การต่อสู้เพื่อความรักของทรานส์เจนเดอร์ไทยในฮ่องกง สู่การแต่งงานและเปลี่ยนเพศอย่างถูกกฎหมาย

“ประเทศไทยคือสวรรค์ของ LGBTQ+” คือวลีคลาสสิกที่ถูกผลิตซ้ำในไทยมาแสนนาน ทรานส์เจนเดอร์

หากกำลังตามหาความหมายว่ามันเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ นั่นขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใคร ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในคอมมิวนิตี้ของกลุ่ม LGBTQ+ อาจสรุปได้ง่ายๆ ทันทีว่า ใช่! เพราะภาพภายนอกของคนที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยดูมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย แถมสร้างสีสันให้สังคมได้อย่างดีเยี่ยม

แต่ถ้าเป็นเสียงสะท้อนจากคนในแวดวง คนที่ยืนอยู่ใจกลางปัญหาที่เกิดขึ้น การกดทับและความไม่เข้าใจจากสังคมนั้นยังคงสร้างความเจ็บปวดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมายที่ยังไม่มีการรองรับสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ไม่มีการรับรองการสมรสเท่าเทียม และยังมีการเลือกปฏิบัติ นั่นยิ่งทำให้ภายใต้รอยยิ้มที่ทุกคนเห็นต้องแลกมาด้วยการต่อสู้ การเรียกร้อง และการกล่อมเกลาให้เพศสภาพและเพศวิถีของตนอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างสยบยอม

ฉะนั้นคำที่พูดกันดาษดื่นว่า “ประเทศไทยดีที่สุดในโลก” อาจใช้ไม่ได้กับคนไทยทุกคนอีกต่อไป

แต่การย้ายออกจากประเทศนี้เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

ปัจจุบัน พลอย–ธนพิชญ์ สิงหฬ คือหญิงข้ามเพศชาวไทยที่ใช้ชีวิตเป็นแม่บ้านอันเรียบง่ายในเกาะฮ่องกง แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยการต่อสู้อันยาวนาน ในฐานะทรานส์เจนเดอร์ชาวไทยคนแรกที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองบนเกาะเล็กๆ ตั้งแต่วันแรกที่ย้ายมาตั้งรกราก กระทั่งได้สมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับ อาหลง สามีชาวฮ่องกงอย่างมีสิทธิและเท่าเทียมกับคนอื่น รวมถึงสามารถเปลี่ยนเพศจาก male เป็น female ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

โดยหนึ่งในคนสำคัญที่ทำให้ฝันของพลอยเป็นจริงคือรุ่นพี่ชาวไทยอย่าง เบลล่า–ฐานกาญจน์ วงศ์วิศิษฎ์ศิลป์ ผู้ร่วมก่อตั้ง LGBTIQ+ Tourism Asia และซีอีโอบริษัท Innovative Travel Ally Limited ฮ่องกง 

ตามไปคุยกับ 2 คนธรรมดาถึงการต่อสู้กว่าจะได้มาซึ่งการยอมรับ การดำรงอยู่อย่างมีเกียรติ และการมอบสิทธิที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะเลือกกำหนดเพศของตัวเองได้อย่างแท้จริง ทั้งในทางจิตใจ ร่างกาย และกฎหมาย ซึ่งไม่เคยทำได้อย่างสมบูรณ์ในเมืองไทย

โยกย้ายประเทศ

เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า กลุ่มเฟซบุ๊ก โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย กลายเป็นกระแสที่ร้อนแรงที่สุดเพียงชั่วข้ามคืนบนโลกออนไลน์ #ทีมฮ่องกง เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่คนไทยส่วนหนึ่งอยากไปใช้ชีวิต พลอยจึงตัดสินใจเข้ามาแชร์ประสบการณ์ในฐานะที่มีโอกาสได้ย้ายชีวิตไปลงหลักปักฐานบนเกาะเล็กๆ อันมั่งคั่งและเต็มไปด้วยความซับซ้อนทางการเมืองแห่งนี้

ทันทีที่ประสบการณ์การใช้ชีวิตและความรักกับหนุ่มฮ่องกงของพลอยถูกโพสต์ลงในกรุ๊ปที่จุคนหลักล้าน ก็มีสมาชิกกลุ่มที่เข้ามาให้ความสนใจ ทั้งอ่าน แชร์ และไลก์โพสต์ของเธอกว่าหมื่นคน

โพสต์สั้นๆ นั้นระบุรายละเอียดการจดทะเบียนสมรส, การยื่นขอวีซ่าคู่สมรส, การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 (ที่ทำได้รวดเร็วและครบถ้วนกว่ารัฐไทยหลายเท่า) และการเปลี่ยนเพศจาก male เป็น female (ที่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ประเทศไทยมาก่อน)

ถ้าจะเห็นข้อดีอะไรจากประสบการณ์ที่พลอยเล่าคร่าวๆ เพียงไม่กี่ย่อหน้า เรามองเห็นความหมายของ ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ ของคนไทยในถิ่นอื่น นั่นทำให้เราตัดสินใจติดต่อเพื่อพูดคุยกับเธอในวันนั้นทันที ทรานส์เจนเดอร์

“เห็นเราในกลุ่มโยกย้ายฯ ใช่ไหม” พลอยถามก่อนอธิบายต่อ “เป็นกลุ่มแรกที่เราเอาข้อมูลไปลง ซึ่งก็เป็นต้นโพสต์ที่คนเขาเอาไปแชร์กันต่อ แต่ในกลุ่มนั้นเราไม่ได้เล่าลงดีเทลเรื่องราวระหว่างทางว่ามันยากมากแค่ไหน

“ถ้าอยากจะแต่งงานเร็วๆ คู่อื่นในฮ่องกงอาจจะหาที่ไปจดทะเบียนที่อเมริกาหรือยุโรป ยกตัวอย่างเคสที่ไปแต่งงานที่เกาะกวมก่อนแล้วค่อยกลับมาที่ฮ่องกง แต่ว่าเราไม่เลือกทางนั้นเพราะต้องการสู้อยู่ที่นี่ ทำทุกอย่างไปตามกระบวนการ ซึ่งมันยากนะ มันยากจริงๆ” คืนหนึ่งพลอยต่อสายตรงมาหาเราด้วยน้ำเสียงหนักแน่นเพื่อพูดคุยกันเบื้องต้น

หลังจากวันนั้นเรานัดคุยกับเธอผ่าน Zoom อีกครั้ง และในอีกไม่กี่วันต่อมาพลอยจึงขอชวนเบลล่า รุ่นพี่ที่ช่วยประสานงานทุกอย่างให้มาช่วยเล่าเสริมด้านรายละเอียดของขั้นตอนทางกฎหมายให้ทุกคนฟังไปพร้อมกัน

ตกหลุมรักที่เกาะฮ่องกง

อาจเหมือนเรื่องเล่าชีวิตรักของคู่แต่งงาน 2 สัญชาติที่มาพบรักกันทั่วไป แต่สำหรับพลอย ความทรงจำระหว่างเธอกับอาหลงผู้เป็นสามีคือสิ่งพิเศษและงดงามเสมอ นั่นเพราะหนุ่มชาวฮ่องกงคนนี้เปิดกว้างทางความรักโดยไม่สนใจเพศ ตกหลุมรักเธอเพราะมองเห็นเธอเป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่งที่เขารักมากจนอยากใช้ชีวิตด้วย

“ช่วงปี 2017 เรามาเที่ยวฮ่องกง เราได้เจอกันตอนไปเที่ยวช่วงกลางคืน เขาก็เข้ามาขอคอนแทกต์ น่าจะเป็นเรื่องปกติของผู้ชายฮ่องกงที่ถ้าชอบใครแล้วจะพุ่งเข้าใส่เลย (หัวเราะ) เขาชวนเราไปเที่ยวและเทคแคร์อย่างดี ทำให้เรายังคงรักษาความสัมพันธ์กันต่อมาเรื่อยๆ จนเขาชวนมาเที่ยวฮ่องกงอีกครั้ง หลังจากนั้นจึงได้ตกลงเป็นแฟนกัน

“อาหลงเป็นรุ่นน้องพลอย 5 ปี แต่อายุไม่เป็นปัญหา ส่วนเรื่องเพศเขาก็รู้ตั้งแต่แรกว่าเราเป็นทรานส์เจนเดอร์ พอเราเปิดใจบอกตรงๆ เขาก็โอเค เขาบอกว่าตัวเองเป็นผู้ชายคนหนึ่งและเขาไม่แคร์เลยนะ อาหลงปฏิบัติกับเราเหมือนผู้หญิงจริงๆ เราสองคนมีจุดมุ่งหมายเดียวคือคลิกกัน รักกัน ไม่ได้ตั้งเป้าหมายอื่น

“เมื่อก่อนชีวิตพลอยอาจมีกรณีที่คบกับผู้ชายก่อนแล้วค่อยบอกทีหลัง ซึ่งถ้าแฟนรับได้ก็โชคดีไป แต่เรามีประสบการณ์ความรักที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเราเนียนเป็นผู้หญิงก็มี” พลอยเล่าย้อนถึงประสบการณ์ในอดีต

“ที่ผ่านมาความรักกับคนไทยเป็นปัญหามาก แฟนบางคนเขารักเรา แต่พอพาไปเจอพ่อแม่ สุดท้ายก็ไปไม่รอด เท่าที่เคยเจอมาก็เป็นแบบนี้ทุกครั้ง แต่เราก็ยังไม่เคยยอมแพ้และเข็ดกับความรักเลย จนได้มาเจออาหลงนี่แหละ (หัวเราะ)

“บางคนอาจคิดว่าคนฮ่องกงหัวโบราณ ลูกชายมีแฟนที่ไม่ใช่ผู้หญิงไม่ได้ แต่ปรากฏว่าแม่เขาดีมาก ตอนที่อาหลงชวนเรากลับมาฮ่องกงอีกครั้ง เขาพาไปบ้านเพราะอยากให้รู้ว่าที่บ้านโอเคนะ และอยากให้พลอยมั่นใจว่าเราจะคบกับจริงๆ” พลอยอธิบายถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจกับครอบครัวแต่เนิ่นๆ ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่บ้านในฮ่องกงส่วนใหญ่มีจำกัด สมาชิกในครอบครัวจึงต้องเจอหน้ากันแทบจะตลอดเวลา

“โชคดีมากที่คู่เราไม่มีปัญหาเรื่องครอบครัว แค่ตกใจมากกว่า เพราะเราไม่คิดว่าเขาจะพาไปบ้านเลย (หัวเราะ) ส่วนหนึ่งที่คุณแม่เขาโอเคมากอาจเป็นเพราะตลอดเวลาที่เราคุยกันมา อาหลงเขาบอกให้แม่รู้เรื่อยๆ อยู่แล้ว

“จากนั้นเขาก็ไปเที่ยวไทย ไปเจอครอบครัวเรา ฝั่งแม่เรารักลูกเขยมากๆ เพราะอาหลงเข้ากับครอบครัวของเราได้ แล้วก็เป็นคนกินง่าย ชอบอาหารไทยมาก เวลากลับบ้านที่ไทย แม่ทำอะไรให้ก็กินหมด เราสองคนจึงค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์มาเรื่อยๆ”

แม้จะต้องเผชิญกับกำแพงภาษาที่ทำให้สื่อสารกันไม่เข้าใจบ้างในบางครั้ง แต่ทั้งคู่ก็ฝึกฝนจนเข้าใจกันได้ดีในภายหลัง ความสัมพันธ์ของพลอย สาวไทยธรรมดาๆ และอาหลง หนุ่มชนชั้นกลางที่ทำงานรัฐวิสาหกิจในฮ่องกงจึงเป็นไปด้วยความราบรื่นเสมอมา 

“ตอนที่ขอวีซ่ามาอยู่ฮ่องกง เขาพูดว่าจะดูแลเรา อยากขอเราแต่งงานภายใน 2 ปี ตอนนั้นเราก็เกิดความหวัง เพราะถึงจะเป็นคนข้ามเพศ แต่ทุกคนก็คงมีความหวังที่อยากจะมีใครสักคนอยู่แล้ว”

การเป็นเจ้าสาวในฮ่องกงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“นิยามความรักและชีวิตคู่ของพลอยคือการแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน ในเมื่อคบกันเราจึงต้องแชร์ทั้งเรื่องดีและไม่ดี และด้วยความที่อาหลงเขาก็มีความคิดที่เป็นผู้ใหญ่ ทำให้เราใช้ชีวิตคู่ราบรื่นมาตลอด” 

หลังบ่มเพาะความรักจนสุกงอม แน่นอนว่าขั้นตอนต่อไปย่อมหนีไม่พ้นการแต่งงาน ทรานส์เจนเดอร์

“เรื่องแต่งงานเขาพูดตั้งแต่แรกว่าฉันจะขอคุณแต่งงานแน่นอน แต่ก่อนเราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ จะแต่งได้ยังไง แต่งงานที่ไทยก็ไม่ได้ จนกระทั่งเราสองคนจูงมือไปด้วยกัน ตอนแรกไปที่กงสุลไทยในเขตปกครองพิเศษฮ่องกงก่อน เข้าไปถามรายละเอียดเขา เขาบอกว่าทำไม่ได้แต่เราก็ไม่ท้อ ลองเข้าไปเดินเรื่องที่ ตม.ฮ่องกงโดยตรงเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ ซึ่งเขาก็ขอพาสปอร์ตเรากับแฟน และถามเหตุผลว่าทำไมถึงจดทะเบียนที่นี่ เราก็บอกว่าที่ไทยจดไม่ได้ ทางการก็ให้กระดาษ 1 แผ่นเพื่อให้เขียนเหตุผลว่าทำไมมาแต่งงานที่นี่

“ฮ่องกงมีกฎหมายสำหรับคนบ้านเขา คือเมื่อเราแปลงเพศแล้วก็แต่งงานกับพลเมืองเขาได้ แต่อาจไม่ได้เหมือนไต้หวันที่มีทั้งงาน pride และการประกาศชัยชนะต่อการเรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นทางการ 

“ในฮ่องกงมีการรับรองสถานะวีซ่าผู้ติดตามของคู่รักเพศเดียวกัน การรับรองเพศสภาพหลังการแปลงเพศ และการสมรสของบุคคลข้ามเพศ แต่การจดทะเบียนระหว่างบุคคลข้ามเพศที่ยังไม่ได้รับรองเพศสภาพจะมีการพิจารณาเป็นกรณี ไม่ได้มีประกาศว่าให้จดทะเบียนได้ทันที เนื่องด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายของไทย และการเฝ้าระวังการจ้างแต่งงานเพื่อผลประโยชน์ เลยต้องพิจารณาแต่ละรายอย่างละเอียด 

“ถ้าเป็นคู่รักกันจริงและเดินเรื่องเอกสารต่างๆ จนผ่านแล้ว เขาจะอนุมัติให้เป็นผู้พำนักอาศัยได้ และได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคู่แต่งงานชาวฮ่องกงคนอื่นๆ” แม้จะฟังดูง่าย แต่มันกลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด

“ครั้งแรกถูกปฏิเสธแต่เราก็ยังมีความหวัง ระหว่างนั้นเราใช้ชีวิตปกติทุกวัน ทีนี้ ตม.ก็โทรมาเรื่อยๆ ในช่วงเวลา 2 ปีนี้เขามีการติดตามทุกเคส คอยสอบถามว่าตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ยังอาศัยอยู่ด้วยกันไหม และนัดให้เข้าไปคุยกัน 

“ระหว่างกระบวนการที่เราทำเรื่องขอแต่งงาน เราถูกขอเอกสารส่วนตัวตลอด วันนี้ไปส่ง เดี๋ยวเดือนหน้าก็ต้องมาอีกนะ เพราะมันมีการปัดทิ้งตลอดเวลา แล้วก็ขอใหม่เรื่อยๆ ซ้ำๆ เหมือนจะไม่มีวันจบสิ้น”

พลอยและอาหลงต้องรวบรวมเอกสารจำนวนมากเพื่อนำไปยื่น ไม่ว่าจะเป็นใบรับรองการแปลงเพศ ใบรับรองว่าทางการไทยไม่สามารถให้คู่รักเพศกำเนิดเดียวกันแต่งงานได้ ใบรับรองเงินเดือน ใบรับรองอาชีพ ใบรับรองประกันชีวิต ลามไปถึงใบรับรองจากเจ้าบ้านซึ่งคุณแม่ของอาหลงต้องเป็นคนดำเนินการให้ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมเอกสารจิปาถะอีกมากมาย

แต่ความพยายามทั้งหมดก็ไม่สูญเปล่า

“ถามว่าท้อไหม เราท้อบ้าง แต่มันก็ยังมีหวังลึกๆ เพราะเขาติดตามเราตลอด ไม่ได้ทิ้งเคสของเราไป จนมาถึงปลายปี 2019 มันเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งที่เราใช้ชีวิตปกติ เจ้าหน้าที่โทรมาถามเราว่าเป็นยังไงบ้าง เข้ามาคุยกันหน่อย แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม (หัวเราะ) พอเข้าไปปุ๊บ เขาให้เราเลือกวันแต่งงาน ถามว่าตกลงคุณจะแต่งงานวันนี้ใช่ไหม คุณลงทะเบียนระบุวันเอาไว้ 9 กุมภาพันธ์ ปี 2020 ใช่ไหม

“เราตอบว่าใช่ค่ะ ก่อนที่เขาจะบอกว่ายินดีด้วยนะ จ่ายเงินค่าธรรมเนียมได้เลย ในวันนั้นเราตกใจและดีใจมาก เลยถามเขาซ้ำๆ ว่าจริงเหรอ ฉันแต่งงานได้ใช่ไหม เขาบอกว่าแต่งได้จริงๆ ยินดีกับคุณด้วยนะ เราก็รีบทำเรื่อง จ่ายเงินค่าธรรมเนียมแต่งงานเรียบร้อย” พลอยว่า

งานแต่งงานที่รอมานานเกินพอ 

“นับจากวันแรกจนกระทั่งมาถึงวันแต่งงาน ระยะทางที่เราเดินทางกันมาทั้งหมดประมาณ 2 ปี เริ่มต้นปี 2017 จนอนุมัติปี 2019 แล้วด้วยสถานการณ์ต่างๆ เลยต้องมาแต่งงานกันช่วงโควิด-19 พอดี ถึงเราจะบอกอาหลงว่าเลื่อนก่อนไหม แต่เขาบอกว่าแต่งเถอะ แต่งเลย ไม่ต้องรออะไรแล้ว รอกันมาเกินพอแล้ว”

งานแต่งงานรูปแบบ new normal ถูกจัดขึ้นในโบสถ์คริสต์อย่างเรียบง่ายและรัดกุม ถ้าใครได้เห็นภาพรอยยิ้มของพลอยและอาหลงในวันงาน นั่นคือมาตรวัดความสุขที่พวกเขารอมานานถึง 2 ปีเต็ม

“ระหว่างทางก็มีน้ำตาไหลบ้าง เครียดบ้าง เวลาที่ถูกปฏิเสธแต่ละครั้งเราก็ต้องสู้ ต้องขอบคุณสามีด้วยเพราะเขาสู้ตลอดเวลา ให้กำลังใจกันตลอด พออาหลงบอกว่ายังไงเขาก็จะสู้ เราก็พร้อมสู้ด้วย เลยให้พลังใจกันจนถึงวันนี้ เพราะเชื่อว่าต้องทำได้แน่ เราซึ้งใจและขอบคุณเขาทุกครั้ง ตอนนี้ไม่ใช่แค่เธอกับฉันแล้วนะ ทุกอย่างคือคำว่าเรา ดังนั้นเราต้องแชร์ความรู้สึกกันทั้งสองคน

“เคสของเราไม่ใช่ same-sex marriage เพราะถึงแม้ว่าคำนำหน้าในพาสปอร์ตเป็นผู้ชาย แต่เรามีเอกสารรับรองการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งในฮ่องกงเองมีกฎหมายรับรองเพศสภาพ (gender recognition) หลังการผ่าตัดแปลงเพศโดยสมบูรณ์ หัวใจสำคัญคือทางฮ่องกงพิจารณาองค์ประกอบเหล่านี้ทั้งหมด และเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับเคสของเรา คือรับรองเพศสภาพเราเป็นหญิง และจดทะเบียนสมรสกับชาย ถึงแม้พาสปอร์ตเราเป็นชาย สุดท้ายเราก็สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ได้ในที่สุด

“ถ้าเราจูงมือไปจดทะเบียนในไทยแล้วบอกว่าหนูอยากจดทะเบียน เขาคงไม่รับเรื่องและปัดทิ้งไปเลย แต่ที่ฮ่องกงเราเข้าไปแล้วทางการรับเรื่องแล้วรันตามคิว ครั้งแรกอาจโดนปฏิเสธ แต่เรายังมีหมายเลขดำเนินการ คอยอัพเดตกับทางการได้ตลอด ปรึกษาและมาพบกันได้เรื่อยๆ

“ในเคสของพลอย เจ้าหน้าที่สุภาพมาก เขาไม่สนว่าเราเพศอะไร ไม่ปฏิเสธถ้ายังไม่ลองทำให้ มีการสอบถามเราก่อนเสมอ เพราะที่นี่ถ้าจะปฏิเสธต้องมีเหตุผลมากพอที่จะบอกเรา เราถึงเห็นว่าที่ฮ่องกงเขาให้ความสำคัญกับประชาชน และคนที่จะเข้าไปเป็นพลเมืองบ้านเขา 

สวัสดิการเป็นผลพลอยได้หลังจากการแต่งงาน ด้วยความที่สามีของพลอยทำงาน MTR เกี่ยวกับรถไฟฟ้าใต้ดินของฮ่องกง เธอจึงได้รับบัตร MTR ของคู่สมรสที่สามารถเดินทางได้ฟรี รวมถึงประกันชีวิตและสุขภาพ เมื่อรักษาพยาบาลจะใช้เงินเพียง 30 ดอลลาร์ฮ่องกง พลอยได้รับสิทธิครอบคลุมชีวิตไม่ต่างจากคู่สมรสชาย-หญิง ยิ่งไปกว่านั้นคือได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เพื่อป้องกันโควิด-19 เรียบร้อยแล้วเสียด้วย

แต่นอกจากความช่วยเหลือของอาหลงและครอบครัว อีกหนึ่งคนที่มีส่วนสำคัญในงานแต่งงานของพลอยครั้งนี้คงหนีไม่พ้นรุ่นพี่อย่างเบลล่าที่คอยให้คำปรึกษา โดยเฉพาะในด้านกระบวนการทางกฎหมาย

“ระบบโครงสร้างและการบังคับใช้กฎหมายที่ฮ่องกงค่อนข้างเข้มงวด ทุกอย่างจะถูกบันทึกข้อมูลไว้โดยละเอียด ดังนั้นเขาจึงไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าคุณเป็นเพศอะไร สัญชาติหรือศาสนาไหน เพราะสังคมที่นี่กลัวโดนคอมเพลนมาก” เบลล่าเสริม

เธอยังเล่าอีกว่า ในขณะที่ฮ่องกงซัพพอร์ตสวัสดิการให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ตอนนี้ LGBTQ+ ในเมืองไทยยังไม่มีสิทธิอะไรเลยสักอย่างเดียว สร้างความแปลกใจให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวฮ่องกงที่ได้รับฟังประสบการณ์จากพวกเธอ เพราะชาวต่างชาติส่วนใหญ่ต่างคิดว่าทรานส์เจนเดอร์ไทยทั้งมีจำนวนมากและมีความเป็นอยู่สุขสบายดี 

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าภาพลักษณ์ของเมืองไทยในสายตาชาวต่างชาติ คือประเทศที่เป็นมิตรกับเพศหลากหลายอย่างมาก ทว่าความเป็นจริงชุมชนเพศหลากหลายในไทยนั้นถูกมองด้วยสายตาเฉยเมยจนถูกละเลยสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ

เพราะเราทุกคนคือพลเมืองโลก

“ก่อนหน้านี้เราได้วีซ่าและสถานะผู้พำนักอาศัยในฮ่องกงแล้ว แต่ตอนนั้นเพศเรายังระบุเป็น M (male) อยู่ ก็เลยคุยกับพี่ๆ สะใภ้ฮ่องกงอีกสองคนว่าเราจะเปลี่ยนเป็น F (female) โดยดำเนินการทางกฎหมาย พี่เบลล่าที่ช่วยเรามาตั้งแต่ต้นก็บอกให้ลุยเลย ยังไงก็ได้แน่นอน”

ก่อนจะมาถึงเคสที่ประสบความสำเร็จของพลอย คนฮ่องกงเคยมีการฟ้องร้องในชั้นศาลมาก่อน ทั้งในกรณีของทรานส์เจนเดอร์ชาวฮ่องกงที่ต่อสู้จนได้แต่งงานอยู่กินกับสามี และในกรณีของนักการทูตชาวต่างชาติที่ยื่นเรื่องให้คนรักเพศเดียวกันได้วีซ่าติดตามมาพำนักในฐานะคู่ชีวิต ทำให้เคสอื่นๆ ในช่วงหลายปีให้หลังมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น 

“พอเข้าไปยื่นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนเพศที่ ตม. ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน เพราะเขาส่งจดหมายกลับมาเร็วมาก นัดวัน-เวลาเข้าไปสัมภาษณ์ คล้ายๆ กับการสัมภาษณ์แต่งงานนั่นแหละ

“ตอนนั้นเราปรึกษากับพี่นาดา ไชยจิตต์ นักสิทธิมนุษยชน และคุณแม่แดนนี่–กิตตินันท์ ธรมธัช จากสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับเอกสารชี้แจงเรื่องข้อกฎหมาย เพราะรัฐบาลฮ่องกงต้องการรู้เหตุผลว่าทำไมที่ไทยเปลี่ยนไม่ได้ พี่นาดาเขาก็ช่วยหาร่างคำพิพากษาที่เขาต่อสู้กันเพื่อรับรองและส่งมาให้เรา

“การศึกษาเรื่องข้อจำกัดทางกฎหมายรับรองเพศสภาพในไทยของโครงการ UNDP ที่พี่นาดาเป็นหนึ่งในที่ปรึกษา จึงช่วยยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสในกรณีของคนข้ามเพศได้ และยังไม่มีการรับรองเพศสภาพ รวมถึงตัวอย่างเคสที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้องให้ศาลไทยพิจารณา

“หลังยื่นไปประมาณ 1 อาทิตย์ ทาง ตม.ก็ติดต่อกลับมาว่า โอเค คุณสามารถเปลี่ยนได้ และให้เข้าไปทำบัตรประชาชนใหม่” พลอยเล่าถึงโมเมนต์ที่ได้รับการตอบรับเป็นครั้งที่ 2 ก่อนที่เบลล่าจะเสริม

“จริงๆ รู้สึกแปลกและตลกเหมือนกัน กับการที่เราเป็นคนไทยแต่ต้องไปขอฮ่องกงให้ช่วยยอมรับเรา เนื่องจากกฎหมายบ้านเราไม่รองรับ ซึ่งก็ดีที่ทางฮ่องกงให้สิทธิและพิจารณาว่าจะคุ้มครองพลอยในฐานะคู่สมรสของชาวฮ่องกงยังไงได้บ้าง 

“ตอนดำเนินเรื่อง ทางกงสุลไทยก็งงเหมือนกันที่เรามาขอรับรองเอกสารแปลงเพศกับรับรองคำพิพากษาของศาลไทยเพื่อไปใช้ยื่นขอการรับรองในฮ่องกง แต่สุดท้ายเขาก็โอเค เพราะเราก็พูดตรงๆ ว่าเมืองไทยยังทำไม่ได้จริงๆ”

“ความรู้สึกแรกที่เขายอมให้เราเปลี่ยนเพศเราดีใจมาก ถึงแม้ที่ไทยเราจะยังเป็นนายเพราะอิงตามบัตรประชาชนไทย แต่เราคิดว่าเราไม่ได้เป็นแค่พลเมืองไทย เราเป็นพลเมืองโลก (global citizen) เราชอบคำนี้มาก

“เราไม่ได้อยากแค่ให้คนฮ่องกงยอมรับความหลากหลายทางเพศ แต่เราอยากให้ทั่วโลกยอมรับ อย่างคนไทยเราก็อยากให้ลองเปิดใจยอมรับชาว LGBTQ+ เพราะพวกเราสามารถเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศได้ ถ้าทุกอย่างเปิดกว้าง เราก็จะเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งรับรองได้ว่าทุกคนจะมีความสุขกว่าในวันนี้แน่นอน” พลอยว่า

เบลล่าเล่าให้เราฟังว่าล่าสุดงานวิจัยและผลสำรวจของ The Chinese University of Hong Kong ได้แสดงให้เห็นว่า ทัศนคติของคนฮ่องกงต่อ LGBTQ+ ในเขตการปกครองมีแนวโน้มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะมุมมองต่อกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ และสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือแม้จะยังมีกำแพงเรื่องเพศ แต่พลอยก็ยืนยันว่าคนฮ่องกงส่วนใหญ่ในปัจจุบันปฏิบัติกับเธอไม่ต่างจากผู้หญิงคนหนึ่ง

สู้สุดใจเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตเป็นคนเต็มคน

หลังจากฟังเรื่องการต่อสู้เพื่อให้ได้แต่งงาน และเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อให้เป็นหญิงได้ตามกฎหมายฮ่องกงจนประสบความสำเร็จในระยะเวลาร่วม 2 ปี เราถามทั้งสองคนสั้นๆ ว่าอยากย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยไหม

“คงไม่แล้วค่ะ เหตุผลหลักเลยคือแฟนพลอยมีงานที่มั่นคงอยู่ที่นี่ด้วย อีกอย่างคือเราว่าไทยยังให้ความสำคัญกับพวกเราไม่มากพอ หรืออาจเรียกว่ายังไม่ให้เลยก็ได้ เหมือนพวกเราถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับสิทธิ ถามว่าอยู่ได้ไหมก็อยู่ได้ มันมีที่ยืนแต่ไม่มีศักดิ์ศรี”

ในขณะที่หลายคนมองว่าคนข้ามเพศไทยมีที่ให้ยืนตั้งมากมาย แต่เบลล่าผู้ที่ช่วยพลอยผลักดันเรื่องการแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้นก็คิดว่า ความเป็นจริงคนข้ามเพศไทยไม่ได้มีที่ยืนจริงๆ เพราะ LGBTQ+ ส่วนหนึ่งไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมคนอื่น 

“เราจะยืนอยู่ตรงนั้นทำไมถ้าเราไปรับโอกาสที่อื่นที่เขาเห็นคุณค่าของเราได้ เราเองก็ไม่ได้อยากไปไหนนะ อยากอยู่บ้าน เพราะบ้านเราก็มีความเพียบพร้อมในหลายด้าน ๆ แต่เราไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่เราควรจะได้” เบลล่ากล่าว

“ไม่ใช่แค่คนฮ่องกงควรได้รับสิทธิที่เท่าเทียม คนไทยและคนทุกประเทศเองก็ควรได้รับ พลอยหวังว่าคนไทยที่ต่อสู้กันอยู่จะได้รับชัยชนะ ได้รับสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมไวๆ ไม่ใช่แค่กับ LGBTQ+ แต่เป็นการต่อสู้ในทุกเรื่องที่จะทำให้ประเทศของเราขับเคลื่อนไปในทางที่ดี 

“อยู่ที่นี่เรากล้าที่จะเรียกร้องสิทธิ เพราะมันมีมายด์เซตว่าลองทำก่อนสิ เอาสิ ลองคุยกับเขาก่อน ยังไงเขาก็จะรับฟัง แต่ไทยยังอยู่ที่เดิม ถ้าให้เรากลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัวเรากลับได้ แต่ถ้ากลับไปใช้ชีวิตถาวรก็คงไม่” พลอยตอบตามจริง

“การเมืองที่นี่อาจยังมีความพิเศษและอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากสมัยอาณานิคมสู่การเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน ซึ่งชุมชน LGBTQ+ ในฮ่องกงก็ยังมีการเรียกร้องสิทธิที่พึงจะได้ เช่น สมรสเท่าเทียม การรับรองเพศสภาพโดยเจตจำนงในการระบุอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งรวมไปถึงกลุ่ม non-binary การต่อสู้เหล่านี้ต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมายที่มีช่องทางให้เขาได้ดำเนินเรื่อง” เบลล่าสำทับ

ทั้งหมดนี้คือผลจากความทุ่มเทและการต่อสู้ของพลอย สามี และพี่สาวคนสนิท ในแผ่นดินที่ระบบกฎหมายมีจุดแข็งด้านการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งเมื่อหันกลับมามองดูสถานการณ์ในไทยก็ทำให้เราได้มองเห็นปัญหาการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ทั้งยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และโยนปัญหาทุกอย่างให้เป็นภาระของปัจเจกบุคคล 

คนไทยยังคงต้องถกเถียงเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานซ้ำๆ เพราะไม่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้อง และดูเหมือนในปัจจุบันจะไม่มีทางลงให้กับปัญหาใดๆ นอกจากการสยบยอมก้มหน้าใช้ชีวิตอย่างเงียบเชียบ

จะผิดไหมหากเราบอกว่าประโยค ‘ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+’ คือเรื่องโกหกทั้งเพ

AUTHOR