Giulia Peyrone ศิลปินไทย-อิตาเลียนผู้ลงมือออกแบบแพตเทิร์นสู่แบรนด์ GIULIA และงานศิลปะในอิตาลี

Giulia Peyrone

ในระหว่างปี 1961-1962 Andy Warhol สร้างงานศิลปะที่ชื่อว่า Campbell’s Soup Cans โดยใช้วิธีภาพพิมพ์อย่างที่เขาถนัด เป้าหมายคือการสรรเสริญและแสดงให้เห็นถึงผลิตภัณฑ์ที่กลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ของผู้คนในยุคนั้น (อันที่จริงเขาก็ชอบซุปนี้จนกินมันเป็นชีวิตจิตใจด้วยเช่นกัน)

กลับมาสู่ปี 2021 มีศิลปินที่ทำงานในลักษณะ ‘repetition’ หรือแพตเทิร์นเดิมซ้ำๆ หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ Giulia Peyrone ศิลปินและดีไซเนอร์ชาวไทย-อิตาเลียนผู้ชื่นชอบในการนำสิ่งของทั่วไปในชีวิตประจำวันมานำเสนอผ่านแพตเทิร์นซ้ำๆ ด้วยการลงสีอะคริลิกบนแคนวาส จนงานเหล่านี้ราวกับสร้างมาจากกระบวนการ mass production ไม่มีผิด

Giulia

นั่นแหละคือเป้าหมายที่เธออยากให้คนรู้สึก และด้วยความประณีตและใส่ใจในรายละเอียดของจูเลีย จึงเป็นสาเหตุที่มีคนมาขอนำผลงานศิลปะของเธอไปแปลงเป็นสินค้า นำไปสู่การพิมพ์ลวดลายต่างๆ ลงบนผ้า จนเกิดเป็นแบรนด์ GIULIA ที่ในปี 2020 ที่ผ่านมาได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในแบรนด์แนะนำของบทความ Women’s Beauty And Fashion For A Summer Vacation 

Giulia

แต่อะไรคือจุดเริ่มต้นให้เธอออกแบบแพตเทิร์นด้วยการลงมือเองตั้งแต่แรก เราคงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่เด็ก จูเลียเติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่เปิดร้านขายงานฝีมือ การเห็นงานช่างและกระบวนการสร้างสรรค์เป็นภาพจำแรกๆ ที่จูเลียได้ซึมซับ จนเมื่อเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัย เธอเลยไม่ลังเลที่จะเข้าเรียนด้านแฟชั่นดีไซน์ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

“การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้มีความสำคัญต่อชีวิตและการเรียนของเรามาก เราสนใจการสร้างวัตถุหรืองานที่มาจากวัสดุดิบๆ รวมถึงกระบวนการช่างฝีมือที่ต้องลงมือทำ ซึ่งเราเชื่อว่านี่เป็นงานศิลปะในตัวของมันเอง” จูเลียอธิบายมาในอีเมลที่เราพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพราะเธอต้องไป-กลับระหว่างเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมืองที่ครอบครัวของเธออาศัยอยู่ และนิวยอร์ก ที่ตั้งสตูดิโอของเธอ ทำให้การหาช่วงเวลาคุยกันผ่านวิดีโอคอลเป็นไปได้ยากกว่าอีเมล

Giulia

ระหว่างที่ใกล้เรียนมหาวิทยาลัยจบ จูเลียยังเคยเข้าร่วมแข่งขันรายการ ทอฟ้าผ้าไทย ซีซั่น 3 ซึ่งการออกแบบสไตล์โมเดิร์นเรียบง่ายทำให้จูเลียคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง

“แต่ก่อนเรายังออกแบบเสื้อผ้าแบบ ready-to-wear อยู่ แต่พอไม่ได้ทำแบบนั้นแล้ว แนวทางทำงานเราเลยเปลี่ยนไปด้วย” หลังจากเรียนจบ ในปี 2015 ต่อมาจูเลียเดินทางไปนิวยอร์ก ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจแฟชั่นของคนอื่นเป็นหลัก และเริ่มเปิดสตูดิโอทำงานศิลปะในปี 2016  

“ตอนนั้นเรายังไม่ได้ทำโปรดักต์แฟชั่นที่เป็นเชิงธุรกิจออกมา เราแค่อยากสำรวจตัวเองไปเรื่อยๆ ว่างานของตัวเองจะพาเราไปทางไหน ไม่ได้วางแผนอะไรมาก ทุกอย่างเป็นไปอย่างธรรมชาติ และไม่ได้ตั้งใจจะทำแบรนด์ตั้งแต่แรก จนประมาณปี 2018 มีคนต้องการโปรดักต์จากงานที่เราทำ เราเลยทำออกมา เพราะอยากนำเสนองานศิลปะของตัวเองในหลายๆ รูปแบบเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหญ่ได้” 

Giulia

โดยส่วนมากงานของจูเลียเน้นใช้วิธีการแบบ repetition หรือการทำแพตเทิร์นที่มีภาพซ้ำๆ โดยเธอเป็นเหมือนนักทดลอง จับเอาเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่มีเมสเซจหรือความรู้สึกเดียวกันมานำเสนอในรูปแบบใหม่ๆ

เช่นงาน Charting The Sun ที่ช่วงล็อกดาวน์ทำให้ศิลปินวัย 28 ปีคนนี้รู้สึกอยากกลับมาโฟกัสสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว เธอจึงขึ้นเขาไปหลายๆ จุดเพื่อสังเกตความเคลื่อนไหวของพระอาทิตย์ขึ้น จนออกมาเป็นแพตเทิร์นลายพระอาทิตย์หลากสี

Giulia

สิ่งที่จูเลียให้ความสำคัญที่สุดคือการลงมือทำเองทั้งหมดทุกกระบวนการ เธอมองว่าการวาดแพตเทิร์นด้วยมือซ้ำไปเรื่อยๆ เป็นการฝึกให้งานเป็นระเบียบและอยู่ในแนวเดียวกัน แถมยังดูเหมือนผลิตออกมาจากโรงงานด้วย

“งานที่เราทำ พอมองครั้งแรกจะเหมือนกับลายที่ผลิตแบบ mass-produced ที่มาจากโรงงาน เป้าหมายของเราคืออยากสำรวจดูว่าแต่ละคนรู้สึกแตกต่างกันหรือเปล่าเวลาเห็นงานที่ผลิตออกมาจากโรงงานกับงานที่คนทำเอง”

แนวคิดนี้สัมพันธ์กับการที่เธอเติบโตมากับการเห็นงานคราฟต์ จูเลียจึงอยากลงมือสร้างแพตเทิร์นเองมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นศิลปินวัย 28 ปีก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะละทิ้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ออกไปอย่างสิ้นเชิง 

Giulia

“เรารู้สึกว่าต้องประเมินคุณภาพงานตัวเองเสมอ เช่น การผลิตโปรดักต์แบบวิธีดั้งเดิมหรือผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบไหนจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ากัน แล้วท้ายที่สุดงานที่ออกมาได้สื่อสารเมสเซจที่ต้องการออกไปไหม เราทำงานด้วยการวาดมือ แล้วก็ต้องเอางานนั้นมาปรับใช้กับการออกแบบสมัยใหม่ที่ต้องใช้การผลิตปริมาณมากๆ”

สิ่งที่จูเลียเล่าทำให้เรานึกถึงลายผ้าในแบรนด์ GIULIA ที่เธอนำผลงานมาพิมพ์ลงบนผ้า ซึ่งสามารถมิกซ์แอนด์แมตช์เป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นผ้าคลุมหัว ผ้าผูกผม ผ้าพันคอ กระโปรง scarf top ไปจนถึงการเอาผ้ามาคลุมตึกที่กำลังก่อสร้างอยู่ด้วย!

“เราเป็นคนชอบเล่นกับไอเดียของฟอร์มและฟังก์ชั่น ก็เลยออกแบบให้มันมิกซ์แอนด์แมตช์ได้หลายๆ แบบ เป้าหมายในการสร้างแบรนด์ GIULIA ของเราคือการสร้างงานที่ทำให้เกิดประสบการณ์กับคนทั้งทางร่างกายและความรู้สึก พื้นที่นี้เลยเป็นงานศิลปะที่ผลิตสินค้าแบบ soft accessories ของที่จำเป็นกับงานในสตูดิโอของเรา และการทำงานศิลปะด้วย”

การที่ลายผ้าในแบรนด์ GIULIA สามารถเป็นอะไรก็ได้ ทำให้สื่อต่างชาติหลายสำนักแนะนำผลงานของจูเลียให้กับคนในวงการแฟชั่น ทั้ง Vogue, Glamour, Forbes และ The Zoe Report

และไม่นานมานี้จูเลียยังได้ทดลองเอาแพตเทิร์นที่เธอออกแบบไปจัดแสดงในย่านสะพานทองคำของเมืองฟลอเรนซ์ด้วย 

“ช่วงที่ผ่านมาแกลเลอรีและมิวเซียมหลายที่ปิดตัว เราเริ่มมองหาทางเลือกอื่นๆ ที่จะนำเสนองานของตัวเองสู่ผู้คน มีวันหนึ่งเราเดินผ่านตึกก่อสร้างที่มีนั่งร้านอยู่ แล้วก็เกิดไอเดียว่าตรงนี้น่าจะทำงานศิลปะได้ พอลองติดต่อไปหาบริษัทเจ้าของตึก เขาก็ยินดีกับไอเดียนี้ หลังจากนั้นไม่นานเรากลับไปวางแผนกับทีมว่าจะทำยังไงได้บ้าง เพราะปัญหาใหญ่คือต้องหาบริษัทที่รับพิมพ์งานของเราให้อยู่ในวัสดุที่คลุมทั้งตึกได้

Giulia

“วัสดุที่เราเลือกใช้มันเป็นตาข่ายที่ทำมาจากผ้าโพลีเอทิลีน ป้องกันแสง UV ได้ เพราะด้วยรูปร่างตึกและการก่อสร้างที่เราอยากคลุมไว้มันจำเป็นต้องใช้ผ้าแบบนั้น พอเราหาบริษัทที่จะพิมพ์ได้แล้วก็ต้องใช้คน 5 คนมาติดตั้งงานให้ตาข่ายคลุมตึกทั้ง 4 ชั้นได้ด้วย”

ภาพที่จูเลียเลือกมานำเสนอมีชื่อว่า ‘Piazza del Duomo’ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญในเมืองฟลอเรนซ์ และเธอบอกว่าเหมาะที่จะปรากฏอยู่บนตึกในย่าน Ponte Vecchio หรือภาษาไทยแปลว่าสะพานทองคำ

ปัจจุบันจูเลียกำลังขยายแบรนด์ GIULIA ให้เป็น GIULIA PEYRONE — FACTORY STUDIO ที่นำเสนอทั้ง fine art และผ้าจากงานฝีมือ โดยผสมผสานทั้งวิธีแบบดั้งเดิมและเทคโนโลยีร่วมสมัยแบบที่เธอตั้งใจเอาไว้

“เรามีความคิดสร้างสรรค์เป็นเป้าหมายในการใช้ชีวิตมาโดยตลอด การเป็นศิลปินและดีไซเนอร์สำหรับเราจึงเป็นการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและแสดงความเป็นตัวเราผ่านงานที่ทำ” 

AUTHOR