รูปคู่รักเนียลสันและเฮส์ใน Neilson Hays Library ห้องสมุดแห่งความรักของบางรัก

Highlights

  • ชวนไปดูขุมทรัพย์ที่ตั้งอยู่บนถนนสุรวงศ์ ย่านบางรัก ซึ่งถูกเปรียบเปรยว่าเป็นทัช มาฮาล แห่งกรุงเทพมหานคร
  • น้อยคนนักที่จะรู้เรื่องราวเบื้องหลังของสถานที่แห่งนี้ ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ อาคารทรงนีโอคลาสสิกที่บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของเนียลสันและเฮส์
  • เบื้องหลังของความสัมพันธ์นี้และสถานที่แห่งนี้เป็นยังไง โอ๊ต มณเฑียร นำเราไปยังพื้นที่จัดแสดงขุมทรัพย์นี้

ใครจะเชื่อว่าเพียงก้าวเดียวจากถนนสุรวงศ์ที่พลุกพล่าน เราจะได้พบกับความเงียบสงบอันอบอุ่นทันทีเมื่อเข้ามาในพื้นที่ของห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นเสมือนที่หลบภัยจากความวุ่นวายของคนย่านบางรัก

แต่เสียดายที่น้อยคนจะรู้เรื่องราวเบื้องหลังชื่อของห้องสมุดแห่งนี้ เราจึงขอบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของเนียลสันและเฮส์ผ่านขุมทรัพย์ที่จัดแสดงอยู่ด้านในอาคารทรงนีโอคลาสสิกนี้

ในขณะเดียวกันจะได้เฉลยให้ทราบว่า ทำไมสถานที่นี้ถึงถูกเปรียบเปรยว่าเป็น ‘ทัช มาฮาล’ แห่งกรุงเทพมหานคร

เมื่อเราถอดรองเท้าเข้าไปด้านในห้องสมุดแล้ว แน่นอนว่าสิ่งแรกที่สร้างความประทับใจให้กับผู้มาใช้บริการคือการออกแบบอาคารที่โอ่โถง เสาคอรินเทียนสูงชะลูดหรูหรา รับกับหน้าต่างทรงโค้งสง่างาม อีกทั้งนวัตกรรมสำคัญของที่นี่คือผนัง 2 ชั้นที่มีช่องอากาศตรงกลาง สำหรับไล่ความชื้นที่จะมาทำลายหนังสือ ทั้งหมดนี้เป็นผลงานของสถาปนิกชื่อดัง Mario Tamagno ผู้เข้ามารับราชการอยู่ในสยามเมื่อ .. 2443 หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าอาคารนี้มีผังเป็นตัว H ทรงเดียวกันกับพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบแดงของตามัญโญเช่นกัน

ตามเอกสารเก่าระบุว่า เมื่อก่อนทางเข้านั้นอยู่ตรงห้องทรงโดมกลาง แต่ต่อมาเปลี่ยนให้เข้าทางปีกขวาของอาคารแทน ส่วนห้องตรงกลางนั้นปัจจุบันใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงขุมทรัพย์หลายต่อหลายชิ้นของพิพิธภัณฑ์ เช่น หนังสือพระราชนิพนธ์และโต๊ะเขียนหนังสือพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จดหมายและเอกสารการก่อตั้งในยุคแรกโดยสมาชิกสมาคมสตรี (The Ladies’ Bazaar Association) ซึ่งสมาชิกเป็นสุภาพสตรีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โดยนำรายได้จากการขายของของสมาคมสตรีมาจัดตั้งสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพฯ (The Bangkok Ladies’ Library Association) ขึ้นเพื่อให้บริการแก่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โดยมีข้อบังคับของสมาคมที่ให้การบริหารงานนั้นต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น

นายกสมาคมคนแรกซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งคือ Sarah Blachley Bradley ภรรยาของ Dr. Dan Beach Bradley หรือหมอบรัดเลย์คนดังนั่นเอง

นอกจากนี้ในห้องยังมีการจัดแสดงภาพขาว-ดำของชาย-หญิงคู่หนึ่ง เจ้าของความรักที่ผลิดอกออกผลเป็นอาคารหลังนี้ด้วย เริ่มจากฝ่ายหญิง Jennie Neilson ซึ่งเป็นชาวเดนมาร์ก แต่ครอบครัวของเธออพยพไปอยู่รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา และต่อมาเธอได้เดินทางมาเป็นมิสชันนารีในประเทศไทยเมื่อ พ.. 2427

ชีวิตในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การกินอยู่ยังไม่สะดวกสบายเท่าไหร่ โชคดีที่ไม่นานนักหลังจากที่เธอย้ายมาอยู่เมืองไทย เธอได้พบรักกับ Thomas Heyward Hays หรือที่ชาวไทยเรียกติดปากว่า ‘หมอเฮส์’ ศัลยแพทย์ของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนที่ถูกส่งมาประจำ บางกอก ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพฯ รวมถึงเป็นอาจารย์สอนวิชาแพทย์คนแรกของโรงพยาบาลศิริราชด้วย

ในจดหมายของเธอเล่าว่า เธอหมายมั่นที่จะแต่งงานกับเขาตั้งแต่แรกเห็น ฝั่งหมอเฮส์เองก็มีความพยายามไปมาหาสู่ขนาดที่ว่าอดทนเดินทางด้วยเรือครั้งละ 30 ชั่วโมงไปเพชรบุรี เพื่อไปเยี่ยมแฟนของท่าน (*อ้างอิงจากหนังสือ เพชรเม็ดงาม 130 ปี กุลสตรีวังหลัง – วัฒนาวิทยาลัย) จนสุดท้ายเจนนี่ตัดสินใจลาออกจากการเป็นนักเผยแพร่ศาสนาและแต่งงานกับคุณหมอเมื่อ .. 2430

 

หมอเฮส์และเจนนี่เป็นที่รู้จักทั่วไปในสังคมชาวต่างชาติและเจ้านายชั้นสูงในสมัยนั้น แขกเหรื่อจากต่างประเทศที่ล่องเรือเข้ามาพระนครล้วนต้องมาพำนักที่ห้องรับรองในโรงพยาบาลของหมอเฮส์ คุณหมอได้มีชื่อเสียงทั้งด้านวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลทางการแพทย์ เป็นผู้ที่นำเข้าเครื่องเอ็กซ์เรย์มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และบุคลิกลักษณะส่วนตัวที่น่าสนใจคือ คุณหมอโปรดปรานการปลูกดอกกุหลาบอย่างมาก แปลงกุหลาบของหมอเฮส์ขึ้นชื่อว่าเป็นแปลงที่งามที่สุดในสยาม

ส่วนเจนนี่นั้นอุทิศตัวให้กับการทำงานในห้องสมุดฯ ตั้งแต่ .. 2438 เธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้กับองค์กรนี้เป็นเวลาถึง 25 ปี และรับตำแหน่งประธานห้องสมุดฯ ถึง 3 สมัย ก่อนจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในเดือนเมษายน .. 2463 ตามบันทึกของหมอเฮส์บอกว่า เจนนี่ล้มป่วยหลังจากพวกเขากินข้าวด้วยกันในวันศุกร์ เธอเสียชีวิตในวันจันทร์ โดยสิ่งเดียวที่เธอกินเข้าไปแต่คุณหมอไม่ได้กินคือ ‘ลูกชิ้นปลา’ สันนิษฐานว่าการตายของเธอน่าจะมาจากอหิวาตกโรค

การจากไปของเจนนี่สั่นสะเทือนหัวใจของคุณหมออย่างมาก ในช่วงเวลาอันหดหู่นี้เขาตัดสินใจซื้อที่ดินริมถนนสุรวงศ์เพื่อสร้างเป็นห้องสมุดถาวรอุทิศให้แก่เจนนี่

ในจดหมายของหมอเฮส์ ลงวันที่ 21 มิถุนายน .. 2463 ถึงคุณนาย MacFarlane (หนึ่งในผู้ดูแลห้องสมุดและเพื่อนสนิทของทั้งคู่) เขียนไว้ว่า

ผมรู้ว่าคุณต้องการจะพูดคุยกับผมเรื่องกิจการของห้องสมุด แต่คุณกลั้นความรักของคุณต่อเจนนี่ไว้ไม่มิดด้วยเสียงที่สั่นเครือและความชื้นในตาของคุณ เมื่อคุณเริ่มพูดถึงเธอ ผมต้องใช้ความสามารถอยากหนักหน่วงที่จะควบคุมตัวเองที่จะต้องกล่าวถึงเธอหรือเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเธอ ผมสามารถนั่ง และคิด และเขียนถึงเธอ และหากผมพ่ายแพ้ต่อความโศกเศร้า อย่างน้อยก็ไม่มีใครมาเห็น ดังนั้นผมจึงเขียนข้อระบุเกี่ยวกับห้องสมุดเป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องด้วยผมรู้ดีถึงความต้องการของเธอ…”

จากนั้นคุณหมอจึงบรรยายเงื่อนไขการสนับสนุนของเขาตามเจตจำนงของภรรยาผู้ล่วงลับ เช่น การใช้หนี้ การขยายตึกตามแบบแนบ การขยายเวลาเปิดบริการให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น ฯลฯ

ห้องสมุดเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน .. 2465 น่าเสียดายที่ 2 ปีหลังจากนั้นคุณหมอเฮส์ก็ล้มป่วยและเสียชีวิตตามภรรยาไป ในพินัยกรรมเขาระบุไว้อย่างชัดเจนให้ฝังศพของเขาเคียงคู่กับเธอในบริเวณสุสานฝรั่ง บริเวณเจริญกรุง

ห้องสมุดแห่งนี้ยังผ่านวีรกรรมอีกมากมาย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารแห่งนี้ถูกยึดโดยกองทัพญี่ปุ่นเนื่องจากเป็นตึกของฝ่ายอเมริกัน และหนังสือด้านในถูกทำให้กระจัดกระจาย มีจำนวนมากถูกส่งไปที่ญี่ปุ่น จนเจ้าหน้าที่การทูตชาวไทยไปพบเห็นหลังสงคราม จึงทำเรื่องขอคืนกลับมาได้ประมาณ 800 เล่ม ในช่วง .. 2493

นอกจากนี้ตัวอาคารเองก็ต้องมีการบูรณะหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อ .. 2560 ตัวพื้นของอาคารทรุดลง เมื่อขุดค้นจึงทราบสาเหตุว่าใต้พื้นด้านล่างมีถังเก็บน้ำล้อมรอบตัวอาคารและระดับน้ำนั้นสูงเกินกว่าที่ควรเป็นอย่างมาก เกิดน้ำสะสมในดินเป็นพื้นที่น้ำขังและเกิดความชื้น ทำให้โครงสร้างอาคารมีความชื้นสะสมตั้งแต่พื้นลามไปจนถึงผนัง เกิดความผุพังตามที่ปรากฏ ทางห้องสมุดจึงต้องเรี่ยไรเงินผ่าน crowdsourcing และขอรับบริจาคกว่า 12 ล้านบาท เพื่อเป็นการต่อลมหายใจอีกครั้ง

ปัจจุบันห้องสมุดยังยืนหยัดอยู่ด้วยความรักของสมาชิกและผู้ดูแลรักษา มี นลิน วนาสิน เป็นประธานคณะกรรมการบริหารห้องสมุดฯ มีสมาชิกทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่า 600 คน เข้ามายืมอ่านหนังสือกว่า 20,000 เล่ม ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในคอลเลกชั่นหนังสือภาษาต่างประเทศจำนวนเยอะที่สุดในไทย มีการจัดกิจกรรม book club และกิจกรรมอ่านหนังสือเล่านิทานสำหรับเด็กเป็นประจำ รวมถึงมีการประกวด Young Writer Awards และในปีที่ผ่านมายังริเริ่ม Literature Festival ที่ชวนนักเขียนระดับโลกมาเปิดวงเสวนากันในห้องสมุดด้วย

หากใครยังไม่เคยไป เราก็ขอเชิญให้ลองแวะเวียนเข้าไปสัมผัสบรรยากาศสุดโรแมนติกของที่นี่สักครั้ง อ่านหนังสือแล้วก็อย่าลืมส่งยิ้มให้กับรูปภาพของคุณเจนนี่และหมอเฮส์ด้วยล่ะ

ไปช่วยกันเป็นกำลังใจให้ห้องสมุดในชื่อของพวกเขายังหยัดยืนอยู่ตรงนี้ เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักของบางรักตลอดกาลนาน

AUTHOR