Limited Education x Kerry Express โครงการที่ชวนทุกคนมาแก้ปัญหาการศึกษาแบบ express จากบ้านคุณ

Highlights

  • Limited Education คือโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ใช้วิธีสนุกๆ อย่างการชวนศิลปินมาทำสินค้าสุดลิมิเต็ดเพื่อระดมทุน โดยในปีนี้ที่โควิดทำให้ความเหลื่อมล้ำทวีคูณ พวกเขาจึงทำให้โครงการพิเศษยิ่งขึ้นด้วยการชวนศิลปินไทยกว่า 17 คนมาทำสินค้าด้วย
  • มากกว่าศิลปิน เมื่อเห็นว่าแบรนด์​ขนส่ง Kerry Express เพิ่งปรับแบรนด์ใหม่ให้ครีเอทีฟ เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนมากยิ่งขึ้น (เช่น แคมเปญ Keep Calm and Kerry On ให้กำลังใจคนช่วงโควิดหรือการทำกล่องพัสดุสีส้มพร้อมเทปกาวสกรีนข้อความแซวขาช้อปออนไลน์) ทีมงานลิมิเต็ดฯ จึงนึกสนุกชวน Kerry มาเป็นพาร์ตเนอร์ในการส่งสินค้าไลฟ์สไตล์ของโครงการซะเลย
  • ไหนๆ จะร่วมงานกันทั้งทีแค่ช่วยส่งฟรียังสร้างสรรค์ไม่พอ แบรนด์จัดส่งพัสดุด่วนอย่าง Kerry จึงต่อยอดผลงานของ 17 ศิลปินเป็นกล่องพัสดุแมตช์กับลายสินค้า กลายเป็นครั้งแรกที่แบรนด์ขนส่งช่วยจัดส่งไอเดียของสินค้าที่บรรจุอยู่ในกล่องด้วย

เร็วๆ นี้เราได้รับพัสดุหน้าตาแปลกประหลาดหนึ่งกล่อง

Limited Education Kerry

ต่างจากกล่องพัสดุสีน้ำตาลหรือขาวที่ได้เป็นประจำ กล่องที่ว่านี้หน้าตาน่ารักเป็นพิเศษด้วยด้านหนึ่งเป็นสีส้มสด อีกด้านเป็นรูปเด็กๆ เต้นระบำ มือเอื้อมคว้าสายรุ้ง มองแวบเดียวก็รู้ทันทีว่าเป็นลายเส้นของศิลปินที่เรารักอย่าง Juli Baker and Summer

นี่คือกล่องพัสดุโฉมใหม่ของ Limited Education โครงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอายุ 4 ปีโดยเครือข่ายร้อยพลังการศึกษาและครีเอทีฟเอเจนซี Glow Story ที่มีโมเดลระดมทุนสนุกๆ คือการชวนแบรนด์และศิลปินมาคอลแลบทำสินค้าสุดลิมิเต็ด ทั้งเสื้อยืดจาก Juli Baker and Summer, กระเป๋าผ้า Cuscus the Cuckoos, แก้วน้ำจาก Jeep Kongdechakul และอื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่หน้าตาดี น่าใช้ และน่าเสียเงิน

Limited Education Kerry

เมื่อเห็นว่าแบรนด์ขนส่ง Kerry Express กำลังปรับแบรนด์ให้มีความสนุก เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยิ่งขึ้นอย่างการออกแคมเปญ Keep Calm and Kerry On ให้กำลังใจคนช่วงโควิด-19 หรือการเปลี่ยนกล่องพัสดุเป็นสีส้มสะดุดตาพร้อมเทปกาวสกรีนข้อความแซวขาช้อปออนไลน์ ทีมงานลิมิเต็ดฯ จึงนึกสนุกชวน Kerry Express มาเป็นพาร์ตเนอร์ในการส่งสินค้าไลฟ์สไตล์ของโครงการซะเลย

