“มูฟออนแล้วทำงานใหม่ให้ดีขึ้น” เมื่อออกแบบแอบบอกว่าควรทิ้งอะไรในยามงานหนัก

Highlights

  • แม้หลายคนจะคุ้นเคยกับภาพลักษณ์นางแบบของ ออกแบบ–ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง แต่ช่วงหลังๆ ที่เธอได้ขยับไปรับงานแสดงเต็มตัว ภาพของออกแบบในบทบาทนักแสดงก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น
  • หลังจากความสำเร็จแบบยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ ฉลาดเกมส์โกง เธอได้มีโอกาสโกอินเตอร์ไปทำงานในหลากหลายประเทศ ทั้งยังได้เรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงานจนรู้สึกว่าตัวเองเติบโตขึ้นมาก
  • เนื่องในการกลับมารับบทบาทบนจอหนังอีกครั้ง เราจึงชวนเธอมาพูดคุยถึงการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ที่แม้ภายนอกเธอจะดูเป็นผู้ใหญ่มากแค่ไหน แต่ออกแบบก็ยังยืนยันว่าตัวเองยังไม่โตและยังไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ด้วย

ตอนคุณกำลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้ คุณคงได้ชมทีเซอร์ของภาพยนตร์เรื่อง ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ ไปเรียบร้อยแล้ว

ฉันคิดเอาเองว่าใครๆ ก็น่าจะเคยประสบปัญหาแบบ ‘จีน’ หญิงสาวในเรื่องผู้ต้องการจะเคลียร์บ้านเพื่อรีโนเวต เกิดเป็นมหกรรมการโละของออกจากบ้าน จนไปเจอกับสิ่งของแห่งความทรงจำบางชิ้นที่ไม่รู้ว่าควรจะทิ้ง เก็บไว้ หรือนำไปคืนดี

นี่เป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่ ออกแบบ–ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง กลับมารับบทบาทบนจอหนังอีกครั้งหลังห่างหายไปโลดแล่นกับความโด่งดังของภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง ที่สร้างปรากฏการณ์ระดับโลกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

จากความสำเร็จในวันนั้น โอกาสมากมายวิ่งเข้าหาออกแบบในระดับที่เธอเองก็ไม่เคยคาดฝันมาก่อน ไม่ว่าจะด้านแฟชั่น การเดินแบบ หรือการแสดง จนได้โกอินเตอร์ไปปรากฏตัวตามสื่อระดับโลกไม่น้อย ยังไม่นับที่เธอได้สั่งสมบทเรียนและประสบการณ์ผ่านการเดินทางไปทำงานหลายประเทศ กลายเป็นหลักไมล์สำคัญที่ทำให้โลกในสายตาของหญิงสาวคนหนึ่งกว้างขึ้นมากจากเดิม

ในวันที่เธอเติบโตขึ้นทั้งการเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ประสบการณ์การทำงาน และขวบปีที่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ที่ผ่านมาออกแบบใช้ชีวิตแบบไหนและต้องทิ้งอะไรไปบ้าง ในโมงยามที่ทำงานอย่างหนักหน่วง สถานที่ทำงานคือที่ไหนสักแห่งบนโลกที่ไม่ใช่บ้านเกิด เธอได้อะไรกลับมา

แน่นอนว่าทั้งหมดนั่นทำให้ภายนอกเธอดูโตและเป็นผู้ใหญ่ แต่หญิงสาววัย 23 ปีคนนี้กลับย้ำกับเราเสมอว่า เธอยังไม่โต เธอยังไม่อยากเป็นผู้ใหญ่

หลังจาก ฉลาดเกมส์โกง มีอะไรในตัวเราที่เปลี่ยนไปบ้าง 

รู้สึกว่าตัวเองเป็นที่รู้จักมากขึ้นและโตขึ้นผ่านการเดินทางต่างๆ

 

หมายถึงรู้สึกว่าตัวเองโตขึ้นจากการทำงานในหลายๆ ประเทศใช่ไหม

ใช่ เพราะการเดินทางของออกแบบเริ่มต้นจาก star tour ของ ฉลาดเกมส์โกง แล้วมันได้ไปหลายประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีวัฒนธรรมและสังคมของเขาที่เราได้เรียนรู้ในหลายๆ แง่มุม หลักๆ เลยคือวัฒนธรรมการทำงาน ทำให้รู้สึกว่าตัวเองโตขึ้นจากการได้เรียนรู้อะไรพวกนี้

 

อะไรที่ทำให้เรารู้ว่าตัวเองโตขึ้น 

มุมมองของเราที่เข้าใจอะไรได้ง่ายขึ้น แบบเข้าใจจริงๆ ไม่ได้บังคับว่าต้องพยายามทำความเข้าใจ แต่เราเข้าใจมันเอง นี่แหละคือจุดที่ทำให้เราเข้าใจตัวเองและโตขึ้น

ช่วงสองปีที่ผ่านมาคุณทำอะไรอีกบ้าง

ได้โกอินเตอร์จากการทำงาน ออกแบบได้ไปต่างประเทศบ่อยๆ จากแฟชั่นและงานแสดง แฟชั่นก็มีฮ่องกง ไต้หวัน จีน ซึ่งออกแบบก็ได้ไปถ่ายซีรีส์ที่จีนมาด้วย ถือว่าได้เปิดโลกกว้างที่เป็นอีกชีวิตหนึ่งที่เราได้เรียนรู้

 

ยากไหมกับการต้องทำงานต่างประเทศเป็นระยะเวลานานๆ

ออกแบบว่าจริงๆ มันก็เหมือนกับที่ไทย แต่แค่เป็นเรื่องความแตกต่างของทีมงาน อย่างประเทศจีนเขาค่อนข้างทำงานเป็น project by project จำนวนเงินเท่านี้ และต้องเสร็จในเวลาเท่านั้นเท่านี้ มีการกำหนดเลยว่าสามวันต้องได้หนึ่งตอน แต่ในหนึ่งตอนดีเทลเยอะมากๆ เพราะฉะนั้นทุกคนจะไม่พร้อมไม่ได้ ทุกคนต้องพร้อมกัน ต้องสามัคคีกัน ไม่ว่าจะช่างกล้อง ช่างไฟ ทุกคนต้องอยู่ด้วยกัน เวลาสี่เดือนที่อยู่กับพวกเขาออกแบบต้องพร้อมไปทำงานทุกเมื่อ

 

ซึ่งการทำงานถือเป็นสิ่งที่คุณได้เรียนรู้มากๆ จากการไปต่างประเทศใช่ไหม

เรียนรู้แบบยิ่งใหญ่เลย ตอนที่ออกแบบมีโอกาสไปทำงานกับ CHANEL ตอน cruise collection ที่มาโปรโมตที่ไทย ออกแบบไปถ่ายงานที่ฝรั่งเศส ทีมงานเขามีสตอรีบอร์ดของทุกอย่างที่ชัดเจนมากๆ มีการเตรียมพร้อมในการทำงาน รวมไปถึงการเตรียมนักแสดงที่ต้องให้รอแบบไม่เหนื่อย เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่ามาสนุกกับการทำงาน ไม่ใช่มาทำงานเพื่อทำงาน แต่ขณะเดียวกันมันคือการออกมาทำงาน ซึ่งพวกเขาพร้อมมากจริงๆ ตอนนี้ต้องหมดเวลาแล้วนะ กำหนดเวลาชัดเจน ซึ่งที่ไทยก็มีนะ แต่มันต่างตรงสโคปการทำงานที่ใหญ่กว่า การทำงานของคนไทยจะเน้นพึ่งพาอาศัยกัน ของต่างประเทศงานก็คืองานจริงๆ และส่วนตัวรู้สึกว่าวงการแฟชั่นต่างประเทศค่อนข้างกว้างกว่าประเทศเรามาก 

มีประสบการณ์ทำงานครั้งไหนที่ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่สุด

ส่วนตัวคิดว่าตอนไปถ่ายซีรีส์อยู่ต่างประเทศนานๆ ประมาณ 4 เดือน เพราะไม่เคยไปนานขนาดนั้น รู้สึกว่าเหนื่อยมากๆ อยากกลับบ้านร้องไห้ โทรหาแม่จนที่บ้านบินมาเยี่ยม แล้วอย่างที่บอกว่ากองถ่ายโหดมาก ทุกคนต้องพร้อมจริงๆ เพราะทุกคนรับเป็น project by project ทั้งหมดเพื่อทำเรื่องนี้ให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด ดังนั้นเราไม่สามารถบอกหม่าม้าได้ว่าเราจะว่างวันนี้ๆ วันที่หม่าม้ากับครอบครัวมาเยี่ยม เราไม่ว่างเลย พอถ่ายเสร็จสี่ทุ่มให้พี่คนขับรถไปส่งที่โรงแรมหม่าม้า ไปหาหนึ่งชั่วโมง แล้วกลับมาถ่ายต่อ 

แต่มันเป็นหนึ่งชั่วโมงที่มีคุณค่ามาก มันกลายเป็นหนึ่งชั่วโมงที่เป็นภาพจำ เราจำได้ทุกวินาที จำบรรยากาศ จำห้อง จำโรงแรมเป็นฉากๆ แล้วกลายเป็นพลังบวกที่ทำให้เรากลับไปทำงานต่อได้ รู้สึกว่าโอเค เราจะสู้ให้มันจบ คิดว่าไม่ใช่แค่เราที่เป็นต่างชาติมาทำงานที่นี่จะรู้สึก พวกเขาที่เป็นคนที่นี่เองก็รู้สึกเหมือนกัน เราเหนื่อย เขาก็เหนื่อย ทุกคนเหนื่อยเหมือนกันหมด เราคิดด้านเดียวไม่ได้

 

แล้วตอนเข้าวงการ คุณเคยคิดถึงการไปทำงานระดับโลกไหม

ในฐานะนางแบบก็คิดเป็นภาพฝัน เป็นเป้าหมายของชีวิตไว้ว่าเรียนจบแล้วจะไปต่างประเทศ หนึ่ง สอง สาม สี่ ก็มีปกติอยู่แล้วของนางแบบคนหนึ่ง แต่เราไม่เคยคิดว่าจะผันตัวมาเป็นนักแสดงมากกว่า เป็นสิ่งที่รู้สึกว่าค่อนข้างห่างไกล ถึงแม้ว่าตัวออกแบบจะได้เล่นมิวสิกวิดีโอและโฆษณา ซึ่งด้วยฐานะของออกแบบตอนนั้นด้วยมั้งที่ยังรู้สึกว่าการทำการแสดงจริงๆ ทั้งเรื่องมันดูเป็นไปได้ยาก เราไม่คิดว่าจะไปเป็นนักแสดงได้เต็มตัวขนาดนั้น 

หลายคนมองว่าออกแบบนำหน้านักแสดงนางแบบรุ่นพี่ไปแล้ว ตัวคุณเองมองแบบนั้นหรือเปล่า 

ออกแบบเป็นคนสู้แต่ว่าสู้กับตัวเอง ถ้ามีศัตรูก็คือเป็นศัตรูกับตัวเอง เป็นการแข่งกับตัวเองมากกว่า ไม่เคยไปเปรียบเทียบกับใคร เพราะทุกคนก็มีมุมที่ดีและมุมที่เก่งของแต่ละคนอยู่แล้ว ซึ่งเราเทียบเขาไม่ได้ ไม่มีใครเทียบใครได้เลย 

 

ชอบแข่งกับตัวเองมากกว่าคนอื่น

ใช่ ส่วนตัวรู้สึกว่าการใช้ชีวิตคือมิชชั่น เหมือนการเล่นเกม ถ้าเปรียบเทียบชีวิตก็คือผ่านแต่ละด่านไปให้ได้ เก็บเลเวล แล้วเลเวลในชีวิตจะมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือค่าประสบการณ์ที่เราได้รับมา

 

ระหว่างนางแบบกับนักแสดง คุณชอบบทบาทไหนมากกว่ากัน

จริงๆ ออกแบบชอบและทำได้ทั้งคู่ แต่ถ้าให้เลือกเลย เราชอบการเป็นนักแสดงมากกว่า เพราะมันท้าทายว่าทำยังไงให้คนเชื่อว่าเราเป็นตัวละครนั้นจริงๆ ไม่ติดภาพการที่เราเป็นตัวละครใดตัวละครหนึ่ง 

กลับมาสู่จอหนังอีกรอบในฐานะนางเอกพันล้าน คุณกดดันไหม

ไม่กดดัน เพราะงานคนละสโคปกัน ดีใจมากๆ ที่ได้ทำงานกับทีมนี้ เพราะพี่เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) คือคนที่อยากทำงานด้วยมานานแล้ว บวกกับพอได้ฟังเรื่องราวของตัวละครที่เราไปแคสต์แล้วดีมาก ส่วนตัวออกแบบชอบ แต่ตอนแคสต์พี่เต๋อก็พูดเลยว่าขอแคสต์ไว้ก่อนนะ เพราะจริงๆ แล้วไม่รู้ว่าจะมีคาแร็กเตอร์เป็นคนไหน ซึ่งด้วยตัวจีนเองก็ค่อนข้างอายุเยอะกว่าออกแบบ เป็นคนวัยทำงานปลายๆ แล้ว เขาก็เลยลองดูว่าจะปรับอะไรได้มากน้อยแค่ไหน แล้วเราก็ได้รับบทนี้ 

 

อะไรที่ทำให้คุณสนใจอยากแสดงเป็นตัวละครนี้

เพราะตัวละครไกลตัวออกแบบ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย คนละนิสัยกันเลย เป็นตัวละครที่เราต้องปรับมายด์เซตใหม่หมด ออกแบบเวิร์กช็อปกับพี่เต๋อเกือบทุกวันเป็นเวลาหนึ่งเดือน เพื่อคุยกันว่าทำไมจีนถึงทำแบบนี้ ถ้าออกแบบเป็นจีนจะทำยังไง ซึ่งจูนไปจูนมาเราก็เข้าใจจีน

ถ้าออกแบบเจอสถานการณ์เดียวกับจีน อะไรที่ทำให้ตัดสินใจทิ้งหรือเก็บของชิ้นนั้น

มันอยู่ที่ว่าใครซื้อให้ ถ้าซื้อเองจะทิ้งง่ายมากๆ เป็นคนที่ถ้าของไม่ฟังก์ชั่นกับเราแล้วจะทิ้งเลยเพราะไม่ได้ใช้ แต่ถ้ามีคนให้มา อย่างนาฬิกาเรือนแรกในชีวิตที่พี่ให้ตั้งแต่ ป.5 จะไม่ทิ้ง ต่อให้มันใช้ไม่ได้แล้วก็ตาม หรือโทรศัพท์เครื่องแรกที่หม่าม้าซื้อให้ก็ยังเก็บไว้ไม่เคยทิ้ง

 

แล้วช่วงที่ทำงานหนักๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีอะไรที่คุณรู้สึกว่าต้องทิ้งหรือเสียไปหรือเปล่า

ถ้าตอนเด็กรู้สึกว่าเสียเวลาเล่น เสียเวลาที่จะได้เล่นกับเพื่อน เสียช่วงชีวิตวัยเด็ก เพราะออกไปทำงานและเรียน

 

แต่คุณก็เอนจอยกับการเลือกทำสิ่งนี้

เราเอนจอยทั้งคู่ คือทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยเราก็เอนจอย หรือนานๆ ทีได้กลับมาเล่นกับเพื่อนเราก็เอนจอย หรือการที่เราทิ้งการเรียนการเล่นกับเพื่อนไปบางครั้งเราก็เอนจอย กลายเป็นว่าพอมองกลับไปแล้วมันกลายเป็นโมเมนต์ที่เราทิ้งไปก็ได้ ถ้าถามว่าเสียดายไหมก็เสียดาย แต่ก็เป็นที่เข้าใจและยอมรับได้

แล้วช่วงที่แทบไม่ได้อยู่ไทยล่ะ

ถ้าอย่างนั้นก็เสียดายการที่ไม่ค่อยได้อยู่กับครอบครัวเท่าไหร่ เพราะเดินทางบ่อยมาก คิดถึงการอยู่กับพี่ๆ การทำงานกับคนไทย สุดท้ายแล้วคำว่าโฮมซิกมันมีอยู่จริง เราคิดถึงบ้านมากๆ นั่นคือความเสียดาย เพราะช่วงนั้นเราก็เจอเหตุการณ์ในชีวิตเหมือนกัน อย่างตอนอาม่าเสียเราก็ไม่ได้อยู่ที่ไทย แต่ทุกคนในครอบครัวเข้าใจออกแบบมากๆ และรู้สึกอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราไม่ทำงานตอนนั้น และถ้าเราเสียใจที่ไม่ได้ทำ เราว่าพวกเขาก็จะเสียใจที่เราไม่ได้ทำเหมือนกัน เพราะครอบครัวซัพพอร์ตเราตั้งแต่เด็กๆ แล้ว อยากทำอะไรก็ทำ แค่ขอให้เรียนให้จบด้วย 

เราเองก็เข้าใจว่าพอมาอยู่จุดนี้มันก็เป็นจุดที่เราเลือกเองด้วย ถ้าต้องทิ้งอะไรบางอย่างไปก็ต้องยอมรับมันให้ได้ โดยที่เข้าใจในเหตุและผลทั้งหมดที่เกิดขึ้นจริงๆ

 

อย่างนี้เคยผิดหวังจากงานที่ทำไหม

เรื่องการแสดงบางงานก็มีที่รู้สึกว่าทำได้ดีกว่านี้ แต่เวลา สถานที่ มันไม่ได้แล้ว หรือจริงๆ เราร้องไห้ได้มากกว่านี้แต่เมื่อวานเราไม่ได้นอนเพราะถ่ายงานทั้งคืนเลย ซึ่งพวกข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ออกแบบว่ามันเข้าใจได้ ไม่ต้องคิดมาก แค่มูฟออนแล้วทำงานอื่นให้ดีขึ้นก็พอ จะได้ไม่ต้องติดอยู่ตรงนั้น 

แต่ไม่เคยรู้สึกว่าต้องทิ้งตัวตนไปกับการทำงาน

ถ้าช่วงที่ทำงานเยอะๆ รู้สึกว่ามีทิ้งไปบ้าง เพราะว่าตอนนั้นมันคือการพร้อมในการไปทำงาน กดดันมาก อยู่ในโหมดนั้นตลอดสี่เดือนเลยมีความรู้สึกว่าตัวเองแกว่งๆ เหมือนสูญเสียตัวเองไปช่วงหนึ่ง แต่เรากลับมาเป็นตัวเองแล้ว

 

ตัวตนของออกแบบมีส่วนประกอบอะไรบ้าง

มันประกอบกันหมดเลย ความเป็นเด็ก ความเป็นผู้ใหญ่ การงาน ครอบครัว เพื่อน ความสัมพันธ์ ก็หล่อหลอมมาเป็นเราทั้งหมด

 

ความเป็นเด็กที่ว่าคือ

เรายังมีความเป็นเด็กอยู่ สมมติว่าอยู่กับพี่ผู้จัดการ ออกแบบก็ยังเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลาเหมือนเดิม แต่ถ้าคนอื่นที่ไม่สนิทกับเรามาก จะรู้สึกว่าเรานิ่งๆ ดูโต ซึ่งจริงๆ แล้วเรายังมีมุมเด็กๆ ที่อยากเล่น อยากคุยอยู่ 

ตอนนี้ก็คิดว่าตัวเองยังไม่เป็นผู้ใหญ่เหรอ

ยัง ทั้งๆ ที่ทำงานหาเงินมาตั้งแต่อายุ 15 ก็ยังไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ รู้สึกว่าตัวเองยังไม่โต เหมือนเรารู้ด้วยตัวเองว่าเรายังไม่โต ยังเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้ขนาดนั้น อาจจะเริ่มเข้าสู่ช่วงเป็นผู้ใหญ่ 

 

คาดหวังไหมว่าอยากเป็นผู้ใหญ่แบบไหน

ไม่เคยคาดหวังเลย ไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ เพราะยังสนุกอยู่ ทำไมต้องรีบโต ค่อยๆ เรียนรู้ไปแต่ละทิศทางที่เราก้าวเดินดีกว่า ไม่ต้องรีบทำอะไรหรอก เราแข่งกับตัวเอง ไม่ได้แข่งกับคนอื่น แข่งกับตัวเองก็รับผิดชอบชีวิตตัวเอง ที่ไม่อยากรีบโตเพราะไม่รู้จะรีบโตไปทำไม เพื่ออะไร ในเมื่อตอนนี้ออกแบบก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็ก แต่ก็สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ 

ทั้งๆ ที่เข้าสู่โลกการทำงานที่เป็นโลกของผู้ใหญ่ก่อนเพื่อนวัยเดียวกัน และคนก็มองว่าคุณดูโตแล้ว

อาจเป็นเพราะว่าเราเข้าสังคมการทำงานก่อน ปกติเด็กก็มีสังคมของเขา อย่างโรงเรียนกวดวิชา โรงเรียน ครอบครัว เพื่อน แต่ของเราเข้าสู่สังคมการทำงานที่ได้เจอพี่ๆ ก่อน ก็ไม่ได้มองว่าการทำงานก่อนจะทำให้เราเป็นผู้ใหญ่กว่าคนอื่นเขาขนาดนั้น 

ในขณะที่อายุ 23 เพื่อนบางคนก็เหมือนออกแบบ ทั้งที่ไม่ได้ทำงานก่อน กลายเป็นว่าเราไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเราเป็นผู้ใหญ่ มันคือช่วงวัยในการเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่แค่นั้นเอง แต่จุดที่ทำให้เรารู้ว่าโตขึ้นคือการเข้าใจโดยที่ไม่ต้องพยายามทำความเข้าใจ

 

แล้วถ้าให้จินตนาการถึงตัวเองตอนเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตล่ะ พอจะมีภาพไหม

มันยาก เพราะไม่รู้ว่าตอนนั้นเรายังจะเหลืออะไร ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่างเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ยังไม่ได้ย้ายออกจากบ้าน ยังอยู่กับพ่อแม่อยู่เลย เราแฮปปี้กับที่บ้าน ติดห้อง คิดว่าถ้ามีคอนโดอยู่คนเดียวก็น่าจะเหงาและเบื่อ คิดว่าน่าจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ให้หม่าม้าทำข้าวเช้าให้กินไปเรื่อยๆ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ลักษิกา จิระดารากุล

ช่างภาพ a team junior 12 ผู้ถูกชะตากับอาหารที่มีสีส้มเกือบทุกชนิด และรักกะเพราไก่ (ใส่แครอท)