ภาพในฝันของ ‘ศิริวรรณ พรอินทร์’ ลูกสาวผู้เติบโตในครอบครัวที่มีสายสัมพันธ์แบบแม่-แม่-ลูก

Highlights

  • หงส์–ศิริวรรณ พรอินทร์ คือเด็กสาววัย 18 ปีผู้เป็นกระบอกเสียงเพื่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศและลูกๆ ของพวกเขา เธอคือเจ้าของเพจ Her story_My Daughter ที่แชร์ภาพวาดและบทความเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอกับแม่ทั้งสองคน 
  • ในทางปฏิบัติ ศิริวรรณคือบุตรบุญธรรมของแม่ทั้งสองคน แต่ในทางกฎหมายเธอกับแม่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ด้วยเหตุที่ในประเทศไทยยังไม่ให้กลุ่มคน LGBTQI สมรสได้อย่างเท่าเทียม (แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448) ทำให้แม่ทั้งสองคนไม่สามารถจดทะเบียนสมรสและรับเธอเป็นบุตรบุญธรรมอย่างถูกกฎหมาย ศิริวรรณจึงลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ครอบครัวสีรุ้งเคียงข้างไปกับแม่ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
  • ศิริวรรณเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่คนภายนอกเข้าใจผิดมากที่สุดเกี่ยวกับเธอคือการตีตราของสังคมว่าการอยู่ในครอบครัวสีรุ้งแล้วต้องเป็น LGBTQI ทั้งๆ ที่จริงแล้วเธอจะเลือกรสนิยมทางเพศยังไง แม่ๆ ก็ให้อิสระเต็มที่ มากกว่านั้น หากเธอเลือกจะอยู่ในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมันก็คือเรื่องปกติและสวยงาม

ศิริวรรณ พรอินทร์ ตอนเด็กๆ คุณชอบวาดรูปอะไรมากที่สุด

บ้านในฝันที่มีวิวภูเขากับพระอาทิตย์ตกดินอยู่ข้างหลัง ตัวการ์ตูนดังที่คลั่งไคล้เป็นพิเศษ หรือครอบครัวที่มีสมาชิกครบถ้วน ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูก

ไม่ว่าจะวาดด้วยความสนุกส่วนตัวหรือเพราะเป็นการบ้านในชั่วโมงศิลปะ รูปวาดบางรูปสะท้อนความปรารถนาลึกในใจของเรา และบางครั้งมันก็สะท้อนความจริง

รูปวาดใบโปรดของ หงส์–ศิริวรรณ พรอินทร์ สะท้อนทั้งความจริงและความปรารถนา

เธอวาดภาพครอบครัวที่มีสมาชิกครบถ้วน ประกอบไปด้วยตัวเธอ

และแม่ทั้งสองคน

 

 

แม่ แม่ ลูก ศิริวรรณ พรอินทร์

เรารู้จักศิริวรรณครั้งแรกใน a day ฉบับ Wish ในฐานะเด็กสาววัย 18 ปีผู้เป็นกระบอกเสียงเพื่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เธอคือเจ้าของเพจ Her story_My Daughter ที่แชร์ภาพวาดและบทความที่สะท้อนเรื่องราวชีวิตของตัวเองกับ เจี๊ยบ–มัจฉา พรอินทร์ และ จุ๋ม–วีรวรรณ วรรณะ แม่ทั้งสองคน โดยหวังจะสร้างพื้นที่สำหรับเยาวชนที่เป็น LGBTQI และลูกๆ ของเหล่า LGBTQI

“หนูคิดว่าจริงๆ แล้วครอบครัวไม่จำเป็นต้องมีพ่อและแม่เท่านั้น เพราะหนูก็อยู่ในครอบครัวที่มีแม่สองคน ซึ่งก็ไม่ได้รู้สึกว่าแปลกหรือบกพร่องอะไรเลย เพราะคำว่าครอบครัวหมายความถึงผู้คนที่เรารู้สึกปลอดภัยด้วยเมื่อได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน” นิยามคำว่าครอบครัวของเธอสะดุดใจเราตั้งแต่แรกอ่าน และเมื่อได้นัดสนทนากัน เรายิ่งสนใจมากขึ้นไปอีกเมื่อได้รู้ว่าจริงๆ แล้วศิริวรรณเป็นลูกบุญธรรมของมัจฉากับวีรวรรณ

นอกจากการทำเพจ เธอยังร่วมเดินสายอบรม ทำกิจกรรมเพื่อกลุ่มคนชายขอบกับแม่ๆ ไม่ใช่แค่พูดเรื่องสิทธิของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่ยังพูดเรื่องสิทธิของคนชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิคนไร้สัญชาติ เรื่องโรคระบาด และความไม่เป็นธรรมมากมายในสังคม

ทั้งหมดทั้งมวลเริ่มต้นในตอนเธออายุ 9 ขวบเท่านั้น

“หนูเจอแม่เจี๊ยบกับแม่จุ๋มครั้งแรกตอนมาเที่ยวเชียงใหม่กับยาย” ศิริวรรณเล่าอดีต มัจฉามาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่ได้มาเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี 2543 เธอพบกับวีรวรรณในสิบปีให้หลัง ก่อนจะคบกันจนถึงปัจจุบัน “ตอนเจอกันหนูยังเรียกทั้งสองคนว่าป้า พอเจอกันแม่สังเกตเห็นว่าหนูไม่สามารถพูดคุยสื่อสารกับคนอื่นให้เข้าใจ ยังคิดเลขง่ายๆ ด้วยการบวกลบคูณหารไม่ได้ เทียบกับเด็กรุ่นเดียวกันที่ทำได้หมดแล้วเขาก็เป็นห่วง

“แม่ที่แท้จริงของหนูทิ้งไปตอน 3 ขวบ ยายเลยต้องมาเลี้ยงแทน แต่แม่เจี๊ยบคิดว่าหนูกับยายมีช่องว่างระหว่างวัยมากเกินไป ยายหนูอายุประมาณ 60 ในขณะที่หนูแค่ 9 ขวบ แม่เจี๊ยบกับแม่จุ๋มเลยตัดสินใจรับมาอยู่ด้วย ตอนแรกไปปรึกษาพ่อกับยายแล้วทั้งคู่ไม่ได้สนับสนุน แต่สุดท้ายต้องยอมเพราะแม่เจี๊ยบกับแม่จุ๋มอยากให้หนูได้รับการดูแลที่ดี ก็ต่อรองจนรับหนูมาเลี้ยงได้”

ศิริวรรณเล่าต่อว่าในช่วงแรกที่มาอยู่นั้นบรรยากาศในบ้านค่อนข้างคึกคัก เพราะมัจฉาและวีรวรรณทำโครงการทาวน์เฮาส์ 4 ชั้นเพื่อนักศึกษาชนเผ่าพื้นเมืองที่เข้ามาเรียนในตัวเมืองเชียงใหม่แต่ไม่มีบ้านอยู่ พื้นที่นั้นค่อยๆ สร้างความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ในที่สุดการได้รับความรักก็ทำให้ศิริวรรณตัดสินใจเปลี่ยนคำเรียกมัจฉาและวีรวรรณจาก ‘ป้า’ กลายเป็น ‘แม่’

“หนูรู้สึกว่านี่คือครอบครัว จริงๆ แม่หนูไม่ได้ตั้งใจจะรับหนูมาเป็นลูก แต่แค่อยากเลี้ยงหนูเฉยๆ แต่พอหนูเรียกว่าแม่เขาตกใจกันมาก เขย่าตัวกันแล้วบอกว่า เราเป็นแม่แล้ว” เธอหัวเราะเมื่อนึกถึงการรับมือของแม่ทั้งสองคนในตอนนั้น เพราะต้องดูแลเด็กหลายร้อยคนเหมือนลูกแต่ไม่เคยมีใครเรียกว่าแม่มาก่อน อันที่จริงมัจฉาและวีรวรรณไม่เคยคิดเลยว่าจะมีลูกเป็นของตัวเอง เพราะคำว่าลูกดูเป็นภาระที่หนักหนา ให้ความรู้สึกเหมือนการบอกสังคมว่าเป็นเจ้าของ

แต่ในเมื่อศิริวรรณเลือกใช้คำนี้แล้ว แม่กับแม่ก็จะดูแลเธอในฐานะลูกให้ดีที่สุด

 

รักอย่างเท่าเทียม

ที่บ้านของมัจฉากับวีรวรรณไม่มีการกราบไหว้ แม่ๆ สอนให้ศิริวรรณแสดงความรักทุกวันด้วยการหอมแก้มกัน เพราะพวกเธอเชื่อว่าการไหว้ไม่ใช่การแสดงความรักหรือเคารพ แต่สะท้อนวัฒนธรรมเชิงอำนาจ

“วันแม่ทุกปี โรงเรียนจะจัดงานให้เด็กไปกราบแม่บนเวที ครอบครัวหนูไม่เคยเข้าร่วมงานเลย” ศิริวรรณบอก “มีแค่ปีเดียวที่หนูไปเพราะต้องขึ้นรับรางวัลชนะเลิศวาดภาพวันแม่ ในขณะที่ทุกคนในโรงเรียนกำลังร้องห่มร้องไห้ ทำพิธีกราบแม่บนเวที หนูกับแม่นั่งอยู่ข้างล่างและแสดงความรักด้วยการหอมแก้มกันแทน เราทำแบบนี้เพราะเชื่อว่าเราคือคนเท่ากัน เราไม่ได้แบ่งแยกว่าแม่ต้องอยู่สูงกว่าลูก มันมีการแสดงออกทางความรักอย่างอื่นที่เท่าเทียมกันได้”

ศิริวรรณ พรอินทร์ และแม่ทั้งสองคนแสดงความรักต่อกัน

การไหว้ไม่ใช่เรื่องเดียวที่ครอบครัวของศิริวรรณทำไม่เหมือนบ้านอื่น หลายต่อหลายปี เธอค้นพบว่ามีอีกหลายสิ่งที่ทำต่างจากเพื่อน

แต่แตกต่างไม่ได้หมายความว่าเธอไม่ปกติ

“มีครั้งหนึ่ง คุณครูที่โรงเรียนให้ทุกคนเล่าเรื่องครอบครัวให้ฟังในชั้นเรียน หนูฟังเพื่อนคนอื่นเล่าถึงพ่อแม่ของพวกเขาแล้วเห็นความแตกต่างระหว่างเพื่อนผู้หญิงกับเพื่อนผู้ชายชัดเจน เพื่อนที่เป็นผู้หญิงมักถูกสอนให้ทำงานบ้านทุกอย่าง ส่วนเพื่อนผู้ชายไม่ได้ถูกสอนให้ทำอะไรเลย หนูรู้สึกว่าที่บ้านของเพื่อนบางคนเขามีกรอบเพศอยู่ว่าควรสอนลูกให้ทำอะไร

“สำหรับบ้านหนู หนูก็เล่าว่าครอบครัวหนูต้องทำงานเหมือนกัน แต่คุณแม่ไม่ได้สอนให้ทำงานบ้านตามกรอบเพศ แม่สอนให้หนูกวาดบ้าน ไม่ใช่เพราะมันคืองานของผู้หญิง แต่มันคืองานบ้านที่เราต้องทำ ถ้าเกิดเราไม่กวาดแล้วบ้านจะสะอาดไหม ไม่ว่างานอะไร จะกวาดบ้าน ถูบ้าน หรือตัดหญ้า ถ้ามันช่วยให้เราอยู่รอดก็ทำ ทำให้เป็น แม่บอกหนูว่าเราทำทุกอย่างได้ และแม่ก็ทำทุกอย่างให้หนูดูจริงๆ”

ความหวังของ ศิริวรรณ พรอินทร์ และครอบครัว

ยังไงก็ตาม ศิริวรรณไม่ได้คิดว่าบ้านตัวเองกับเพื่อนดีหรือแย่กว่า เพราะทุกบ้านก็มีวิธีการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันได้ทั้งนั้น บ้านของเธอแค่เลือกวิธีนี้เพราะแม่ๆ ทำงานด้านสิทธิ เชื่อในเรื่องความเคารพซึ่งกันและกัน และไม่อยากให้กรอบเพศมากำหนดการทำหรือไม่ทำสิ่งใด

ไม่เพียงเฉพาะงานบ้าน แต่ยังรวมไปถึงการเปิดอกพูดคุยเรื่องเพศกับลูกอย่างตรงไปตรงมา ตั้งแต่ศิริวรรณมาอยู่กับแม่ทั้งสองคน เธอมักตามติดมัจฉาและวีรวรรณไปอบรมเรื่องเพศ สิทธิ และความหลากหลายทางเพศ จากเด็กที่ไม่ค่อยเข้าใจก็ค่อยๆ ได้เรียนรู้ว่าเรื่องเพศควรเป็นเรื่องที่คุยกันได้อย่างไม่น่าอาย มากกว่านั้น แม่ทั้งสองคนยังชอบชวนศิริวรรณไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่โรงเรียนไม่เคยสอน 

“ในวิชาสุขศึกษามีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศประมาณสองหน้า ครูคนที่สอนก็ไม่ได้มีความเข้าใจชัดเจน วันวาเลนไทน์ปีหนึ่งแม่เลยชวนหนูไปลองซื้อถุงยางอนามัยด้วยตัวเอง จำได้ว่าพอเดินเข้าไปขอซื้อ พนักงานก็มองแบบงงๆ ทำให้หนูเห็นว่าสังคมเราไม่ได้เปิดกว้างเรื่องเพศและยังมองว่าการซื้อถุงยางเป็นเรื่องที่ผู้หญิงไม่ควรทำ แต่การที่แม่ยอมพูดเรื่องนี้ตรงๆ ทำให้หนูรู้สึกโอเคกับมัน การเปิดใจของแม่ยังช่วยให้เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เช่นเรื่องผ้าอนามัยแบบสอดที่หนูเคยใช้แต่แม่ไม่เคย พอแม่อยากลองบ้างก็มาถามหนู ครอบครัวเราคุยเรื่องนี้เป็นปกติ” เธอระบายยิ้ม

ศิริวรรณ พรอินทร์ และแม่

ครอบครัวของศิริวรรณ พรอินทร์

 

ศิริวรรณ พรอินทร์ เลือกได้และเลือกไม่ได้

ด้วยความที่อยู่ในครอบครัวหลากหลายทางเพศ ศิริวรรณบอกเราว่าสิ่งหนึ่งที่คนภายนอกมักเข้าใจผิดคือความรู้สึกแหว่งวิ่นเพราะขาดพ่อ

“คนชอบมาถามหนูว่าไม่มีพ่อหนูรู้สึกขาดความอบอุ่นหรือเปล่า สำหรับหนู หนูไม่ได้ขาดความอบอุ่น เพราะแม่ให้ความรักหนูเหมือนหนูเป็นลูกของเขาจริงๆ คำถามต่อมาคือการอยู่ในครอบครัวของคู่รักหลากหลายทางเพศแล้วจะเป็นเด็กมีปัญหาหรือเปล่า แต่หนูคิดว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากผู้ใหญ่ในครอบครัวหรอก เด็กรุ่นหนูมีปัญหาทุกคน เพราะเราเรียนในระบบการศึกษาที่แย่ สภาพสังคม เศรษฐกิจที่ไม่ดี ทุกคนก็มีปัญหาของตัวเองหมดทั้งนั้น”

ในบรรดาเรื่องเข้าใจผิดทั้งปวง ศิริวรรณบอกว่าความเข้าใจผิดมากที่สุดเกี่ยวกับตัวเธอ คือการบอกว่าถ้าคุณเติบโตมาในครอบครัว LGBTQI คุณต้องเป็น LGBTQI ตาม 

หากพูดว่าความคิดเช่นนี้คืออคติก็คงไม่เกินจริง เพราะถ้าลองครุ่นคิดดูดีๆ LGBTQI หลายคนก็เกิดจากครอบครัวของคู่รักต่างเพศ ในขณะเดียวกัน คนที่เกิดในครอบครัว LGBTQI ก็ไม่จำเป็นต้องเป็น LGBTQI เสมอไป 

“หากมีคนตั้งคำถามว่า ทำไมลูกที่อยู่ในครอบครัวหลากหลายทางเพศจึงเป็น LGBTQI เยอะ นั่นก็เพราะพวกเขาเคารพลูกตัวเองไง แม่หนูเคยพูดว่ามนุษย์ทุกคนควรเลือกได้ว่าเขาอยากเป็นอะไร แม่ไม่ได้ส่งเสริมให้หนูเป็นคนที่หลากหลายทางเพศ แต่ส่งเสริมให้เราเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ไม่ว่าหนูเลือกทางไหนเขาจะไม่ห้ามหรือบังคับ และจะเคารพการตัดสินใจ สนับสนุนให้หนูภูมิใจในทางที่เลือก ไม่เฉพาะเรื่องรสนิยมทางเพศเท่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องสำคัญอย่างการเรียน งานอดิเรก อาชีพในอนาคตด้วย”

ฟังดูแล้วการอยู่ในครอบครัวนี้ดูเลือกได้จนน่าอิจฉา แต่ชีวิตที่ผ่านมาของศิริวรรณยังมีสิ่งที่เลือกไม่ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และอาจส่งผลต่อชีวิตเธอในอนาคต นั่นคือเธอไม่ได้เป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายของมัจฉากับวีรวรรณ

หลายคนอาจเคยฟังเรื่องราวของคู่รักเพศเดียวกันที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันเพราะประเทศไทยยังไม่ให้พวกเขาสมรสได้อย่างเท่าเทียม (แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448) แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือ เรื่องนี้ส่งผลต่อผู้เป็นลูกบุญธรรมเช่นกัน

together

“ในทางปฏิบัติแม่ทั้งสองคนเลี้ยงดูหนู แต่ในทางกฎหมาย ทั้งสองคนรับหนูเป็นลูกบุญธรรมไม่ได้เพราะแม่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกัน ไม่มีอะไรรองรับว่าเป็นคู่สมรส จะรับแบบเดี่ยวก็ไม่ได้เพราะพ่อหนูไม่ยินยอม จนถึงวันนี้แม่จึงไม่ได้มีสิทธิในตัวหนู แต่สิทธิอยู่ที่แม่ที่เขาคลอดหนูจริงๆ” ศิริวรรณบอก 

“ถามว่าสิทธิที่หายไปคืออะไรบ้าง ก็แทบจะทุกอย่าง ทุกวันนี้หนูใช้นามสกุลเดียวกับแม่ แต่ถ้าเช็กในฐานข้อมูลของรัฐ เขาไม่ได้ระบุว่าเป็นพ่อแม่ จะทำอะไรสักอย่างในทางราชการก็ยากลำบาก หนูไม่เคยไปเที่ยวต่างประเทศกับแม่ เพราะแม่ไม่มีสิทธิในการเซ็นยินยอมให้ทำพาสปอร์ต ถ้าหนูประสบอุบัติเหตุ อยู่ในห้องฉุกเฉิน แม่ไม่สามารถเซ็นปฏิเสธการผ่าตัดได้เพราะโรงพยาบาลจะไม่ให้สิทธินั้น เขาจะมองว่า ‘คุณมารับผิดชอบชีวิตคนคนนี้ได้ยังไงทั้งที่ไม่เกี่ยวกันเลย ถ้าตายไปเผื่อครอบครัวที่แท้จริงเขามาฟ้องร้องโรงพยาบาลจะทำยังไง คนที่มีสิทธิเซ็นต้องเป็นพ่อแม่เขาเท่านั้น’ 

“หรือแม้แต่เคสง่ายๆ อย่างการทำบัตรประจำตัวประชาชนธรรมดา ตอนไปทำก็โดนสอบสวนใหญ่ นั่งพิสูจน์กันหลายชั่วโมง เพราะผู้ปฏิบัติงานของภาครัฐไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องลูกสาวในครอบครัวของคนที่หลากหลายทางเพศ พวกเขายังมองว่าเราสามคนเป็นคนอื่นต่อกัน ทั้งๆ ที่สำหรับหนู เราคือครอบครัว”

rainbow family

 

เรื่องของเธอคือเรื่องของเด็กอีกหลายคน

ความไม่เป็นธรรมทางกฎหมายที่ส่งผลต่อชีวิตของศิริวรรณนั่นก็เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องที่ทำให้ศิริวรรณอยากลุกขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงเล่าเรื่องราวของเด็กในครอบครัวของคนที่หลากหลายทางเพศคือสายตาของคนรอบข้างที่ดูแคลนเธออย่างไม่เข้าใจ เธอบอกเราว่าไม่มีใครสมควรถูกมองแบบนั้น

“ถ้าหนูเล่าเรื่องของครอบครัวตัวเองให้เพื่อนฟังก็จะมีทั้งคนที่รับได้และรับไม่ได้” ศิริวรรณพูดด้วยน้ำเสียงจริงใจ “มีเพื่อนที่สนับสนุนเรา รับรู้ว่าเราทำงานช่วยแม่ ซึ่งเป็นการส่งเสียงอย่างสร้างสรรค์ เขาก็ไม่รู้สึกว่าเราเป็นคนที่แตกต่างแต่เป็นคนที่น่าภาคภูมิใจ แต่ก็มีบางกลุ่มที่รู้แต่ไม่เข้าใจก็จะเฟดตัวออกไป แต่จะโทษเขาก็ไม่ได้ เพราะแม้แต่เนื้อหาเรื่องความหลากหลายทางเพศในบทเรียนยังล้าหลัง แม้แต่ครูก็มองว่ามันเป็นเรื่องแปลก ตลก ทั้งที่จริงไม่ได้เป็นแบบนั้น 

“ลึกๆ หนูเข้าใจคนที่ไม่สนับสนุนเรา แต่หนูยืนยันที่จะเดินหน้าสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น จะพยายามต่อสู้ต่อไปเพื่อให้คนเขารับรู้ว่าเรามีตัวตน ทำงานเพื่อให้สังคมรู้ ทำให้คนเห็นว่าเด็กตัวเล็กๆ อย่างหนูสามารถต่อสู้ได้”

ศิริวรรณ พรอินทร์ และแม่ร่วมประท้วงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม

จากเด็กที่พูดไม่เป็นคำตอน 9 ขวบ ในวัย 18 ปี ศิริวรรณเดินสายช่วยแม่ทั้งสองคนอบรมเรื่องสิทธิของกลุ่มคนชายขอบทั่วประเทศ เธอยังเขียนความเรียงเรื่อง ‘จดหมายจากครอบครัวสีรุ้ง’ ลงเว็บไซต์ประชาไท ขึ้นพูดบนเวทีของงานวันสตรีสากลที่เชียงใหม่ เป็นคนนำเต้นในแคมเปญแสดงความรักกับร่างกายตัวเองในงานวันยุติความรุนแรงกับผู้หญิง และทุกครั้งที่มีโอกาส เธอจะแชร์ความสนใจและความเป็นไปของเธอกับแม่ผ่านภาพวาดในเพจ Her story_My Daughter

“เป้าหมายของหนูคืออยากให้คนในสังคมเห็นว่าครอบครัวของคนหลากหลายทางเพศมีตัวตน อยากให้สังคมเข้าใจและยอมรับ อยากให้ทุกคนได้ยินเสียงเล็กๆ ตรงนี้ว่านี่คือเสียงของลูกในครอบครัว LGBTQI ที่แม้จะเป็นเสียงเล็กๆ แต่ก็มีพลัง 

“หนูอยากเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กที่อายุน้อยกว่าด้วย อยากให้เขารู้ว่ามีรุ่นพี่ที่เคยต่อสู้เรื่องนี้มาก่อน และเขาเองก็สามารถช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้เหมือนกัน ถ้าเรามีหลายๆ คน หลายๆ เสียง จะทำให้เราสามารถขับเคลื่อนไปได้เร็วขึ้น แม้บางครั้งมันจะยากลำบากเพราะต้องต่อสู้กับความไม่เข้าใจของคน ต้องต่อสู้กับความเชื่อที่อยู่ในจิตใต้สำนึก แต่ถ้าเราไม่รีบลงมือทำแล้วใครจะทำ 

“ที่สุดแล้วมันก็คือการหวังว่าคนรุ่นต่อจากเราจะไม่ได้มาเจออะไรเหมือนเรา หนูอยากให้รู้ว่าเสียงของทุกคนมีค่า ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกของ LGBTQI หรือครอบครัวรักต่างเพศก็สนับสนุนเรื่องนี้ได้ หนูก็จะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสำเร็จ”

ศิริวรรณ พรอินทร์ และแม่


ติดตามศิริวรรณและแม่ทั้งสองคนต่อได้ที่เพจ Her story_My Daughter ช่องยูทูบ Siri เพจ สร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และเพจ V-Day Thailand

ขอบคุณสถานที่ อ่างแก้ว มช.

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวุฒิ เตจา

นักเรียนศิลปะการถ่ายภาพผู้นอนเช้าตื่นบ่ายและกำลังจะตายกับหัวข้อทีสิส กำลังหัดกินกาแฟและดูแลต้นไม้ 8 ต้น