การร่วมมือระหว่างโครงการด้านการศึกษา ศิลปิน และบริษัทขนส่งเป็นส่วนผสมใหม่ที่น่าสนใจ (โดยเฉพาะขนส่งกับการศึกษาที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้) จนเราชวน พิ–พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน ตัวแทนจาก Glow Story, ป่าน–ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา หรือ Juli Baker and Summer ศิลปินที่ลงมือทำเสื้อลายลิมิเต็ด และ ส้ม–สีตลา ชาญวิเศษ Head of Marketing Communications จาก Kerry Express มาคุยกันถึงสินค้าแต่ละอย่างและความตั้งใจที่อยู่เบื้องหลัง

แน่ล่ะ หากระบบในภาพใหญ่ยังไม่ขยับก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ Limited Education จะแก้ปัญหาการศึกษาได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่จากการรวมตัวของคนต่างแวดวงในคราวนี้ก็พอจะทำให้เห็นว่าใครๆ ก็มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาได้ ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรก็ตาม

Limited Education Kerry

 

ศิลเปรอะของ Juli Baker and SummerLimited Education Kerry

Limited Education เริ่มต้นขึ้นในปี 2017 เมื่อ ‘เครือข่ายร้อยพลังการศึกษา’ ชวนเอเจนซีนักเล่าเรื่อง Glow Story และชูใจ กะ กัลยาณมิตร มาทำโปรเจกต์สื่อสารเรื่องปัญหาการศึกษาพร้อมๆ กับที่ระดมทุนช่วยเหลือเด็กๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษาไปด้วย ปีนั้น พวกเขาเริ่มต้นด้วย ‘เสื้อยืดสะกดผิด’ ที่ร่วมมือกับแบรนด์แฟชั่น GREYHOUND ก่อนชักชวนสารพัดแบรนด์จากสารพันแวดวงมาทำสินค้าซนๆ เพิ่มขึ้นอย่าง ‘ขนมปังเนยโสด’ จาก After You ที่ดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง

ปีนี้ Limited Education กลับมาอีกครั้งพร้อมปัญหาเพิ่มเติมอย่างวิกฤตโควิด-19 ที่ซ้ำเติมให้หลายครอบครัวรายได้ลดฮวบ เด็กๆ จึงหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น โดยประมาณแล้วปีนี้จะมีเด็กๆ หลุดจากระบบเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ คือมากกว่า 700,000 คน

ยิ่งปัญหาใหญ่ขึ้น เร่งด่วนขึ้น โปรเจกต์ปี 2020 จึงใหญ่ขึ้นเพื่อระดมทุนให้ได้มากขึ้นไปอีก ทีม Glow Story จึงชวนศิลปินไทยถึง 17 คนมาทำสินค้าพิเศษ ทั้งเสื้อยืด แก้วน้ำ กระเป๋า ฯลฯ ที่เห็นแล้วสั่นตั้งแต่ใจไปถึงกระเป๋าสตางค์

และเสื้อยืดของป่าน Juli Baker and Summer ก็คือสินค้าหนึ่งที่ทำให้เรากดโอนเงินอย่างรวดเร็ว

Limited Education Kerry

“ปีนี้บริบทของปัญหาการศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่โควิดทำให้เด็กๆ ต้องออกจากโรงเรียนเพราะพ่อแม่ไม่มีงานทำ เราเลยเล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำและโอกาสทางการศึกษาที่หายไปให้กับศิลปินฟังเพื่อให้แต่ละคนสื่อสารในแบบของตัวเอง” พิเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น

แม้ทีมงานจะเปิดกว้างถึงขั้นที่ศิลปินไม่ต้องสร้างผลงานเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำเลยก็ได้ แต่สุดท้าย ด้วยความอินส่วนตัวป่านก็เลือกตีความคำนี้ออกมาด้วยศิลปะสไตล์ของเธอ

