ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา คุณอาจจะได้ยินเรื่องราวของนิทรรศการศิลปะแนวใหม่ชื่อเสียงระดับโลกที่มาจัดแสดงให้ชมกันในกรุงเทพฯ นิทรรศการนี้มีชื่อว่า ‘From Monet to Kandinsky’ นิทรรศการที่ปลุกชีวิตงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซของศิลปินผู้สร้างประวัติศาสตร์ศิลปะให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งด้วยสื่อมัลติมีเดียทันสมัย
นอกจาก Claude Monet และ Wassily Kandinsky ที่ปรากฏชื่อในชื่อนิทรรศการและเป็นศิลปินคนสำคัญแห่งยุคศิลปะสมัยใหม่ (โมเนต์เป็นหนึ่งในศิลปินผู้บุกเบิกลัทธิอิมเพรสชั่นนิสม์ ส่วนคันดินสกีเป็นศิลปินผู้ริเริ่มศิลปะแนวแอ็บสแตรกท์เป็นคนแรกๆ) ในนิทรรศการนี้ยังรวบรวมศิลปินผู้ทรงอิทธิพลในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในยุคโมเดิร์นอีกหลากหลายคน
ไม่ว่าจะเป็น Edgar Degas, Paul Gauguin, Henri Rousseau, Henri Toulouse-Lautrec, Gustav Klimt, Paul Signac, Piet Mondrian, Amedeo Modigliani, Vincent van Gogh, Pierre August Renoir, Juan Gris, Paul Klee, Edward Munch และ Kazimir Malevich
ศิลปินทั้ง 16 คนนี้มีจุดร่วมคือการปฏิเสธแบบแผนเดิมๆ ในอดีต และริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ด้วยการทดลองใช้รูปแบบ วัสดุ และเทคนิคที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อค้นหาสไตล์การทำงานศิลปะอันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของยุคสมัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่ยุคศิลปะสมัยใหม่ ในเวลาต่อมา
เช่นเดียวกับ ‘From Monet to Kandinsky’ นิทรรศการที่ปฏิวัติวิธีดูศิลปะแบบเดิมๆ ในพิพิธภัณฑ์ ด้วยการนำผลงานของศิลปินเอกแห่งยุคโมเดิร์นเหล่านี้กว่า 1,500 ชิ้น จากพิพิธภัณฑ์ 20 แห่งทั่วโลกมาสร้างสรรค์และตีความใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียอย่างโมชั่นกราฟิกและแอนิเมชั่น ให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวประกอบดนตรีอันน่าตื่นตาตื่นใจ
เป็นโชคดี ที่ a day มีโอกาสได้พูดคุยกับ Oleg Marinin ผู้บริหารของ Artplay Media บริษัทระดับอินเตอร์ผู้เชี่ยวชาญการจัดนิทรรศการมัลติมีเดียอันทันสมัย ผู้ริเริ่มแนวคิดการจัดนิทรรศการนี้ และ Linda Cheng กรรมการผู้จัดการของศูนย์การค้า River City Bangkok เจ้าภาพในการจัดนิทรรศการ
ที่มาที่ไปของนิทรรศการนี้เป็นอย่างไร และหวังจะให้คนดูได้อะไร ตามเราไปคุยกับพวกเขาได้เลย
อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ทีม Artplay Media ผสมผสานงานศิลปะยุคโมเดิร์นนิสม์เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างงานมัลติมีเดีย
โอเลก : งานศิลปะในยุคโมเดิร์นที่เรานำมาแสดงนิทรรศการนี้ ในยุคสมัยของมัน เป็นงานที่ปฏิวัติโลกศิลปะเป็นอย่างมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เหมาะสมที่เราจะนำมันมาแสดงในรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นการปฏิวัติเช่นกัน ในปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีเช่นนี้เป็นเทรนด์ที่โลกศิลปะพยายามนำเสนอ แม้แต่ในพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ของโลก พวกเขาเริ่มผนวกการแสดงงานศิลปะแบบดั้งเดิมร่วมกับเนื้อหาแบบดิจิทัล ซึ่งผมคิดว่าเป็นรูปแบบเนื้อหาที่เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน
คุณใช้มัลติมีเดียเพื่อทำให้คนทั่วไปเข้าถึงงานศิลปะง่ายขึ้นด้วยหรือเปล่า
โอเลก : แน่นอน ตอนที่เราไปแสดงนิทรรศการแบบเดียวกันนี้ที่ประเทศอื่นๆ เราจะเห็นว่ากลุ่มของผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ตามปกติไม่ค่อยไปพิพิธภัณฑ์ แต่กลับสนุกไปกับงานของเรา เราจึงหวังว่าบางคนที่ชอบงานของเราจะไปดูงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์บ้างในภายหลัง
ด้วยความที่งานศิลปะในนิทรรศการนี้เข้าถึงได้ง่ายและมีความสนุกมากขึ้น คนรักศิลปะสายอนุรักษ์นิยมบางคนก็อาจบอกว่างานศิลปะในนิทรรศการนี้เทียบไม่ได้เลยกับของจริง หรือมันไม่เหมาะสมที่จะทำอะไรแบบนี้กับงานศิลปะชิ้นเอก แต่ผมคิดว่าการทำให้งานศิลปะเหล่านี้เป็นที่นิยมเป็นสิ่งที่เหมาะสมมากๆ การทำงานรูปแบบนี้ทำให้ผู้คนมากมายมีโอกาสได้รู้จักศิลปิน พวกเขาสามารถดูงานศิลปะหลายชิ้นที่ปกติต้องไปดูในหลายพิพิธภัณฑ์ ในหลายประเทศ ได้ในสถานที่และช่วงเวลาเดียว
แล้วคุณเองคิดว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบนี้จะทำให้คุณค่าทางศิลปะเปลี่ยนไปไหม
ลินดา : ฉันคิดว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยในการแผยแพร่ศิลปะให้เป็นที่รู้จัก สิ่งที่เราต้องการคือการทำให้คนมองเห็นคุณค่าศิลปะ นั่นคือเป้าหมายของเรา ไม่ว่าจะด้วยวิธีการไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดึงให้คนรุ่นใหม่มีความสุขกับศิลปะ เราอยากให้เขาใช้เวลานอกเหนือจากการดูโทรศัพท์ในมือ จดจ่ออยู่ในโลกเสมือน ที่นี่เขาสามารถมากับเพื่อนๆ สนุกสนาน และมีปฏิสัมพันธ์กันได้
ศิลปินในยุคโมเดิร์นมีมากมาย คุณมีวิธีการคัดเลือกศิลปินมาแสดงในนิทรรศการนี้อย่างไร
โอเลก : ก่อนที่จะใช้ชื่อ From Monet to Kandinski ชื่องานของเราคือ Art Revolution หรือ Revolutionary of Art งานที่เราเลือกจึงเป็นงานที่ปฏิวัติโลกจริงๆ เริ่มตั้งแต่งานอิมเพรสชั่นนิสม์ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่และไม่เป็นที่นิยมในช่วงเริ่มต้นในกรุงปารีส ฝรั่งเศส 40 ปีให้หลัง ศิลปินอย่างคันดินสกี, มาเลวิช หรือมองเดรียน ก็ทำงานศิลปะที่ปราศจากเรื่องราวออกมา พวกเขาวาดรูปอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นในชีวิตจริง
ศิลปินเหล่านี้เป็นนักปฏิวัติทางศิลปะ พวกเขาพัฒนาสไตล์และเทคนิคใหม่ๆ ขึ้นมา นั่นเป็นเหตุผลที่เราเลือกผลงานของศิลปินเหล่านี้มาแสดง อันที่จริงศิลปินกลุ่มนี้มีมากกว่า 16 คน แต่ถ้าแสดงทั้งหมดก็จะมากเกินไป เราก็เลยเลือกศิลปินที่มีความแตกต่าง โดดเด่น และส่งอิทธิพลต่อโลกศิลปะอย่างทรงพลังที่สุดมา
กระบวนการพัฒนานิทรรศการนี้เป็นอย่างไรบ้าง
โอเลก : แรกเริ่ม เราออกแบบคอนเซปต์ของงาน พอเราจัดหารูปของงานศิลปะมาได้แล้ว เราก็ตัดสินใจว่าจะใช้รูปไหน อย่างไรบ้าง แล้วเราก็ให้ศิลปินวิดีโอทำนิทรรศการนี้ขึ้นมาจากรูปเหล่านั้น สิ่งที่ยากที่สุดคือการหาสมดุลระหว่างการแสดงภาพผลงานเหล่านั้นโดยไม่แตะต้องอะไรเลย กับการเอาภาพผลงานเหล่านั้นไปทำเป็นแอนิเมชั่น ใส่สเปเชียลเอฟเฟกต์เยอะๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม ความสมดุลที่ว่าคือเราต้องไม่ทำให้มากเกินไปจนกลายเป็นการ์ตูน หรือน้อยเกินไปจนเป็นแค่การฉายภาพนิ่งของานเหล่านั้นเฉยๆ ซึ่งผมคิดว่าเราทำออกมาได้สมดุลพอดีนะ
ผลงานของศิลปินที่แสดงในนิทรรศการนี้เรียงตามช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ศิลปะไหม
โอเลก : เราเริ่มต้นด้วยโมเนต์ที่เป็นศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ และจบด้วยมาเลวิชและคันดินสกีที่เป็นศิลปินแอ็บสแตรกท์ ในระหว่างงานของศิลปินเหล่านี้ เรานำเสนอโดยตามอารมณ์และความรู้สึกที่จะสื่อให้ผู้ชมดูมากกว่า ไม่ได้เรียงตามลำดับเวลา
แปลว่านิทรรศการนี้ไม่จำเป็นต้องดูเรียงตามลำดับ
ลินดา : ใช่ คุณจะเริ่มดูตอนไหนก็ได้
ในบรรดาศิลปินที่คุณคัดเลือกมาแสดงงาน คุณชอบศิลปินคนไหนที่สุด
โอเลก : หนึ่งในศิลปินที่ผมชอบที่สุดคือคันดินสกี เพราะเขาเป็นศิลปินที่แตกต่างจากคนอื่นมากๆ แรกเริ่ม เขาวาดภาพในสไตล์คลาสสิกตามประเพณีมากๆ แต่ท้ายที่สุด เขากลับเป็นหนึ่งในศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่ริเริ่มงานศิลปะแอ็บสแตรกท์ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้โดดเด่นมากๆ
ผมรักแวน โกะห์ เช่นเดียวกับอีกหลายๆ คนบนโลกเพราะเขาเป็นศิลปินที่อ่อนไหวมาก เราเคยจัดนิทรรศการของแวน โกะห์คนเดียว งานนั้น ผู้ชมหลายคนร้องไห้หลังจากได้ชมงานและได้อ่านเรื่องราวโศกนาฏกรรมของเขา ได้ฟังเพลง และได้อ่านถ้อยคำที่มาจากจดหมายที่เขียนถึงน้องชายของเขา มันสะเทือนอารมณ์อย่างยิ่ง
นิทรรศการนี้คุณนำเสนองานศิลปะในศตวรรษที่ 19 คุณเคยคิดจะเอางานศิลปะร่วมสมัยมาทำด้วยหรือเปล่า
โอเลก : ผมคิดจะทำเหมือนกันนะ สำหรับนิทรรศการนี้เราคิดจะทำอะไรมากกว่าแค่การเอางานศิลปะของศิลปินยุคโมเดิร์นมาแสดงเท่านั้น แต่เราพยายามสร้างงานในแบบของเราขึ้นมา ด้วยงานที่มีเนื้อหาดิจิทัลที่อินเทอแร็กทีฟได้ ผู้ชมไม่เพียงแต่จะได้ดูและเพลิดเพลินกับงานเท่านั้น แต่พวกเขาอาจมีโอกาสได้สร้างงานของตัวเองขึ้นมาด้วย
ทำไมคุณถึงอยากทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับงานศิลปะ มากกว่าแค่ดูมันเฉยๆ
โอเลก : มันไม่ใช่ไอเดียของเรานะ มันเริ่มมาจากความต้องการของผู้ชมต่างหาก แรกเริ่ม พวกเขาต้องการม้านั่งหรือเก้าอี้ธรรมดาไว้นั่งดูงาน เราก็เอาเก้าอี้บีนแบ็กสองสามตัวไปวางให้นั่ง พวกเขาก็ขอมากขึ้นๆ อีก เพราะมันนั่งดูงานได้สะดวกสบาย เราแค่ตอบสนองความต้องการของผู้ชม หรือผู้ชมบางคนที่ใช้เวลาเดินดูงานเป็นชั่วโมงๆ แล้วอยากดูงานต่อ แต่เขาเหนื่อย เขาเลยอยากหาโอกาสที่จะได้นั่งดูงานมากกว่านี้ เราก็เลยจัดให้เขา
เหมือนแทนที่จะให้คนเดินดูงาน ก็ให้งานเดินให้คนดูแทน
ลินดา : ใช่ ให้ศิลปะเคลื่อนไหวผ่านผู้ชม ให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ นั่งฟังเพลง และให้ศิลปะเคลื่อนไหวไปรอบๆ ตัวคุณ เปิดความคิดและจิตใจรับศิลปะเหล่านี้เข้าไป มันเป็นสิ่งที่พิเศษมาก โลกภายนอกมันวุ่นวาย เราอยากให้คุณเข้ามาในนิทรรศการนี้แล้วผ่อนคลายกับมัน
โอเลก : บางคนดูๆ ไปก็ผล็อยหลับคาเก้าอี้บีนแบ็กก็มี
การดูงานศิลปะไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดเสมอไป
ลินดา : ใช่ ไม่จำเป็น ทุกคนก็มีวิธีและมุมมองเรื่องความเพลิดเพลินแตกต่างกัน ซึ่งมันก็โอเค
โอเลก : เราต้องการเปลี่ยนวิธีการนำเสนอศิลปะแบบเดิมๆ แบบที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น ศิลปินอย่างโมเนต์ ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา เขาตัดสินใจแสดงภาพวาดที่ไม่ได้อยู่ในกรอบเดียว แต่แสดงงานด้วยวิธีคล้ายกับเรา แน่นอนว่าเขาไม่ได้ใช้โปรเจ็กเตอร์และคอมพิวเตอร์หรอก (หัวเราะ) สิ่งที่เขาทำก็คือ เขาวาดภาพขนาดใหญ่มากต่อกันเป็นมุมกว้าง 360 องศา เมื่อผู้ชมเข้าไปในห้องแสดงงาน พวกเขาก็จะถูกแวดล้อมและจมดิ่งเข้าไปในภาพวาด เราก็ทำแบบเดียวกัน แต่แค่ใส่คอมพิวเตอร์กราฟิกและโปรเจกเตอร์เข้าไปเท่านั้นเอง
อีกอย่างก็คือปกติเวลาเราเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ บรรยากาศในนั้นจะมีแต่ความเงียบและเคร่งเครียด ซึ่งทำให้คุณเครียดไปด้วย แต่นิทรรศการของเราตรงกันข้าม ผมคิดว่าศิลปินที่เรานำงานของพวกเขามาแสดงก็น่าจะชอบสิ่งที่เราทำ เพราะพวกเขาเป็นนักปฏิวัติในช่วงเวลาของเขาเช่นกัน ส่วนงานของเราก็ใหม่มากๆ และการเสพงานศิลปะก็ไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดเสมอไป
ลินดา : สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ศิลปินเหล่านี้เคยถูกปฏิเสธและไม่ได้รับการยอมรับในช่วงเวลาของพวกเขา สิ่งที่ดีก็คือ พวกเขาต่อสู้และยืนหยัดที่จะทำในสิ่งที่พวกเขาหลงใหล และไล่ตามความฝันของตัวเอง นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายว่าอย่ามัวแต่กลัว จงไล่ตามความฝันของคุณ เราเรียนรู้ชีวิตของศิลปินเหล่านี้หลังจากได้ทำโปรเจกต์นี้ ศิลปินบางคนมีชีวิตที่เศร้า ลำบากยากจน แต่พวกเขาหาได้แคร์ไม่ พวกเขาทำมันต่อไป แวน โกะห์ ขายภาพวาดได้ภาพเดียวในชีวิต แต่ดูภาพวาดของเขาตอนนี้สิ มันขายได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ ฉันคิดว่าการเรียนรู้ความยากลำบากในชีวิตของศิลปินเหล่านี้ให้แรงบันดาลใจกับคนรุ่นหลังอย่างมาก
นอกจากงานศิลปะแบบมัลติมีเดีย ได้ยินว่าคุณยังมีกิจกรรมอย่างอื่นด้วยใช่ไหม
ลินดา : ตลอดช่วงเวลา 6 เดือนของการแสดงนิทรรศการนี้ เรามีกิจกรรมต่างๆ เช่น เราเชิญผู้เชี่ยวชาญจากยุโรปและไทยมาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปินในนิทรรศการ เพราะฉันคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนิทรรศการนี้คือเราอยากให้ความรู้ ทุกโครงการที่ริเวอร์ ซิตี้ทำต้องให้ความรู้และความเพลิดเพลิน
เรามีบัตรราคาพิเศษสำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือนักเรียนที่เข้าชมเป็นกลุ่มเราก็ลดราคาให้เยอะมาก เพื่อให้โรงเรียนพานักเรียนมาทัศนศึกษา เราอยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน ที่สำคัญฉันคิดว่าเด็กหลายคนอาจได้เรียนรู้และเติบโตจากประสบการณ์ชีวิตของศิลปินเหล่านี้ ศิลปินบางคน อย่างอองรี รูสโซ วาดภาพป่าที่สวยงามมาก ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นป่าเลยสักครั้งในชีวิต แรงบันดาลใจของเขาได้มาจากสวนพฤกษศาสตร์ในเมือง เขาเป็นศิลปินที่เต็มไปด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ และไม่เคยเรียนศิลปะด้วยซ้ำไป ฉันร้องไห้เวลาอ่านเรื่องของพวกเขา หลังจากนิทรรศการจบลงแล้ว เราจะมีหนังสือสูจิบัตรรวมผลงานของศิลปินทั้งหมดที่แสดงในนิทรรศการนี้ออกมาด้วย
ฉันอยากให้พวกเขาเข้ามาสนุกสนาน เพลิดเพลิน หรือชวนเพื่อนๆ มาดูงานกัน ซึ่งจะทำให้การเข้ามาดูนิทรรศการนี้สร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน
คุณคิดว่าผู้ชมชาวไทยจะได้อะไรจากนิทรรศการในครั้งนี้
โอเลก : อย่างแรกเลย ผมหวังว่าคนไทยหลายคนจะได้รู้จักศิลปินที่เรานำผลงานมาแสดงเพิ่มขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่ ‘ism’ (ลัทธิ/กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ) แบบอิมเพรสชั่นนิสม์, โพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์, ซูพรีมาติสม์ และ อาว็อง-การ์ดถือกำเนิดขึ้นมา นิทรรศการนี้เป็นพื้นที่ในการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะเหล่านี้ในที่เดียว
นิทรรศการ From Monet to Kandinsky เคยจัดแสดงที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่ปี 2017-2018 การมาจัดแสดงในบ้านเราในครั้งนี้ถือเป็นการจัดแสดงนิทรรศการนี้เป็นครั้งแรกในเอเชีย โดยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เวลา 10:00 น. – 22:00 น. ที่ RCB Galleria บนชั้น 2 ของศูนย์การค้า River City Bangkok
อนึ่ง นิทรรศการนี้เป็นหนึ่งในสองโปรแกรมของนิทรรศการศิลปะมัลติมีเดียของริเวอร์ ซิตี้ แบ่งเป็นสองส่วนคือ From Monet to Kandinsky ต่อด้วยนิทรรศการ Italian Renaissance (จัดแสดงผลงานของศิลปินเอกแห่งยุคเรอเนซองซ์อย่าง เลโอนาร์โด ดา วินชี, ไมเคิลแองเจโล และราฟาเอล ในรูปแบบมัลติมีเดียเช่นเดียวกัน) เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562
ผู้ที่สนใจ สามารถซื้อบัตรได้ที่นี่ และสามารถติดตามกิจกรรมตลอดระยะเวลาของนิทรรศการ ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก River City Bangkok, อินสตาแกรม rivercitybangkok และเว็บไซต์ rivercitybangkok.com