คดีวางเพลิงต่อเนื่องปริศนา, ร่างไร้วิญญาณของอาจารย์มหาวิทยาลัยในโรงอาหาร, ผู้บุกรุกบ้านที่ซ่อนตัวอยู่ในเก้าอี้
จะแปลกใจไหมถ้าคดีสืบสวนเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในนิยายเล่มไหน แต่บรรจุอยู่ในทีสิสของเด็กมหาวิทยาลัยสาขากราฟิกดีไซน์
Committing Graphics, Designing Crimes คือชื่อของหนังสือเล่มที่ว่าโดย Broccolily หรือ ลิลลี่–เนตรดาว องอาจถาวร บัณฑิตภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้หยิบจับนิยายสืบสวนญี่ปุ่นถึง 380 เรื่องมาตีความและจัดหมวดหมู่ออกมาเป็น 14 ทริกฆาตกรรมสุดเบสิก ซึ่งเธอดัดแปลงเป็นเคล็ดลับน่ารักน่าหยิกในการสร้างงานออกแบบอีกที (แต่อย่านำไปใช้ฆ่าใครล่ะ!)
ความบ้าคลั่งในการอ่านนิยายสืบสวนเป็นร้อยๆ เรื่องบวกกับการเชื่อมโยงกับงานดีไซน์อย่างเฉียบคม คาดไม่ถึง และสนุกสุดๆ ไม่ได้ทำให้เราประทับใจเพียงแค่คนเดียว แต่ยังเตะตากรรมการโครงการประกวดศิลปนิพนธ์ Degree Shows จนทำให้ลิลลี่ได้รางวัล Best of Graphic Design และรางวัลใหญ่ Best of the Shows ประจำปี 2019 ไปครอง
นอกจาก Commiting Graphics, Designing Crimes แล้ว ลิลลี่ยังมีอาร์ตบุ๊กของตัวเองอีก 4 เล่มที่แม้จะต่างหัวข้อ แต่ก็สวยและสนุกแบบกินกันไม่ลง จนเราต้องชวนเธอหอบผลงานมาพลิกดูและคุยกันถึงเบื้องหลังว่าต้องคิดและทำยังไงถึงได้ผลงานที่น่าสนใจขนาดนี้
ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว และลิลลี่เท่านั้นที่รู้คำตอบ
คดีกลิ่นอายญี่ปุ่นปริศนา
หากคุณเคยอ่านหนังสือของลิลลี่สักเล่มละก็ สิ่งที่คุณจะพบคืออิทธิพลหนังสือญี่ปุ่นที่อบอวลอยู่ในงาน ทั้งความเวียร์ดแต่น่าเอ็นดู ความกวนโอ๊ยแบบหน้าตาเฉย และความขี้เล่นที่ซุกซ่อนอยู่ในเลย์เอาต์เรียบ สะอาดตา
“มากกว่าความชอบมันน่าจะเป็นวัฒนธรรมในบ้าน” ลิลลี่พูดอย่างรวดเร็วเมื่อเราเอ่ยถึงอิทธิพลญี่ปุ่นที่รู้สึก
“พ่อของเราไปเรียนที่ญี่ปุ่นตั้งแต่มัธยมปลายจนจบปริญญาโท ส่วนแม่ของเราเรียนปริญญาโทกับปริญญาเอกที่นั่นก็เลยเจอกัน พี่สาวเราก็ไปอยู่ญี่ปุ่นได้ 7 ปี เพิ่งย้ายไปอยู่ที่อื่นเมื่อเร็วๆ นี้ ตั้งแต่เด็กๆ เราเห็นพ่อแม่คุยภาษาญี่ปุ่นมาตลอด มีข้าวของญี่ปุ่นให้เห็นในบ้าน แม่เราเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่น พอเราขึ้น ป.1 ก็เลยสอนภาษาเราด้วย แล้วเราก็ไปเที่ยวญี่ปุ่นบ่อยๆ เพื่อเยี่ยมพี่สาว ก็เลยเก็บเรื่องนู้นเรื่องนี้ของญี่ปุ่นมาใช้ในผลงาน
“นอกจากภาษาญี่ปุ่นเราก็ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กๆ ไปเรียนวาดรูปก็ทำได้ดีเมื่อเทียบกับการเรียนพิเศษอื่นๆ เลยรู้สึกว่าการวาดรูปกับภาษาคือจุดแข็งของเรา ตอนประถมเราชอบเขียนการ์ตูนแจกเพื่อน เขียนเกมที่ต้องเปลี่ยนชุด ทำเควสต์ลงในกระดาษ วนกันเล่นกับเพื่อนในห้อง แต่ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจว่าวาดรูปจะเอาไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ เลยตั้งใจว่าจะเรียนทางด้านภาษาญี่ปุ่น พอช่วง ม.ปลาย เราได้อ่านงานของนักวาดหลายคน อ่านคอมิกบุ๊ก หรืออย่างงานของพี่อัพ ทรงศีล (ทรงศีล ทิวสมบุญ) เราก็ซื้อมาอ่านเยอะมาก เลยเริ่มหาว่าคณะที่เรียนด้านนี้มีคณะอะไรบ้าง เริ่มไปติว สักพักก็เบนมาทางกราฟิกดีไซน์”
จากการวาดรูปทำไมถึงเบนมาทางด้านกราฟิกได้ เราโยนคำถาม
ลิลลี่นิ่งคิดอยู่พักหนึ่งก่อนตอบ
“เราคิดว่าเป็นเพราะเราไม่ได้วาดการ์ตูนที่มีคาแร็กเตอร์ชัดเจนขนาดนั้น แล้วเราก็ชอบงานดีไซน์ของญี่ปุ่น พวกเครื่องเขียน ของจุกจิก เลยคิดว่าถ้าเราทำของพวกนี้ใช้เองได้คงจะดีเนอะ ยิ่งมาเรียนมหาวิทยาลัยเรายิ่งรู้สึกว่างานกราฟิกดีไซน์ไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องด้วยภาพหรือกระดาษ แต่คือการดีไซน์ข้าวของที่เราใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งก็คล้ายๆ การดีไซน์ประสบการณ์ในชีวิต
“เรามองว่าทุกอย่างเป็นวัตถุ เป็นประสบการณ์ ต่อให้ออกแบบวิดีโอหรือหนังสือเราก็ยังใช้วิธีคิดแบบวัตถุนะ เช่น เราจะมองหนังสือว่าเป็นวัตถุที่ให้ประสบการณ์ทั้งเล่ม มองวิธีการจับ ไม่ใช่แค่คิดถึงคอนเทนต์อย่างเดียว แต่เราพยายามคิดถึงขั้นตอนของการเล่าว่าจะหลอกล่อคนอ่านยังไงได้บ้าง เราชอบเซอร์ไพรส์คน”
และเซอร์ไพรส์แรกที่ลิลลี่เปิดให้เราดูคือหนังสือทรงกระบอกหน้าตาเรียบง่าย ซึ่งเธอเฉลยว่าเป็นหนังสือสวดมนต์
“ตอนเรียน มีวิชาหนึ่งให้โจทย์เป็นการดีไซน์หนังสือสวดมนต์ศาสนาใดก็ได้ ดีไซน์ให้คนทาร์เก็ตไหนก็ได้ เราก็เลือกหนังสือสวดมนต์ของศาสนาพุทธ เลือกทาร์เก็ตเป็นคนที่นอนไม่หลับเพราะเราเองนอนไม่หลับ เราตีโจทย์ว่าคนนอนไม่หลับมันจะชอบเกา ชอบแกะอะไรซ้ำๆ ก็เลยทำเป็นหนังสือที่หน้าแคบเพื่อบังคับให้เขาเปิดซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ แล้วเราก็ทำให้ตัวอักษรมันขึ้นๆ ลงๆ ทำให้ตาต้องกวาดเยอะจนเหมือนจะง่วงเพราะทุกอย่างมันซ้ำไปซ้ำมา เนื้อหาข้างในเราแยกพยางค์ ตัวไหนต้องอ่านยานคางเราจะทำเลือนไว้ให้ คนก็ต้องเปิดหนังสือไปเรื่อยๆ เพราะหน้ากระดาษมันแคบมากเหมือนเป็นการสร้างความถี่แห่งธรรมะ พอเปิดไปนานๆ ก็จะเข้าสู่ธรรมะและเริ่มหลับ”
โชคดีที่ลิลลี่เพียงแค่เปิดรูปหนังสือเล่มนี้ให้ดู เราจึงยังตาสว่างพร้อมฟังเรื่องหนังสือเล่มอื่นๆ ของเธอกันต่อ
สิ่งพิมพ์จริงจังครั้งที่หนึ่ง
ซองจดหมายสีขาววางสงบนิ่งอยู่ตรงหน้าเรา บริเวณมุมซ้ายของซองแต่งแต้มด้วยแสตมป์ลายแปลกตา ส่วนพื้นที่สำหรับจ่าหน้าซองไร้ชื่อที่อยู่ แต่ปรากฏคำว่า POST-AGE POSTAGE แทน
นี่คือ POST-AGE POSTAGE Stamp Collection ผลงานเล่มแรกของลิลลี่ที่วางขายจริงในงาน BANGKOK ART BOOK FAIR 2018 ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY และตามประสาคนช่างเซอร์ไพรส์ ซองจดหมายนั้นจึงเปิดออกมาได้เป็นหนังสือ และแทนที่หนังสือจะบรรจุตัวอักษร มันกลับเต็มไปด้วยแสตมป์ลวดลายต่างๆ ที่ควรติดอยู่นอกซองแทน
“เราชอบสิ่งพิมพ์มากๆ” ลิลลี่ตาพูดอย่างกระตือรือร้นพร้อมอธิบายเหตุผลที่เธอลองออกแบบหนังสือไปขายในงานอาร์ตบุ๊กแฟร์ครั้งนั้น
“เราชอบอ่านหนังสือ ชอบทำเปเปอร์คราฟต์ตั้งแต่เด็กๆ เลยรู้สึกสนิทกับกระดาษที่สุด อีกอย่างหนังสือก็เป็นสิ่งที่กราฟิกดีไซเนอร์ดีลได้ง่ายที่สุดด้วย เพราะเราไม่ได้เรียนด้านออกแบบอุตสาหกรรมหรือโปรดักต์มาเลยไม่รู้ข้อจำกัดของวัสดุอื่น อย่างมากก็รู้แค่เรื่องการพิมพ์ การเย็บกระดาษ แต่ว่าตอนช่วงปี 2-3 เขาบังคับให้เด็กกราฟิกไปฝึกงานกับกราฟิก เราก็ไม่ฝึกนะ”
เทกซ์ไทล์และงานแฟชั่นคืองานที่เธอเลือกฝึกฝน และเป็นช่วงปี 3 ที่ได้ฝึกงานกับแบรนด์แฟชั่น Cuscus the Cuckoos นี่เองที่ทำให้เกิดหนังสือทำมือเล่มแรกขึ้นมา
“ตอนนั้นพี่ที่รู้จักกันเขาจะไปออกบูทที่ BANGKOK ART BOOK FAIR เราอิจฉาที่เขาได้ขายหนังสือเลยไปถามเขาว่าทำเรื่องอะไรดี เขาก็บอกว่าทำอะไรก็ทำไปเถอะ ประกอบกับตอนนั้นเป็นช่วงที่ฝึกงานกับพี่กุ๊ก (ชนิดา วรพิทักษ์) ที่ Cuscus the Cuckoos เขามีความเป็นศิลปินสูงมาก จะชอบบอกเราว่าบางทีแกไม่ต้องคิด ทำไปก่อนแล้วค่อยมาคิดตามหลังก็ได้นะ เราก็เลยไม่คิดอะไรจริงๆ คิดแค่ว่าเราชอบแสตมป์แต่ไม่มีโอกาสได้สะสม เพราะยุคที่เราโตมาเขาก็ไม่ใช้กันแล้ว เราเลยได้ไอเดียว่าจะทำแสตมป์เอง ก็วาดรูปตังเมที่มีหน้า ถังขยะที่มีไฟพุ่ง ไม่ได้มีเนื้อหาอะไรเป็นพิเศษ แต่เหมือนเป็นแบบฝึกหัดให้เราเข้าใจระบบการพิมพ์ในโรงพิมพ์มากกว่า
“พอย้อนกลับไปมอง จริงๆ เราได้เห็นว่าเรามีความพยายามทำให้มันเป็นวัตถุอะไรบางอย่าง และงานนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำหนังสือทำมือ ทำให้รู้ว่าเราสนุกกับการทำหนังสือนะ”
ขี้อายใช่ไหม ใช้แคตาล็อกนี้สิ!
นอกจากคอลเลกชั่นแสตมป์ส่วนตัวแล้ว ไหนๆ จะไปออกบูทที่ BANGKOK ART BOOK FAIR ทั้งที ลิลลี่จึงตัดสินใจทำหนังสือไปขายถึง 2 เล่ม โดยอีกเล่มมีชื่อว่า In-Sekyo Product Catalogue (เล่นกับคำว่า insecure ที่แปลว่าไม่มั่นใจ) ซึ่งพัฒนามาจากงานในวิชาเรียนที่คณะนั่นเอง
“เล่มนี้เราเริ่มคิดมาจากโจทย์ของอาจารย์ว่าให้ทำงานเกี่ยวกับ insecurity หรือความไม่มั่นใจในตนเอง เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่หนักพอสมควรนะ เช่น อ้วนแล้วมีคนมาล้อ เป็นสิว เพื่อนที่หน้าอกใหญ่ไม่กล้าใส่ชุดรัดรูป หรืออยู่ในสังคมที่ความจนกับความรวยไม่เท่ากัน แต่เราเป็นสายที่ไม่ชอบพูดเรื่องจริงจังด้วยวิธีที่จริงจัง ประกอบกับเรามีความคิดแบบมิวเซียมและนิทรรศการในรูปแบบกราฟิก ก็เลยนำเสนอเป็นแคตาล็อกขายของออนไลน์ที่ไม่มีอยู่จริงที่จะแก้เรื่องความไม่มั่นใจ เช่น คนนี้อยากสูงแต่ใส่รองเท้าเสริมส้นแล้วเจ็บเท้า งั้นเพิ่มความสูงที่หัวแทนดีไหม มันมีความประชดประชันเสียดสีสูง แต่เราถ่ายทอดแบบ naive คนจะตีความยังไงก็ได้
“เราเอนจอยกับการทำอะไรที่ positive ถึงเป็นเรื่องลบๆ เราก็พยายามทำให้มันเป็นบวกให้ได้ เวลาดูงานก็จะพยายามหาพลังงานแบบนี้จากงานคนอื่น สมมติไปพิพิธภัณฑ์ที่พูดเรื่องสงครามโลก ส่วนที่เราสนใจก็จะเป็นเรื่องเขากินอะไรกัน หรือการจัดชุดอาหารที่เกิดจากข้อจำกัด เราจะชอบความครีเอทีฟที่มาจากความยากลำบากตรงนั้นมากกว่า”
ฆาตกรรมกราฟิก
“พูดถึงตอนเรียนแล้วเราเล่าถึงทีสิสของเราเลยดีกว่า” ลิลลี่ออกปากพร้อมหยิบเอา Committing Graphics, Designing Crime ขึ้นมาวางบนโต๊ะ ตามด้วยหนังสือเล่มหนาปกแข็งที่บรรจุขั้นตอนการทำทีสิสอย่างละเอียดยิบ ชนิดที่ถ้านำไปทุ่มใส่หัวใครก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรมเช่นกัน
“จริงๆ เราชอบเรื่องผี เรื่องลึกลับ เรื่องสืบสวน อ่านการ์ตูนเรื่อง หนูหิ่นฯ เราก็อ่านพวกตอนผี ชอบอ่าน ต่วย’ตูน อ่าน โคนัน มาตั้งแต่เด็กๆ พอเราเข้าสู่โลกของการสืบสวน เราก็คิดสถานการณ์สมมติในหัวตลอดเวลา เหมือนพยายามจะไขความลับอยู่ตลอด แต่มันไม่มีอะไรให้ไขอะแหละ” เธอหัวเราะ
“พออ่านหนังสือสืบสวนสอบสวนเยอะเข้า เราก็เลยเลือกทำทีสิสจากสิ่งที่เราชอบมาตั้งแต่เด็กคือการดีไซน์วิธีฆ่าคนในนิยาย ซึ่งมันก็เป็นการออกแบบชนิดหนึ่งที่ยากมากด้วยเพราะมันมีตัวแปรหลายอย่างมาก เพียงแต่การออกแบบชนิดนี้อาจจะไม่ได้คำนึงถึงวิชวลที่ออกมา มันเป็นเหมือนการทดลองวิทยาศาสตร์ผสมกับความครีเอทีฟซึ่งเรามองว่ามันน่าสนใจมากเลยเอามาทำงานนี้ สมมติฐานแรกของเราคือจะแปลงทริกหรือวิธีฆ่าคนในนิยายที่เจอได้บ่อยๆ ออกมาเป็นวิธีการทำงานออกแบบ ซึ่งด้วยความที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเขาก็จะบอกให้เราไปคิดหัวข้ออื่นมาด้วยดีไหม เราก็ไปคิดสมมติฐานมาเยอะมากเลย แต่สุดท้ายก็มาจบที่อันนี้อยู่ดี”
ฟังดูซับซ้อนแต่หนังสือที่ออกมานั้นเรียบง่าย โดยลิลลี่จัดหมวดหมู่ทริกในนิยายสืบสวนออกมาเป็น 14 ชนิด แต่ละตอนเริ่มต้นด้วยคดีสืบสวนสนุกๆ ให้เราได้ลับสมอง ก่อนเฉลยว่าทริกที่ใช้คืออะไร และยกตัวอย่างการนำไปใช้ในงานดีไซน์ เช่น ทริกการซ่อนของมีค่าไว้ท่ามกลางของที่คล้ายกัน เธอก็ตีความเป็นการออกแบบที่ใช้ของที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันสื่อความหมาย
“เราคิดว่าอุบายในนิยายสืบสวนมันมีชุดที่ซ้ำกันอยู่ซึ่งนิยายแต่ละเรื่องนำมาใช้ แค่เปลี่ยนบริบทโดยรอบ เราเลยไปหาว่ามีหนังสืออะไรที่เคยจัดประเภทอุบายของนิยายสืบสวนไว้บ้างไหม ปรากฏว่าไม่มีเลย เราเลยต้องมาอ่านทีละเรื่อง แล้วแปะโพสต์อิทไว้ เช่น เล่มที่ 69 คดีกัปปะ เทคนิคคือการซ่อนอาวุธให้เป็นชิ้นเล็กๆ ก็เริ่มจับไอเดียได้แล้วว่ามันคือการทำลายหลักฐานโดยการแยกส่วน เหมือนกับเรื่องนั้นเลยนี่นาที่ใช้เหรียญ 5 เยน มาประกอบเป็นแท่งทองแดง
“ทั้งหมดมี 380 เรื่อง ขนาดเราเคยอ่านทั้งหมดแล้วแต่พอต้องมาอ่านใหม่และวิเคราะห์ไปด้วย แค่พาร์ตนี้ก็กินเวลาไป 2 เดือนแล้ว เราแปะโพสต์อิทบนกระดานไปเรื่อยๆ ตอนแรกได้อุบายประมาณ 57 อย่าง”
จาก 57 ลิลลี่ลองนำอุบายที่จัดหมวดหมู่ได้ไปเสนอกับเพื่อนที่เรียนกราฟิกด้วยกัน ก่อนจะเก็บฟีดแบ็ก เช่น อุบายบางอย่างเข้าใจยากเกินไป หรืออุบายบางอย่างคล้ายกันเกินไป กลับมาจัดหมวดหมู่ต่อ และลดทอนเป็น 14 อุบายที่แปลงเป็นทริกในงานออกแบบ
ที่สนุกคือแทนที่จะจัดหมวดหมู่อุบายและเชื่อมกับวิธีการออกแบบโดยใช้พื้นฐานทฤษฎีออกแบบ ลิลลี่กลับเลือกที่จะสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมาด้วยตัวเอง
“ปกติการทำทีสิสเขาจะอยากให้เอาทฤษฎีที่มีอยู่แล้วมาต่อยอด เหมือนใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วมาสร้างผลงาน แต่เราไม่เชื่อในจุดนั้น เราเลยไม่ได้ใช้ทฤษฎีอะไรมาอิงกับหนังสือเล่มนี้เลยแต่ต้องคิดทฤษฎีขึ้นมาเอง เรามีข้อมูลอยู่ 300 กว่าก้อนแล้วพยายามจัดระบบมันให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันจนเหลือ 14 หมวด มันเลยทำให้มีแนวคิดใหม่เกิดขึ้นมา เช่น ทฤษฏีอาจจะบอกให้เราจับคู่ชมพู่กับหัวใจเพราะมันมีสีแดงเหมือนกัน แต่พอเราลองคิดด้วยเกณฑ์อื่น เช่นความเป็นดารา จริงๆ ชมพู่อาจจะไปอยู่กับมิน พีชญา ก็ได้ ฉะนั้นทริกในหนังสือเล่มนี้มันเลยไม่ซ้ำกับหนังสือเล่มไหนในโลกเพราะมันเกิดจากการผสมของเราเอง”
ถ้วย โถ โอ้! ชาม
จาก 2 เล่มที่วางขายใน BANGKOK ART BOOK FAIR 2018 ในงานปีที่ผ่านมา ลิลลี่กลับกระโดดไปอีกขั้นด้วยการวางขายมันถึง 3 เล่ม หนึ่งคือทีสิสเล่มโต สองคือหนังสือจากโปรเจกต์ของ BANGKOK ART BOOK FAIR เอง และสามคือ Plates, Bowls, and Cups ที่เกิดจากแพสชั่นในถ้วยโถโอชามล้วนๆ
คล้ายกับ In-Sekyo หนังสือเล่มใหม่นี้ก็มีคอนเซปต์เป็นแคตาล็อกเช่นกัน โดยลิลลี่วาดจานชามขึ้นมาอย่างบรรจง แต่งแต้มด้วยสีสันนุ่มนวลให้พอดูออกว่าเป็นจานชามแบบญี่ปุ่นไม่ผิดแน่ และเขียนเรื่องสั้นๆ ไว้ด้านล่าง เช่นเรื่องถ้วยพี่น้องที่กระทบกระทั่งกันอยู่ในถาด หรือเจ้าม้าที่แข่งกันยืนเฉยๆ ให้เก่งที่สุด
“เรื่องคือเราบ้าซื้อจานในอินเทอร์เน็ตก็เลยอยากสนองนี้ดตัวเอง คือต้องเล่าว่าคนญี่ปุ่นเป็นพวกที่ชอบให้ของขวัญคนอื่น แต่บ้านญี่ปุ่นเล็กมากเขาเลยต้องโละของทิ้งเป็นพักๆ แล้วระบบการทิ้งของเขามันดี มีเซนเตอร์การรับของคืน ซึ่งของที่ตกสต็อกขายไม่ออกเขาก็จะเอามาขายที่เมืองไทยในราคาถูกมาก ชามที่เคยขาย 9,000 บาท ก็เอามาขาย 90 บาท เราเลยคิดว่ามาออกแบบเองบ้างดีกว่า
“ในเล่มนี้มีทั้งส่วนที่เราวาดจานที่มีอยู่แล้วที่เราชอบ และวาดขึ้นใหม่โดยพยายามวาดให้เป็นจานเซรามิกที่ใช้เทคนิค majolica มันเป็นเทคนิคที่เขาทำเซรามิกนูนขึ้นมา ลงสี แล้วก็เคลือบ วาดเสร็จแล้วค่อยให้จานเล่าเรื่องให้เราฟัง แล้วเราก็เขียนเป็นเรื่องสั้นๆ ออกมาอีกที ตอนนั้นทำเสร็จแล้วก็เลิกซื้อจานเลย”
จริงเหรอ สมาชิกขาช้อปอย่างเราถามกลับ
“ไม่จริงอะ” เธอตอบทันควันพร้อมรอยยิ้มกว้าง “เดี๋ยวอีก 3 เดือนก็ cf ใหม่แล้ว”
จู่โจมด้วยความรู้สึกใหม่
เป็นความบังเอิญที่น่ารักที่หนังสือเล่มล่าสุดของลิลลี่มีชื่อว่า The Book of New Feelings พอดิบพอดี
นี่คือหนังสือที่เป็นผลลัพธ์ของเวิร์กช็อป DATA / STORYTELLING & BOOK WORKSHOP ของ BANGKOK ART BOOK FAIR 2019 เป็นเล่มที่ลิลลี่ออกปากว่าอาจจะเข้าใจยากที่สุดและติงต๊องที่สุด (แต่เขาก็ยอมให้ทำ–เธอว่าอย่างนั้น)
ตามชื่อเล่ม The Book of New Feelings เล่าถึงการทดลองของลิลลี่ที่จะสร้างความรู้สึกใหม่ๆ ในการใช้สิ่งของเดิมๆ เช่น นำหิมะไปเคลือบลูกบิดประตูแล้วให้เพื่อนทดลองเปิด ลองนำกระดาษไปห่อผลส้มแทนเปลือก หรือนำกุญแจไปชุบแป้งเทมปุระ (!) แล้วทอดก่อนให้เพื่อนลองไขดู ผลการทดลองทั้งหมดบันทึกไว้ด้วยภาพถ่าย ข้อความบทสนทนา และภาพวาดที่แสดงวิธีใช้ข้าวของที่เปลี่ยนไปเพราะโดนความรู้สึกใหม่ๆ จู่โจม
“ตอนนั้นเรามีความสนใจเรื่องการทักทาย การสัมผัส แล้วก็ยังสนใจวัตถุเหมือนเดิม บวกกับเราชอบช้อปปิ้งออนไลน์ ชอบดูของแล้วจินตนาการว่าถ้าใช้จานนี้คงฟินมากตอนล้างเพราะมันคงสากๆ จากการที่เขาใช้ทรายที่ละเอียดมากเคลือบ เห็นลูกบิดประตูรูปไข่เราก็คิดว่าจะไม่เจ็บมือเหรอ หรือประตูบ้านในอะแลสกาจะมีหิมะเคลือบไหม ถ้ามี ความรู้สึกตอนเปิดประตูบ้านจะเป็นยังไง เราคิดว่าถ้าจินตนาการไปได้ขนาดนี้เราจะดีไซน์กิจกรรมอื่นให้เกิดความรู้สึกอื่นได้ไหม
“สิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามสังเกตคือ ช่วงเวลาเสี้ยววินาทีที่ความรู้สึกและแอ็กชั่นเกิดขึ้น พอทดลองให้คนได้ใช้สิ่งของด้วยความรู้สึกใหม่ๆ เราก็ถอดรูปแบบการเคลื่อนไหวและความรู้สึกออกมา เราพยายามวาดออกมาว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง พอทำเสร็จเราก็ได้เรื่องเซนส์ที่ละเอียดอ่อนที่เอาไปทำงานอื่นได้ เช่น สมมติเราต้องทำนามบัตรให้คนอื่น เราจะเลือกใช้กระดาษที่ทำให้รู้สึกถึงตัวเราได้ไหม เป็นจุดเริ่มต้นในการใช้เซนส์อื่นๆ สร้างงาน
“หลังจากนี้เราก็ยังอยากทำงานที่สร้างประสบการณ์ให้คนอยู่นะ อาจไม่ใช่สิ่งพิมพ์ก็ได้ ซึ่งตอนนี้เรารู้สึกว่ายังไม่มีความรู้เรื่องงานคราฟต์มากกว่า แต่สมมติเราไปเจอเพื่อนที่เป็นเด็กสายออกแบบอุตสาหกรรม เขาอาจจะช่วยสานฝันเรื่องนี้ของเราก็ได้”
ถ้านี่คือตอนจบการ์ตูนญี่ปุ่น ลิลลี่คงพูดด้วยดวงตาเป็นประกายวิบวับ ส่วนคนอ่านอย่างเราก็ได้แต่ลุ้นให้ผลงานใหม่ของเธอเกิดขึ้นไวๆ จะได้รู้ว่าคราวนี้เธอจะสร้างความรู้สึกแบบไหนให้เราอีก
ที่แน่ๆ มันต้องไม่เหมือนเดิมแน่นอน
ติดตามหนังสือและงานศิลปะอื่นๆ ของลิลลี่ได้ที่อินสตาแกรม broccolilyfarm