ROUND NOT SQUARE สำนักพิมพ์เดียวในโลกที่ตีพิมพ์หนังสือเป็น ‘ม้วน’

Highlights

  • ROUND NOT SQUARE คือสำนักพิมพ์อิสระขนาดย่อมในเยอรมนี และเป็นสำนักพิมพ์เดียวในโลกที่ตีพิมพ์หนังสือในรูปแบบ ‘ม้วนหนังสือ’ นั่นคือเป็นกระดาษแผ่นยาวต่อกัน ไม่ถูกแบ่งซอยเป็นหน้าๆ แบบหนังสือเล่มที่เราเคยคุ้น 
  • ม้วนหนังสือสามารถบรรจุเนื้อหาได้หลากหลายรูปแบบทั้งฟิกชั่นและน็อนฟิกชั่น โดยจุดเด่นของมันคือผู้อ่านสามารถกำหนดปริมาณเทกซ์และรูปภาพที่จะอ่านในคราวเดียวได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่ม้วนออกมาในความยาวที่พอใจนั่นเอง

ระหว่างทำ a day ฉบับ Taipei เราเดินเข้า-ออกร้านหนังสืออิสระนับสิบร้าน และได้หยิบจับหนังสือเกินสิบเล่ม แต่ไม่มีหนังสือเล่มไหนที่สร้างความประทับใจให้เราได้มากที่สุดเลย ROUND NOT SQUARE

เปล่า ไม่ใช่ว่าหนังสือที่เราพบเจอนั้นไม่ดีพอ

เพียงแต่ว่าหนังสือที่เราประทับใจที่สุดไม่ได้มาเป็นเล่ม มันมาเป็น ‘ม้วน’

round-not-square.com

Wilma and Wolf คือหนังสือม้วนที่ว่า เมื่อพลิกดูจึงเห็นว่าจัดพิมพ์โดย ROUND NOT SQUARE สำนักพิมพ์ชื่อเท่จากประเทศเยอรมนี และเมื่อเสิร์ชดูเพิ่มเติมจึงค้นพบว่า สำนักพิมพ์แห่งนี้เป็นสำนักพิมพ์เดียวในโลกที่ตีพิมพ์หนังสือในรูปแบบม้วน (scroll) ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นรูปแบบเก่าแก่ แต่สองผู้ก่อตั้งอย่าง Ioan Brumer และ Antonia Stolz หยิบมาปัดฝุ่นใหม่ให้หน้าตาม้วนหนังสือดูร่วมสมัยมากขึ้น

Round Not Square

เล่ามาแค่นี้อาจฟังดูง่าย แต่ด้วยก่อนหน้านี้ทั้งคู่ทำงานเป็นที่ปรึกษาและไม่มีประสบการณ์ในการตีพิมพ์หนังสือมาก่อน ขั้นตอนทั้งหมดจึงยากเย็นใช่เล่น พวกเขาใช้เวลาเกือบหนึ่งปีกว่าจะปรับขั้นตอนการผลิตให้ลงตัวและตีพิมพ์ม้วนหนังสือม้วนแรกออกมาได้สำเร็จ โดยในระหว่างนั้นทั้งสองแทบจะกินนอนข้างเครื่องปรินต์ เพื่อเฝ้าดูว่ากระดาษยาวหลายสิบเมตรจะไม่กระตุกและค้างเติ่งจนเสียกระบวน 

พอได้รู้เรื่องราวถึงจุดนี้เราก็ตาลุกวาว และลิสต์คำถามยาวเหยียดไม่แพ้ม้วนหนังสือไปให้ทีมงาน เพื่อทำความรู้จักพวกเขาให้มากขึ้น 

เรื่องราวก่อนหน้านั้นเป็นยังไง ทำไมถึงเลือกเปิดตัวใน Kickstarter การพิมพ์ม้วนหนังสือยาว 30 เมตรต้องทำยังไง และพวกเขามองอนาคตของตนเองไว้แบบไหน หนึ่งในผู้ก่อตั้งอย่าง Ioan ยกมือขอเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง 

Round Not Square

 

ใครเป็นคนคิดชื่อ ROUND NOT SQUARE ขึ้นมา ชื่อนี้มีความหมายว่าอะไร

แอนโทเนียน่าจะเป็นคนคิดชื่อนี้ ตอนนั้นเรามองหาชื่อที่จะสื่อสารเรื่องความเป็นไปได้ของม้วนหนังสือ แต่ติดตรงที่หลายๆ ชื่อที่เราชอบนั้นถูกสำนักพิมพ์อื่นๆ ใช้ไปแล้ว 

ROUND NOT SQUARE เล่นกับรูปลักษณ์ของม้วนหนังสือ พร้อมๆ กับที่เล่นกับคำว่า square ซึ่งใช้เรียกคนที่อยู่ในกรอบหรือน่าเบื่อ แน่นอนว่าเรารู้ว่าม้วนหนังสือเป็นฟอร์แมตที่เก่าแก่กว่าหนังสือแบบเย็บเล่มเสียอีก แต่ในขณะเดียวกันมันก็ถือว่าแปลกใหม่และก้าวหน้ามากๆ สำหรับวงการสำนักพิมพ์ในปัจจุบัน 

 

ประสบการณ์แรกของคุณและม้วนหนังสือเป็นยังไง คุณตกหลุมรักม้วนหนังสือได้ยังไง

เราทั้งคู่รู้จักว่าม้วนหนังสือเก่าแก่ในประวัติศาสตร์เป็นยังไง ส่วนมากเรารู้เพราะเห็นในพิพิธภัณฑ์ แต่ภาพที่เราเห็นในหัวแตกต่างจากนั้นมาก และเราแทบไม่เชื่อเลยเมื่อลองรีเสิร์ชดูแล้วพบว่ายังไม่มีใครใช้ม้วนหนังสือสำหรับเล่าเรื่องราวใหม่ๆ ของยุคนี้  

ตอนที่เราทำม้วนหนังสือม้วนแรกสำเร็จจนได้ด้วยเครื่องปรินต์ขนาดเล็ก เราประทับใจกับความเป็นไปได้อันหลากหลายที่ม้วนหนังสือคลี่ออกมาให้ทั้งศิลปินและผู้อ่านเห็น มันคืออิสระที่ไม่มีที่สิ้นสุด มันมอบอำนาจในการกำหนดความเร็วในการอ่านและปริมาณเนื้อหาที่อ่านได้ในคราวเดียว นั่นเป็นจุดที่เราตกหลุมรักการเล่าเรื่องด้วยฟอร์แมตนี้

 

ม้วนหนังสือแตกต่างหรือพิเศษกว่าหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ทั่วไปยังไง

เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้ม้วนหนังสือต่างออกไปคือ มันมอบความเป็นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด มันไม่บังคับให้คนอ่านติดอยู่กับการแบ่งหน้ากระดาษแบบเดียว การอ่านกลายเป็นการตัดสินใจของศิลปิน ไม่ว่าเขาหรือเธอจะต้องการให้คนอ่านอ่านจากล่างขึ้นบนหรือบนลงล่าง ขวาไปซ้ายหรือซ้ายไปขวา นอกจากนี้ฟอร์แมตนี้ยังให้อิสระในการใช้รูปภาพใหญ่ยักษ์ การจัดสรรพื้นที่บนหน้ากระดาษ รวมทั้งการเล่าเรื่องอย่างลื่นไหลผ่านทรานสิชั่น การคั่นจังหวะ และการตัดจบ ที่ผ่านการคิดอย่างรอบคอบ โดยรวมแล้วขั้นตอนการออกแบบและการอ่านม้วนหนังสือแตกต่างจากหนังสือทั่วไปมากทีเดียว

 

ทำไมคุณถึงตัดสินใจเปิดตัวสำนักพิมพ์ใน Kickstarter

เราอยากทดลองไอเดียกับกลุ่มผู้อ่านในวงกว้างก่อน และเราก็ต้องการเงินสำหรับลงทุนซื้ออุปกรณ์ เครื่องปรินต์ กระดาษ และอื่นๆ crowdfunding เป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการรวมสองสิ่งนั้นเข้าด้วยกัน และเราก็ชอบความรู้สึกที่ได้เห็นผู้คนสนใจม้วนหนังสือ บางคนอยู่อะแลสกา บางคนอยู่ญี่ปุ่น มันสุดยอดไปเลยล่ะ

เราก็ได้ฟีดแบ็กเชิงบวกล้นหลามมากๆ และเป้าหมายทางการเงินของเราก็ทะลุเป้าก่อนที่แคมเปญจะหมดเวลาเสียอีก

 

ช่วยอธิบายขั้นตอนการทำม้วนหนังสือตั้งแต่ต้นจนจบให้หน่อยได้ไหม

ทุกอย่างเริ่มจากองค์ประกอบทางกราฟิกและเลย์เอาต์ซึ่งค่อนข้างท้าทายเพราะคุณไม่มี reference ให้ดู และไม่มีการแบ่งหน้ากระดาษซึ่งปกติแล้วจะเป็นโครงร่างในการออกแบบหนังสือ ในขั้นตอนนี้เราจะให้ข้อมูลกับศิลปินว่าเราชอบจังหวะการเล่าเรื่องแบบไหน และเพราะโรงพิมพ์อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับออฟฟิศของเราที่เบอร์ลิน เราสามารถทำม็อกอัพให้ศิลปินดูได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ เพื่อประเมินว่าการเล่าเรื่องแบบนั้นๆ ใช้ได้หรือไม่ 

เมื่อเลย์เอาต์และการออกแบบม้วนหนังสือเสร็จสิ้น เราจะทำหน้าปก 2-4 แบบและประกอบมันเข้ากับม็อกอัพ จากนั้นเราจะนำม็อกอัพเหล่านั้นไปพูดคุยกับนักเขียน กับร้านหนังสือในเยอรมนีที่ขายม้วนหนังสือของเราอยู่ รวมทั้งกับนักอ่านที่เป็นลูกค้าประจำ เพื่อทำความเข้าใจว่าหน้าปกแบบไหนเวิร์กที่สุด เมื่อสรุปได้แล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการพิมพ์ ซึ่งเราพิมพ์กันเองและพิมพ์จำนวนจำกัด ดังนั้นการพิมพ์จึงไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียวจบเหมือนหลายๆ สำนักพิมพ์ แต่เราค่อยๆ พิมพ์เรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาหลายปี ซึ่งแปลว่าบางทีเราก็ปรับอะไรนิดๆ หน่อยๆ สำหรับการพิมพ์แต่ละครั้งหากเราเห็นว่าจำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการปรับเปลี่ยนที่หน้าปกและการเข้าเล่ม 

คุณต้องใช้เครื่องปรินต์พิเศษสำหรับพิมพ์ม้วนหนังสือหรือเปล่า เครื่องปรินต์นี้เป็นยังไง 

เครื่องปรินต์ที่เราใช้คือเครื่องปรินต์สำหรับงานทัศนศิลป์ ซึ่งมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ที่สามารถตั้งค่าได้ละเอียดมาก มันจึงสามารถปรินต์กระดาษแผ่นยาวได้โดยไม่ต้องหยุดพัก แปลว่ามันสามารถปรินต์รูปยาว 50 เมตรได้อย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีเส้นสีขาวคั่น และพวกเราลงทุนเยอะกับการทำให้ขั้นตอนทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ เครื่องปรินต์นี้จึงสามารถพิมพ์ต่อเนื่องได้สูงสุด 24 ชั่วโมง

 

ทำไมขั้นตอนการเย็บเล่มถึงต้องทำด้วยมือ เพราะคุณภาพมันดีกว่าใช่ไหม

เพราะม้วนหนังสือทุกม้วนถูกเย็บด้วยมือ มันจึงเต็มไปด้วยความรักและความใส่ใจ แต่จริงๆ การเย็บด้วยมือก็เป็นเพราะเครื่องเย็บหนังสือทั่วไปไม่ได้ถูกสร้างมาให้เย็บม้วนหนังสือ และตอนนี้พวกเราคือสำนักพิมพ์เดียว (เท่าที่เรารู้) ที่ทำม้วนหนังสือแบบสมัยใหม่

คุณคิดค้นปกม้วนหนังสือแบบนี้ได้ยังไง

เราอยากได้หน้าปกที่ทั้งโมเดิร์นและลงตัวกับการเปิดม้วนหนังสืออ่าน ม้วนหนังสือโบราณส่วนใหญ่มักจะม้วนรอบแท่งไม้หรืออะไรสักอย่าง เราอยากทำให้รูปลักษณ์ของม้วนหนังสือเรียบง่ายที่สุด และอยากเอาตัวออกห่างจากม้วนหนังสือแบบโบราณ เราจึงเอาแกนที่เป็นแท่งไม้ออกไป แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีอะไรบางอย่างให้ม้วนหนังสือม้วนกลับเข้าไปได้ เราจึงคิดค้นปกม้วนหนังสือที่ตอบโจทย์ทั้งสองข้อนี้ แล้วก็ปิดมันด้วยแม่เหล็กที่ฝังอยู่ข้างในปก แทนที่จะใช้สายรัดหรือการปิดแบบอื่นๆ ที่จะเห็นชัดเจนภายนอก ตามที่เราอยากให้มันดูเรียบง่ายและมีพื้นผิวด้านนอกเรียบไปเลยเพื่อที่จะหลีกทางให้แบบปกโดดเด่นขึ้นมา

 

จากขั้นตอนการผลิตทั้งหมด คุณชื่นชอบขั้นตอนไหนมากที่สุด และคุณคิดว่าขั้นตอนไหนยากที่สุด

ขั้นตอนการผลิตม็อกอัพครั้งแรกเป็นขั้นตอนที่น่าตื่นเต้นที่สุดแน่ๆ เพราะได้เห็นงานที่เราทำเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา อีกขั้นตอนที่เราชอบมากๆ คือการเลือกแบบปกและวัสดุสำหรับทำปก ส่วนขั้นตอนที่ลำบากที่สุดก็แน่นอนว่าต้องเป็นการเริ่มต้นโปรเจกต์ใหม่จากกระดาษเปล่าๆ

Round Not Square

 

ม้วนหนังสือไหนคือม้วนแรกที่คุณทำ คุณรู้สึกยังไงเมื่อได้เห็นและสัมผัสมัน

ม้วนหนังสือม้วนแรกที่เราทำคือ Catching the Eye โดย Larry Yust ถ้ามองแค่ในเชิงการออกแบบ นี่เป็นหนึ่งในม้วนหนังสือที่ทำได้ง่ายที่สุด เพราะมันเป็นแค่การรวบรวม 30 รูปภาพจากกล้องขนาดใหญ่ (large format) ของแลร์รี ผู้เป็นช่างภาพในลอสแอนเจลิส แต่ในการทำม้วนหนังสือม้วนนี้ เราต้องฝ่าฟันขั้นตอนการพิมพ์ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมดสำหรับพวกเรา เราต้องทำงานหนักกว่าจะพิมพ์มันได้ตามต้องการ ตอนที่เราทำมันสำเร็จและได้สัมผัสมันเป็นครั้งแรกเราภูมิใจมากๆ เลยล่ะ

 

ได้ยินว่าแลร์รีถึงกับแคนเซิลโปรเจกต์หนังสือที่กำลังจะทำกับสำนักพิมพ์ใหญ่แห่งหนึ่งเพื่อที่จะมาทำม้วนหนังสือกับคุณแทน คุณทำยังไงให้ช่างภาพชื่อดังอย่างเขาเชื่อมั่นในสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่เพิ่งออกสตาร์ท

เราอาศัยโชคเยอะมากเลยล่ะ เราเขียนไปหาแลร์รีว่าเราเป็นแฟนตัวยงของเขา ตอนแรกกะว่าเขาคงไม่สนใจหรอก เพราะเขาก็เคยตีพิมพ์หนังสือกับสำนักพิมพ์ชื่อดังอยู่แล้ว แถมยังมีตัวแทนเป็น LUMAS แกลเลอรีศิลปะระดับโลก แต่เขาทึ่งไปกับไอเดียที่เราเสนอมากๆ และเมื่อได้เห็นม้วนหนังสือต้นแบบเขาก็ตอบตกลงเลย 

แล้วมันก็เป็นการจับคู่ที่ลงตัวมาก เพราะฟอร์แมตของม้วนหนังสือช่วยให้เขาได้โชว์ภาพถ่ายขนาดใหญ่ในขนาดจริงด้วยการพิมพ์คุณภาพสูง โดยที่ไม่ต้องพับรูปภาพเหล่านั้นหรือจัดเรียงมันลงในหนังสือไซส์เบิ้ม อีกอย่าง Catching the Eye เป็นคอลเลกชั่นส่วนตัวของเขา นั่นน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เขาตัดสินใจตีพิมพ์กับเรา

ROUND NOT SQUARE

round-not-square.com

 

คุณค้นพบนักเขียนและนักวาดภาพคนอื่นๆ ได้ยังไง และทำให้พวกเขาเชื่อได้ยังไงว่าผลงานของตัวเองเหมาะที่จะตีพิมพ์ในรูปแบบม้วนหนังสือ

นักเขียนแต่ละคนก็แตกต่างกันไป นักเขียนบางคนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้โอกาสนี้ในการสร้างสิ่งใหม่และมองหาอิสระทางความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่บางคนก็เป็นนักเขียนที่เคยตีพิมพ์หนังสือมาก่อนแล้ว แต่เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ จากม้วนหนังสือของเราและชอบรูปลักษณ์และสัมผัสแสนพิเศษของม้วนหนังสือ ส่วนคนอื่นๆ ก็อยากจะสร้างงานในฟอร์แมตประมาณนี้อยู่แล้ว แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันทำได้จริงๆ จนกระทั่งมาเจอเรา! แต่ก็มีสิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกัน นั่นคือพวกเขาเปิดกว้างมากๆ ที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ และบางครั้งก็เป็นสิ่งบ้าๆ ด้วยซ้ำ

 

คุณตีพิมพ์เนื้อหาทั้งฟิกชั่นและน็อนฟิกชั่น คุณคิดว่าเนื้อหาทั้งสองแบบเหมาะกับรูปแบบม้วนหนังสือเท่าๆ กันไหม หรือคุณคิดว่าเนื้อหาใดเนื้อหาหนึ่งเหมาะกับม้วนหนังสือมากกว่า

นี่เป็นคำถามที่ยากมากๆ เราทดลองมาเยอะกว่าจะเข้าใจว่าเนื้อหาแบบไหนเหมาะที่สุดและแบบไหนที่ผู้คนอยากเห็นในรูปแบบของม้วนหนังสือมากที่สุด กระทั่งผ่านมา 5 ปีเราจึงค้นพบว่าฟิกชั่นและศิลปะเป็นเนื้อหาที่เหมาะกับม้วนหนังสือที่สุดแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นเนื้อหาน็อนฟิกชั่นก็ยังคงทำงานได้ดีบนม้วนกระดาษ เพียงแต่เราต้องหาเนื้อหาที่ใช่เท่านั้นเอง ยกตัวอย่างเช่นเนื้อหาใน Systems of Movement ซึ่งว่าด้วยท่วงท่าการเต้นรำนั้นเหมาะที่จะเป็นม้วนหนังสือมากๆ เพราะว่าท่าเต้นถูกวาดเชื่อมกันทั้งหมดบนกระดาษขนาดใหญ่ ซึ่งไม่มีทางจับยัดลงในหน้าหนังสือทั่วไปได้แน่ๆ จริงๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเราคือ ไม่ว่าจะเป็นฟิกชั่นหรือน็อนฟิกชั่น เมื่อมาอยู่บนม้วนหนังสือแล้วต้องดูสมเหตุสมผล

 

ม้วนหนังสือม้วนไหนสั้นที่สุด และม้วนไหนยาวที่สุด มันมีลิมิตในแง่ความยาวไหม

หนังสือม้วนที่สั้นที่สุดคือ The High-Rise ฝีมือนักวาดการ์ตูนชาวเยอรมัน Katharina Grave ซึ่งยาวประมาณ 7.5 เมตร (แต่มันเล่าเรื่องตึกที่สูง 102 ชั้นเชียวนะ) ส่วนหนังสือม้วนที่ยาวที่สุดคือ Catching the Eye ฉบับ Art Edition ของแลร์รี ซึ่งยาวกว่า 30 เมตร ว่ากันในเชิงทฤษฎีมันไม่มีลิมิตของความยาวหรอก แต่ถึงจุดหนึ่งเส้นรอบวงของม้วนหนังสือจะใหญ่เกินไปจนถือยาก 

round-not-square.com

 

การทำหนังสือม้วนไหนที่ยากหรือท้าทายที่สุด

เป็น Catching the Eye อีกแล้วล่ะ ม้วนหนังสือม้วนนี้ใช้เวลาพิมพ์นานกว่า 4 ชั่วโมง เพราะมันยาวมากๆ แถมยังพิมพ์ด้วยความละเอียดสูงระดับภาพถ่าย หน้าปกทำจากกระเบื้องที่มันเงามากๆ จนสีอะไรก็แทบพิมพ์ไม่ติด เราจึงต้องสั่งทำสกรีนปรินต์แบบพิเศษ ขั้นตอนการเย็บเล่มก็ใช้เวลานานกว่าหนึ่งชั่วโมง ส่วนกล่องไม้แฮนด์เมดสั่งทำพิเศษที่ใช้บรรจุม้วนหนังสือสำหรับจัดส่งก็มีรูปร่างไม่สมมาตรเอาเสียมากๆ แถมดีไซน์ยังแปลกใหม่สุดๆ จนมีแต่นักเย็บเล่มมือฉมังเท่านั้นที่จะทำให้ได้ ทุกครั้งที่เราผลิตม้วนหนังสือนี้ เราจะพิมพ์ไม่เกิน 250 ม้วน และแลร์รีจะเซ็นให้ทุกม้วน มันเป็นโปรเจกต์ยิ่งใหญ่ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็น่าอัศจรรย์

 

จากม้วนหนังสือทั้งหมด มีม้วนไหนที่คุณชอบเป็นพิเศษไหม

ไม่มีนะ แต่แน่นอนว่าก็จะมีบางม้วนที่ทำให้ใจเราเต้นแรงเป็นพิเศษ ซึ่งมักจะเป็นม้วนที่ดู ‘เป็นไปไม่ได้’ อย่างของแลร์รี หรืออย่าง Fragile Beauty ที่หน้าปกทำจากไม้มะฮอกกานีเคลือบ หรืออย่าง Systems of Movement ที่มีแบบปก 50 แบบที่สีสันแตกต่างกันไป

round-not-square.com

 

จากจุดเริ่มต้นในปี 2013 จนถึงตอนนี้ คุณได้เรียนรู้อะไรผ่านขั้นตอนการทำม้วนหนังสือและบริหารสำนักพิมพ์ 

เราได้เรียนรู้หลายอย่างมากๆ ทั้งขั้นตอนการผลิตและการขายม้วนหนังสือ เราพิมพ์เฉพาะตามสั่งและขายม้วนหนังสือเกือบทั้งหมดผ่านร้านค้าออนไลน์ เราทำงานตรงกันข้ามกับวิธีการผลิตและวิธีขายแบบดั้งเดิมในอุตสาหกรรมนี้โดยสิ้นเชิง แต่มันก็เป็นการตัดสินใจที่ทั้งท้าทายและให้รางวัลกับเรา เรามีวิธีคิดและมองหนังสือแตกต่างจากสำนักพิมพ์ทั่วไป เราทำโปรเจกต์เล็กจิ๋วที่สำนักพิมพ์เหล่านั้นไม่มีทางเข้าถึง  

 

มีเหตุการณ์น่าประทับใจอะไรที่คุณอยากแชร์ให้ฟังไหม

มีเหตุการณ์น่าประทับใจเกิดขึ้นหลายครั้งเลยล่ะ ในตอนแรกที่ขั้นตอนการผลิตยังไม่นิ่ง เราใช้เวลาหลายคืนสัปหงกข้างๆ เครื่องปรินต์เพื่อเฝ้าดูว่ามันจะไม่หยุดพิมพ์หรือมีกระดาษติดจนทำให้หนังสือพัง อีกหนึ่งเหตุการณ์พิเศษคือตอนที่เราเปิดประตูไปรับพัสดุที่เป็นม้วนกระดาษน้ำหนักรวมกว่า 1,000 กิโลกรัม และต้องพยายามคิดหาวิธีว่าจะยกกระดาษม้วนละ 140 กิโลกรัมเข้าข้างในยังไง

ROUND NOT SQUARE

ROUND NOT SQUARE

 

คุณมองอนาคตของสำนักพิมพ์ไว้ยังไง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราทุ่มเทเวลาไปกับการทำให้ขั้นตอนการผลิตนิ่งที่สุด และพยายามทำงานอย่างมืออาชีพที่สุดในฐานะสำนักพิมพ์ ตอนนี้เราโฟกัสที่การขยายธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อความยั่งยืน เรากำลังมองหาโปรเจกต์ที่เป็นสื่อผสมและเพิ่มการใช้ม้วนหนังสือในฐานะงานศิลปะอย่างหนึ่ง


อ้างอิง

kickstarter.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กันตธัช กิจธิคุณ

ช่างภาพและนักดนตรี อยู่ที่เบอร์ลินเพราะชอบอิสรภาพและความหลากหลายของเมืองนี้ ที่ไหนที่ให้อิสระเสรีและสามารถมีเวลาให้กับดนตรีและภาพถ่ายได้ ก็จะอยู่ที่นั่น