พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน แห่ง Glow Story คนขี้เล่าที่ชอบช่วยคนเล่าเรื่องเพื่อเขยื้อนสังคม

หลายคนรู้จักและจดจำ พิ-พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน จากตำแหน่งคิวเรเตอร์ของงานทอล์กที่มีชื่อเสียงอย่าง TEDxBangkok แต่ถ้าลองถอดแบรนด์ติดตัวนั้นออกไป ชายหนุ่มวัย 25 ได้นิยามตัวเองแบบสั้นๆ ไว้ในอินสตาแกรมส่วนตัวว่า – I help people tell story for a living

ส่วนเราขอนิยามความเป็นตัวเขาแบบยาวๆ ดังนี้ – ผู้ชายใส่แว่นตัวเล็กๆ นิสัยร่าเริง เป็นผู้ใหญ่ สุภาพ แต่ก็มีความกล้าที่จะเชื่อและลงมือทำในแนวทางของตัวเอง ไม่อย่างนั้นเขาและเพื่อนคงไม่สามารถเปิดบริษัท Glow Story ขึ้นมาสำเร็จจนทุกวันนี้

สมัยนี้วัยรุ่นจะเปิดบริษัทกับเพื่อนอาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ Glow Story เป็นเหมือนลูกครึ่งระหว่างบริษัทผลิตคอนเทนต์กับอีเวนต์ออร์แกไนเซอร์ ที่ชอบหยิบเอาเนื้อหายากๆ มาย่อย คัดสรร และบอกเล่าใหม่โดยไม่จำกัดรูปแบบ ด้วยความหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ด้วย อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไป—พวกเขาไม่ใช่หน่วยงานเพื่อสังคม นี่คือบริษัททำธุรกิจที่หาเงินด้วยการช่วยคนอื่นเล่าเรื่อง แต่ผลลัพธ์ของมันมีอะไรน่าสนใจมากกว่านั้น

ในงาน Last Talk พวกเขาจัดนิทรรศการเรื่องความตายที่ดึงดูดให้วัยรุ่นมาร่วมงานได้มากมาย คิดแหวกด้วยการเชิญสัปเหร่อมาขึ้นเวทีทอล์ก หรือแม้กระทั่งเอาโลงศพมานำเสนอข้อมูลน่าเบื่อได้น่าสนใจ

ในแคมเปญ Limited Education ที่ทำงานร่วมกับแบรนด์ Greyhound พวกเขาสร้างการตระหนักเรื่องปัญหาการศึกษาในเด็กด้วยการขายเสื้อยืดสกรีนลายมือเด็กๆ ระดมทุนได้กว่า 2 ล้านภายใน 2 สัปดาห์

หรือในทริป เกิดอะไรขึ้นที่น่าน ที่จัดร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง พวกเขาเล่าเรื่องปัญหาเขาหัวโล้นด้วยการจัดทริปพาคนเข้าป่า ปลุกให้คนในทริปหลายคนลุกขึ้นมาสื่อสารสร้างความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในวงกว้างต่อไป

พิริยะผู้เป็นหัวหอกฝั่งคอนเทนต์ตั้งใจใช้การเล่าเรื่องเป็นอาวุธหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในสังคม ถ้าอยากรู้ว่าเขากับเพื่อนคิดและทำกันอย่างไร คงไม่มีอะไรดีกว่าฟังพิริยะเล่าในบรรทัดถัดไป

คุณมีนิสัยชอบเล่าเรื่องอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่

เราเป็นเด็กตัวเล็กสุด เป็นไอ้แว่นประจำห้อง ไม่ใช่คนเล่นกีฬาเก่ง เรียนก็โอเค แต่มันไม่ใช่สิ่งที่วัยรุ่นจะให้การยอมรับขนาดนั้น จุดขายของเราเลยเป็นความช่างพูดช่างคุย เราเป็นเด็กกิจกรรม เป็นหัวหน้าห้อง เคยขึ้นไปพูดหน้าเสาธงเพื่อเรี่ยไรเงินมาจัดคอนเสิร์ตของโรงเรียน นอกจากนี้เราก็ชอบทำให้คนหัวเราะ ชอบเอนเตอร์เทนคน

เราเริ่มอินเรื่องคอนเทนต์มากขึ้นตอนเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยความที่เป็นธรรมศาสตร์ คลาสเรียนก็จะมีการตั้งคำถามเยอะ แล้วเราก็ได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่สำคัญกว่าความรู้คือการตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเคยเจอต่างหาก เราเริ่มทำกิจกรรมที่เข้มข้นขึ้น เป็นประธานคณะ ทำละครเวทีล้อการเมือง ที่โหดสุดคือการโต้วาที ที่ชมรมปาฐกถาและโต้วาที มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สิ่งแวดล้อมอะไรที่หล่อหลอมให้คุณอินกับการเล่าเรื่องขนาดนั้น

เราว่าเรามีความเป็นชายขอบอยู่ในตัวมาตั้งแต่เด็กๆ เราเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นคนพิการ เขามีอาการเหมือนโรคโปลิโอลงกระดูก ทำให้เป็นคนหลังค่อม ตอนเด็กๆ จะโตมากับเรื่องของพ่อว่าสมัยก่อนตอนกระดูกไม่แข็งแรง ต้องดามเฝือกปูนช่วงตัว ใส่เกราะปูนเหมือนนินจาเต่า และพอเป็นคนจนก็เลยไม่ได้เปลี่ยนเฝือกบ่อย สามเดือนไม่ได้อาบน้ำ เวลาเพื่อนเตะบอลก็ได้แต่นั่งดูเขา เราโตมากับเรื่องเล่าแบบนี้

เวลาไปเดินห้าง พ่อจะถูกคนอื่นมองว่าทำไมคนนี้ตัวเล็กจังเลย เขาเป็นอะไร มันผลักดันอะไรบางอย่างในตัวเราเหมือนกัน เราสงสัยว่า ทำไมวะ เขาก็เก่งในแบบของเขา เขามีเรื่องราวของตัวเอง เขาทำธุรกิจจนเลี้ยงเรากับพี่ขึ้นมาได้เลยนะ

แม้แต่ตอนเรียน เราเรียนโรงเรียนรัฐบาลท้องถิ่นชื่อบางปะกอกวิทยาคม เพื่อนที่ตอนแรกๆ ซี้กันไปมีเรื่องกับโรงเรียนอื่น โดนฟันแขนแหว่งกลายเป็นจิ๊กโก๋เดินในซอย เพื่อนอีกคนที่นิสัยดีมาก ทำอีท่าไหนไม่รู้เขาก็ไปค้ายา ไปเยี่ยมอีกทีคือเขาเอ๋อไปแล้ว เราได้เห็นปัญหาในเชิงลึกมากๆ แต่ขณะเดียวกันเราก็ได้กระโดดมาฝั่งสังคมกลุ่มเด็ก AFS ที่ได้ไปเปิดโลกข้างนอก เราเลยเห็นช่องว่างอยู่ตลอดเวลา

ตอนเรียนธรรมศาสตร์ ครูบาอาจารย์ก็คอยขยี้ให้เราเห็นช่องว่างเหล่านี้ในเชิงโครงสร้าง ยิ่งพอโต้วาที เราก็เริ่มจับประเด็นสังคม เริ่มเปลี่ยนจากสายเอนเตอร์เทนมาเป็นแบบ information based มากขึ้น แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้ชอบฟอร์มของการโต้วาทีขนาดนั้น เราเข้าใจนะว่านี่คือการแข่งขัน แต่ความจริงไม่ได้มีแค่ด้านเดียว ถ้าจบลงที่การแพ้ คนแพ้ก็ต้องเฟลอย่างนั้นเหรอ ทั้งที่สิ่งที่เขาต่อสู้อาจเป็นอีกเรื่องนึงก็ได้

จำได้เลยว่าแมตช์สุดท้ายเป็นการโต้วาทีในญัตติว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเกิดจากคนขาดคุณธรรมหรือระบบอ่อนแอ เราได้พูดเรื่องระบบอ่อนแอซึ่งก็อินมาก แต่สุดท้ายอีกทีมชนะเพราะคะแนนด้านวาทศิลป์ พอมาเจอ TED มันเป็นฟอร์มที่เราอินมากกว่า เพราะไม่ตัดสินว่าไอเดียไหนผิด คุณเลือกเองว่าจะฟังข้อมูลชุดไหน

ประสบการณ์ทำงาน TED ครั้งแรกที่ TEDxChiangmai ส่งผลต่อคุณยังไงบ้าง

มันเป็นงานอาสาก็จริง แต่นั่นเป็นองศาเดียวที่เปลี่ยนเราไปทั้งชีวิตเลย ระหว่างสปีกเกอร์พูด pitch ไอเดีย อาสาสมัครจะเป็นคนให้ฟีดแบ็ก เราเป็นเด็กสุดก็จะอายไม่ค่อยกล้าพูด แต่หลังจากนั้นมีคนหลังไมค์มาว่าชอบฟีดแบ็กเรา อยากนัดเจอนอกรอบ เราก็ทำไปโดยไม่รู้หรอกว่านั่นคือการคิวเรต พอจบงานแล้วถามพี่ที่ทำงานด้วยว่ามีอะไรจะแนะนำไหม พี่เขาสังเกตว่า ‘พิช่วยคนเล่าเรื่องได้’ มันมีประโยคนี้ขึ้นมา ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่ามันจะกลายเป็นอาชีพได้ แค่รู้สึกว่ามีคนเห็นคุณค่าในงานนี้ของเรา เลยเริ่มสังเกตตัวเอง

พอกลับมาจากเชียงใหม่เราเริ่มฟอร์มทีม TEDxBangkok กัน พี่ๆ ก็ให้เราดูแลพาร์ตคิวเรเตอร์ของงานด้วย ช่วงนั้นทำงานประจำเป็น Senior Event Executive ที่ HUBBA พี่เขาก็ใจดีมาก สนับสนุนเรา ได้ทำงานที่นั่นจนจบ TEDxBangkok ปีแรก แล้วก็เดินไปบอกพี่เขาว่าขอลาออกนะครับ

อะไรทำให้ตัดสินใจแบบนั้น

เพราะเจอเพื่อน เราเจอกับป่าน (ปิยพัทธ์ ปฏิโภคสุทธิ์) ที่เคยฝึกงานที่ HUBBA พอเจอหน้ากันก็คุยถูกคอมาก เราได้แชร์ความฝันของกันและกัน อยากรู้จักมากขึ้นก็เลยชวนมาทำ TED ระหว่างทางก็หาเรื่องมาคุยอัพเดตกัน เราสองคนแฮปปี้กับการได้ช่วยคนเล่าเรื่องมาก สุดท้ายเลยคุยกันว่า ถ้าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราตื่นมาทำทุกวันน่าจะดี ยังไม่รู้เหมือนกันว่าต้องทำยังไง จะมีคนจ้างเราไหม แต่ออกมาหาทางกันก่อน

เห็นภาพแค่ไหนว่าเราจะเล่าเรื่องอะไร

ตอนแรกๆ ก็ฟุ้งๆ งมๆ มาก สิ่งที่คิดว่าทำได้คือทำทอล์กนี่แหละ ปีแรกๆ Creative Move ก็มาจ้างพิเป็นฟรีแลนซ์คิวเรเตอร์ เลยเริ่มคิดว่ามันมีดีมานด์จากตลาดจริงด้วยเว้ย แต่งานแรกที่ทำในฐานะ Glow Story ก็ล้มเลย เฟลเลย

งานอะไร

ที่จริง Hall of Fail ของเรามีไม่น้อยเลย อย่างงานนั้นมันมองที่ฟอร์มเป็นหลัก เอาคนดังมาพูดให้แรงบันดาลใจแต่ขายบัตรไม่ได้ เรารู้สึกว่ามันคือการทำงานที่ไม่ได้เข้าใจคนฟัง ไม่ได้แก้ pain ของใครคนใดคนหนึ่งอย่างชัดเจน แรงบันดาลใจขายไม่ได้หรอก เพราะคนไม่ได้ซื้อแรงบันดาลใจ คนที่เราคุยด้วยแต่ละงานจะมีปัญหาบางอย่างอยู่เสมอ ถ้าเราจับคู่ vision หรือ purpose ในแบรนด์ลูกค้ากับ pain ของคนฟังไม่ได้ งานนั้นจะขาดคุณค่าบางอย่าง วัดผลได้จากที่คนไม่ซื้อบัตร สุดท้ายลูกค้าก็ล้มงาน

ช่วงแรกๆ ล้มลุกคลุกคลานกันมาก งานที่สำเร็จเป็นชิ้นแรกจริงๆ คืองานที่จัดให้ชมรมคนพิการ ชื่อ ‘ธรรมดา 32 พิเศษ 100+’ ผู้มีอุปการคุณมากคือ พี่เตา-บรรยง พงษ์พานิช ซีอีโอของเกียรตินาคินและภรรยา เขาไปช่วยงานชมรมนี้แล้วมาเล่าว่าชมรมนี้กำลังจะไปแข่งขันในงานพาราลิมปิกที่เมืองรีโอเดจาเนโร บราซิล แต่งบมันไม่ถึง นักกีฬาต้องการค่าเดินทาง ค่าอยู่ อยากช่วยระดมทุน เขารู้ว่านักกีฬามีเรื่องราวน่าสนใจ แต่จะเล่ายังไงดี จัดงานยังไงดีให้ช่วยระดมทุนได้ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนพิการในประเทศด้วย

ตอนนั้นพวกคุณทำยังไง

เรานั่งคุยกับคนพิการเยอะมาก ทั้งพี่ๆ นักกีฬา น้องๆ ในโรงเรียนคนพิการ พอเราไม่ได้ทำ TED เราไม่มีแบรนด์ติดตัวเลย แล้วการทำทอล์กที่เหมือน TED นี่ทำไมคนต้องมาฟังล่ะ เรื่องก็โคตรเฉพาะเจาะจง เราเลยต้องเข้าใจก่อนว่าคอนเทนต์เขามีอะไร มีเครื่องปรุงอะไรให้หยิบใช้ได้บ้าง ใครที่ลูกค้าอยากคุยด้วย ลูกค้าอยากคุยกับกลุ่มนักธุรกิจเพื่อให้ระดมทุนได้ แล้วนักธุรกิจกับคนพิการจะมาเจอกันยังไง

พอได้คุย เราได้เก็ตอินไซต์ว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่สังคมมักมอบให้คนพิการคือความสงสาร การช่วยเหลือสนับสนุนจุนเจือ เพราะเราเป็นคนดี เราสงสารเขาจัง แต่นี่คือสิ่งที่ทิ่มแทงคนพิการหลายคนตลอดเวลา เขารู้สึกว่าถ้าทรีตเราแบบนี้ เราก็จะอยู่แค่นี้ คุณไม่ได้เห็นศักยภาพของเราจริงๆ เพราะคุณไม่ได้ให้เราอยู่ในสนามแข่งเดียวกับคุณ บางคนก็เอาสิ่งนี้ไปใช้ในทางที่ผิด สร้างรายได้จากความสงสาร ทั้งที่คนพิการมีศักยภาพมากกว่านั้น เราก็จะสื่อสารว่า คนพิการไม่ใช่ภาระ แต่เขามีพลัง เขาเหนือกว่า เราไม่อยากให้คนมามองต่ำแล้วสงสารจัง ให้เงิน ไม่อยากให้เป็นองศานี้ อยากให้มองสูงว่าพี่แม่งเจ๋งว่ะ

เมสเสจเรื่องคนพิการที่กลุ่มซีอีโออินคือกลุ่มนี้เขามีจุดลำบากในชีวิตเหมือนกัน คนที่ไม่ได้พิการแต่กำเนิดก็มีจุดร่วมเดียวกัน บางคนรถทับ บางคนโดนยิง แล้วพอมีจุดที่เขาเด้งขึ้นมาได้ นี่คือสิ่งที่ซีอีโอนับถือ มันจะนำไปสู่พฤติกรรมการช่วยเหลือสนับสนุนต่างๆ

คุณเชิญใครขึ้นเวทีทอล์กในวันนั้นบ้าง

ในงานมีทั้งนักกีฬา นักธุรกิจที่เป็นคนพิการ นักสื่อสาร ผู้ปกครองที่มีลูกเป็นคนพิการ โค้ช คุณหมอ หรือน้องคนนึงที่ชื่อบี มาจากยะลา น้องเคยเป็นโกลฟุตบอล ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ แต่โดนยิงตอนกลับจากละหมาด ทำให้ร่างกายท่อนล่างใช้การไม่ได้ เคยอยากฆ่าตัวตาย แต่พอมาเจอพี่นักกีฬาคนนึงที่ตลกมาก ถูกคอกันมาก น้องก็เริ่มคิดว่าเขาพิการหนักกว่าแต่ทำไมเขามีความสุขได้ บีเลยเริ่มออกกำลังกายเพราะอยากเป็นนักกีฬาปิงปองเหมือนพี่ๆ สตอรี่นี่ดีมากๆ

โจทย์ของเราไม่ใช่การหาสปีกเกอร์ที่พูดเก่งอยู่แล้ว แต่คือการหาคนที่มีสตอรี่ที่เราคิดว่าใช่ที่สุดสำหรับโจทย์นั้น ทำยังไงจะ glow เรื่องราวของเขาขึ้นมาได้ นี่คือโจทย์ที่เป็น value จริงๆ ของ Glow Story ด้วยซ้ำ

พี่ต้อง (กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร) ให้ความเห็นกับเราว่า สิ่งที่ทำให้บริษัทนี้ไปไกลกว่าอีเวนต์ออร์แกไนเซอร์คือการรีเสิร์ช การลงลึกหาวัตถุดิบทั้งเรื่องราวที่มีคุณค่า เรื่องที่เสิร์ชหาไม่ได้ นี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งลายเซ็นของเรา เราจับทางถูกตั้งแต่ช่วงต้นๆ ว่าจะไม่ทำคอนเทนต์เน้นความเร็ว แต่ทำคอนเทนต์ที่ไทม์เลส อยู่ได้นาน และมีคุณค่ากับใครสักคนในเชิงลึกจริงๆ

ลูกค้าที่เชื่อคุณส่วนมากเป็นคนแบบไหน อยากเล่าเรื่องแบบไหน

ถ้าเป็นประเด็นมันจะมีหลากหลายมากเลย แต่จุดที่เหมือนกันคือเขาบอกปากต่อปากกัน เราไม่เคยไปพิชชิ่งงานเลย ลูกค้าจะมีเป้าหมายเชิงอิมแพกต์ที่ชัดเจน ไม่ได้อยากได้ภาพ CSR ถือป้ายไวนิลไปให้ผู้ใหญ่ดู แต่คำนึงเรื่องเมสเสจว่าเรากำลังจะให้อะไรคนที่มาร่วมงาน นอกจากนี้ก็มักเป็นคนที่พร้อมจะลองอะไรใหม่ๆ เขาจะเปิดกับเรา ถ้าเป็นทอล์ก มันจะเป็นทอล์กแบบไหนได้บ้าง

เช่น งานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่มีประเด็นเรื่องความไม่เข้าใจกันระหว่างคนต้นน้ำกับคนปลายน้ำ เราตีโจทย์ว่าทอล์กไม่ใช่คำตอบ จะคุยเรื่องเขาหัวโล้นให้คนฟังในห้องแอร์ก็ไม่น่าใช่ สุดท้ายเลยออกมาเป็นทริปไปจังหวัดน่านที่เราไม่เฉลยด้วยว่าทริปนี้จะบอกอะไรกับคุณ แต่ตกเย็นเราจะมีกระบวนการคิดให้เขาเชื่อมโยงเองว่าเห็นอะไรบ้าง ลองแปะโพสต์อิท ที่มาของสิ่งนี้มาจากอะไรก็ใช้วิธีเอาด้ายมาร้อยกัน ตรงไหนด้ายทับกันตลอดบ้าง มันคือการกระทำของคนเมืองนี่นา การที่มีซัพพลายข้าวโพดเยอะขนาดนี้ก็เพื่อเป็นอาหารหมู ใครกินต่อ ก็พวกเรานี่หว่า เราซื้อจากใคร เราไม่เคยตั้งคำถามเลย ที่จริงมันเกี่ยวกับกูทั้งนั้น เขาจะเริ่มเห็นเองโดยเราไม่ต้องเฉลยเลย คุณมาทริปนี้ฟรี คุณจะทำอะไรต่อ คุณเลือกเอง

แล้วมันก็เกิดอิมแพกต์แบบประหลาดๆ เช่น พี่เสนาวิชญ์ (วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์) เขาเริ่มทำทริปปั่นจักรยานในจังหวัดน่านที่โหดมาก แต่เขาตั้งใจจะปั่นเรื่อยๆ ทุกปีเพื่อสร้างการตระหนัก ปั่นจนกว่าน่านจะมีป่าขึ้นมา หรือพี่เชอร์รี่ (เข็มอัปสร สิริสุขะ) เขาก็ได้มาเรียนรู้เรื่องชุมชนและสิ่งแวดล้อมจากทริปนั้น เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาไปทำโปรเจกต์ของตัวเองต่อ

สมัยก่อนการทำงานเล่าเรื่องมักจะผูกติดอยู่กับอย่างอื่น เราอาจต้องเป็นสื่อ สำนักพิมพ์ ทำไมคุณคิดว่าการเปิดบริษัทของตัวเองจะโอเค ทำไมเชื่อว่าทำได้

ตอนแรกก็ไม่เชื่อหรอก (หัวเราะ) การเกิด TEDxBangkok ปีแรกกับทีมที่ไม่เคยทำสิ่งนี้มาก่อนก็ถือเป็นมูฟเมนต์หนึ่งสำหรับเรา เรารู้สึกว่าเป้าหมายมันใหญ่กว่าตัวพวกเราเองทุกคนเสมอ พอจบงานก็มีคำถามว่า what’s next ล่ะ สิ่งที่เราได้จาก TED คือประเด็นที่ว่า กูทำอะไรได้นี่หว่า แล้วมันก็ไม่ต้องเป็นแบบเดิมๆ ก็ได้นี่นา เราได้ช่วยคนเล่าเรื่อง เราจะทำอะไรก็ได้ ถ้ามันเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวแล้วช่วยคนเล่าเรื่องก็จะทำ

พอมันมีความเชื่อนี้ มันเลยทำให้เราเป็นบริษัทที่ไม่ได้ติดกับฟอร์แมตเลย ทำงานมาปีสองปีก็ยังเรียกตัวเองไม่เต็มปากว่าเราเป็นอะไร เคยไปพิตชิ่งกับอาจารย์ธันยวัชร์จากรายการ SME ตีแตก เขาก็บอกว่า ‘ดี แต่เจ๊ง เจ๊งแน่นอน’ (หัวเราะ) ทำมาได้สามสี่เดือนก็ใจแป้วเหมือนกันนะ ปีนึงทำงานเหลือตังค์ประมาณสองแสน จะอยู่รอดได้ไง ตลาดนี้มันนิชมาก แล้วจะมีกี่คนมาจ้างคุณจัดทอล์กทุกเดือน ไม่มีทาง

ตอนนั้นตลาดยังไม่เป็นแบบนี้ คนยังไม่มีพฤติกรรมที่เสาร์-อาทิตย์จะออกไปฟังทอล์กกัน วันนั้นไม่มีใครตอบได้หรอก คนที่มีประสบการณ์ก็บอกว่ามันไม่เวิร์ก แต่เรารู้สึกว่าไม่เป็นไร ถ้าเราเชื่อว่ามันมีคนที่อยากให้เราช่วยเล่าเรื่องอยู่ เรื่องเงินไม่เป็นไร เดี๋ยวค่อยหา เราทำสิ่งนี้ เราเชื่อก่อน ถ้าเราสร้าง value ได้จริงๆ มันจะวัดผลได้ มันจะสร้าง business ของมันได้เอง ถ้าวันนึงไม่มีคนจ้างก็โอเค ปิด เพราะแปลว่าเราไม่ได้สร้างอะไรบางอย่างให้สังคมจนมีคนพร้อมจะให้คุณค่ากับเรา

เราว่ามันจะน่าเสียดายมากถ้าเราเอาคนเก่งๆ มากระจุกกันไว้แล้วเขาไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่ควรได้รับ อย่าง บี๋ (นภัส มุทุตานนท์) เคยอยู่บริษัท consult เงินเดือนแปดหมื่น มาอยู่กับเราได้เงินเดือนหมื่นห้าอยู่หนึ่งปี เขาแลกสิ่งนี้กับความเชื่อบางอย่างแต่มันไม่ควรเป็นแบบนี้ไปตลอด เราชอบทำงานกับคนเก่ง คนเก่งควรจะอยู่แล้วสบาย ควรจะกลับไปบอกพ่อแม่อย่างภูมิใจได้ว่าทำงานที่นี่นะ ทำงานที่ดีและอยู่ได้ด้วย

คุณมีแนวคิดหลักในการทำธุรกิจของตัวเองยังไง

เราให้คุณค่ากับความสัมพันธ์มากกว่าธุรกิจ คือถ้ามีจุดนึงที่พวกเราจะทะเลาะกัน เกลียดขี้หน้ากัน ถ้าปิดบริษัทแล้วมันไม่ได้เกิดสิ่งนี้ เราก็ปิดนะ มันมีอะไรให้ทำด้วยกันอีกเยอะ แค่โมเดลธุรกิจไม่เวิร์ก ไม่ได้แปลว่าต้องเกลียดกัน แต่ถ้าถามว่ามีอะไรอยากแชร์ให้คนรุ่นเราที่อยากทำธุรกิจเองบ้าง สิ่งที่เราคิดว่าคุ้มที่สุด ฟินที่สุด คือการที่เราได้เลือกคนที่อยู่รอบๆ ตัว คนที่ลุยไปด้วยกัน คนที่เขาเคารพเราและเราเคารพเขา

บางงานที่เงินดีมากแต่ขายวิญญาณเกินไปเราก็ไม่รับ เพราะเราเลือกคนที่เชื่อในสิ่งเดียวกันแต่แรก เราเลือกได้ว่าอยากทำงานกับลูกค้าแบบนี้ ลูกค้าที่บรีฟงานไปน้ำตาไหลไป ลูกค้าที่หงุดหงิดกับปัญหาบางอย่างมากๆ พอได้ช่วยเขาเล่า เราก็ดีใจ

ดูเหมือนคนรุ่นคุณจะมองความสำเร็จต่างจากคนรุ่นก่อน คุณพยายามทำบริษัทที่พูดเรื่องปัญหาสังคม ชวนคนมาสนใจคนธรรมดา หรือแม้แต่ออกแบบทอล์กที่ชวนคนมาเล่าถึงความล้มเหลวก็มี อะไรทำให้คุณสนใจมุมนี้

เรารู้สึกว่าความสำเร็จที่คนรุ่นก่อนมองมันไม่ได้รอบด้านขนาดนั้น คนรุ่นพ่อเราเขาจะชอบและชื่นชมบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่เขาไม่ได้มอง waste หรือ pollution ที่บริษัทเหล่านั้นสร้างไว้ว่ามันมีอะไรบ้าง ความสำเร็จของคนยุคนึงคือตัวเลข คือผลลัพธ์บางอย่าง ซึ่งคุณจะแลกมาด้วยวิธีการอะไร เราไม่แคร์

มันเหมือนเรารักษาโรคนึงคือโรคแก้ความจน แต่มันก็ทำให้เกิดสิว ตุ่มพุพองในโรคอื่นๆ เยอะมาก มันไม่มีใครเพอร์เฟกต์หมดหรอก เราเลยไม่ได้อยากวิ่งหาแค่ตัวเลขอย่างเดียว เพราะรุ่นเรามาถึงจุดที่พออิ่มแล้ว ไม่อดตายแล้ว มันเลยเป็นความหิวอีกแบบนึงที่เราเริ่มวิ่งหาความสุขระหว่างทาง

พ่อชอบบอกว่า ตอนจบใหม่ๆ ให้ทำงานให้มั่นคงก่อน มีเงินแล้วค่อยไปช่วยสังคม ซึ่งเราตั้งคำถามว่าจริงเหรอ ผู้คนที่เราเห็นว่ารวยตอนนี้ก็เห็นว่าเขาโยนเงิน CSR ไปปลูกป่านะ แล้วป่ามันรอดเปล่าวะ เงินที่เขาโยนตอนที่เขาประสบความสำเร็จแล้วมีประโยชน์จริงรึเปล่า หรือถ้าเกิดเค้าตายตอนอายุสี่สิบ สร้างเนื้อสร้างตัวอยู่แล้วตายขึ้นมาก็ไม่ได้ทำอะไรเลยดิ เราพอโชคดีที่ที่บ้านโอเคระดับนึง ก็เลยได้ออกไป explore อะไรหลายๆ อย่าง ได้ลองไปออกค่ายอาสา ได้เห็นว่ามันมีความสุขจากการทำเพื่อคนอื่น พูดแล้วดูเลี่ยนมากเลยนะ แต่ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ตอนนั้นค่ายอาสาสอนอะไรคุณเรื่องการทำเพื่อสังคมบ้าง

เราอินเรื่องงานสอนมาก เวลาได้สอนน้องๆ แล้วเขาตาเป็นประกาย มันมีคำพูดว่า พี่เป็นแรงบันดาลใจให้หนูเลยนะ หนูจะตั้งใจเรียน เด็กบ้านนอกเด็กต่างจังหวัดที่ครูสอนว่าเขาเป็นได้แค่สาวโรงงานมาบอกกับเราว่า ‘หนูจะเข้ามหา’ลัยที่นี่ให้ได้’ ประโยคนั้นทำงานกับเราเยอะมาก หล่อหลอมเราเยอะมาก

แต่ขณะเดียวกัน พอฟินตรงนั้นจบแล้ว กลับมากรุงเทพฯ เราก็กลับมาเป็นเด็กเมือง เดินพารากอน ไปกินเหล้ากับเพื่อน น้องทักเฟซบุ๊กมาเริ่มไม่ตอบแชต ทั้งที่ตอนแรกรักมาก กอดเขา ทำให้เขารู้สึกรักมากๆ พูดง่ายๆ มันเหมือนฟันแล้วทิ้งในเชิงอารมณ์ การฟันแล้วทิ้งกับเด็กที่ไม่เคยได้รับความรักมาก่อนนี่เหี้ยมาก เรารู้สึกว่าเราทำอะไรลงไปวะตลอดเวลา เลยเริ่มกลับมาตั้งคำถามว่า คนจะทำงานเพื่อสังคม มันต้องชัด มันต้องเคลียร์ มันต้องมากกว่าแค่ทำดีเพราะสำเร็จความใคร่ด้วยความดีนะ ต้องคิดเรื่องอิมแพกต์ที่จับต้องได้และยั่งยืนมากขึ้น ตอนนี้สิ่งที่ตัวเองพอจะทำได้ก็คือเรื่องการสื่อสาร

รู้มาว่าทำงานบริษัทช่วงแรกอยู่ดีๆ คุณก็ไปสมัครเป็นทหาร คิดอะไรอยู่

เราเป็นเด็กแสบ เราไม่เรียน รด. (หัวเราะ) ที่จริงชื่อเราไม่อยู่ในฐานข้อมูลด้วย ถ้าอยู่เงียบๆ แล้วปล่อยไว้จนอายุ 30 ก็จบ แต่พอเราทำงานเรื่องประเด็นสังคม บอกให้คนทำอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวเองจะทำแบบนั้นก็รู้สึกว่าคงไม่ใช่

ย้อนกลับมาคือพอทำงานถึงจุดหนึ่ง ปกติเวลาอยู่หลังเวที เราจะฟินเวลาที่ทุกอย่างมันจบลง ม่านปิด แต่หลังๆ ความรู้สึกตาเป็นประกายตรงนั้นมันหายไป เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำเหมือนพลุ มันจุดขึ้นแล้วก็หายไป จุดเปลี่ยนหลักๆ อันหนึ่งก็คือการเข้าไปเป็นทหารนี่แหละ ผู้ใหญ่หลายคนและสื่อนั้นสื่อนี้บอกว่าเราเป็นเด็กรุ่นใหม่ ทำอะไรยิ่งใหญ่ สร้างการเปลี่ยนแปลง เราจะภูมิใจในตัวเองลึกๆ ว่าสิ่งที่ทำอยู่เจ๋งว่ะ แต่พอเข้าไประบบนี้แล้วเราก็พบว่า โห สิ่งที่คนบอกว่าทำสิ่งยิ่งใหญ่มากมาย เราไม่รู้เลยว่ามันทดแทนหนึ่งองศาของสิ่งที่สังคมนี้จะไหลลงได้รึเปล่า

เราเชื่อว่าเรากำลังเปลี่ยนแปลงแนวคิดคนอยู่ แต่ในเวลาคู่ขนาน มีชายหนุ่มเป็นแสนๆ คนต่อปีที่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในระบบที่สร้าง mindset อย่างเข้มข้นว่ามึงอย่าแหลม อย่าตั้งคำถาม มึงทำตาม นี่คือชนชั้นของมึง การจะขึ้นมาได้มันอยู่ที่นาย ไม่ใช่ความสามารถมึง แล้วเขาก็กลับไปเป็นผู้นำชุมชน ผู้นำครอบครัว องค์กร โดยมีแนวคิดแบบนี้

เราต้องคิดในเชิงระบบและการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างให้มากขึ้น มากกว่าแค่ให้แรงบันดาลใจแล้วหายไป เราเริ่มตั้งคำถามว่าเราทำอะไรได้มากกว่านี้รึเปล่า ปีนี้เลยไม่ใช่ปีที่เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำงานได้รึเปล่า มันคือเรื่องการสร้างทีมได้รึเปล่า จะพรีเซนต์โมเดลไหนที่ซัพพอร์ตคนได้มากขึ้น

เจอคำตอบหรือยัง

ปกติ Glow Story จะเป็นเหมือนเอเจนซีที่เอาเงินลูกค้ามาเรียนรู้ทำนู่นนี่ ฝึกมาเรื่อยๆ จนเริ่มเชี่ยวชาญ พอพิสูจน์ได้ระดับนึงแล้ว ตอนนี้เราก็อยากทำให้ธุรกิจให้อยู่รอดได้โดยที่ทีมไม่หนักจนเกินไป อยากจะรับงานน้อยลงโดยขยี้อิมแพกต์ให้ชัดเจนขึ้น แต่ว่าปัญหาก็กลับมาที่เราจะไม่ได้รับโจทย์ตามใจตัวเองขนาดนั้น

เราเลยลองคิดโมเดลใหม่ขึ้นมา ปกติเราทำงานจะได้เจอคน 2 ประเภท คนที่อินกับเครื่องมือการสื่อสารแต่ไม่มีประเด็นที่อินเป็นพิเศษ คนกลุ่มนี้ฝั่งงานเอเจนซี่ตอบโจทย์ได้อยู่แล้ว แต่กับคนอีกกลุ่มที่อินประเด็นใดประเด็นหนึ่งมากๆ แต่เขาไม่มีทีมและไม่รู้เรื่องธุรกิจเลย เช่น เพื่อนพิที่เป็นครู Teach for Thailand ชื่อสกาย เราอยากซัพพอร์ตคนแบบนี้ มีอะไรที่เราทำได้บ้าง ลองทำกันดูไหม

โมเดลที่ลองทำกับสกายอยู่คือฝั่งเอเจนซีจะควักเนื้อส่วนหนึ่งมาเป็นเงินเดือนและค่ารีเสิร์ช ให้เขาทำธุรกิจที่เขาอิน จะเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่ให้หาเงินได้และมีอิมแพกต์ด้านการศึกษา ถ้าต้องการคอนเนกชั่นส่วนไหนเราจะเชื่อมให้เท่าที่จะทำได้ เราอยากสร้างโปรดักต์ขึ้นมาโดยใช้เวลาและทรัพยากรที่มีจำกัด ต่อไปสมมติว่ามีคนแบบนี้มาป๊ะกับเราไปเรื่อยๆ คนนั้นอินเรื่องสิ่งแวดล้อม คนนี้อินเรื่องคนแก่ ให้ทุกคนมาเวิร์กกันแล้วหาโมเดลจนสร้างเป็นธุรกิจได้จริงๆ ต่อไปเราอาจไม่ต้องรับงานลูกค้า 90 เปอร์เซ็นต์อย่างตอนนี้ก็ได้

อะไรทำให้คุณเชื่อว่าการเล่าเรื่องจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้

มันกลับมาเรื่องการสร้างพื้นที่ สิ่งที่เราสร้างไม่ใช่ตัวเรื่อง เราแค่สร้างพื้นที่ให้เรื่องราว สื่อสารอะไรบางอย่างในแต่ละปัญหา เรารู้สึกว่าทางแก้มีได้หลายท่า บางงานช่วยตั้งคำถาม บางงานทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เรื่องราวเป็นเหมือนสะพาน ถามว่าเป็นปลายทางมั้ย อาจไม่ใช่ มันต้องการคนแก้ปัญหาที่อยู่ตรงนั้น เรารับรู้เรื่องเสือก็ไม่ได้แปลว่าปัญหานี้หายไป แต่เรื่องนี้ต้องถูกส่งต่อไปให้มากพอ ถึงคนกำหนดนโยบาย คนให้งบ คนควบคุมกฎหมาย ถ้าไม่มีเรื่องตรงนี้เลยมันก็จะเป็นข้อมูลน่าเบื่อๆ ฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องของมึง ไม่เกี่ยวกับกู เราคิดว่าทุกมูฟเมนต์สำคัญมันเริ่มจากสตอรี่ทั้งหมดแหละ

ตัวอย่างเช่น เรื่องการเมืองที่เป็นเรื่องใกล้ตัว เราทุกคนต้องมีส่วนแก้ไข แต่ถ้าเราเลือกกระโดดไปในพาร์ตที่เราไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน เช่น ไปยืนประท้วง เราจะถูกจับมั้ย แต่เรารู้ว่ามันยังมีมุมเล็กๆ ที่เราทำได้ ประท้วงในที่นี้เราคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราคิดว่าความไม่ถูกต้อง แนวคิดที่ควรถูกปรับปรุง การโยนมุมมองใหม่ๆ ให้คนเลือกมันควรเกิดขึ้นตลอดเวลากับทุกเรื่อง เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องธรรมะ เรื่องความตาย เรื่องคอร์รัปชั่น มันมีโจทย์อะไรที่เราพอจะทำอะไรบางอย่างตรงนั้นได้ พอจะปลูกเมล็ดบางอย่างตรงนั้นได้

เวลาทำ TED เราก็ไม่ได้อินกับการทำคอนเทนต์ในเชิงว่า ทอล์กน้าต๋อยคนแชร์เป็นแสน คนดูน้ำตาไหล เท่าเมื่อก่อนแล้ว แต่เราจะเอนจอยมากถ้ามันเป็นพื้นที่การแชร์ไอเดียของคน เช่น แวน (วริทธิ์ธร สุขสบาย) จาก Mayday ได้ขึ้นมาพูด หรือพี่เป๋า (ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้ก่อตั้ง iLaw) มีเวทีพูดโดยไม่ต้องมีตำรวจหรือทหารมายืนเฝ้า ตอนนี้ที่ลุยทำ TEDclub ประเด็นสำคัญไม่ใช่ว่าน้องๆ นักเรียนจะพูดอะไรบนเวที แต่กลไกแบบนี้ที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องมันจะเป็นพื้นที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวจริงๆ

ถ้าเราทำ Glow Story แล้วเข้าใจบริบทนี้มากขึ้น เราจะมีเป้าหมายที่ชัดว่าเราไม่ใช่ content creator เราเป็นคน curate แล้วมันคงจะเป็นเหมือนชื่อของมัน เป็นแหล่งพลังงานเล็กๆ หรือโคมไฟเล็กๆ ที่คนเข้ามาใกล้แล้วเขาได้ส่องแสงในแบบที่เขาเป็นมากขึ้น คนที่มีแสงในตัวเอง แสงนั้นก็จะชัดขึ้นไปอีก

ถ้าพื้นที่นี้ทำให้คนที่เปล่งแสงแล้วจุดประกายไฟต่อให้คนอื่น Glow ก็ได้ทำหน้าที่ของมันแล้วล่ะ

AUTHOR