“สิ่งที่เราวาดลงไปในนี้ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องที่ทีม Glow เล่านั่นแหละ” ป่านชี้ไปที่ลายสีสดใสบนเสื้อยืด “เราถ่ายทอดเป็นภาพเด็กๆ ยืนอยู่ด้วยกัน บางคนอยู่สูงกว่า บางคนอยู่ต่ำกว่า พยายามจะเอื้อมจับอะไรบางอย่างบนสายรุ้ง ที่ผ่านมาเราเคยไปสอนศิลปะให้เด็กๆ ทำให้เรารู้ว่าเด็กแต่ละคนมีความฝัน มีวิธีคิดไม่เหมือนกัน เราเลยใช้สายรุ้งเป็นตัวแทนความฝันเพราะมันมีหลายสี

“เราอยากให้ภาพดูเหมือนงานศิลปะเด็ก คือเหมือนคนวาดรูปไม่เป็นแต่สนุก เพราะงานของเรานั้นได้รับสปิริตการวาดรูปโดยที่ไม่รู้ ไม่กลัวจากเด็กๆ มาเยอะ”

Limited Education Kerry

ถึงจะศิลปินสาวจะตีความผลงานจากความเหลื่อมล้ำ แต่ป่านยอมรับตรงๆ ว่าตอนเด็กๆ เธอไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของคำนี้ด้วยซ้ำ

“ตอนเด็กๆ เราไม่รู้จักความเหลื่อมล้ำเลยแม้ว่าพ่อเราจะเป็นอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์การเมือง เราเพิ่งมาตระหนักตอนที่ไปฝึกงานที่เบอร์ลินและได้คุยกับเพื่อนจากประเทศนู้นประเทศนี้ ปรากฏว่าเราคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง เช่น เราแทบจะไม่รู้เรื่อง Holocaust เลย เรารู้สึกว่าเราพลาดอะไรไปเลยไปอ่าน ไปถาม คุยกับพ่อมากขึ้น พ่อก็เพิ่งมาอธิบายว่าระบบการเมือง สังคม เศรษฐกิจจากซ้ายสุดไปขวาสุดเป็นยังไง เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกับการเมือง

“ยิ่งศึกษาเราก็พบว่าเราคือคนที่โชคดีเพราะการศึกษาทำให้เราได้ใช้ชีวิตแบบที่เราอยากจะเป็น ได้มีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ ในขณะเดียวกันเราก็ได้ไปสอนศิลปะให้เด็กๆ และเพิ่งรู้ว่ามีเด็กเยอะขนาดนี้ที่ไม่ได้รับการศึกษา”

งานสอนศิลปะเด็กที่ป่านพูดถึงจัดขึ้นหลายครั้งกับเด็กๆ หลายกลุ่ม ทั้งเด็กในชุมชนแออัด เด็กที่มาเดินห้างกับพ่อแม่ หรือแม้แต่เด็กญี่ปุ่น เมื่อไปสอนบ่อยเข้า ความแตกต่างระหว่างชีวิตของเด็กที่หลากหลายก็ทำให้เธอได้เห็นความเหลื่อมล้ำไปโดยปริยาย

“เราชอบสอนศิลปะเด็ก เช่น ไปสอนศิลปะให้เด็กๆ ในชุมชนคลองเตยหรือในโรงเรียนที่มีเด็กอายุ 3 ขวบจนถึง ป.6 เรียนรวมกัน งานแบบนี้ทำให้เราเห็นว่ามีเด็กที่เข้าไม่ถึงการศึกษาแบบที่เราเคยได้รับมาเยอะมาก ยิ่งสอนหลายๆ ครั้งเราก็ยิ่งอิน

“ไม่ว่าจะเป็นเด็กญี่ปุ่นหรือคลองเตยก็มีความไร้เดียงสา ความซนเหมือนกัน เพียงแต่เราได้เห็นว่าการไม่ได้รับการศึกษาดีๆ ทำให้เด็กบางกลุ่มมีทางเลือกในชีวิตน้อยมาก เขาถูกจำกัดไว้ด้วยกรอบว่าถ้าเราอยู่ตรงนี้ ความฝันของเราจะไปได้ไกลแค่ไหน บางคนก็ไม่รู้ว่าความฝันของตัวเองคืออะไร หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขามีสิทธิที่จะฝัน แต่ถึงอย่างนั้นเราเองก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้บ้าง”

ในขณะที่ไม่รู้ว่าจะช่วยแก้ปัญหายังไง โครงการ Limited Education ก็เข้ามาชวนป่านทำโปรดักต์พอดี

“เราไม่ได้เชื่อว่าการบริจาคเป็นทางออกที่ถาวร แต่ปัญหาการศึกษาโดยเฉพาะช่วงโควิดเป็นเรื่องเร่งด่วน ตัวเราเองก็ทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว พอโครงการมาชวนก็เลยรู้สึกว่าต้องทำถ้าเราจะพอช่วยอะไรได้”

Keep Calm and Kerry On

หากใครยังไม่เคยบริจาคช่วยโครงการ Limited Education พิอธิบายระบบง่ายๆ ว่าเพียงเข้าเว็บไซต์ limitededucation.org เลือกจำนวนเงินที่จะบริจาค และเลือกสินค้าที่ต้องการ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ

ที่ผ่านมาเงินที่คนบริจาคจะถูกหักค่าผลิตสินค้าและค่าขนส่ง ก่อนจะส่งต่อให้เด็กๆ แต่ปัญหาคือค่าขนส่งสินค้านั้นเป็นจำนวนไม่น้อย ทำให้ตัวเลขเงินบริจาคถึงมือปลายทางน้อยลง ปีนี้ Glow Story จึงชวน Kerry Express มาเป็นพาร์ตเนอร์โดยหวังจะขอการสนับสนุนด้านการขนส่ง แต่ปรากฏว่าบริษัทขนส่งแห่งนี้กลับคิดไกลกว่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขาออกแบบกล่องเฉพาะสำหรับผลงานของศิลปินทั้ง 17 คน แถมยังออกแบบกล่องสำหรับคนที่สั่งเสื้อที่เลือกคำที่จะสกรีนลงบนเสื้อได้อีก 1 ลาย รวมทั้งหมดเป็น 18 ลาย

Limited Education Kerry

“พูดง่ายๆ คือเราอยากประหยัดค่าขนส่งเพื่อให้น้องๆ ได้เงินมากขึ้นก็เลยชวน Kerry มาคุยกันในฐานะบริษัทจัดส่งพัสดุด่วน แต่พอมาคุยกับทีมเราก็เห็นว่าเขาตาลุกวาวพร้อมจัดเต็ม วันนั้นพี่ส้มบอกเราว่าถ้าอย่างนั้นเราทำกล่องสำหรับศิลปิน 1 คน 1 ลายแยกเลยไหม”

จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญที่พอดิบพอดีก็ได้ เพราะสิ่งที่พิและทีมไม่รู้มาก่อนคือจังหวะที่โครงการ Limited Education ปีที่ 4 เริ่มตั้งไข่ ทีม Kerry Express ก็กำลังวางแผนปรับภาพลักษณ์แบรนด์เช่นกัน และหนึ่งในสิ่งที่พวกเขาเลือกเปลี่ยนคือ ‘กล่องพัสดุ

“แต่ก่อนแบรนด์ของเราพูดถึงฟังก์ชั่นคือส่งไว ส่งชัวร์ ทั่วไทย แต่ไม่ได้มีความหมายกับคน เราเลยต้องหาความหมายให้แบรนด์ ทำให้แบรนด์มีความรู้สึก มีชีวิตชีวา พูดภาษาเดียวกับคนมากขึ้น พอได้ไอเดียจะปรับแบรนด์ปุ๊บเราก็เจอโควิดพอดี” ส้มหัวเราะระหว่างย้อนเล่าถึงแผนการที่ถูกพับเก็บเพราะโควิด ก่อนจะขยายความว่าถึงอย่างนั้นช่วงวิกฤตก็ให้ไอเดียบางอย่างกับพวกเขา

Limited Education Kerry

“ในช่วงโควิดทุกคนได้รับผลกระทบหมด เราเองจะพูดเรื่องแบรนด์ ทำให้คนรักแบรนด์ คนก็คงไม่อยากฟังเพราะกำลังแพนิกเรื่องโรคอยู่ ฉะนั้นเราต้องทบทวนใหม่ว่าเราจะสื่อสารยังไง อยู่ๆ เราก็นึกถึงคำขวัญของอังกฤษในช่วงสงครามโลก Keep Calm and Carry On และปรับเป็นสโลแกน Keep Calm and Kerry On

“หนึ่ง Keep Calm มันเหมาะกับช่วงวิกฤตพอดี คือเราต้องตั้งสติแล้ว Carry On หรือไปต่อ สอง คือคำว่า Carry กับ Kerry พ้องเสียงกัน ยี่ห้ออื่นก็เอาไปไม่ได้ นอกจากนั้น คำว่า Carry On ยังมีความหมายว่าไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน Kerry ก็ยังเอาของไปส่งให้คุณได้ ขณะเดียวกันเราก็ให้กำลังใจคุณด้วย”

เมื่อได้ไอเดีย ส้มและทีมจึงเริ่มสื่อสารแคมเปญใหม่ในโซเชียลมีเดียไปจนถึงการโฆษณาบนตัวรถไฟฟ้าและป้ายบิลบอร์ดต่างๆ กระทั่งวันหนึ่งที่พวกเขาตั้งคำถามว่าจะทำยังไงให้แคมเปญไปได้ไกลกว่านี้ และแล้วของที่ใกล้ตัวที่สุดก็ถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือ

“เรานึกถึงสิ่งที่เราส่งให้คนอยู่ทุกวันนั่นคือ ‘กล่อง’ วันหนึ่งเราส่งของผ่านกล่องเป็นล้านใบให้คนเป็นล้านคน เท่ากับว่าเดือนหนึ่งเราส่งของให้คนจำนวนหลายล้านแต่เราไม่เคยคุยกับเขาผ่านช่องทางนี้เลย” ส้มเล่าจนเราตื่นเต้นตาม

“ในแง่ความรู้สึก กล่องแบบใหม่ทำให้แบรนด์มีชีวิตมากขึ้น ส่วนในแง่ของการสื่อสาร การยิงแอดในเฟซบุ๊กคนเห็นแป๊บเดียวเขาก็ลืมแต่เวลาคนได้รับกล่องพัสดุเขาตั้งไว้ที่บ้าน ได้เห็นอีกไม่รู้กี่ที”

ไม่นาน Kerry Express ก็คลอดกล่องโฉมใหม่สีส้มเตะตาสกรีนคำว่า Keep Calm and Kerry On พร้อมหน้ายิ้ม มาพร้อมกับเทปกาวที่เขียนคำคมโดนใจนักช้อปออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นตัวย่อ ‘CF NO CC’ หรือการแอบแซวว่า “ฮั่นแน่…สั่งของอีกแล้วนะ”

จังหวะที่พัฒนาเจ้ากล่องสีส้มนี้นี่แหละคือช่วงที่ทีม Kerry Express ได้เจอกับพิ หลังจากนั้นไม่ถึงสองสัปดาห์ แบบกล่องลายต่างๆ ก็เสร็จเรียบร้อยพร้อมผลิตทันที

ส้มแวบไปยกกล่องแบบต่างๆ ที่ทำร่วมกับ Limited Education มาให้เราดู แบบหนึ่งคือกล่องสกรีนลายของศิลปิน ดูน่าสะสม ขณะที่อีกกล่องเป็นลาย ‘เด็กจับมือ’ ซึ่งสื่อความหมายลึกซึ้งถึงระบบการศึกษาไทย

เมื่อดูดีๆ เราถึงเห็นว่ามีมือเล็กๆ ยื่นออกมาจากขอบกล่องสองด้าน ส้มจึงเปิดกล่องขึ้นมาเฉลยว่าที่แท้ตรงปีกกล่องพัสดุนั้นซ่อนเด็กๆ เอาไว้ถึง 4 คน

Limited Education Kerry

“ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าเด็กนักเรียนที่จับมือกันอยู่บนฝากล่องใส่ชุดนักเรียน เป็นตัวแทนของเด็กๆ ในระบบการศึกษา ส่วนบริเวณปีกกล่องเป็นเด็กๆ กลุ่มที่ค่อยๆ ตกขอบจากระบบ ซึ่งทีมไปรีเสิร์ชมา และเลือกกลุ่มเด็กยากจนพิเศษ เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กที่ต้องเข้ารับการรักษานานๆ และเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมาอยู่บนกล่อง”

นอกจากนี้ ด้านในฝากล่องยังซ่อนกิมมิกเอาไว้ เป็นแบบฝึกหัดให้คนรับพัสดุได้วาดเด็กๆ ในระบบการศึกษาที่อยากจะเห็น ทั้งหมดนี้ส้มบอกว่าเป็นไปเพื่อเสริมแบรนด์ Limited Education ให้แข็งแรง ทั้งยังช่วยสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้ผู้รับ

“ปกติเวลาคนได้รับของ สุดท้ายแล้วเขาก็ทิ้งกล่องอยู่ดี มันจึงท้าทายในการทำให้คนรู้สึกว่าอยากเก็บกล่องใบนี้ ทำให้มันมีมูลค่ามากขึ้น สร้างประสบการณ์ให้คนรับรู้สึกประทับใจ”

พิเล่าเสริมส้มว่า “ช่วงนี้เราเริ่มทยอยส่งของให้คน ก็เห็นว่าจากที่คนหยิบของและโยนกล่องทิ้ง งานนี้มีแต่คนถ่ายรูปกล่องและบอกว่ากล่องสวยจนต้องเก็บคู่กัน มันกลายเป็นประสบการณ์ของคน เข้าไปอยู่ในชีวิตของคนจริงๆ ไม่ใช่แค่ได้บริจาค แต่ได้ความ exclusive กลับไปไม่ว่าจะเป็นของที่ศิลปินตั้งใจทำหรือกล่องที่ไม่ได้มีฟังก์ชั่นแค่ใส่ของแต่มีเมสเซจ มีความใส่ใจของคนทำงาน เป็นการมอบประสบการณ์ที่แตกต่างให้คนที่มาช่วยโครงการครั้งนี้ให้เขายิ่งแฮปปี้ขึ้นไปอีก”

Limited Education Kerry

Keep Kids and Carry On

ตลอดระยะเวลา 4 ปีของโครงการ นอกจากเป้าหมายคือการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่กำลังจะหลุดขอบระบบการศึกษา อีกเป้าหมายยังเป็นการหาโมเดลการทำโปรเจกต์เพื่อสังคมแบบใหม่ๆ ที่ไม่เน้นความสงสาร แต่เน้นความคิดสร้างสรรค์และการร่วมมือกัน

“การบริจาคหลายรูปแบบมักพูดถึงผู้รับบริจาคด้วยน้ำเสียงสงสาร ใช้รูปเด็กตาแป๋ว ใส่เสื้อขาดๆ ซึ่งเราไม่เชื่อในวิธีการแบบนั้น เราเชื่อว่ามนุษย์เท่ากัน เด็กๆ ที่เราช่วยระดมทุนให้เขาก็ไม่ได้น่าสงสาร เพียงแค่ขาดโอกาสเพราะปัญหาในเชิงโครงสร้าง ฉะนั้นเราจึงตั้งใจทำ Limited Education ให้มีมู้ดแอนด์โทนอีกแบบ” พิพูดด้วยความตั้งใจ

“ปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ไม่สามารถแก้ด้วยตัวคนเดียวได้ สิ่งที่ Limited Education ทำได้จึงเป็นการเปิดพื้นที่ทดลองเพื่อบอกว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ เช่น ศิลปินหรือแบรนด์ต่างๆ เพราะสิ่งที่ทุกแบรนด์มีคือแฟนคลับ มีสื่อ อีกทั้งแต่ละแบรนด์ก็มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งเมื่อใส่ความคิดสร้างสรรค์และประเด็นการศึกษาเข้าไปมันจะมีพลังมาก

“หรือถ้าคุณเป็นผู้บริโภค อย่างน้อยในวันที่อยากกินขนมปังคุณก็เลือกได้ว่าคุณจะซื้อขนมปังทั่วไปหรือขนมปังที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือในวันที่อยากซื้อเสื้อผ้า คุณจะซื้อเสื้อผ้าเฉยๆ หรือซื้อเสื้อที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำก็ได้”

Limited Education Kerry

“ก่อนหน้านี้เราก็คิดเหมือนกันว่าเราทำอะไรได้บ้างในฐานะที่เป็นแค่ฟรีแลนซ์วาดภาพ” ป่านเสริมประเด็นของพิ “แต่โปรเจกต์นี้ทำให้เรารู้สึกว่าศิลปะของเรามันมีพลังนะ ศิลปะไม่ใช่การวาดรูปแต่มันมีความหมาย มีตัวตนของศิลปินอยู่ในนั้น และเป็นเครื่องมือถ่ายทอดที่ทรงพลัง

“นอกจากนั้น เราพบว่าเราสามารถสื่อสารเรื่องปัญหาการศึกษากับคนที่ติดตามและชอบรูปวาดของเราได้ด้วย ก่อนหน้านี้เราเคยได้รับรางวัลประเภทสุดยอดอินฟลูเอนเซอร์เราก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร แต่ว่าตอนนี้เราเริ่มเข้าใจแล้วว่าเราใช้ประโยชน์จากมันได้จริงๆ”

ขณะเดียวกัน Kerry Express เองก็เพิ่งค้นพบความสามารถในการสื่อสารประเด็นทางสังคมที่ไม่มีใครเคยคิดมาก่อนว่าจะเล่าผ่านแบรนด์ขนส่งได้

“ในช่วงโควิด เราเห็นว่าขนส่งเข้ามาช่วยส่งของจำเป็น เช่น ถุงยังชีพแต่โปรเจกต์นี้ทำมากไปกว่านั้นคือการท้าทายวงการ ตั้งคำถามว่าขนส่งทำอะไรมากกว่าส่งของได้ไหม เราพูดถึงเรื่องดีไซน์หรือการสื่อสารบอกเล่าปัญหาผ่านขนส่งได้ไหม

“เราอยากรู้ฟีดแบ็กว่าการที่ขนส่งเจ้าหนึ่งเริ่มต่อจิ๊กซอว์ตัวแรกจะสร้างโมเมนตัมอะไรต่อ ปีหน้าเราอาจจะได้เห็นแบรนด์ที่ทำธุรกิจอื่นๆ พูดเรื่องปัญหาสังคมมากขึ้น ได้เห็นแบรนด์ที่ไม่ได้หาเงินอย่างเดียว แต่ยังเอาความเชี่ยวชาญของตัวเองมาทำประโยชน์ สร้างสรรค์ได้เหมือนกัน” ส้มเล่าในมุมมองของแบรนด์ที่ดูห่างไกลจากปัญหาการศึกษาสุดๆ

“เราว่า Limited Education ทำหน้าที่นี้แหละ ถ้าถามถึงตัวเงิน ปัญหาการศึกษามันใหญ่มาก เงินที่เราระดมทุนได้อาจจะไม่สามารถช่วยน้องๆ ที่ประสบปัญหาทุกคนในประเทศนี้ได้ แต่ถ้ามันสามารถหย่อนคำถามในคนบางคน ในแบรนด์บางแบรนด์ว่า เฮ้ย แล้วฉันทำอะไรเพื่อการศึกษาได้บ้างเราก็ดีใจมากแล้ว” พิสรุปพร้อมรอยยิ้ม

อย่างที่บอกไว้ แน่นอนว่าหากระบบในภาพใหญ่ยังไม่ขยับก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ Limited Education จะแก้ปัญหาการศึกษาได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่คนกลุ่มนี้อาจเป็นกำลังที่จุดประกายให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่าเราทุกคนล้วนทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือสังคมได้

ไม่ว่าจะเป็นครีเอทีฟเอเจนซี ศิลปิน บริษัทขนส่ง หรือแม้แต่เราทุกคนเองก็ตาม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย