ไร้ตัวตน เฉียดความตาย จนถึงวันเวลาที่มีความหมายในฐานะนักสิทธิมนุษยชนของต้น ศิริศักดิ์

ต้น ศิริศักดิ์

[คำเตือน : บางส่วนของเนื้อหาในบทความเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายและอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ]

ด้วยเหตุแห่ง pride month คอมมิวนิตี้มอลล์แถวสามย่านที่ผมนัดสนทนากับ ต้น–ศิริศักดิ์ ไชยเทศ จึงเต็มไปด้วยสีรุ้ง

พื้นทางเดินหน้าประตู ขั้นบันได ไปจนถึงสติ๊กเกอร์ที่แจกให้ทุกคนหน้าทางเข้า สีแดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน และม่วง ต่างเรียงตัวกันเพื่อแสดงออกถึงเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

คล้ายกับต้นที่สีรุ้งเป็นสัญลักษณ์ของเขาเช่นกัน

และภายใต้สีสันที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและเจตจำนงเหล่านั้น คือเหตุผลที่ผมมาพบต้นในวันนี้

ต้น ศิริศักดิ์

เป็นเวลาเกินสิบปีแล้วที่ต้นเริ่มต้นบทบาทในฐานะนักสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าชุมนุมไหนหรือการเรียกร้องใดๆ ต้นจะไปปรากฏตัวเข้าร่วมเสมอเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงประจักษ์และเชิงกฎหมาย รวมถึงในโลกออนไลน์เขาก็สร้างแคมเปญในการพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่เป็นประจำ

บ้างประสบความสำเร็จ บ้างต้องรอเวลา บ้างก็ได้รับก้อนหินมากกว่าดอกไม้ แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน ไม่มีครั้งไหนที่ต้นไม่เต็มที่ พิสูจน์ได้จากความสม่ำเสมอและพลังที่เขาส่งออกมาที่ไม่มีทีท่าว่าจะลด

และจากสิ่งที่เขาทำนี่เองที่นำมาซึ่งความสงสัยขั้นต้นที่ผมมีต่อเขา แต่ลงลึกไปกว่านั้น เครื่องหมายคำถามใหญ่ที่ผมอยากรู้คือประสบการณ์แบบไหนกันแน่ที่เป็นเบ้าหลอมให้คนคนหนึ่งกลายเป็นนักเรียกร้องสิทธิมาเป็นเวลาหลายปีขนาดนี้

ผมพกความสงสัยทั้งหมดไว้ในใจจนถึงวันที่เราพบกัน และรอไม่นานเลย ต้นก็ปรากฏตัวด้วยภาพจำคุ้นตา พร้อมตัวอักษรสีรุ้งกลางหน้าผากที่เป็นเหมือนใจความของคำตอบที่เขาพร้อมบอกเล่า

‘EQUALITY’

ต้น ศิริศักดิ์

1

เมื่อไม่กี่วันก่อน ภาพของต้นในชุดคล้ายพระพร้อมสังฆาฏิสีรุ้งกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์

นี่เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญที่เขาผลักดันในช่วง pride month ในปีนี้เพื่อเรียกร้อง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ และหลังจากโพสต์ออกไปพร้อมแคปชั่นว่า ‘ทุกคนต้องบวชได้ ทุกเพศต้องบวชได้’ ทั้งคำชม คำติ ไปจนถึงคำด่าต่างถาโถมใส่เขาทันที

“ต้องเจออยู่แล้ว เป็นเรื่องธรรมดา เรารับได้” ต้นเกริ่นกับผมถึงสิ่งที่เกิดขึ้น 

“ทำไมถึงหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูด” ผมเริ่มถาม

“เกณฑ์ของเราง่ายมาก คือถ้ามันมีเหตุการณ์ไหนที่แสดงออกถึงการจำกัด แบ่งแยก และเลือกปฏิบัติ เราก็จะออกมาพูดเรื่องนั้น อย่างกรณีเรื่องบวช ถึงเราจะเป็นคริสต์แต่เราก็ได้รับรู้ว่ามีคนที่ไม่ได้บวชเพราะเพศสภาพอยู่จริง ในบางพื้นที่ความเชื่ออย่าง ‘กะเทยห้ามบวช’ ยังมีอยู่ด้วยซ้ำ ดังนั้นเราก็ไม่เพิกเฉย 

“สำหรับเรา ในเมื่ออยู่ในสังคมเดียวกัน อะไรที่ไม่ยุติธรรมก็ต้องวิจารณ์ ต้องช่วยเป็นหูเป็นตา ตราบใดที่ปัญหายังอยู่เราก็ต้องออกมาส่งเสียงเพื่อให้คนได้มาซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน ถึงแม้การส่งเสียงนั้นจะทำให้โดนด่าขนาดไหนเราก็พร้อมรับ เพราะเราจะไม่ยอมอะไรก็ตามที่แสดงออกว่าคนไม่เท่ากัน”

แท้จริงแล้วไม่ใช่แค่เรื่องการบวช เพราะนอกจากรูปที่ต้นแต่งกายคล้ายพระ ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันเขาใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารแคมเปญเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศในหลายๆ วงการ ตั้งแต่ชุดนักเรียน ชุดนักศึกษา ชุดข้าราชการ ชุดหมอ และมาจบสุดท้ายที่ชุดพระที่กลายเป็นไวรัลอย่างที่ทุกคนเห็น

“เราว่าหลายๆ ปัญหาในสังคมเกิดจากการที่โลกใบนี้ยึดติดกับเพศกำเนิดเกินไป คำนำหน้าบัตรประชาชนบังคับให้คุณใช้ตามนั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงหลายๆ อย่างเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์สามารถเลือกได้ ไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่แค่คำว่า ‘ผู้ชาย’ หรือ ‘ผู้หญิง’”

“แต่ว่ากันตามจริง นี่ก็ไม่ใช่ปีแรกที่คุณพูดเรื่องนี้ รู้สึกยังไงที่ต้องพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ” ผมย้อนให้ต้นคิด

“มีเหนื่อยอยู่แล้ว ยิ่งกับยุคนี้มันก็มีคิดนะว่าต้องพูดเรื่องเดิมอีกเหรอ แค่เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานทำไมยังต้องมาเรียกร้องกันอีก ก็มีบางอารมณ์ที่เบื่อจนคิดเข้าข้างตัวเองแบบนั้น แต่ในอีกมุมหนึ่งเราก็เข้าใจคนที่เห็นต่างนะ

“จากประสบการณ์การทำงานของเรา อะไรเหล่านี้ล้วนมีที่มาจากการถูกกดทับ ความเคยชินสร้างให้เขาคิดว่าสู้ไปก็ไม่มีประโยชน์ อยู่แบบเดิมดีกว่า ซึ่งสังคมแบบนั้นก็เป็นเบ้าหลอมเดียวกับที่เราเติบโตมา ดังนั้นเราพอเข้าใจคนที่คิดแบบนั้นเพราะเราเห็นที่มาของเขา”

“สังคมแบบไหนที่คุณพูดถึง สังคมแบบไหนที่คุณเติบโตมา”

“แบบที่สั่งสอนว่าโลกนี้มีแค่ชายกับหญิง อย่าเป็นกะเทยนะเดี๋ยวเป็นเอดส์ตาย กะเทยจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต และกะเทยจะไม่มีทางมีความรักที่ดีได้ พูดง่ายๆ ว่าสังคมที่กดทับในทุกๆ ทาง”

ต้น ศิริศักดิ์

2

ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน เป็นเรื่องปกติที่เด็กชายต้นจะเขียนชื่อจริงลงไปในสมุดการบ้านว่า ‘ศิริศักดิ์’ นามสกุล ‘ไชยเทศ’ โดยที่รู้อยู่แก่ใจว่านั่นไม่ใช่นามสกุลของครอบครัวเขา

ด้วยความที่ครอบครัวของต้นเป็นชาวเวียดนามในจังหวัดสกลนคร พี่ของต้นจึงประสบปัญหาเรื่องการศึกษาเพราะสัญชาติ ทำให้เมื่อต้นเกิดมาพ่อแม่ของเขาจึงเลือกทำผิดกฎโดยให้เพื่อนบ้านไปแจ้งเกิดต่างอำเภอ นั่นเองจึงเป็นที่มาของนามสกุลที่ไม่ตรงกับครอบครัว และเพราะเหตุนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ต้นรู้สึกถึงความแปลกแยกที่กดทับ

“ตั้งแต่จำความได้เราต้องเข้าไปหลบในตู้เสื้อผ้าหลายครั้งเพื่อหลบ ตม. หรือเวลาออกไปนอกบ้าน เป็นเรื่องปกติที่เราจะถูกหัวเราะเยาะและถูกเรียกว่า ‘แกว’ (คำไม่สุภาพที่ใช้เรียกชาวเวียดนาม) ยิ่งด้วยสภาพร่างกายของเราที่เกิดมาไม่มีผมอีก เราเลยรู้สึกอับอายตั้งแต่เด็ก รู้สึกไม่เหมือนคนอื่น และรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวประหลาด”

ต้น ศิริศักดิ์

“เรื่องเพศล่ะ มีผลกับคุณในวัยเด็กไหม” ผมสงสัย

“เรื่องเพศจะค่อยๆ ส่งผลกับเราตามวัยมากกว่า เพราะสมัยเด็กเราไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นกะเทย เราคิดว่าตัวเองเป็นเหมือนเด็กผู้ชายทั่วไปที่อาจจะตุ้งติ้งหน่อยและชอบเล่นกับผู้หญิง จนกระทั่งช่วงเรียนอยู่อนุบาลนั่นแหละที่เริ่มมีคนบอกว่าสิ่งที่เราเป็นคือกะเทย

“ตอนที่ได้ยินครั้งแรกเราก็สงสัย เราถามผู้ใหญ่คนนั้นกลับไปว่ากะเทยคืออะไร เขาตอบกลับมาว่าคือผู้ชายที่อยากเป็นผู้หญิง ซึ่งพอเอาคำตอบมาทบทวนเราก็คิดว่าตัวเองไม่ได้อยากเป็นผู้หญิงสักหน่อย เราเลยทำตัวแบบเดิม ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นแบบนั้น ซึ่งก็อาจเป็นอิทธิพลจากครอบครัวด้วย

“ครอบครัวเราเป็นคาทอลิก ต้องเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ เราเลยถูกสอนมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าโลกนี้มีแค่ชายกับหญิง เพศหลากหลายถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ มันเป็นบาป ดังนั้นพอเพื่อนพ่อมาบอกว่าเราเป็นกะเทย พ่อเรายังตอบกลับไปด้วยซ้ำว่าไม่หรอก เล่นกับผู้หญิงก็ดีแล้วนี่ จะได้ไม่ติดยา ไม่เกเร”

แต่เมื่อเวลาผ่านไปต้นก็เหมือนกับเด็กทั่วไปที่ค่อยๆ ชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น เขาเล่าให้ผมฟังว่าพอเข้าช่วงประถมศึกษา ในใจเขาก็เริ่มตอบได้ว่าตัวเองคือใคร เพียงแต่ด้วยสภาพครอบครัวต้นเลยเลือกไม่แสดงออกที่บ้าน ซึ่งภาวะนี้ก็ตามมาด้วยปัญหาที่ยิ่งตอกย้ำในใจว่าเขาแตกต่างจากคนอื่น

“ด้วยจริตที่เรามี พอเราไปแสดงออกข้างนอกแน่นอนว่ามันมีคนหมั่นไส้ เราเลยโดนมาหมดแล้วทั้งโดนตบ โดนถ่มน้ำลาย โดนจิกหัวข่วนหรือแม้แต่โดนครูตะโกนด่าหน้าเสาธงว่า ‘ถ้าใครเป็นกะเทย กูจะถีบให้หลังหัก’ แต่ที่มันน่าเจ็บปวดมากกว่านั้นคือพอเรากลับไปบ้าน เราไม่สามารถเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ครอบครัวฟังได้เลย กลับกันในวันที่มีแผล พ่อแม่เราดีใจด้วยซ้ำที่เราทำตัวสมเป็นผู้ชายสักที

“หรือหนักกว่านั้น มีอยู่วันหนึ่งที่เรานั่งกินข้าวกับยายและพี่ชายที่เกลียดกะเทย จากปกติที่เราไม่แสดงจริตเวลาอยู่ที่บ้านแต่วันนั้นเราหลุด เราเผลอพูดเสียงสูงออกไปนิดเดียวว่า ‘อย่าใส่น้ำปลาในไข่เจียวเยอะ เดี๋ยวมันเค็ม’ ปรากฏว่าพี่ชายเตะเราเข้าที่หน้า หัวคิ้วบวมปูดไปหมด”

“คุณตอบโต้ไหม” ผมเอ่ยถามก่อนต้นจะส่ายหน้าปฏิเสธ

“ก็เหมือนกับทุกครั้งที่เราเลือกจะเงียบ ไม่อธิบายอะไรทั้งนั้น พ่อก็ไม่ได้ตำหนิพี่ชายเรา แม่ก็บอกว่าถ้าใครถามให้บอกไปว่าเป็นแผลที่เกิดจากการเล่นกัน หรือแม้แต่ยายเราที่อยู่ในเหตุการณ์ก็บอกว่าที่เราโดนน่ะสมควรแล้ว เพราะเราก้าวร้าว”

“ฟังดูแล้วทั้งบ้านและโรงเรียนคุณเจอปัญหาทั้งสองที่เลย แล้วคุณมีความสุขในวัยเด็กบ้างไหม” ผมหย่อนคำถามให้ต้นย้อนคิด แต่เขาตอบคำถามนี้แทบจะทันทีโดยไม่รอให้ถามจบ

“ไม่มี เหมือนหัวสมองเรารู้จักแต่ความเศร้าตั้งแต่เด็กจนไม่รู้แล้วว่าความสุขคืออะไร เรากลายเป็นเด็กที่ซึมตลอดเวลา เวลาเดินไปโรงเรียนก็ไม่อยากไปถึง หรือเวลาเดินกลับบ้านก็ไม่อยากไปถึง เพราะไม่มีที่ไหนที่เรารู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยเลย

“ไม่รู้จะอธิบายตัวเองยังไงเหมือนกันนะ เอาเป็นว่าในตอนนั้นเราเห็นดอกไม้สวยๆ ก็สามารถร้องไห้ได้ เหมือนปัญหามันเรื้อรังสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ เรารู้สึกไม่มีค่ามากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายเราก็ไม่ไหว 

“ทำให้พอเข้าช่วงมัธยมฯ เราเลยตัดสินใจฆ่าตัวตาย”

ต้น ศิริศักดิ์

3

“ในตอนนั้น คุณคิดอะไรอยู่”

“ไม่ได้มีอะไรชัดเจน แต่เราว่ามันเป็นการทับถมสะสม เพราะด้วยช่วงวัยมัธยมฯ มันทำให้เรารักมากขึ้น โกรธมากขึ้น เซนซิทีฟมากขึ้น และอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้น ความเจ็บปวดที่มีอยู่เป็นทุนเดิมมันเลยมากขึ้นตาม และเราเองก็โดนบูลลี่ด้วยคำด่าอย่าง ‘อีกะเทยอัปลักษณ์’ ที่ได้ยินกี่ครั้งมันก็ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเราทุกครั้ง วันหนึ่งเราเลยเริ่มวางแผน

“เราเลือกวิธีใช้ยาเบื่อหนูกับยาพาราฯ แต่ก่อนจะลงมือไม่รู้ทำไมเหมือนกัน เราเขียนระบายทุกอย่างที่ไม่เคยพูดลงไปในสมุดการบ้าน ‘ฉันเกิดมาทำไม ฉันเลวร้ายมากเลยเหรอ ทำไมทุกคนเกลียดฉันขนาดนี้’ เราเขียนลงไปทั้งหมดหนึ่งหน้า แต่ก็ไม่ได้อยากเอาไปวางไว้ที่หัวเตียงใครนะ เขียนเสร็จก็ปิดสมุดและเก็บไว้ ไม่อยากให้ใครรับรู้”

“ถ้าอย่างนั้นคุณเขียนให้ใคร” ผมสงสัย

“เราคงเขียนให้กับโลกใบนี้” ต้นตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

ต้น ศิริศักดิ์

แต่อย่างที่รู้กันว่าเบื้องหน้าผมตอนนี้คือต้นที่ยังมีลมหายใจ เขาเฉลยให้ผมฟังว่าในวันนั้นหลังเขียนความรู้สึกทั้งหมดจนเสร็จ เขาลงมือตามวิธีที่คิดไว้จนจบกระบวนการ เพียงแต่ระหว่างที่ยาออกฤทธิ์ พี่สาวมาพบเขาในร่างที่หมดสติและช่วยชีวิตเขาได้ทัน

หลังจากนั้นหนึ่งเดือนต้นต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลโดยที่พ่อแม่ไม่ได้รับรู้ถึงอาการของเขาสักนิด (“หรืออาจจะรู้ก็ได้มั้ง แต่เราไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้เลย” – เขาว่า) แล้วหลังจากออกมา สิ่งที่เขาเจอที่โรงเรียนก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

“เรื่องนี้เรามารู้ภายหลังว่าพี่สาวเจอสิ่งที่เราเขียนในสมุด และเขาเอามาให้ครูประจำชั้นอ่านหน้าห้อง ทุกคนเลยได้รู้ว่าการที่เราเข้าโรงพยาบาลมีสาเหตุจากการฆ่าตัวตาย ผลปรากฏว่าหลายคนเสียใจ หลายคนถึงกับคิดว่าตัวเองเป็นฆาตกร จนสุดท้ายครูก็ตกลงกับเพื่อนเราว่าให้ปล่อยเรื่องนี้ไป อย่าพูดถึงอีก และต่อจากนี้ก็ปฏิบัติกับเราให้ดี

“พูดแบบนี้อาจฟังดูดีใช่ไหม แต่เรายืนยันนะว่านี่ไม่ใช่เรื่องดี ทุกวันนี้เรายังคงเสียใจกับสิ่งที่ทำ เราคิดน้อยเกินไป ความเจ็บปวดมันบดบังทุกอย่างจนทำให้เราเลือกสื่อสารกับโลกนี้ด้วยวิธีที่ผิด ทั้งที่ในความเป็นจริงยังมีอีกหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องทำร้ายคนอื่นแบบนี้”

แต่เมื่อทุกอย่างผ่านพ้น ไม่ใช่แค่เพื่อนหรอกที่ปฏิบัติกับต้นเปลี่ยนไป ต้นเองก็ปฏิบัติกับตัวเองเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะพอสังคมโดยรอบเป็นมิตรกับเขามากขึ้น ต้นก็เริ่มมั่นใจมากขึ้น กล้ามากขึ้น และตอบโต้มากขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ก็ทำให้เขาได้เจอพื้นที่ของตัวเอง

“จากเด็กที่ซึมๆ เรากลายเป็นคนชอบทำกิจกรรมมาก เพราะเวลาทำอะไรแล้วมันปังเราจะรู้สึกภูมิใจและมีความสุข ซึ่งมันเป็นความรู้สึกและการมีตัวตนที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน ทำให้พอช่วงมหาวิทยาลัยเราก็ยิ่งทำกิจกรรมเยอะขึ้นไปอีกจนแทบไม่เป็นอันเรียน 

“เราอยู่ในสโมสรนักศึกษา เราอาสาประกวดตามเวทีต่างๆ และเรายังเป็นประธานชมรมด้านสังคมอีก 5 ชมรม บ้านแทบไม่ได้กลับ นอนที่มหาวิทยาลัย 7 วันติดเพื่อทำขบวนก็เคยมาแล้ว เพื่อนคิดว่าขยันนะ แต่เปล่าเลย ก็แค่ไม่อยากกลับบ้าน” ต้นเล่าพลางหัวเราะ 

ต้น ศิริศักดิ์

“แล้วยังเจอปัญหาเดิมๆ อยู่ไหม” 

“โดนอยู่บ้างแต่ก็น้อยลง เราเองก็รับมือได้มากขึ้น อย่างการที่เรียนมหาวิทยาลัยคริสต์เราก็เคยโดนอาจารย์ด้านศาสนาเรียกเข้าไปคุยว่า ‘เป็นแบบนี้มีความสุขดีไหม อยากให้ช่วยเปลี่ยนหรือเปล่า’ เราก็ตอบเขาไปนะว่า ‘ไม่อยากค่ะ หนูมีความสุขดี’ 

“หรืออย่างตอนที่มหาวิทยาลัยจิ้มเลือกตัวแทนนักศึกษาคนหนึ่งไปประชุมงานนักศึกษาโลก เราก็เดินเข้าไปถามอาจารย์เลยว่าทำไมใช้การจิ้มเลือก เราเองก็อยากไป อาจารย์ก็บอกว่า ‘เธอจะไปได้ไง เธอเป็นกะเทย เสียภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยหมด’ ได้ยินแบบนั้นเราก็เถียงอาจารย์เลยว่าอาจารย์พูดแบบนี้ไม่ได้ นี่เป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ ถึงสุดท้ายจะไม่เป็นผลแต่มันก็เป็นหลักฐานว่าเราเริ่มมั่นใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็น”

“เหมือนตัวตนของคุณเริ่มชัดขึ้นในช่วงนี้” ผมพูดตามที่คิด

“ก็ถือว่าใช่ มันก็มาจากประสบการณ์และบาดแผลทั้งหมดนั่นแหละ และมันก็ฟูมฟักให้ตอนใกล้เรียนจบเราอยากทำงานเพื่อสังคมด้วย”

ก้าวแรกในเส้นทางนักสิทธิมนุษยชนของต้นเริ่มต้นที่ตรงนี้เอง

4

ที่ทำงานแรกของต้นมีชื่อว่ามูลนิธิ M Plus สาขาเชียงใหม่

ที่นี่คือองค์กรสำหรับเพศหลากหลายที่ดำเนินนโยบายเรื่องสุขภาพ สาเหตุที่ต้นโคจรมาเจอกับ M Plus เพราะได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกันเมื่อครั้งอยู่มหาวิทยาลัย ทำให้ตอนเรียนจบเขาได้รับการทาบทามเข้าทำงานที่มูลนิธิทันที

ต้นเล่าให้ผมฟังว่างานที่เขาทำจะเกี่ยวกับการรณรงค์เรื่องสุขภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องโรคเอดส์ที่เป็นวาระสำคัญในยุคนั้น แต่ด้วยคอนเนกชั่นที่ได้รับจากที่นี่ก็ทำให้เขาได้รับโอกาสทำงานด้านสิทธิอยู่บ้าง เพียงแต่อาจจะไม่เข้มข้นเท่า แต่โดยรวมเขาบอกว่าก็ถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่มีความสุข

จนถึงปี 2551 ที่อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในชีวิตเขาเริ่มต้นขึ้น

ต้น ศิริศักดิ์

“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่พี่น้องชาว LGBTQ+ ชาวพม่าข้ามมาจัดกิจกรรมและเสวนาที่เชียงใหม่เพราะในประเทศเขาไม่สามารถจัดงานได้ เราเองก็ได้ช่วยจัดด้วย ทำอย่างนั้นอยู่ 3-4 ปี จนปี 2551 ที่เรามีไอเดียว่านอกจากงานแบบเดิมแล้วเราทำขบวนด้วยดีไหม ซึ่งสุดท้ายมันก็เกิดขึ้นจริงเป็นขบวน pride เล็กๆ ที่ถนนไนท์บาซาร์ ผลตอบรับดีมาก ทุกคนชอบและขอถ่ายรูป เราเองก็มีความสุข ทำให้ตอนปี 2552 เราเลยคิดการใหญ่ขึ้นมา”

การใหญ่ที่ต้นว่าคือการขยายขบวน pride เล็กๆ ในวันนั้นให้กลายเป็นขบวนใหญ่ในงานระดับจังหวัด ซึ่งพอวันเวลาเวียนมาถึงต้นก็อาสารับผิดชอบเป็นหัวเรือใหญ่ โดยทำหน้าที่ทั้งการหาความร่วมมือจากภาคธุรกิจ ภาครัฐและเอกชน เขาเล่าว่าตัวเองส่งจดหมายเชิญไปเยอะมากเพื่อให้งานนี้ออกมาปังสมดังคิด

เพียงแต่คราวนี้ผลตอบรับกลับไม่เป็นดังหวัง เพราะชื่องานที่ต้นตั้งขึ้นมาว่า ‘Chiang Mai Gay Pride’

“พอมีคำว่า Gay Pride ในยุคนั้นหลายคนคิดว่ามันไม่เหมาะสม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเราโดนโจมตีหนักมากจากคน 3 กลุ่ม 

“กลุ่มแรกคือชาว LGBTQ+ เองที่บางคนอาจมองว่าสิ่งที่เราทำคือการข้ามหน้าข้ามตา กลุ่มที่สองคือกลุ่มการเมืองที่เราถูกโจมตีว่าจัดตั้งม็อบทั้งที่ในความเป็นจริงเราไม่ได้มีกลุ่มทุนเบื้องหลังแอบแฝง และกลุ่มที่สามคือชาวบ้านทั่วไปที่เป็นอนุรักษนิยม เราจำได้เลยว่าก่อนงานเริ่มไม่กี่วัน มีป้าคนหนึ่งไปให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการวิทยุว่าป้าเตรียมไม้หน้าสามรอพวกกะเทยไว้แล้ว เตรียมถุงเลือด ถุงปลาร้าไว้พร้อมขว้างใส่ เพราะพวกเราคือพวกอัปรีย์สีกบาล เป็นพวกขึดบ้านขึดเมือง”

