ดวงตาเห็นคำ : zine บอกเล่าความเป็นกรุงเทพฯ จากการเดินเล่นเห็นคำเป็นประจำทุกวัน

Highlights

  • จากงานอดิเรกที่เป็นการเดินเล่นอย่างจริงจังในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ​ สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล มักสังเกตเห็นถ้อยคำบนป้ายของชาวเมืองเสมอๆ ทั้งคำที่น่ารัก อบอุ่น ตลกขบขัน หรือพลุ่งพล่านด้วยอารมณ์ เธอจึงถ่ายภาพป้ายเหล่านั้นและรวบรวมเป็นซีนขนาดกะทัดรัดในชื่อ 'ดวงตาเห็นคำ'
  • ดวงตาของเธอเห็นคำแบบไหน เปิดตาทั้งสองข้างของคุณให้พร้อมแล้วตามเธอไปด้วยกัน

คุณเคยเห็นป้ายเหล่านี้ไหม

ดวงตาเห็นคำ

ในแต่ละวัน คุณอาจจะเคยเห็นถ้อยคำเหล่านี้ผ่านตามาบ้าง แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีเวลาสบตากับมัน ซีนเล่มนี้จึงเป็นโอกาสอันดีในการรวบรวมผลพวงของการเดินเล่นอย่างจริงจังตลอด 4 ปีในย่านพระนคร ซึ่งทำให้ดวงตาทั้งสองข้างของเราได้ปะทะเข้ากับถ้อยคำสารพันที่ผู้คนหยิบยกคัดสรรมาสื่อถึงกัน แม้สารนั้นจะส่งถึงมือผู้รับโดยสมบูรณ์แล้ว แต่พยานรู้เห็นอย่างเราที่บังเอิญมาเจอเข้าก็พลอยได้คิดตามคำไปด้วย บางทีเราก็นึกสนุก ขยี้ต่อเป็นมุกที่ชวนยิ้มได้อย่างไม่น่าเชื่อ บางครั้งเราขำอย่างหนึ่ง เพื่อนก็เข้าใจไปอีกอย่าง ยิ่งทำให้เห็นความลื่นไหลไม่หยุดนิ่งของภาษา

ยิ่งสะสมถ้อยคำมากขึ้น นานวันเข้าเรายิ่งรู้สึกว่าคำเหล่านี้ช่างน่าสนใจ แล้วก็เป็นจริงอย่างที่เขาว่ากันว่า ยิ่งสนใจอะไร ก็จะยิ่งเจอ รู้ตัวอีกทีอัลบั้ม ‘ดวงตาเห็นคำ’ ในเฟซบุ๊กที่สร้างไว้เล่นๆ ก็มีภาพมากกว่า 200 ภาพ (ไม่นับที่ถ่ายเก็บไว้แล้วลืมอัพโหลดอีกไม่รู้เท่าไหร่)

 

มองเมืองผ่านคำ

เมื่อกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์แซลมอนชวนนำอัลบั้ม ‘ดวงตาเห็นคำ’ มาทำเป็นซีนสำหรับ Bangkok Art Book Fair 2019  โดยสนใจภาพความเป็นเมืองที่แฝงอยู่ระหว่างบรรทัด แทรกอยู่ตามตัวอักษร เราก็เลยไม่รอช้าที่จะลองดูสักตั้ง

ไอเดียตั้งต้นของเรามีทั้งการวางคำแต่ละหมวดปะปนกัน เช่นเดียวกับประสบการณ์ที่เราพบเจอถ้อยคำตามถนนหนทาง หรือเป็นแบบเรียนฝึกอ่าน แต่คิดไปคิดมาหลายตลบก็ได้ข้อสรุปว่าจะใช้คอนเซปต์ของแบบฝึกหัดเห็นคำ ให้ผู้อ่านค่อยๆ ได้ลองสังเกตคำไปเรื่อยๆ ทีละหมวด ไม่ว่าจะเป็นคำโฆษณา คำขอร้อง คำสั่ง ฯลฯ โดยมีข้อเขียนสั้นๆ เล่าไอเดียของแต่ละส่วนก่อน ให้พอเข้าใจว่ากำลังจะได้เจออะไรต่อไป จะได้เตรียมใจได้ทัน

 

กลุ่มกลุ้ม

เหตุที่เก็บคำมาอย่างสะเปะสะปะ เราเลยไม่ได้คิดถึงการจัดหมวด แจงประเภทถ้อยคำใดๆ มาก่อน โชคดีที่ a day เคยชวนเขียนบทความเกี่ยวกับป้ายเหล่านี้มาแล้วครั้งหนึ่ง จึงได้มีโอกาสสังคายนาความตลกเฮฮาน่าฉงนอันไม่รู้สาเหตุในคำเหล่านั้น จนพอเห็นโครงสร้างจับต้องได้อยู่บ้าง เมื่อพอจะมองเห็นที่มาที่ไปก็อ่านความรู้สึกนึกคิดในใจของผู้สร้างสรรค์คำเหล่านี้ได้ละเอียดชัดเจนกว่าเดิม

แต่แม้จะจัดหมวดมาแล้วครั้งหนึ่ง พอต้องมาทำซีน ขั้นตอนนี้ก็ยังชวนกลุ้มอยู่ดี เพราะเราพบว่าหลายคำก็ยากที่จะแบ่งแยก จัดหมวดหมู่ได้อย่างชัดเจน บางป้ายอ่านดูครั้งแรกเหมือนจะบอกเล่าเฉยๆ แต่อ่านอีกครั้งเหมือนกำลังถูกด่า หรือบางป้ายเหมือนจะหวงห้ามแต่จริงๆ แล้วก็ใจดีโอนอ่อนผ่อนปรน จนต้องกุมขมับ ขยับปรับเปลี่ยนหมวดหมู่อยู่หลายรอบกว่าจะลงตัว

 

รูปปะคำ

เมื่อเราดึงเอาถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่จริงๆ มาสู่พื้นที่เสมือนในโลกออนไลน์ แล้วจะนำมันกลับสู่โลกแห่งความจริงบนหน้ากระดาษอีกครั้ง จึงต้องคิดกันหนักหน่อยว่าจะทำอย่างไรให้เซนส์ของความ everyday life หรือความรู้สึกพบเจอได้ชีวิตประจำวันยังคงอยู่ แต่ก็ดูพิเศษพอที่ควรจะเก็บรักษาไว้ในแบบรูปเล่ม

ด้วยเหตุนี้ กราฟิกดีไซเนอร์ของสำนักพิมพ์จึงหยิบเอาเลย์เอาต์แบบหนังสือพิมพ์มาจัดการกับข้อความเปิดของแต่ละบท เลือกกระดาษอาร์ตสีชมพูอ่อนเข้าเล่มด้วยการเย็บด้ายสีแดงสดโดดเด่น ดูไกลๆ เหมือนปึกกระดาษเช็ดปากตามร้านอาหารริมทาง (ครั้งแรกที่เห็นต้องขีดเส้นใต้ตรงนี้เลยว่าช่างตรงใจผู้เขียนยิ่งนัก) แถมแกรมกระดาษไม่หนาจนหนัก แต่ก็ไม่บางจนสีที่พิมพ์ทะลุมาอีกด้าน รูปและคำถูกจัดเรียงไว้หน้าละ 1 ภาพพร้อมคำบรรยายสั้นๆ มีเส้นสีแดงขีดยุกยิกเน้นให้พอเห็นคำสำคัญในภาพ ผู้อ่านจะได้เก็ตง่ายขึ้นอีกหน่อย ไม่ต้องเพ่งจนปวดตา เพราะเราเลือกทำให้ซีนเล่มนี้มีขนาดเท่าฝ่ามือ ช่างกะทัดรัดพกใส่กระเป๋ากางเกงได้สบาย 

 

ดวงตาเห็นคน

หลังจาก ‘ดวงตาเห็นคำ’ เสร็จสิ้นออกมาเป็นรูปเล่ม นอกจากเราจะได้มองลึกลงไปถึงเรื่องราวเบื้องหลังถ้อยคำบนแผ่นป้ายได้ไม่รู้จบแล้ว เรายังมองเห็นคนในคำเหล่านั้นมากขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะบ่นลงในโซเชียลมีเดีย เขียนป้ายสักอัน พ่นคำลงบนกำแพง เราต่างล้วนแต่พยายามสื่อสารกันทางอ้อม เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ หรือผลักไสสิ่งที่ไม่ต้องการ เพื่อให้เราพอจะอยู่ร่วมกันได้ไม่ว่าจะแตกต่างกันแค่ไหน 

ทุกคำที่ผู้เขียนเซ็นลงไปบนหน้ากระดาษหน้าแรกจึงพยายามชวนให้ผู้อ่านออกไปเดินเล่น มองเห็นทั้งคำและคนไปพร้อมกันเสมอ ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกคนก็มีดวงตาเห็นคำด้วยกันได้ทั้งนั้น 

 

zine : ดวงตาเห็นคำ
maker : สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล
พิมพ์ 4 สี ขนาด 10 x 14 cm จำนวน 92 หน้า ราคาเล่มละ 125 บาท
พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2562 จำนวน 3,000 เล่ม
สำนักพิมพ์ Salmon Books

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่