รู้จัก 4 ศิลปินเอกของอิตาลีก่อนตามไปดูนิทรรศการมัลติมีเดีย Italian Renaissance

Highlights

  • Italian Renaissance คือนิทรรศการมัลติมีเดียแรกของโลกที่นำภาพวาดชิ้นเอกจาก 4 ศิลปินชาวอิตาเลียนผู้ทรงอิทธิพลในยุคเรอเนซองซ์อย่าง Botticelli, Leonardo da Vinci, Michelangelo และ Raphael มาทำเป็นภาพเคลื่อนไหวประกอบบทเพลงอลังการ
  • เอกลักษณ์ของงานศิลปะในยุคนี้นอกจากการวาดภาพเพื่อเล่าเรื่องแล้ว ยังมักสร้างไว้เพื่อสำแดงอานุภาพและความร่ำรวยของผู้ว่าจ้าง ซึ่งคือศาสนจักรและตระกูลพ่อค้าผู้ร่ำรวยอีกหลายตระกูล เช่น ตระกูล Medici
  • นิทรรศการนี้สามารถดูได้อย่างสนุกสนาน แม้ไม่มีความรู้เกี่ยวกับงานศิลปะเป็นพื้นฐาน ถึงอย่างนั้นหากเราเข้าใจชีวิตและผลงานของทั้ง 4 ศิลปินมากขึ้นอีกนิด เราก็อาจจะดูผลงานได้สนุกขึ้น เข้าใจที่มาที่ไปของงานศิลปะมากขึ้น และเชื่อมโยงกับชีวิตของเราได้ดีขึ้นด้วย

“ดูงานศิลปะนี้ยังไงให้อิน?” เป็นคำถามที่เราถูกถาม ณ งานเปิดตัว Italian Renaissance นิทรรศการมัลติมีเดียที่หยิบภาพวาดของศิลปินเอกชาวอิตาเลียน 4 คนมาทำให้ขยับราวกับมีชีวิต คำถามนั้นชวนให้เราคิดและจุดประกายให้เริ่มเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมาด้วยการรวบรวมและกลั่นกรองข้อมูลที่พอจะหาได้ ประกอบกับมุมมองในฐานะศิลปินของเราเองมาเล่าเรื่องเบื้องหลังผลงานชิ้นเอกของศิลปินทั้ง 4 โดยหวังว่าจะช่วยให้ผู้ที่กำลังจะไปดูนิทรรศการนี้ได้อรรถรสมากขึ้น หรือหากใครไปดูมาแล้วก็สามารถอ่านเพื่อต่อยอดประสบการณ์ได้

อันดับแรก ก่อนก้าวเท้าเข้าไปในงาน เราอาจจะต้องปรับทัศนคติกันก่อนว่าหากงานศิลปะคลาสสิกเหล่านี้ให้ความรู้สึกเข้าถึงยากหรือเป็นเรื่องเลอค่าของชนชั้นสูงพาลให้รู้สึกเกร็ง ความรู้สึกเหล่านี้จริงๆ ก็ถูกต้อง (อ้าว) เพราะนอกจากงานศิลปะในยุคเรอเนซองซ์จะมีฟังก์ชั่นเบื้องต้นในการเล่าเรื่องแล้ว ยังมักสร้างไว้เพื่อสำแดงอานุภาพและความร่ำรวยของผู้ว่าจ้าง ซึ่งในเวลานั้น นอกจากศาสนจักรแล้วยังมีตระกูลพ่อค้าผู้ร่ำรวยอีกหลายตระกูลที่มีคุณูปการต่องานสร้างสรรค์อีกด้วย

หนึ่งในตระกูลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเมืองฟลอเรนซ์ย่อมเป็นสกุลใดไปไม่ได้นอกจากตระกูล Medici ซึ่งมั่งคั่งขึ้นมาจากความสัมพันธ์กับชนชั้นปกครอง อีกทั้งธุรกิจปล่อยกู้และการธนาคาร ซึ่งตามคำสอนของศาสนาที่เคร่งครัดในยุคนั้นถือเป็นเรื่องผิดบาป นักประวัติศาสตร์ไม่น้อยจึงมองการอุปถัมภ์ศิลปินผ่านการบำรุงโบสถ์วิหารอย่างมลังเมลืองของพวกเขาเป็นเสมือนการไถ่บาปและโฆษณาพลังอำนาจด้วยไปในตัว

เพราะอย่างนี้ งานศิลปะในยุคเรอเนซองซ์จึงมีจุดประสงค์หลักไม่ใช่เพียงเพื่อความงามอย่างเดียว และไม่ได้สร้างมาเพื่อการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ (หรือห้างสรรพสินค้า) อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน หากเรามองศิลปะชั้นเอกผ่านมุมมองของคนในยุคสมัยนั้น (กระบวนการที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์เรียกว่า ‘period eye’) เราจะไม่สามารถแยกงานศิลปะออกจากนัยทางการเมืองได้เลย และจะว่าไปนิยามของ ‘ศิลปิน’ ในช่วงนั้นก็ไม่ใช่ ‘ซุป’ตาร์’ หรืออัจฉริยะแบบที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน หากแต่เป็นเพียงผู้รับใช้อำนาจเหล่านี้อีกทอดหนึ่ง

เมื่อพอจะเข้าใจภาพรวมของงานยุคเรอเนซองซ์ ก็ถึงเวลาที่เราจะมารู้จัก 4 ศิลปินเอกในนิทรรศการ Italian Renaissance และผลงานของพวกเขากัน

 

Sandro Botticelli ผู้ให้กำเนิดภาพ The Birth of Venus

หากเรียงตามอาวุโสของศิลปินในนิทรรศการ เราขอเริ่มจาก Sandro Botticelli (ค.ศ. 1445-1510) ผู้ให้กำเนิดภาพ ‘The Birth of Venus’ หรือ ‘กำเนิดวีนัส’ ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานถึงผู้ว่าจ้าง แต่ด้วยความที่ภาพนี้ถูกเพนต์ลงบนผ้าใบไม่ใช่บนแผ่นไม้เหมือนงานอื่นๆ ของเขา ทั้งยังมีต้นส้มที่ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของครอบครัวเมดีชี (คำเรียกต้นส้ม ‘mala medica’ พ้องกับชื่อตระกูล) จึงสันนิษฐานว่าหนึ่งในสมาชิกตระกูลเมดีชีจ้างให้วาดภาพนี้เพื่อประดับในคฤหาสน์ส่วนตัวสักแห่ง

ในภาพนี้เราจะได้เห็นซีนการกำเนิดของเทพีวีนัส ผู้เป็นอุดมคติของความงามตามความเชื่อของกรีก เธอผุดขึ้นมาจากท้องทะเลตรงกลางภาพ บริสุทธิ์ดั่งเปลือกหอยมุกขาวที่ค่อยๆ ลอยท่ามกลางดอกไม้ที่ปลิดปลิวมาเกยฝั่งด้วยลมเป่าของ Zephyrus เทพแห่งลมตะวันตก ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความใคร่ ด้านขวาของภาพมีหนึ่งในบรรดาเทพีแห่งฤดูกาล Horae ยืนอยู่บนเกาะไซปรัส กำลังรอจะคลุมร่างของนางวีนัสด้วยผ้าลายดอก 

องค์ประกอบเหล่านี้ยิ่งทำให้ผู้ชมกระหายที่จะจ้องไปบนเรือนร่างอันเปล่าเปลือยของวีนัส ซึ่งหากพิจารณาอย่างใกล้ชิดจะเห็นว่ามีสัดส่วนที่ผิดเพี้ยนจากความจริงไปพอสมควร เช่นว่า ท่อนแขนขาของนางนั้นยาวเกินมนุษย์​ มีไหล่ที่แคบเกินไป แถมท่ายืนยังไม่ถูกต้องตามแรงโน้มถ่วงเท่าไร (ในแคตตาล็อกของนิทรรศการเขียนไว้ว่า ‘อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างแรกๆ ของผู้หญิงที่สวยผ่านโฟโต้ช็อปในยุคนั้น’ และรูปนี้ยังถูกใช้เป็นไอคอนของโปรแกรม Adobe Illustrator อยู่หลายรุ่นด้วย)

ในแง่นี้ เราอาจพูดได้ว่างานของบอตติเชลลีมีสไตล์ที่ต่อเนื่องมาจากยุคก่อนหน้า คือยุคกลางที่นิยมการวาดสัดส่วนมนุษย์อย่างไม่สมจริงเพื่อหลีกเลี่ยงบาปของการเลียนแบบสิ่งสร้างของพระเจ้า มากกว่าศิลปินอีก 3 คนในโชว์นี้ ถึงกระนั้นภาพ ‘กำเนิดวีนัส’ ก็ยังแสดงถึงจุดเด่นสำคัญของยุคเรอเนซองซ์คือ การหยิบเรื่องจากยุคกรีก-โรมันกลับมาฟื้นฟูและเล่าใหม่ โดยกระแสนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสงครามครูเสด ที่ทำให้ชาวอิตาลีได้เข้าถึงงานปรัชญาโบราณที่สูญหายไปอีกครั้งจากอาณาจักรไบแซนไทน์ และเมื่อนำมาผสมกับปรัชญาของศาสนาคริสต์ที่เป็นแก่นกลางของสังคม จึงกลายร่างเป็นกระแส ‘เพลโตใหม่’ (neoplatonism) พูดถึงความสวยงามอันเป็นความจริงที่อยู่ในทุกสรรพสิ่ง และในขณะเดียวกันก็มาจากพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นเอกภาพด้วย ผลงานของบอตติเชลลีจึงมีทั้งรูปจากเทพปกรณัมผสมกับภาพพระแม่มารีตามพระคัมภีร์ของคาทอลิก

 

Leonardo da Vinci มนุษย์เรอเนซองซ์ตัวพ่อ

แน่นอนว่าแนวคิดของบอตติเชลลีย่อมอยู่ในผลงานของอีกศิลปินดังผู้ได้รับสมญาเป็น ‘มนุษย์เรอเนซองซ์ตัวพ่อ’ นั่นคือ Leonardo da Vinci (ค.ศ. 1452-1519) ศิษย์ครูเดียวกันกับบอตติเชลลีและอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของตระกูลเมดีชีเช่นเดียวกัน ขนาดที่มีหลักฐานว่าศิลปินทั้งสองคนสนิทกันระดับที่เคยเปิดร้านอาหารชื่อ ‘Tre Rane’ หรือ ‘กบสามตัว’ ด้วยกันเพื่อหาเงินเพิ่มในช่วงที่เบี้ยเลี้ยงต่ำ

แม้ว่าผลงานจิตรกรรมที่รู้ชัดว่าเป็นของดา วินชี จะมีเพียงไม่ถึง 20 ภาพ (เขาขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งการรับเงินแล้วทำงานไม่เสร็จ) แต่สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างของเขาคือ งานสเกตช์ทั้งหลายที่แสดงให้เห็นถึงความใฝ่รู้รอบด้าน ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา รวมไปถึงกลไกของนวัตกรรมต่างๆ ที่ดูมหัศจรรย์พันลึกในสมัยนั้น เช่น เรือบินที่เราจะได้เห็นมันโผบินแบบ 3D ในนิทรรศการ Italian Renaissance ด้วย 

สเกตช์ของดา วินชี ที่โด่งดังอีกอย่างคือ รูปการศึกษาทางกายภาพที่ละเอียดยิบ ว่ากันว่าศิลปินหนุ่มทุ่มเทขนาดที่เคยไปขุดขโมยศพมาจากหลุมตอนกลางคืนเพื่อนำมาวาดร่างมนุษย์ที่สมจริงที่สุด โดยเขาวาดภาพเกี่ยวกับกายวิภาคทิ้งไว้มากกว่า 1,500 รูป หนึ่งในนั้นคือ ‘The Vitruvian Man’ ภาพชื่อดังที่พยายามจะสร้าง ‘สมมาตรอันสมบูรณ์แบบ’ ของร่างมนุษย์

นอกจากนี้เขายังพยายามที่จะประดิษฐ์เทคนิคใหม่ อย่างในภาพ ‘พระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้าย’ ในวิหาร Santa Maria Delle Grazie เขาพยายามจะวาดบนกำแพงแห้งแทนที่จะเป็นปูนเปียก ถึงแม้ว่าจะเป็นการทดลองที่ล้มเหลวเพราะรูปดังกล่าวเริ่มจางหายอย่างรวดเร็วและทำให้ต้องซ่อมแซมอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า งานชิ้นนี้–เช่นเดียวกับชิ้นอื่นๆ ของดา วินชี ยังคงงดงามด้วยเทคนิคเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของยุคเรอเนซองซ์ เช่น การใช้เส้นนำสายตาอย่างชาญฉลาดและการเล่นกับพื้นที่ การเบลอเส้นขอบ (เทคนิค sfumato) เพื่อความสมจริง และการจัดวางท่วงท่าและสีหน้าของตัวแบบในภาพที่แสดงอารมณ์ความเป็นมนุษย์อย่างยิ่งยวด 

และถ้าใครอยากรู้ชัดๆ ว่าอารมณ์ความเป็นมนุษย์ที่ว่านี้เป็นอย่างไร อยากให้มาลองประสานสายตา ล้วงลึกเข้าไปในภาพ ‘Mona Lisa’ ซึ่งถูกซูมให้ขนาดใหญ่กว่าของจริงที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์หลายสิบเท่าในนิทรรศการนี้ดู

 

Michelangelo ประติมากรหัตถ์พระเจ้า

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เรามักลืมไปเมื่อดูงานศิลปะคลาสสิกคือ ความยากเย็นแสนเข็ญในการสร้างงานหนึ่งชิ้นโดยปราศจากไฟฟ้าและเครื่องจักรของยุคปัจจุบัน เช่น รูปปั้นเดวิดชื่อดังที่ต้องเริ่มด้วยการไปกะเทาะหินอ่อนก้อนมหึมาสูงกว่า 5 เมตร หนักกว่า 6 ตัน จากภูเขาในเมืองคาร์ราราของอิตาลี แล้วขนส่งลงเรือต่อด้วยรถลากเทียมลาไป (ยัด) ไว้ในเวิร์กช็อป ณ เมืองฟลอเรนซ์ จากนั้นจึงค่อยๆ สกัดขัดแต่งอย่างประณีต หากพลาดนิดเดียวคือความพินาศ เพราะหินจะเสียทรงและต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

ความยากในการสกัดหินนั่นเองเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ Michelangelo Buonarroti (ค.ศ. 1475-1564) ผู้มารับงานนี้ต่อจากช่าง 2 คนที่ทิ้งไปก่อนหน้าจำต้องสร้างรูปปั้น ‘David’ หรือ ‘เดวิดผู้ฆ่ายักษ์’ ในท่ายืน เพราะช่างที่ทิ้งไว้สกัดหินจนพังไปหลายส่วน สายตาจดจ้องไปข้างหน้า มือกำแน่นจนเห็นเส้นเลือดปูดโปน พร้อมรบในศึกที่กำลังจะมาถึง ต่างไปอย่างยิ่งจากลักษณะรูปเดวิดตามขนบที่มักจะเป็นเด็กน้อยถือหัวของยักษ์ที่ตนฆ่าแล้ว

ความอุตสาหะนี้ถูกถ่ายทอดในนิทรรศการ Italian Renaissance ผ่านภาพเคลื่อนไหวหินอ่อนสีขาว-ดำค่อยๆ แตกกระจายออกเป็นประติมากรรมชิ้นเอกทั้งหลาย ทั้งยังมีการค่อยๆ เลื่อนซูมอวัยวะสุดสมจริงทีละสัดส่วน ให้เราได้พินิจพิเคราะห์ถึงอัจฉริยภาพของศิลปินผู้สร้างรูปปั้นเดวิดชิ้นเอกนี้ได้เสร็จตอนอายุเพียง 29 ปี และใช้เวลาเพียง 2 ปีสร้างรูปปั้น ‘The Pietà’ เสร็จสมบูรณ์ตอนอายุเพียง 25 ปี

ประติมากรรมชิ้นเอกทั้งสองแสดงให้เห็นถึงกายวิภาคอันแม่นยำจนน่ากลัว (เขาเป็นศิลปินอีกคนที่ศึกษากายวิภาคจากศพ) โดยเฉพาะเรือนร่างของผู้ชายซึ่งถือเป็นความสวยงามในอุดมคติแบบกรีกโบราณด้วย แม้มิเกลันเจโลจะมองตัวเองเป็นประติมากรมากกว่าจิตรกร และชิงชังงานวาด ถึงอย่างนั้นในงานวาดเพดานวิหาร Sistine เราก็ยังเห็นการจัดท่วงท่ามนุษย์อันมหัศจรรย์พันลึก อย่างในฉากเด่น ‘The Creation of Adam’ หรือ ‘กำเนิดอาดัม’ เราได้เห็นพระเจ้าในร่างชายชราบิดเอื้อมตัวท่ามกลางการยึดโยงของร่างเทวดาน้อยทั้งหลาย บรรจงเอื้อมพระหัตถ์มาสู่บุรุษคนแรกหรืออาดัม ผู้กำลังเกร็งมัดกล้ามอยู่อย่างสง่างาม เกิดเป็นสมดุลจากความซับซ้อนขององค์ประกอบทางร่างกายอย่างหาที่เปรียบไม่ได้

ความล้ำเลิศของเขาสร้างความทะนงให้มิเกลันเจโล ถึงขนาดที่เคยเปรียบเปรยมือของศิลปินที่สร้างสรรค์และให้กำเนิดผลงานศิลปะว่าไม่ต่างจากพระหัตถ์ของพระเจ้าซึ่งมอบชีวิตให้อาดัม

 

Raphael เจ้าชายจิตรกร

ความหลงตัวเองไม่เป็นที่สบอารมณ์ของคนรอบข้างเสียเท่าไร ทั้งบอตติเชลลีและดา วินชี รวมไปถึง ‘เจ้าชายจิตรกร’ หรือ Raphael (ค.ศ. 1483-1520) ผู้ถูกมองว่าเป็นเด็กดาวรุ่งไฟแรงคู่แข่งคนสำคัญของมิเกลันเจโล ถึงอย่างนั้น ราฟาเอลก็มีนิสัยและพื้นเพแตกต่างจากศิลปินเจ้าอารมณ์อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเขาเกิดในครอบครัวที่มีฐานะ ขณะที่มิเกลันเจโลมีวัยเด็กที่ค่อนข้างยากจน

ใครที่รู้จักราฟาเอลคงรู้กันดีว่าเขาเป็นคนอ่อนหวาน รักสนุก และขี้เล่น ซึ่งลักษณะเหล่านี้ปรากฏในงานจิตรกรรมของเขาด้วย อย่างในภาพ ‘The Sistine Madonna’ หรือ ‘พระแม่มารีซิสทีน’ เขาก็วาดภาพเทวดาน้อยเท้าคางอย่างน่าเอ็นดู หรือในงานชิ้นเอกอย่าง ‘The School of Athens’ ที่เขาวาดไว้ในห้องรับรองขององค์สันตะปาปาจูเลียสที่ 2 เขายังแอบเลือกใช้โทนสีที่ล้อกับงานของมิเกลันเจโล และใส่รูปชายแก่หน้าตาบึ้งตึงคล้ายกับมิเกลันเจโลยืนเย้ยหยันอยู่ตรงด้านขวาของภาพด้วย

น่าเสียดายที่ราฟาเอลจากไปในวันเกิดปีที่ 37 ขณะที่กำลังวาดภาพสุดท้ายของเขา นั่นคือ ‘The Transfiguration’ หรือ ‘การแปลงร่างของพระคริสต์’ ซึ่งเป็นภาพสุดท้ายที่จะฉายขึ้นจอในชุดภาพของเขาในนิทรรศการนั่นเอง

 

อนึ่ง มีคนเคยท้วงว่าบริบททางประวัติศาสตร์นั้นสำคัญต่อการดูงานหรือไม่ หรือท้วงว่าจริงๆ แล้วศิลปินอาจแค่ต้องการให้คนดูตีความด้วยตัวเองหรือเปล่า ส่วนตัวเราคิดว่าจริงอยู่ที่เป็นสิทธิของเราที่จะเชื่อมโยงภาพที่เห็นไม่ว่าจะจากยุคไหน ให้เกี่ยวโยงกับประสบการณ์และชุดความเข้าใจของเราในยุคนี้ ดังนั้นการลองสังเกตปฏิกิริยาที่ภาพทำงานกับเราโดยปราศจากการปูพื้นใดใดก็อาจนำไปสู่การ ‘เข้าถึง’ ที่มีความหมายเฉพาะคนได้ไม่ยาก เช่น แค่ได้มองดอกไม้ในรูปก็รู้สึกสดชื่น สบายใจ หรือได้เซลฟีกับภาพศิลปะยุโรป ก็เติมเต็มความต้องการทางสุนทรียะและรสนิยมของเราแล้ว โดยไม่ต้องไปศึกษาข้อมูลมากมายให้เสียเวลา

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยงานศิลปะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองในสภาวะสุญญากาศ แต่ล้วนถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยคนคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในสังคมหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง ผู้เขียนจึงเชื่อว่า หากเราได้รู้ที่มาที่ไปในเบื้องต้นอาจจะช่วยสะท้อนความรู้สึกหรือเชื่อมโยงประเด็นในผลงานศิลปะเข้ากับบริบทร่วมสมัยของเราได้ง่ายและลึกขึ้น เช่น เราอาจจะรู้สึกกับสตรีในภาพของบอตติเชลลีต่างไป หากได้รู้ว่าเขาวาดพวกหล่อนทุกคนตาม Simonetta หญิงสาวที่เขาหลงรักข้างเดียวตลอดชีวิต หรือหากรู้เพียงสักนิดว่าไมเคิลแองเจโลและดา วินชี เคยโดนฟ้องข้อหารักร่วมเพศ ก็อาจทำให้เรามองความสัมพันธ์ของตัวละครชายในภาพของพวกเขาในมุมใหม่

สุดท้าย มันจึงอาจจะขึ้นอยู่กับตัวเราเองที่จะตั้งโจทย์และเปิดใจว่าเราอยากจะได้อะไรจากงานศิลปะที่อยู่ตรงหน้าของเรา


นิทรรศการ Italian Renaissance จัดขึ้นที่ River City Bangkok ระหว่างวันที่ 8 สิงหาคม – 8 พฤศจิกายน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

อ้างอิง

จอห์นสัน, เจอรัลดีน เอ. (แปลโดย จณัญญา เตรียมอนุรักษ์) ศิลปะเรอเนซองส์ ความรู้ฉบับพกพา. กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์, 2557.
Burke, Jill. The Italian Renaissance Nude. New Haven, London: Yale University Press, 2013.
Italian Renaissance Exhibition Catalogue, River City Bangkok, 2019.

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก