หากคนที่คุณรักและใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามี-ภรรยาเกือบ 10 ปี ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพราะประสบอุบัติเหตุ แต่คุณกลับเซ็นรับรองการผ่าตัดนั้นไม่ได้เพียงเพราะไม่มีสิทธิเป็นคู่ชีวิตตามกฎหมาย–คุณจะรู้สึกยังไง
ทุกวินาทีที่คนรักของคุณกำลังบาดเจ็บสาหัสชนิดที่กระดูกไหปลาร้าหัก กะโหลกร้าว และเกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมอง แต่สิ่งเดียวที่คุณทำได้คือการเป็นเพียงพยานรับรองเท่านั้น–คุณจะรู้สึกยังไง
นี่คือความรู้สึกของ ดาว–เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง ในวันที่ เพชร–พวงเพชร เหงคำ คนรักที่ใช้ชีวิตร่วมกันมากว่า 7 ปีต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่ดาวกลับเซ็นยินยอมการผ่าตัดไม่ได้เช่นคู่สามี-ภรรยาทั่วไป เพราะมาตรา 1448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุว่า คู่สมรสจะต้องเป็น “ชายและหญิง” อายุ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปเท่านั้น ดาวและเพชรซึ่งเป็นคู่รักเพศเดียวกันจึงไม่มีสิทธิคุ้มครองคู่ชีวิตของตน
“ชีวิตคู่มันไม่ขึ้นกับเพศ จะหญิง-หญิง, ชาย-ชาย, หญิง-ชาย หรือคู่เพศไหนๆ ก็เลิกรากันได้ทั้งนั้น เราจึงเสียใจที่กฎหมายใช้ไม่ได้กับคนทุกคน และเสียใจที่รัฐทำเหมือนเราไม่ใช่คน” เธอบอก
ความอัดอั้นและความสงสัยในความเที่ยงธรรมของกฎหมายจึงถูกแปลงเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้กฎหมายมาตราที่ว่า ไม่ใช่เพียงเพื่อให้คู่ของเธอได้รับความเท่าเทียมจากรัฐเท่านั้น แต่เพื่อให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศคู่อื่นๆ มีชีวิตที่ง่ายดายและปกติสุขเช่นคู่หนุ่มสาวทั่วไป
ในวันที่หลายคนบอกให้รับ พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่สร้างขึ้นเพื่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ ทำไมหลายๆ คนรวมถึงดาวและเพชรถึงปฏิเสธ แถมยังเดินหน้าเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 1448 ซึ่งน่าจะยากและใช้เวลานานกว่ามาก แล้วในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำร้องของพวกเธอ การต่อสู้อันยาวนานกว่า 3 ปีถือว่าไปไกลระดับไหน
ขอให้ทุกคนเปิดใจรับฟังเรื่องราวชีวิตของประชาชนคนหนึ่งที่ไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ หรือวัย ที่หากไม่ประสบพบเจอด้วยตัวเองก็คงไม่มีวันเข้าใจ
ดาว, หญิงสาวผู้แต่งงานเพื่อคนในครอบครัว
ย้อนกลับไปหลายสิบปีที่แล้ว ในยุคที่สังคมยังไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศเท่าปัจจุบัน ชนิดที่การจับมือกันในพื้นที่สาธารณะของเพศเดียวกันถือว่าแปลก ดาวเกิดและเติบโตในครอบครัวบุญธรรมอันแสนอบอุ่นที่รับเธอมาเลี้ยงตั้งแต่อายุ 3 เดือน โดยมีชีวิตปกติเช่นเด็กทั่วไป ยกเว้นแต่เรื่องแรงดึงดูดต่อเพศตรงข้ามเท่านั้นที่ทำให้เธอเริ่มรู้สึกว่าตัวเองแตกต่าง
“เราเคยได้ยินว่าคนที่เป็นหญิงรักหญิงมักจะเรียนในโรงเรียนหญิงล้วน แต่นี่เราเรียนโรงเรียนสหศึกษาแต่ก็ไม่เคยชอบผู้ชายเลยนะ ตั้งแต่มัธยมปลายก็มีแฟนเป็นผู้หญิงตลอด เวลาเห็นเพื่อนเรียน ร.ด.เราก็อยากเรียนบ้าง” ดาวย้อนเล่า
ความสงสัยนั้นถูกพิสูจน์ว่าเป็นจริงเสมอ กระทั่งดาวได้เจออดีตสามีที่แม้จะรู้ว่าเธอมีแฟนเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว แต่เพราะชอบพอในตัวเธอจึงให้ผู้ใหญ่มาสู่ขอ
“แม่คาดหวังให้เราแต่งงานแบบคู่ชาย-หญิงทั่วไป ด้วยความที่เราเป็นลูกบุญธรรมเลยไม่กล้าปฏิเสธเพราะกลัวเขาเสียใจ บวกกับตอนนั้นเราเริ่มมีคำถามในใจว่าเราเป็นหญิงรักหญิงจริงหรือเปล่าเลยตัดสินใจแต่งงานไป” เด็กสาวอายุ 22 ปีคนนั้นจึงเข้าพิธีแต่งงานและดำเนินรอยตามค่านิยมของครอบครัวสุขสันต์ คือใช้ชีวิตคู่และมีลูกด้วยกัน
“สามีคิดว่าจะเปลี่ยนเราได้ด้วยการมีลูก แต่ตลอด 2-3 ปีที่อยู่ด้วยกัน เราไม่ได้อยู่ร่วมกันแบบคู่รักแต่อดทนอยู่เพื่อลูกและครอบครัวเท่านั้น ซึ่งสามีก็เป็นคนดีมาก เราแทบไม่ทะเลาะกันเลยด้วยซ้ำ
“แต่พอถึงวันหนึ่งเราก็ตั้งคำถามว่าจะอดทนอยู่เพื่ออะไร ทั้งๆ ที่ใจเรามันบอกว่าไม่ใช่ ทั้งๆ ที่ใจมันบอกว่าอยู่กับผู้หญิงแล้วมีความสุขกว่า เราเลยหลอกตัวเองไม่ได้และเลิกรากับสามีไป ทำให้แม่โกรธมากถึงขนาดไม่ยอมเรียกว่าเราเป็นลูกอยู่นาน”
จากวันที่ก้าวเท้าออกจากความเป็นสามี-ภรรยาตามกฎหมาย ดาวทำงานและเลี้ยงลูกคนเดียวกว่า 8 ปี ก่อนให้อดีตสามีเลี้ยงดูต่อเพราะเธอต้องทำงานกะดึกทุกวัน เธอและลูกจึงห่างกันด้วยระยะทางมากขึ้น
“เราก็กลัวเขาเสียใจที่เราเป็นแบบนี้เหมือนกันนะ พอลูกเริ่มโตเลยมานั่งจับเข่าคุยกันว่าทำไมพ่อกับแม่ถึงเลิกกันทั้งที่ไม่ได้ทะเลาะกันเลย แต่เขาก็บอกว่าถ้าแม่มีความสุขเขาก็ไม่มีปัญหาเพราะเพื่อนเขายังเป็นทอมเลย” ดาวยิ้ม
เพชร, ผู้มีอิสรภาพในชีวิต
ต่างจากดาวที่เกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ เพชรเกิดหลังจากดาว 15 ปี ในดินแดนชนบทอย่างอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะที่ดาวพยายามพิสูจน์ตัวตนและตอบแทนพระคุณพ่อแม่ด้วยการแต่งงานมีครอบครัว เพชรบอกว่าเธอไม่เคยถูกกดดันเรื่องเพศและทางเดินชีวิตของตัวเองเลย
“เราไม่เคยปลื้มผู้ชายแต่กลับรู้สึกว่าผู้หญิงน่ารักและน่าดึงดูด เวลาเพื่อนผู้หญิงกรี๊ดนักฟุตบอลในโรงเรียน เราก็สงสัยว่ามันน่ากรี๊ดตรงไหน มีบ้างที่คิดว่าฉันผิดปกติหรือเปล่าแต่ก็ไม่เคยถูกกดดันแบบพี่ดาวว่าต้องแต่งงานมีลูก อาจเพราะเราเป็นคนหัวรั้นชนิดที่พ่อแม่รู้ว่าถ้าบังคับให้ทำโน่นทำนี่ เราอาจจะออกนอกลู่นอกทาง เกเรกว่าเดิมจนหนีออกจากบ้านไปเลยก็ได้
“อีกอย่าง เราว่าค่านิยมคนชนบทกับคนเมืองไม่เหมือนกัน คนเมืองอาจจะมองว่าอยากให้แต่งงานมีครอบครัว แต่คนชนบทมักจะบอกว่าขอให้เรียนดีๆ มีงานทำมากกว่า แต่ถามว่าเขาอยากให้เราแต่งงานมีลูกไหม ก็คงอยากนะ แค่ไม่กล้าใช้อำนาจกับเรา” เพชรเล่าให้ฟัง
เมื่อโลกอินเทอร์เน็ตกว้างขึ้น กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงมีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือเว็บไซต์ ‘สะพาน’ ที่ขับเคลื่อนให้หญิงรักหญิงในไทยเข้าใจตัวเองผ่านวรรณกรรมและบทความ ดำเนินการโดย เล็ก–ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ที่คนในวงการหนังสือและวงการหญิงรักหญิงรู้จักดี จากเว็บไซต์ สะพานผันตัวเป็นสำนักพิมพ์ที่ส่งต่อเรื่องราวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะกลุ่มหญิงรักหญิง
และ ณ ที่แห่งนี้ ดาวและเพชรจึงได้รู้จักกัน
ดาว-เพชร, ความเข้าใจของคู่รักต่างวัย
เพราะอยากเข้าใจและรู้จักโลกแห่งความหลากหลายมากขึ้น ค้นหาว่าความเป็น LGBTQ+ นั้นมีจริงไหม ทั้งขับเคลื่อนไปในทิศทางใดบ้าง ดาวจึงเข้าๆ ออกๆ เว็บไซต์ lesla.com ที่รวมพลชาวหญิงรักหญิงอยู่ตลอด ก่อนจะรู้จักเว็บไซต์สะพานซึ่งนำพาให้เธอได้รู้จักคนรักในปัจจุบันอย่างเพชร
“แฟนเก่าที่เราคบมาอายุมากกว่าเราทั้งนั้น ตอนแรกเลยไม่ได้อยากคุยกับเพชรเพราะเขาอายุน้อยกว่าเราตั้ง 15 ปี แต่ด้วยความที่ก่อนหน้านี้เราผิดหวังกับความรักมาเยอะเลยอยากลองดูว่ามันจะเวิร์กไหม แล้วก็พบว่าเขามีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าที่คิด” ดาวย้อนความหลังครั้งยังจำให้ฟัง
จากรู้จักกันผ่านแชตกลางของเว็บไซต์ ความที่คุยสนุกและคุยได้ทุกเรื่องจึงทำให้ดาวและเพชรยังติดต่อกันเสมอแม้เว็บจะปิดตัวลง
“เราเป็นคนพูดน้อยและคุยไม่เก่ง แต่พี่ดาวแกมีเรื่องมาคุยได้เรื่อยๆ ไม่น่าเบื่อ ตั้งแต่การท่องเที่ยว หนัง เพลง ดอกไม้ ต้นไม้ จนคุยเรื่องชีวิตกันมากขึ้นเรื่อยๆ” บทสนทนาของทั้งคู่ดำเนินอย่างเนิบช้าเรื่อยมากว่า 1 ปี ก่อนที่ดาวจะชวนเพชรมาลองใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ด้วยกัน
“พอเขาชวนไปเราก็ตอบตกลง เพราะหนึ่ง–เราอยากลองใช้ชีวิตกับเขา สอง–เราคิดว่าสังคมที่อยู่มันช่างคับแคบ เราอยากไปเห็นโลกที่มันกว้างใหญ่กว่านี้” เพชรบอก และความรักของทั้งคู่ก็ค่อยๆ ฟูมฟักขึ้นทีละเล็กทีละน้อยในเมืองกรุง จาก 1 ปี เป็น 2, 3, 4 และ 5 แม้จะมีปากเสียงกันบ้างแต่ทั้งคู่ก็ประคับประคองความรักต่อมาได้
“เราต่างก็มีข้อเสียกันอยู่แล้ว แต่ข้อดีของเขามันกลบข้อเสียได้ไหมก็ต้องชั่งน้ำหนักดู เพราะชีวิตคู่มันจะอยู่ได้นานหรือเปล่าไม่ได้ขึ้นกับความรักเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นกับว่าทั้งสองคนใช้ความอดทนและความเข้าใจกันมากพอไหมด้วย” ดาว ผู้ที่อาวุโสกว่าเล่าถึงความสัมพันธ์อันยาวนานของทั้งคู่ให้ฟัง
เมื่ออยู่กรุงเทพฯ ได้สักพัก ทั้งสองจึงย้ายกลับไปอาศัยที่บ้านของเพชร ณ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อดูแลพ่อแม่ที่เริ่มแก่เฒ่า ที่นี่ไม่เพียงทำให้ดาวได้รับรู้ถึงความรักที่พ่อแม่เพชรมีต่อเธอเสมือนเป็นลูกสาวคนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังทำให้ทั้งคู่เจอวิกฤตชีวิตครั้งสำคัญ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันความรักและยังเป็นแรงผลักดันให้ดาวและเพชรออกมาเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมในปัจจุบัน
หญิง-หญิง ชาย-ชาย, เมื่อความรักไม่ชนะทุกสิ่ง
ด้วยความเชื่อว่าความรักก็เท่านี้ เข้าใจ ปรับตัว และใช้ชีวิตร่วมกันไปเรื่อยๆ ทำให้แหวนแต่งงาน คำสารภาพรัก 365 วัน หรือทะเบียนสมรสที่มีคุณค่าสำหรับคู่รักชาย-หญิงไม่ใช่สิ่งที่ทั้งดาวและเพชรใฝ่ฝัน และไม่อาจนิยามคำว่า ‘คู่ชีวิต’ ได้แม้แต่น้อย
“เราเคยผ่านการแต่งงานมาแล้วจึงคิดว่าทะเบียนสมรสมันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย การจัดงานแต่งใหญ่โต ชวนคนนั้นคนนี้มามันไม่ได้มีค่าเท่าความเข้าใจกัน” ดาวบอกถึงนิยามคู่ชีวิตของเธอให้ฟัง แต่แล้วในวันที่เพชรประสบอุบัติเหตุรถชน กระดูกไหปลาร้าหัก กะโหลกร้าว และมีลิ่มเลือดอุดตัน ทะเบียนสมรสของคนเพศเดียวกันจึงมีค่าขึ้นมา
“วันนั้นโรงแรมที่เราสองคนทำงานอยู่จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ ทุกคนที่โรงแรมกำลังรอเพชรอยู่ แต่อยู่ๆ ก็มีคนโทรมาบอกว่าเพชรประสบอุบัติเหตุซึ่งยังไงก็ต้องผ่าตัดแน่ๆ เลยต้องพาเพชรขึ้นรถโรงพยาบาลจากปายไปเชียงใหม่เพราะมีอุปกรณ์ครบกว่า” ด้วยถนนหนทางที่คดโค้ง เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แม่ของเพชรจึงรู้สึกไม่ค่อยสบาย ดาวและเพื่อนของเพชรจึงให้แม่นั่งพักที่ด้านล่างของอาคาร ก่อนเดินเรื่องผ่าตัดกัน 2 คน
“พยาบาลถามว่ามีญาติคนไข้มาหรือเปล่าเพราะต้องให้เซ็นผ่าตัด เราก็อ้ำๆ อึ้งๆ ว่าเป็นพี่ของเพชร พยาบาลเขาก็รู้แหละว่าเราเป็นแฟนกัน เราเลยบอกว่าเราเป็นแฟนที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมา 7 ปีแล้วนะ แต่เขาก็ยืนยันว่าต้องเป็นคนสายเลือดเดียวกันเพราะมันเป็นเงื่อนไขทางกฎหมาย เราจึงทำได้แค่เซ็นเป็นพยานแล้วค่อยให้แม่เดินขึ้นมาเซ็นรับรองอีกที
“กลายเป็นว่าแทนที่เราจะดูแลแค่เพชร เราก็ต้องดูแลแม่ด้วย แล้วเราก็เพิ่งผ่าตัดขามา มันลำบากไปหมด” ดาวเล่าถึงความชุลมุนครั้งนั้นด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่ง พอมองย้อนกลับไป นั่นคือเหตุการณ์ที่กระตุกให้ดาวคิดว่าเมื่อต้องเผชิญโลกแห่งความจริง นิยามคู่ชีวิตและความรักที่เคยเป็นเพียงเรื่องของดาวและเพชรก็กลับกลายเป็นเรื่องของหญิงรักหญิงที่สังคมผลักให้ออกจากวงโคจร เป็นเรื่องราวของคนกลุ่มน้อยที่ไม่มีสิทธิคุ้มครองคู่ของตนตามกฎหมาย
“มันไม่ใช่แค่ครั้งนั้นนะ อีกครั้งที่เพชรไปตรวจสุขภาพแล้วหมอบอกว่าเขาต้องผ่าตัดเพราะพบเดอร์มอยด์ซีสต์ พยาบาลก็บอกอีกว่าต้องพาพ่อแม่มาเซ็นรับรองการผ่าตัดภายใน 1 สัปดาห์ เราเลยบอกว่าให้เราเซ็นแทนได้ไหมเพราะเราเป็นแฟนกันและอยู่บ้านหลังเดียวกันนานแล้ว เขาก็บอกว่าเขาเข้าใจแต่ในทางกฎหมายมันทำไม่ได้
“เรารู้สึกว่าอีกแล้วเหรอ ทำไมเราต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ด้วย เราอยู่ด้วยกันมาเกือบสิบปี ซึ่งมันเท่ากับหรือมากกว่าระยะเวลาของคู่ชาย-หญิงทั่วไปด้วยซ้ำ มันก็คือชีวิตคู่เหมือนกันหรือเปล่า ไม่ได้แตกต่างอะไรเลย เราจึงเสียใจว่าทำไมกฎหมายถึงใช้ไม่ได้กับทุกคน เสียใจที่รัฐทำเหมือนเราไม่ใช่คน”
แม้ภายหลังดาวจะรู้ว่าเธอไม่จำเป็นต้องพาแม่ของเพชรมาเซ็นยินยอมถึงที่ เพราะสามารถให้โรงพยาบาลโทรหาได้เลย แต่ด้วยความกำกวมของขั้นตอนการรักษาและความไม่เท่าเทียมของกฎหมาย เธอจึงติดต่อให้มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศช่วยเรียกร้องการแก้ไขมาตรา 1448 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อความเท่าเทียมของประชาชนทุกเพศ
“ตั้งแต่เพชรประสบอุบัติเหตุครั้งแรกเราก็คุยกับเขาว่าเรามาร่วมต่อสู้กันไหม ร่วมเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 1448 ที่ทำให้เราเป็นคู่ชีวิตตามกฎหมายไม่ได้ เพราะมันไม่ได้กระทบแค่เราคนเดียวนะ อย่างครูมิกกี้ที่สามีป่วยเป็นมะเร็งตับจนเสียชีวิต ถ้าเขาเป็นคู่สมรสกันตามกฎหมาย สามีครูก็จะได้สิทธิเบิกยาต้านของข้าราชการได้”
เมื่อเพชรตอบตกลง การต่อสู้ของทั้งสองจึงเริ่มต้นขึ้น
เพศหลากหลาย, มากกว่าใบทะเบียนสมรสคือความเท่าเทียมทางกฎหมาย
แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าทั้งคู่จดทะเบียนสมรสไม่ได้ แต่บันไดก้าวแรกแห่งความเท่าเทียมที่ดาวกับเพชรต้องทำคือการไปจดทะเบียนสมรสเพื่อขอหลักฐานยื่นฟ้องต่อศาล
“เราไม่ได้ต้องการทะเบียนสมรสเพราะมันก็แค่กระดาษใบหนึ่ง แต่เราต้องการกฎหมายที่คุ้มครองคู่ชีวิตของเราได้ ซึ่งถ้าไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง เดาว่าคงไม่รู้ว่ามันลำบากขนาดไหน” ดาวบอกถึงความตั้งใจของการต่อสู้ครั้งนี้ ก่อนที่เพชรจะอธิบายถึงความไม่เท่าเทียมที่พวกเธอเผชิญ
“ในเมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 4, 5, 25, 26 และ 27 ระบุว่าคนทุกคนต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมไม่ว่าจะเชื้อชาติ ภาษา เพศ ฯลฯ จะกระทำมิได้ นั่นหมายความว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่บอกว่าผู้ที่จะสมรสกันได้ตามกฎหมายคือ ‘ชายและหญิง’ ที่มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มันขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า”
ในครั้งแรก ดาว เพชร และมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศจึงเดินทางไปจดทะเบียนสมรสที่เขตหนึ่งของกรุงเทพฯ เพื่อขอคำร้องไปยื่นฟ้องตามกฎหมาย แต่แทนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะแจกแจงให้เข้าใจและให้หลักฐานโดยง่าย ทั้งคู่กลับได้รับความไม่ไยดีตอบแทน
“เขาพูดกับเราว่า ‘ก็กฎหมายบอกว่าจดไม่ได้ก็คือจดไม่ได้ไง เข้าใจไหม’ แล้วก็ทำสีหน้าหงุดหงิดแถมยังไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติม ซึ่งเราโมโหมากเพราะเราได้รับความลำบากจากกฎหมายและสังคมที่แบ่งแยกเพศอยู่แล้ว ทำไมข้าราชการที่ควรจะให้ความร่วมมือและช่วยเหลือจึงทำเหมือนเราเป็นประชาชนชั้นสอง ทำเหมือนเราเป็นคนที่มีปัญหากับงานของเขา ทั้งที่เราก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มาติดต่อขอความช่วยเหลือนะ” เพชรบอกถึงความอัดอั้นครั้งนั้น
ท้ายที่สุดทั้งคู่ก็ได้เอกสารสำคัญมาด้วยความช่วยเหลือจากมูลนิธิที่เดินเรื่องด้วยกัน แล้วจึงนำคำร้องไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ก็ใช่ว่าจะง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก คำร้องของทั้งคู่นั้นไม่ขยับไปฝ่ายอื่นๆ แม้แต่น้อย เพราะช่วงเวลาที่ยื่นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ พ.ร.บ.คู่ชีวิตซึ่งพิจารณามาก่อนหน้านั้นหลายปีกำลังจะได้เข้าสภา และมีทีท่าว่าจะผ่านได้ง่ายกว่า
“เขาคงอยากให้เรารอ พ.ร.บ.คู่ชีวิตผ่าน แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับแรกๆ แทบไม่ได้ให้สิทธิอะไรกับเราเลย จนตอนนี้แก้ไขเป็นรอบที่ 6 ก็ยังคงจำกัดสิทธิเราหลายทาง เช่น สิทธิในการอุ้มบุญ สิทธิการเซ็นอนุญาตรักษาพยาบาล สิทธิการจัดการศพ และสิทธิในกองทุนประกันสังคมและบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฯลฯ
“คำถามคือทำไมคุณต้องผลักเราให้ไปใช้กฎหมายอีกตัวล่ะ ทำไมถึงไม่ดันเราให้เข้าไปอยู่ในวงเดียวกันกับประชาชนคนอื่นที่ใช้กฎหมายตั้งต้นแต่แรก เราก็อยากไปอยู่ในจุดที่คนทั่วไปเขาอยู่ เพราะไม่ว่าจะเป็นกะเทย ทอม ทรานส์เจนเดอร์ เลสเบียน non-binary หรืออะไรก็ตาม เราต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน” เพชรอธิบายถึงความต่างให้ฟัง
เพื่อยืนยันให้แก้ไขมาตรา 1448 ทั้งสองจึงต้องดำเนินเรื่องต่อโดยยื่นจดทะเบียนใหม่อีกครั้งเพราะเอกสารเดิมมีอายุเพียง 90 วัน ซึ่งทั้งคู่ก็เลือกจดทะเบียนครั้งที่ 2 ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563
“มันเป็นวันแห่งการแสดงความรักที่ชาย-หญิงนิยมไปจดทะเบียนกัน เราก็อยากไปวันนั้นบ้างจะได้ไม่ต้องมีข้อแตกต่าง ซึ่งคู่รักที่มาจดทะเบียนวันนั้นเขายังอวยพรให้คู่เราเลย” ดาวเล่ายิ้มๆ
แต่ใช่ว่าได้รับเอกสารแล้วจะผ่านศาลรัฐธรรมนูญได้ง่ายๆ แม้ทั้งคู่จะนำไปยื่นผ่านศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงแต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับว่าจะนำเอกสารนั้นมาพิจารณา จึงปรึกษาหารือว่าจะต้องยื่นเอกสารผ่านศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกครั้ง
“เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งแจ้งว่ารับพิจารณาคดี เราสองคนและมูลนิธิดีใจมากๆ แต่ถามว่ามั่นใจไหมว่ามันจะผ่าน ตอบได้เลยว่าเดาใจศาลไม่ถูกหรอก เราก็ได้แต่ภาวนาให้มาตรานี้มันแก้ได้” ดาวบอกความคืบหน้าให้ฟังด้วยสีหน้าปีติ
ประชาชน, คนธรรมดาที่ทำอะไรธรรมดาๆ
13 ปี คือระยะเวลาที่ทั้งคู่อยู่ร่วมกัน ส่วน 6 ปี คือระยะเวลาที่ดาวตระหนักถึงความเท่าเทียมทางกฎหมายหลังเพชรต้องเข้ารับการผ่าตัด และ 2 ปี คือระยะเวลาที่ทั้งคู่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมนั้น
แม้จะโดนปฏิเสธหลายครั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งคนรอบข้างก็ยังสนับสนุนให้ปล่อยผ่านเรื่องราวร้ายแรงในอดีตและให้ยอมรับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะได้ไม่ต้องเสียเวลาแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ให้เหนื่อยเปล่า แต่ทั้งคู่ก็ยังยืนยันว่าทางออกเดียวของการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมนี้คือการแก้กฎหมายเท่านั้น
“ถามว่าเราท้อไหม ท้อนะ ท้อมาก อย่างเราไม่เท่าไหร่แต่กับเพชรที่เป็นอินโทรเวิร์ต เขาสูญเสียความเป็นส่วนตัวมาก ทุกครั้งที่ต้องออกกล้องหรือมีคนมาสัมภาษณ์เขาจะรู้สึกเครียด แต่เราก็บอกเขาว่าเราต้องทำต่อนะ เพราะถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ
“เราจึงอยากให้ทุกคนออกมาร่วมกันขับเคลื่อน ไม่ว่าจะ LGBTQ+ เอง พ่อแม่ที่มีลูกเป็น LGBTQ+ และชาย-หญิงทั่วไป ช่วยกันให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น” นี่คือความตั้งใจของดาวแม้ในวันที่ต้องแบกรับความเหนื่อยล้าจากการวิ่งเข้า-ออกศาล และเดินทางข้ามจังหวัด
แม้ไม่มีใครกำหนดได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาให้แก้ไขกฎหมายมาตรา 1448 วันไหน ความต้องการของพวกเธอจะเป็นจริงหรือไม่ แต่ตลอดการสนทนาและเรื่องราวความยากลำบากที่ทั้งสองเล่าให้เราฟังก็เป็นเครื่องยืนยันหนึ่งได้ว่า ความรักของทั้งคู่ไม่อาจถูกทำลายลงได้ด้วยทะเบียนสมรส และความเท่าเทียมที่ประชาชนคนหนึ่งอย่างดาวและเพชร รวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเฝ้าฝันก็ไม่อาจถูกทำลายได้ด้วยกฎหมายฉบับใด
“สิ่งที่เราอยากเห็นคือวันหนึ่งการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่แสนลำบากนี้จะหยุดลง เพราะประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเพศไหนก็เท่าเทียมกันหมด เราอยากเห็นคู่หญิง-หญิง ชาย-ชาย หรือคู่อื่นๆ เดินจับมือกันได้โดยที่ไม่มีใครมองว่าแปลก เดินไปขอจดทะเบียนสมรสแล้วเจ้าหน้าที่ก็ยื่นเอกสารมาให้โดยไม่ตั้งคำถาม
“เพราะเราก็แค่อยากเป็นคนธรรมดาที่ทำสิ่งธรรมดาๆ เหมือนคนอื่นๆ นี่สิถึงจะเรียกว่าความเท่าเทียมที่แท้จริง” เพชรทิ้งท้าย
บทสัมภาษณ์นี้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564