“ได้ยินแบบนั้นแล้วกลัวไหม” 

“ตอนนั้นไม่กลัว เพราะเราคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่คือสิ่งที่ถูกต้อง มันเป็นสิทธิที่ทำได้ในฐานะมนุษย์ แผนงานทุกอย่างเลยยังคงดำเนินตามเดิมโดยไม่ได้สนใจอะไรจนกระทั่งวันจริง”

ต้น ศิริศักดิ์

21 กุมภาพันธ์ 2552 คือวันที่ต้นตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกตื่นเต้น ในฐานะฝ่ายรับผิดชอบขบวน เขาตระเตรียมทุกอย่างเป็นอย่างดี ก่อนที่ในเวลาเย็นต้นจะขนของบางส่วนเพื่อไปเตรียมเดินขบวนในช่วงค่ำ

ตอนนั้นเองที่เขาได้เห็นภาพคนกว่า 400 คนล้อมสถานที่ไว้ พร้อมคำตะโกนที่ต้นจะไม่มีทางลืมได้อีกตลอดชีวิต

‘อีกะเทย’

‘อีอัปรีย์’

‘อีหน้าเหี้ย’

‘อีพวกทำลายวัฒนธรรม’

“เรากับเพื่อนอีกสิบกว่าคนเข้าไปที่สถานที่เตรียมขบวนได้ แต่คนกว่า 400 คนก็มาล้อมไว้พร้อมปิดประตู คนในไม่ให้ออกคนนอกไม่ให้เข้า หลังจากนั้นเขาก็เริ่มปราศรัยด่าเราต่างๆ นานา ขู่ด้วยว่าถ้าไม่เลิกพวกเขาจะนอนเฝ้าอยู่ที่นี่พร้อมเอาคนจากเชียงรายมาสมทบพรุ่งนี้อีกพันคน

“ตอนนั้นเราเริ่มกังวลแล้ว เรื่องราวมันใหญ่โตกว่าที่คิดมาก ยิ่งได้เห็นน้องๆ ที่ขับมอเตอร์ไซค์มาร่วมขบวนแต่ต้องถูกไล่ตีเราก็ยิ่งกลัว แม้พี่ผู้ใหญ่ในงานจะบอกให้เรานั่งสมาธิเพื่อข่มใจไม่ตอบโต้ แต่คำว่า ‘ไอ้เหี้ย’ ‘ไอ้สัตว์’ ก็เข้าหูเราตลอด สถานการณ์ไม่ดีขึ้นเลยจนกระทั่ง 4 ทุ่มที่เรารู้สึกว่าปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้แล้ว 

“เราค่อยๆ ให้น้องบางส่วนปีนกำแพงด้านหลังหนีพร้อมเชิญแกนนำของอีกฝ่ายเข้ามาเจรจา เขาก็เข้ามาพร้อมยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ หนึ่ง–คือเขาขอให้เรายุติการจัดงานเดี๋ยวนี้ สอง–คือห้ามจัดงาน Chiang Mai Gay Pride ไปอีก 1,500 ปี และสาม–คือให้เราคลานไปกราบขอโทษพวกเขา ซึ่งพอได้ยินข้อที่สามจบน้ำตาเราก็ไหล”

cr : ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

ถึงตรงนี้ต้นหยุดเรื่องเล่าของเขาไว้ครู่หนึ่งพร้อมสายตานิ่งเงียบไม่ไหวติง ก่อนที่คำถามต่อมาจะทำลายความเงียบที่เกิดขึ้น

“น้ำตาที่เกิดขึ้นมาจากไหน”

“เราว่ามันคือความเจ็บปวด เพราะสำหรับเรา เราคิดว่าเขากับเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน ความเป็นคนก็มีเท่ากัน แต่ทำไมความเห็นที่แตกต่างกันถึงทำให้เขาคิดว่าตัวเองมีสิทธิที่จะทำแบบนั้นได้ ดังนั้นเราเลยปฏิเสธทุกข้อ ซึ่งเขาก็ด่าเรากลับ ตะโกนเสียงดังอยู่แบบนั้นเหมือนคนไม่ได้สติ เราก็ได้แต่ร้องไห้ จนสุดท้ายก็ไม่ไหว เรายอมเลือกข้อที่หนึ่งคือเลิกจัดงานวันนี้ เขาก็โอเคและสลายการชุมนุมโดยยังเหลือบางคนเฝ้าด้านหน้าไว้อยู่”

“เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลยังไงกับคุณบ้าง” ผมถามให้ต้นย้อนคิด

“ตอนนั้นเราเศร้ามาก เพราะพอทุกอย่างเริ่มคลี่คลายเรากับเพื่อนก็ได้แต่กอดกันและร้องไห้ ถึงพี่ผู้ใหญ่ท่านเดิมจะชวนเรานั่งสมาธิเพื่อปล่อยวางแต่เราทำไม่ได้ สมาธิไม่สามารถช่วยเราในตอนนั้นได้ ในใจเรายังก่นด่า เพราะในขณะที่จุดเทียนนั่งสมาธิเรายังคงได้ยินคนตะโกนจากด้านนอกว่า ‘มึงจุดเทียนหาพ่อมึงเหรอ พ่อมึงตายหรือไง’ อยู่เลย และพอกลับบ้านเราก็นอนไม่หลับไปอีก 3 วันเพราะความโศกเศร้าที่มันเกาะกินใจ คิดหาเหตุผลเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเราต้องโดนอะไรแบบนี้

“มันเลยส่งผลให้นับตั้งแต่นั้นเราชัดเจนกับตัวเองว่าต่อจากนี้เราจะเป็นนักสิทธิมนุษยชนให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะเราไม่อยากให้ใครเจอแบบที่เราเจออีกแล้ว”

cr : ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

5

จากจุดตั้งต้นนั้น ต้นเปลี่ยนแนวทางของตัวเองมาเป็นการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มตัว เขากับเพื่อนที่ประสบชะตากรรมเดียวกันได้ก่อตั้งกลุ่ม ‘เสาร์ซาวเอ็ด’ ขึ้นมา พร้อมตั้งให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์เป็นวันยุติความรุนแรงต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย

แม้หลังจากนั้นไม่กี่ปีต้นจะออกจากงานที่ M Plus เพื่อมาช่วยธุรกิจของที่บ้าน แต่งานด้านสิทธิมนุษยชนก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งงานหลักของเขา ตั้งแต่การจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์วันที่ 21 กุมภาพันธ์ การช่วยขับเคลื่อนกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนชายขอบอื่นๆ ที่โดนกดทับอย่าง sex worker เหล่านี้ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้หลายคนได้รู้จักต้น 

ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นจากวันนั้น และมันยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ต้น ศิริศักดิ์

“ถ้าเหตุการณ์ครั้งนั้นคือจุดเริ่มต้น แล้วอะไรคือเชื้อไฟที่ทำให้คุณทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาได้นานขนาดนี้” ผมชวนต้นสำรวจตัวเอง แต่ก็เป็นอีกครั้งที่เขาใช้เวลาไม่นานเลยในการตอบ

“คนถามคำถามนี้กับเราเยอะนะ แต่คำตอบของเราน่ะง่ายมากเลย นั่นคือยังมีคนที่ไม่ได้สิทธิที่ควรได้ การเลือกปฏิบัติยังมี และการแบ่งแยกก็ยังคงอยู่ ดังนั้นเราก็ต้องทำต่อ แค่นี้เลย จบ”

“ไม่มีคิดอยากเลิกบ้างเลยเหรอ”

“มีสิ มีเรื่อยๆ ด้วย อย่างเวลาที่โดนด่าเรื่องรูปร่างหน้าตา เราก็อยากเลิก มันท้อนะ ต้องมาโดนลดคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกแล้ว ก็ทำให้ย้อนคิดว่าแล้วจะต้องมาเหนื่อยให้โดนด่าแบบนี้ทำไม แต่สุดท้ายมันก็กลับไปที่เรื่องเดิมอยู่ดี คือปัญหามันยังอยู่ ยิ่งโดนด่าก็ยิ่งเห็นหลักฐานว่ามันยังอยู่ ดังนั้นสำหรับเราคือยังไงก็ต้องทำต่อ ถ้าอยากร้องไห้ก็ร้องให้มันจบแล้วลุกขึ้นมาใหม่”

แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมาสิ่งที่ต้นทำอาจไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในระดับประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าก็เพราะฟันเฟืองเล็กๆ อย่างเขาและอีกหลายๆ คนนั่นเองที่ทำให้ปัจจุบันการรับรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศพัฒนาขึ้นมาก

กับเรื่องนี้ต้นเองก็แสดงทัศนะกับผมเช่นกัน ถึงแม้ปัจจุบันเขายังคงเห็นปัญหาที่ไม่ควรเพิกเฉย แต่ในอีกด้านหนึ่งคนรุ่นใหม่ก็เป็นความหวังของเขาในการเปลี่ยนแปลง เพราะการตื่นรู้ในแง่สิทธิมนุษยชนที่สูงขึ้นทำให้เทรนด์ของสังคมเปลี่ยนไปแล้ว

“อย่างเมื่อ 2 ปีที่แล้วคนรุ่นใหม่ก็เป็นหนึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดงาน Chiang Mai Gay Pride ขึ้นอีกครั้ง” ต้นเริ่มเล่าถึงการกลับมาของงานที่เป็นก้าวสำคัญในชีวิตเขา

“ตอนนั้นด้วยวาระ 10 ปีจากเหตุการณ์เสาร์ซาวเอ็ด เราคุยกับเพื่อนว่าอยากเอางานนี้กลับมา และเราก็ถามน้องๆ หลายคนด้วยว่าสนใจไหม ซึ่งคนรุ่นใหม่หลายคนเอาด้วย หลายคนอยากเข้ามาสนับสนุน และเราก็เห็นตรงกันว่าด้วยโลกที่เปลี่ยนไปตอนนี้ เหตุการณ์แบบเมื่อครั้งอดีตไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก”

cr : ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

21 กุมภาพันธ์ 2562 ขบวน pride ที่เต็มไปด้วยสีรุ้งโบกสะบัดความสดใสตลอดเส้นทางไปสู่ประตูท่าแพ บรรยากาศของขบวนเต็มไปด้วยความราบรื่นอย่างที่ต้นว่า ที่สำคัญคือเพราะคนที่เข้ามาช่วยงานอย่างล้นหลาม ต้นเองที่รับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายขบวนเลยมีเวลามาร่วมเดินในขบวนพร้อมชุดสีรุ้งอันเป็นสัญลักษณ์ที่เขาทำขึ้นมาเอง

ชื่นมื่น อิ่มเอิบ และอบอวลไปด้วยความสุข น่าจะเป็นคำจำกัดความที่ชัดเจนที่สุดแล้วในวันนั้น

cr : ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

“มีภาพหนึ่งที่เราประทับใจมาก เป็นช่วงท้ายกิจกรรมที่เราจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์เมื่อสิบปีก่อน แต่บรรยากาศตรงนั้นกลับทำให้คนอินจนมีชาวต่างชาติคู่หนึ่งจูบกัน 

“เราเห็นแล้วภูมิใจนะ คิดดูสิว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างบรรยากาศให้คนแสดงความรักต่อกันได้ แม้บรรยากาศตรงนั้นจะมีต้นทุนจากความเจ็บปวด แต่ตอนนี้มันแปรเปลี่ยนเป็นความรักแล้ว นี่คือความสุขที่หาที่ไหนไม่ได้เลย นี่แหละคือ pride ที่เราอยากให้เกิดขึ้นเมื่อสิบปีก่อน”

“รอบนี้กลับบ้านไปแล้วนอนหลับไหม” 

“ไม่หลับเหมือนเดิม แต่รอบนี้ต่างออกไปเพราะเราไม่ร้องไห้แล้ว เรายิ้มทั้งคืน”

ต้น ศิริศักดิ์

6

เวลาล่วงเลยไปหลายชั่วโมงตั้งแต่เราเริ่มบทสนทนากัน รู้ตัวอีกทีต้นก็อยู่ในชุดตัวเก่งเพื่อถ่ายภาพประกอบบทความอย่างที่ทุกคนได้เห็น

เขาและช่างภาพค่อยๆ ช่วยกันคิดมุมถ่ายและท่าทางเพื่อให้รูปออกมาดีที่สุด เพื่อให้เข้ากับฉากหลังของคอมมิวนิตี้มอลล์แห่งนี้ที่ประดับประดาไปด้วยสีรุ้งโดดเด่นสวยงาม

ผมมองดูภาพที่เกิดขึ้นแล้วก็พลันคิดถึงช่วงท้ายๆ ที่เราคุยกัน ผมพบว่ารอยยิ้มของต้นและสีรุ้งเบื้องหน้านั้นเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีถึงคำตอบของเขาที่ให้ไว้กับผมก่อนจบบทสนทนา

“ถ้าให้จำกัดความง่ายๆ ทุกวันนี้ภาพสุดท้ายที่คุณหวังว่าจะได้เห็นคืออะไร”

“ไม่ซับซ้อนเลย เราแค่อยากเห็นโลกสงบสุข ทุกคนอยู่โดยมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ทั้งในแง่การใช้ชีวิตและกฎหมาย” 

ต้น ศิริศักดิ์

“แล้วกับความจริงในสังคมตอนนี้ล่ะ คุณยังมีความหวังอยู่ไหม”

“มีแน่นอน และเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าในชั่วชีวิตเรา เราจะได้เห็นสังคมอย่างที่หวังก่อนตาย ถึงแม้ทุกวันนี้เราจะได้รับเรื่องร้องเรียนทุกวันเกี่ยวกับปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศ จนหลายคนอาจบอกว่านี่คือปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าที่จะจบในรุ่นเรา แต่เราจะไม่คิดแบบนั้น เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเร็ววันที่สุด 

“เพราะอะไรรู้ไหม ก็เพราะในหนึ่งวันที่มันยืดยาวออกไป สำหรับเรามันคือหนึ่งวันที่มนุษย์อย่างน้อยหนึ่งคนต้องทุกข์ทนกับปัญหา หนึ่งวันที่ต้องมีคนเจ็บปวดและรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า ดังนั้นเราว่าสังคมรอไม่ได้ เราไม่เอาเกมยาว ความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มนุษย์เท่าเทียมกันควรเกิดขึ้นได้แล้วในตอนนี้”

ต้น ศิริศักดิ์

“คำถามสุดท้าย แล้วถ้าคุณไม่ทันวันนั้นจริงๆ คุณจะเสียดายไหม”

“ไม่เลย เพราะที่เราทำอยู่ทุกวันนี้มันก็คือความสุข เพียงแต่ความสุขของเราและพื้นที่ที่เรามีตัวตนมันคือการเป็นประโยชน์ให้ผู้อื่น ดังนั้นก็ไม่เป็นไร และถ้าตายไปก็ไม่ต้องจดจำสิ่งที่เราทำด้วย สิ่งที่เราทำไม่ได้พิเศษเหนือใครหรอก 

“เพราะเราก็แค่คนคนหนึ่ง เหมือนกับคุณที่ก็เป็นคนคนหนึ่ง เราคือคนเท่าเทียมกัน

“ขอแค่คุณจำเรื่องนั้นไว้ก็พอ”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone