค่อยมีแล้วนะ เราคิดว่าเราต้องเชื่อก่อนว่าโลกมันดีขึ้นได้ อันนี้เป็นพื้นฐานที่เราคิด เราค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเราไม่ควรมองโลกด้านเดียว คือการที่จะทำให้โลกดีขึ้นได้ เราต้องยอมรับก่อนว่าโลกมันไม่ดี แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องหมดหวังกับความไม่ดีเหล่านั้น

การรู้ว่ามันไม่ดีคือการรู้ว่าคนที่อยู่ล่างสุดวันนี้เขาต้องเผชิญอะไรบ้าง การมองเห็นความเหลื่อมล้ำที่ไม่ใช่แค่ในกระดาษแต่คือการเห็นมันในพื้นที่จริงๆ พอรู้ว่ามันไม่ดีแต่เรายังมีความหวังว่ามันจะสวยขึ้นได้ เราเอาความหวังนั้นมาแปรเปลี่ยนเป็นกิจกรรมบางอย่าง หรืออาจจะสะท้อนอยู่ในวิธีคิดที่อยู่ในธุรกิจเรา นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามทำมาตลอด ทำยังไงให้ความโลกสวยนี้มันไม่ได้สวยเฉพาะกลุ่มคนที่เสพความสวยงาม ให้คนที่อยู่ล่างสุด คนที่ต้องอยู่กับความเหลื่อมล้ำนั้นมาเสพความสวยงามนี้ไปกับเราได้ด้วย คือโลกสวยที่เข้าใจว่าความไม่สวยมันเป็นอะไร แล้วพยายามทำงานกับความไม่สวยเหล่านั้นอย่างมีความสุขและไม่ฝืน อันนี้คือความหมายที่แท้จริงของคำว่าโลกสวยสำหรับเรา

 

ปีแห่งการรีเซตทุกอย่างนี้มันสอนอะไรคุณบ้าง

น่าจะเป็นเรื่องของการอยู่กับความไม่แน่นอน ไม่มีคนที่ไม่ยอมแพ้คนไหนชอบความไม่แน่นอนและความผิดหวังหรอก คนที่ต่อสู้ลึกๆ ในใจเขาต้องการความสำเร็จอยู่เสมอ ปีนี้เรารู้สึกว่าเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับความล้มเหลวและความไม่เพอร์เฟกต์บางอย่างได้มากขึ้น แต่ก่อนก็เรียนรู้ แต่ปีนี้มันมากขึ้นและเข้ามาหลายทางมาก

เหตุผลที่เราตั้งชื่อที่นี่ว่า Luk มันคือการจุดไฟให้ตัวเองอีกครั้ง 3 ปีที่ผ่านมาเราทำงานเหนื่อยมาก และการจะลุกขึ้นมาทำอะไรได้ เราจำเป็นมากที่จะต้องอาศัยปัจจัยข้างนอก หนึ่งในนั้นก็คือธุรกิจนี้ที่มันย้ำเตือนตัวเราว่ามึงอย่าล้มนะเว้ย แล้วปีนี้ก็น่าจะเป็นปีที่เราต้องเตือนตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าไอ้ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง เราอย่าผิดหวังกับมัน ไม่ว่าจะมีอุปสรรคยังไง ล้มแต่ก็ต้องลุกขึ้นสู้ให้ได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone