ตามไปดู 12 อาร์ตบุ๊ก เท่ แปลก และแหวกขนบในงาน Bangkok Art Book Fair 2019

Highlights

  • Bangkok Art Book Fair 2019 กลับมาเป็นครั้งที่ 3 เพื่อเปิดให้ชาวอาร์ตและบุคคลหลายแวดวงมาเปิดบูทจำหน่ายอาร์ตบุ๊กของตัวเอง
  • ขึ้นชื่อว่าศิลปะอาร์ตบุ๊กของปีนี้ก็ยังไร้กรอบจำกัดเหมือนเดิม บางเล่มเด่นเรื่องภาพ บางเล่มเด่นเรื่องวิธีการนำเสนอ บางเล่มดูไม่รู้เรื่องเลยนะ แต่สนุกโคตรๆ
  • เดินสนุกนะ ไม่เชื่อมาลองเดินดูสิ มาสิ

Bangkok Art Book Fair 2019 หนังสือบางเล่มทลายข้อจำกัดของสื่อสิ่งพิมพ์

คงไม่เกินจริงนักหากเราจะนิยามหนังสือในงาน Bangkok Art Book Fair 2019 ว่าอย่างนั้น ใครที่เคยมางานนี้คงรู้ว่าจะได้เจอกับความเหวอ แปลก แหวกขนบภาพจำของสิ่งที่อยู่บนหน้ากระดาษ ซึ่งปีนี้งานยังคงจัดขึ้นที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ที่เดิม และยังยกทัพนักทำอาร์ตบุ๊กจากหลากประเทศทั่วโลกมากันมากไม่ต่างจากปีก่อนๆ

หลังจับๆ ดมๆ อยู่หลายเล่ม เราตัดสินใจทำ pick list แนะนำโดยเลือกจากเล่มที่ดึงดูดเรามากเป็นพิเศษ ซึ่งบางเล่มนั้นภาพงามขนาดที่แค่เปิดดูก็เหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในโลกอีกใบ บางเล่มจัดวางองค์ประกอบอย่างไร้ทิศทางโดยไม่รู้จะเริ่มอ่านจากตรงไหน บางเล่มก็แอ็บแสตรกท์จนเข้าไม่ถึง แต่โคตรสนุก!

หนังสือในงานนี้ทำให้เรานึกถึงคำกล่าวที่ว่า PRINT IS NOT DEAD, BUT BORING PRINT WILL.

และนี่คือ 12 เล่มที่เราคิดว่าเป็นตัวแทนของ NOT-SO-BORING PRINT ได้ดี

 


 

01 Sunshine is over me

Artist : ต้องตา จิตดี
Booth : Space Bar Zine

หลายคนรู้จัก ‘เพลง–ต้องตา จิตดี’ ในฐานะศิลปินวง Plastic Plastic และคอลัมนิสต์ขาประจำของคอลัมน์ i was there ใน adaymagazine.com วันนี้เธอกลับมาพร้อมกับซีนที่ยังคงคอนเซปต์เกี่ยวกับการเดินทาง อัดแน่นประสบการณ์ตอนไปเยือน 6 เมืองน่าเที่ยวอย่างนากาโนะ, ทัสมาเนีย, นิวซีแลนด์, เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี และไอซ์แลนด์ ที่ต้องตาเล่าผ่านภาพและตัวหนังสือโทนอุ่นๆ อ่านสบายเช่นเคย

เพลงบอกว่า “ความพิเศษของ Sunshine is Over Me คือ ‘ซีดีประกอบการท่องเที่ยว’ บรรจุ 6 แทร็กที่เราแต่งขึ้นมาให้เป็นตัวแทนความรู้สึกที่มีต่อ 6 เมืองในเล่มโดยเฉพาะ ฟังแล้วเราจะนึกถึงความรู้สึกตอนนั้นเลย”

 


 

02 40 Vision for the better earth

Artist : ยศพล บุญสม
Booth : inclusive city

แค่พูดว่าหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง หลายคนอาจจะเบือนหน้าหนีเพราะเห็นภาพหนังสือหนาๆ น่าเบื่อลอยขึ้นมา ภูมิสถาปนิกอย่างยศพล บุญสม จึงผุดไอเดียการสื่อสารที่อยากให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ ผ่าน 40 การ์ดรูปสเกตช์สีสวย มาพร้อมก้อนข้อมูลที่แสนจะย่อยง่าย

“เราสนใจเรื่องเมือง เลยไปเดินสำรวจเมืองแล้วสเกตช์ไอเดียที่เห็นตามมุมต่างๆ ทั้งทางรถไฟเก่า ริมแม่น้ำ ทำเก็บมาแล้วสักระยะหนึ่ง แล้วก็ได้ไอเดียทำเป็นการ์ด 40 ใบ เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องเมืองเป็นเรื่องหนัก จึงอยากจะสื่อสารด้วยรูปสเกตช์ ดูเพลินๆ มีข้อความน้อยๆ เป็นการ์ดที่คนอ่านน่าจะสนุกกับมัน

“อยากสื่อสารง่ายๆ ให้คนได้คิดดูว่าเมืองรอบๆ ตัวคุณมันเปลี่ยนแปลงได้ บางทีอาจเป็นเรื่องง่ายๆ ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมได้ บางส่วนก็เป็นโปรเจกต์ที่เราทำจริง เช่น ทุ่นลอยน้ำผลิตพลังงานให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา เปลี่ยนตึกแถวเก่ามาเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนใช้งาน หรือเปลี่ยนท่าเรือให้กลายเป็นพื้นที่ชิลล์เอาต์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา”

 


 

03 ดวงตาเห็นคำ

Artist : สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล
Booth : Salmon

เพราะทำงานเกี่ยวกับด้านเมืองอยู่แล้ว ‘สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล’ จึงชอบถ่ายรูปป้ายต่างๆ เก็บเอาไว้ เพราะในแง่หนึ่ง เธอคิดว่าป้ายเหล่านี้คือสัญลักษณ์ที่สื่อว่าคนเราสื่อสารกันอย่างไร จนในที่สุดก็กลายมาเป็นพ็อตเก็ตบุ๊กเล่มจิ๋วที่ว่าด้วยข้อความในป้าย และชุดความคิดสนุกๆ ที่สุวิชามีต่อป้ายเหล่านั้น

“ดวงตาเห็นคำถือว่าเป็นหมวดใหม่ของแซลมอน ซึ่งแตกต่างจากพ็อตเก็ตบุ๊กที่ผ่านมาซึ่งจะเข้าสัน เย็บกี่” กาย–ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการผู้ดูแลเล่มนี้เล่าให้เราฟัง “พอคนคิดถึงพ็อกเก็ตบุ๊ก คนมักจะนึกถึงอะไรวิชาการ อ่านยาก เราอยากให้หนังสือเข้าถึงง่ายอีกครั้ง เริ่มด้วยการลดฟอร์มให้ไซส์เล็กลง ทำหนังสือด้วยการเย็บด้าย และเป็นโปรเจกต์ที่อยากให้นักเขียนเล่าเรื่องที่เขาอยากเล่าจริงๆ เป็นประเด็นที่เป็นความสนใจเฉพาะตัวของคนคนนั้น”

 


04 GOLEM

Artist : เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล
Booth : Common Books

GOLEM หมายถึงมนุษย์ดินปั้น เป็นคำที่อ้างอิงกับความเชื่อในสังคมหลายๆ แห่งว่ามนุษย์ถูกสร้างขึ้นจากดิน ทำให้งานออกแบบ GOLEM ของเรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล นั้นเกิดจากการรวมมวลสารของสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว ซึ่งเขาไปเก็บสะสม เผาเป็นขี้เถา และทำเป็นชิ้นส่วนมนุษย์ขึ้นมา ซึ่งในมวลสารนั้นๆ ก็มีเรื่องราวของมันอยู่ พัฒนาจนออกมาเป็นซีนที่ว่าด้วยงานออกแบบและเรื่องราวประวัติศาสตร์เบื้องหลังของส่วนประกอบงานนั้น

“มี GOLEM ชิ้นหนึ่งที่ทำเป็นแบบจมูกของคนอินเดีย แต่ว่าทำจากขี้เถาของหนูท่อนอร์เวย์ เพราะจากการศึกษาข้อมูลแล้ว หนูท่อนอร์เวย์นั้นมาจากอินเดีย แต่นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อว่าหนูท่อนอร์เวย์ เพราะมันแพร่เรื่องกาฬโรคในยุโรป มันอ้างอิงถึงการข้ามสปีชีส์จากที่แห่งหนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง”

“งานศิลปะ GOLEM ทุกชิ้นมันมีเรื่องราว เพราะฉะนั้นในหนังสือจะสอดแทรกไปด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์พวกนี้ สลับกับภาพถ่ายงาน GOLEM ของศิลปินที่ออกแบบเป็นงานคอลลาจ ซึ่งบางทีข้อมูลนั้นอาจจะไม่ได้ตรงกันเป๊ะๆ แต่มันมีเซนส์อะไรบางอย่างที่เชื่อมโยงกับตัวงาน” เรืองศักดิ์บอกกับเรา

 


 

05 LONELY PLANET

Artist : ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ
Booth : Salmon

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ เป็นช่างภาพผู้รักการเดินทาง ภาพถ่ายของเขามีเอกลักษณ์และมู้ดแอนด์โทนที่ชัดเจน เมื่อชนพัฒน์เลือกรูปมาให้กาย–ปฏิกาล ภาคกาย ผู้เป็นบรรณาธิการดูเพื่อทำอาร์ตบุ๊กสักเล่ม พวกเขาพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของทิศทางหนังสือ และสิ่งที่เห็นตรงกันคือภาพที่คัดมานั้นล้วนมีจุดร่วมเป็นความเปล่าเปลี่ยวบางอย่าง แม้ว่าจะอยู่คนเดียว สองคนหรือกี่คนอยู่ด้วยกันก็ยังดูเหงาอยู่ดี นั่นคือที่มาของ ‘lonely planet’

“เราออกแบบให้เป็นเซตโปสต์การ์ด 32 รูปแบบฉีกได้ อยากสื่อสารกับใครก็เขียนไปหาเขา จะได้ไม่ต้องเหงากันอีกต่อไป” ปฏิกาลเล่า

 


 

06 อาหารตามสั่ง

Artist : พิสิษฐ์ พนมอุปถัมภ์
Booth : 7

ซีนเกี่ยวกับอาหารตามสั่งชิ้นนี้เตะตาเราด้วยสีสันจี๊ดจ๊าดระดับที่อยู่ไกลหลายเมตรก็ยังเห็น พิสิษฐ์ พนมอุปถัมภ์ เล่าว่าไอเดียเริ่มแรกนั้นมาจากการอยากเล่าว่าอาหารตามสั่งมันเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองมนุษย์กรุงเทพฯ ที่เป็นพนักงานออฟฟิศเยอะ ใช้ชีวิตเร่งรีบ ต้องการอาหารที่สะดวกกิน ความน่าสนใจของอาหารตามสั่งคือเราสามารถ customize จานของเรายังไงก็ได้ เพราะฉะนั้นเนื้อหาในเล่มจึงมีสเตปการสั่ง ตัวอย่างของอาหารตามสั่ง ท่ีมีตั้งแต่ตัวอย่างธรรมดาไปจนถึงตัวอย่างขั้นแอดวานซ์อยู่ในนั้น

“จริงๆ อยากสื่อสารกับชาวต่างชาติ เพราะว่าเวลาต่างชาติมองประเทศไทยมักจะมองเป็นมัสมั่น ต้มยำกุ้ง เขาไม่เข้าใจว่าการสั่งอาหารตามสั่งมันคืออะไร เราจึงทำเล่มนี้ล้อกับเมนูของอาหารตามสั่งจริงๆ โดยใช้รูปที่ถ่ายเองทั้งหมด เรื่องสีเราพยายามใช้สีที่มีความเป็นไทยเข้ามา สีแดงสด สังกะสี ได้อินสไปร์มาจากผ้าปูโต๊ะของไทย เข้าเล่มแบบเย็บสันห่วง พยายามเอา element ที่สื่อถึงอาหารตามสั่งไทยหลายๆ อย่าง”

 


07 Romero – Live Book

Artist : Chris Romero
Booth : Romero Item

Chris Romero เป็นนิวยอร์กเกอร์ผู้ทำงานอยู่ในแกลเลอรีอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะผันตัวเองมาทำอาชีพวาดภาพ เป็นอาจารย์สอนศิลปะ และตอนนี้สนุกสนานไปกับใช้เวลาท่องโลก และสร้างงานศิลปะบนสมุดเปล่าที่เขามักจะพกมันไปไหนมาไหนด้วย และ Romero – Live Book คือหนึ่งในผลงานชิ้นที่เขาหยิบมาโชว์

“ผมวาดเล่มนี้บนเครื่องบิน เป็นไฟลต์จากโอซาก้ามาไทย วาดอะไรก็ตามที่ผุดขึ้นมาในหัวผมตอนนั้น ส่วนมากจะเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ผมบินตอนนั้น อย่างรูปแคนดี้ปิกาจูเนี่ย วาดเพราะตอนนั่งเครื่องบินผมหิวมาก พวกเขาไม่เสิร์ฟอาหารอะไรเลยเพราะเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ เพราะฉะนั้นอาหารอย่างเดียวที่ผมมีตอนนั้นคือแคนดี้รูปปิกาจูที่เพื่อนให้มา”

 


08 Dear Loneliness

Artist : ภัทรมน สำราญสำรวจกิจ
Booth : Jeep Kongdechakul

ซีนของภัทรมน สำราญสำรวจกิจ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่มนี้เป็นมากกว่างานทีสิสจบของเธอ เพราะภัทรมนทำหนังสือที่สำรวจความเหงาของตัวเองและคนทั่วไป พร้อมนำเสนอวิธีการ ‘ก้าวข้ามความเหงา’ ในระดับต่างๆ ผ่านหน้าป๊อบอัพสุดน่ารัก

“บางคนคิดว่าความเหงาคือการต้องกลับมาอยู่คนเดียวแล้วเศร้า เราเลยอยากมาชวนมองอีกมุมว่าจริงๆ เวลาที่เรากลับมาอยู่คนเดียวก็เป็นเวลาที่ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองเหมือนกัน เราจึงออกแบบเป็น tools book ในการนำเสนอเรื่องวิธีการทบทวนตัวเองแบบต่างๆ ซึ่งแต่ละแบบจะเป็นแอ็กชั่นการระบายความรู้สึกให้เราเข้าใจตัวเอง มองเห็นอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง แบ่งตามดีกรีความรู้สึกที่แตกต่างกัน”

 


09 คำถามที่คุณอยากรู้แต่ไม่กล้าถามเพื่อนมุสลิมของคุณ

Artist : พิชญะ วิมลธรรมวัฒน์
Booth : DATA / STORYTELLING & BOOK WORKSHOP

ในฐานะคนมุสลิม พิชญะ วิมลธรรมวัฒน์ รู้สึกว่าตั้งแต่เด็กจนโต เขาทั้งโดนถาม และมีสิ่งที่เพื่อนไม่กล้าถามเกี่ยวกับตัวเขาเอง สิ่งนี้บันดาลใจให้เขาทำซีนรวบรวมคำถามที่เพื่อนชอบถามแต่ไม่รู้จะตอบยังไง รวมไปถึงคำตอบที่เพื่อนอยากรู้แต่ไม่กล้าถามเพื่อนที่เป็นมุสลิม

 


10 Wordpool Vol.3 : เห็น

Artist : ปัญจพร ไชยชมภู
Booth : หายหายและหลายๆ ใบ

Wordpool คือซีรีส์ของซีนที่ปัญจพร ไชยชมภู เปรียบว่าเหมือนสระน้ำที่มีคำหลายคำอยู่ในสระ แล้วเธอดึงคำขึ้นมาใช้ทีละคำ เริ่มทำ volume แรกจากคำหนึ่งคำที่เซตเป็นธีมของเล่มนั้นๆ จนตอนนี้มาถึง volume ที่ 3 เธอเลือกคำว่า ‘เห็น’

พูดถึงคำว่าเห็น เรามักจะคิดถึงการมองเห็น แต่เห็นอีกแบบหนึ่งของเธอคือความเข้าใจ

“เรื่องสั้นที่เขียนจะเกี่ยวกับการมองเห็นด้วยตา การเข้าใจ หรือหมายถึงลูกตาจริงๆ ด้วยซ้ำ เราเลือกใช้ฟอร์แมตที่ใหญ่กว่าปกติประมาณ A3 เพราะอยากลอง มันเหมือนชาเลนจ์ตัวเองไปเรื่อยๆ ว่า เราสามารถทำซีนฟอร์แมตไหนได้บ้าง และที่จัดเลย์เอาต์ไม่เหมือนหนังสือทั่วไป เพราะเราอยากลองทดสอบกับคนอ่าน ถ้าคนอ่านเร็ว เรื่องมันจบเร็ว ตัวละครทำอะไรเร็ว คนอ่านช้าเรื่องก็ช้า เราอยากเข้าไปควบคุมประสบการณ์ตรงนั้น เรายืดประโยคออกมา ทำให้มันห่างกัน ถ้าคนอ่านเร็วคนก็อ่านช้าลง สร้างประสบการณ์บางอย่างกับคนอ่าน”

 


11 ปรับทัศนคติ Weight of Thoughts

Artist : ธาม บรรณาการ
Booth : DATA / STORYTELLING & BOOK WORKSHOP

ปรับทัศนคติ Weight of Thoughts คือซีนจากโครงการเวิร์กช็อปของ Bangkok Art Book Fair ครั้งนี้ ที่ธาม บรรณาธิการอยากชวนคนที่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับกลุ่ม คสช.ได้ลองอ่าน เพราะหนังสือเล่มนี้จะเป็นการรวบรวมความคิดของคนทั้งสองฝ่าย โดยจัดเซกชั่นออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้าน คสช. ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุน คสช. และอีกส่วนตรงกลางจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง คสช. เริ่มตั้งแต่ช่วงรัฐประหารจนถึงเหตุการณ์ล่าสุด

ธามบอกกับเราว่า “สมมติหน้าแรกเป็นเรื่องเหตุการณ์รัฐประหาร เราอยากรู้ว่าฝ่ายต่อต้านเขาคิดยังไงก็เปิดฝั่งหนึ่ง พอดูฝั่งนั้นเสร็จก็มาดูอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นกลุ่มการต่อต้านรัฐประหารบ้าง และแต่ละหน้าก็จะมีตัวเลขกำกับไว้ว่าเป็นเหตุการณ์หมายเลขอะไร ทำให้สามารถเปิดดูได้แบบสะดวก” 

  


12 Committing graphic designing crime

Artist : เนตรดาว องอาจถาวร
Booth : Buttercry

ซีนเล่มนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากคดีฆาตกรรมในวรรณกรรมและการ์ตูนที่ ‘เนตรดาว องอาจถาวร’ โปรดปรานยิ่งนัก จากการเสพมากกว่าสามร้อยเรื่อง เนตรดาวนำจุดเด่นของการล่อหลอกในคดีฆาตกรรมไปต่อยอดเป็นงานออกแบบที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้

“เนื้อหาของ Committing graphic designing crime แบ่งเป็น 14 บท ซึ่งแต่ละบทจะอ้างอิงถึงเคสฆาตกรรมยอดฮิต เรานำวิธีพวกนั้นมาตีความเป็นงานออกแบบ เช่น ในการ์ตูนเรื่องโคนันจะชอบมีคนที่ติดนิสัยเลียนิ้ว คนแบบนี้จะตายง่ายเป็นพิเศษ อันนี้เราก็เอามาออกแบบเป็นฝาโยเกิร์ตที่เสิร์ฟบนเครื่องบิน ซึ่งถ้าเลียแล้วจะปรากฏวิวทิวทัศน์ของที่ที่เครื่องบินลำนั้นจะไปลง สมมติว่าเราจะนั่งไปลงเมืองที่ดังเรื่องแอปเปิล เราก็จะกินโยเกิร์ตรสแอปเปิล พอเลียฝาเสร็จ เราก็จะเห็นรูปทุ่งแอปเปิล ก็จะเป็นคอนเซปต์ว่า คนที่ติดนิสัยเลียฝาโยเกิร์ตเท่านั้นที่จะเห็นวิวนี้”

เนตรดาวเล่าต่อว่า “เล่มนี้ใช้เทคนิคของการถ่ายรูป วาดภาพประกอบ และมีลูกเล่นกับกระดาษที่ทั้งติด พับ มีงานคราฟต์อยู่ข้างในเยอะจนแทบจะไม่มีงานคอมพิวเตอร์เลย” 


Bangkok Art Book Fair 2019 จัดขึ้นตั้งแต่ 5-8 กันยายน 2562 ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ค่าธรรมเนียมเข้างาน 100 บาท ดูรายละเอียดของกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ เพจ BANGKOK ART BOOK FAIR 2019

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก