“ความตั้งใจในการทำโปรดักต์นี้ไม่ได้ทำให้เด็กหรอก แต่ต้องการสื่อไปถึงผู้ใหญ่ที่ใช้ว่าจริงๆ แล้วปัญหาพวกนี้ยังมีแต่มันซ่อนอยู่ เหมือนที่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ถ้าลูบคลำหรือใช้ดินสอฝน มันจะโผล่ขึ้นมา”
เบิร์น–ชาญฉลาด กาญจนวงศ์ อธิบายถึงแนวคิดเบื้องหลังชุดเครื่องเขียนแบรนด์ Grey Ray สุดลิมิเต็ดที่ทำร่วมกับโครงการเพื่อการศึกษา Limited Education ด้วยน้ำเสียงจริงจัง
สมุดจากกล่องนม อุปกรณ์ต่อดินสอ และดินสอในแพ็กเกจจิ้งที่ออกแบบเหมือนกระดาษสมุดจดการบ้านในวัยเรียน ทำให้เราหวนนึกไปถึงความทรงจำสมัยยังเป็นเด็กหญิงเด็กชาย แม้ดูเรียบง่ายแต่เมื่อพินิจหน้าปกสมุดอย่างถี่ถ้วนแล้ว มันมีความพิเศษบางอย่างที่มองด้วยตาแทบไม่เห็น
หากลองลูบคลำดูสักนิดหรือใช้ดินสอที่มากับอุปกรณ์ต่อดินสอฝนลงบนตัวอักษรปั๊มนูนเหล่านั้น รายชื่อวิชาที่เราคุ้นเคยจะปรากฏขึ้นมาให้ร้องอ๋อ และตามมาด้วยความแปลกใจปนรอยยิ้มแน่นอน
‘สร้างเสริมรักษะณะนิสัย’
‘การงานพื้นถานอาชีพ’
‘สร้างเสริมปราสบกานชีวิต’
เปล่านะ ฉันไม่ได้เขียนผิดและทางแบรนด์ก็ไม่ได้พิมพ์ผิด คุณคงแปลกใจใช่ไหมว่าทำไมต้องเป็น 3 วิชานี้ ทำไมต้องสะกดผิด และทำไมต้องทำให้กลืนไปกับสีกระดาษอ่านยากแบบนี้ด้วย
ฉันเคยได้ยินคนแวดวงออกแบบพูดกันเสมอว่าโปรดักต์ดีๆ ที่เราเห็นล้วนได้รับการคิดและออกแบบมาแล้วเป็นอย่างดี ไม่มีอะไรที่ไม่มีความหมาย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ฉันอยากชวนทุกคนไปหาความหมายของชุดเครื่องเขียนตรงหน้ากับนักออกแบบและเจ้าของแบรนด์อุปกรณ์เครื่องเขียนสุดเท่คนนี้กัน
จุดร่วมคือการศึกษา
จุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์ Grey Ray กับโครงการ Limited Education ปีที่ 3 มาจากการที่เบิร์นได้มีโอกาสพูดคุยกับพิ–พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน ทีมงานของ GlowStory ที่เป็นโต้โผของโปรเจกต์เพื่อการศึกษานี้เมื่อประมาณ 2 เดือนก่อน
เนื่องจากโปรดักต์ที่เบิร์นทำก็มีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาบวกกับมีความเชื่อมั่นในตัวอีกฝั่ง จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะตอบตกลงร่วมมือกับพิด้วยความรวดเร็ว
“ก่อนหน้านี้ก็เคยเห็นตัวโครงการคร่าวๆ อย่างตอนทำกับ Greyhound ที่อินฟลูเอนเซอร์ใส่เสื้อคำที่เขียนผิด แต่ไม่ได้รู้ลึกว่าคืออะไร พอลองเข้าไปศึกษารายละเอียดก็รู้สึกว่ามันเป็นรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจในการเข้าไปช่วยเรื่องการศึกษา แทนที่จะเอาเงินไปให้อย่างเดียว เราก็ไปกระตุ้นในวงกว้าง เพราะส่วนใหญ่คนจะคิดแค่ชั้นเดียวว่าถ้าเป็นเรื่องการศึกษาก็เอาเงินไปช่วยเด็กต่างจังหวัด แต่อันนี้เขากระตุ้นถึงพวกเราที่เป็นคนต้นทางว่ามีผลอะไรกับเรื่องนี้บ้างในการเคลื่อนไหว”
หลังจากระดมความคิดเรื่องคอนเซปต์และมุมมองในการหยิบเอาโจทย์ CI เรื่องการสะกดคำผิดมาใช้ว่าจะไปกระตุกกระตุ้นใครในเรื่องการศึกษาได้บ้าง เบิร์นก็มีตัวเลือกโปรดักต์ในใจอยู่ 2 ชิ้น นั่นคือแพลนเนอร์ที่ผู้ใช้สามารถออกแบบจัดการได้เอง และสมุดจากกล่องนมที่ Grey Ray ทำอยู่แล้ว
“เพราะมันรีไซเคิลจากกล่องนม แล้วกล่องนมก็มีประเด็นรีเลตกับโครงการได้ แทนที่จะเอาคำเขียนทั่วไป เราเอาคำที่เกี่ยวกับประสบการณ์ของกลุ่มผู้บริโภคอย่างพวกชื่อรายวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต สร้างเสริมลักษณะนิสัย และการงานพื้นฐานอาชีพ ที่เรารู้สึกว่าอยากให้มีรอยยิ้มเวลาอ่าน อยากให้ยิ้มเบาๆ ว่าอ๋อ เราเคยเรียน สลน. สปช. ผมก็ช่วยเขาครีเอตว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเอาวิชาตอนเด็กๆ ที่เราเคยเรียนมาเป็นหน้าปก และใช้กิมมิกเป็นดินสอไปฝนๆ มันหน่อย เพราะดินสอก็เหมือนประสบการณ์ของผู้ใช้กับดีไซน์ร่วมกัน อยากให้ผู้ใช้ได้ใช้ประสบการณ์ทำอะไรบางอย่างให้มันขึ้นมา ก็น่ารักดี รวมๆ จะเรียบมาก แต่ก็มีเมสเซจแฝงไว้”
สุดท้ายแล้วด้วยความที่แพลนเนอร์อาจดูไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเท่าไหร่นัก และต้องใช้เวลาทำนาน ซึ่งตอนนั้นทางแบรนด์มีเวลาจำกัดมากในการทำโปรดักต์ เบิร์นจึงตัดสินใจเลือกชุดอุปกรณ์เครื่องเขียนกับอุปกรณ์ต่อดินสอที่มีดินสอ 2 CM+ บรรจุอยู่ด้วย
“ผมขายไอเดียไปว่าผมขายเครื่องเขียนและมีโปรเจกต์ที่จะบริจาคดินสอให้เด็กที่ขาดแคลน โดยให้คนทางบ้านบริจาคมา ทุกครั้งที่เขาบริจาคเราจะเอามาต่อกัน สมมุติว่าระยะทางกรุงเทพฯ ไปถึงโรงเรียนที่จะเอาไปบริจาคอย่างเชียงใหม่ 800 กิโลเมตร อาจจะแทน 1 แท่งเท่ากับ 1 กิโลเมตร พอใครบริจาคก็นำมาต่อกัน และเขียนว่าคุณเอได้บริจาคมาถึงหลักกิโลฯ นี้ เลยคิดไปถึงตัวต่อดินสอว่าดินสอกับเด็กและกล่องนมมันมีวิธีการเล่าที่รีเลตกัน เราอยากทำเป็นวิธีคิดของโปรเจกต์นี้ ทาง Limited Education ก็ชอบ เลยมีดินสอเข้ามาด้วย”
“ตอนนั้นก็คุยกันว่าจะเลือกโปรดักต์ไหนที่ดีที่สุด ตัวนี้น่าจะซิมเปิลและง่ายที่สุด ข้อจำกัดคือเรื่องระยะเวลาที่บอกว่าสั้นมาก และกระดาษกล่องนมก็มีความคงทนกว่ากระดาษทั่วไป มันมีความหมายในตัวมันเอง ประเด็นคือคนใช้กระดาษชนิดนี้น้อย จนทางผู้ผลิตจะเลิกผลิตแล้ว เราก็พยายามไปเสาะหาแหล่งอื่นมาจนได้ ทีแรกก็ไม่กล้ารับปาก เพราะพอพูดถึงไอเดียนี้แล้วทางทีมโครงการก็ชอบไอเดียกระดาษกล่องนม อยากให้ทุกอย่างเป็นกล่องนมหมดเลยแม้กระทั่งแพ็กเกจจิ้ง แต่มันไม่พอ ได้แค่ปก”
ความ (เหลื่อม) ล้ำที่มองไม่เห็น
ด้วยความที่ Grey Ray มีโปรดักต์ที่เอื้อกับทิศทางการสื่อสารเรื่องการศึกษาของโครงการอยู่แล้ว จึงแทบไม่ต้องมีการพัฒนาอะไรใหม่ขึ้นมามากนัก แต่เน้นการสร้างกิมมิกให้ตัวโปรดักต์เพื่อเล่าเรื่องให้ชัดขึ้นมากกว่า อย่างตัว CI ที่เราเห็นเป็นรายชื่อวิชาที่เขียนผิดก็มาจากลายมือเด็กที่เขียนผิดจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการ Limited Education เลือกมาใช้เพื่อสะท้อนถึงปัญหาการศึกษาขั้นพื้นฐานเรื่องการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
“ความตั้งใจในการทำโปรดักต์นี้ไม่ได้ทำให้เด็กหรอก แต่ต้องการสื่อไปถึงผู้ใหญ่ที่ใช้ว่าจริงๆ แล้วปัญหาพวกนี้ยังมีแต่มันซ่อนอยู่ เหมือนที่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ถ้าลูบคลำหรือใช้ดินสอฝน มันจะโผล่ขึ้นมา คือนัยเป็นแบบนั้น” ฉันไล่สายตาตามผู้พูดมองไปยังปกสมุดจากกล่องนมที่เมื่อโดนแสงแล้วแทบมองไม่รู้ว่ามีตัวอักษรปั๊มอยู่
“เราสื่อสารกับผู้ใช้ที่เป็นผู้ใหญ่ เพื่อให้เขาตระหนักว่าการศึกษาไทยในปัจจุบันยังไปไม่ถึงไหนเลย มันก็ยังมีความเหลื่อมล้ำตรงนี้ ในเรื่องของโรงเรียนที่มีชื่อและโรงเรียนต่างจังหวัด ทุกคนยังต้องตื่นเช้า ผู้ปกครองเอาลูกไปกินข้าวในรถ ไปโรงเรียนที่มีชื่อเสียง การเข้าถึงการศึกษามันมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐบาล หรือตัวหลักสูตรที่เราเรียนกัน มันควรถึงเวลาที่ต้องตั้งคำถามแล้วหรือยังว่าต้องเปลี่ยน เรียนกันตั้งนานยังเป็นแบบนี้อยู่”
ด้วยเหตุนี้เอง นอกจากความน่ารักของการสะกดรายชื่อวิชาผิดบนปกแล้ว นักออกแบบคนนี้ยังแฝงนัยของปัญหาการศึกษาเรื่องหลักสูตรผ่านรายชื่อวิชาเหล่านั้นที่ตนเคยเรียนเมื่อสมัยประถมศึกษา
“รายวิชาพวกนี้สมัยนี้บางวิชาอาจไม่มีแล้ว ความตั้งใจเราจึงไม่ได้สื่อกับเด็ก เราสื่อกับคนเจนฯ เราหรือคนโตกว่าเราที่มีอำนาจในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงสังคม ให้เขาเห็นไอ้ชื่อรายวิชาที่คุ้นเคย แวบแรกเขาคงยิ้มแหละ แต่แวบที่สองเขาคงตั้งคำถามว่า เอ๊ะ มันเขียนผิดว่ะ ทำไมมันเขียนผิด ถ้าเมสเซจนี้ไปถึง ก็มีความเป็นไปได้ที่เขาจะไปหาข้อมูลเพิ่มเติม”
“เพราะฉะนั้นทั้งหมดที่ทำเราไม่ได้สื่อสารกับเด็ก เพราะเด็กเป็นผู้รับข้อมูลสุดท้ายที่ผู้ใหญ่เป็นคนสร้างให้ เด็กเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ผู้ใหญ่ต่างหากที่ต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามุ่งไปที่เด็ก แล้วไงต่อ ไม่มีพลังอะไรไปเปลี่ยนแปลงได้ จริงๆ แล้วโปรเจกต์นี้มันสื่อสารกับผู้ใหญ่” เขาพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง
รับรู้ปัญหาด้วยการลงมือ
นอกจากสมุดจากกล่องนมที่อยู่ในชุดเครื่องเขียนนี้แล้ว ยังมีดินสอ 2 CM+ ที่ถือเป็นตัวเอกของแบรนด์ Grey Ray จากนวัตกรรมการเว้นไส้ดินสอที่ก้นไว้ 2 เซนติเมตรเพื่อประหยัดแร่กราไฟต์ นักออกแบบอย่างเบิร์นก็อธิบายว่ามันมีนัยถึงการประหยัดทรัพยากรและเชื่อมโยงไปถึงความรู้สึกในวัยเรียนของผู้ใช้ ส่วนอุปกรณ์ต่อดินสอก็สามารถสื่อไปถึงเรื่องการต่อโอกาสทางการศึกษาได้เช่นเดียวกัน
“เพราะสุดท้ายแล้วถ้าแคมเปญนี้ประสบความสำเร็จ ก็ไม่แน่ว่าอาจจะมีการรับบริจาคดินสอหรือเอาที่ต่อดินสอไปใช้กับพวกดินสอที่ใช้ไม่หมด ประเด็นที่ยังต้องรับบริจาคดินสอนั้นเพราะน้อยคนจะรู้ว่าส่วนใหญ่แล้วเรานำเข้าดินสอกันมา เป็นพวกเครื่องเขียน ซึ่งมันจะอยู่ในภาษีฟุ่มเฟือย ทำให้การใช้เครื่องเขียนของเด็กแพงเกินจริง ถ้าเขาตระหนักตรงนี้แล้วมาช่วยกันคิดว่าทำยังไงให้เด็กได้ใช้เครื่องเขียนที่ราคาสมเหตุสมผล วันนั้นเราคงไม่ต้องรับบริจาคดินสอกัน เพราะมันกลายเป็นเรื่องที่ใครก็ซื้อได้”
ส่วนกิมมิกพิเศษที่ฉันชอบมากๆ อย่างการใช้ดินสอฝนตัวอักษรรายชื่อวิชาบนปกเพื่อให้เห็นชัดขึ้นนั้น นอกจากเป็นการทำให้เกิดประสบการณ์ร่วมระหว่างโปรดักต์กับผู้ใช้แล้ว ยังมีนัยในการเป็นสื่อให้ผู้ใช้เห็นปัญหาการศึกษาเหล่านี้ด้วยมือตัวเอง
“ไอเดียนี้มาจากนามบัตรของแบรนด์เรา เวลาเกเรไปแจกนามบัตร ลูกค้าจะบอกว่าอ่านยาก เราก็จะบอกว่าไม่ใช่ ต้องเอาดินสอไปฝนก่อน แล้วคุณจะจำเราได้ เพราะเขามีแอ็กชั่นกับตัวนามบัตร ด้วยความที่เราทำเครื่องเขียนก็นำดินสอที่เป็นเครื่องเขียนของเราหรือของคุณมาฝนก็ได้ เพื่อตอบความอยากรู้ว่านามบัตรใครวะ คนก็จำเราได้ พอฝนไปแล้วเขาต้องยิ้ม ทีแรกอาจจะอ่านยากแต่เดี๋ยวก็รู้”
หลังจากนั้น ฉันก็เห็นสมุดจากกล่องนมที่ฝนตัวอักษรบนปกเรียบร้อยแล้ว จากที่มองแทบไม่เห็น ตัวอักษรชื่อรายวิชาสะกดผิดเหล่านั้นที่เหมือนซ่อนตัวอยู่ก็ปรากฏขึ้นจนอ่านได้ถนัดตา
คงเหมือนกับการที่ Grey Ray และอีกหลากหลายแบรนด์เห็นความสำคัญของการศึกษาจึงร่วมมือกับโครงการ Limited Education เพื่อเพิ่มเสียงแห่งการสื่อสารประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่
เพราะต่อให้มองเผินๆ แล้วเหมือนจะไม่เห็น แต่ถ้าคุณได้ลองโฟกัสใกล้ๆ และลงไปสัมผัสกับปัญหาสักหน่อย อะไรที่เคยซุกซ่อนอยู่คุณก็คงเห็นได้ชัดขึ้น ไม่ต่างจากสมุดจากกล่องนมเล่มนี้ที่รอดินสอจากมือคุณมาฝนระบายยังไงล่ะ
บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกันระหว่าง a day และโครงการ Limited Education ที่ต้องการนำเสนอปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา สามารถติดตามซีรีส์ Limited Education ได้ใน adaymagazine.com ตลอดเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้