Limited Education: การกลับมาของแคมเปญเพื่อการศึกษาที่เล่าปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านการชิม ช้อป ชิลล์

Highlights

  • ปีที่แล้ว ต่อให้คุณไม่ใช่สายขนมหวานก็น่าจะเคยเห็น 'ขนมปังเนยโสด' ของ After You ในแพ็กเกจจิ้งที่มีลายมือโย้เย้แบบเด็กๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Limited Education ที่มีเป้าหมายช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
  • Limited Education คือโครงการที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2017 ด้วยเป้าหมายที่อยากสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นกับเด็กไทย ไปพร้อมๆ กับเป้าหมายในการเปลี่ยนวิธีการช่วยเหลือของคนทั่วไปให้น่าสนใจมากกว่าเพียงการบริจาคเงิน ภายใต้แนวคิด เปลี่ยนการศึกษาไทย ให้เป็นของ (ไม่) ลิมิเต็ด
  • ในขวบปีที่ 3 นี้ โครงการร่วมมือกับแบรนด์ได้มากและหลากหลายขึ้น ทั้งยังขยายประเด็นปัญหาการศึกษาให้ครอบคลุมกว่าเดิม โดยจับคู่ปัญหากับท่าทางและน้ำเสียงของแต่ละแบรนด์ ภายใต้ธีม ‘ยิ่งช้อป ยิ่งได้ลด (ความเหลื่อมล้ำ)’

เมื่อปีที่แล้ว ต่อให้คุณไม่ได้เป็นสายของหวานนั่งคาเฟ่ก็น่าจะเคยเห็นโปรดักต์หนึ่งของ After You ที่ป้ายคาดกล่องเขียนด้วยลายมือเด็กๆ ตัวโย้เย้ว่า ‘ขนมปังเนยโสด’

หลายคนอาจไม่รู้ มองว่านั่นเป็นการตลาดแบบใหม่ที่ทำให้โดนใจลูกค้ามากขึ้น จนยอดขายถล่มทลายทำขายแทบไม่ทัน แต่หากศึกษาเพิ่มอีกนิด อ่านแนวคิดเบื้องหลังฟอนต์ลายมือเด็กและคำผิดที่ดูน่ารักเพิ่มสักหน่อย คุณจะรู้ว่าขนมสุดฮิตชิ้นนั้นทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Limited Education ที่มีเป้าหมายช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของประเทศไทย ปัญหาเรื้อรังที่เราต่างพูด ได้ยิน หรืออาจประสบด้วยตัวเองกันมาเนิ่นนาน

นอกจาก After You แล้ว ยังมีแบรนด์อื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็น Greyhound, Club21, B2S, LOVEiS และอีกมากมาย

Limited Education คือโครงการที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2017 ด้วยเป้าหมายที่อยากสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นกับเด็กไทย ไปพร้อมๆ กับเป้าหมายในการเปลี่ยนวิธีการช่วยเหลือของคนทั่วไปให้น่าสนใจมากกว่าเพียงการบริจาคเงิน ภายใต้แนวคิด เปลี่ยนการศึกษาไทย ให้เป็นของ (ไม่) ลิมิเต็ด

โครงการปีแรกเริ่มจากการร่วมมือกับแบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติไทยอย่าง Greyhound ที่ออกแบบเสื้อยืดคอลเลกชั่นพิเศษด้วยตัวอักษรจากลายมือจริงของเด็กๆ ผู้เผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ กลายมาเป็นเสื้อยืดคําผิดที่มีชื่อเขียนผิดของผู้ร่วมบริจาค จนระดมทุนไปได้ถึง 2 ล้านบาท ก่อนชวนแบรนด์อื่นๆ มาร่วมโครงการได้มากขึ้นในปีที่ 2 ซึ่งหนึ่งในผลิตผลครั้งนั้นก็คือขนมปังเนยโสดนี่แหละ

มาปีนี้ Limited Education ชวนแบรนด์มาร่วมโครงการได้หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Bar B Q Plaza, After You, อินทนิล, ชาตรามือ, SF, Grey Ray และร้านของฝากเจ๊เค็ง ที่มาร่วมออกแบบสินค้ารูปแบบพิเศษในจํานวนจํากัดเพื่อวางขายทั้งทางหน้าร้าน และทางแอพพลิเคชั่น Shopee ทั้งยังขยายประเด็นปัญหาการศึกษาให้ครอบคลุมขึ้นโดยจับคู่ปัญหากับแนวทางและวิธีการเล่าของแต่ละแบรนด์

ในฐานะที่เดือนกันยายนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ในขวบปีที่ 3 บวกกับ UNESCO กำหนดให้วันที่ 8 กันยายนเป็น International Literacy Day (วันการเรียนรู้หนังสือสากล) เราจึงชวนทีม Glow Story ได้แก่ พิ–พิริยะ กุลกาญจนาชีวินบี๋–นภัส มุทุตานนท์ ผู้เป็นโต้โผแคมเปญ และ นัด–ณัฐชยา จรรยาพาณิชย์ Visual Director ที่มาช่วยเสริมทัพโครงการ พูดคุยกันถึงบทเรียนที่ได้รับและคอนเซปต์ ‘ยิ่งช้อป ยิ่งได้ลด (ความเหลื่อมล้ำ)’ ในปีนี้

ปีนี้แคมเปญครบรอบ 3  ปี พวกคุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำแคมเปญเพื่อการศึกษามา 2 ปี

บี๋ : ถ้าย้อนกลับไปปีแรกที่เราเป็นพาร์ตเนอร์กับ Greyhound บทเรียนที่ได้คือ เราสามารถเปลี่ยนประเด็นการศึกษาที่ดูน่าเบื่อเป็นเรื่องสนุกได้ ด้วยการเอาสตอรีไปจับหรือหยิบอินไซต์ของคนทั่วไป เช่น คนที่เดินในห้างอาจไม่ได้สนใจเรื่องการทำ CSR แต่เขาไปห้างเพื่อช้อปปิ้ง พอรู้ว่าเขาสนใจการช้อปปิ้ง เราก็ไปเจอจุดสำคัญที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนทั่วไปในสังคมกับประเด็นยากๆ ด้านการศึกษา นั่นคือพลังของแบรนด์และมีเดีย พอเราไปเจออินไซต์ตรงนี้ตั้งแต่ปีแรก และทำโครงการกับ Greyhound สำเร็จ เราก็พยายามขยายอิมแพกต์ไปเรื่อยๆ

ปีที่สองเราตั้งโจทย์ใหม่ว่าถ้าเราขยายเครือข่ายแบรนด์ล่ะ มีแบรนด์หลายๆ แบบมาร่วมกัน อาจไม่ใช่แค่แบรนด์แฟชั่น แต่เป็นแบรนด์ด้านอาหารหรือแบรนด์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ ปีที่ 2 เราเลยไปหาแบรนด์ที่หลากหลายขึ้น พอปีที่ 3 เราก็เพิ่มแบรนด์ โดยเน้นแบรนด์ที่ใหญ่ขึ้น แบรนด์ที่มี brand love มากขึ้น

นัด : เหมือนพี่ๆ ปูทางมาตั้งแต่ปีแรก เราเข้ามาปีที่ 2 ก็ช่วยดูแลภาพรวม เป็นปีนี้มากกว่าที่กระโดดลงมาทำเต็มตัว รู้สึกว่าสิ่งที่เป็นบทเรียนจากปีก่อนน่าจะเป็นประเด็นที่อยากทำให้การบริจาคไม่ได้เป็นเรื่องน่าสงสาร ทำให้มันดูสนุกขึ้น คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เหมือนปีนี้เราดึงเรื่องการเป็นร้านค้า การเป็นช้อปปิ้งมอลล์ให้สุดทางมากขึ้น เปลี่ยนมู้ดจากการเข้าร่วมโครงการนี้โดยการบริจาคเป็นการทำให้คนตระหนักถึงปัญหาผ่านการที่เขาสนุกไปด้วย ของก็น่าสนใจ เงินที่จ่ายซื้อของก็เข้าน้องๆ

จากกระแสที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าโครงการประสบความสำเร็จมากทีเดียว

พิ : ปีแรกค่อนข้างประสบความสำเร็จมากทั้งรางวัลและตัวเงินที่ช่วยมูลนิธิระดมทุนได้ เราได้เรียนรู้เยอะมากว่าเราเล่าประเด็นการศึกษาในรูปแบบที่สนุกและป๊อปแบบนี้ก็ได้ เล่าผ่านป้ายเซล คนละเรื่องกันสุดๆ ไปเลย ตอนนั้นได้ ADMAN Awards เยอะมาก เป็นสิบๆ รางวัล โชคดีที่ทางพี่ๆ ชูใจ กะ กัลยาณมิตรชวนเราเข้าไปช่วยทำโครงการและต่อยอดจนส่งเข้าประกวด เลยได้เป็นส่วนหนึ่งของรางวัล ADMAN Awards กับพี่ๆ เขา แต่สิ่งที่เรารู้สึกคือ เราไม่ได้ทำงานเพื่อสิ่งนี้ ขึ้นไปรับรางวัลก็โหวงๆ โมเมนต์นั้นทำให้เราเห็นตัวเองชัดขึ้น เราไม่ได้อยากเป็นเอเจนซีที่ทำงานเพื่อรางวัล เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรามาทำงานเพื่ออิมแพกต์หรือเปล่า เงิน 2 ล้านที่ระดมทุนได้ภายใน 2 อาทิตย์ดูเป็นตัวเลขที่เยอะมาก แต่มันช่วยได้แค่โรงเรียนเดียวต่อปีเพราะปัญหาการศึกษาเหมือนทะเล กว้างมาก คลื่นหนักมาก สิ่งที่เราเข้าไปทำมันดูยิ่งใหญ่ในเชิงมีเดีย สื่อ และการมีส่วนร่วม แต่ตัวเงินที่แก้ปัญหาเป็นเพียงแค่หยดน้ำเล็กๆ ของมหาสมุทรเท่านั้นเอง เราก็มาดูว่าโจทย์จริงๆ มันคือการระดมทุนให้ได้เยอะที่สุดหรือเปล่า มันคือการทำให้ได้ยอดเงินบริจาคมากที่สุดหรือเปล่า

เรารู้สึกว่าปัญหาการศึกษามันใหญ่มากเกินกว่าที่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง มูลนิธิใดมูลนิธิหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งจะแก้ได้ เราเชื่อว่ามันต้องทำแบบพี่ตูน คือการขอเงินร้อยล้านจากองค์กรใดองค์กรหนึ่งคงขอได้ แต่ทุกคนจะไม่รับรู้และมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้เลย ดังนั้น 10 บาทจากทุกคนทั่วประเทศมีค่ามากกว่าร้อยล้านพันล้านจากคนใดคนหนึ่งอยู่แล้ว เราเลยคิดว่าสิ่งที่อยากให้โครงการนี้ที่มีความเป็นเหมือนลูกที่เราเลี้ยงมาตั้งแต่วันแรกให้มันโต ไม่ได้อยากให้เป็นแคมเปญที่เหมือนพลุ จุดแล้วหายไป แต่เป็นโมเดลที่ยั่งยืน สามารถเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วมของทั้งมูลนิธิและคนอื่นๆ

เราเลยโฟกัสเรื่องความยั่งยืนของโครงการ ต้องทำยังไงให้โมเดลวินกับทุกฝ่ายจริงๆ แบรนด์ก็แฮปปี้ ทางมูลนิธิเองก็ยังคงความเชื่อของตัวเองได้ ส่วนคนที่มีส่วนร่วมไม่ได้ให้เงินเพราะความสงสาร เรารู้สึกว่าไอ้ความสงสารนี้เหมือนจะดี แต่ในมุมหนึ่งมันก็ทำร้ายเหมือนกัน พอสงสารปุ๊บมันก็ไม่ได้เข้าใจปัญหาจริงๆ หรือรู้สึกว่าเรามีส่วนร่วมในการแก้สิ่งนั้นได้ยังไง และเรารู้สึกว่าการให้ในองศาของความสงสารคือผู้ให้ที่สูงกว่า ผู้รับที่ต่ำกว่า ผู้ให้จะรู้สึกดี แต่ผู้รับจะรู้สึกยังไง เราไม่อยากให้เป็นความรู้สึกแบบนั้น เรารู้ว่าคนเท่ากันนี่แหละ มันเป็นปัญหาที่ระบบ ซึ่งเราจะช่วยกันในความเป็นมนุษย์ที่เท่าๆ กันนี่แหละได้ยังไงบ้าง

มีคำวิจารณ์ไหนที่คิดว่าเป็นประโยชน์และนำมาต่อยอดได้

นัด : ปีที่แล้วมีคนทักเข้ามาเรื่องการขนส่ง สั่งของนานมากกว่าจะได้ เพราะเราต้องจัดการกันเองหมด ทางมูลนิธิต้องแพ็กของเองเลยใช้เวลานาน ปีนี้เราเลยพาร์ตเนอร์กับ Shopee ที่เป็น market place เขาก็ช่วยดูแลด้านการขนส่งสินค้าให้

บี๋ : ปีก่อนๆ เรารู้สึกว่าสื่อสารปัญหาได้ไม่ดีพอ เหมือนเราหยิบประเด็นมาจับคู่กับสตอรีแล้วทำให้มันเซ็กซี่ อันนี้คือ check box ที่เราทำได้ แต่พาร์ตหนึ่งที่อยากทำมากกว่าในปีนี้คือ การสื่อสารถึงปัญหาที่ลึกซึ้งมากขึ้น เหมือนปีก่อนๆ เราทำแค่มีปัญหานี้จ้า หนึ่งพอยต์ เรามาช้อปปิ้งกัน แต่ปีนี้เราอยากประยุกต์ปัญหาอื่นๆ อย่างโภชนาการ การศึกษา การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ให้อยู่ในวิธีการสื่อสารของเรา และวิธีการที่แบรนด์จะช่วยสื่อสาร เช่น การจับคู่ปัญหากับแบรนด์ต่างๆ เขาจะได้ช่วยสื่อสารประเด็นปัญหาด้านการศึกษาที่ไม่เหมือนกัน แล้วเราก็รู้สึกว่าพาร์ตที่สำคัญมากในการทำโมเดลแบบนี้ให้ยั่งยืนคือก้อนที่เป็นความโปร่งใส คนน่าจะอยากรู้และเข้าใจว่าเงินที่ให้ไปมันไปช่วยตรงไหนเหรอ เงินมันไปช่วยโรงเรียนจริงๆ หรือเปล่า โรงเรียนอะไรบ้าง เราเลยสร้างเว็บไซต์ขึ้นมา เพื่อสื่อสารว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่เราสนใจ แล้วอิมแพกต์ของโครงการมีอะไร เช่น เงินแต่ละปีไปอยู่ที่ไหนบ้าง แต่ละแบรนด์ช่วยบริจาคมาคนละเท่าไหร่ มันจะได้มีความโปร่งใส และคนไม่กังวลว่าเรามาหลอกเขาหรือเป็นแค่วินของแบรนด์

แล้วเงินบริจาคที่โครงการได้มันแปรไปเป็นอะไรบ้าง

พิ : ส่วนหนึ่งที่เราแฮปปี้ในการทำงานกับเครือข่ายร้อยพลังการศึกษามากๆ คือ รู้สึกว่ารูปแบบในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของเขาไม่ใช่การโยนเงินตู้มแล้วคิดว่าเงินจะแก้ปัญหาทั้งหมด เพราะเขาเข้าไปดูว่าโรงเรียนต้องการอะไรจริงๆ และเริ่มจากโรงเรียนที่ขาดแคลนยากจนก่อน เขาก็ไปรีเสิร์ชมาว่าแต่ละโรงเรียนขาดอะไร บางโรงเรียนอาจขาดครูสอนภาษาอังกฤษ ไม่มีเงินจ้างครูต่างชาติ เราสามารถลดค่าใช้จ่ายแล้วใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้หรือเปล่า ก็มีฝั่ง Learn Education เข้าไป หรือบางโรงเรียนขาดครูแนะแนว ทาง a-chieve ก็เข้าไป

เราชอบที่เขามองว่าปัญหาการศึกษาไม่ได้โยนเงินไปแล้วจบ เขาเข้าไปดูว่ารากปัญหาเป็นยังไง แต่ละที่มีบริบทต่างกัน เขาก็ดูเครื่องมือที่ใช้ ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้กับโรงเรียนนั้นๆ โดยเฉพาะมันอาจไม่ใช่ว่าทำแคมเปญนี้แล้วเด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้ 3,000 คน การศึกษาเป็นเรื่องระยะยาว ต้องใช้เวลา มันมีความคืบหน้า มีกระบวนการจากที่ค่อยๆ หย่อนเมล็ดแล้วลดช่องว่างระหว่างความเหลื่อมล้ำของเด็กในเมืองกับเด็กที่ขาดโอกาสไปเรื่อยๆ ผ่านเครื่องมือพวกนี้

ปีนี้มีวิธีการยังไงในการคัดเลือกแบรนด์เพื่อร่วมโครงการ

บี๋ :  เราดูว่าคนไทยชอบทำอะไร ก็ชอบช้อป ชอบกิน ชอบดูหนัง พอตั้งต้นแบบนี้ก็มาเลือกแบรนด์ภายใต้แกนพวกนั้นว่ามีแบรนด์ไหนที่คนไทยหรือคนกรุงเทพฯ มองแล้วมี brand love มีทั้งเปิดรับสมัคร มองหาแบรนด์ที่สนใจ หรือแบรนด์อื่นๆ ที่เคยเห็นมาตั้งแต่สองปีแรก เขาก็ทักมาหาเราเหมือนกันว่าน่าสนใจจัง อยากเข้าร่วมโครงการ พอโครงการมันน่าสนุกและเล่าประเด็นการศึกษาในอีกมุมหนึ่ง แบรนด์ก็สนใจเข้ามาช่วยเต็มที่ เพราะของที่เราขอให้เขาทำเยอะกว่าปกติด้วยซ้ำ ปกติเขาให้เงินก็จบแล้ว

แต่อันนี้เราขอให้เขามาช่วยกันคิด มาครีเอทีฟด้วยกันว่าเขาจะออกโปรดักต์อะไรที่จะเป็นลิมิเต็ดเอดิชั่น โดยเป็นทั้งน้ำเสียงของเขาและเป็นของที่สื่อสารเรื่องการศึกษาด้วย ดีไซน์ด้วยการเอา CI ของเราไปประกบ เราเลยขอแรงจากแบรนด์ค่อนข้างเยอะ แต่แบรนด์ก็ให้เราเยอะมาก เหมือนตั้งใจทำไปด้วยกัน เพราะเราพยายามทำโมเดลที่วิน-วินกันทั้งสองฝ่าย ทางแบรนด์เองก็ได้ขายของ และสื่อสารว่าเขาเองก็เป็นแบรนด์ที่สนใจและอยากช่วยเหลือด้านการศึกษาด้วย ฝั่งเราเองก็ได้พลังจากแบรนด์ที่จะกระจายสารนี้ออกไปยังวงกว้างขึ้น และได้รับเงินบริจาคที่มาจากการซื้อของของคนด้วย เป็นโมเดลที่ช่วยกันทั้งสองฝั่ง

ตอนนี้มีโปรดักต์ไหนที่น่าสนใจและใกล้เสร็จแล้วบ้าง

บี๋ :  Bar B Q Plaza จะมีเมนูที่มอบให้โครงการ เป็น 3 เมนู มีไอศครีมบัวลอยไข่เค็มที่อร่อยมาก ชาเย็นโฟลต และเยลลี่กาแฟ เป็นการบริจาคหลังหักค่าใช้จ่าย มีกระเป๋าพี่ก้อนที่เป็นอีกโปรดักต์ที่เขาอยากลองปล่อยออกมาด้วย

พิ : อย่าง Grey Ray ที่เราเห็นบ่อยๆ เป็นที่ต่อดินสอ โปรดักต์พระเอกของเขา ดินสอที่เขียนจนกุด เหลาไปเรื่อยๆ จุดหนึ่งจะเขียนต่อไม่ได้ แต่เขามีที่ต่อดินสอด้วยความเชื่อที่ไม่อยากเสียสิ่งเหล่านี้ไป น่าจะมีที่ต่อดินสอที่บอกเล่าถึงการต่อโอกาสทางการศึกษา เหมือนบางคนมองว่าเด็กไม่มีความรู้เขียนได้แค่นี้ทำอะไรไม่ได้หรอก เหมือนดินสอที่กุดแล้ว แต่ Grey Ray อยากบอกว่าทุกคนสามารถต่อโอกาสนั้นๆ ได้ถ้าเราแชร์และช่วยเหลือกัน หรือตัวสมุดที่เขาทำจากวัสดุรีไซเคิลจากกล่องนม ซึ่งนมเป็นสิ่งที่เด็กๆ ควรกิน แต่มีการโกงนมโรงเรียน มันสามารถเอา element เหล่านี้มาเล่าผ่านการดีไซน์ได้

บี๋ : ส่วน SF Cinema จะเป็นบัตรสมาชิกดีไซน์พิเศษวางขายเฉพาะในช่วงนี้ ส่วน Club21 จะทำกระเป๋าแฟชั่น ร้านของฝากเจ๊เค็งทำกุนเชียงกับข้าวตังสูตรใหม่ที่เขาอยากลองปล่อย อินทนิลอยากทำเป็นแก้วเก็บความเย็นลายพิเศษ ส่วนชาตรามือจะเป็นการทำเมนูมอบให้ คือชาไทยที่ขายดีที่สุด เป็นชาไทยสำหรับการศึกษา ส่วน After You เป็นขนม เพราะปีนี้เขาอยากเปิดตัวเมนูของหวานอันใหม่เหมือนกัน อยู่ในกระบวนการเทสต์สูตร เลยใช้เวลานิดนึง ทั้งหมดจะมี Shopee เข้ามาดูแลการขนส่ง และเราเองก็ทำเสื้อเป็นลายมือน้องๆ และสติกเกอร์ไลน์เล่นต่อ

สุดท้ายแล้ว คิดว่าโครงการนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้จริงๆ ไหม

พิ : เราว่าแคมเปญนี้แคมเปญเดียวพลิกปัญหาการศึกษาของประเทศนี้ไม่ได้หรอก สิ่งที่ Limited Education หรือ Glow Story ในฐานะที่ร่วมมือกันทำสิ่งนี้กับเครือข่ายร้อยพลังการศึกษา มันน่าจะคล้ายๆ กับความเชื่อเรา เป็น change catalyst เรารู้ว่าหลายๆ คนหงุดหงิดกับปัญหาที่เจอ สังคมที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคนในภาคธุรกิจ เจ้าของแบรนด์ เอ็นจีโอ หรือคนทั่วๆ ไป แต่สิ่งที่บล็อกเราเอาไว้ทำให้ทุกคนไม่มีส่วนร่วมตอนนี้คือการที่คิดว่า เราตัวเล็กจะไปทำอะไรได้ เราเป็นพนักงานออฟฟิศ เราทำบริษัท เราไม่ได้เป็นรัฐมนตรีในกระทรวง เราไม่ได้เป็นครู ครูก็บอกว่าเป็นครูตัวเล็กๆ แก้ระบบไม่ได้หรอก คนที่อยู่ข้างบนในแวดวงการศึกษาออกนโยบายก็คิดว่าคนข้างล่างไม่เชื่อไม่เห็นตรงกันก็แก้ไม่ได้หรอก ทุกคนรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ไปหมดเลย

แต่เราว่าโครงการนี้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความเชื่อ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณจะขายกาแฟ ขายเสื้อผ้า เปิดร้านขนมหวาน ขายกุนเชียง คุณก็สามารถมีส่วนแก้ปัญหาตรงนี้ได้ คุณจะเป็นสื่อแบบไหนก็ตาม รายการทีวี บล็อกเกอร์รีวิวอาหารรีวิวหนังอะไรก็แล้วแต่ คุณก็มีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ แล้วคนที่เขาอยู่หน้างาน คนที่เป็นเอ็นจีโอ หรือครู ด้วยอาชีพเขาต้องเป็นคนเปลี่ยน เป็น change maker ที่พอเราไปคุยไปคลุกคลีก็รู้ว่าเขาท้อเหมือนกัน แล้ววันที่เขาเห็นว่ามีคนไม่น้อยร่วมมือกันลงขันลงแรงเพื่อช่วยกันสนับสนุน เพื่อบอกว่างานที่เขาทำมันสำคัญแค่ไหน เราว่านี่น่าจะเป็นเป้าหมายหลักๆ ของ Limited Education มากกว่า

เหมือนสร้างแรงกระเพื่อมให้คนทั่วไปที่อาจไม่ได้อินเรื่องการศึกษาแต่อาจไปอินกับปัญหาอื่นๆ ด้วยก็ได้

พิ : ถ้าโครงการนี้สามารถสร้างความเชื่อว่าทุกคนไม่ว่าจะใคร อยู่ตรงไหน มีเงินมีทรัพยากรมากน้อยแค่ไหนก็สามารถร่วมช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ตรงนี้จะเป็นจุดที่ส่องประกายต่อไป เพราะแต่ละคนมีเรื่องที่หงุดหงิดและอินต่างกัน บางคนเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม บางคนเรื่องการเมือง บางคนอินเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาอาจจะลองเอาสิ่งที่พวกเราได้ล้มได้พลาดกันไปเป็นบทเรียน ถ้าเขาอยากเล่าประเด็นปัญหาแบบนี้และสร้างการมีส่วนร่วม เขาสามารถทำยังไงได้บ้าง มันไม่ต้องเล่าแบบเดิมๆ ก็ได้นี่นา มันสามารถออกมาเป็นรูปแบบไหนได้บ้าง ก็อาจไปจุดประกายคนที่อยากเปลี่ยนเหล่านี้

และเราหวังว่าแคมเปญนี้จะเป็นตัวเร่งอย่างที่ Glow Story พยายามเป็นตัวเร่งให้ change maker ทำสิ่งที่ทำอยู่แล้วให้ดีมากขึ้น หรือคนที่ยังไม่ได้ทำก้าวขึ้นมาทำ ไม่ว่าจะแบรนด์หรือคนทั่วไป ก้าวขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในแบบของตัวเอง


ติดตามโครงการ Limited Education ได้ที่เพจ LimitedEducationThailand

AUTHOR