สวนสัตว์บันดาลใจในสตูดิโอของ กุ๊ก ชนิดา แห่งแบรนด์สัตว์ป่า Cuscus the Cuckoos

ถ้าให้จัดอันดับโชว์รูมสินค้าที่น่ารักที่สุด โชว์รูมจิ๋วของ กุ๊ก–ชนิดา วรพิทักษ์ แห่งแบรนด์ Cuscus the Cuckoos ต้องติดอันดับในใจเราแน่นอน เพราะร้านของเธอไม่ได้ตั้งอยู่ในห้างใหญ่โตหรือมีตึกของตัวเอง แต่กลับเป็นห้องเล็กๆ ที่ซุกตัวอยู่ในสวนหลังบ้านของเธอกับสามี

ความน่ารักยังมาในรูปแบบของเซอร์ไพรส์ เพราะทุกครั้งที่เราแวะไปเยี่ยมเยียน โชว์รูมของ Cuscus the Cuckoos ไม่เคยมีหน้าตาเหมือนเดิมเลยสักครั้ง ทั้งโต๊ะ ตู้ และสารพันของกุ๊กกิ๊กที่ขยับสับเปลี่ยนที่วางอยู่ไปเรื่อยๆ และโปรดักต์ใหม่ๆ ที่เธอขยันทำออกมาเพิ่มเสมอ ยังไม่นับห้องทำงานบนชั้นสองของบ้านที่ก็เปลี่ยนหน้าตาบ่อยพอๆ กัน

กุ๊กออกตัวกับเราว่านั่นเป็นเพราะเธอเป็นคนสบายๆ และตามใจตัวเองสุดๆ สเปซของเธอจึงไม่เคยมีรูปแบบตายตัว ถึงอย่างนั้นเราก็แอบเห็นว่าท่ามกลางข้าวของที่เดินทางเข้าๆ ออกๆ ทั้งสองห้อง มีบางสิ่งที่ไม่เคยย้ายที่ไปไหน และเป็นของที่บอกตัวตนของกุ๊กได้ดีที่สุด

 

สวน (ตุ๊กตา) สัตว์ Cuscus

สินค้าของ Cuscus the Cuckoos มีภาพสิงสาราสัตว์เยอะแค่ไหน โชว์รูมเล็กๆ ของ Cuscus ก็มีตุ๊กตาสัตว์เยอะประมาณนั้น ตั้งแต่หงส์สีขาวสะอาดที่ติดอยู่บนผนัง แก๊งเจ้าหมีตัวเล็กๆ ในตู้กระจกไปจนถึงเจ้าหมียักษ์น่ากอดที่ยืนรับแขกอยู่ข้างหน้าต่าง

“ความจริงเราไม่มีสัตว์ที่เราชอบเป็นพิเศษ แต่ส่วนใหญ่เราจะชอบซื้อตุ๊กตาสัตว์ที่หน้าโง่ๆ คือถ้าตัวไหนหน้าโง่สุดในแก๊งเราก็จะเอาตัวนั้น เราไม่ชอบตัวที่น่ารักๆ หรือสวยๆ เราเบื่ออะ อยากดูตัวที่มันหน้าตาตลกมากกว่า” กุ๊กหัวเราะร่วน

“ที่เราชอบใส่สัตว์ลงไปในชิ้นงานน่าจะเป็นเพราะคาแรกเตอร์ของมัน สัตว์เหล่านี้ชอบเป็นพระเอกนางเอกในการ์ตูน อย่างตัวการ์ตูนเสือเด็ก หรือหงส์ที่เป็นนางเอก เราอาจจะได้ความชอบมาจากนั้นโดยไม่รู้ตัว”

“โชว์รูมของเราเปลี่ยนหน้าตาไปเรื่อยๆ ตามอารมณ์ ส่วนใหญ่ของที่เราเลือกของมาโชว์จะเป็นของที่เราคิดว่าคนเห็นแล้วจะเข้าใจความเป็นแบรนด์ของเราได้ง่ายๆ แล้วก็ต้องเป็นของที่สภาพดีหน่อย เพราะห้องนี้โดนแดดแรง ตอนบ่ายจะร้อนมากๆ หรือวันที่ฝนตกหนักมากๆ น้ำจะท่วมจนหน้าบ้านเราเป็นทะเลเลย เราก็เลยจะแต่งห้องด้วยไม้และผ้ามากไม่ได้ อย่างตุ๊กตาหมีนี่พอตกเย็นก็ต้องยกเก็บทุกวัน แต่ก็คุ้มกว่าตื่นมาแล้วมันจมน้ำ”

 

สวนสัตว์ Cuscus

ไม่ใช่แค่ตุ๊กตาสัตว์ที่เรียงรายกันอยู่ในโชว์รูมเท่านั้น แต่บนชั้นสองของบ้าน กุ๊กกับเอิ๊ก–วรณัฐ วรพิทักษ์ ผู้เป็นสามี ยังเลี้ยงสิงสาราสัตว์ตัวจริงไว้มากมาย ทั้งงูเหลือมตัวใหญ่ในกล่อง หนูแกตส์บี้ตัวอวบอ้วนที่วิ่งวุ่นอยู่ในกรง สัตว์เลื้อยคลานประเภทจิ้งเหลนหลายพันธุ์ แมวเด็กและแก่อีกสองตัว ไปจนถึงไทเกอร์ ซาลามานเดอร์ สัตว์เลี้ยงตัวโปรดของกุ๊กที่ได้ครองพื้นที่บนโต๊ะทำงานของเธอแต่เพียงผู้เดียว

“เราเพิ่งจัดโต๊ะทำงานใหม่แล้วเห็นเจ้าไทเกอร์ ซาลามานเดอร์มันนอนเหี่ยวตัวเดียวอยู่ในตู้ เลยเอามันมาไว้บนโต๊ะทำงาน เวลาทำงานเราก็นั่งดูมันจนเห็นว่าถ้าอากาศชื้นๆ มันจะปีนขึ้นมาอยู่บนหิน แต่ถ้าอากาศร้อนๆ แห้งๆ มันจะลงไปว่ายน้ำ หรือเวลานั่งทำงาน เราจะชอบเล่นกับมันเพราะมันจะนึกว่านิ้วของเราคืออาหาร ตลกดี เราเลยทำงานแต่ละชิ้นนานมากเพราะมัวแต่ลีลา เดี๋ยวไปกินข้าว เดี๋ยวดูหนัง เดี๋ยวเล่นเกม เล่นกับแมว เล่นกับจิ้งเหลน หมดวันแล้ว”

ดูเหมือนกุ๊กจะมีกิจกรรมเยอะแยะระหว่างทำงาน แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เธอไม่สามารถทำไปพร้อมๆ กับงานได้

เธอบอกว่าเธอไม่ชอบฟังเพลง

“เวลาทำงานเราต้องอยู่เงียบๆ ไม่ฟังเพลงไม่อย่างนั้นเราจะนึกอะไรไม่ออก สภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดของเราคือโต๊ะที่สะอาด ห้องต้องไม่เหม็นกลิ่นแมว ไม่มีฝุ่น เพราะเราแพ้ขนแมว ถ้าเห็นขนแมวปุ๊บประสาทสัมผัสเราจะทำงานอัตโนมัติ เราจะรู้สึกว่าเราเหม็นขนแมว แพ้ขนแมว ทั้งที่จริงๆ แล้วเรายังไม่ทันได้มีอาการแพ้เลย”

 

สวนหนังสือ

นอกจากบรรดาสัตว์ทั้งจริงและปลอมแล้ว ข้าวของบนโต๊ะทำงานชั้นสองของกุ๊กยังมีกองหนังสือบันดาลใจ ที่ไม่ว่าจะจัดโต๊ะใหม่กี่ครั้ง หนังสือเหล่านี้ก็ยังต้องอยู่ใกล้มือให้หยิบมาเปิดได้เสมอๆ

“เวลาเรานึกอะไรไม่ออกเราจะกลับมาอ่าน Walter Van Beirendonck: Dream the World Awake (โดย Kaat Debo Tim Blanks และ Walter Van Beirendonck) เกี่ยวกับงานของ Walter van Beirendonck เขาเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ที่ทำให้เราตัดสินใจว่าเราจะทำแบรนด์ Cuscus เราอิจฉาคนเบลเยียมมากที่ได้คนนี้เป็นอาจารย์ คือคนเบลเยียมเขาบียอนด์ไปมาก งานคุณจะออกมาเป็นอะไรก็ได้ ตอนเราเรียนจบใหม่ๆ เราไม่มีเงินเรียนต่อ เราก็เลยซื้อหนังสือเขามาอ่านแล้วดูว่าเขาสอนคนอื่นยังไง”

“อีกเล่มที่เราชอบมากคือหนังสือเกี่ยวกับ M/M Paris เขาเป็นนักออกแบบชาวฝรั่งเศสสองคนที่ทำให้เราดำเนินชีวิตต่อไป วิธีคิดเขานอกกรอบมาก ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย ลูกค้าอยากได้อะไรเดี๋ยวทำให้ใหม่เลยไม่ต้องอิงของเก่า แต่ถ้าเป็นบ้านเรา ลูกค้าอะไรก็ขอดูเรฟเฟอเรนซ์ มันเป็นนิสัยที่ไม่ดี อย่างเราเองเวลาลูกค้าขอดูเรฟเฟอเรนซ์ เราจะชอบบอกว่าไม่มี เพราะถ้ามีเรฟเฟอเรนซ์คืองานเราจบแล้ว”

“เวลาทำงานเราไม่มีภาพที่เสร็จแล้วในหัวก่อนเลย ต้องค่อยๆ ทำไป วางคอมโพสต์ไป งานแต่ละชิ้นเราเลยใช้เวลาและใช้ขั้นตอนเยอะมาก

“เราทำงานแอนิเมชั่นมาก่อน เวลาทำงานเราก็เลยถนัดวาดเป็นชิ้นๆ แล้วค่อยเอาชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมารวมกัน เวลามีคนติดต่อมาบอกให้เพนต์ภาพวาดลงเฟรมให้หน่อยได้มั้ยเราก็จะบอกว่าเราไม่ถนัด เราถนัดรวมมิตร เลือกคาแรคเตอร์ที่เราชอบแล้วค่อยสร้างเรื่องราวทีหลังในคอมพิวเตอร์ มันสนุกกว่าตั้งเยอะ”

ตลอดเวลาที่นั่งคุยกัน กุ๊กบอกเราไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งว่าเธอชอบทำอะไรตามใจตัวเองจนการนิยามแบรนด์ของตัวเองกลายเป็นเรื่องลำบากเสียอย่างนั้น

“เราไม่สามารถตอบได้ว่างานของเราเป็นแนวไหนกันแน่ จนกระทั่งตอนเราไปออกร้านในงานแฟร์ที่อังกฤษ ฝรั่งประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์บอกว่างานยูมันเป็นแนว funky เราก็เอ้อ ขอบคุณนะ” เธอหัวเราะ “สำหรับเรา funky มันคือความสนุก เพราะเราตั้งใจให้งานของเรามันออกมาดูสนุกนั่นแหละ”

เราพยักหน้าเห็นด้วยพร้อมกับที่คิดในใจว่าไม่ใช่แค่โปรดักต์ของ Cuscus the Cuckoos เท่านั้นที่สนุกมากๆ หรอก แต่การได้มาเที่ยวสตูดิโอและสวนสัตว์ของกุ๊กแต่ละครั้งก็เป็นเรื่องสนุกไม่แพ้กัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย