วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีถือเป็น ‘วันสตรีสากล’ (International Women’s Day) ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองพัฒนาการความก้าวหน้าและการยอมรับสตรีเพศในสังคม เราจึงอยากชวนผู้อ่านไปพินิจพิเคราะห์ nouveau femme หรือผู้หญิงสมัยใหม่ในศิลปะของนิทรรศการเทคโนโลยีสื่อผสม Something Nouveau ณ River City Bangkok ผ่านบทความนี้ด้วยกัน
ลองคิดกันเล่นๆ ดูว่า กว่าร้อยปีที่ผ่านมามุมมองต่อผู้หญิงสมัยใหม่ของสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
Art Nouveau
นิทรรศการนี้เป็นการจัดแสดงภาพงานศิลปะผ่านระบบดิจิทัล ทั้งการฉายภาพ projection mapping รวมถึงเทคนิคการสร้างภาพ 3 มิติ กับ virtual reality ทำให้รายละเอียดของจิตรกรรมในอดีตกลับมาผลิบาน มีชีวิตขึ้น ในพื้นที่ของนิทรรศการอย่างน่าตื่นเต้น
นับเป็นการจัดแสดงลักษณะนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วของ River City Bangkok หลังจากประสบความสำเร็จกับสองโชว์ก่อนหน้า คือ From Monet to Kandinsky และ Italian Renaissance ส่วนธีมในครั้งนี้เป็นสไตล์ศิลปะที่เรียกกันว่า อาร์ตนูโว ซึ่งเป็นแนวศิลปะ ‘ใหม่’ (nouveau เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่าใหม่) ที่ผุดเกิดและกระจายไปทั่วทวีปยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 – ต้นศตวรรษที่ 20 ในงานนี้เราจึงได้ชมผลงานจากศิลปิน 3 คนที่ถือว่าเป็นมาสเตอร์ของงานศิลปะแนวนี้ นั่นคือ Aubrey Beardsley จากอังกฤษ, Alphonse Mucha จากสาธารณรัฐเช็ก และ Gustav Klimt จากออสเตรีย
งานของพวกเขาล้วนมีลักษณะเด่นตามสไตล์อาร์ตนูโวหลายประการ คือหนึ่ง การผสมผสานเส้นโค้งเว้าที่ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงในธรรมชาติเข้ากับนวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่ สอง การอ้างอิงอารยธรรมลึกลับน่าหลงใหล และสาม มีตัวเอกของภาพเป็นผู้หญิงที่ทั้งงดงามและน่าเกรงขามในเวลาเดียวกัน ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้ล้วนเชื่อมโยงกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างน่าสนใจ
Industrialised Society
แม้ไม่มีใครฟันธงได้แน่ชัดว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นเริ่มต้นอย่างเป็นทางการที่ไหนและเมื่อไหร่ บ้างโยงไปถึงพื้นเพยุคทองของเจ้าอาณานิคมและเส้นทางเดินเรือที่เปิดให้เกิดการค้าขายและการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน บ้างอ้างอิงถึงการเปิดโรงงานสิ่งทอที่ใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน การแล่นของรถยนต์ และรถไฟหัวจักรไอน้ำ บ้างโยงเข้ากับการปฏิวัติและการโอนถ่ายอำนาจจากกษัตริย์สู่พ่อค้าและนักธุรกิจ
แต่สิ่งที่เราฟันธงได้แน่ชัดคือสังคมยุโรปตอนนั้นถือว่าเฟื่องฟูและก้าวหน้าที่สุดในโลก เห็นได้ชัดจากสถาปัตยกรรมที่มุ้งเน้นประโยชน์ใช้สอย มีเทคโนโลยีในการใช้โครงเหล็กสร้างอาคารสูงใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน และถือเป็นจุดเริ่มต้นของเมืองสมัยใหม่อย่างแท้จริง
ในขณะเดียวกันคนอีกส่วนหนึ่งก็ยังยืนยันให้นักออกแบบผนวกความงามจากธรรมชาติเข้าไปกับสิ่งสร้างอุตสาหกรรมด้วย เช่น William Morris ผู้นำ art and craft movement มีลักษณะเด่นในการประยุกต์ฟอร์มพฤกษาพรรณไม้เข้าไปในผลงาน ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ชิ้นจิ๋ว ลายวอลเปเปอร์ จวบจนการออกแบบสถาปัตยกรรม
มอร์ริสบอกว่าในยุคที่เครื่องจักรเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคงความนิยมในสุนทรียะซึ่งแสดงถึงความเป็นมนุษย์เอาไว้ แนวคิดนี้ถูกสะท้อนอย่างชัดเจนในศิลปะอาร์ตนูโวที่ให้ความสำคัญกับการกลับไปสร้างเส้นโค้ง ความไม่สมมาตร เพื่อโต้ตอบกับทรงเหลี่ยมและความแข็งทื่อของกรรมวิธีการผลิตแบบอุตสาหกรรม
นอกจากได้เห็นการประยุกต์ใช้รูปดอกไม้ใบหญ้านานาชนิด ยังมีการใช้ส่วนโค้งเว้าของสรีระผู้หญิง เพศที่เป็นตัวแทนแห่งจิตวิญญาณและความอ่อนโยน เพื่อแทรกแซงความก้าวร้าวในสังคมปิตาธิปไตยด้วย
Nouveau Femme
จะว่าไปผู้หญิงยุคนั้นก็ไม่ได้เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้เสียทีเดียว เนื่องจากสังคมที่เปลี่ยนไป มีการเกิดขึ้นของไฟฟ้า การคมนาคม ห้างสรรพสินค้าที่เต็มไปด้วยนวัตกรรม เครื่องอำนวยความสะดวก (และการขยายตัวของชนชั้นแรงงาน) ทำให้เหล่าชนชั้นกลาง–เศรษฐีใหม่ (bourgeoisie) มีเงินและเวลาว่างเพื่อกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น ผู้หญิงจากที่เคยอยู่บ้านเป็นแม่บ้านเต็มตัว ก็มีจำนวนไม่น้อยลุกขึ้นมาประกาศความเป็นตัวของตัวเอง เป็นหญิงหัวก้าวหน้า หรือ nouveau femme ซึ่งกลายมาเป็นหมุดหมายของสังคมอุตสาหกรรมด้วย
หนึ่งในศิลปินอาร์ตนูโวที่วาดผู้หญิงสมัยใหม่ได้งดงามอย่างน่าทึ่งคือ อัลโฟนส์ มูคา (1860-1939) มูคาเป็นชาวเช็กจากครอบครัวยากจน แต่อาศัยพรสวรรค์ด้านศิลปะของตัวเองเข้ามาเรียนและหาเงินที่ปารีสในปี 1887 เขารับงานออกแบบโปสเตอร์ภาพพิมพ์หิน (lithograph) อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมสูงในสมัยนั้นเพื่อโปรโมตสินค้านานาชนิด
งานของมูคามักมีหญิงงามเป็นพรีเซนเตอร์เสมอ ไม่ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะเป็นน้ำหอม คุกกี้ เบียร์ สุรา จักรยาน ไปจนถึงกระดาษมวนบุหรี่ มูคาก็วาดนางแบบของเขาในชุดกรุยกรายแสดงถึงอิสระ (ไม่รัดรึงอยู่ในคอร์เซตเหมือนสมัยก่อน) พวกเธอใช้สอยสินค้าด้วยทีท่าและสายตาแห่งความมั่นใจแบบผู้ชาย ในขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งเส้นโค้งที่ยั่วยวนชวนเสน่หาเสมอ
วันหนึ่งชีวิตของมูคาต้องเปลี่ยนไปเพราะผู้หญิงคนหนึ่ง เธอคือ Sarah Bernhardt นักแสดงละครปารีเซียงที่มีชื่อเสียงและเป็นที่จดจำจากฝีมือการเล่นละครเวทีพอๆ กับคาแร็กเตอร์สุดโต่งหลังม่านของเธอ ที่เป็นดั่งนิยามคำว่า femme fatale หรือผู้หญิงที่ทั้งงดงามและน่ากลัว
ซาราห์บอกนักข่าวว่าเธอชอบซ้อมบทของเธอในโลงศพ เธอเป็นนักแสดงหญิงคนแรกของยุคที่แต่งตัวและเล่นบทพระเอก จวบจนครั้งหนึ่งในปี 1894 เธอปฏิเสธภาพสเกตซ์สำหรับโปสเตอร์ของเธอที่โรงละครเรอเนซองซ์ในนาทีสุดท้าย ทำให้โรงละครต้องไปว่าจ้างศิลปินคนใหม่อย่างเร่งด่วน และศิลปินคนนั้นคือมูคานั่นเอง
โชคดีที่ภาพใหม่ของเขานั้นถูกใจซาราห์อย่างมาก จนเธอระบุว่าต่อไปนี้ผู้ออกแบบโปสเตอร์ทุกโชว์ของเธอจะต้องเป็นมูคาเท่านั้น ภาพสไตล์อาร์ตนูโวของเขาจึงได้เดินทางไปกับโชว์ของเธอทั่วยุโรปและอเมริกา สร้างชื่อเสียงให้กับทั้งคู่ไปทั่วโลก
คำว่า femme fatale ไม่ได้จำกัดอยู่แค่นางเอกผู้มีเกียรติเท่านั้น แต่ถูกใช้พูดถึงลักษณะของผู้หญิงในซ่องด้วย (บางโรงละครก็มีการให้ ‘ซื้อเวลา’ นักแสดง นักเต้น ประหนึ่งสถานบริการไปในตัว อย่างมูแลง รูจ เป็นต้น) ในเวลานั้นโสเภณีเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่พวกเธอก็ถูกมองเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคและโรคติดต่ออย่างซิฟิลิสด้วยเช่นกัน ในแง่นี้โยนีของพวกเธออาจเป็นประตูสู่ความสุขและความตายของผู้ชายในเวลาเดียวกัน จึงไม่แปลกที่ศิลปินมากมาย ตั้งแต่ Toulouse Lautrec, Édouard Manet ยาวไปจนถึงยุคของ Picasso ล้วนออกตามหาและเพนต์ femme fatale สำหรับงานมาสเตอร์พีซของพวกเขาในหอนางโลม
The Orientalists
อีกกระแสที่มากระเพื่อมให้ความนิยมนี้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากดินแดนอันไกลโพ้น เนื่องจากช่วงนี้เริ่มมีการเดินเรือสินค้าไปสู่ประเทศตะวันออกกลางและเอเชียอย่างจริงจัง เรื่องราวของ ‘โลกเก่า’ ที่ยังคงไว้ซึ่งเวทมนตร์และความงามของธรรมชาติถูกส่งต่อมาที่ยุโรปผ่านสินค้า งานศิลปะ และหนังสือ สร้างความตื่นตาตื่นใจจนเป็นแฟชั่น orientalism (คตินิยมตะวันออก) ที่ป้อนภาพโรแมนติกแฟนตาซีของสุลต่านและฮาเร็มจากดินแดนอันไกลโพ้นให้กับสำนึกของคนผิวขาวที่กำลังเบื่อหน่ายกับมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมของตัวเอง
ผู้คนในสังคมชั้นสูงหันมาตกแต่งบ้านด้วยศิลปะอิสลาม สวมใส่กิโมโนราคาแพง หรือแม้กระทั่งเรื่องราวในพระคัมภีร์ก็ถูกนำมาเล่าใหม่อย่างมีสีสัน โดยเฉพาะบทที่พูดถึงความรุ่มรวยของตะวันออก เช่น เรื่องของนักเต้น Salome ก็ตื่นหูตื่นใจชาวตะวันตกอย่างมาก
เรื่องที่ได้รับความนิยมคือ ซาโลเม เจ้าหญิงนักเต้น femme fatale ที่เต้นระบำยั่วยวนกษัตริย์ Herod จนพระองค์หลงเสน่ห์และสั่งตัดหัวนักบุญ John the Baptist ตามคำขอของเธอในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่
ในนิทรรศการนี้เราจะได้เห็นภาพวาดของซาโลเมในสไตล์อาร์ตนูโวโดยออเบรย์ เบียร์ดสลีย์ (1846-1932) ศิลปินอังกฤษที่มีชื่อเสียงจากลายเส้นที่คมชัดและกลิ่นอายอีโรติกอันงดงาม
เบียร์ดสลีย์ได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากภาพพิมพ์อูกิโยะจากญี่ปุ่น สังเกตได้ชัดจากการจัดองค์ประกอบภาพที่ถูกลดทอนเป็นแบบ 2 มิติ และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างชุดแต่งกายและทรงผมของตัวละครที่ถอดแบบมาจากเกอิชา ในขณะเดียวกันเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะเครื่องแป้ง หรือกาน้ำชา ในภาพนั้นมีเป็นรูปทรงแบบอาหรับ-เปอร์เซีย และใช้ลายขนนกยูงซ้ำๆ หลายจุดด้วย
เบียร์ดสลีย์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคโดยพันธุกรรมตั้งแต่ 7 ขวบ ความตายที่มาถึงได้ทุกขณะอาจเป็นเหตุให้เขากล้าวาดรูปวาบหวิวและลากสะบัดอย่างจัดจ้านไม่แคร์ใคร
รูปซาโลเมที่วาดโดยเบียร์ดสลีย์มีเอกลักษณ์จากเส้นโค้งที่เป็น c curve และ s curve ชวนให้เปรียบเทียบกับท่าเต้นของหญิงแพศยากับลำตัวของงูอสรพิษอย่างมีนัย
The Serpentine
มาถึงประเด็นสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือการใช้สัญลักษณ์ที่มาจากจิตวิเคราะห์ ซึ่งเห็นได้ชัดมากในงานของกุสตาฟ คลิมต์ (1862-1918)
ตั้งแต่งานสำคัญชิ้นแรกๆ ของคลิมต์ อย่างการวาดตกแต่งผนังของ Kunsthistorisches Museum เราจะเห็นว่าเขาใช้สัญลักษณ์จากอารยธรรมโบราณเพื่อแทรกความหมายและปรัชญาที่มากกว่าความสมจริง เช่น การใช้รูปเทพี Athena จากเทพปกรณัมกรีก หรือรูปเทพีอีกองค์จากอียิปต์
ต่อมาเมื่อถูกว่าจ้างโดยมหาวิทยาลัยเวียนนาให้วาดภาพในธีมเภสัชศาสตร์ เขาก็ใช้สัญลักษณ์คนถืองู ซึ่งตามตำนานกรีกแล้วมาจากไม้เท้าของ Asclepius ลูกของเทพ Apollo ผู้มีวิชาความรู้ด้านการรักษาในขั้นที่ช่วยให้คนกลับคืนชีพจากความตายได้ ดังนั้นงูในที่นี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่อระหว่างโลกคนเป็นกับโลกคนตาย
หนึ่งปีก่อนที่คลิมต์จะวาดภาพนี้เสร็จ นักจิตวิเคราะห์ชื่อดังอย่าง Sigmund Freud ยังออกหนังสือ The Interpretation of Dreams และเคยพูดไว้ว่างูนั้นมีนัยสื่อถึงอวัยวะเพศชาย ความต้องการทางเพศของผู้หญิง อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาและความชั่วร้าย (ตามไบเบิล) ได้พร้อมๆ กัน งูจึงไม่ได้มีความหมายในทางตำนานอย่างเดียว แต่มันถูกแปลเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกทุกคน
ประจวบกับการศึกษาอาชญวิทยาในสังคมยุคนั้นที่มีต้นทุนมาจากความกลัวของคนชั้นสูงที่ต้องใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกับชนชั้นแรงงานมากขึ้นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงมีการถ่ายรูปอาชญากรแล้วเอามาเรียงซ้อนกันอย่างในงานของ Francis Galton เพื่อพยายามทำความเข้าใจ ‘ลักษณะของคนชั่ว’ รวมถึงผู้ป่วยทางจิต
หากเป็นผู้หญิงในสมัยนั้น ไม่ว่าจะมีอาการเบื่ออาหาร ลมบ้าหมู ไปจนถึงซึมเศร้า มักถูกวินิฉัยว่าเป็น ‘ฮิสทีเรีย’ หรือโรคที่เชื่อว่าเกิดจากแรงขับทางเพศที่ไร้การควบคุมของพวกเธอ เป็นโรคที่อันตรายอย่างยิ่งต่อสังคม มีการถ่ายรูปและเผยแพร่รูปคนไข้หญิงขณะถูกชอร์ตด้วยไฟฟ้าหรือกำลังชัก โชว์ใบหน้าที่มึนเบลอ ตาปรือ ข้อมือ ข้อเท้า รวมถึงลำตัว บิดงอเหมือนงู ให้สังคมเวทนาในเคราะห์ร้ายที่มาจากความต้องการร่านสวาทที่ผิดธรรมชาติของสตรีเพศ
ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญที่คลิมต์เลือกวาดผู้หญิงในงานของเขาในท่าทางบิดเบี้ยว ลำตัวโป๊เปลือยยืดยาว ตาปรือเหมือนอยู่ในห้วงฝัน หรือแม้กระทั่งตั้งชื่อผลงานว่า Water Serpents เปรียบเปรยถึงนางไม้น้ำ (บ้างบอกว่าเป็นเลสเบี้ยน) ที่พร้อมหยิบยื่นความหายนะให้ผู้ชายด้วยความงามของพวกหล่อน
The Kiss
ในตอนจบของโชว์เราอยากชวนให้พินิจพิเคราะห์ The Kiss ภาพชิ้นเอกของคลิมต์ กันใกล้ๆ ภาพนี้ถือเป็นหนึ่งในภาพที่ดังที่สุดในโลก สร้างขึ้นในช่วง ‘ยุคทอง’ ของเขาที่หันมาใช้ทองคำเปลวในงานอย่างมลังเมลือง
หากมองให้ดีจะเห็นว่าลายสัญลักษณ์บนตัวของผู้ชายนั้นเป็นเหลี่ยม มีสีดำ-ขาวแข็งขรึม เปรียบถึงตัวแทนของตรรกะ ส่วนบนตัวผู้หญิงเป็นทรงกลมหลากสีสันประหนึ่งอารมณ์และธรรมชาติ เรือนร่างที่กำลังหักงอของเธอชวนตั้งคำถามว่า ใครกันแน่ที่กอดรัดใคร มือที่กำลังบีบรัดคอของเธอขณะที่เขากำลังบรรจงจุมพิตตรงแก้มแสดงให้เห็นความกำกวมของทีท่าเพศชายที่มีต่อเพศหญิงได้ดี ชวนให้คิดว่าสุดท้ายแล้วผู้หญิงอยู่ใต้แรงกดดันของผู้ชาย หรือเธอเป็นผู้ควบคุมเขาด้วยเสน่หากันแน่
คำถามนี้แม้ผ่านมากว่าร้อยปีก็ยังคงตอบยาก และนั่นเองเป็นสิ่งที่ทำให้อาร์ตนูโวร่วมสมัยเสมอมา