‘ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ’ นิทรรศการศิลปะที่นักอ่านก็ควรไป

Highlights

  • ‘ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ’ หรือ ‘Bibliophilia’ เป็นนิทรรศการศิลปะและหนังสือ โดย โอ๊ต มณเฑียร จัดขึ้นที่หอสมุดแห่งชาติตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ - 28 เมษายน 2019
  • บรรยากาศนิทรรศการและงานศิลปะทั้งหมด เป็นภาพประกอบของนิยายขนาดสั้นชื่อเดียวกับนิทรรศการที่โอ๊ตแต่งขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก มัทนะพาธา

1

หนังสือและงานศิลปะเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาด

และหลายครั้ง ห้องสมุดก็เป็นสถานที่ก่อกำเนิดแรงบันดาลใจของศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานชวนประทับใจ

เพราะเหตุนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนตามมาบนถนนสามเสน แวะมาหอสมุดแห่งชาติเพื่อเข้าชม ‘ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ’ หรือ Bibliophilia นิทรรศการศิลปะและหนังสือ โดย โอ๊ต มณเฑียร ดูสักที ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้มีความพิเศษ แตกต่างจากการจัดแสดงผลงานธรรมดา เพราะศิลปินใช้ทั้งงานเขียนและงานศิลปะสร้างประสบการณ์การอ่านหนังสือในห้องสมุดให้ดื่มด่ำยิ่งกว่าครั้งไหน

ไม่ว่าจะเป็นนักอ่าน นักเขียน ผู้เสพงานศิลป์ ศิลปิน หรือใครก็ตามที่สนใจ แลกบัตรประชาชนที่ชั้นล่างเสร็จเมื่อไหร่ ก็ตามมาที่ห้องวชิรญาณ 2 อาคาร 2 ชั้น 1 ได้เลย

2

เมื่อเปิดประตูเข้ามา สายตาของเราก็ถูกดึงดูดให้มองไปยังกลางห้อง

ตู้ไม้เก่าทำหน้าที่เก็บรักษาหนังสือที่ดูเก่าไม่แพ้กันตั้งอยู่ตรงนั้น และมีสิ่งแปลกปลอมอย่างพระจันทร์ลูกกลมตั้งอยู่ท่ามกลางหนังสือ ด้านล่างของตู้มีป้ายไม้เขียนไว้ว่า ‘อุทิศแด่มัทนา’ และมีเก้าอี้อาร์มแชร์สองตัววางอยู่คล้ายเชิญชวนให้เราลงไปนั่ง

ในความไม่เข้าใจและสงสัย เราตัดสินใจเดินสำรวจนิทรรศการต่ออีกสักหน่อย ภายในพื้นที่จัดงานทั้งหมดค่อนข้างมืด ยกเว้นบริเวณโต๊ะกลางห้องมีโคมไฟคอยให้แสงสว่างเรืองรองนิดๆ และมีหนังสือปกสีแดงจำนวน 8 เล่มชื่อเดียวกับนิทรรศการวางอยู่ในตำแหน่งของเก้าอี้แต่ละตัว ที่รายล้อมอยู่ก็คือตู้บัตรรายการห้องสมุดและส่วนจัดแสดงหนังสือ จะต่างจากปกติก็ตรงที่หนังสือเหล่านี้ไม่ใช่หนังสือธรรมดา แต่เป็นหนังสือที่กลายร่างมาเป็นผลงานศิลปะเรียบร้อยแล้ว และในขณะที่กำลังเดินชม จู่ๆ เราก็ได้ยินเสียงเปียโนเล่นขึ้นท่ามกลางความเงียบ

ราวกับกำลังสื่อสารอะไรบางอย่าง

เพราะเห็นสีหน้าฉงนของเรา โอ๊ตจึงแนะนำว่า ทุกองค์ประกอบของนิทรรศการนี้คือภาพประกอบของนิยาย ‘ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ’ ที่เขาเขียนขึ้นมาด้วยตัวเอง

เมื่อรู้อย่างนี้ เราจึงเลือกนั่งลงที่เก้าอี้และเริ่มเปิดหน้าแรก

3

เรื่องราวในหนังสือเล่มแดงถูกเล่าออกมาด้วยภาษาสวิงสวาย หวือหวา อ่านสนุก ที่โอ๊ตได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘รงค์ วงษ์สวรรค์, ธิดา บุนนาค และนักเขียนอีกหลายคนในยุคเดียวกัน โดยเล่าถึงศิลปินที่แอบซ่อนตัวอยู่ในหอสมุดแห่งชาติในคืนวันเพ็ญ เพื่อที่จะพบกับ ‘มัทนา’ ตัวละครหญิงสาวจาก มัทนะพาธา วรรณคดีประเภทบทละครพูด พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

หากใครเคยอ่าน มัทนะพาธา จะรู้ว่าหล่อนถูกท้าวสุเทษณ์สาปให้เป็นกุหลาบและจะกลายร่างเป็นมนุษย์ในคืนที่จันทร์เต็มดวง แต่ในเรื่องนี้ มัทนาถูกสาปให้เป็นหนังสือที่ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ในห้องหนังสือหายาก ชั้น 3 ตึก 2 ที่นี่

“เราชอบห้องสมุดตั้งแต่เด็ก เคยเป็นบรรณารักษ์อาสา โตขึ้นมาก็ชอบหนังสือ สิ่งที่เราชอบ หนึ่ง คือตัวกายภาพ ชอบรูปเล่ม สัมผัส การเย็บ การวางฟอนต์ การพลิกหน้ากระดาษทีละหน้ามันมีเสน่ห์ สอง ส่วนที่เรารักมากคือหนังสือเป็นเหมือนประตูไปสู่อีกโลกหนึ่ง เราอยากให้นิทรรศการของเราตอบสองโจทย์นี้ เลยเอางานเขียนมาเป็นส่วนหนึ่งของอินสตอลเลชั่น” ศิลปินเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย

“พอคิดว่าจะเขียนหนังสือ เราก็เลยมาอ่านหนังสือในหอสมุด ค้นหนังสือด้วยคีย์เวิร์ด ‘ความรัก’ เราเจอหนังสือทั้งหมด 877 เล่ม ค่อยๆ เลือก ค่อยๆ ค้นคว้าวรรณกรรมที่เราชอบและเกี่ยวกับความรักจนไปจบที่ มัทนะพาธา ที่นี่มีต้นฉบับที่พิมพ์ครั้งแรกๆ มีลายพระหัตถ์ท่าน (รัชกาลที่ 6) อยู่ในนั้น ก็เลยอิน และรู้สึกว่านี่น่าจะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ บวกกับเราได้เห็นตู้หนังสือของเจ้านาย ข้าราชการชั้นสูงที่บริจาคให้หอสมุดแห่งชาติทั้งตู้ เรารู้สึกว่าสาเหตุที่บริจาคต้องเป็นเพราะเขาตกหลุมรักอะไรบางอย่างที่นี่ เลยกลายมาเป็นเนื้อเรื่องของเรื่องสั้นที่เราเขียน”

4

ในขณะที่ค่อยๆ อ่านนิยาย เราก็เริ่มเห็นความเชื่อมโยงของรายละเอียดต่างๆ ในนิทรรศการ และค่อยๆ ถูกดึงดูดให้เข้าไปซึมซับบรรยากาศในเรื่องมากขึ้นเรื่อยๆ

“ถ้าอยากได้ประสบการณ์เต็มสำหรับนิทรรศการ ต้องได้นั่งอ่านหนังสือที่นี่ เพราะเราเรียบเรียงมาหมดแล้ว อย่างเสียงเปียโนที่ได้ยินในห้องนี้ ก็มาจากบทสนทนาในเรื่องสั้นของเราที่เล่าถึงเปียโนจุฑาธุช เปียโนสองด้านที่อยู่ตึกดนตรี

“เปียโนหลังนี้ไม่ถูกเล่นเลยเป็นสิบปี จนเก็บกดเลยมีเสียงเปล่งขึ้นมา ซึ่งเสียงที่เรากำลังได้ยินก็คือเสียงเปียโนเครื่องนั้นจริงๆ ที่เราได้รับอนุญาตจากห้องสมุดให้เข้าไปเล่นเป็นกรณีพิเศษ อัดมาใส่ในนิทรรศการ หรืออย่างเรื่องแสง เรื่องราวมันเกิดตอนเที่ยงคืน ก็เลยจัดแสงให้เหมือนตอนเที่ยงคืน ทุกอย่างถูกคำนวณมาหมด”

เมื่ออ่านหนังสือจบ เราลุกขึ้นเดินสำรวจตู้แสดงหนังสือที่ตั้งอยู่รอบโต๊ะอีกครั้ง คราวนี้มุมมองของเราเปลี่ยนไปจากเดิม เราเข้าใจแล้วว่าทำไมหนังสือบางเล่มจึงถูกมัด เรานึกออกว่าตัวละครในภาพวาดเหล่านี้มาจากหนังสือเล่มไหนและบทสนทนาใด งานศิลปะที่เรียงรายทำหน้าที่พาเรากลับไปหามัทนาและศิลปิน และครุ่นคิดถึงสิ่งที่พวกเขาสองคนพูดคุยกันอีกครั้ง

5

ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ

งานนิทรรศการครั้งนี้เป็นเหมือนจดหมายรักที่โอ๊ตเขียนถึงหนังสือและหอสมุด ทุกรายละเอียดไม่ว่าเรื่องสั้น หรือกายภาพของนิทรรศการต่างก็สอดแทรกความตั้งใจของเขาไว้อย่างเต็มเปี่ยม เช่น นอกจากโอ๊ตจะเขียนนิยายขึ้นมา เขายังลงมือตัดกระดาษ พิมพ์แต่ละเล่มด้วยตัวเอง และขอให้ทีมซ่อมหนังสือในหอสมุดแห่งชาติช่วยเย็บเล่ม ปั๊ม letterpress ชื่อหนังสือให้ด้วย โอ๊ตกล่าวถึงตู้บัตรรายการในเรื่องสั้น และเชิญชวนให้ผู้มาเยือนแวะไปเปิดตู้เพื่อหยิบชิ้นส่วนบทกวีเป็นที่ระลึกกลับบ้าน เขาอ้างอิงถึงหนังสือทุกเล่มผ่านวลีหรือประโยคสั้นๆ คู่กับเลขเรียกหนังสือ เพื่อให้ผู้สนใจจดไปค้นหาหนังสือต่อ หรือสถานที่ในเรื่องเองที่มีอยู่จริง และสามารถไปเดินตามรอยได้

“อยากชวนให้คนมาอ่านหนังสือที่ห้องสมุด เพราะคนอาจจะลืมไปว่าสถานที่นี้เป็นที่พิเศษ” โอ๊ตบอกกับเราอย่างนั้น

รู้อย่างนี้แล้ว หากใครอยากแวะเวียนเข้าไปในโลกของมัทนาและศิลปิน ก็สามารถมาชมนิทรรศการศิลปะและหนังสือ ‘ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ’ ได้ที่ห้องวชิรญาณ 2 อาคาร 2 ชั้น 1 หอสมุดแห่งชาติ ตั้งแต่วันนี้ – 28 เมษายน 2019 เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!