เราอาจคุ้นเคยชื่อของ พวงสร้อย อักษรสว่าง ในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 36 ของนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้เขียนบทรวมภาพยนตร์เรื่อง ที่ว่างระหว่างสมุทร (The Isthmus) ของโสภาวรรณ บุญนิมิตร และพีรชัย เกิดสินธุ์ พวงสร้อยเคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ MY BEST FRIEND IS ME เล่าเรื่องชีวิตช่วงหนึ่งขณะเป็นนักเรียนฟิล์มอยู่ที่เยอรมนี และเธอก็เคยกำกับมิวสิกวิดีโอเพลง รอยกะพริบตา ของ Greasy Cafe
ด้วยหลงใหลในเรื่องเล่า มุมมอง และน้ำเสียงของผู้กำกับสาว เราเฝ้าติดตามผลงานของเธออยู่เสมอ ยิ่งพอได้รู้ว่า นคร-สวรรค์ ผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของพวงสร้อยเดินทางไปคว้ารางวัลจาก Taipei Golden Horse Film Festival เราจึงไม่อยากพลาดโอกาสที่จะคุยกับเธอ
Rahula
หนึ่งปีก่อน แม่ของพวงสร้อยล้มป่วยหนักระหว่างที่เธอเตรียมจะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิต แม้ว่าบทหนังจะถูกเขียนจนแล้วเสร็จและกำลังอยู่ในช่วงแคสต์นักแสดง แต่พวงสร้อยก็เลือกที่จะพับโปรเจกต์นั้นลงไป Rahula คือชื่อของหนังเรื่องที่เราไม่มีโอกาสจะได้ดู
“Rahula เริ่มจากที่เรามีวัตถุดิบอยู่ก่อนแล้ว จากที่เราชอบถ่ายแม่ ถ่ายคนในครอบครัวเก็บไว้” ผู้กำกับสาวเล่า ขณะนั้นพวงสร้อยกำลังเรียนปริญญาโทด้านภาพยนตร์อยู่ที่ประเทศเยอรมนี
“พอดีว่ามีช่วงหนึ่งเรากลับมาไทยแล้วย่าไม่สบาย แม่เลยชวนไปเยี่ยม คือญาติฝั่งพ่อเราเขาอยู่กันที่สงขลา พ่อเราก็อยู่ที่นั่น เราก็ตกลงไป ไม่ได้คิดอะไรมาก พกกล้องไปตามความเคยชิน ไปด้วยความรู้สึกไม่คุ้นเคย เพราะเราไม่ได้อยู่กับพ่อนานมากแล้ว”
เมื่อไม่ได้อยู่ด้วยกันมาสักพักใหญ่ การที่อยู่ๆ พ่อกับลูกต้องมาเจอกันจึงเกิดเป็นบรรยากาศที่ไม่คุ้นชิน โดยเฉพาะการได้มาเห็นพ่อที่กลายมาเป็นเกษตรกรสวนยางเต็มตัว รายล้อมด้วยแมกไม้และธรรมชาติ ขัดแย้งจากชีวิตของเธอกับแม่ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โดยสิ้นเชิง
“พอไปถึงไม่นาน พ่อก็เริ่มสัมภาษณ์ว่าชีวิตที่เยอรมนีเป็นยังไง อยู่กับใคร อยู่คนเดียวหรือเปล่า มันเป็นบทสนทนาที่ธรรมดามากเลยนะ แต่กลับเล่าอะไรหลายๆ อย่าง เล่าความสัมพันธ์บางอย่าง เราเลยตัดสินใจอัดวิดีโอไว้ แค่ตั้งกล้องไว้นิ่งๆ เขาคงไม่รู้ตัวหรอก แล้วพ่อก็บอกว่าเคยไปเยอรมนี ไปอยู่เบอร์ลิน สมัยกำแพงยังไม่แตก ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อนเลย”
พวงสร้อยเล่าว่า จากบทสนทนาเรียบง่ายในวันนั้นทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย เธอเริ่มสนใจความทรงจำเก่าๆ ของพ่อกับแม่ กลับไปดูภาพถ่ายเก่าๆ ของพ่อกับแม่ที่ถ่ายไว้ตั้งแต่ก่อนที่เธอจะเกิด
“เราเจอภาพถ่ายเก่าๆ ของพ่อกับแม่ มันเป็นภาพความรักที่เราไม่เคยเห็น หรือไม่เคยรับรู้ด้านนี้ของพวกเขาก่อนจะมีเราเลย ซึ่งกับสถานการณ์ปัจจุบันมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว”
จากภาพถ่ายเหล่านั้น พวงสร้อยพัฒนาจนกลายมาเป็น Rahula หรือราหุล ชื่อบุตรของพระพุทธเจ้า ภายใต้ความคิดที่ว่า เมื่อมีลูกถือกำเนิดขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนเราย่อมต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างไป โดยครึ่งหนึ่งของหนังถูกวางให้เป็นสารคดีที่มาจากภาพถ่ายและวิดีโอครอบครัวที่เคยได้ถ่ายเก็บไว้ ส่วนอีกครึ่งเป็นฟิกชั่นที่พวงสร้อยแต่งเรื่องราวชีวิตของวัยรุ่นคู่หนึ่งขึ้นมาใหม่
“แต่พอกำลังจะเริ่มถ่ายทำ เป็นช่วงที่แคสต์นักแสดงกันอยู่ แม่เราเข้า ICU กระทันหัน คือแม่เราป่วยอยู่ก่อนแล้ว แต่เราคิดว่ารอบนี้แม่ไม่น่าไหว ทีแรกก็คิดว่าจะทำหนังต่อดีไหม ถ่ายให้มันเสร็จๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ไหว เราเลยตัดสินใจพักโปรเจกต์นี้ไปก่อน ไม่นานหลังจากนั้นแม่เราก็เสีย”
เป็นการด่วนจากไปของแม่ที่ทำให้การหยุดพักแค่ชั่วคราวของ Rahula กลายเป็นการหยุดยาวชั่วนิรันดร์ เพราะหลังจากจัดการเรื่องงานศพของแม่และได้บินกลับไปเยอรมนีอีกครั้ง เมื่อได้หลุดพ้นจากความวุ่นวายของพิธีการและกลับมาใช้ชีวิตตามลำพัง เป็นความเงียบและความว่างเปล่าในตอนนั้นที่ได้ยืนยันกับพวงสร้อยว่า เธอไม่อาจกลับไปสานต่อโปรเจกต์ที่พัฒนาค้างไว้ได้อีก
Production
“พอดีว่าช่วงนั้นจะมีงาน Bangkok Art Book Fair แล้วน้องวิว (วิมลพร รัชตกนก ผู้ร่วมก่อตั้ง Spacebar) ทักมาชวนเราไปทำซีน” พวงสร้อยเล่าเมื่อเราถามว่าเธอผ่านช่วงเวลาหลังจากสูญเสียแม่ไปได้อย่างไร
“เราคิดว่า ทำก็ได้ เพราะมันต้องมีอะไรให้ทำไม่งั้นชีวิตคงไม่น่าไหว เราเลยชวนเพื่อนอีกคนเขียนเรื่องด้วยกัน จนออกมาเป็น There”
There คือโปรเจกต์ที่พวงสร้อยกับพันธุ์ทิพย์ ศุภรุจกิจ ต่างผลัดกันเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ที่เจือกลิ่นของความจริง ผ่านฉากหลังของเมืองต่างๆ เช่น นครสวรรค์ ปาดังเบซาร์ และเบอร์ลิน เป็นเรื่องสั้นนครสวรรค์นี่เอง ที่ต่อมาจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตของพวงสร้อย
“ตอนเขียนเรื่องนครสวรรค์เราเขียนมันไปเลย ไม่ได้คิดวางโครงสร้างอะไร แต่เขียนไปมันก็เหมือนได้เห็นความรู้สึกตัวเอง เห็นมวลบางอย่างเป็นครั้งแรกหลังจากที่แม่เสีย พอเขียนจบมันไม่ถึงขนาดว่า นี่แหละคือหนังที่เราอยากจะทำ แต่เรารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องการจะเล่า เป็นมวลบางอย่างที่อยู่กับเราในตอนนั้น และเราต้องจัดการกับมัน”
ใน There นครสวรรค์เล่าเรื่องราวของของหญิงสาวคนหนึ่งที่สูญเสียแม่ไป เธอและญาติๆ เดินทางมายังจังหวัดนครสวรรค์เพื่อลอยเถ้ากระดูกของแม่ที่ปากน้ำโพ แหล่งบรรจบระหว่างแม่น้ำน่าน กับแม่น้ำปิงซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเส้นทางไปสู่สวรรค์ และแม้ว่า นคร-สวรรค์ ฉบับภาพยนตร์จะยังมีเนื้อหาบางส่วนที่คล้ายกับเรื่องสั้น แต่พวงสร้อยก็บอกกับเราว่า การดำเนินเรื่องของทั้งสองเวอร์ชั่นจะไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว
นคร-สวรรค์ เป็นการผสานกันระหว่างพาร์ตของฟิกชั่นกับพาร์ตสารคดี โดยในส่วนของฟิกชั่น หนังจะเล่าเรื่องของ ‘เอย’ หญิงสาวที่เรียนฟิล์มอยู่ที่เยอรมนี แต่ต้องกลับมาไทยเพื่อลอยอังคารแม่ของเธอ หนังจะเล่าเรื่องราวตลอดหนึ่งวันบนเรือ ที่ซึ่งเอย พ่อที่ไม่ค่อยจะสนิทสนมกันนัก และญาติพี่น้องกลุ่มเล็กๆ จะร่วมโดยสารไปด้วยกันเพื่อปล่อยเถ้ากระดูกให้ไหลไปตามสายธารของปากน้ำโพ และในส่วนสารคดีนั้น พวงสร้อยจะเล่าผ่านฟุตเทจเก่าๆ ที่เคยได้ถ่ายพ่อกับแม่ไว้ เพื่อที่ว่าเรื่องเล่าทั้งสองส่วน ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือเรื่องแต่ง จะสนทนาโต้ตอบกัน สลับสับเปลี่ยนระหว่างกันจนพาร์ตฟิกชั่นและสารคดีจะร่วมประกอบสร้างขึ้นเป็นเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง
“บทของ นคร-สวรรค์ จะมีความเป็นชิ้นส่วนย่อยๆ เช่น ซีนหนึ่ง – สถานที่เป็นปากน้ำโพ เห็นบรรยากาศต่างๆ ในแม่น้ำ ซีนสอง – สถานที่เป็นสวนยาง เห็นพ่อกำลังกรีดยาง ซีนสาม – สถานที่เป็นบ้าน เห็นแม่ตื่นนอนแต่เช้า เหมือนเป็นการจัดเรียงชิ้นส่วนต่างๆ หรืออย่างพาร์ตฟิกชั่นที่เราเขียนขึ้นมา บทสนทนาระหว่างพ่อกับลูกก็มีที่เราหยิบยืมมาจากเรื่องจริงบ้างเหมือนกัน”
เมื่อบทถูกเขียนเสร็จก็เข้าสู่ขั้นตอนถ่ายทำ แต่ด้วยเรื่องราวในพาร์ตสารคดีได้ถูกถ่ายเก็บไว้หมดแล้ว การถ่ายทำ นคร-สวรรค์ ในพาร์ตฟิกชั่นจึงเสร็จสิ้นในระยะเวลาสั้นๆ แค่ 6 วันเท่านั้น โดยฉากหลักๆ ของเรื่องคือบนเรือใช้เวลาถ่ายประมาณ 4 วัน ส่วนฉากอื่นๆ ยิบย่อยก็อาศัยถ่ายเก็บจากวันเวลาที่เหลือ แม้ว่าโลเคชั่นหลักๆ ของหนังจะเป็นปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ แต่พวงสร้อยกลับไม่อยากให้ผู้ชมยึดว่าเรื่องราวในหนังจะต้องเกิดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์เสมอไป
“เราแค่ยืมโลเคชั่นของจังหวัดมาน่ะ เพราะใจจริงเราอยากเล่ากลางๆ ให้สถานที่ในเรื่องเป็นที่ไหนก็ได้ อย่างชื่อหนังเอง ที่เราใช้นคร ขีด สวรรค์ ก็เพื่อจะสื่อว่า นครคือโลกของคนที่ยังอยู่ สวรรค์คือโลกของคนที่ไม่อยู่แล้ว ส่วนขีดตรงกลางคือสิ่งที่อยู่ระหว่างโลกของเรากับสวรรค์”
แต่แม้ความตั้งใจจริงๆ จะไม่ต้องการจะสื่อถึงจังหวัดชื่อเดียวกันเสียทีเดียว หากก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพราะชื่อที่อ่านเหมือนกันนี้จึงสร้างความเข้าใจว่าหนังเรื่องนี้จะต้องพูดถึงจังหวัดนครสวรรค์อย่างโจ่งแจ้ง พวงสร้อยหัวเราะเมื่อเล่าให้เราฟังว่า มีชาวนครสวรรค์กลุ่มหนึ่งตื่นเต้นกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยคิดว่าเป็นหนังที่พูดถึงบ้านเกิดของพวกเขา
“มีเพจคนนครสวรรค์กับกลุ่มวิทยุชุมชนแชร์ไปว่า นี่คือหนังของจังหวัด ซึ่งเราประทับใจนะ เขาดูตื่นเต้นที่มีหนังเกี่ยวกับจังหวัดของเขา กลายเป็นว่าเราทำหนังเกี่ยวกับจังหวัดนี้ไปแล้ว (หัวเราะ)”
Post Production
ประเด็นหนึ่งที่พวงสร้อยถามตัวเองอยู่เสมอ คือระดับความเป็นส่วนตัวของ นคร-สวรรค์
“เราตั้งคำถามกับประเด็นนี้เยอะมาก ไม่ได้กลัวว่าคนดูจะไม่เข้าใจหนังนะ แต่กลัวว่าทำไมเขาต้องมารับรู้เรื่องราวเราวะ เหมือนไปยืนแก้ผ้าให้เขาดู ว่านี่พ่อฉัน นี่แม่ฉัน แม่ฉันเสียนะ และนี่คือสิ่งที่ฉันต้องจัดการกับตัวเอง เราค่อนข้างจะแคร์ว่าคนเขาจะคิดยังไง ทำไมเขาต้องเสียเงินมานั่งดูหนังเรื่องนี้
“แต่พอได้คุยกับใครหลายๆ คน เราเลยรู้สึกว่า เวลาดูหนังของผู้กำกับที่เราชอบมันก็เป็นแบบนี้ หนังไม่ได้พูดกับเราตรงๆ อย่างบางเรื่องเขาก็แค่หยิบจดหมายที่แม่เขียนมาอ่านให้ฟัง แต่ทำไมเราถึงร้องไห้วะ ทำไมเราถึงรู้สึกคิดถึงแม่ เราก็เลยเริ่มเพลาๆ ลงบ้าง”
ความเป็นส่วนตัวที่เลือกจะเปิดเผยต่อคนดูก็เรื่องหนึ่ง แต่กับความเป็นส่วนตัวของเนื้อหาที่อาจส่งผลกระทบใดๆ ต่อสมาชิกในครอบครัวก็เป็นอีกเรื่องที่ชวนให้กังวลใจ
“อย่างแม่จะยังเคยชินกับสิ่งที่เราทำ กับการเห็นเรามีกล้อง เขาพอรู้ว่าลูกทำอะไร แต่กับพ่อจะเป็นอีกเรื่อง เรากลัวและกังวลมากว่าเขาจะรู้สึกยังไงเมื่อเห็นตัวเองบนจอ เรากังวลมากกว่าว่าคนดูจะตัดสินสิ่งที่อยู่บนจอยังไง เพราะถ้าเป็นฟิกชั่น คนจะด่าก็ด่าไป อาจด่าว่านักแสดงเล่นไม่ดี ผู้กำกับห่วย บทไม่ดี แต่พอมันเป็นความจริงที่เรายกไปอยู่บนจอ ตรงนี้เราเลยจะแคร์เยอะหน่อย แต่คนที่ดูไปแล้วเขาก็ไม่ได้รู้สึกอะไรนะ หนังบางเรื่องอาจมีพาร์ตครอบครัวที่ส่วนตัวในระดับที่เป็นปมระหว่างพ่อแม่ลูก แต่เราว่า นคร-สวรรค์ ไม่ได้แตะไปถึงจุดนั้น เราไม่ได้ทำร้ายกันและกัน แต่เป็นแค่ความจริงหนึ่งเท่านั้นเอง”
ณ ตอนนี้ ยังไม่มีสมาชิกในครอบครัวคนไหนได้ดูหนัง และแม้จะยังมีความกังวลอยู่บ้าง แต่พวงสร้อยก็หวังให้พวกเขาได้ดู หวังให้พ่อได้ดู เพราะแม้ว่าหนังจะเกี่ยวกับความตายของแม่ หากขณะเดียวกันก็นำเสนอภาพของหลายชีวิตในครอบครัวที่ต่างก็โยงเกี่ยวซึ่งกันด้วยความรัก ความผูกพัน และการจากลา
หลายคนอาจคิดว่า น่าจะเป็นระหว่างถ่ายทำหนังที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจพวงสร้อยมากที่สุด แต่เมื่อเราลองถามคำถามนี้ เธอกลับบอกว่าเป็นช่วงตัดต่อต่างหากที่หนักหน่วงกว่ามากนัก
“เราว่าระหว่างถ่ายหนัง เราไม่ได้รู้สึกอะไรขนาดนั้น แค่เป็นเหมือนการกลับไปเยือนสถานที่เดิม เพราะตอนที่เราลอยอังคารแม่จริงๆ เราก็มาลอยที่ปากน้ำโพ แถมเรือที่ใช้นั่งก็เป็นลำเดียวกับที่ใช้ถ่ายเพราะที่นี่มีเรืออยู่ลำเดียว แต่ตอนถ่ายเราคิดแค่อยากถ่ายให้เสร็จ
“เป็นตอนตัดต่อที่ต้องมานั่งดูฟุตเทจแม่ซ้ำๆ ที่หนังทำงานกับเราจริงๆ มันหนักหน่วงมาก เราเห็นภาพแม่แล้วร้องไห้ หรือพอได้ยินเสียงแม่พูดก็เหมือนว่าเขายังอยู่กับเรา ยังไม่ได้ไปไหน เหมือนเราไปทำงานแค่สิบวัน แล้วไม่ได้เจอเขาเท่านั้น ไม่ได้รู้สึกว่าเขาตาย แต่พอดูไปเรื่อยๆ เราก็รู้ว่า อ๋อ เขาตายว่ะ มันเป็นเหมือนความก้ำกึ่งว่าเขายังอยู่หรือเขาจากเราไปแล้ว”
พวงสร้อยบอกเราว่า นคร-สวรรค์ เป็นเสมือนภาคต่อของ Rahula ในแง่ที่ว่า หนังทั้งสองเรื่องต่างเล่าเรื่องความรักเหมือนกัน เพียงแต่ถ้า Rahula คือการพูดถึงความรักต่อคนที่ยังอยู่ นคร-สวรรค์ คือการเล่าถึงความรักต่อคนที่จากไปแล้ว หากเรามองว่าพื้นฐานของภาพยนตร์คือการบันทึกเหตุการณ์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นพาร์ตฟิกชั่นที่แต่งขึ้นใหม่หรือพาร์ตสารคดีที่เคยได้บันทึกไว้ นคร-สวรรค์ จึงเป็นเสมือนบทบันทึกต่อการมีอยู่และจากไปของผู้หญิงคนหนึ่งก็เท่านั้น
Premiere
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นคร-สวรรค์ ได้เดินทางไปฉายรอบ World Premiere ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ก่อนที่ในเดือนพฤศจิกายน หนังจะได้ไปฉายที่เทศกาล Taipei Golden Horse Film Festival ที่กรุงไทเป ไต้หวัน เป็นเทศกาลหลังนี่เองที่ นคร-สวรรค์ ได้รับรางวัล Observation Missions for Asian Cinema Award ซึ่งมอบให้กับหนังเอเชียที่น่าสนใจในปีนั้นๆ
“มันตื่นเต้นนะ เพราะเราไปอย่างไม่ได้คาดหวัง ยิ่งพอเป็นหนังส่วนตัวแบบนี้เลยยิ่งกังวลว่าเราทำหนังไปเพื่อใคร แต่พอได้เห็นฟีดแบ็กว่าคนดูเข้าใจว่าสุดท้ายแล้วเรื่องแม่ เรื่องครอบครัว เรื่องการสูญเสีย เป็นประเด็นสากลมากๆ คือไม่ได้การันตีว่าหนังดีอะไรหรอก แต่มันทำงานกับเราในแง่ที่มีคนเข้าใจว่ามันเป็นหนังส่วนตัวที่เขาเชื่อมโยงได้
“บางคนบอกว่าดูแล้วนึกถึงตัวเอง หรือมีชาวไต้หวันที่บ้านอยู่ต่างจังหวัด แต่ต้องมาทำงานไทเปก็บอกว่าดูแล้วคิดถึงแม่ เพราะมีเหตุการณ์อย่างที่เหมือนกัน หรือมีคำพูดที่แม่ชอบพูดเหมือนกัน หรือบ้างดูแล้วนึกถึงแฟนเก่า เราว่าหนังทำงานกับคนดูในหลายระดับ ยิ่งพอเรื่องเป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่แตกย่อยออกไป มันเลยอาจทำงานกับคนดูในสักจุดหนึ่ง”
หลังจากไทเป พวงสร้อยยังไม่รู้ว่า นคร-สวรรค์ จะได้ไปฉายยังเทศกาลไหนอีก แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็หวังให้หนังเดินทางไปได้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เช่นเดียวกับที่ผู้กำกับสาวก็ยังคงยินดีอยู่เสมอต่อการได้รับฟีดแบ็กใหม่ๆ จากคนดูในรอบต่างๆ
“การไปฉายเทศกาลคือการได้เจอกับคอมเมนต์ต่างๆ ที่เราไม่เคยคิดมาก่อน มันตื้นตันที่อยู่ดีๆ มีคนมาบอกเราว่า เขาชอบหนังเรื่องนี้ บางคนมาดูถึงสองรอบ เราดีใจนะ ยิ่งพอเรามาจากประเทศเล็กๆ แต่กลับมีคนมาบอกว่า เขามารอดูหนังของเรา มันเติมเต็มเราอย่างที่ไม่ได้คิดมาก่อน
“หนังเองก็ยังทำงานกับเราทุกครั้งนะ อย่างเวลาดูแล้วมีฉากไหนที่แม่พูด เราก็ยังตลกกับเขาอยู่ แค่อาจไม่ได้ฟูมฟายแล้ว แม่เราชอบติดตามผลงานอยู่ตลอด อยากรู้ว่าลูกทำอะไร อยากสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่ง แม้ว่าเขาจะไม่เข้าใจขนาดนั้น เป็นไปได้ก็อยากให้แม่ดูหนังนะ แต่จะให้แม่ดูยังไงล่ะ” พวงสร้อยเล่าพร้อมรอยยิ้มจางๆ